21 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊คแฟนเพจ ‘ก่อการครู’ จัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ ถอดรหัสประเด็นการศึกษาไทย: ใต้พรมแห่งความดีงาม ว่าด้วยการถอดรื้อมายาคติที่ฝังรากลึกจนกลายเป็นปัญหาการศึกษาไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดำเนินรายการโดย ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ บรรณาธิการ และ Co-founder mappa media โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ เดชรัต สุขกำเนิด จาก Think Forward Center พฤหัส พหลกลบุตร จากมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) และ ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข รองคณบดี คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สำรวจและรื้อถอนมายาคติทางการศึกษาในสังคมไทย
อดิศร ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยการสำรวจและรื้อถอนมายาคติทางการศึกษาในสังคมไทย กล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่มาจากโครงการ ‘ผู้นำแห่งอนาคต’ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในการศึกษาประเด็นศักยภาพของผู้นำ โดยเน้นประเด็นของการพัฒนากลุ่มคนทำงานด้านการศึกษาที่ลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่มครูและแวดวงการศึกษา ซึ่งพบว่า ประเด็นปัญหาการศึกษาไทยมีความสลับซับซ้อน แม้จะมีงานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบายและนวัตกรรมมากมาย แต่ปัญหากลับยังคงวนเวียนอยู่ที่เดิม จึงเกิดเป็นคำถามที่ทำให้ต้องย้อนกลับไปมองรากของปัญหา
“คำถามก็คือ ถ้าเรายังมองแต่ในแง่นวัตกรรมหรือนโยบาย เราอาจจะไม่เข้าใจถึงรากของปัญหาในการศึกษา จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามกับประเด็นต่างๆ ที่เรามองว่าเป็นปัญหา ว่ามีวิธีคิดแบบไหนอยู่เบื้องหลัง หรือมีสิ่งที่เราเรียกว่า ‘มายาคติ’ แบบไหนซ่อนอยู่ในนั้นบ้าง ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งในแง่บวก คือช่วยทำให้สังคมขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ เราจึงถอยออกมา 1 ก้าว เพื่อจะทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เริ่มต้นด้วยการย้อนกลับมามองวิธีคิดที่อยู่เบื้องหลังของการศึกษาไทย”
5 ประเด็นหลักในโครงการวิจัยชิ้นนี้ ได้แก่ 1) ทักษะในศตวรรษที่ 21 2) ทัศนคติ พฤติกรรมทางเพศในห้องเรียน 3) ความเสมอภาคทางการศึกษา 4) ความสำเร็จในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของผู้เรียน และ 5) การจัดการชั้นเรียน และการลงโทษของครู อดิศรอธิบายว่า เหตุที่เลือก 5 ประเด็นนี้ เนื่องจากเป็นประเด็นที่อยู่ ‘ใต้พรม’ ซึ่งมีความหลากหลายและมีจุดร่วมทางสังคมบางอย่างที่เชื่อมไปยังวัฒนธรรม ความเข้าใจ และความสำคัญของคนที่อยู่ในระบบการศึกษา
