- เมื่อบาดแผลที่เราได้รับจากครอบครัว คือ ผลผลิตของระบบ ‘ปิตาธิปไตย’
- mappa live ครั้งที่ 10 ชวนคุยในหัวข้อ “ปิดตาธิปไตย : ถ้าคนในบ้านยังไม่เท่ากัน อย่าฝันถึงสังคมที่ดีงาม”
- ‘แค่แกะพัสดุ’ ‘แค่อ่านไดอารี่ลูก’ เรื่องที่เราถูกทำให้รู้สึกปกติ แต่จริงๆ ยิ่งตอกย้ำความไม่เท่ากันของคนในบ้าน
เราทุกคนต่างก็เคยมีปัญหาที่คนในครอบครัวกระทำกับเราอย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งคำพูดที่ทำร้ายจิตใจจนฝังแน่นเป็นแผลลึกไม่มีวันลืมเลือน ทั้งความรุนแรงที่เกิดจากการทำร้ายร่างกายจนไม่สามารถให้อภัยได้ ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของระบบ ‘ปิตาธิปไตย’ ที่ยังคงมีอำนาจและดำรงอยู่ในครอบครัว
นี่เป็นประเด็นสำคัญของ mappa live ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “ปิดตาธิปไตย : ถ้าคนในบ้านยังไม่เท่ากัน อย่าฝันถึงสังคมที่ดีงาม” ผ่านแขกรับเชิญทั้งสามท่านที่มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ได้แก่
- ก๋วย – พฤหัส พหลกุลบุตร : เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) และมหา’ลัยเถื่อน
- ทราย – อินทิรา เจริญปุระ : นักแสดง นักเขียน ที่กำลังทำแคมเปญ #เรื่องของใจใครว่าไม่สำคัญ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย
- และ ฝ้าย – บุณฑริกา แซ่ตั้ง : เจ้าของเพจ ไม่อยากกลับบ้าน
เพียงสงสัยทำไมใครต้องมีอำนาจพิเศษ
ก๋วย พฤหัส ซึ่งมีประสบการณ์ในการขับเคลื่อนเรื่อง ‘ห้องเรียนแห่งอำนาจ‘ ที่ชวนเหล่าครูในโครงการก่อการครู มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทย รวมไปถึงสำรวจความเป็นมนุษย์ในตัวของครูเองว่า ทุกคนนั้นมีข้อดี จุดแข็ง รวมไปถึงข้อเปราะบางของตน ตลอดจนวาทกรรมความเป็นครูบางอย่างที่แฝงฝังอยู่ เช่น “ครูจะต้องแต่งตัวเรียบร้อย” “ครูจะต้องใส่ชุดผ้าไหมทำผมกำบังสูงๆ” เป็นต้น
แต่จุดเริ่มต้นจริงๆ ก่อนจะมาเป็นห้องเรียนแห่งอำนาจ คือ การที่ก๋วยได้อยู่ในระบบการศึกษาไทยตั้งแต่เด็กจนโต พร้อมกับเกิดความสงสัยต่อระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเรื่องการใช้อำนาจในโรงเรียนที่ครูปฏิบัติต่อนักเรียน
“ยกตัวอย่างเช่น เอ๊ะ ทำไมมีความพิเศษ มีความไม่เท่ากันผ่านเครื่องแบบ ผ่านทรงผม หรือว่าทำไมเข้าห้องเราต้องถอดรองเท้าหรือว่าใส่ถุงเท้าอยู่ แต่คุณครูไม่ต้องถอด ครูก็เดิน เดินย่ำในขณะที่เราทำเวร (หัวเราะ) ครูมีลิฟต์พิเศษ ครูมีช่องทางพิเศษ มันก็กลายเป็นคำถามที่คล้ายๆ กับว่าเราเจออยู่ในสังคมรอบตัว แล้วก็มีคำถามกับตัวเอง”
