ซิลิคอนแวลลีย์ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ แต่คนที่ขลุกอยู่กับสายไอทีย่อมรู้ดีว่าการเดินทางไปถึงที่นั่นไม่ต่างจากการพิชิตยอดเขาสูงคอตั้งบ่า เพราะมันคือดินแดนอันเป็นศูนย์รวมของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Google, Adobe, Apple, Oracle, Hewlett Packard, Yahoo, Sandisk, Netflix และ Intel ไม่รวมบริษัทน้อยใหญ่ใหม่เก่าอีกนับไม่ถ้วนสุดจะไล่เรียง
โดยอัตโนมัติ การตั้งอยู่ของบริษัทเหล่านั้นดึงดูดนักพัฒนาด้านไอทีทั่วโลกให้ย่างเท้าเข้าไปสร้างนวัตกรรม ท่ามกลางยอดฝีมือที่นั่นมีคนไทย และมันอาจธรรมดาไปหากเราไม่บอกอีกสักนิดว่า วันแรกที่ก้าวเข้าไปยังหุบเขาซานตาคลารา เขาอายุเพียง 17 ปี และเจ้าตัวเพิ่งผ่านจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตมาหมาดๆ ด้วยการลาออกจากโรงเรียนขณะกำลังอยู่ชั้น ม.4 เท่านั้น
เรากำลังพูดถึง ภูมิ-ภูมิปรินทร์ มะโน
จริงอยู่ที่เด็กหนึ่งคนมีความสามารถสูงลิบย่อมเป็นบุคคลน่าสนใจ และหากวัดมาตรฐานแบบไทยๆ เราย่อมอดประหลาดใจไม่ได้ว่าการตัดสินใจลาออกกลางคันทั้งที่อยู่เพียงชั้นมัธยมศึกษาเท่านั้น เขาเอาอะไรมามั่นใจว่าจะไปรอด มากกว่านั้นคือพ่อแม่ต้องเป็นคนแบบไหนถึงกล้าปล่อยให้ลูกชายคนเดียวของบ้านหันหลังให้กับโรงเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย และหากเล่าให้ฟังอีกว่าพ่อแม่ของภูมิเป็นครูบาอาจารย์สอนในระดับมหาวิทยาลัยทั้งคู่ พล็อตของเรื่องราวยิ่งน่าเกาหัว เพราะคนที่อยู่ในระบบมาแทบทั้งชีวิต ต้องมีท่าทีอย่างไรในวินาทีที่ลูกชายบอกว่า “ขอลาออกจากโรงเรียน”
การล้อมวงคุยของคนในครอบครัว โดยมี รศ.ดร.กิติพงศ์, ผศ.ดร.พิชญ์สินี และ ภูมิปรินทร์ มะโน ในบ่ายวันนั้น น่าจะช่วยทำให้เห็นวิธีคิดบางประการ ที่เราๆ ท่านๆ สามารถหยิบจับไปใช้งานได้บ้างตามความเหมาะสม ที่ต้องกล่าวเช่นนี้เพราะเราทราบดีว่าเงื่อนไขของแต่ละครอบครัวไม่เท่ากัน นี่จึงไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จัดวางเหมาะเจาะกับทุกบ้าน แต่ใช่หรือไม่ว่า เราสามารถเรียนรู้แง่งามเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากกันและกันได้
เกมไม่ใช่ปัญหา
แรกเริ่ม ภูมิใช้เวลาเล่นเกมเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ระยะเวลาเท่านี้ถือว่าเยอะมาก เปรียบเทียบง่ายๆ ว่าเรียนวันนึงก็ 8 ชั่วโมง เล่นเกมอีก 8 ชั่วโมง ระยะเวลาที่เหลืออีก 8 ชั่วโมงยังมีทั้งการกินอาหาร อ่านหนังสือ ทำกิจกรรมอื่นๆ รวมทั้งการนอน การใช้เวลามากขนาดนั้นกดปุ่มจิ้มหน้าจอเพื่อสนุกกับเกมจึงนับว่ามากโข แต่พอถามคนเป็นพ่อและแม่ ทั้งคู่กลับไม่คิดว่าเกมคือพิษภัยหรือสิ่งต้องห้าม