บทสนทนาถัดมา เดชรัตเปิดประเด็นเล่าย้อนไปถึงอดีตของตนที่เกี่ยวข้องกับมายาคติทางการศึกษา ในยุคนั้นแม้จะมีความอึดอัดบ้าง แต่ไม่ได้นำไปสู่การตั้งคำถามมากนัก จนกระทั่งเมื่อบุตรสาวที่ขณะนั้นกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมได้รณรงค์แคมเปญว่า “การตัดผมสั้นเกรียนจะช่วยให้นักเรียนมีวินัยได้อย่างไร” ซึ่งเป็นเรื่องที่เด็กต้องการคำตอบ
“ผมไม่เคยได้ยินคำตอบว่า เรื่องทรงผมมีผลต่อการเรียนที่แย่ลง หรือวินัยที่แย่ลงอย่างไร ตกลงมันคืออะไรกันแน่ หรือจริงๆ แล้วมันคือ power play เพื่อแสดงอำนาจอย่างหนึ่ง ผมเข้าใจว่าคุณครูจำนวนหนึ่งก็คงหวังดี แต่ความหวังดีนั้นจะเปิดพื้นที่ให้เด็กซึ่งก็หวังดีเช่นกันได้ยังไง นี่คือจุดหนึ่งที่เป็นปัญหาใต้พรม”
เดชรัตกล่าวต่อว่า นอกจากประเด็นทรงผมแล้ว ทุกโรงเรียนยังบังคับให้นักเรียนท่องค่านิยม 12 ประการ เหตุใดวงการศึกษาจึงรับนโยบายนี้มาโดยไม่กลั่นกรองหรือทดลองตามโรงเรียนในวงจำกัด หากท่องแล้วได้ผลจึงค่อยขยายไปยังโรงเรียนอื่นๆ แต่หากท่องแล้วไม่ได้ผล จะมีข้อสรุปต่อนโยบายนี้อย่างไร
“ถ้ามันไม่ได้ผล เรามีข้อสรุปอะไรบ้างเรื่องการท่องค่านิยม 12 ประการ แล้วถ้าเรามีผู้นำคนใหม่ มีอะไรใหม่ๆ มาให้ท่องอีก เราจะไม่สนใจข้อเท็จจริงเลยเหรอว่ามันได้ผลหรือไม่ได้ผล ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรม”
พฤหัสเล่าต่อจากเดชรัตถึงประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาว่า แม้จะมีคำถามในใจตลอดเวลา แต่บริบททางสังคมในยุคนั้นยังไม่กดดันมากนักเมื่อเทียบกับเด็กยุคนี้ที่ต้องเผชิญทั้งกฎระเบียบ ทรงผม เครื่องแบบ การเข้าแถวหน้าเสาธง ฯลฯ
“ในยุคผมเป็นลักษณะที่พอยอมรับได้ แต่การที่ผมพอยอมรับได้ มันอาจจะเป็นปัญหาก็ได้ หมายความว่า การที่เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นปกติจริงหรือเปล่า
“โรงเรียนผมเป็นโรงเรียนเล็กๆ ในต่างจังหวัด มีเพื่อนสอบเข้ามหา’ลัยได้ 3-5 คน ที่เหลืออีกเป็นร้อยๆ ไปไหน แปลว่าเขาไม่ประสบความสำเร็จหรือเปล่า เขาไม่สามารถก้าวข้ามเส้นนี้ไปได้ด้วยเหตุผลอะไร คำถามนี้ไม่เคยถูกถาม เพราะเราถูกทำให้เชื่อว่าสิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ปกติ นี่คือปัญหาใหญ่มาก ทำให้เราต้องกลับมาตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์หลายๆ เรื่องที่ดูเหมือนปกติ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ปกติ”
เช่นเดียวกับอดิศรที่เล่าย้อนเรื่องราวในวันวานว่า มีคำถามเกิดขึ้นในใจตลอดเวลา แต่ด้วยความที่ถูกมองว่าเป็นเด็ก จึงไม่มีอำนาจที่จะตั้งคำถามหรือท้าทายความเชื่อเดิม
“ที่สำคัญมีมายาคติอีกเรื่องหนึ่งที่ซ้อนทับอยู่ก็คือ เราไม่อยากทำให้พ่อแม่เสียใจ ถ้าเราลุกขึ้นมาต่อต้านอะไรบางอย่าง พ่อแม่เราจะถูกเล่นงานหรือถูกดำเนินการอะไรบางอย่าง เราจึงไม่อยากให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น เพราะเรายังต้องการเป็นลูกที่ดีสำหรับพ่อแม่ ฉะนั้นจึงมีบริบทอื่นๆ แวดล้อมอยู่ ทั้งในแง่วัฒนธรรม ครอบครัว ศาสนา ทำให้เราไม่กล้าลุกขึ้นมาทำอะไรได้”
ก้าวข้ามกล่องแคบๆ ของการศึกษาในระบบ