ก๋วยเล่าต่อว่า แม้คำถามในตอนนั้นอาจเป็นเพียงมุมมองของเด็กคนหนึ่ง แต่เมื่อเติบโตขึ้น สิ่งที่เป็นคำถามในตอนนั้นกลับยังพบเห็นได้ทั่วไปในสังคม ทำให้เขามองกลับไปว่า
“ในครอบครัว ในสถาบันการศึกษา ในระบบวัฒนธรรม ในสื่อ ในอะไรต่างๆ มันมีการใช้อำนาจลักษณะนี้อยู่มาก ตอนหลังที่ผมได้ทำงานกับคุณครู ทำงานกับเด็กๆ ในระบบการศึกษาเยอะ ก็เลยคิดว่ากว่าเราจะโตมาเป็นตัวเป็นตนขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ มันถูกประกอบสร้าง ถูกโปรแกรมมิ่งมาจากหลากหลายเรื่อง ทั้งสื่อที่เราดูทุกวัน วาทกรรมของสังคม วัฒนธรรม ประเพณี และคำขวัญใดๆ”
“เพราะฉะนั้น มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้สึกว่า อะไรเป็นแก่นแกนของระบบการศึกษา ของระบบในสังคมไทย แล้วก็นำไปสู่สังคมที่เราใช้อำนาจกันเยอะมากๆ เลยคิดว่าถ้าเราเป็นฟันเฟืองหนึ่งเล็กๆ ที่จะสามารถผลักดันเรื่องเกี่ยวกับสร้างวัฒนธรรมอำนาจใหม่หรือว่าอะไรต่างๆ ขึ้นมาได้ในระบบการศึกษา ก็น่าจะเป็นจุดหนึ่งที่ช่วยได้ จึงเป็นที่มาที่ไปว่าทำไมผมถึงมีความสนใจมาทำเรื่องวัฒนธรรมอำนาจในระบบการศึกษา”
เมื่อคาดหวัง ไม่รับฟัง อำนาจจึงเบ่งบาน
ไม่เพียงแค่อำนาจจะอยู่ในระบบโรงเรียน ระบบของสังคม มันยังอยู่ในบ้านเช่นกัน
ในความเห็นของ ฝ้าย เจ้าของเพจ ไม่อยากกลับบ้าน อำนาจมีชื่อเล่นต่างกันเมื่ออยู่ต่างสถานที่
“จริงๆ อำนาจมันมีชื่อเล่นของมันนะ คือ ความหวังดีที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับ เพราะว่ามันถูกซ่อนอยู่ในทุกๆ อย่าง แล้วมันก็ถูกเปลี่ยนชื่อไปเรื่อยๆ ถ้าอยู่ในบ้านมันก็คือ อำนาจนิยม แต่ว่าพอมันอยู่ในโรงเรียนมันก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น กฎระเบียบ หรือพอเข้ามหาวิทยาลัยมันก็เปลี่ยนชื่อเป็น โซตัส ซึ่งมันคือสิ่งที่ผู้อาวุโสให้กับผู้ที่ด้อยอาวุโสกว่า”
ด้วยความที่ฝ้ายทำเพจไม่อยากกลับบ้าน จึงมีประสบการณ์ใกล้ชิดกับคนรุ่นใหม่เพื่อเฝ้าฟังเรื่องเล่าของหนุ่มสาวในปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางโรงเรียน ปัญหาเพื่อน ปัญหาทางสังคม และปัญหาหลัก คือ ครอบครัว
ฝ้ายเล่าว่า ปัญหาที่พบบ่อยที่สุด คือ การเลือกคณะเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลที่พ่อแม่หลายคนไม่เข้าใจลูกที่เลือกเรียนคณะด้านศิลปะ เนื่องจากดูไม่มั่นคงด้านอาชีพการงาน วันหนึ่งถ้าพวกเขาไม่อยู่แล้วจะรู้สึก ประกอบกับสิ่งที่ลูกเลือกนั้นไม่ตรงตามที่พ่อแม่คาดหวังไว้ ก่อนจะผลักไสไล่ให้ไปเรียนคณะอื่นและไม่รับฟังเหตุผล