“ผมค่อนข้างดีใจมากที่เขามาติดเกมอีกแบบหนึ่ง คือ Minecraft ผมว่ามันเป็นเกมที่ทำให้เด็กมีจินตนาการแบบไม่รู้จบ คล้ายๆ กับโดราเอมอน คือเด็กคิดอะไรก็สามารถจินตนาการได้ จริงๆ แล้วตัวเกมมีความกว้างที่จะครีเอทีฟอะไรต่างๆ เยอะมาก ไม่ว่าจะบูรณาการเข้ากับวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ การอาหาร ออกแบบนวัตกรรม ฯลฯ ได้หมดเลย”
นั่นคือเสียงของคนเป็นพ่อที่มองเห็นโอกาสจากเกม ขณะที่แม่ใช้วิธีการควบคู่ด้วยการขีดเส้นมาตรฐานเอาไว้ ลูกจะเล่นเกมก็ได้ แต่ต้องไม่กระทบกับการเรียน
“เราตั้งกติกาตั้งแต่เล็กๆ แล้วค่ะ ภูมิทำได้เลย เล่นไปเลย แต่เวลาสอบภูมิต้องทำได้ แม่มีสเกลให้ มีลิมิตนะว่าต้องเท่านี้ ถ้าภูมิยังอยู่เท่านี้ ก็ไปต่อได้เลย ซึ่งเขาก็รักษาคุณภาพการเรียนของเขาเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นพอถึงวันสอบ สมมุตินะคะว่าพรุ่งนี้จะสอบ คืนนี้อ่านหนังสือถึงเช้าเลยค่ะ แล้วเขาก็ทำคะแนนออกมาได้ดี เกรดไม่เคยต่ำกว่า 3.5”
เปลี่ยนเกมเป็นโอกาส
หลังจากเล่นเกมไประยะหนึ่ง ภูมิเริ่มอยากเขียนโปรแกรมเสียเอง แต่วันนั้นมีแค่ความอยากรู้ ส่วนความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมไม่มีเลย
โลกของคนเล่นเกมจะมีสิ่งหนึ่งที่เรียกว่า Mod หรือ Modifier มันเป็นการปรับแต่งเกมให้มีความสามารถพิเศษ มีฟังก์ชั่นบางอย่างที่มากขึ้น โดยที่ยังคงพื้นฐานของเกมเดิมเอาไว้อยู่
ภูมิเข้าไปขลุกอยู่ใน community ของการสร้าง Mod โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าภาษา Java คืออะไร แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เขาค่อยๆ แกะโค้ดทีละคำ ทีละบรรทัด เปลี่ยนคำสั่งทีละนิด กระทั่งเริ่มเห็นรูปแบบของภาษาที่ใช้เขียนเกม หลังจากนั้นก็เป็นช่วงเวลาแห่งความบันเทิง ด้วยความที่เป็นคนชอบขลุกและขุดให้ทะลุปรุโปร่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คราวนี้ภูมิเริ่มโหลด Mod ของเกม Minecraft มาแก้ไข ช่วงแรกๆ อาจ compile แล้วแดงเถือกบ้าง เกิด error สารพัด แต่เมื่อเริ่มต้นแล้วเขาหยุดไม่ได้
ภูมิใช้วิธีเปิด Help ของเกมเพื่อศึกษาอย่างบ้าคลั่ง ข้อนี้ไม่ได้พูดเกินเลยเพราะเจ้าตัวถึงกับออกปากว่าแทบจะ 24 ชั่วโมงต่อวัน
อันไหนเป็นภาษาอังกฤษก็อ่านได้สบายอยู่แล้วเพราะภูมิเรียน English Program ส่วนที่เป็นภาษาญี่ปุ่นก็ใช้ Google Translate แปลเป็นอังกฤษอีกที เริ่มต้นเขียนโปรแกรมด้วยวิธีการเช่นนี้ในช่วง ป.5 ระยะเวลาไม่นานก็เข้าใจกระทั่งสามารถสร้าง Mod ได้เองจนต้องไปเช่าเซิร์ฟเวอร์ที่สิงคโปร์เพื่อปล่อย Mod Minecraft ให้คนอื่นดาวน์โหลดไปเล่น