ในโลกของการเรียนรู้ พฤหัสให้ความเห็นว่า การเรียนรู้ของเด็กไม่ควรถูกกักขังอยู่ในกรอบแคบๆ เท่านั้น และไม่จำเป็นต้องไปตามลู่วิ่ง ดังนั้น พฤหัสจึงสนใจในเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ในห้องเรียน
“ผมเชื่อเรื่องการเรียนรู้โลกภายนอกมากกว่าการศึกษาในระบบ เมื่อโลกเปลี่ยนไป การเรียนรู้ยิ่งต้องหลากหลาย ทำยังไงเราถึงจะมีโลกนอกกล่องอันกว้างขวางที่เราสามารถสร้างความรู้ให้กับมนุษย์ทั่วๆ ไปได้ คำถามนี้มีมาตลอด ผมเลยออกมาทำงานเกี่ยวกับการศึกษา”
เดชรัตให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ผู้ใหญ่มักจะติดอยู่ในกรอบคิดในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพูด การแสดงออก หรือการแสดงความคิดเห็น แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ เพดานหรือกรอบคิดเหล่านี้สามารถทำให้หายไปได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ก้าวผ่านไปได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ในยุคปัจจุบันจำเป็นต้องเรียนรู้จากเด็ก เพื่อเปลี่ยนมุมมองสู่การเป็นครูที่ดี
“หัวใจสำคัญที่จะทำให้ครูทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีก็คือ ลดความเป็นครูลง แล้วเพิ่มความเป็นมนุษย์ให้มากขึ้น มนุษย์เป็นสัตว์ที่รักในการเรียนรู้ ถ้าเราเท่ากัน จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้มากขึ้น ลูกชายผมที่ชอบทำบอร์ดเกม เพราะเขามองว่าทุกคนก็คือผู้เล่นเหมือนกัน ทุกคนเท่ากัน ไม่ใช่ว่าพ่อจะเหนือลูก หรือคุณครูจะเหนือนักเรียน”
อดิศรมองว่า ในอนาคตการศึกษานอกระบบอาจจะมาแทนการศึกษาในระบบได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในระบบของสังคมก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ ฉะนั้นการศึกษาในระบบจึงยังเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การรับสมัครงานที่ยังกำหนดวุฒิการศึกษาผ่านใบปริญญาอยู่ ด้วยเหตุนี้ ผู้คนยุคปัจจุบันจึงยังคงต้องเผชิญหน้ากับข้อจำกัดเช่นนี้ คนรุ่นใหม่อาจจะมีความคิด ความสามารถ และมีศักยภาพ แต่ยังติดมายาคติเหล่านี้อยู่ จึงต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง
มูฟเมนต์ของคนรุ่นใหม่สู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ในฐานะอาจารย์ที่ได้ใกล้ชิดและคลุกคลีกับคนรุ่นใหม่ อดิศรมองเห็นถึงพลังและความกล้าหาญที่จะออกมาตั้งคำถามและช่วยกันเสนอแนะทางออกที่เป็นไปได้ เพราะการตั้งคำถามเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือการแก้ปัญหา
“ผมเห็นพลังของคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะทะลุเพดานอยู่เสมอๆ แต่คนรุ่นก่อนยังมีเพดานอยู่ ถ้าใครทะลุออกไป อาจจะถูกมองว่าประหลาดหรือสุดโต่ง แต่สำหรับคนรุ่นปัจจุบัน เขารู้แล้วว่าการตั้งคำถามเป็นสิ่งที่ทำได้”
โดยเฉพาะการเติบโตมาภายใต้ระบบที่เคร่งกฎระเบียบ ทำให้เกิดแรงปะทุภายใน และทำให้การแสดงออกของคนรุ่นใหม่แตกต่างจากยุคก่อนหน้า