“มันก็จะเกิดความขัดแย้งกัน แต่ว่าความขัดแย้งมันจะเกิดระดับไหนก็อยู่ที่ความสัมพันธ์ในครอบครัวก่อนหน้านั้น สุดท้ายแล้วในบางครอบครัวที่เป็นอำนาจนิยม มันจะเป็นการใช้อำนาจทางการเงินในการขืนใจ สุดท้ายแล้วมันก็คือการขู่ที่จะไม่ส่งเรียน”
แค่อ่านไดอารี่ แค่แกะกล่องพัสดุ
เมื่ออำนาจถูกใช้โดยคนเป็นพ่อเป็นแม่พร้อมกับเป็นเครื่องมือสร้างความสยบยอมแก่ลูก นี่คือส่วนหนึ่งของระบบปิตาธิปไตยที่เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมชายคาและเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เช่นเดียวกับ ทราย เจริญปุระ ซึ่งยกตัวอย่างที่พบเห็นได้ทั่วไป นั่นคือ การที่แม่ขโมยอ่านไดอารี่
ทรายเล่าว่า ตอนยังเด็กเธอไม่ได้มองหรอกว่าสิ่งที่แม่ทำนั้น คือ การใช้อำนาจ หากแต่เพียงรู้สึกว่า “โดนล่วงล้ำ”
“โตมาในบ้านที่พ่อกับแม่สอนมาว่าห้ามไปหยิบของคนอื่น อย่าไปเปิดกระเป๋าสตางค์เขา ห้าม ห้ามไปหยิบข้าวของของเขามาเปิดดู แต่พอเป็นของเรา เขากลับทำได้หมดเลย และที่แย่ที่สุดคือเขาเปิดไดอารี่เรา คือเด็กประถมมันไม่มีเรื่องอะไรที่พิสดารพันลึก หรือว่าไปทำอะไรผิดกฎหมายอยู่แล้ว แต่ทันทีที่รู้ว่าโดน มันสั่นคลอนมากๆ”
“ตกลงสิ่งที่เขาสอน เขาไม่ทำ แต่เขาอยากให้เราทำกับเขา แล้วก็บอกไม่มีอะไรแม่ก็อ่านได้ ไม่ได้สิ คือ ถ้าอ่านได้ เราก็ต้องอ่านของแม่ได้ งั้นแม่มีไดอารี่มั้ยเอามาอ่านบ้าง มันก็ไม่ได้”
“กับช่วงมัธยมต้น พอเป็นนักแสดงก็จะมีคนเขียนจดหมายเข้ามา ซึ่งแม่จะเปิดอ่านทุกฉบับ โดยบอกว่าเป็นการสกรีนให้ก่อน ซึ่งมันแย้งกับทุกอย่างที่เขาพยายามสอนเรา ที่เขาพยายามอยากให้เราทำกับเขา ก็คือเคารพในสิทธิ์ของคนอื่น เราก็จะเคารพในสิทธิ์ในข้าวของของเขา เรื่องส่วนตัวของเขา เราจะไม่ไปรื้อ ไปแกะ ไปจุกจิก ไปถามอะไร เพราะทุกครั้งที่ถาม เราก็โดนสั่ง ‘หยุด นี่คือเรื่องของผู้ใหญ่’ ”
“มันให้ความรู้สึกแบบนั้น ทรายเข้าใจนะในแง่ว่าการมีเงิน คือ มีอำนาจ หรืออะไรอย่างนี้ที่มันฝังลงมาอยู่ในครอบครัว แต่จนกระทั่งวันหนึ่งทรายมีเงินมีรายได้ของตัวเอง ทรายก็ยังไม่มีอำนาจในตรงนี้”
ฝ้ายเล่าเสริม เรื่องการโดนอำนาจล่วงล้ำจากคนในบ้านผ่าน ‘การแกะกล่องพัสดุ’