Mod ที่ถูกสร้างได้รับความสนใจกระทั่งมีคอเกมด้วยกันคอยโทรถามทั้งวันทั้งคืน แม้คนในครอบครัวจะรู้เห็นตลอดเวลาว่าลูกกำลังทำอะไร แต่คราวนี้คนเป็นพ่อเริ่มไม่สนุกด้วยแล้ว
“ผมต้องให้เลิกครับ เพราะมีคนโทรมาทั้งวันทั้งคืนเลย แบบนี้ไม่ไหว ไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพราะเวลาเขาส่ง Mod อะไรออกไปก็จะมีคนเอาไปใช้ แล้วก็มีคนคอยถามโน่นนี่นั่นตลอดเวลาจนผมรู้สึกว่าต้องเลิก”
โชคดีที่ความต้องการของพ่อและความอิ่มตัวของภูมิเกิดขึ้นไล่เลี่ยกัน การถอยห่างออกมาจากเกมจึงไม่ได้ทำให้เจ็บปวดมากนัก พอเรียนอยู่ชั้น ม.1-2 เขาเริ่มต้องการความท้าทายใหม่ๆ ที่มากกว่าเกม
ความลำพองบนยอดเขาแห่งความโง่
ความเก่งตั้งแต่เด็กทำให้ IQ กับ EQ ทำงานไม่สมดุลกัน การเห็นเว็บไซต์ของโรงเรียนใช้เทคโนโลยีที่ล้าสมัย เทอะทะ และใช้ยาก ทำให้ภูมิรู้สึกหงุดหงิด และเริ่มอยากลองของด้วยการสร้างเว็บโรงเรียนขึ้นมาใหม่เพื่อแข่งกับเว็บโรงเรียน จากนั้นเอาหน้าเว็บใหม่ไปให้อาจารย์ดู
อาจารย์อาจจะงอนอยู่บ้างกับอาการของเด็กคนหนึ่งซึ่งกำลังร้อนวิชา กระนั้นท่าทีที่ตอบกลับมาคือคำแนะนำที่ว่า “ทำได้แบบนี้ลองไปประกวดแข่งขันดูไหม”
แทนที่อาจารย์จะโกรธที่มีเด็กมาปีนเกลียว แต่กลับหนุนเสริมต่อเพื่อให้ไปไกลกว่าเดิม ข้อนี้เป็นจุดเปลี่ยนเล็กๆ ที่สำคัญ เพราะมันทำให้ภูมิได้ไปเจอพื้นที่ใหม่ๆ ของคนที่สนใจด้านการเขียนโปรแกรม ทั้งเวทีการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest) รวมทั้งโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่โดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ที่ภูมิไปออกแบบห้องเรียนกลับหัวบนพื้นที่ออนไลน์ผ่านแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า FlipED
จาก ป.5 ถึง ม.2 ระยะเวลาเพียง 3 ปีกับก้าวกระโดดในการเขียนโปรแกรม คนเป็นแม่อย่างอาจารย์พิชญ์สินีบอกว่า เขาไม่แปลกใจ ระยะเวลาเกือบ 24 ชั่วโมงต่อวันที่ภูมิบอกว่าใช้ขลุกกับการฝึกเขียนโปรแกรมนั้นอาจน้อยไป เพราะสิ่งที่คนเป็นแม่มองเห็นก็คือ ลูกใช้เวลาข้ามวันข้ามคืน ไม่เสร็จ ไม่หยุด
ขณะที่ยังใช้คำนำหน้าว่าเด็กชาย แต่ ภูมิปรินทร์ มะโน ในวันนั้นเก่งกาจเกินตัวไปไกลลิบแล้ว และนั่นทำให้เดินทางไปสู่จุดที่เจ้าตัวบอกว่า เป็นยอดเขาแห่งความโง่
