ถ้าบอกให้ ‘แม่’ เก็บมะนาวแม่ก็จะถามว่าให้ยืดแขนยาวอีกแค่ไหนนนน  นางนาก : ความสยองของการเป็น ‘แม่และเมีย’  ในโลกที่ผู้หญิงต้องอยู่ให้ได้และตายไม่เป็น

“…โอละเห่ เฮ้เห่ เรือเอย เรือเล่น ยาวสามเส้น สิบห้าวา จอดไว้ที่หน้าท่าเอย คนก็ลงอยู่เต็มลำ…”

ในค่ำคืนลมพัดสงัดเงียบ มือข้างหนึ่งไกวเปล ร้องโอละเห่ ส่งเสียงก้องไปทั่วทั้งบาง จะเป็นเสียงของผู้ใดไปเล่า ถ้าไม่ใช่ ‘นางนาก’ หรือ แม่นาก/นาค ในเรื่องเล่าตำนานรักสุดซึ้งสะพรึงขวัญที่หลายคนรู้จักมักคุ้นกันดีอย่างตำนานแม่นากพระโขนง ที่ถูกนำไปทำเป็นละคร เพลง ภาพยนตร์ และเรื่องเล่ารูปแบบต่างๆ มาแล้วหลากหลายเวอร์ชัน ซึ่งหนึ่งในเวอร์ชันอันลือเลื่องและโจษจันกันไปทั่วทั้งบางก็คงจะหนีไม่พ้นภาพยนตร์ที่ออกฉายเมื่อปี พ.ศ. 2542 ในชื่อเรื่อง ‘นางนาก’ กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร เขียนบทโดย วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง นำแสดงโดย ทราย-อินทิรา เจริญปุระ และ เมฆ-วินัย ไกรบุตร กลายเป็นหนังไทยเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำรายได้เกิน 100 ล้านบาท และยังได้รับรางวัลมากมาย โดยขณะนี้สามารถเข้าชมได้ผ่านช่องทาง Netflix และหากใครอยากนั่งชมในบรรยากาศโรงหนังก็สามารถรับชมได้ที่ doc club&pub ที่ได้นำหนังเรื่องนี้กลับมาฉายอีกครั้งในวาระครบรอบ 25 ปี 

ภายใต้เรื่องราวที่เล่ากี่ครั้งก็ยังสนุกและสะพรึงเสมอ เมื่อถ่ายทอดออกมาในภาพยนตร์เรื่องนี้ได้อย่างสมจริง ก็ทำเอาหลายคนบอกว่าเป็นเวอร์ชันที่หลอนมากอีกเวอร์ชันหนึ่ง จากการใช้เสียง ภาพ และองค์ประกอบต่างๆ เล่าความห่วงหาอาวรณ์และโลกความสัมพันธ์ที่คนใช้ชีวิตสมสู่อยู่ร่วมกับ ‘ผี’ ซึ่งแค่คิดก็รู้สึกว่าเป็นโลกที่น่าสยดสยองอยู่ไม่น้อย  

ทว่า ภายใต้ความสัมพันธ์ในครอบครัว ‘ผี-คน’ อันน่าสะพรึงนี้ สิ่งที่ดูจะหลอนไม่แพ้กันก็คือลึกลงไปใน ‘การไม่ยอมตาย’ หรือ การหลอกว่ายังไม่ตายของนางนาก นอกเหนือจากประเด็นเรื่องความรักสิเน่หาแล้ว ในทางหนึ่งก็สะท้อน ‘การตายไม่ได้’ ของผู้หญิงคนหนึ่งจากบทบาทหน้าที่ที่เธอแบกเอาไว้ เพื่อยังคงเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่สมบูรณ์พร้อมที่สุดในสายตาของสามี หรือการเป็นทั้งแม่และเมียที่ดีตามกรอบสังคมหนึ่งๆ 

สำหรับผู้เขียน ความหลอนใดๆ ในเรื่องราวทั้งหมด จึงไม่น่าสยองเท่ากับภาระของการเป็นแม่และเมีย ‘ที่ดี’ ที่นางแบกเอาไว้ในอกในใจตั้งแต่มีชีวิตอยู่จนหลังจากตายไป ประกอบกับความยากจนข้นแค้นในโลกเหลื่อมล้ำ ซึ่งคุมขังชีวิตเธอและครอบครัวซ้ำอีกต่อหนึ่ง 

