Homeschool

“แม่สอนให้ใช้มีด ลูกจะใช้ได้ดีหรือไม่เป็นเรื่องของเขา” Homeschool ของ ‘โรส’ วริศรา มหากายี

  • หนึ่งในต้นแบบ homeschool บ้านเรา ชื่อของ ‘โอ๊ค’ คฑา กับ ‘โรส’ วริศรา มหากายี ต้องผุดขึ้นมาเป็นลำดับแรกๆ
  • วันนี้ ‘ช้างน้อย’ ลูกชายคนโต กลับเข้าโรงเรียน ด้วยการตัดสินใจของตัวเอง
  • สิทธิในการตัดสินใจและเลือกใช้ชีวิต คือหนึ่งในสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่พ่อโอ๊คและแม่โรสปลูกไว้จนแน่ใจว่า ‘รากแก้ว’ หยั่งลึกแล้วภายใต้การเรียนรู้แบบบ้านเรียนตั้งแต่เล็กจนโต

เวลาบ่ายแก่ที่ฤดูหนาวยังไม่ค่อยท้าทายมนุษย์เท่าที่ควร บทสนทนาเกิดขึ้นที่ชานบ้านไม้กว้างราวตึกสองคูหามีหลังคาปกเราออกจากความร้อน บรรยากาศเหมาะกับการทิ้งตัวงีบ มองตามตะเข็บแดดที่ห้อมล้อมแปลงสตรอเบอร์รี่และสวนผักไปจนสุดปลายตาจะเห็นดอยหลวงเชียงดาวตั้งเป็นแบ็คกราวด์เบลอๆ 

‘มาลาดาราดาษ’ คือชื่อของพื้นที่ร่มรื่นในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ภายในประกอบด้วยเรือนไม้ใหญ่หลายหลัง มีทั้งบ้าน ห้องทำขนมปัง สวนผัก กรงไก่ และพื้นที่สีเขียวที่วาดสายตาไปตรงไหนก็เห็นแต่เฟรมของธรรมชาติ

ปกติแล้วถ้ามี ‘ช้างน้อย’ และ ‘ลิปตา’ พี่ชายและน้องสาวตัวซนที่วิ่งไปมาในบ้านและสวน เสียงเอะอะของการเล่นคงจะปกคลุมความสงบ แต่วันนี้เหลือเพียงคุณแม่คนเดียวที่อยู่ติดบ้านเพราะเด็กๆ ไปเรียนหนังสือในตัวเมืองเชียงใหม่

‘โรส’ วริศรา มหากายี ต้อนรับเราด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะตั้งแต่เริ่มชวนคุยเรื่องการเลี้ยงลูกและ homeschooling ตลอดทางเดินยาวจากหน้าบ้านสู่ชานบ้าน เธอบอกว่าตอนแรกการมีลูกไม่ได้อยู่ในหัวของทั้งคู่เลย พอมีช้างน้อยตอนอายุ 35 ปี ก็เริ่มหาโรงเรียนทางเลือกสายธรรมชาติให้เขา แต่เรียนไปได้ถึงแค่ ป.1 ก็ตัดสินใจเข้าห้องธุรการไปขอลาออกแทนจ่ายค่าเทอม ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นคนมุ่งมั่นอยากให้ช้างน้อยได้เข้าเรียนจนถึงขั้นซื้อที่เพื่อสร้างโรงเรียนเพิ่ม

“มีช่วงหนึ่งที่โรงเรียนที่เราช่วยสร้างขาดครู เราเลยบอกว่าเราจะสลับไปเป็นครูให้ แต่ทางโรงเรียนก็บอกว่า ไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนจะเป็นครูได้ แล้วเราก็รู้สึกว่าพ่อแม่จะสอนลูกไม่ได้เชียวเหรอวะ คำถามนั้นคาอยู่ในใจนานมาก

“พอเราออกครูทุกคนก็ตกใจ เราพูดเองก็ตกใจเอง มันไม่มีสัญญาณอะไรเลย แต่ชั่วโมงนั้นเรามองว่าสุดท้ายแล้วคำตอบที่เราอยากได้เกี่ยวกับการศึกษาลูก มันไม่ใช่แค่ว่าให้เด็กมีความรู้นะ เด็กต้องมีความสัมพันธ์กับครอบครัวด้วย แล้วเราก็อยากจะพิสูจน์ว่าเราสอนได้”

โรส-วริศรา มหากายี

สอนได้สอนไม่ได้ไม่รู้ แต่หลังจากที่สำรวจวิถีชีวิตของตัวเองและลูกตลอดเวลาที่พี่ชายคนโตเข้าเรียน โรสและสามี ‘โอ๊ค’ คฑา มหากายี ก็ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานจากกรุงเทพฯ เข้าสู่เขตเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ที่ดินที่เคยซื้อไว้และปลูกต้นไม้ในพื้นที่เมื่อนานมาแล้ว

“เรายังนึกภาพตัวเองไม่ออกเลยว่าฉันจะอยู่ได้ยังไงวะ มองแต่ภูเขาๆ ไม่รู้จะทำกิจกรรมอะไร เพราะเราเป็นคน energy เยอะ อยากทำนู่นทำนี่ เลยนึกในใจว่าไปจริงเหรอ พ่อก็บอกว่า ต้องไปๆ”

ถ้าย้อนอดีตไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว มาลาดาราดาษยังคงไม่ใช่ภาพที่เห็นเหมือนทุกวันนี้ ระบบนิเวศของมนุษย์บ้านเรียน พ่อ แม่ ลูก ชุมชน มูลนิธิมะขามป้อมที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันในปัจจุบัน แน่นหนามากพอที่จะใช้ธรรมชาติเป็นเครื่องมือเพื่อถอดบทเรียนในแต่ละวัน

ลมปลายอุ่นพัดมาตามแดดที่เปล่งสีเข้มขึ้นเรื่อยๆ พร้อมๆ กับที่แม่โรสพาย้อนอดีตไปจนบทสนทนาราว 2 ชั่วโมงมีแต่ความสนุกสนาน ลึกซึ้ง ไปจนถึงสัมผัสของน้ำตา

