Soft Power

Little Miss Dungjai “ฉันขอจมหายไป ไม่อยากเป็น ด.ญ.ดั่งใจ อีกต่อไปแล้ว”

  • ที่ผ่านมาเราเป็น ด.ญ.ดั่งใจของทุกคน ยกเว้นตัวเอง คือ คีย์เวิร์ดสำคัญของแอนิเมชั่น Little Miss Dungjai : ด.ญ.ดั่งใจ
  • นี่เป็นธีสิสของนักศึกษาสองคนจากคณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิตที่ใช้เวลากับการศึกษาอย่างน้อย 20 ปี และมีความรู้สึกว่าถูก ‘ชี้’ และกดโดยอำนาจมาตลอด
  • เบลล์และพริ้มเจ้าของผลงาน ด.ญ.ดั่งใจ เลือกใช้ Soft Power ในการส่งสารนี้ถึงผู้ใหญ่แทนการพูดเพราะคิดว่าทรงพลังกว่าเป็นไหนๆ 


คนแรกมี ‘นมข้าวโพด’ คนหลังมี ‘ข้อสอบวิชาคณิตศาสตร์’ เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญจนแอนิเมชั่น ‘Little Miss Dungjai’ ด.ญ.ดั่งใจ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีมีรางวัลติดปลายนวมมาอย่างน้อยๆ 3 เวที คือ คือ 2021 Award & Official Selections

Thailand Animator Festival 6 – TOP10 BEST Animations Award , Bangkok International Digital Content Festival – Best Student Animation Art Design Project Award และ 23rd DigiCon6 Asia – Thailand Gold Prize

นี่เป็นธีสิสของ ‘เบลล์’ ปัทมา หอมรอด และ พริ้ม สุรพักตร์ภิญโญ นักศึกษาสองคนจากคณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิตที่ใช้เวลากับการศึกษาอย่างน้อย 20 ปี และตั้งคำถามกับมันมาตลอดว่า 

“การศึกษาไทยมันล้มเหลวจริงๆ หรือเปล่า หรือจริงๆ มันสำเร็จในแง่ที่ว่าต้องการให้คนเป็นแบบใดแบบหนึ่ง”

จนสรุปเป็นโจทย์ที่อยากจะพูด สเต็ปแรกๆ ของการแทคทีมกันทำงานคือการแยกย้ายไปค้นหาว่าที่ผ่านมาการศึกษาฝากรอยแผลอะไรให้ทั้งคู่บ้าง

“เราว่าตัวเองซ้ำๆ แบบรู้สึกผิด  ทำไมเราทำอะไรไม่ดีขนาดนั้น ตอนนั้นเราไม่มีสิ่งที่เรียกว่าอำนาจภายใน เราไม่เห็นคุณค่าของตัวเองเลย แล้วมันส่งผลระยะยาว หลายๆ อย่างมันหล่อหลอมให้เราไม่มีความมั่นใจ ไม่มีอะไรเลย เหมือนกับว่ามันเจออย่างนี้เยอะๆ ก็ไม่อยากจะสู้แล้ว มีอะไรจะโทษตัวเองก่อน มันเป็นปมมากเลย แล้วทุกวันนี้ก็พยายามแก้อยู่ คือเราก็สู้แหละ แต่ระยะยาว” เบลล์เปิดแผลก่อน

ไม่ได้เศร้า ไม่ได้ดราม่า เพราะจากการปล่อยคลิปแอนิเมชั่นเต็มมาแล้ว 3 สัปดาห์ เบลล์กับพริ้มพบว่า มี ‘พวกเดียวกัน’ เต็มไปหมด

“เราไม่ได้อยากทำภาพนี้ให้สวยที่สุดในโลก หรืออนิเมะที่สวยมากๆ จนดิสนีย์เห็นแล้วจะต้องร้องว้าว มันจะเป็นความรู้สึกว่าอยากทำอันนี้เพื่อให้เนื้อเรื่องมันแข็งแกร่ง” 

ซึ่งเป็นเนื้อเรื่องของ ด.ญ.ดั่งใจ ที่ไม่เคยมีอำนาจภายในตัวเอง 

ทั้งเบลล์และพริ้ม เลือกใช้ Soft Power ในการส่งสารนี้ถึงผู้ใหญ่แทนการพูดเพราะคิดว่าทรงพลังกว่าเป็นไหนๆ

“บางทีพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ อาจจะเห็นตัวเองในดั่งใจด้วยหรือเปล่า หรือโตมาแล้วเป็นแบบนั้นด้วยหรือเปล่า” 

‘เบลล์’ ปัทมา หอมรอด และ พริ้ม สุรพักตร์ภิญโญ

ด.ญ.ดั่งใจ คือตัวแทนของอะไร 

เบลล์ : ความไม่มีอำนาจภายในตัวเอง แบบไม่รู้ว่า เฮ้ย เราควรจะต้องเป็นอะไร เราจะต้องเชื่อฟังอะไร เพื่อที่จะเติบโตเป็นบุคลากร เป็นฟันเฟืองในสังคมอีกทีหนึ่งหรือเปล่า นี่คือคำถาม

พริ้ม : ตอนแรกต้องการถ่ายทอดความรู้สึกของความเจ็บปวดที่เราได้เจอ มันจะมีฉากที่นิ้วจิ้มลงไปกลางตัว ฉันเจออย่างนี้มา ฉันเจ็บปวด แล้วมันส่งผลอะไรต่อบ้าง 

เบลล์ : ช่วงนั้นคุยการเมืองกับที่บ้านยากเหมือนกัน งงว่าผู้ใหญ่ก็เคยเจอแบบนี้มาก่อน แล้วก็ชอบพูดว่ามันเปลี่ยนไม่ได้ ทำไมเขาไม่อยากให้มันเปลี่ยน เราก็เลยหาวิธีสื่อสารกับเขา

เบลล์ : โตมาเราได้เรียนรู้เรื่องอำนาจมากขึ้น ตอนทำธีสิสหนูได้คุยกับครูทิว (ธนวรรธน์ สุวรรณปาล) เขาอธิบายว่าอำนาจมันมี 3 ประเภท อำนาจเหนือ อำนาจร่วม และอำนาจภายใน 

อำนาจเหนือคือ เขาใช้อำนาจกดขี่เรา อำนาจร่วมคือใช้อำนาจในการช่วยเหลือและกดดัน และอำนาจภายในซึ่งคนไทยไม่ค่อยมี เพราะไม่รู้ว่าคุณค่าของตนเองอยู่ตรงไหน เลยไม่สามารถลุกขึ้นมาต่อต้านการใช้อำนาจเหนือได้ เลยจับจุดตรงนี้ หนูรู้สึกว่ามันดูโหดร้ายมากแต่หนูว่ามันก็น่าสนใจ 

ทั้งพริ้มกับเบลล์ เคยเป็นเด็กหญิงดั่งใจในตอนไหนบ้าง

พริ้ม : ช่วงเช้าจะมีให้กินเบรค ซึ่งมันเป็นอาหารที่ไม่ค่อยอร่อยเท่าไหร่ (หัวเราะ) แต่ครูบอกว่าต้องกินให้หมด เราเลยไม่เคยสงสัยว่าทำไมเราถึงจะไม่กินไม่ได้ รู้สึกว่าระบบตรงนี้มันน่ากลัวมาก เพราะมันเกิดขึ้นไปเองโดยอัตโนมัติโดยที่เราไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำไป 

แล้วการเอ๊ะ หรือตั้งคำถามเกิดขึ้นตอนไหน 

พริ้ม : พอขึ้นมัธยมต้นรู้สึกว่าเราก็จ่ายค่าเทอมนี่นา ทำไมเราจะปฏิเสธไม่ได้ (หัวเราะ) กินหรือไม่กินก็เป็นสิทธิ์ของเรา ถ้าเราไม่กินแล้วจะเกิดอะไรขึ้น  เหมือนเพิ่งตื่นว่า โอ๊ะ! เราไม่กินก็ได้ แต่คิดว่าถ้าเกิดเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีคนมาบอกว่าไม่ต้องทำอย่างงี้ก็ได้นะ ก็อาจจะอยู่ในวังวนนั้นไปเรื่อยๆ (หัวเราะ) 