จุดเริ่มต้นเรื่องราว ตั้งต้นอยู่ที่ท่าน้ำหน้าบ้าน เป็นฉากการจากลากันระหว่างอ้ายมากและนางนาก ในขณะที่นางนากอุ้มท้องอยู่ อ้ายมากต้องจากไปเกณฑ์ทหาร ทำให้นางนากต้องใช้ชีวิตอยู่คนเดียวพร้อมกับขวบเดือนของครรภ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ในเบื้องต้นยังไม่ทันดำเนินเรื่องไปไหนก็น่าคิดว่า ระบบการบังคับเกณฑ์ทหารเป็นระบบที่ละเลยมองข้ามรายละเอียดชีวิตผู้คนไปมากทีเดียว โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยก็มักเป็นผู้ระทมทุกข์ที่สุดจากระบบเช่นนี้ พลันทำให้คิดว่าบางทีหากการเกณฑ์ทหารเป็นไปอย่างสมัครใจและถูกออกแบบอย่างมองเห็นความเป็นมนุษย์มากกว่านั้น เราอาจจะไม่ได้เห็นนางนากตายจากไปทั้งกลมก็เป็นได้ ทว่ายิ่งรู้สึกประหลาดใจมากขึ้นอีกเมื่อดูหนังไป แล้วหวนคิดถึงสังคมเราในวันนี้ไป ก็นับว่าผ่านมาแล้วหลักร้อยปีจากบริบทของหนัง เราก็ยังมีการบังคับเรื่องเกณฑ์ทหารกันอยู่ดังเดิม 

หันกลับมาพูดเรื่องในหนังกันต่อ การไปเกณฑ์ทหารของอ้ายมากดังที่กล่าวมานั้น ทำให้เห็นการขาดแรงงานสำคัญของครอบครัวไป 1 อัตรา โดยเฉพาะช่วงเวลาจำเป็นอย่างตอนอุ้มท้องของนางนาก และเป็นหน้านาช่วงเวลาทำการเกษตร เราจึงเห็นนางทั้งทำงาน ดูแลบ้าน รวมถึงตัวเธอเองด้วยตัวคนเดียว ถึงขนาดการไถนา นางก็ยังต้องเป็นผู้ลงมือทำเองจนปวดท้องล้มลง และร้องหาคนช่วยท่ามกลางวันฝนตกหนัก ซึ่งในดวงตาที่ตัวละครสื่อสารออกมามันบอกอะไรมากมายภายในใจของนางนากให้เราได้สัมผัส ฉากนั้นเป็นฉากที่ทำให้เห็นการทำงานอย่างหนักของผู้หญิงคนหนึ่งในขณะที่ภาวะทางร่างกายและจิตใจก็หนักหนาและเปราะบางมากอยู่แล้วจากการอุ้มท้อง ซึ่งเป็นภาวะที่มีความอ่อนไหวทางอารมณ์และการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่ซับซ้อน

ต่อมาอีกไม่นาน นางก็ตายทั้งกลมในวันคลอด หลังจากนั้นอ้ายมากก็กลับมายังพระโขนงโดยไม่รู้เลยว่า เมียตัวเองได้ตายไปแล้ว เมื่อพบผีนางนาก (ที่ลวงตาว่าเป็นคนปกติ) ก็ดีใจตามประสา ซึ่งในฉากแรกพบที่นางนากโกนหนวดให้อ้ายมาก แล้วทั้งสองสนทนากันก็ทำให้ผู้เขียนเห็นบางแง่มุมที่น่าสนใจ โดยนางนากได้ถามสารทุกข์สุกขดิบขณะไปทัพไปศึก  แล้วอ้ายมากก็ระบายความทุกข์ของตนให้เมียฟังว่า 

“ได้กินแต่พริกกับเกลือเป็นพื้น บางวันทางเกียกกายไม่ให้เสบียงมา ก็ต้องขุดหัวมัน หัวกลอยกินกันตาย มันลำบากนักแล อินากเอ๊ย แล้วในป่าในเขามันก็กันดารเหลือหลาย ไข้ป่าก็ชุมนัก แถมยังมีห่ามาลงอีก พวกทหารตายกันเป็นเบือเชียวละ”

ความทุกข์ทนของอ้ายมากสะท้อนระบบที่กดทับคนตัวน้อยอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็จะเห็นว่า ในขณะที่อ้ายมากได้มีโอกาสบอกกล่าวความทุกข์ทนในใจของตัวเองออกมา เรากลับแทบจะไม่ได้ยินเสียงระบายความทุกข์ทนของนางนาก หรือความรู้สึกในใจของนางออกมาจากฉากไหนเลย ทว่าก็ไม่ได้หมายความว่า ความทุกข์ทนเหล่านั้นไม่มีอยู่จริง แต่มันถูกเก็บงำอัดแน่นอยู่ในใจภายใต้การเป็นเมียที่ดีแม่ที่สมบูรณ์พร้อมนี่เอง 