Move and the door will open…door ไหนวะ

การทำ homeschool ของครอบครัวมหากายีเริ่มจากการที่โรสกับโอ๊คตั้งคำถามว่าทำไมโหมดของการดำรงชีวิตในฐานะผู้ปกครองของเรามันเหมือนเดิ๊ม เหมือนเดิมทุกวันเลย

“ตื่นเรวเร้ว กินข้าวๆ แล้วไปกินข้าวในรถด้วยนะ พอส่งลูกเสร็จ เราสองคนก็ ‘เฮ้อ’ แล้วก็ตายแล้ว บ่ายสองแล้ว ต้องรีบกลับไปทำงาน ไปรับลูก พอรับลูกเสร็จปุ๊บ เราก็หมดพลังงานไง ลูกก็ไม่ได้อยากเล่นอะไรกับเราเพราะเขาเล่นอิ่มจากโรงเรียนมาเรียบร้อยแล้ว ต่างคนก็ต่างอยู่คนละมุม พอถึงเวลานอน เราก็จะบอกว่านอนเร็วๆ เดี๋ยวพรุ่งนี้ตื่นสาย เราเลยพูดคำว่า เร็วนอน กับเร็วตื่น อยู่แค่สองคำ แล้วเราก็รู้สึกว่าเราไม่รู้จักลูกเราเลย 

“เวลาเราไปโรงเรียนแล้วครูบอกว่าจะมีการประชุมผู้ปกครองกัน ครูก็มาบอกว่าช้างน้อย ลิปตาเขาเป็นอย่างงั้นอย่างงี้ เราก็ตกใจว่ารู้ได้ยังไงวะ เราเป็นพ่อแม่ เรายังไม่รู้เลย เราเลยรู้สึกว่า เฮ้ย ทำไมต้องให้คนอื่นซึ่งไม่ใช่พ่อแม่รู้เรื่องมากกว่าตัวเราเอง ชักไม่ใช่ทางแล้ว เลยนั่งคุยกับพี่โอ๊คว่าทำไมเวลาเราทำค่าย เราสอนลูกคนนู้นคนนี้ได้ แต่เราจะสอนลูกตัวเองไม่ได้เลยเหรอ”

ทั้งโรสและโอ๊คทำงานสายสิ่งแวดล้อม พาเด็กๆ ทำค่ายศึกษาธรรมชาติอยู่หลายปีจึงคลุกคลีอยู่กับการปล่อยให้เด็กเรียนรู้กับต้นไม้และสิ่งมีชีวิตต่างๆ อยู่แล้ว คุณพ่อเป็นสายกระบวนกร ส่วนคุณแม่เป็นสายบุกตะลุยลงมือทำ ตอนช้างน้อยยังเป็นเด็กน้อยก็ได้ไปออกค่ายเข้าป่ากับพ่อจนคุ้นชินกับสีเขียว แต่ถึงอย่างนั้น ช่วงแรกที่ตัดสินใจย้ายจากระบบเมืองมาอยู่เชียงใหม่ ต่างคนก็ต่างเป๋อยู่เหมือนกัน

“พี่โอ๊คบอกว่า ออกเลย ไม่ต้องจ่าย ไม่ได้เตรียมตัวเลย เราเลยบอกว่าเอาจริงเหรอ แล้วจะสอนยังไงวะ พ่อเขาว่าออกมาก่อน move and the door will open เราก็บอกว่า door ไหนวะ (หัวเราะ) เพราะเราก็กล้าๆ กลัวๆ ไง แต่พ่อบอกว่าเธอไม่ทำไม่ได้ เธอกับฉันต้องช่วยกัน”

พวกเขาเริ่มจากการไม่มีแปลนบ้าน โรสชี้ให้ดูบริเวณห้องครัวสมัยนู้นว่าพ่อโอ๊คเดินเอาไม้ปักกับพื้นที่ว่าอยากได้อาณาเขตห้องไหนขนาดเท่าไหร่บ้าง ไม่มีสถาปนิกแต่ใช้ช่างชุมชนเป็นคนขึ้นโครงให้ ช่วงเวลานั้นแม่โรสก็บิดมอเตอร์ไซค์ออกไปซื้ออุปกรณ์มาตกแต่งภายในตามที่ถนัด เพราะเคยทำกิจการโรงแรมและเป็นช่างตัดเสื้อมาก่อน สี่คนพ่อแม่ลูกนอนเรียงกันในห้องครัวซึ่งเสร็จก่อนเป็นห้องแรก

ตามแผนคือเมื่อบ้านเสร็จ ก็เริ่ม homeschool ได้

“อยู่แต่ในบ้านเนี่ย door ไม่ open ไปไหนเลย (หัวเราะ) ไม่ทำอะไรเลยไปปีหนึ่ง พ่อทำใจชิลล์มากเลย พ่อบอกว่าพักปีหนึ่งแล้วดูตัวเองว่าเป็นยังไง แต่แม่ไม่ไหว แม่บอกว่าลูกจะโง่ไหมวะ เพื่อนไปถึงไหนแล้ว เราก็มาเลย 8 โมงเช้าเรียนนี่ 9 โมงเรียนนั่น ทำเหมือนโรงเรียนเลยแต่แค่มาทำที่บ้าน พอพ่อมาดู พ่อบอกว่าเธอจะบ้าเหรอ (หัวเราะ) อย่างนี้ไม่เอา อยู่เฉยๆ เดี๋ยวเขาก็อยากเรียนเอง แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ นะ เพราะพอเราปล่อยให้เขามีความอยาก กลายเป็นว่าเขามาบอกเราเองว่า แม่ อยากเรียน ทั้งๆ ที่ตอนแรกเราให้ เขาไม่เอาเลย แต่ทีนี้พอเราอยู่กรุงเทพฯ มันไม่มีพื้นที่การเรียนรู้ เราเลยรู้สึกว่าธรรมชาติเป็นครูที่ดีที่สุด แม่ก็เป็นธรรมชาติ พ่อก็เป็นธรรมชาติ”