ตอนนั้นเรากลัวอะไร 

พริ้ม : ที่หนูกลัวมากคือ ตอนเข้าค่ายที่โรงเรียน จะมีแจกของว่างตอนบ่ายกับตอนกลับ ตอนนั้นเป็นนมข้าวโพด รสชาติจริงๆ มันก็ไม่ได้แย่มาก แต่ยี่ห้อนี้ใส่กากข้าวโพดเข้ามาให้เยอะแล้วหนูไม่ชอบ เลยรู้สึกว่ากินไม่หมดแน่ๆ ตอนนั้นคือเหลือหนูคนเดียวเพราะกินของช้ามาก ก็เลยกินเหลือประมาณครึ่งขวดแล้วรีบเอาไปทิ้งถังขยะ ครูรู้ว่าหนูกินไม่หมดก็เลยไปที่ถังขยะแล้วถามหนูว่ากินหมดมั้ย หนูก็บอกกินหมดแล้ว ครูก็หยิบขวดในถุงขยะนั้นขึ้นมาเป็นขวดที่หนูกินไม่หมด แล้วครูบอกว่าเนี่ย กลับไปโรงเรียนจะให้กินเพิ่มอีก 3 ขวด แล้วหนูก็ร้องไห้ตลอดจนถึงโรงเรียน (หัวเราะ) 

ตอนนั้นแค่รู้สึกว่าทำไมครูไม่ถามเด็กว่า ไม่กินเพราะไม่ชอบเหรอ แล้วความเป็นเด็กตอนนั้นจะไม่กล้าถามครูเลยว่า ไม่กินได้มั้ยหรือไม่ชอบก็ไม่กินได้หรือเปล่า หรือด้วยความเด็กมาก พอมันอยู่กับคำว่าต้องกิน ต้องกินให้หมด ไม่กินไม่ได้ ก็เลยเป็น automatic ไปว่าเราจะไม่สงสัยเรื่องนี้เลยว่าทำไมถึงจะไม่กิน 

หนูรู้สึกว่าจริงๆ เรื่องการบังคับให้กินข้าวหมด มันเป็นการใช้อำนาจเหมือนกัน เขามีอำนาจที่จะสั่งเราให้กินข้าว

เพื่อนหนูไม่อยากกินน้ำกระเจี๊ยบ เลยเอาไปเททิ้งถังขยะ ผลลัพธ์คือเพื่อนคนนี้ต้องโดนกินน้ำกระเจี๊ยบเบิ้ลอีกแก้วหนึ่ง ตอนนั้นมันเศร้ามาก ทุกคนที่รอในห้องโฮมรูมก็พูดเหมือนกันว่าสงสารเพื่อน แต่ไม่มีใครเข้าไปช่วย รวมถึงหนูด้วย 

ย้อนกลับไปตอนนั้นมันน่ากลัวมาก ที่ตัวหนูเองไม่เคยมีคำว่า ‘เข้าไปช่วย’ อยู่ในหัวเลย ไม่มีแม้แต่จะคิดเลยว่าจะเข้าไปช่วยเพื่อนคนนั้นได้ยังไงบ้าง 

เบลล์ : จริงๆ แล้วตัวละครครู (ในคลิป) คือครูที่หนูเรียนด้วยจริงๆ ภาพจำตอนนั้นมันทำให้เรารู้สึกกลัวมาก ตอนนั้น 10 ขวบ คือหนูไม่เข้าใจคณิต   วันนั้นหนูทำข้อสอบไม่ได้ แล้วไม่รู้ว่าจะตอบยังไงก็เลยเขียนตอบไปว่าไม่ทราบ พอคาบถัดไปครูเรียกเรากลางห้องเลยว่าแบบ ทำไมถึงตอบแบบนี้ หาว่าเรากวนตีนเขา ซึ่งเรารู้สึกว่า มันรุนแรงนะ   เพราะในมุมของเด็กมันคือ เราไม่รู้ ไม่เข้าใจจริงๆ  

หนูรู้สึกว่า การที่ใครสักคนจะเป็นครูได้ มันควรจะมี empathy มาก เพราะเราไม่รู้ว่าเด็กทำอะไรลงไป เขาเจออะไรมาบ้าง หรือกระบวนการคิดของเขาเป็นยังไง การที่เราพูดอะไรไปหรือทำอะไรสักอย่าง มันอาจจะกระทบกับเขาไปตลอด เป็นเรื่องที่ sensitive มาก