“มันเหมือนอยู่ในฟองสบู่อันหนึ่งที่เราไม่รู้ว่าโลกข้างนอกมันเป็นอย่างไร เพราะว่าเพื่อนในโรงเรียนก็ไม่มีใครเขียนโปรแกรม ก็เลยเกิดความรู้สึกแบบเป็นฟองสบู่มาว่าฉันเก่ง ซึ่งมันเป็นความเก่งที่ไม่ได้เก่งจริง”
Tweet
“มันจะมีกราฟที่เรียกว่า Dunning-Kruger Effect ช่วงแรกๆ ที่เราไม่รู้ เราก็จะรู้สึกว่าตัวเองไม่รู้ แต่พอมาสักพักเราจะเข้าจุดที่เรียก mount of stupidity แปลว่าภูเขาแห่งความโง่ ก็คือจริงๆ แล้วเราไม่ได้รู้อะไรมากนัก แล้วสักพักเราจะเริ่มไต่ลงจากเขา พอผ่าน mount of stupidity เราจะเริ่มเข้าสู่ความ Enlightenment คือเริ่มเห็นภาพมากขึ้นว่าเราต้องเรียนรู้อีกเยอะ”
โชคดีที่การพบปะผู้คนของภูมิทำให้เขาได้เจอกับ community ที่ดี ได้เจอกับเหล่าโปรแกรมเมอร์ยอดฝีมือมากมาย คนเหล่านั้นเก่งกว่า ที่สำคัญคือ พวกเขายิ่งเก่ง ยิ่งนอบน้อมถ่อมตน และชอบแบ่งปันช่วยเหลือผู้อื่น
ภูมิปรินทร์ ผู้มั่นใจล้นเกิน เริ่มไต่ลงจากยอดเขาแห่งความโง่ ทีละก้าว ทีละก้าว
ข้อนี้พ่อกับแม่เห็นตรงกันว่า ลูกของเขาโชคดีที่ได้เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมที่ดี แต่ก็เช่นเดียวกัน สิ่งแวดล้อมนั่นเองที่ก่อประกายให้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญตามมา
ลาออก
“มีพี่คนหนึ่งเขาถามผมว่า ตอนนี้ไม่เรียนแล้วใช่ไหม ผมก็บอกยังเรียนอยู่ พี่เขาก็บอกว่า ทำไมไม่ลองลาออก คิดว่าเราน่าจะไปได้นะ”
บทสนทนาใน meetup ครั้งหนึ่งไม่ได้เป็นที่จดจำแค่สำหรับภูมิเท่านั้น แต่กับผู้เป็นพ่อและแม่ ก็จำช่วงเวลานั้นไม่ลืม
อาจารย์กิติพงศ์ บอกว่า ก่อนหน้านั้นเขาเริ่มตะหงิดๆ ตอนที่เพื่อนอาจารย์ด้วยกันสังเกตเห็นลูกชายตัวเองว่า เดี๋ยวเด็กคนนี้ก็ต้องลาออก ถัดจากนั้นเพียงไม่ถึงเดือนพอกลับจาก meetup ลูกชายก็เดินมาบอกว่ามีคำแนะนำจากพี่ๆ ว่าภูมิควรลาออกจากโรงเรียนดีกว่า
“ผมเซอร์ไพรส์มากเลย”
ส่วนอาจารย์พิชญ์สินี พูดปนหัวเราะว่า “พี่คนนี้นี่ อย่าให้แม่เจอนะ”
บทสนทนาในวันนี้อาจดูง่ายดายที่จะตัดสินใจ แต่ย้อนกลับไปวันนั้นมันไม่ง่าย อาจารย์พิชญ์สินีบอกว่า ตนได้ยินประโยคซ้ำๆ จากลูกชายบ่อยมากว่าไม่อยากเรียนแล้ว ขณะที่อาจารย์กิติพงศ์ก็ต้องทบทวน ทดลอง หลากหลายวิธี เผื่อลูกยังอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ และเรียนในระบบไปพร้อมกันได้ ลดเวลาเรียนได้ไหม หรือเปลี่ยนจากสายวิทย์เป็นสายศิลป์ ไม่ว่าจะอย่างไร สุดท้ายกลับไม่เวิร์ค
“เรามาคุยกันว่าเขาก็อายุยังน้อยนะ ลองให้เขาไปลองใช้ชีวิตดู ถ้าพลาดมามันก็ไม่สายที่จะกลับเข้ามาใหม่ เราก็คิดแบบนี้ ทดลองให้เขาไปเรียนรู้ ให้เขาทำในสิ่งที่เขารัก ผมเชื่อว่าที่สุดเขาก็จะมีความเชี่ยวชาญ”
Tweet