ความเป็นเมืองมีผลต่อวิถีชีวิตและการศึกษาแบบ homeschool มากตามทัศนะของโรส เพราะเธอมีประสบการณ์ที่ลึกซึ้งกับธรรมชาติ และไม่สนิทกับวิชาการสักเท่าไหร่นัก เชื่อว่าอาชีพปัจจุบันที่กำลังทำอยู่มาจากทักษะชีวิต ทักษะที่สนุก น่าหลงใหล อยากเรียนรู้และฝึกฝนจนในที่สุดกลายเป็นความเชี่ยวชาญ

“พ่อก็บอกว่าเราจะปลูกข้าวกัน แต่สุดท้ายค่าใช้จ่ายแพงมาก เข้าใจเลยว่าทำนานี่ไม่ง่าย เราเลยแปลงจากนาเป็นสวน เลยรู้สึกถึงความจริงมากกว่าในแง่ที่ว่าเราเก็บกินจริงๆ และเราดูแลมันเองได้จริงๆ ลูกอยากกินอะไรเราก็ปลูกอันนั้น แล้วเด็กก็สนุกด้วย ล็อตแรกๆ พ่อพาปลูกสตรอว์เบอร์รีเพราะลูกสาวชอบกิน เขาก็จะเริ่มสังเกตในสวน

“พอเราเริ่มปลูกสตรอว์เบอร์รี เราก็เห็นว่าเวลาไม่ได้ใส่ยา ผลมันหวานอร่อยมากเลย พ่อเลยบอกลิปตาว่านี่คือรสชาติของผลไม้จริงๆ ลิปตาเลยจำรสได้ นี่ก็เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้เขามี sensibility ที่ละเอียดขึ้น เพราะพอเขาไปกินสตรอว์เบอร์รีเคมีปุ๊บเขาจะรู้เลย เลยทำให้เรามีแรงบันดาลใจที่จะปลูกนู่นนี่ 

“ส่วนช้างน้อยเขาก็ได้เรียนรู้เรื่องแมลง เพราะเขาจะมีหน้าที่มาเก็บสตรอว์เบอร์รีไปให้น้อง พอพ่อบ่นว่าทำไมหนอนไม่กินสตรอว์เบอร์รีลูกใหญ่ๆ ให้หมด แต่กินแค่รูเดียว ช้างน้อยก็เลยคิดว่าทำยังไงดี เขานั่งเฝ้าสตอเบอร์รีทั้งวัน พอเขารู้ปุ๊บ เขาวิ่งมาบอกพ่อว่ารู้แล้ว เดี๋ยวน้อยหาวิธีแก้ได้ เชื่อไหมคะ เขาเอาตะเกียบมาผ่าครึ่ง แล้วยกสตรอว์เบอร์รีลอยออกจากดิน หนอนเลยไม่กิน แต่มันต้องไล่ทำทุกลูกไง (หัวเราะ) ไอ้ลูกน่ะคิด พอมันได้ผล พ่อแม่ก็มานั่งทำด้วยกัน แต่นี่คือกระบวนการเรียนรู้ที่เรารู้สึกว่าเขาเจอกับของจริง แล้วเขาหาทางออกเก่ง เขาหาวิธีแก้ไขปัญหาได้เอง

“หรือที่เขาเลี้ยงไก่ เก็บไข่ เขาก็จะสังเกตว่าทำไมรังนี้ชอบมีไข่ ช้างน้อยมีสายวัดมาวัดไข่ด้วย ชั่งน้ำหนักว่าไข่กี่กรัม เขาจะมีบันทึกของเขาเอง ซึ่งเรารู้สึกว่าไอ้กระบวนการแบบนี้เราถือว่าเป็นการเรียนรู้ มันไม่ใช่วิชาการ แต่ทำให้เขามีความละเอียดที่จะมอง”

การดีไซน์หลักสูตร homeschool ของบ้านมหากายีจึงไม่มีที่มาที่ไปชัดเจนเป็นหลักสูตรเหมือนในระบบโรงเรียน แต่มีที่มาที่ไปของไอเดียในการช่วยให้ลูกค้นหาตัวตนไปเรื่อยๆ คราฟต์ทักษะการเอาตัวรอด พาเข้าป่า ก่อฟืน เรียนรู้พืชและธรรมชาติ คล้ายๆ กับแนวคิดหลักของ homeschool คือทำวิถีชีวิตให้เป็นการเรียนรู้

“ที่บอกว่า the door will open แล้วก็นั่งงงว่าทำไมไม่มีใครมาเข้าคลาสฉันเลย นั่งรอตั้งแต่ 8 โมง คาบภาษาอังกฤษเขาก็ไม่มา คาบภาษาไทยเขาก็ไม่มา เพราะมันเป็นอะไรที่พ่อแม่เซ็ตขึ้นเพราะอยากให้ลูกเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่พอเป็นชีวิตจริง ลูกฉัน ฉันต้องให้เป็นแม่ค้า อยากได้อะไรต้องขายของ เราก็สอนเขาทำขนมปัง บิดมอเตอร์ไซค์ไปตลาดนัด แล้วเราก็ปล่อยเขาสองคนไปนั่งขายขนมปัง ลิปตาก็จะเจื้อยแจ้ว ขนมปังค่าๆ (หัวเราะ) ช้างน้อยจะเขิน นั่งเงียบๆ แต่ช้างน้อยคิดเลขเป็น เพราะฉะนั้นเวลาใส่ถุงปุ๊บ ช้างน้อยจะใส่ให้เรียบร้อยและทอนตังค์ 

“เราเลยรู้สึกว่ากระบวนการเรียนรู้ตรงนี้ไม่ใช่แค่ว่าได้ขายของ แต่ได้การเรียนเลขที่สมจริงด้วย รู้ว่าถ้าขายไม่หมด ขาดทุนคืออะไร ถ้าขายหมด กำไร ต้นทุนคืออะไร ทำไมต้องขายของ เอาตังค์ไปทำอะไร มันจะเห็นโครงหมด เขารู้เลยว่ากว่าจะได้เงินสักนิดสักหน่อยมันไม่ง่ายเว้ย แม่ทำขนมปังตั้งนานขายได้ 20 บาท ดังนั้นเวลาเขาใช้เงิน เขาจะมีวิธีเบรกของเขาเอง”