ดังจะเห็นว่า ในชีวิตหลังความตายที่นางนากหลอกอ้ายมากว่ายังมีชีวิตอยู่นั้น นางก็เพียรพยายามอย่างมากในการทำหน้าที่แม่เมียที่ดี ทั้งการเลี้ยงไอ้แดง กล่อมนอน  การปัดกวาดบ้านเรือน ไปจนถึงในค่ำคืนหนึ่งที่นางลุกขึ้นมาตำข้าวในตอนดึกดื่น จนอ้ายมากตามลงมาแล้วอาสาว่าให้เมียขึ้นไปนอน เขาจะตำข้าวแทน พร้อมทั้งถามนางนากว่า ทำไมไม่บอกเขาแต่เช้า เขาจะตำข้าวให้ ซึ่งนากก็ตอบมาว่า

“มิเป็นไรดอก ข้าอยากปรนนิบัติเอ็งให้มากเข้าไว้ เพราะข้าเอง ก็ไม่รู้จะอยู่ดูแลเอ็งได้สักกี่วัน เผื่อว่าวันหน้า…(ร้องไห้)…”

คำตอบของนางนากทำให้เราเห็นว่า เธอแบกหามหน้าที่ในการดูแลปรนนิบัติผัวให้ดีที่สุดเอาไว้ และประหนึ่งว่าการปรนนิบัติเป็นหนทางของการแสดงความรัก แสดงความรับผิดชอบต่อหน้าที่การเป็นเมียที่ดี ไปจนถึงการเป็นคนรักที่ดีที่สุดแล้ว 

ภายใต้ความดีงามในการเป็นแม่และเมียที่เธอแบกอยู่ อาจสร้างความสุขสบายให้กับสามี สร้างพื้นที่อิสระให้กับฝ่ายชายมากกว่าที่เธอจะได้รับ และมันก็ยังกดทับความรู้สึกเธอลงไป กดไม่ให้ความรู้สึกที่จริงแท้ปรากฏออกมา ไม่ให้ความเจ็บปวดจริงๆ ข้างในถูกระบายออกมา ไม่ให้วิธีแสดงความรักความเข้าใจต่อกันในแบบอื่นแสดงออกมา จึงมีเพียงหนทางเดียวที่จะพิสูจน์รัก นั่นคือการภักดีและปรนนิบัติตามขนบธรรมเนียมหญิงที่ดีที่ปฏิบัติกันสืบมา ในโลกที่ผู้ชายมีที่ทางและหนทางมากกว่าเช่นนั้น 

แล้วหากว่า ผู้หญิงในฐานะแม่และเมียที่ดีจะแสดงความรู้สึก ความกดดัน ความโกรธ ความคลุ้มคลั่งใดๆ ออกมาได้ก็ต้องทะลุออกจากภาพของแม่และเมียที่ดีไปเป็น ‘ผี’ จึงจะทำได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า จะกรีดร้องออกมาได้ก็จะต้องสร้างให้ผู้หญิงตายกลายเป็นภูตผีปีศาจไปเสียก่อน  

ดังนั้น  ในฉากตอนเป็นผีที่ทั้งอาละวาด แสดงอิทธิฤทธิ์ โกรธและโหดร้ายต่อผู้คน (โลก) จึงเป็นเหมือนสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ในใจแบบที่ ‘ผู้หญิงที่ดี’ ทำไม่ได้  มันคือเสียงกรีดร้องของความเจ็บช้ำ ความเกรี้ยวกราด ความระทม ความหวาดระแวง ความโกลาหลเกินควบคุมที่ปะทุขึ้นมา กระนั้นแม้จะเป็นผีแล้ว ผีนางนากก็ยังคงใจดีและนอบน้อมต่อผัวอยู่เช่นเคย อนึ่งก็ทำให้เห็นลึกลงไปว่า ภาระของเมียที่ดีที่ต้องแบก มันติดตรึงไปถึงขนาดชีวิตหลังความตายเลยทีเดียว มันตอกย้ำและประทับลงในความทรงจำของผู้หญิงคนหนึ่งยิ่งกว่าตราบชีวิตจะหาไม่

