ความบันเทิงจากการดูหนังอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย และความบันเทิงของเราอาจไม่เหมือนกับคนอื่นก็ได้ ถึงอย่างนั้น หนึ่งในประเภทหนังที่พวกเรามักจะเอนจอยได้เสมอ คือหนังที่เล่าเรื่องราวความเชื่อ ความฝัน และการรวมพลังกันของเด็กๆ เพื่อทำอะไรบางอย่าง
คิด-ดู ตอนนี้ ขอชวนไปมองพลังของเยาวชนท้องถิ่นในหนังไทยเรื่องที่เราอยากหยิบมาแนะนำ บางเรื่องเป็นพลังของเด็กตัวเล็กๆ ที่มีความฝันยิ่งใหญ่ บางเรื่องเป็นการรวมพลังของวัยรุ่นไทบ้านที่ผู้ใหญ่อาจไม่เห็นค่า แต่ทุกเรื่องล้วนพิสูจน์ให้เห็นว่า เด็กๆ ควรถูกสนับสนุนให้ค้นหาตัวตนของตัวเองเจอ พวกเขาจะได้มีพลังในการฝันและลงมือทำในสิ่งที่หลายคนอาจไม่คาดคิดว่าจะทำได้
เธอกับฉันกับฉัน (2566)
ในปี 1999 หรือยุค Y2K ที่หลายคนลือว่าโลกจะแตก ยู กับ มี (นำแสดงโดย ใบปอ-ธิติยา จิระพรศิลป์) สองสาวฝาแฝดที่ประสบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต นั่นคือการย้ายที่อยู่มายังนครพนม บ้านเกิดเมืองนอนของผู้เป็นแม่ ที่เธอหนีมาพักใจหลังจากทะเลาะกันครั้งใหญ่กับผู้เป็นสามี
ที่นั่น ยูกับมีได้เจอกับ หมาก (โทนี่-อันโทนี่ บุยเซอเรท์) เด็กหนุ่มลูกครึ่งที่เคยเรียนที่เดียวกันจากกรุงเทพฯ ผู้ที่กำลังจะทำให้หัวใจของสองสาวฝาแฝดหวั่นไหว ท่ามกลางเสียงพิณเสนาะและบรรยากาศฤดูร้อนของเมืองนครพนมอันสวยงาม
เธอกับฉันกับฉัน คือฝีมือการกำกับของ วรรณแวว หงษ์วิวัฒน์ และ แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ ผู้กำกับที่เป็นฝาแฝดกันไม่ต่างจากตัวละครหลักในเรื่อง ซึ่งนอกจากจะพาไปลุ้นกับเส้นเรื่องความรักวัยใส สำรวจความเจ็บปวดและการเติบโตของเด็กๆ ที่อยู่ในครอบครัวอันมีรอยร้าวแล้ว หนังเรื่องนี้ยังพาไปดูซอฟต์พาวเวอร์เล็กๆ ของเด็กนครพนมที่รวมพลังฟอร์มทีมกันตั้งวงดนตรีแบบบ้านๆ แต่สนุกสนานได้ใจ ทำให้เราได้เพลิดเพลินกับเสียงเพลงและการแสดงของเด็กๆ นักดนตรี ไม่แพ้สองสาวฝาแฝด
ภาพจาก : ‘เธอกับฉันกับฉัน’ | Official Trailer
A Time To Fly บินล่าฝัน (2566)
หลายคนรู้จัก หม่อง ทองดี ในฐานะเด็กอายุ 11 ปี ตัวแทนประเทศไทย ที่เคยบินไปแข่งร่อนเครื่องบินกระดาษที่ญี่ปุ่นเมื่อปี พ.ศ. 2552 แต่ก่อนจะบินก็เกือบจะออกนอกประเทศไม่ได้ เพียงเพราะเขาเป็นคนไร้สัญชาติ โชคดีที่ได้แรงสนับสนุนจากการทำข่าวของสื่อมวลชนและหน่วยงานรัฐ จนทำให้เขาบินไปแข่งได้และคว้าแชมป์แบบทีมผสม และรางวัลที่ 3 ประเภทบุคคลเดี่ยว รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปีมาได้สำเร็จ
A Time To Fly บินล่าฝัน คือหนังที่สร้างมาจากชีวิตของหม่องในเวลานั้น ฉายภาพให้เห็นตั้งแต่หม่องเป็นเด็กไร้สัญชาติผู้อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ และจุดเริ่มต้นของความเชื่อ ความฝัน และแรงผลักดันที่ทำให้เขากลายเป็นตัวแทนแข่งร่อนเครื่องบินกระดาษระดับชาติ
มากกว่าพลังในการกีฬา หนังเรื่องนี้ยังทำให้เราเห็นพลังของความเชื่อของเด็กชายตัวเล็กๆ ที่เชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นใคร เกิดมาด้วยสัญชาติไหน ทุกคนก็คู่ควรกับการเดินตามความฝันกันทั้งนั้น นั่นคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก A Time To Fly บินล่าฝัน
ภาพจาก : A Time To Fly บินล่าฝัน | Official Trailer
ไทบ้าน เดอะซีรีส์ (2560)
ไทบ้าน เดอะซีรีส์ อาจเริ่มต้นจากเรื่องราวของวัยรุ่นชาวอีสาน ว่าด้วยการจีบกัน รักกัน เลิกกัน พร้อมกับเล่าวิถีชีวิต อาชีพ กับมุมมองที่ไม่ตรงกันของคนหลากหลายช่วงอายุวัย แต่มากกว่านั้น มันยังเล่าเรื่องของความฝันและพลังของเยาวชนที่ยืนยันจะก่อร่างสร้างตัวด้วยตนเอง
อย่างในภาค 2.1 ตัวละคร ป่อง (นำแสดงโดย สมชาย สายอุทา) ก็ทะเลาะกับพ่อบ่อยครั้งด้วยเรื่องการทำ ‘สโตร์ผัก’ ซึ่งเป็นแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งสุดท้ายก็ได้การร่วมแรงร่วมใจจากชาวแก๊งมาร่วมกันทำให้สำเร็จ ในภาค ไทบ้าน x BNK48 จากใจผู้สาวคนนี้ จาลอด (นำแสดงโดย ณัฐวุฒิ แสนยะบุตร) หนึ่งในชาวแก๊งไทบ้านก็ต้องช่วยสาวๆ BNK48 ในโปรเจกต์ทำเพลงอีสาน หรืออย่างในภาคล่าสุดอย่าง ‘สัปเหร่อ’ เซียง (นำแสดงโดย ชาติชาย ชินศรี) ตัวเอก ก็ต้องช่วย เจิด (นำแสดงโดย นฤพล ใยอิ้ม) ทายาทของสัปเหร่อในเรื่อง เพื่อสานต่อธุรกิจสัปเหร่อของพ่อเจิด
แต่เหนืออื่นใด พลังที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดซึ่งเราเห็นได้จากจักรวาลไทบ้าน น่าจะเป็นความเชื่อของกลุ่มคนทำหนังจากภาคอีสานที่ทำในสิ่งที่แตกต่าง และมองว่าหนังที่อบอวลไปด้วยความเป็นท้องถิ่น ทั้งตัวละคร บทสนทนา และบรรยากาศก็น่าจะมีคนดูไม่น้อย ถ้าถูกทำขึ้นมาอย่างประณีตและจริงใจ จนตอนนี้ ผลสำเร็จของจักรวาลไทบ้านก็ทำให้เราได้เห็นแล้วว่าพวกเขาคิดถูก
ภาพจาก : ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.1 | Official Trailer