“คนรุ่นใหม่เขามีความคุกรุ่นบางอย่างในตัว เพราะเติบโตมาในสภาพสังคมที่ถูกกดทับอย่างชัดเจนและรุนแรง ในยุคนี้มันมีความรู้สึกทนไม่ไหวของคนรุ่นใหม่ และถูกแสดงออกอย่างเปิดเผยในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ซึ่งคนรุ่นอื่นอาจไม่เข้าใจและมองว่าคือความก้าวร้าว”
พฤหัสให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การจะปฏิรูปการศึกษาอย่างเดียว โดยไม่สนใจเรื่องโครงสร้างสังคมนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะการศึกษาเกี่ยวพันกับมิติอื่นๆ เช่น สาธารณสุข การเมือง นอกจากนี้ การวิ่งไปตามลู่วิ่งหรือการเข้าสู่ระบบการศึกษา อาจจะไม่ได้ทำให้มนุษย์งอกงามอย่างแท้จริง เพราะระบบการศึกษาเป็นเพียงการผลิตแรงงานชั้นดีที่จะตอบสนองระบบอุตสาหกรรมเพื่อสร้างผลผลิตได้มากที่สุด
“การสร้างมนุษย์ให้กลายเป็นแรงงานที่มีผลิตภาพ มีผลิตผลสูง การลดทอนมิติในการศึกษา หรือมุมมองของรัฐที่มีต่อผู้เรียน ทั้งหมดนี้ยังเป็นปัญหาอยู่ เราต้องแก้ตรงจุดนี้หรือปรับเปลี่ยนความคิดของสังคมให้ได้ก่อน
“เราจะยอมอยู่ในสังคมแบบนี้ต่อไปจริงๆ หรือ การที่เราส่งเสียงออกมาแล้วโดนจับ การที่เรามีความคิดที่แตกต่างจากรัฐ แล้วกลายเป็นคนที่มีความผิดทางกฎหมาย เราจะอยู่กันแบบนี้จริงๆ หรือ ผมคิดว่าเครื่องมือที่จะจัดการกับระบบคิดของคนในสังคมได้ก็คือ ระบบการศึกษา สิ่งเหล่านี้สะท้อนกันและกัน เพราะระบบการศึกษาแบบนี้ เลยสร้างคนแบบนี้ออกมา หรือเพราะคนแบบนี้จึงออกแบบระบบการศึกษาแบบนี้ออกมา มันเป็นเหรียญสองด้านที่ทำงานควบคู่กัน
“สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาคือ คนรุ่นผมหรือคนรุ่นก่อนที่ครอบครองสังคมมาเป็นระยะเวลายาวนาน คุณและผมต่างก็มีส่วนนำพาประเทศให้มาถึงจุดนี้ เราจะปฏิเสธความรับผิดชอบที่มีต่อคนรุ่นใหม่ไม่ได้ ที่มันมีปัญหาก็เพราะคนรุ่นเราไม่ยอมปล่อยมือ เมื่อเราก็ทำผิดพลาด ลูกหลานก็จะตาย เพราะความผิดพลาดของเรา
“เสียงของผู้เรียนนั้นมีน้ำหนักน้อยมากในโรงเรียน ทั้งๆ ที่เขามีจำนวนมากที่สุดในโรงเรียน มันกลับกลายเป็นว่าอาจารย์หรือผู้บริหารที่อยู่บนยอดพีระมิด เป็นคนที่กำหนดนโยบายในโรงเรียน เหมือนกับชนชั้นนำที่อยู่บนยอดพีระมิดกับคนจำนวนมากที่ต้องทำตามชนชั้นนำที่มีจำนวนน้อย ถ้าเราเปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วมออกแบบทิศทางการศึกษาของเรา ผมคิดว่าจะลดทอนปัญหาเรื่องนี้ไปได้มาก”
ว่าด้วย ‘ความดี’ และ ‘ความกตัญญู’
สำหรับเดชรัต ครูที่ดีคือ “ครูที่เป็นมืออาชีพ และรับรู้ว่าตนควรจะทำหน้าที่อะไร ส่วนนักเรียนที่ดี อาจไม่สามารถให้คำนิยามได้ตายตัว แต่ควรเป็นการพูดคุยว่าสิ่งใดบ้างที่เป็นเรื่องควรกระทำและสมเหตุสมผล”
“นักเรียนที่ดีนั้นมักถูกนิยามโดยสังคม ขึ้นกับว่าสังคมให้คุณค่ากับเรื่องอะไร เช่น การมีคุณธรรม มีสัมมาคารวะ เคารพผู้ใหญ่ นอบน้อม แต่งกายเรียบร้อย ทรงผมถูกระเบียบ คล้ายๆ กับเป็นเด็กดีในนิยามของรัฐ เพราะฉะนั้นหากสังคมให้คุณค่ากับเรื่องใด ก็จะมุ่งผลิตพลเมืองในรูปแบบนั้นๆ” พฤหัสเสริม