โรสเสริมอีกว่า วาทกรรมที่บอกว่าเด็กบ้านเรียนจะไม่มีเพื่อนก็อาจจะมีมิติที่แตกต่างได้ เพราะการได้เห็นลูกหัวเราะคิกคักกับลูกค้าทำให้เห็นว่าเขามีเพื่อนได้หลากหลายวัย พอพื้นที่ที่ใช้ชีวิตส่วนใหญ่เป็นบ้าน ช้างน้อยก็จะยอมเล่นกับน้องไปโดยปริยายเพราะอยากเล่น จากที่ไม่ค่อยเข้าหาผู้ใหญ่ ใครมาเยี่ยมบ้านก็เริ่มเข้ากับทุกคนได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าเป็นแง่มุมของการมีเพื่อนสนิท โรสมองว่าในอนาคตเขาก็ต้องมีเองด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง

“ตอนนี้ช้างน้อยอายุ 12 ปี ลิปตา 9 ปี ในวัยนี้เรารู้สึกว่าให้ครอบครัวมันแน่นแฟ้น ให้เขารู้ว่าพ่อแม่ตั้งใจดูแลเขายังไง เราสนิทกันยังไง เรารักกันยังไงสำคัญที่สุดในวัยเล็กๆ เพราะเวลาเขาโตขึ้น เมื่อเขาเลือกที่จะทำอะไร เขาจะรู้ว่ามีคนที่รักเขามาก ดูแลเขาดีมากประมาณหนึ่ง นี่เราคิดเองนะ เราคิดว่าภาพน่าจะเป็นโทนนั้น”

การเดินทางของช้างน้อยผ่านลมใต้ปีกของพ่อแม่

แม้แต่ผู้ใหญ่ การเลือกก็ยังเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ยาก เพราะมันกำหนดหรือสามารถเปลี่ยนอนาคตของชีวิตได้ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ เด็กเล็กอาจจะยังไม่มีภาระการรับผิดชอบ ‘การเลือก’ ของเขาแบบที่ผู้ใหญ่มี จุดสำคัญอีกข้อหนึ่งของ homeschooling ในบ้านนี้คืออิสระและแพชชั่น (passion) ที่เป็นสิทธิขาดของเด็กทั้งสอง 

แต่ก็ไม่ใช่ว่าอะไรที่เขาเลือกจะได้รับอนุญาตทั้งหมด หรือบางสถานการณ์พ่อแม่อาจจะโยนโจทย์ลงไปในบ่อแห่งความท้าทายเพราะอยากจะทดสอบสัญชาตญาณ ภาวะทางอารมณ์ และแนวทางของลูก 

คีย์เวิร์ดของเรื่องนี้คือ ไม่มีใครรู้ว่าเลือกถูกหรือผิด แต่สังเกตมากพอหรือยัง

“แรกๆ เราจะเลือกให้ และจะดูว่าเรารู้ใจเขาไหม ถ้าเขาปฏิเสธก็แปลว่าเรายังไม่รู้จักเขาจริงๆ เราก็สังเกตเขาเยอะขึ้นเพราะบางทีเขาไม่เห็นเยอะเท่าเรา เขาก็เลยไม่รู้ว่าจะเลือกอะไร เช่น สมมุติว่าช้างน้อยต้องการความท้าทายในวัยหนึ่ง เราก็ให้เขาเรียนธนูเลย ของจริง เรารู้สึกว่าเด็กที่ท้าทายต้องเจอของจริง เจ็บๆ จริง ตายๆ จริง ถ้าเราให้เขาใช้ของปลอม เขาก็จะไม่รู้ว่าต้องระวังยังไงถ้าเจอของจริง 

“ตอนเด็กๆ เราสอนให้เขาใช้มีด ก็เป็นมีดจริง แต่เราสอนเขาใช้ให้เป็นและรู้ว่ามันบาดได้ ตอนที่เขา 3-4 ขวบ เขาใช้เป็น เราแค่ยืนดู แต่พอเขา 7 ขวบ เราให้มีดเป็นสมบัติของเขาเล่มหนึ่งเลย แล้วพ่อก็จะสอนว่ามันคือของมีคม แต่เพราะถึงวัยที่พ่อเชื่อใจลูกแล้วว่าลูกจะใช้เป็น นี่เป็นมีดสำหรับเวลาเข้าป่า เขาจะรู้ว่านี่คืออาวุธที่เขาจะพกไปเหลาฟืน ตัดนู่นนี่ ซึ่งพอ 10 ขวบเราก็จะมีเกณฑ์อีกว่าเขาควรจะทำอะไร และต้องดูอาการเขาด้วยว่าเขาพร้อมหรือยัง”

ยิ่งใกล้ภูเขา ยิ่งสัมผัสลมและความร้อนได้ง่าย บทสนทนาเคลื่อนไปเรื่อยๆ ดูเหมือนไม่น่าตื่นเต้น แต่อยู่ดีๆ แม่โรสก็เล่าว่าแม่ลองแหย่ให้ช้างน้อยลองไปเดินทางคนเดียวที่เขาแหลม จังหวัดราชบุรีกับเพื่อนที่เป็นนักวิจัยเพราะช้างน้อยชอบดูนก ศึกษาธรรมชาติ 

พ่อแม่อยากทดสอบลูก เป็นเรื่องที่ถูกต้องเหมาะควร แต่กลับงานเข้าเมื่อลูกตัดสินใจว่าไป การเลือกนี้ก็ส่งผลกระทบต่อจิตใจของพ่อแม่เช่นกัน