“สิ่งที่เราทำบ่อย คือ สั่งของออนไลน์มา แล้วโดนแกะ เขาก็จะพูดด้วยคำว่า อา…ก็บ้านเขา ของมาที่บ้านเขา เขามีสิทธิ์ที่จะรู้ว่าของในนั้นคืออะไร คือแบบมันไม่มีอะไร มากสุดก็อัลบั้มเกาหลี สุดท้ายแล้วกลายเป็นว่าเรื่องพวกนี้มันถูกตีกลับมาที่เรื่องของการใช้เงินของเรา”
“เราไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมมันถึงต้องเกิดขึ้น แล้วเราจะแก้ปัญหากับมันยังไง เราก็เถียงไม่ออกว่า เอ้า ก็บ้านเขาจริง มันบ้านเขาจริงๆ เขาก็มีสิทธิ์รู้จริงๆ แต่สิ่งที่เขาควรทำไม่ใช่การแกะของ สิ่งที่เขาควรทำคือเขาควรถามมากกว่ามั้ย”
ในขณะที่ก๋วย เขาเติบโตมาในครอบครัวคนจีนที่มีแนวคิดสมัยใหม่ ไม่ได้เคร่งครัดมากนัก และอยู่ในครอบครัวที่ทุกคนในบ้านมีส่วนร่วมด้วยกัน ท่ามกลางค่านิยมของครอบครัวในสมัยนั้นว่า “ลูกไม่ต้องทำอะไร แค่ตั้งใจเรียนก็พอ”
“บังเอิญว่าผมโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ได้คิดอย่างนั้น คือเหมือนกับว่า ถ้ากูลำบาก มึงก็มาลำบากไปกับกูด้วย (หัวเราะ) แต่ว่ามันทำให้เรารู้สึกดีนะ ทำให้เรารู้สึกว่าเรามีวุฒิภาวะ เรารู้สึกว่าเราได้รับการยอมรับในแง่ที่ว่า เราเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว คุณก็ร่วมทุกข์ร่วมสุขไปกับครอบครัว ถ้าดีก็ดีด้วยกัน ถ้าเกิดมันลำบากก็ลำบากด้วยกัน สิ่งนี้มันสร้าง self-esteem หรือความเคารพตัวเอง”
“แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวคนจีนสมัยใหม่นิดหนึ่ง มันก็ยังแฝงฝังความชายเป็นใหญ่ ในเชิงว่าผมเป็นผู้ชายก็จะมีความ elite อภิสิทธิ์นิดหนึ่งมากกว่าลูกผู้หญิง มากกว่าพี่สาว ก็ยังมีอยู่จางๆ แต่ว่าไม่ได้ชัดเจนมากนัก แต่ก็ทำให้เรา guilty ทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย ไม่ดีเลยว่ะ มันมีคำถามว่าทำไมไม่เท่าเทียมกัน ทำไมลูกผู้หญิงต้องถูก treat ต่ำกว่า ครอบครัวอื่นถ้าเป็นจีนมากจะต่างกันมาก ครอบครัวผมก็แตกต่างอาจจะไม่ได้มากนัก แต่ว่ายังไงซะก็ยังมีความต่าง เป็นอำนาจปิตาธิปไตยที่ยังไงก็มีอยู่ในครอบครัว”
พื้นที่เปิด โปรดรับฟังด้วยหัวใจ
ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องส่วนตัว เรื่องทางสังคม เรื่องจากสิ่งเร้าต่างๆ ที่เข้ามาทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย รวมถึงเรื่องที่เกิดจากครอบครัว หลายคนเผชิญเรื่องเหล่านี้เพียงลำพัง ยิ่งไปกว่านั้น คือ ไร้พื้นที่แลกเปลี่ยนพูดคุยอย่างปลอดภัย
