ภาวะว้าเหว่ในผู้สูงอายุ อย่ามองข้ามความเหงาของผู้สูงอายุใกล้ตัวเรา เพราะวัยเก๋าก็เหงาเป็น

  • ภาวะว้าเหว่ในผู้สูงอายุ อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้สูงอายุได้ เช่น เสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมและภาวะซึมเศร้า ดังนั้นเราจึงควรสังเกตและใส่ใจท่านให้มากขึ้น เพื่อที่จะได้หาทางป้องกันและรับมือได้ทันท่วงที
  • ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะว้าเหว่ในผู้สูงอายุนั้นมีหลายปัจจัย โดยปัจจัยหลักที่พบบ่อย ได้แก่ ปัญหาสุขภาพ เทคโนโลยี ความห่างเหินของคนในครอบครัว และสภาพแวดล้อม
  • สมาชิกในครอบครัวช่วยป้องกันการเกิดภาวะว้าเหว่ในผู้สูงอายุได้ โดยเน้นการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุ เช่น พูดคุยกับผู้สูงอายุให้มากขึ้น โทรหาท่านบ่อย ๆ หากิจกรรมทำร่วมกันในครอบครัว อ่านหนังสือให้ผู้สูงอายุฟัง เปลี่ยนสภาพแวดล้อมและบรรยากาศรอบตัวผู้สูงอายุ

เทศกาลสงกรานต์ คือเทศกาลที่ใครหลายคนยกให้เป็นช่วงเวลาของครอบครัว ลูกหลานพร้อมใจกันเดินทางกลับบ้านไปหาพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายเพื่อใช้เวลาด้วยกันอย่างมีความสุข แต่เมื่อเทศกาลวันหยุดยาวนี้จบลง ถึงคราวที่ลูกหลานต้องแยกย้ายกันกลับไปทำงาน กลายเป็นว่าคนที่รออยู่ที่บ้านก็ต้องเผชิญกับความเหงาอีกครั้ง 

ความเหงาที่ว่านี้อาจเป็นสัญญาณในการเฝ้าระวัง ภาวะว้าเหว่ในผู้สูงอายุ ที่เกิดขึ้นได้ในทุกครอบครัว

“ยายเริ่มหลง ๆ ลืม ๆ ความจำไม่ค่อยดีอย่างแต่ก่อน แต่ยายถามตลอดนะว่าหลานจะกลับบ้านเมื่อไร” แม่บอกกับเราในตอนที่เราโทรหาและขอคุยกับยาย

ยายมีปัญหาสุขภาพ ออกไปไหนไม่ค่อยได้ ลุกไปทำกับข้าวในครัวเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว โทรศัพท์มือถือหรือโซเชียลมีเดียก็เล่นไม่เป็น พอลองนึกดูแล้วถ้าเราเป็นยายก็คงเหงาจับใจ สิ่งที่ยายเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อที่สุด คือการกลับบ้านของลูก ๆ หลาน ๆ อย่างเรา

ภาวะว้าเหว่ในผู้สูงอายุเป็นภาวะที่ลูกหลานไม่ควรมองข้าม ลูกหลานอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กเพราะใคร ๆ ก็เหงา แต่ผู้สูงอายุนั้นมีข้อจำกัดมากกว่าวัยเรา ภาวะว้าเหว่หรือความเหงานั้นมีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ เมื่อผู้สูงอายุรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จะมีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม และอาจรุนแรงไปจนถึงการเกิดภาวะซึมเศร้า การทำความเข้าใจผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญ คนในครอบครัวต้องช่วยกันดูแลและพร้อมรับมือกับภาวะนี้เสมอ และต้องอาศัยความร่วมมือจากสมาชิกในครอบครัวจึงจะป้องกันภาวะนี้ได้

ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะว้าเหว่ในผู้สูงอายุ

ปัญหาสุขภาพ

ผู้สูงอายุหลายคนมักมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพร่างกาย เช่น มีปัญหาการเคลื่อนไหว ซึ่งมักเป็นอุปสรรคในการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน บางคนมีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง ทำให้ต้องอาศัยอยู่ในบ้านเพื่อรับการดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ได้ออกไปพบปะเพื่อนวัยเดียวกัน ไม่ค่อยได้พบเจอผู้คน บทบาททางสังคมก็เริ่มลดลง ทำให้ขาดความมั่นใจและรู้สึกโดดเดี่ยว

การก้าวตามเทคโนโลยีไม่ทัน

ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไกล คนรุ่นใหม่ต่างหันมาใช้เทคโนโลยีจนเรียกได้ว่ากลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน แต่ในขณะเดียวกันนั้น ผู้สูงอายุหลายคนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ เมื่อลูกหลานหันไปให้ความสนใจกับหน้าจอ ผู้สูงอายุอาจไม่เข้าใจและรู้สึกเหมือนคุยกันคนละภาษา ทำให้ไม่กล้าที่จะพูดคุยและเข้าร่วมบทสนทนากับลูกหลาน