เรื่องความกตัญญู เดชรัตให้นิยามไว้ว่า ในฐานะที่เป็นทั้งคุณครูและคุณพ่อ ความกตัญญูเป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องไม่ใช่ความกตัญญูในทางเดียว
“ความกตัญญูนั้น ไม่ใช่ว่าเรามีบุญคุณต่อลูกอย่างเดียว ลูกก็มีบุญคุณต่อเราเช่นกัน การที่เรารู้สึกมีความสุข มีพลังในชีวิต ก็มาจากลูกเรา สำหรับผม ความกตัญญูคือความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม ไม่ใช่ ‘loyalty’ ไม่ใช่บอกว่า คุณจะต้องมาจงรักภักดีต่อผม หรือคุณจะต้องทำตามอำนาจคำสั่งของคุณพ่อ แต่ความกตัญญูคือคำว่า ‘care’ คือการที่เราดูแลกันและกัน
“เช่นเดียวกันกับนิสิต ผมก็รู้สึกเสมอว่า ผมได้เป็นอาจารย์ ได้มีอาชีพที่มั่นคง ก็เพราะมีนิสิต สำหรับผมความกตัญญูไม่เคยมีทางเดียว มันเป็นสองทางที่เท่ากันเสมอ”
อดิศรให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ว่า ความกตัญญูไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หากแต่หลายๆ ครั้ง มันมักถูกใช้มาเป็นเครื่องมือในการตอบสนองผู้มีอำนาจ
“สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ใหญ่มักใช้ความกตัญญูเป็นเครื่องมือในการทวงอะไรบางอย่าง หรือเรียกร้องอะไรบางอย่างจากลูกหลาน การที่เรารับรู้และซาบซึ้งกับสิ่งที่เขามีให้ต่อเรา ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกว่าต้องตอบแทน เพื่อทำให้คนนั้นพอใจ ผมว่ามันเป็นปัญหา
“การที่เราได้รับการดูแลจากใครคนใดคนหนึ่ง แล้วเราอยากที่จะดูแลเขากลับ มันเป็นเรื่องธรรมดา และมันทำให้สังคมดำรงอยู่ต่อไปได้ แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่เรารู้สึกถูกบังคับ ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ นั่นคือปัญหาของการเอาความกตัญญูมาใช้”
ด้านพฤหัสมองว่า คำว่า ‘กตัญญู’ นั้นขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล
“มันเป็นเรื่องการตีความต่อระบบคุณค่านั้นๆ ความกตัญญูอาจจะไม่ใช่การตอบแทน แต่ว่าเป็นการเรียนรู้ที่จะรัก ถ้าเรารักเขา เราก็ทำดีกับเขา ถ้ามนุษย์ได้รับความรักจากคนคนหนึ่ง โดยธรรมชาติแล้วเขาก็อยากจะรักตอบ
“อย่างคำว่า ‘รักชาติ’ การออกมาส่งเสียงเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ อยากจะสร้างการเปลี่ยนแปลง ในมิติหนึ่งเขาก็รู้สึกว่าเขารักชาติ และอยากเห็นประเทศชาติดีขึ้น ในขณะที่มุมมองของบางคน กลับมองว่าเด็กพวกนี้ชังชาติ ผมว่ามันตีความได้แตกต่างมุมมอง ขึ้นอยู่กับว่า เราเข้าใจพฤติกรรมนั้นมากน้อยแค่ไหน แล้วเราตีความหรือให้คุณค่ากับเรื่องนั้นอย่างไร”
เปลี่ยนวิธีวัดผลที่ไม่ใช่ ‘สอบผ่าน’ หรือ ‘สอบตก’
เดชรัตกล่าวว่า ตนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ จึงชื่นชอบและเชื่อในการวัดผล แต่ปัญหาที่พบคือ สถาบันการศึกษาในประเทศนี้ยังขาดความหลากหลายในการวัดผล