“เด็กโดยเฉพาะวัยรุ่น ถ้าเขามีปัญหากัน เขาก็คุยกันเองกับเพื่อน หรือคุยผ่านทางแอปพลิเคชันต่างๆ เพียงแต่ผมรู้สึกว่าบางทีในสายตาผู้ใหญ่ก็อาจจะต้องมีมุมมองว่า ถ้าเด็กไม่สามารถคุยกับเรา เขาก็ต้องไปหาโอกาสที่จะคุยกันเอง พ่อแม่ก็ต้องลองพิจารณาดูว่าอยากจะให้เขามาคุยกับเรา คุยกับผู้ใหญ่ หรืออยากจะให้เด็กไปคุยปัญหากันเอง หรือไปแก้ปัญหากันเองในระดับที่เขายังไม่มีวุฒิภาวะ หรือผ่านโลกมามากนักด้วยกันเอง”
“ถ้าเราก้าวข้ามอีโก้ หรือว่าเส้นอะไรบางอย่างของตัวเองได้ เพื่อที่จะไปสู่การเข้าอกเข้าใจหัวจิตหัวใจของลูกบ้าง เราควรลด ปรับเปลี่ยนบางอย่างในตัวเรา ไม่ต้องเยอะหรอก เปลี่ยนเล็กน้อยก็ช่วยสร้างพื้นที่มากๆ สำหรับเด็กคนหนึ่ง ในการที่เขาจะมีพื้นที่เข้ามาพูดคุย มาปรึกษา หรือมาเล่าเรื่องที่เขาอึดอัดคับข้องใจให้เราฟัง ผมว่ามันก็น่าจะอุ่นใจพ่อแม่มากกว่าที่เด็กไปหาวิธีการหรือว่าคำตอบด้วยตัวเอง เพราะเขาไม่มีพื้นที่ใดๆ ในการที่จะพูดสิ่งนั้นได้เลย”
นอกจากพื้นที่ปลอดภัยซึ่งเริ่มจากพ่อแม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองทีละนิด เพื่อเปิดพื้นที่พูดคุยให้กับลูก ก๋วยเสนอว่า การเลี้ยงลูกแบบเพื่อนไม่ควรเริ่มที่ ‘วิธีการ’ สิ่งสำคัญ คือ ควรเริ่มปรับที่ ‘วิธีคิด’ ของพ่อแม่ก่อน
“การเปลี่ยนนี้ไม่ได้ไปสั่งสอน เพียงแต่มีกรอบแนวคิดบางเรื่องให้พ่อแม่เห็น แล้วก็ให้เขาได้ทบทวนตัวเอง พอกลับไป พ่อแม่จะบอกตัวเองได้ว่า เออ เราก็เคยมีพฤติกรรมนู่นนี่นั่นอย่างนี้จริงๆ และมันจะค่อยๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงกับตัวพ่อแม่เอง ไม่ใช่การไปบอกจากคนอื่นว่าเขาจะต้องเปลี่ยนแปลงยังไง ที่สำคัญก็คือพอพ่อแม่เปลี่ยนวิธีคิดอันนี้ได้เนี่ย เดี๋ยวพฤติกรรมมันตามมาเอง”
ซึ่งวิธีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดนี้มีเรื่องวัฒนธรรมอำนาจที่ถูกคิดและพัฒนาโดย Star Hock นักสตรีนิยมในเชิงการขับเคลื่อนเรื่องการลดอำนาจหรือการขับเคลื่อนในเชิงสิทธิมนุษยชน ที่พูดถึงอำนาจอยู่ 3 ประเภท
“อันแรก คือ อำนาจเหนือ หรือว่า Power over คือ การที่คน กลุ่ม หรือองค์กรสถาบันใดๆ พยายามที่จะใช้อำนาจเพื่อควบคุม บังคับ ข่มขู่ ห้าม ทำร้าย เอาเปรียบ ตีตรา ปิดกั้นโอกาส คิดแทน ไม่รับฟัง ล้อเลียน ลงโทษ หาประโยชน์ หรือทำให้โดดเดี่ยว หรือโดยรวมพยายามที่จะทำให้ผู้ถูกใช้อำนาจรู้สึกว่าเขาตัวเล็กต่ำต้อย ด้อยคุณค่า อึดอัด โกรธ อ่อนแอ กดทับถูกจำกัดหรือว่าไม่ปลอดภัย
