คุยข้ามโลก ปิดบ้าน เปิดการเรียนรู้

มาเลเซีย: เด็กเล็กไม่ต้องสอบเข้าแต่ทุกหมู่บ้านต้องมีสนามเด็กเล่น

  • มาเลเซียอาจเป็นประเทศที่หลายคนมองข้าม แต่ ‘โย’ คุณแม่ลูกสองตัดสินใจย้ายมาเพราะคิดว่าลูกจะเติบโตที่นี่อย่างมีความสุข
  • การศึกษาดีและฟรี มีสนามเด็กเล่นอยู่ทุกหมู่บ้าน เหตุผลสองข้อนี้ก็ดีงามพอแล้ว
  • “มีลูกมากไม่ได้แปลว่ายิ่งยากจน สบายใจอีกต่างหาก” เพราะรัฐทำทุกอย่างให้ประชาชนสบายใจที่จะมีลูก 

เหตุผลหนึ่งที่ ‘โย’ จามรี​ คง​เสรีรัตน์ ตัดสินใจย้ายมาอยู่มาเลเซียเพราะ ‘น้องจันน่า’ Janna Areeya Khongsareerat ลูกสาววัย 2 ขวบ เหตุผลแรกคือจะได้มาอยู่รวมกันเป็นครอบครัว กับสามี Shahrol Esham Bin Shahlin ลูกสาวเองจะได้อยู่กับพ่อ 

โยกับสามีตัดสินใจเช่าทาวน์เฮาส์ของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในกรุงกัวลาลัมเปอร์ นอกจากราคาจะย่อมเยากว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคุณภาพกับหลังขนาดเดียวกันในกรุงเทพฯ​ แล้ว แทบทุกหมู่บ้านในกัวลาลัมเปอร์จะมี ‘สนามเด็กเล่น’ ขนาดใหญ่ ปลอดภัย ได้คุณภาพ เป็นเสมือนไฟต์บังคับว่าต้องมี ไม่ว่าหมู่บ้านนั้นจะเก่าหรือใหม่ก็ตาม 

หมู่บ้านที่โยอยู่ตอนนี้อายุ 30 ปีแล้ว 

“พื้นสนามเป็นยาง เครื่องเล่นทุกอย่างเน้นความปลอดภัย แทบทุกหมู่บ้านจะให้พื้นที่ park อย่างเต็มที่มากๆ สนามหญ้าอลังการ เด็กๆ เตะบอลได้” 

โดยเฉพาะในช่วงนี้โควิดเล่นงานมาเลเซียอ่วมไม่แพ้กัน ผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 5,000 คน มาตรการทั่วประเทศใกล้เคียงพื้นที่สีแดงเข้ม แต่ที่เข้มงวดกว่าคือ การไม่ใส่แมสก์ ไม่เช็คอินตามสถานที่ต่างๆ เท่ากับผิดกฎหมาย

“ตอนนี้ปรับเพิ่มเป็น 10,000 ริงกิต (ประมาณ 7,500 บาท) ครั้งหนึ่งไปสถานีรถไฟใต้ดิน ลืมแมสก์ หน้าซีดเลย ต้องพยายามหาผ้ามาปิด” 

ส่วนวัคซีน โยบอกว่าเฟสนี้คือรอบของการฉีดโดส 2 สำหรับผู้สูงวัย ก่อนลำดับถัดไปจะเป็นคิวของประชาชนทั่วไป และสุดท้ายคือ บุคคลต่างชาติ

“Pfizer ประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือ AstraZeneca ค่ะ ส่วน Sinovac ไม่ถึง10 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเป็นต่างชาติจะได้ Johnson&Johnson ค่ะ”

ถึงตอนนี้ผู้ที่ยังถือสถานะบุคคลต่างชาติอย่างโยยังไม่ได้วัคซีน เด็กเล็กอย่างจันน่าก็เช่นกัน แต่คุณแม่ฟูลไทม์ก็ไม่กังวล เพราะชีวิตประจำวันค่อนข้างเหมือนเดิม บ้าน-สนามเด็กเล่นๆ วนอยู่เท่านี้ ที่เพิ่มเติมคือ สระน้ำยางที่ซื้อมาส่วนตัว 

อย่างไรก็ตาม อันดับหนึ่งในใจแม่ลูกคู่นี้ก็ยังเป็นสนามเด็กเล่นอยู่ดี 

“อันนี้คือข้อดีที่เราชอบเลยค่ะ เพื่อนเราที่เมืองไทย ซื้อหมู่บ้านแพงๆ 10 ล้าน แต่ไม่เห็นมีเลยนะ ส่วนใหญ่จะเป็นฟิตเนส สนาม สระว่ายน้ำ แต่ที่นี่ทุกหมู่บ้านจะมีสนามเด็กเล่นใหญ่มาก มีอุโมงค์ให้ปีนป่าย ชิงช้า บางหมู่บ้านมี 2-3 สนามเด็กเล่นเลยนะคะ ถ้าเป็นหมู่บ้านใหญ่อย่างของคุณพ่อสามีนี่มีสนามเด็กเล่นทุกจุดเลยค่ะ ทั้งสนามเด็กเล่น สนามฟุตบอล”​

สำหรับเด็กเล็ก แฟนคลับนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ อย่างโยรู้ดีว่าการให้ลูกสาวอยู่แต่ในบ้าน = ปิดกั้นพัฒนาการ 