“เรากำลังอยากท้าทายเขาและถึงวัยที่เขาอยากลอง บอกว่าต้องนั่งเครื่องบินไปจนถึงกรุงเทพฯ และต่อรถคนเดียวเลยนะ จะไปไหม เขาบอกว่า ‘ไป’ เออ กล้าไปเว้ย พ่อแม่สิทำยังไง (หัวเราะ) มาคิดหนักเพราะว่าเขาไม่เคยไปจากเราเลย และคนที่จะไปด้วยจะไม่ได้มาดูแลลูกเรา เพราะเขาไปทำงานเป็นนักวิจัย มันไม่ใช่ทริปเด็ก เขาลูกนี้พ่อเคยขึ้นแล้วบอกว่าภูเขาโหดมาก แล้วเขาจะถือกล้องตัวใหญ่ไป เพราะอยากไปถ่ายนก แล้วใครจะมาช่วยเขา เขาก็ต้องถือของเขาเอง”

จากนั้นลูกชายก็ส่งข่าวมาบอกว่าต้องนอนที่ภูเขาสองคืน ผูกเปลนอนคนเดียวซึ่งปกติจะนอนกับพ่อแม่ตลอด โรสหัวเราะอย่างอารมณ์ดีเมื่อย้อนเหตุการณ์ เห็นตัวเองเป็นทั้งแม่ที่ขี้ห่วงใยแต่ก็อยากเห็นว่าลูกจะเติบโตไปแบบไหน

“ตอนนั้นเราเห็นมุมหนึ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนเลยคือ เขามีความอยากรู้จนเอาชนะความกลัว ปกติเขาจะกลัวที่จะเผชิญ ขายของยังต้องให้ลิปตาพูดเลย แต่นี่เขาอยากรู้เองจากข้างใน แต่พอลงเขามานะ ถามว่าไปอีกไหม เขาบอก ไม่ไป (หัวเราะ) เราเลยถามว่าทำไม เขาก็บอกว่ามันเหนื่อยไป เราเลยรู้สึกว่า เอ๊ะ อันนี้เราก็พลาด เพราะว่าโจทย์ที่เขาไปครั้งนี้มันใหญ่ไปสำหรับเด็ก เดินเขาแหลมน่ะ คนธรรมดาเดินยังเหนื่อยจะตายเลย พ่อแม่ไม่ได้ไป อาหาร อุปกรณ์ก็ไม่พร้อม เราทิ้งให้เขาไปเผชิญเร็วเกินไป ทำให้เขาไม่มีความประทับใจมากกับมัน

“เข้าใจว่าเขาคิดถึงแม่กับพ่อด้วยเพราะไม่เคยแยกกันเลย ทุกครั้งที่เขาลงเขามาแล้วมีสัญญาณ เขาจะปิดหน้าและไม่ยอมคุย พอมาถามเขาบอกว่าเวลาห่างกันห้ามโทรหากัน เพราะว่าโทรหากันแล้วมันจะคิดถึงกัน เราก็เลย ตายแล้วววว (หัวเราะ) แม่สิจะตาย เราก็เลยรู้แล้วว่าถ้าเขาตัดสินใจ เราต้องหลับหูหลับตาให้เขาไปเลย”

น่าสนใจว่านี่ก็คือโจทย์ใหญ่และท้าทายสำหรับพ่อแม่เหมือนกัน การเรียนรู้ที่จะปล่อยและถอดความผิดพลาดออกมาจากการตัดสินใจของตัวเองเป็นสิ่งที่โรสทำ

“พอเขากลับมา เราก็บอกว่าแม่กับป๊าตกใจมากเลยนะวันที่หนูไป นี่ผ่านมาแล้วเนอะ หนูผ่านมันมาได้ไงวะ เก่งกว่าแม่อีก ก็เลยกลายเป็นว่าเรา cheer up ให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันยิ่งใหญ่กว่า แล้วเราก็ขอโทษเขาด้วย ที่หนูบอกไม่ไปแล้วเนี่ย แม่กับป๊าต้องขอโทษด้วยนะ เพราะแม่ว่ามันหนักเกินไป คราวหน้าถ้าหนูจะไปอีก แม่จะให้ป๊าไปด้วย ก็จบ เขาก็จะรู้สึกว่ารอบหน้าถ้าป๊าไปด้วย เขาก็ไป ตัวเขาก็รู้ตัวเองด้วยว่าเวลาเขาจะไปไหน เขาต้องรู้แล้วว่าเขาพร้อมแค่ไหน”

เกณฑ์ในการเลือกที่จะเชื่อของแม่โรสจึงเท่ากับการรู้จักมนุษย์อีกคนหนึ่งอย่างแท้จริง สิ่งสำคัญจึงต้องให้เวลาและสังเกตลูกเยอะๆ ถึงจะมองเห็น

“ตอนช้างน้อย 11 ขวบ เราก็เริ่มถามเขาแล้วว่าอยากเข้าโรงเรียนไหม เพราะจะขึ้น ม.1 แล้ว เราก็รู้สึกว่าตอน ม.1 เราเริ่มสนุกกับโรงเรียน แล้วเราให้วัคซีนเขาพร้อมแล้ว เขากับเราแน่นกันประมาณหนึ่งแล้ว first contact ระหว่างครอบครัวสำคัญ เพราะถ้าเด็กยังไม่อิ่ม แล้วเรารีบผลักไสให้เขาไปเจอโรงเรียน เด็กจะรู้ได้ยังไงว่าโลกนี้จะปลอดภัยเพราะยังไม่รู้เลยว่าบ้านปลอดภัยหรือไม่ ใครจะคอยปลอบประโลมเวลาเจ็บ แต่นี่เราอยู่กับมันจนรู้แล้วว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้น แม่จะช่วย แม่ไม่ทิ้ง อยู่กับเขาจนเขาคิดเป็น ดังนั้นถ้าจะก้าว เขาก้าวสบายเลย เขารู้สึกว่าแบ็คเขามี โรสกับโอ๊คจะชอบพูดว่า ไม่ต้องห่วงนะ ลูกจะบินไปไหน พ่อกับแม่จะเป็นลมใต้ปีกให้ เพราะฉะนั้นเขาจะรู้สึก secured เวลาเขาจะเดินออก เขาจะเดินออกอย่างไม่กังวล”

และในวันนี้ช้างน้อยก็กำลังจะเข้าเรียนที่โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก้าวออกจากบ้านในระยะเวลาที่ยาวนานเป็นครั้งแรก