ความสัมพันธ์ที่ห่างเหินในครอบครัว

เมื่อสมาชิกในครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกัน ดูแลเอาใจใส่กันน้อยลง พูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กันน้อยลง ผู้สูงอายุจะรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่กล้าบอกความต้องการหรือขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัว กลายเป็นว่าผู้สูงอายุต้องแบกรับความรู้สึกไว้เพียงลำพังเพราะขาดผู้รับฟังเรื่องราวของตน

สภาพแวดล้อม

ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ อาจรู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีความสุข ไม่มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต ขาดความมั่นใจในตัวเอง และอาจทำให้ผู้สูงอายุมีภาวะว้าเหว่ได้ในท้ายที่สุด

สมาชิกในครอบครัวจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะว้าเหว่ในผู้สูงอายุได้อย่างไร

พูดคุยกับผู้สูงอายุให้มากขึ้น

การพูดคุยกันของคนในครอบครัว นอกจากจะช่วยป้องกันการเกิดภาวะว้าเหว่ในผู้สูงอายุแล้ว ยังช่วยกระตุ้นความจำและช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวได้เป็นอย่างดี ลองเริ่มจากการพูดคุยในเรื่องทั่วไปอย่างเรื่องอาหาร ดินฟ้าอากาศ หรือจะลองทบทวนความจำด้วยการถามสูตรอาหาร ถามความรู้รอบตัวเก่า ๆ จากคุณตาคุณยาย ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้คลายความเหงาและยังทำให้เขารู้สึกถึงคุณค่าในตัวเองอีกด้วย

โทรหาท่านบ่อย ๆ

แม้หลายครอบครัวจะมีลูกหลานที่แยกย้ายกันไปทำงานต่างจังหวัดหรือย้ายออกไปมีครอบครัวเป็นของตัวเอง แต่การโทรหาผู้สูงอายุเพื่อไต่ถามสารทุกข์สุกดิบก็เป็นอีกวิธีที่แสดงออกถึงความรักและความห่วงใยที่เรามีต่อท่านได้ ลองโทรหาท่านแล้วชวนคุยวันละนิดวันละหน่อย อย่าปล่อยให้ระยะทางมาเพิ่มช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์ในครอบครัว

หากิจกรรมทำร่วมกันในครอบครัว

กิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัวควรเป็นกิจกรรมที่ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมได้ เช่น การดูหนัง ดูละคร ร้องเพลง ทำขนมง่าย ๆ หรือการออกกำลังกายเบา ๆ ที่ลูกหลานช่วยดูแลได้อย่างใกล้ชิด เล่นเกมเบาสมองอย่างเกมจับคู่ภาพเหมือน เกมจับผิดภาพ หรือบวกลบเลขง่าย ๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยป้องกันภาวะว้าเหว่ในผู้สูงอายุได้

อ่านหนังสือให้ผู้สูงอายุฟัง

การอ่านหนังสือสักเล่มให้ผู้สูงอายุฟัง นอกจากจะเป็นการกระตุ้นความจำและเสริมสร้างความบันเทิงให้กับผู้สูงอายุแล้ว อาจทำให้เรามีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับหนังสือเล่มนั้นกับคุณพ่อคุณแม่ คุณตาคุณยาย ได้มุมมองใหม่ ๆ ได้บทสนทนาดี ๆ ในครอบครัว และได้รู้จักมุมมองของท่านมากขึ้นไปอีก

เปลี่ยนบรรยากาศและสภาพแวดล้อม

หากผู้สูงอายุไม่ได้มีปัญหาสุขภาพร่างกาย แนะนำให้พาท่านออกไปเดินเล่น นั่งรถเล่น เพื่อที่จะได้เจอผู้คนใหม่ ๆ เปลี่ยนบรรยากาศให้ท่านได้ออกไปพูดคุยกับคนอื่น ๆ หรือหากผู้สูงอายุเคลื่อนไหวไม่สะดวก มีปัญหาสุขภาพ ลองตกแต่งบรรยากาศภายในบ้านให้ดูดีขึ้น จะช่วยให้ไม่รู้สึกเบื่อและจะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ว่าท่านชอบบรรยากาศแบบใด 

ความเหงาของผู้สูงอายุอาจฟังดูเป็นเรื่องไกลตัวและเข้าใจได้ยากสำหรับลูกหลาน แต่หากลองทำความเข้าใจดูก็จะรู้ว่าเบื้องหลังคำว่า ‘เหงา’ ของผู้สูงอายุยังมีหลายเรื่องราวที่เราไม่เคยได้รับรู้ ยังมีหลายความรู้สึกที่เราไม่เคยต้องแบกรับในวัยนี้ การใส่ใจความรู้สึกของผู้สูงอายุในครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ อย่าทิ้งให้ใครคนใดคนหนึ่งต้องแบกรับความเหงาเพียงลำพัง เพราะเราเชื่อว่าพลังความอบอุ่นของครอบครัวจะช่วยต่อสู้กับความเหงาได้บ้างไม่มากก็น้อย


Writer

Avatar photo

ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Illustrator

Avatar photo

ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์

ชอบกินลาเต้เย็น

Related Posts