“การใช้อำนาจเหนือแบบนี้มันง่าย มันเร็ว มันเข้าไปสู่จุดที่เราต้องการจะควบคุมให้เขาเป็นดั่งใจเราได้ง่ายที่สุด พูดว่าเป็นสันดานดิบมนุษย์ ในเชิงลบ เราใช้อันนี้เป็นเหมือนสมองส่วนหน้าแบบสัตว์เลื้อยคลาน ที่ใช้อันนี้ได้ง่าย”
“อันที่ 2 คือ อำนาจร่วม หรือ Power-sharing คือ การที่จะทำให้กลุ่มบุคคล องค์กร หรือสถาบันใดๆ ได้ช่วยเหลือ เกื้อกูล สนับสนุนหรือว่าเดินไปพร้อมๆ กัน ตัดสินใจร่วม ให้กลุ่มบุคคลได้มีโอกาสตัดสินใจเอง ให้โอกาสได้คิดทำความเข้าใจ รับฟัง ให้พื้นที่ในความต่าง พูดง่ายๆ ว่าให้คนที่ถูกใช้อำนาจนั้นรู้สึกปลอดภัย รู้สึกไว้ใจ มั่นใจในตัวเอง ผ่อนคลาย และสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ อันนี้คือฝั่งตรงข้ามของการใช้อำนาจเหนือ ทีนี้มันจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
“โดยหลักการ คือ เราจะทำยังไงให้ลดอำนาจเหนือ ซึ่งมันมาพร้อมกับสถานะทางสังคม อายุที่มากกว่า ความเป็นชาย หรือความรู้ที่มีมากกว่า คนที่รวยกว่า หรือมีฐานะสูงกว่า มันจะอำนวยให้คุณเกิดอำนาจเหนือไปโดยปริยาย ไม่ต้องอะไร แค่ผมตัวใหญ่ ผมก็มีอำนาจเหนือมากกว่าคนตัวเล็กๆ บอบบางแล้ว มันมาโดยชาติกำเนิด แล้วถ้าเราไม่เท่าทัน เราจะใช้โดยอัตโนมัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันไปตอบสนองความต้องการส่วนลึกของความเป็นมนุษย์ของเรา มนุษย์มันต้องการสบาย ต้องการเหนือกว่าอยู่แล้ว ”
“อำนาจที่ 3 คือ อำนาจภายใน หรือ Power within คือ การที่เราตระหนักถึงศักยภาพที่เรามีอยู่ เรารู้สึกว่าเราเป็นมนุษย์ยืนตรง เรามีกระดูกสันหลัง (หัวเราะ) เราเท่าเทียมกับคนอื่น เรามีศักยภาพที่จะแก้ปัญหามันได้ ซึ่งมันทำได้โดยการที่เราต้องอาศัยความเมตตา ความเข้าอกเข้าใจ ความไม่สยบยอม ความสงบ ความมั่นคงภายใน และการมีคุณค่าที่เรายึดถือ”
จากอำนาจทั้งสามประเภท ก๋วยให้ข้อสรุปไว้ว่า มันเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เราได้ไปรีเช็กกับตัวเองว่า ที่ผ่านมานั้นเราได้ใช้อำนาจใดบ้างกับลูก ซึ่งอาจเกิดขึ้นทั้งที่พ่อแม่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ผ่านการใช้ความรักก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่จะขยับขยายไปเป็นอำนาจเหนือ เมื่อเราได้เผลอใช้อำนาจเหนือไปแล้ว ให้ลองสังเกตพฤติกรรมของลูกว่าเป็นอย่างไร จากนั้นจึงค่อยๆ สร้างอำนาจร่วมแล้วมองว่าสิ่งที่ลูกได้รับนั้นดีขึ้นจากเดิมอย่างไร