“สิ่งที่มีปัญหาในสถาบันเราก็คือ วิธีการวัดผลมีน้อยเกินไป ไม่ตรงกับความสามารถ ความต้องการ หรือความตั้งใจของเด็ก อีกทั้งเราไม่กล้าที่จะใช้วิธีการวัดผลใหม่ๆ เราจึงควรหาวิธีการวัดผลที่สะท้อนความสามารถของเด็ก ปัจจุบันก็ทำได้หลายวิธี สามารถแชร์ผลงานของเขา ให้คนมาทดสอบ ให้คนมาชื่นชม หรือวิพากษ์วิจารณ์ ทำได้ตั้งเยอะ แต่เราต่างหากที่ยึดติดอยู่กับการวัดผลวิธีเดียว ซึ่งเราก็ไม่เคยทดสอบด้วยว่าวิธีการนั้นมันดีหรือเปล่า และวิธีการวัดผลอาจไม่ได้มีแค่ผ่านกับตกเพียงแค่สองอย่าง แต่อาจวัดเป็นเลเวลหรือเป็นขั้นๆ ได้
“อีกคำหนึ่งคือ การชื่นชม ผมคิดว่าการชื่นชมเด็กเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้พัฒนาการของเขาดี ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะวิจารณ์ไม่ได้ แต่เราก็ต้องบอกได้ว่าตรงนี้เราชื่นชมนะ ซึ่งห้องเรียนของเราทุกวันนี้ทำสิ่งนั้นได้น้อยมาก เราแทบไม่ได้เห็นว่าเราควรชื่นชมเขาอย่างไร เพราะเรียนแบบเดียวกัน ทดสอบแบบเดียวกัน แล้วก็มักจะเป็นกลุ่มเดิมๆ ที่ได้รับการชื่นชม ส่วนคนอีกจำนวนหนึ่งที่ ‘ไร้ตัวตน’ ในโรงเรียน พวกเขาคือกลุ่มคนที่เรายังไม่สามารถหาวิธีการวัดผลกับเขาได้”
ว่าด้วยเรื่อง ‘อำนาจ’
อดิศรกล่าวว่า ทั้งครูและนักเรียนจะต้องมีการทำความเข้าใจ และปรับเปลี่ยน mindset เรื่องอำนาจ
“ผมไม่อยากมองว่าครูเป็นคนที่ใช้อำนาจอย่างเดียว เพราะครูก็เป็นคนที่ถูกใช้อำนาจเช่นเดียวกันในระบบ เราพบว่า ranking ของอาจารย์ก็อยู่ตรงกลางระหว่างกระทรวง ผู้อำนวยการโรงเรียน และอะไรต่ออะไรมากมายที่อยู่เหนือเขา เขาก็ถูกใช้อำนาจเช่นเดียวกัน แล้วเขาก็ส่งต่ออำนาจนั้นไปที่ตัวของนักเรียน เราจึงควรคลี่ออกมาให้เห็นก่อนว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง…ผมคิดว่าเรื่องเหล่านี้ เป็นเรื่องที่เราควรหมั่นฝึกสังเกต ทั้งตัวเราเอง ทั้งความสัมพันธ์ รวมถึงพลวัตที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะในชั้นเรียนหรือนอกห้องเรียน ระหว่างเรากับคนที่อยู่สูงกว่าเรา ระหว่างเพื่อนของเราหรือเรากับนักเรียนของเรา”
พฤหัสบอกเล่าถึง mindset ของการที่ครูจะต้องเป็นฝ่ายแบกรับภาระไว้แต่เพียงผู้เดียว และให้คำแนะนำว่า mindset เหล่านี้ควรจะต้องปรับเปลี่ยน และมองว่าการเรียนรู้สามารถเกิดได้ไปพร้อมๆ กันทั้งสองฝ่าย
“แต่ก่อนอาจจะเป็นครูที่ต้องถือความรับผิดชอบนี้ไว้ ต้องสอน ต้องออกแบบ ต้องทำคลาสให้น่าสนใจ รวมทั้งประเมินอะไรด้วยตัวคนเดียว และมีหน้าที่จัดการกับเด็ก 30-40 คน นั่นแปลว่า เรากำลังมองว่า เด็กเป็นภาชนะที่ว่างเปล่า หรือว่าแต้มสีอะไรไปก็ได้ เดี๋ยวเขาก็เป็นตามที่เราหล่อหลอมเอง แต่ถ้าเรามองว่าเขามีสมบัติบางอย่างอยู่ในตัว มีศักยภาพบางเรื่องอยู่ มีวิธีคิด เราสามารถชวนเขามาร่วมออกแบบได้ ว่าเขาอยากเรียนเนื้อหาอะไร เรียนด้วยวิธีไหน ช่วยกันทำให้มันเป็น learning community ขึ้นมาด้วยกันจากผู้เรียน นี่คือหัวใจสำคัญที่จะสร้างอำนาจร่วมกันในห้องเรียน”
ถอดรหัสความหวังในวงการการศึกษา