มันส่งผลกระทบต่อเบลล์ถึงวันนี้อย่างไรบ้าง

เบลล์ : ตอนนั้นหนูรู้สึกผิดจริงๆ แต่พอโตขึ้นก็รู้สึกว่าทำไมเขาถึงพูดอย่างงั้น แล้วรู้สึกแย่ด้วยที่ตอนนั้นเพื่อนก็มองอย่างเดียว ไม่มีใครพูดอะไร เราไม่รู้เหมือนกันว่าเพื่อนคิดอะไร 

เวลาใครมองเราตอนเราโดนว่า เราจะรู้สึกทันทีเลยว่าสายตานั้นต้องมองว่าเราไม่ดีแน่ๆ เลย แล้วหลายๆ ครั้งเป็นเหมือนความรู้สึกของเราเอง เราว่าตัวเองซ้ำๆ เพราะรู้สึกผิด ตอนนั้นเราไม่มีสิ่งที่เรียกว่าอำนาจภายใน เรายังไม่มี autonomy เราไม่เห็นคุณค่าของตัวเองเลย มันส่งผลระยะยาว หลายๆ อย่างในสังคมหล่อหลอมให้เรารู้สึกว่าเราไม่มีความมั่นใจ ไม่มีอะไรเลย เพราะว่ามันเจออย่างนี้เยอะๆ แล้วไม่อยากจะสู้ มีอะไรจะโทษตัวเองก่อน มันเป็นปมมากเลย ทุกวันนี้ก็พยายามแก้มันอยู่ คือเราก็สู้แหละ แต่ยังต้องแก้อยู่ระยะยาว

มันมีช็อตหนึ่งที่ ด.ญ.ดั่งใจ ลอยปริ่มๆ อยู่เหนือน้ำ ยิ้มแล้วค่อยๆ จมลงไป แปลว่าอะไร 

เบลล์ : ตีความได้หลายอย่าง มันเป็นสภาวะดิ่งของคนคนหนึ่งที่รู้สึกว่าเขาไม่อยากจะอยู่ตรงนั้นแล้ว จะหาทางอะไรสักอย่างที่จะออกไปจากตรงนั้น สิ่งที่เขาเป็นอยู่ แล้วเขาก็รู้สึกว่าการดิ่งมันอาจจะเป็นทางออกที่ทำให้เขารู้สึกสุขสงบ ไม่ต้องไปเจออะไรแบบนั้นแล้ว เขาเลยยินดีที่จะจมหายลงไป 

พริ้ม : แต่เขาก็ถูกดึงขึ้นมา ไม่ปล่อยให้จมลงไปง่ายๆ 

เบลล์ : จริงๆ แล้ว หนูต้องการจะพูดถึง suicidal thoughts (ความคิดฆ่าตัวตาย) เพราะเด็กรู้สึกว่ามันไม่ไหวแล้ว เครียด อยู่โรงเรียนก็เจอ กลับมาบ้านก็พ่อแม่อีก เหมือนเราโดนเปรียบเทียบ เราต้องเป็นอะไรสักอย่าง ซึ่งเราไม่อยากเป็นแล้ว ไม่ไหวแล้ว จมหายไปจริงๆ ดีกว่า 

เราก็ไม่ได้มีชีวิตแค่ที่โรงเรียนอย่างเดียว แต่เรามีชีวิตอยู่ที่บ้านด้วย คิดที่จะบอกพ่อแม่หรือว่าคนที่บ้านมั้ยว่าฉันเจอแบบนี้

พริ้ม : ไม่ๆ ไม่ใช่ว่าไม่กล้าเล่าหรือว่าไม่อยากเล่านะ แต่เราไม่เล่าเลยจริงๆ ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเหมือนกัน พอโตมาแม่ยังบอกเลยว่ามีอะไรก็เล่าได้ ทำไมไม่เล่าล่ะ จะได้ไปบอกคุณครูให้ 

เบลล์ : จริงๆ มิติตรงนี้น่าสนใจเพราะเหมือนสังคมก็จะไม่ชอบให้เกิกการปะทะ เหมือนใครที่สร้างแรงปะทะขึ้นมาในสังคม คือตัวปัญหานะ เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หนูไม่ค่อยคุยกับพ่อแม่ ทั้งๆ ที่เรารู้ว่าเขาจะสู้เพื่อเรา

กลัวสังคมบอกว่าเป็นเด็กขี้ฟ้อง?