เช่นกัน หากพิจารณาถึง ‘บ้าน’ ที่อยู่อาศัยร่วมกันของนางนากกับอ้ายมาก ในภาพมายาที่อ้ายมากเห็นก็จะเห็นเป็น ‘บ้าน’ ที่สะอาดสะอ้านเรียบร้อย น่าอยู่ ไม่มีฝุ่นเกาะ มีอาหารในสำรับพร้อม มีหมากในสำรับพร้อม ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของการดูแลบ้านอย่างดีของแม่บ้าน (เมีย) เช่นกันกับภาพกายของลูกที่สมบูรณ์และดูอยู่สบายดีจากการเลี้ยงดูของแม่ ทว่า เมื่อหนังตัดไปในมุมมองของผี คือสิ่งที่ ‘เป็นจริง’ นอกสายตาที่อ้ายมากมองเห็น เราก็จะเห็นบ้านอันน่าสยดสยอง อ้ายมากใช้ชีวิตอยู่ด้วยความสุขสบายใจ นอนหลับสบาย ในบ้านที่เต็มไปด้วยฝุ่นมากมายเกาะเต็มไปหมด บ้านที่สำรับกับข้าวเต็มไปด้วยซากเน่าเหม็น มีซากสัตว์เหม็นเน่าตายอยู่รอบตัว ซึ่งสิ่งที่ ‘เป็นจริง’ เหล่านี้ล้วนเป็น ‘ความสยอง’ ที่ซุกซ่อนอยู่ในความดีงามของภาพ ‘บ้าน’ อันสะอาดเอี่ยมซึ่งเมียได้กวาดถูเอาไว้นี้ทั้งสิ้น  

ในอีกทางหนึ่งก็ตอกย้ำให้เห็นว่า ถ้าเมียผู้ซึ่งถูกผูกติดไว้กับการทำหน้าที่แม่บ้านล้มหายตายจากไป บ้านที่สงบเรียบร้อยก็อาจกลายเป็นอีกอย่างไปโดยปริยาย เพราะผู้หญิงเป็นคนทำหน้าที่ในการทำให้บ้านดำเนินไปอย่างสงบเรียบร้อยตั้งแต่อาหารการกินยันที่นอน ฉากเทียบเคียงระหว่างภาพมายาที่มองผ่านสายตาอ้ายมากกับ ‘ความจริง’ ที่ปรากฏจริงๆ จึงทำให้ประเด็นนี้ชัดเจนอย่างมากสำหรับผู้เขียน

เช่นกันกับการตายของนางนาก การที่นางทำเหมือนว่ายังไม่ตาย ทั้งที่ข้างในแตกสลายไปหมดแล้วนั้น มันก็คือการรักษาคุณค่าของการเป็นเมียที่ดีและแม่ที่ดีเอาไว้ด้วยชีวิต และด้วยการไม่มีชีวิตไปในเวลาเดียวกัน หลายครั้งผู้หญิงที่อยู่ในบริบทความสัมพันธ์และกรอบเกณฑ์ของการเป็นเมียและแม่ที่ดีเช่นนี้ ยากนักจะบอกความเป็นจริงในใจออกไปได้ ในความเป็นจริงหัวใจแตกสลายไปแล้ว แต่ต้องทนอยู่และอยู่ทน ต้องแสร้งว่ายังไม่เป็นอะไรเลย ซึ่งมันคือแรงพยายามอย่างสุดลมหายใจในการดำรงรักษาความเป็นแม่และเมียเอาไว้ เช่นกันกับการพยายามอย่างถึงที่สุดในการยืดแขนของตัวเองออกไปยาวผิดปกติ เพื่อไปเก็บมะนาวมาตำน้ำพริกทำอาหารให้ผัวให้ลูกได้อิ่มหนำสำราญใจ 

หนังเรื่องนางนากจึงทำให้เราเห็นความอดทนอดกลั้นต่อกรอบเกณฑ์ที่ครอบทับอยู่ด้วยพลังชีวิตและสภาวะการไร้ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งในฐานะแม่และเมียได้อย่างน่าสนใจ การตายไม่ได้จากบทบาทหน้าที่เหล่านี้ ทำให้ผู้หญิงหลายคนไม่อาจเป็นอิสระอย่างที่ควรจะเป็น 

มากกว่านั้นคือคำถามที่ว่า สังคมแบบไหนกันจะทำให้นางนากและอีกหลายคนได้เป็นอิสระจากกรอบผู้หญิงที่ดี แม่ที่ดี เมียที่ดี ซึ่งตามหลอกหลอนและอาจจะน่ากลัวยิ่งกว่าภูตผีปีศาจเสียอีก 
ภาพประกอบบทความจาก https://youtu.be/vmWHB-_kXWk?si=82trM9K7DyaXzU9R


Writer

Avatar photo

ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

Illustrator

Avatar photo

ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรีส์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นทาสแมว

Related Posts