“ผมคิดว่าวิธีการที่ใช้ได้ผลมากๆ คือ การฟัง การฟังจะเป็นเครื่องมือสำคัญมากๆ ในการโอบรับให้เขาเข้ามาอยู่กับเรา เวลาที่คนฟังเราและให้ความรู้สึกว่าเขาใส่ใจเรา เขามองตาเรา เขาสั่นสะเทือนไปกับเรา ไม่ต้องรีบไปให้คำแนะนำ ไปให้คำตัดสินหรือว่าไปช่วยเหลืออะไรลูกมาก แค่ฟังเขาจริงๆ อยู่กับเขาจริงๆ แล้วก็รับความรู้สึกของเขามาอย่างเต็มที่
“นี่จะเป็นการเปิดประตูมิตรภาพใหม่ ความสัมพันธ์ใหม่ มุมมองใหม่ที่เขามีต่อพ่อแม่ ซึ่งแรกๆ อาจจะฝืน อาจจะรู้สึกยากนิดนึง ผมคิดว่าค่อยๆ เริ่มต้น ให้โอกาสตัวเองในการเติบโต แล้วท้ายที่สุดคนที่จะมีความสุขไม่ใช่เฉพาะลูกเรา ตัวเองนี่แหละ เราจะเห็นว่าสายตาของลูกเราเปลี่ยนไป พลังงานที่มันเคยมาคุ มันจะเปลี่ยนไปเป็นโอเค มีความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น อาจจะไม่ถึงกับมาหวานจี๋จ๋า แต่อย่างน้อยไม่ได้ปะทะกันด้วยความรุนแรง ไม่ต้องมารักกันดูดดื่มแต่อยู่ร่วมกันได้ ผมคิดว่ามันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่พอเป็นไปได้สำหรับครอบครัว”
เช่นเดียวกับฝ้าย นอกจากการฟัง การถาม อีกหนึ่งข้อสำคัญ คือ การยอมรับความเปลี่ยนแปลงในตัวลูก
“เพราะเอาจริงๆ เราก็ไม่เคยมีลูก แต่ก็หมายถึงว่า once เมื่อเด็กคนหนึ่งก้าวออกบ้านไป เอาแค่ลองปล่อยลูกไปมินิมาร์ตปากซอยอย่างน้อย experience เขาก็เพิ่มขึ้นจากที่เขาอยู่แค่ในบ้าน เขาอาจจะไปเจออะไร อาจจะไปเจอหมาจรจัดที่น่ารัก อาจจะไปเจอว่าจริงๆ แล้วหมาจรจัดมันไม่ได้สกปรกทุกตัวนะแม่ เขาอาจจะกลับมาได้พูดอีกเรื่องหนึ่งแล้ว experience มันเพิ่มขึ้น
“เพราะฉะนั้น ฝ้ายคิดว่าตัวตนของคนเรามันเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา สิ่งหนึ่งที่ผู้ใหญ่ควรจะมี คือ การรีเช็กสเตตัสว่าคนคนนั้นน่ะ เป็นแบบนี้อยู่ไหม และในทางเดียวกันลูกก็สามารถถามคำถามเดียวกันกับพ่อแม่ได้”
จะขู่หรือจะรัก “วันหนึ่งถ้าพ่อแม่ไม่อยู่แล้วจะรู้สึก”
พ่อแม่หลายคนชอบพูดว่า เลี้ยงลูกเหมือนเขาเป็นเพื่อนหรือต้องการเป็นเพื่อนกับลูก ทรายเสนอว่า คนเป็นพ่อเป็นแม่จะต้องเลือก หากจะตั้งตนเองว่าเป็นพ่อแม่กับลูก ลูกก็จะทำทุกอย่างตามที่พ่อแม่หวังไว้แต่จะไม่ได้หัวใจของลูก แต่ถ้าอยากได้ลูกเป็นเพื่อน พร้อมๆ กับการอยู่ในกฎกรอบความคาดหวัง ทรายบอกว่า “มันไม่ได้”
“คุณแม่ต้องเลือก คุณลูกก็ต้องเลือกด้วย คือถ้าคุณลูกอยากจะให้พ่อแม่ไม่ต้องมายุ่ง แบบไว้ใจหนูสิ หนูโตแล้ว หนูก็ต้องทำให้เห็นว่าโตแล้ว ซึ่งไม่ใช่ในแง่เศรษฐกิจ แต่เป็นในแง่ของความรับผิดชอบกับข้อตกลงร่วมบางอย่างที่ตกลงกันมาแล้ว ไม่ใส่อารมณ์กับทุกอย่าง ซึ่งทรายรู้ว่ามันยากมากๆ กับการที่ไม่ใส่อารมณ์กับคนที่พูดไม่รู้เรื่อง แต่ว่ามันก็คือการพิสูจน์อย่างหนึ่ง ต่างคนต่างก็ต้องพิสูจน์ตัวเองกัน”