พริ้ม : ใช่ๆ สภาพเด็กขี้ฟ้องมันแย่มาก ถูกมองว่าฟ้องเยอะเกินไปแล้ว แล้วทำไมถึงไม่มองว่า อ้าว แล้วคนที่แกล้งไม่ผิดเหรอ (หัวเราะ)

เบลล์ : ใช่ ทั้งๆ ที่ เขาก็พยายามจะชี้ว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นนะ ทำไมเขาถึงไม่ฟัง มันมีวิธีหลากหลายมากในการหาความจริงว่าเด็กคนนี้พูดจริงหรือเปล่า โดยไม่ต้องไปบอกเขาว่าเด็กขี้ฟ้องว่ะ มันเหมือนปัดทิ้งปัญหาอะ 

ปัญหามันอยู่ที่ครู ระบบ หรือว่าจริงๆ แล้ว ทั้งหมดส่งเสริมให้เกิดวาทกรรมนี้

พริ้ม : all in one แต่จริงๆ เหมือนใน ด.ญ.ดั่งใจ เราพยายามที่จะมองหลายๆ มุมด้วย 

เบลล์ : มันต้องแก้ ถ้ามันจะแก้ได้ ต้องมีคนพูดถึงมันให้ได้ก่อน 

พริ้ม : ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง และมีมานานแล้วด้วย ซึ่งถ้าเกิดทุกคนยอมรับความจริงตรงนั้นได้ การแก้ปัญหามันน่าจะง่ายขึ้น 

ทำไมถึงเอาประเด็นฆ่าตัวตายใส่ในแอนิเมชั่น มีแรงผลักตรงไหนเป็นพิเศษ

พริ้ม : ทุกๆ ปีจะมีข่าวนักศึกษา เด็กนักเรียนที่จากไปด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งมันไม่ได้มีแค่คนหรือสองคน แต่มันเยอะมากๆ และเพิ่มขึ้นทุกปีๆ จนคนรู้สึกว่าปกติ ทั้งที่มันไม่ได้เป็นเรื่องปกติเลย 

เบลล์ : เรารู้สึกว่าระบบมันเอื้อให้เกิดมาก ทั้งการแข่งขันที่สูงมากจนเครียด พ่อแม่ สภาพแวดล้อมก็กดดันให้คนต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งให้ได้

ทั้งที่จริงๆ แล้วทุกคนมันแตกต่างกัน ไม่ควรจะมีกรอบมาตีว่า ต้องเป็นแบบนี้ๆ ไม่อย่างนั้นมันจะไม่เกิดความหลากหลาย แล้วพอคนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีที่ยืน ไม่ fit in กับอะไรเลย ประกอบกับเขาไม่มีคนฟัง ไม่มีพื้นที่ให้เขาระบายออกไป ทางออกที่มันชัดเจนแต่ไม่ดีก็มีอยู่อย่างแน่นอน

ดั่งใจในแอนิเมชั่นคือดั่งใจใคร

พริ้ม : อยากให้คนดู ดูแล้วไปคิดเอาเองต่อ ไปตีความว่ามันอาจดั่งใจคุณครู ดั่งใจของระบบ ดั่งใจสังคม ถ้าคนดูวิเคราะห์กันไปกันได้หลายๆ แบบมันน่าสนใจมากๆ เลย

เบลล์ : หรือว่าดั่งใจตัวเองหรือเปล่า ที่สุดท้ายไม่ fit in กับระบบแบบนี้ แล้วรู้สึกยังไง 

ที่บอกว่า ทำแอนิเมชั่นเพื่อหาคำตอบว่า จริงๆ แล้วระบบการศึกษามันล้มเหลวหรือจริงๆ แล้วมันประสบความสำเร็จสำหรับบางคน วันนี้ได้คำตอบหรือยัง