“เราไม่สามารถให้เขาอยู่แต่ในบ้านได้ แต่กลับมาต้องอาบน้ำ ล้างมือ เราเป็นคนซีเรียสเรื่องความสะอาดค่ะ ส่วนตัวก็จิตตก กลัวตัวเองจะเป็น ถ้าเป็นแล้วลูกจะทำยังไง แต่จะไม่ถึงขั้นไม่ไปไหนเลย มันเป็นไปไม่ได้ค่ะ เราแค่รู้สึกว่ามันเป็นโรคใหม่ที่ต้องอยู่กับมันให้ได้ เราจะเข้มงวดกับตัวเองมากขึ้น แต่เราจะไม่ใช้ชีวิตอยู่กับความกลัวไปตลอด ติดก็ไปรักษา แต่ว่าพยายามไม่ให้ติดดีกว่า” 

ไม่ต้องสอบเข้า โรงเรียนไหนก็เหมือนกัน 

แม้จันน่ายังไม่ถึงวัยแต่งตัวไปโรงเรียน แต่โยกับสามีก็มองลู่ทางเอาไว้แล้ว และนี่คือเหตุผลลำดับต้นๆ เช่นกันที่ทำให้สามคนพ่อแม่ลูกตัดสินใจอยู่มาเลเซียยาวๆ ไป 

“ถ้าเรามีทะเบียนสมรส คลอดฟรี มีค่าธรรมนิดหน่อยราว 53 ริงกิต (ประมาณ 400 บาท) ถ้าเป็นโรงเรียนรัฐจะเรียนฟรีไปจนถึง ม.6 จ่ายแค่ค่าหนังสือกับเครื่องแบบ ค่าธรรมเนียมประมาณ 50 ริงกิต ( 378 บาท) ค่าเทอมของมหาวิทยาลัยก็ไม่แพงมาก” ที่โยชอบมากคือ ไม่ว่าจะประถมหรือมัธยม จะไม่มีการสอบเข้า เด็กส่วนใหญ่เรียนในละแวกบ้าน จำนวนโรงเรียนค่อนข้างมาก มาตรฐานไม่แตกต่างกัน ลำพังรอบๆ หมู่บ้านที่โยอาศัยอยู่ก็นับได้ 5 โรงเรียนแล้ว” 

แต่โยกับสามีคิดว่าจะให้จันนาเรียนโรงเรียนรัฐบาล ที่มีสอนทั้งภาษาอังกฤษและมลายู ทั้งๆ ที่รอบข้างก็มีโรงเรียนเอกชนและอินเตอร์ฯ ให้เลือก 

ทั้งนี้การแบ่งประเภทของโรงเรียนจะใช้เกณฑ์การใช้ภาษาเป็นหลัก จึงไม่มีการแบ่งเชื้อชาติใดๆ นักเรียนคนไหนที่นับถือศาสนาอิสลามก็สามารถเข้าเรียนที่โรงเรียนจีนได้ 

“หลายคนรอบข้างเรา ส่วนใหญ่ส่งลูกเรียนโรงเรียนรัฐ ทุกคนจะบอกว่าเชื่อถือได้ เท่าที่ศึกษา หลักสูตรที่นี่ ค่อนข้างดี ทันสมัย และอัพเดท แต่ที่เมืองไทยสิ่งครูสอนตอนนี้คือสิ่งที่เราเรียนเมื่อ 30 ปีที่แล้ว เรารู้สึกว่ามันสามารถพัฒนาได้ ที่ศึกษามา ห้องหนึ่งมีนักเรียนประมาณ 30 คน แต่ที่สำคัญการได้เรียนโรงเรียนรัฐ ลูกเราจะได้เจอทั้งคนรวยคนจน เด็กจะได้รู้จักเพื่อนหลากหลาย ไม่ใช่เฉพาะคนมาเลย์ด้วย มีทั้งอินเดีย จีน มีครบ” 

มีลูกหนึ่งคนไม่ได้แปลว่าจนไปสิบปี 

ปีหน้าโยตั้งใจจะมีน้องให้จันน่าอีก 1 คน แต่ถ้ายังอยู่ที่เมืองไทย แผนการนี้คงต้องพับไป แต่สำหรับคนมาเลเซียรอบข้างที่โยได้สัมผัส พวกเขาสบายใจที่จะมีลูกมากกว่า 1 คน ส่วนใหญ่มีบ้านละ 2-3 คนด้วยซ้ำ 

“ไม่เคยได้ยินคนที่นี่พูดว่ามีลูกแล้วจน เพราะเจ็บป่วย คลอด ไปโรงพยาบาลฟรี ฉีดยายังฟรีเลยพี่ เอาตรงๆ เลยนะ ที่นี่ คุณมีหน้าที่แค่ผลิตลูก (หัวเราะ) เพราะมาเลย์มีประชากรแค่ 30 ล้าน รัฐบาลคิดไว้แล้วว่าซัพพอร์ตได้” 

หนึ่งในการซัพพอร์ตประชากรรุ่นเล็กของรัฐบาล คือ ทำทุกที่ให้เฟรนด์ลี่กับเด็กๆ 

“แม้กระทั่งร้านอาหารเล็กๆ ข้างทาง ทุกร้านต้องมีโต๊ะเก้าอี้สำหรับเด็ก ยังไม่นับรวม park ต่างๆ ที่เยอะมาก ด้วยความที่แต่ละครอบครัวมีลูกเยอะ กิจกรรม สถานที่ต่างๆ อย่างไปทะเล ภูเขา น้ำตก ไร่สตรอว์เบอร์รี ถูกทำให้กลายเป็นกิจกรรมครอบครัวหมดเลย นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งด้วยที่คนมาเลย์จะรู้สึกสบายใจมาก เมื่อมีลูกมาก ไม่มีอะไรต้องกังวลเลย เพราะรัฐซัพพอร์ตหมด” 


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Related Posts