แม่สอนให้ใช้มีด ลูกจะใช้ได้ดีหรือไม่เป็นเรื่องของเขา

เสียงหัวเราะสลับกับความภาคภูมิใจในตัวลูกตลอดชั่วโมงกว่า นำพาเราเข้าสู่โหมดอารมณ์ที่หลากหลายของคุณแม่สายชน เธอบอกว่าเข้าถึง homeschool ได้จริงๆ ก็ตอนที่รู้สึกสบายๆ พาลูกลงสวน เลี้ยงไก่ ทำขนมปัง เก็บสีจากต้นไม้ ปรับทุกอย่างเอาจากหน้างาน แต่กว่าจะจัดการความสบายมินิมอลนี้ได้ พ่อแม่ต้องไม่กลัว

เป็นคุณสมบัติที่ยากพอสมควร

“อย่า aim perfection ไม่อย่างนั้นทุกเรื่องเราจะไม่กล้าเริ่ม ชีวิตมันจะเพอร์เฟ็คต์ได้ไงวะ บางทีความผิดพลาดจะทำให้เราเพอร์เฟ็คต์ในวันหน้า เราก็ต้องรู้สึกแบบนี้ได้ด้วย ไม่ใช่ว่าไม่กล้าลงมืออะไรสักอย่าง เมื่อไหร่ที่พ่อแม่แข็งแรงนะ ลูกเขาจะไม่กลัวตาม เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่เรานี่แหละว่าเราจะกล้าไปหรือไม่กล้าไป สิ่งที่จะทำได้คืออยู่กับบ้านตัวเอง แล้วสังเกตว่าเราอยู่กับอะไร เราสามารถพลิกแพลงมันได้ สร้างสรรค์ได้ เมื่อไหร่ที่เรามีความสุขกับการทำอะไร เมื่อไหร่ที่เรามองเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ เมื่อไหร่ที่เราพลิกแพลง ยืดหยุ่น อะไรมาเราก็ไม่กังวล แล้วพอเราไม่กังวล การเรียนรู้ของเราก็จะเปิด

“การเรียนขั้นต้นคือการเข้าใจใช่ไหม แล้วมาที่การจดจำ สุดท้ายปลายทางคือคุณจะต้องมีความสร้างสรรค์ เมื่อคุณสร้างสรรค์ได้ คุณปรับไปเป็นนวัตกรรมใหม่ของคุณได้ เลยกลายเป็นว่าถ้าเด็กประสบการณ์น้อย ความสร้างสรรค์ของเขาก็จะต่ำ เราเลยคิดว่าการเรียนของลูกเรา เราเน้นประสบการณ์ชีวิตเพื่อให้มีอะไรให้เขาหยิบช็อปและมาสร้างเอง”

แต่พ่อแม่ที่ไหนก็อยากเห็นลูกประสบความสำเร็จในเวอร์ชั่นของเขา อาจจะแค่มีความสุข หรือเลี้ยงตัวเองได้ สำหรับแม่โรสลูกทั้งสองต้องเป็นเด็กเก่งไหม

“ถ้าเก่งแบบวัดเกรดเราไม่ได้สนใจเลย เก่งในที่นี้ต้องเป็นเด็กที่ปรับตัวง่าย ยืดหยุ่น เข้าใจตัวเองแล้วก็เข้าใจโลก มี empathy และสัมพันธ์กับคนอื่น รู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดของสิ่งรอบข้างเพื่อที่เขาจะได้รู้ว่าโลกนี้ไม่ได้มีแต่เขาคนเดียวที่ยิ่งใหญ่นะ ที่เขาคนเดียวต้องรอด ต้องดี แต่ถ้าเขา empathy กับคนอื่นแล้ว เรารู้สึกว่าเขาจะอยู่ในโลกนี้โดยที่ไม่ต้องเก่งก็จะมีคนเอ็นดูเขา

“เราทำให้ดูเลยว่าพ่อกับแม่ดับไฟป่ากันมาตั้งแต่เด็ก ดังนั้นช่วงหน้าแล้ง เป็นกิจวัตรประจำวันเราเลยว่าถ้าเห็นควัน เราจะเอาน้ำใส่รถ แม่ทำขนมใส่รถ ลูกไปกับพ่อสามคน วิ่งไปฉีด แม่ประจำการคอยรับโทรศัพท์ประสานงาน เพราะฉะนั้นลูกจะได้ทำงานที่เรารู้สึกว่าเขามี empathy ถ้าเกิดไฟไหม้ลามขึ้นไปบนป่านั้น มีนกติดอยู่ มันจะหนียังไง ดังนั้นเขาจะรู้สึกว่าเขาต้องทำยังไงก็ได้ไม่ให้มีไฟ เพราะจะมีอะไรที่ลำบากไปกว่านี้ 

“แล้วเราก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นงานที่เด็กทำไม่ได้ เพราะเรารู้สึกว่าศักยภาพของเด็กกับผู้ใหญ่เท่ากัน ใจเขาแรงกว่าเราอีก เราให้เขาทำตามศักยภาพเขา เรื่องความปลอดภัยเราก็ดูแล้วก็สอน เพราะถ้าบอกว่าอย่ายุ่งๆ เป็นงานผู้ใหญ่ มันก็กลายเป็นว่าเขาไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย หรือไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่มีความภาคภูมิใจอะไรในตัวเขาเลย แต่ทุกวันนี้เขารู้เลยว่าถ้าจะดับไฟให้ดี เขาต้องเรียนรู้ที่จะดับไฟให้เป็น”