เบลล์ : จริงๆ สำหรับหนูก็มันมีคำตอบที่ค่อนข้าง obvious อยู่แล้ว ว่ามันสำเร็จแบบไหน สำหรับใคร ต้องการผลิตคนมาเป็นแบบนี้ เพื่อให้อยู่ในโอวาทแบบนี้ หนูว่ามันประสบความสำเร็จแล้ว

พริ้ม : หนูก็คิดคล้ายๆ กันคือ รู้สึกว่าระบบที่เราเจอมา ต้องการให้เราเป็นคนที่เชื่อฟังและไม่ถาม ไม่ใช่ว่าไม่กล้าถามแต่ไม่ถามเลย ไม่มีคำว่าถามอยู่ในระบบ คือฟังและทำตาม สมัยนี้อาจมีบางคนบอกว่าให้คิดได้ แต่ยังไงก็ต้องฟังเขาอยู่ดี

เบลล์ : แบบนี้มันง่ายต่อการควบคุม แต่ถ้าถามหนู มันแย่ต่อการพัฒนาในระยะยาวมาก เพราะว่าพัฒนาไปได้ไม่ไกล (หัวเราะ) คนไม่รู้จะทำอะไรดี ไปไหนต่อดี คิดเองไม่ได้ มันจะไม่เกิดอะไรใหม่ๆ เลย แต่ว่ามันง่ายต่อการควบคุมจริงๆ 

พริ้ม : ระบบก็ทำหน้าที่ของการชี้ การชี้มันเป็นการ autonomy กดให้อีกฝ่ายรู้ว่าเขากำลังอยู่ต่ำกว่าเรา 

เบลล์ : มันเป็นอาวุธที่ทุกคนมี ใครก็ใช้ได้ แต่ว่ามันก็ขึ้นอยู่กับอำนาจว่ามีมากพอจะใช้มั้ย

พริ้ม : ถ้าไม่มากพอก็จะเป็นอย่าง ด.ญ.ดั่งใจตอนแรกอะ ชี้จนนิ้วหัก 

เบลล์ : มือแตกเลย (หัวเราะ)

พริ้ม : เหมือนกับว่าเขาต้องการคนที่สั่งแล้วก็ทำตาม ถ้าคนไหนสั่งแล้วไม่ทำตามถือเป็นเด็กที่ไม่ดี ไม่ได้เรื่อง ซึ่งพอเด็กคนอื่นเห็นก็จะรู้สึกว่าฉันจะเป็นเด็กที่เรียบร้อยเชื่อฟัง จะได้ไม่โดนบอกว่าเป็นเด็กที่ไม่ดี 

เบลล์ : คือการติด label ให้คนนั้นจำไปแล้ว เหมือนกับ rewarding system อย่างหนึ่งที่พอได้รับการ label ว่าเป็นคนที่เชื่อฟังมาก ดีมาก เขาอาจจะรู้สึกอยากจะทำแบบนั้นอีก ซึ่งมันบิดเบี้ยวนะ (หัวเราะ) 

พ่อแม่ได้ดูงานแอนิเมชั่นไหม

เบลล์ และ พริ้ม : โอ้ ดูค่ะ 

พริ้ม : เขาชอบนะ 

เบลล์ : ใช่ (หัวเราะ)

พริ้ม : ตอนแรกหนูคิดว่าแม่จะไม่เข้าใจหรือเปล่า เพราะกลัวสารไปไม่ถึงมากๆ แต่แม่บอกดูแล้วเข้าใจ โดยเฉพาะการส่งต่อความรุนแรง เขาเข้าใจอย่างถ่องแท้เลยว่ามันเกิดขึ้นจริงๆ ดีใจมาก

เบลล์ : ดีใจมากที่เขาพยายามเข้าใจ

บางทีเครื่องมือบางอย่างมันมีพลังมากกว่าการพูด?