“ก็ตัดสินใจเลย ลาออกดีกว่า แต่ว่ากว่าจะมาถึงตรงนี้ก็คือตกลงกันแล้วว่าจากนี้ไปเขาจะทำอะไร จนเรามั่นใจว่า ในเมื่อลูกดีไซน์ชีวิตของลูกเอง พ่อก็อนุญาต แต่ลูกต้องทำอย่างมีวินัย อย่างมี passion”
ม.4 คือปีสุดท้ายในชีวิตนักเรียนของ ภูมิปรินทร์ มะโน
ปีกของลูกอาจหักถ้าพ่อแม่ไม่เปิดกรง
คิดอีกแบบเราอาจจะกังวลว่าอายุเพียงเท่านี้จะไปได้สักกี่มากน้อย และการเลือกหันหลังให้ระบบ จะเอาอะไรมามั่นใจว่าจะไปรอด แต่การได้อยู่กับการคิด product ผ่านการเขียนโปรแกรมอย่างจริงจังตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปี ทำให้เด็กคนหนึ่งอย่างน้อยก็ตอบตัวเองได้ว่า ความสุขคืออะไร
“เราชอบมันมาก มากพอที่จะ trade-off สิ่งที่เหลือในชีวิตไปเพื่อให้เราได้สร้างสิ่งสิ่งหนึ่งขึ้นมาจริงๆ ผมเชื่อว่านักฟิสิกส์ นักวิทยาศาสตร์ หลายๆ คนเขามีความคิดเหมือนกันว่า เขาต้องการที่จะทุ่มเทชีวิตเขาเพื่อที่จะสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมา ซึ่งในสิ่งนั้น everything else มันสามารถแลกได้
“ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมเก่งพอหรือเปล่า หรือเรามีทักษะพอหรือเปล่า เรารู้แค่อย่างเดียวว่าเราอยากสร้างมันขึ้นมาให้ได้ เราอยากสร้างอะไรที่มีชื่อประทับไว้ว่าอันนี้เราสร้างไว้ให้กับโลก”
คำตอบของลูกชายหนักแน่น และหากประมวลผลรวมกับความกระหาย ความทุ่มเท ตลอดระยะเวลาที่พบเห็น คนเป็นแม่รู้ดีว่า หากไม่เปิดกรงออกไป หากปีกของลูกไม่หัก กรงก็คงพังไปข้างนึง
“เหมือนเขาเป็นนก นกที่ปีกแข็งมาก แล้วก็เขาตีปีกกำลังจะบินออกจากกรง ถ้าเกิดเราไม่เปิดกรงให้เขาออก รับประกันได้ว่าปีกแตกแน่ ไม่ปีกแตกก็ปีกหัก เปิดไปเถอะ แล้วถ้าเกิดว่าเขาบินไปแล้ว ก็ยังดีกว่าปีกหักตายอยู่ตรงนี้ ปล่อยไปเขาอาจจะรอดหรือไม่รอด เราก็คอยดู”
Tweet
“พูดกับเขาเสมอ ถ้าสมมุติว่ามันไม่ไหว พ่อแม่อยู่ตรงนี้นะ จะกลับมาเรียนใหม่ก็ได้ จะไปเข้าโรงเรียนยังไง หรือจะไปเรียนที่ไหน เราพร้อมสนับสนุน”
อย่างที่เกริ่นไว้ตั้งแต่ต้น หลังเปิดกรง ลูกชายของเขาและเธอบินไกลไปถึงซิลิคอนแวลลีย์ สหรัฐอเมริกา โดยทำงานเป็น Software Engineer กับบริษัท OmniVirt สตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่พัฒนาเทคโนโลยีโฆษณาด้าน VR บนเว็บเพจ ซึ่งขณะนี้ OmniVirt ก็เติบโตกระทั่งถูก Facebook ซื้อกิจการไปแล้วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
พ่อแม่ไม่ได้มีหน้าที่ซ้ำเติมลูก