“ทรายมั่นใจว่า เด็กทุกคนมีข้อดีเว้ย แค่ให้เขาหายใจบ้าง เหมือนๆ กับที่ทรายก็เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนมีข้อดีเหมือนกัน แต่ความเครียด ความเค้น ความคาดหวัง คาดหวังตัวเองด้วย คาดหวังลูกด้วย บางทีมันทำร้ายทุกคนนะ คืออำนาจพอถือมากๆ มันก็เสียไม่ได้ไง มันก็อยากรวบทุกอย่าง จริงๆ คุณแม่ไม่ต้องถือมากตั้งแต่แรก ปล่อยเลย มันก็จะบางลง”
นอกจากข้อเสนอว่าด้วยเรื่องการอยากเป็นเพื่อนกับลูก อีกสิ่งที่น่าสนใจทรายเล่าถึงการห้ามเถียง เด็กหลายคนมักถูกตัดบทเถียงด้วยการขู่ว่า “วันหนึ่งถ้าเขาไม่อยู่แล้วจะรู้สึก”
“บ่อยครั้งที่เห็นคนมาปรึกษาเรื่องพ่อแม่ แล้วก็จะมีคนให้คำปรึกษาแนวว่า อย่าไปเถียงเขา ให้ยอมเขาเลยใดๆ เพราะว่าวันหนึ่งถ้าเขาไม่อยู่แล้วจะรู้สึก คิดว่าน่าจะเป็นประโยคมาตรฐาน ซึ่งทรายโดนแบบนี้มาก่อน ทุกครั้งที่เราไม่ไหวแล้วกับแม่ แล้วเราก็จะคิดตลอดว่า ทำไมเราต้องรอให้ตายแล้วถึงจะต้องมาคิดถึงกัน ทำไมมันไม่ healthy ตั้งแต่ตอนนั้นเลย ทำไมต้องมีคนหนึ่งเป็นฝ่ายขาดทุนอยู่ตลอดเวลา คือมันเหมือนว่าขาดทุนรอวันเขาตาย
“เราถึงจะ เย่ แบบเรามีความสุขแล้ว เอาอย่างนี้เหรอ มันเป็นวิธีคิดที่ประหลาดมาก โอเค เรื่องที่มันซีเรียสมากๆ เรื่องที่มันคอขาดบาดตายหรืออะไรก็ตาม มันอาจจะไปจบตรงประโยคพวกนี้ได้ ว่า เออ วันหนึ่งถ้าเขาตายเราก็จะคิดถึงอย่างนี้ แต่มันมีหลายๆ เรื่องที่มันต้องคุยกันได้สิ”
“เราไม่ได้มีชีวิตเพื่อรอวันเขาตายแล้วเราจะมีความสุข อยากมีความสุขไปพร้อมๆ กับที่มีเขาด้วยในชีวิต ทรายเพิ่งว่างมาบอกความต้องการของตัวเองกับแม่ในช่วงท้ายของชีวิตเขาเอง ซึ่งทรายรู้สึกว่ามันสายไปมากๆ ถ้าเราคุยกันมาก่อนหน้านี้ หรือว่าทรายยอมที่จะไฟต์ ชี้แจ้งความต้องการของตัวเองแบบไม่หยวน ป่านนี้ทรายก็คงไปเที่ยวกับแม่ได้สนุก
“นึกออกมั้ย ไม่ใช่แบบไม่อยากไปเลยเครียดมาก ไปแล้วแบบทะเลาะกันแน่ๆ แต่ก็ต้องไปเพราะว่ามันไม่มีทางเลือก เราควรจะได้เอนจอยความรู้สึกแบบนั้นในวันที่เขายังแข็งแรง แล้วเราก็ยังแข็งแรง และเราต่างก็ยังมีกันและกันอยู่ ทรายว่าอะไรแบบนี้มันจะทำให้บ้านน่าอยู่และบ้านน่ากลับ คือที่ ที่เรามีตัวตนจริงๆ ที่ความต้องการของเราได้รับการมองเห็น ได้รับการตอบรับ ได้รับการรับฟังอย่างจริงใจ”