ดังนั้นคำว่าการศึกษาที่ดีสำหรับลูก คืออะไร 

“ก็ทำให้เขามีความสุขน่ะ เขาสนุกกับมัน แล้วเขาสามารถทำอะไรสร้างสรรค์ได้ด้วยตัวเอง เราว่าโอเคแล้วนะ สมมุติว่าเขาเลี้ยงไก่จนเขารู้จักไก่ เขาเก็บไข่กินทุกวันเขาก็มีอาหารกินแล้วนะ เขาหุงข้าวเป็น ก่อฟืนเป็น ตกปลาแล่ปลาเป็น เรารู้สึกว่าการ survive เป็นขั้นพื้นฐานที่เอ็งต้องทำเป็น แข็งแรง เล่นกีฬา เราก็เอาแค่นี้ แล้วก็มีความกล้าที่จะเผชิญกับโลกด้วยความมั่นใจ สิ่งนี้เราว่าสำคัญ เพราะว่าถ้าเกิดเขาเป็นเด็กสายวิชาการ แต่ไม่กล้าเผชิญโลกเลยมันก็ไม่มีประโยชน์ปะ แต่นี่เขาต้องมีความมั่นใจที่จะออกไป และออกไปได้อย่างปลอดภัยเพราะมีสกิลติดตัว แม่สอนให้ใช้มีด ใช้ดาบ แม่แค่ให้รู้จักเครื่องมือ เขาจะใช้ได้ดีหรือไม่เป็นเรื่องของเขา”

การเลี้ยงไก่ทำได้ขนาดนี้เลยใช่ไหม

แม่โรสดูเหมือนจะเป็นคุณแม่สายชน สตรอง เป็นคุณครูที่โยนมิชชั่นน่าปวดหัวและน่าสนุกให้กับลูกตลอด แต่เมื่อถามว่าเราต้องแข็งแรงขนาดไหนต่อหน้าลูก เธอกลับตอบว่าก็อ่อนแอไปเลย บางครั้งเสียอกเสียใจ น้ำตาเล็ดก็ต้องให้ลูกเห็น ไม่เคยสตรอง 100 เปอร์เซ็นต์

เป็นชีวิต ร้องก็ร้องให้เห็น โกรธก็โกรธให้เห็น

“เพราะว่าแข็งแรงเกินไปลูกก็จะไม่รู้จักร้องไห้ เราต้องให้เขาเห็นหมดน่ะ อ่อนแอก็ต้องอ่อนแอให้เราเห็นได้ สตรองก็ต้องสตรองให้เขาเห็นได้ เราเลยต้องอ่อนแอให้ลูกเห็น บางทีเราเหนื่อยมากๆ แล้วเขาดื้อ พูดเท่าไหร่ก็ไม่ฟัง เราก็บอกว่าแม่ก็ทำงานเหนื่อยนะเนี่ย ทำไมกลับมาแล้วลูกยังทะเลาะกันอีก หรือบางทีไม่ได้เป็นความผิดที่ลูก เช่น ลิปตาเล่นเกินขีดแล้วทำให้เขานอนไม่พอ เขาจะงอแง แว้ดๆ ใส่พ่อ เราก็เลยบอกว่าไม่ชอบนะที่เป็นแบบนี้ ไม่ได้เลี้ยงมาให้เป็นแบบนี้ ต้องขอโทษด้วยที่ทำให้เป็นแบบนี้ เราจะโทษตัวเอง แม่ขอโทษด้วยที่แม่เลี้ยงลูกผิด

“สุดท้ายลิปตาก็บอกว่า “หนูขอโทษ” ลิปตาเป็นคนเดียวในบ้านที่ขอโทษคนอื่นเป็น อย่างเราเวลาทะเลาะกับพี่โอ๊คบางทีก็แค่เนียนๆ แล้วลืมไป แต่ลิปตาจะเป็นคนเดียวเลยที่ทำผิดแล้วขอโทษ ซึ่งเราจะชื่นชมเขามาก บอกว่าหนูเป็นคนเดียวในบ้านเลยนะที่มีข้อดีข้อนี้ รักษามันไว้นะลูก พอเขาขอโทษเป็น เขาก็สอนให้เราขอโทษเขาเป็น เราก็จะบอกว่าแม่ก็ขอโทษด้วยที่ปล่อยหนูเล่นนานเกินไปโดยที่มัวแต่เมาท์มอยกับเพื่อน เลยทำให้หนูนอนไม่เป็นเวลา”

น้ำตา ความเศร้า ความผิดหวัง ความพ่ายแพ้ ล้วนเป็นหลุมดำที่เราอยากจะม้วนตัวออกอย่างงดงามและมีชั้นเชิงเสมอแม้ว่าเราจะตกลงไปแล้วอย่างเต็มเปา ศักยภาพในการจัดการภาวะเหล่านี้สำคัญเพราะหายนะน้อยใหญ่ของชีวิตจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ สิ่งที่น่าสนใจอาจจะไม่ใช่ว่าทำไมปัญหาเหล่านี้จึงเกิดขึ้นเสมอไป แต่เป็นการจัดการปัญหาโดยไม่ละทิ้งมันไปแค่เพราะเรากลัว

เราคุยกันมาจนเกือบๆ จะสองชั่วโมง สีแดดส้มเมื่อตกกระทบจนผสมเข้ากับสีน้ำตาลของเรือนไม้เป็นโทนร้อนที่อบอุ่นและสวยงาม โรสเล่าเรื่องการแคสต์ภาพยนตร์ของลิปตา เป้าหมายมุ่งมั่นในการอยากเป็นนักกีฬาไอซ์สเก็ตทีมชาติของลูกสาว กล้าหาญ ชอบแสดงออกและเป็นสายชนเหมือนแม่ ไปจนถึงเรื่องราวเล็กๆ ที่เจอกับช้างน้อย ลูกชายสายลึกซึ้งกับไก่ที่เขารัก

“ช้างน้อยจำไก่ได้ทุกตัว เขาดูแลไก่ดีมาก จนมีอยู่วันหนึ่งนกเหยี่ยวมาฉกหลังไก่ ช้างน้อยเห็นก็วิ่งไปด้วยความตกใจ บอกว่าแม่ มาดูหน่อย ไก่เป็นอะไรก็ไม่รู้ แต่เขารู้อยู่แล้วว่ามันต้องตาย สรุปว่าเป็นไก่ของลิปตา ตอนนั้นทุกคนตกใจมากเพราะลิปตารักไก่ตัวนี้มาก ช้างน้อยก็เสียใจ คิดว่าจะปลอบน้องยังไงดี เราก็เดินหายใจลึกๆ บอกลิปตาว่าใจเย็นๆ นะ แม่มีอะไรจะบอก พอบอกปุ๊บลิปตาร้องไห้ไปตลอดทางเลยนะ ช้างน้อยเขากลั้นไว้เพราะกลัวน้องจะเสียใจ แต่เขาหาวิถีทางว่าจะทำยังไงให้บรรยากาศมันเคลียร์ เขาก็ไปขุดหลุม เอาดอกไม้มาวาง และเด็ดขนไก่มาเป็นที่ระลึกและเสียบใส่สมุด บอกว่า “เนี่ย คือเจ้าแหลม (ไก่) นะ” 