แม้นี่ยังไม่ถึงครึ่งค่อนชีวิต แต่การเริ่มต้นของภูมิก็ไปได้ดี และไปได้ไกลเสียด้วย จะบอกว่าโชคดีก็ไม่ใช่ เพราะเราคงเห็นแล้วว่านี่เกิดจากความพยายาม แต่พูดแบบภาษาปากก็คือ ภูมิโชคดีที่ไปได้ดี แต่หากโชคร้ายล้มเหลว กรงของครอบครัวก็พร้อมที่จะโอบกอดรองรับ
“ถ้าเขาพลาดมา อย่าไปสร้างอะไรให้เขารู้สึกเสียกำลังใจ คือความเป็นพ่อแม่ สิ่งที่เราต้องสร้างให้ลูกก็คือ positive ไม่ว่าเรื่องไหนก็ตาม ต้องไม่ใช้คำพูดที่ทำร้าย คือมันต้องหาวิธีการสื่อสารที่ให้เขาไม่มีความรู้สึกอึดอัดในพื้นที่ที่เขากำลังอยู่ อย่าให้เขารู้สึกว่าเขาอึดอัดในการที่จะทำโน่นทำนี่ เขารู้สึกอึดอัด อันนี้อยู่ไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องเรียนรู้เขา ฟังเขาว่าเขาต้องการอะไร สนับสนุน แล้วก็ให้กำลังใจ แล้วก็พร้อมที่จะรับเขาได้ทุกอย่างเมื่อเขาผิดพลาด ผมว่านี่คือสิ่งสำคัญที่ทำให้เขามีความคิดสร้างสรรค์”
นั่นคือเสียงพ่อ และนี่คือเสียงแม่
“สิ่งที่พ่อแม่ต้องเป็นมากที่สุดก็คือเป็นกำลังใจ ไว้เนื้อเชื่อใจ แล้วก็ให้กำลังใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจสำคัญที่สุด เชื่อว่าเขาทำได้ ให้กำลังใจเขา คำพูดของเราจะเป็นตัวชี้หรือขีดเส้นทางให้เขาไปในทางที่ดีหรือไม่ดีก็ได้
Tweet
“กับภูมินี่จะใช้เสมอเลย ‘แม่เชื่อว่าภูมิทำได้’ ไม่ว่าเขาจะไปแข่ง ไปสอบ หรือจะเปลี่ยนงานอะไรก็แล้วแต่ พูดกับเขาประโยคเดียวเลย แม่เชื่อว่าภูมิทำได้ ไปเลยเต็มที่ เดี๋ยวแม่รอฟังข่าวดี”
เติบโตด้วยการอ่าน
นี่คือครอบครัวที่ชอบถกเถียง แลกเปลี่ยน ส่วนหนึ่งเพราะพ่อแม่เป็นครูบาจารย์ซึ่งในวิชาชีพก็คือการสอนอยู่แล้ว การมีหัวข้อต้องพูดคุยอยู่เสมอจึงเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับลูก ด้วยเดือนปีของอายุคงเทียบประสบการณ์กับพ่อแม่ไม่ได้ แต่อาจารย์พิชญ์สินีบอกว่าลูกชายของเขาแก้ปัญหาของความไม่รู้ด้วยการอ่าน – อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า
“เขาเป็นคนชอบอ่านค่ะ ด้วยธรรมชาติตัวภูมิ เขาเกิดมาเป็นคนรักการอ่านตั้งแต่เล็กๆ มันอาจเกิดจากเราก็เป็นคนรักการอ่าน เพราะฉะนั้นภูมิเห็นอะไรเขาก็อ่าน เห็นอะไรก็คิด อย่างตอนเด็กๆ ในรถไม่มีหนังสือสักเล่มเลยนะคะ มีคู่มือรถ เขาอ่านจนหมด เขาอยากรู้อะไรเขาจะต้องรู้ให้ได้ผ่านการอ่าน”
เล่นเกมก็เอาเป็นเอาตาย เขียนโปรแกรมก็ข้ามวันข้ามคืน อ่านหนังสือก็เล็มทุกอักษรราวกับปาทังกาลงทุ่ง การไม่ลดราวาศอกนี้เกิดขึ้นกระทั่งยามต้องแลกเปลี่ยนกับผู้เป็นพ่อ
“เรา discuss กันทุกเรื่องเลยครับ คือมาอยู่บนรถปุ๊บก็เริ่มเลย discuss กันจนเป็นเรื่องเป็นราว คือด้วยความที่เขาอ่านมาเยอะ บางอย่างเขาศึกษาเยอะกว่าเรา เราก็ต้องใช้ความเป็นผู้ใหญ่บ้าง จนสุดท้ายผมถึงเข้าใจเขาว่า เขาไม่ได้เป็นเด็กแล้วนะ คือวิธีคิดเขาเป็นผู้ใหญ่มาก