พฤหัสให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นภาพฝันในอุดมคติที่อยากเห็น แน่นอนว่าต้องใช้เวลานานในการต่อสู้ ขณะเดียวกันก็ต้องส่งเสียงเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจเข้ามาแก้ไขในเชิงโครงสร้างไปพร้อมๆ กัน ไม่เช่นนั้น หากทำเพียงแค่ระดับปัจเจก ย่อมไม่มีพลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาพรวมได้
“รัฐอาจจะไม่อยากให้ประชาชนตั้งคำถามมากนักผ่านระบบการศึกษา เพราะอย่างนั้นเขาจึงทำให้คุณเซื่องซึม ไร้พลังในเสียงของคุณมากที่สุด เพื่อจะได้ปกครองง่าย ฉะนั้นเราจึงต้องเรียกร้อง สร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยพลังของพลเมืองอย่างเราเอง แล้วผลักดันไปสู่ระดับนโยบายให้ได้”
เดชรัตเล่าว่า ช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งนักเรียนและครูหลายๆ ท่านที่กำลังต่อสู้กับโครงสร้างใหญ่ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า เรามาไกลกันพอสมควร
“เรากำลังต่อสู้กับอะไรบางอย่างที่เป็นโครงสร้างใหญ่มาก และเราอาจรู้สึกว่ายากมาก แต่สำหรับคนที่อยู่ในโครงสร้าง เขาอาจจะพูดว่า ตั้งแต่อยู่ในโครงสร้างมาไม่เคยมีช่วงเวลาไหนที่ยากที่สุดเท่าช่วงนี้เลย เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าเรามาถึงจุดที่เริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงแล้ว”
ด้านพฤหัสกล่าวต่อว่า ในสังคมหรือมนุษยชาติมีการวิวัฒน์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้สังคมเกิดการวิวัฒน์นั่นก็คือ การตั้งคำถาม
“การแสวงหาความเป็นไปได้แบบใหม่ๆ จะทำให้เราเติบโต การตั้งคำถามต่อเรื่องความดีงามต่อระบบการศึกษาก็เช่นเดียวกัน มันเป็นความดีงามจริงหรือเปล่า แล้วความดีงามเหล่านั้นเหมาะสมกับยุคสมัยอยู่หรือเปล่า หรือว่าเราจะมีความดีงามในแบบอื่นๆ ที่เหมาะสมกว่า ก็อาจจะเป็นคำถามสำคัญที่นำไปสู่การวิวัฒน์ของสังคม นำไปสู่ระบบการศึกษาที่เราอยากจะเห็นมากยิ่งขึ้น”
ในช่วงท้าย อดิศรแสดงทัศนะว่า สังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก เต็มไปด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดในการเดินหน้าต่อ ทำให้คนรุ่นใหม่มองไม่เห็นปลายทางข้างหน้า จึงเกิดเป็นคำถามว่า เมื่อสังคมเดินทางมาสู่จุดที่ตกต่ำและมืดมน ทำไมเรายังต้องตั้งคำถามอยู่
“ในเมื่อสังคมมันยังเลวร้าย แล้วทำไมเราต้องหมกมุ่นอยู่กับการตั้งคำถาม ผมคิดว่า การที่เราลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับความเป็นไปในสังคม ไม่ใช่การมองโลกในแง่มืดมน แต่มันคือการให้ความหวังว่า ตราบใดที่เรายังสามารถตั้งคำถามและจินตนาการไปสู่อนาคตที่ดีกว่า ย่อมมีความเป็นไปได้
“ถ้าเราเริ่มต้นที่จะตั้งคำถาม บางทีเราอาจจะมองเห็นแสงสว่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน บางทีอาจจะเป็นปลายทางของอุโมงค์ที่เราไม่เคยจินตนาการถึงก็ได้ การศึกษาจะเข้ามามีบทบาททั้งในแง่ของการเยียวยา การฟื้นฟูพลังชีวิต ความหวังของคนรุ่นใหม่ ขณะเดียวกัน การศึกษาก็มีหน้าที่ช่วยผลักสังคมให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้”