สายตาของโรสจับโฟกัสอยู่ที่ภูเขาด้านหลัง ณ โมเมนต์นั้นเราเห็นน้ำตาโดยที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะเห็นเลยในบทสนทนาของวันนี้

“เราเห็นว่าลูกมีความเห็นอกเห็นใจน้อง ดูแลน้องเป็นพิเศษ ต่อมาอีกไม่นาน ไก่ของช้างน้อยดันโดนหมากัด เขาวิ่งไปเห็นว่าไก่เขาตาย เขาเก็บนิ่งเงียบเลยนะ ไม่ร้องไห้เลย เขาเขียนลงกระดาษว่า “หมามากัดไก่ของช้างน้อย” พับๆ แล้วเดินไปหย่อนที่บ้านเจ้าของหมา ตอนที่ช้างน้อยเดินกลับมาเขาหน้านิ่งจนเรารู้สึกว่าทำไมเขาไม่ร้องไห้ สักพักหนึ่งเขาก็ไปขุดหลุม เหมือนจะไม่กล้าจับไก่ขึ้นมา แม่เลยบอกว่าเดี๋ยวแม่หยิบเอง เขาก็ไม่เดินตามมา เขาอยู่ตรงนั้นน่ะ แล้วก็เขานั่งร้องไห้

“ช้างน้อยไปที่กรงไก่ทุกวัน มีหน้าที่เก็บไข่ กวาดขี้ไก่ ให้อาหาร วันหนึ่งพ่อเดินไปหาที่กรงแล้วนั่งกันเฉยๆ เขาก็มาพูดกับพ่อว่า “ป๊า น้อยรู้แล้วว่าทำไมป๊าถึงรักน้อย” พ่อก็บอกว่าทำไมเหรอ น้อยเป็นพ่อไก่เหรอ ช้างน้อยก็บอก “อือ” เขาเป็นพ่อของไก่ เขาเลยรู้แล้วว่าความรักของพ่อกับลูกเป็นยังไง พ่อเลยบอกว่าไม่น่าเชื่อว่าการเลี้ยงไก่จะมีมิติที่ทำให้เขามองความรักแบบนี้

“ที่เราชอบคือเวลาเขาเห็นอะไรจริงๆ โลกความเป็นจริงเขาจะไม่แคบ เขารับรู้ถึงความเจ็บปวดได้ง่ายมาก แต่ก็เสี่ยงเหมือนกันว่าเขาอาจจะไปรับความทุกข์ของทุกคน แต่เราก็รู้สึกว่าก็โอเคปะวะ ถ้าเขาจะเป็นคนที่เซนส์ดีในเรื่องของการรับรู้ถึงคนอื่น เขาจะได้ไม่ต้องไปรังแกคนอื่น และสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้”

คาดหวังกับตัวลูกมากแค่ไหน

“เราแค่อยากให้เขาชัดในตัวเขาว่าเขาอยากทำอะไร ให้เขาเจอแล้วเขาอยากจะทำได้จริงๆ อย่างมีประสิทธิภาพด้วย เพราะฉะนั้นเราเป็นลมใต้ปีก ทำได้แค่ว่าทำยังไงให้เขาเจอสิ่งที่อยากทำได้ วันนี้อยากชัดเรื่องนี้ วันหน้าอยากจะเปลี่ยน เราก็ไม่ลำบากใจเลยที่เขาจะเปลี่ยน ก็ไปชัดอีกเรื่องหนึ่งก็ได้ บางคนบอกว่าจะรีบชัดไปไหนยังเด็กอยู่ ถ้าเราไม่ฝึกให้เขาชัดไปเรื่อยๆ เขาก็ทำไม่เป็น ต้องฝึกให้ทำอะไรทำจริง ทำลึก แล้วเมื่อไหร่เขามีความรู้จริง เขาจะมีความมั่นใจ และเขาจะภูมิใจในชีวิตของตัวเอง ทำอะไรแล้วแต่เราก็แค่อยากยืนให้ได้เต็มเท้าว่าเรื่องนี้ฉันเป็นว่ะ ทำได้ดี ทำแล้วอยู่รอด แบ่งปันคนอื่นได้”

เรากลับไปที่มาลาดาราดาษอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น ช้างน้อยกับลิปตากลับมาแล้ว โอดครวญเมื่อโดนพรากจากหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อมาถ่ายรูปร่วมกับพ่อและแม่ แต่เมื่อได้คุยโต้ตอบจากความทรงจำที่แม่โรสรื้อค้น หัวเราะ ร้องไห้ และสนุกสนานเมื่อวานบ่าย บวกกับการจับจูงคนแปลกหน้าอย่างเราเข้าไปดูมัลเบอร์รีและสตรอว์เบอร์รีไปจนถึงกรงไก่

เราเห็นภาพตัวปลิวลมของเด็กสองคนที่วิ่งฉิวเป็นกลีบดอกไม้ที่ล้อสายลม ความชิลล์ของลิปตาเมื่อเล่าถึงไอซ์สเก็ตและสตรอว์เบอร์รีของพี่น้อย เจื้อยแจ้วสมการโฆษณา การแกล้งกันของพี่น้อง และสายตาเอ็นดูไก่ในกรงของช้างน้อยพร้อมกับการพยักหน้าอย่างมีแพชชั่นเมื่อลองเปรยว่าครั้งหน้าพาไปดูนกหน่อยสิ

เราพบว่าผู้ใหญ่คงจะงดงามได้อีกมากหากมีแววตาที่สงบสนุกและสงบสุขแบบเด็ก


Writer

Avatar photo

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า

Photographer

Avatar photo

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า

Related Posts