“เรื่องที่เขาพูดบางทีผมก็ไม่รู้ ผมก็ต้องแอบไปศึกษา เช่น เรื่องพระเจ้าสิบพระองค์ เขารู้ลึกมากเลย ไปศึกษามาจากไหน จนผมต้องไปแอบอ่าน เขาศึกษาภาษาอารบิก แต่ก่อนเขาบ้าภาษาอารบิก ผมถามว่าทำไมศึกษาเรื่องพวกนี้ เขาบอกพ่อรู้ไหม เทพพวกนี้ใช้ภาษาพวกนี้ คนที่จะเข้าถึงเทพพวกนี้ ต้องรู้ภาษาพวกนี้ด้วย ต้องรู้วัฒนธรรมเขา ต้องอะไรต่างๆ นานา คือเขามีวิธีคิดอะไรที่ไม่เหมือนใคร”
การถกเถียงไม่ใช่อกตัญญู
อาจารย์กิติพงศ์บอกว่า อาจเพราะวิธีคิดแบบโปรแกรมเมอร์จึงทำให้ลูกชายของเขาบางครั้งคิดเป็นสีเทาไม่เป็น ทุกเรื่องจะมีอยู่ 2 อย่าง ไม่ขาว ก็ดำ ทำให้บางจังหวะอาจพบว่าการแลกเปลี่ยนความเห็นซึ่งกันและกันระหว่างพ่อลูกนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นบนฐานของความประนีประนอม ถ้าจะถกเถียงกับลูกชาย ตรรกะของพ่อต้องชัด
“ถ้าเขาคิดว่าถูก เขาก็ต้องมีเหตุผลอธิบายว่าสิ่งนี้มันถูก ตรงนี้บางทีก็เถียงกันเองในครอบครัว แต่ว่าท้ายที่สุดลูกจะสอนผมเอง ลึกๆ เราสู้กันด้วยเหตุผล แต่บางทีเราก็บอกว่า ลูกเถียงพ่อ มันไม่กตัญญู เขาก็เถียง เริ่มมีเสียงดังบ้าง ต้องใช้น้ำเสียงข่มกันบ้าง บางทีถ้าลูกพูดอย่างนี้เหมือนไม่กตัญญู ไม่รักพ่อแม่นะ เขาบอก พ่อหยุดเลยนะ เรื่องของเราคุยกันด้วยหลักการและเหตุผล การที่ภูมิใช้วิธีการพูดแบบนี้ ไม่ใช่ภูมิไม่รักพ่อนะ แยกประเด็นนี้ให้ออก”
พ่อพูดจบ ลูกชายเห็นแย้ง ส่วนแม่แอบยิ้ม นี่อาจเป็นธรรมชาติของครอบครัวมะโน
“ผมว่าบางเรื่อง ประเด็นที่เรา discuss มันไม่ได้ขาวกับดำเสมอไป มีความซับซ้อน ความลุ่มลึกของมันอยู่ ซึ่งในหลายๆ ครั้งเราจะเจอว่าบางประเด็นทำให้คนเกิดอารมณ์ ทำให้คนไม่ชอบ ทั้งตัวเราเองเกิดอารมณ์ และคู่สนทนาเกิดอารมณ์ ที่เราเรียนจากการจัดการทีมมาก็คือ จริงๆ เราควรเคลียร์เรื่องอารมณ์ให้จบก่อน เข้าใจอารมณ์เขาแล้วจัดการเรื่องอารมณ์ให้เรียบร้อย แล้วค่อยมาคุยเรื่องเหตุผลกัน แต่ถ้าเวลาที่คนพยายามเอาอารมณ์มาปนกับเหตุผล ตรรกะเขาจะคิดต่อไม่เคลียร์ ทำให้การสนทนาจะไม่เคลียร์ด้วย”
ลูกพูดจบ พ่อเสริมว่า เรื่องนี้สามารถนำไปปรับใช้ในการบริหารองค์กรได้ อาจจะจริงที่อาจารย์กิติพงศ์บอกว่า บางครั้งลูกก็เป็นฝ่ายสอนพ่อแม่
เลี้ยงลูกแบบตัวเอง ไม่ต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ก็ได้
นี่ไม่ใช่สูตรสำเร็จสำหรับการเลี้ยงลูก ครอบครัวมะโนจัดการเช่นนี้เพราะมีความพร้อมแบบนี้ การเลี้ยงลูกให้ได้ดีมีอิสระทางความคิด ก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการลาออกจากโรงเรียน และไม่ต้องมีปลายทางเป็นโปรแกรมเมอร์ก็ได้ สะดวกแบบไหนก็จัดการแบบนั้น