เบลล์ : ใช่ มันรอบด้านกว่า

พริ้ม : รู้สึกว่าการที่เขาได้ดูเนี่ย มันเป็นการพูดตรงๆ ก็ได้ด้วย

เบลล์ : บางทีแล้วพ่อแม่อาจจะเห็นตัวเองในดั่งใจด้วยหรือเปล่า หรือโตมาแล้วเป็นแบบนั้นด้วยหรือเปล่า มันน่าสนใจมาก

ในอนาคต อยากเห็นเด็กหญิงดั่งใจเป็นแบบไหน

พริ้ม : อยากให้เด็กแอบเหมือนในตอนจบเนอะ

เบลล์ : ใช่ 

พริ้ม : เพราะตอนจบจะมีตอนที่เด็กๆ หลายคนเขาลุกขึ้นมาช่วยเหลือกัน คิดว่าในตอนนี้ก็เริ่มเป็นแบบนี้แล้วเหมือนกัน มีเด็กหลายคนที่พร้อมจะลุกขึ้นมาช่วยสู้ในสิ่งที่เขาไม่ควรจะเจอ เพราะถ้าเกิดสู้คนเดียวมันไม่มีทางที่จะยืนอยู่ได้

พลังแบบไหนที่ทำให้สัญญาณตรงนี้ขยายได้ใหญ่มากขึ้น

เบลล์ : นอกจากความกล้าของเด็กแล้ว มันต้องใช้ความกล้าของผู้ใหญ่ด้วย

พริ้ม : เรื่องเดียวกัน เด็กพูดกับผู้ใหญ่พูดเนี่ย ผู้ใหญ่พูดแล้วน้ำหนักมากกว่า 

เบลล์ : มันมีอำนาจเหนือ อำนาจร่วม แล้วก็อำนาจภายใน ตอนนี้คิดว่าผู้ใหญ่ต้องร่วมกันใช้อำนาจร่วมช่วยเด็กแล้วแหละ ถ้าอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

พลังหรือเครื่องมือ soft power สำคัญแค่ไหน 

เบลล์ : สำคัญมาก หลายๆ ปัญหาในสังคมนี่เกิดจาก soft power เยอะมาก อย่างพวกละคร เพลง ฯลฯ มันฝัง

พริ้ม : soft power มันเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวด้วยเหมือนกัน เหมือนกับโฆษณาน้ำดื่มอะ “คิดจะดื่มน้ำ ดื่ม…” แล้วก็เป็นยี่ห้ออันนี้ แล้วก็ซึมไปเองโดยอัตโนมัติว่าพอเข้าร้านก็จะซื้ออันนี้ (หัวเราะ) เราเห็นตั้งแต่เด็กเนอะ ละครไทยที่ตบตีกันเป็นเรื่องปกติ ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่เรื่องปกติ

แล้วพ่อแม่ควรอยู่ตรงไหนในระบบการศึกษาที่มันเคยล้มเหลวมาก่อน 

เบลล์ :  รับฟังลูก ต้องรู้จักลูกเราดีที่สุด ต้องมองบนฐานความเป็นจริงนะ ไม่ใช่  โอ๊ย ลูกฉันดีที่สุด (หัวเราะ) อันนั้นพ่อแม่รังแกฉัน 

พริ้ม : เวลาเกิดเรื่องอะไร อยากให้เขาเห็นใจก่อน

เบลล์ : จริงๆ เราแค่อาจจะอยากระบาย

พริ้ม : แค่อยากให้รับฟังอย่างเดียวก่อนก็ได้ เพราะบางทีผู้ปกครองอาจจะไม่ฟังเลย แล้วบอกว่า เนี่ย ทำแบบนี้สิ ทำไมไม่ทำอย่างงี้ 

ถ้าเด็กหญิงดั่งใจมีพ่อแม่รับฟัง จะเป็นอย่างไร 

เบลล์ : หนูมองว่าอย่างน้อยเขาก็จะรู้สึกว่าเขายังมีพื้นที่ให้เขาได้อยู่ และรู้สึกปลอดภัย 

พริ้ม : ใช่ๆ มันจะเปลี่ยนเป็นโทนสีขาว ถ้าเกิดดั่งใจมีพ่อแม่แบบนั้น อาจจะมีความรู้สึกว่าไม่เศร้า ดีใจที่อย่างน้อยก็ยังมีคนรับฟัง ถึงเจ็บปวดอยู่แต่ฉันได้รับการเยียวยา


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Photographer

Avatar photo

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า

Related Posts