สำหรับอาจารย์กิติพงศ์แล้ว วิธีการสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ที่ทุกครอบครัวนำไปใช้งานได้คือ การเปิดโอกาสทางความคิด และให้ความสำคัญกับเด็กๆ
“ลูกแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวอาจจะคิดวิธีการทำก๋วยเตี๋ยวที่อร่อยที่สุดก็ได้ หรือเขาอาจจะมีวิธีการทำการตลาดแบบที่แม่ไม่เคยทำก็ได้ ถ้าเปิดโอกาสให้เขาคิด ผมคิดว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องให้ความสนใจ แล้วก็สังเกต ฟังเขา แล้วพยายามที่จะสนับสนุน สร้างบรรยากาศให้เขาได้ทำในสิ่งที่เขา
ขณะที่อาจารย์พิชญ์สินีเริ่มต้นประโยคสุดท้ายของตนเองในบ่ายนั้นว่า ลูกของคุณก็จะเก่งในแบบของคุณ
“ความรู้จริงๆ แล้วมันอยู่ในอากาศ เราไม่จำเป็นต้องซื้อหนังสือให้ เราไม่จำเป็นต้องหยิบยื่นอะไรที่มันเป็นมูลค่า เราเป็นกำลังใจให้เขา เขาต่อยอดเองได้ มีโน้ตบุ๊คสักเครื่อง มีคอมพิวเตอร์สักเครื่อง หรือแม้กระทั่งไม่มีเขาก็อาจไปหาเองได้ ขอแค่เราสนับสนุนก็พอ”
ที่เหลือถัดจากนี้เป็นของลูกชาย
“เราเอาทฤษฎี anti-disciplinary ของพ่อมาประกอบกับ cognition ของแม่ เราจะได้ระบบการเรียนรู้ที่มัน empower ผู้เรียนมากๆ ถ้าโยนกลับไปที่ตัวอย่างคุณพ่อพูดมา สมมุติครอบครัวขายก๋วยเตี๋ยว ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีเปียโน ไม่มีอะไรทั้งนั้น เราจะทำยังไงให้ลูกตัวเองเรียนรู้ได้ดีที่สุด เริ่มจากการชวนคุย เริ่มจากการหยิบเอาของที่อยู่รอบๆ ตัวแล้วมาเล่นกับเขา
“ไม่ว่าเราจะเปิดเพลงบีโธเฟ่น หรือเพลงโมสาร์ทให้ลูกฟัง ก็ไม่ดีเท่าคุณพ่อคุณแม่ตีกลอง หรือเอาตะเกียบมาตีให้ลูกดู เพราะมันสร้างความผูกพันกับทั้งคนเรียนและคนสอน
“เรื่องนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่สถาบันครอบครัว แต่โรงเรียนก็ควรทำแบบนี้ โรงเรียนควรมีความเป็น anti-disciplinary เพื่อกลบเด็กๆ จากความเป็นสายวิทย์สายศิลป์ เราเลิกเรียกเด็กว่าเด็กสายวิทย์จะต้องทำอะไรได้ เด็กสายศิลป์จะต้องทำอะไรได้ แต่เราบอกว่าเด็กๆ ทุกคนคือคนสร้าง แล้วเราใช้ cognition เพื่อบอกเด็กๆ ว่าทุกคนสามารถทำได้
“ผมว่ามันเป็น misconception อย่างหนึ่ง หากคิดว่าที่เราเป็นอย่างนี้ได้เพราะเราอยู่ในครอบครัวแบบนี้ แต่เราไม่เชื่อ เราเชื่อว่าเพราะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ไม่ใช่เพราะว่าเงินหรือว่าไม่ใช่เพราะวัตถุที่มี เราเชื่อว่า process ต่างหากที่สำคัญกว่า”
Tweet