“พี่ก็นึกเอ็นดูคนกทม. ตื่นเต้นกะผู้นำที่ดี ที่นี่เรามีมาสิบกว่าปีแล้ว”
“หนูลำบากมากจะเลิกเรียนหนังสือตอนโควิด ไม่รู้จะทำยังไง ลองยื่นเรื่องมา เขาก็ส่งต่อมาให้นายก ท่านให้หนูเข้าพบและจัดการให้ จนได้เรียน หนูไม่ไปไหนค่ะ เรียนจบแล้วจะกลับมาเป็นกำลังให้นายกพัฒนาเมืองยะลา”
“เราภูมิใจที่เป็นคนยะลานะ จังหวัดเรามีครบทุกอย่าง นายกเราก็ดี เขาเป็นคนทำงานจริง”
ปีที่แล้วชาว กทม. เพิ่งจะได้ตื่นเต้นดีใจกับการมีผู้นำที่ดูเป็นความหวังให้พวกเขาได้ ส่วนปีนี้ชาวไทยกำลังฮิตวลี “ได้กลิ่นความเจริญ” หลังจากรู้ผลการเลือกตั้ง 2566 ที่เปรียบเสมือนชัยชนะของประชาชน แต่ 20 ปีที่ผ่านมา ชาวยะลาได้สัมผัสและคุ้นเคยกับกลิ่นของความเจริญเป็นอย่างดี
กลิ่นของความเจริญที่หอมชื่นใจชาวเทศบาลนครยะลานี้ถูกปรุงโดย นายกอ๋า – พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ผู้ที่มักจะถูกสื่อเขียนถึงในฐานะ “นายกนอกคอก”
เขาคือตัวแทนจากภาคท้องถิ่นเพียงคนเดียวที่ได้ชี้แจงปิดท้ายการอภิปรายร่างกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเรียกร้องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในปี 2565
เขาคือคนที่ปลุกปั้นวงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลาซึ่งเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้ความฝันที่จะเป็นนักดนตรีของเด็กหลายคนประสบความสำเร็จ
เขาคือคนที่ทำให้เทศบาลนครยะลามี LINE OA ที่ข้อมูลพื้นฐานทุกอย่างของเทศบาลนครยะลาจะถูกลิงก์มารวมกัน มี citizen dashboard ให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลภาษี งบประมาณรายรับและรายจ่ายในแต่ละปี และประชาชนยังสามารถเรียกใช้บริการช่างต่าง ๆ ได้อีกด้วย
เขาคือคนที่ทำให้ยะลามี ‘หลาดยะลา’ แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อร้านค้าในพื้นที่เทศบาลนครยะลากว่า 1,000 ร้านค้าที่เก็บคอมมิชชันน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้เพราะอยากให้ประชาชนมี disposable income ในวันที่เศรษฐกิจชะลอตัว
เขาน่าจะเป็นนายกเทศมนตรีหรือแม้แต่นักการเมืองไทยเพียงคนเดียวที่ได้เดินบนเวที London Fashion Week เมื่อครั้งที่เขาพาชาวยะลานำชุด ‘ปากายัน มลายู’ ไปอวดสายตาชาวโลกในงานนั้น
กลางโถงอาคารที่ในอนาคตจะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ผังเมืองยะลา เด็ก ๆ หลายคนกำลังขะมักเขม้นประทับลวดลายหลากสีลงไปบนผืนผ้าที่เตรียมไว้สำหรับงานประกวดแฟชัน ‘ปากายัน มลายู’ พอเดินขึ้นมาที่ชั้น 2 ของอาคารก็เห็นสมาชิกส่วนหนึ่งของวงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลากำลังนั่งเป็นวงล้อมและซ้อมดนตรีรอเราอยู่ สารภาพว่านี่คือภาพที่เราไม่คุ้นชินนัก เพราะในฐานะที่เป็นคนต่างจังหวัด เราแทบไม่เคยเห็นการรวมกลุ่มทำกิจกรรมของเยาวชนเยอะเท่านี้ในพื้นที่ที่เทศบาลจัดไว้ให้ และมีเทศบาลเป็นผู้สนับสนุน
“ออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลา” คือหัวข้อที่เราตั้งใจมาพูดคุยกับนายกอ๋า แต่เมื่อบทสนทนาของเราเริ่มติดเครื่อง หัวข้อที่พูดคุยกันก็กว้างและไกลไปกว่าวงออร์เคสตร้า เรากระโดดไปคุยเรื่องการพัฒนาเยาวชนเพื่อให้เป็นกำลังในการขับเคลื่อนเมืองในอนาคต การเตรียมเมืองยะลาให้พร้อมสำหรับการรองรับเด็กรุ่นใหม่ที่อยากกลับบ้าน การเรียกร้องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ไปจนถึงนิยามของนักการเมืองที่ดีในสายตานายกอ๋า
ความเจริญไม่ได้มาเพียงแค่กลิ่น แต่ปรากฏเป็นผลงานมากมายที่เทศบาลนครยะลาภายใต้การนำของนายกอ๋าทำมากว่า 20 ปีที่อยู่ในตำแหน่งโดยแทบจะปราศจากคู่แข่ง
ท็อปโน้ตกลิ่นความเจริญ : สังคมดี ๆ จากวัยเด็กที่อยากส่งต่อให้เด็กอีกรุ่น
วงออร์เคสตราเยาวชนเทศบาลนครยะลาอาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงของเทศบาลนครยะลาภายใต้การนำของนายกอ๋า ไม่ง่ายที่จะตั้งวงออร์เคสตร้าขึ้นมาวงหนึ่งได้ภายใต้งบประมาณและทรัพยากรอันจำกัด แต่ในวันนี้ วงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลามีสมาชิกถึง 300 กว่าคน พวกเขาได้ไปแสดงในงานต่าง ๆ มากมายทั้งไทยและต่างประเทศ มีงานคอนเสิร์ตเป็นของตัวเองที่มีแขกรับเชิญเป็นศิลปินชื่อดังมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง อดีตสมาชิกหลายคนในวงเติบโตไปทำงานสายดนตรี และมีอีกหลายคนที่กลับมาส่งต่อความรู้และแรงบันดาลใจให้น้อง ๆ อย่าง ‘หมูหวาน’ ที่เราได้เจอในวันนั้น เขาคือเยาวชนในวงออร์เคสตร้ารุ่นแรกที่ยังคงกลับมาช่วยสอนน้อง ๆ อยู่เสมอ
วงออร์เคสตราวงนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2549 เพียง 2 ปีหลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งแรกเริ่มขึ้น นายกอ๋าเล่าให้เราฟังว่าเขาเติบโตขึ้นมาในย่านตลาดเก่าเมืองยะลาซึ่งรายล้อมไปด้วยชุมชนชาวมุสลิม และสิ่งที่เขาจดจำได้จากวัยเด็กก็คือความรักใคร่กลมเกลียวของชาวพุทธและมุสลิม พวกเขาอยู่ร่วมกันราวกับครอบครัวใหญ่ บรรยากาศอันอุ่นนี้คือสิ่งที่ยะลาเป็นมาตลอด แต่แล้วเพียงปีเดียวหลังจากที่เขาได้เป็นนายกเทศมนตรีนครยะลาก็เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบครั้งแรกในปี 2547
แรกทีเดียวเขาคิดว่าความไม่สงบนี้จะคงอยู่ไม่นาน แต่ 6-7 เดือนก็แล้ว เหตุการณ์ความไม่สงบก็ยังเกิดขึ้นเรื่อย ๆ และสิ่งที่ทำให้เขาเป็นกังวลก็คือเด็กรุ่นหลังที่ไม่ทันได้สัมผัสความรัก ความอบอุ่น และความเป็นครอบครัวที่ชาวพุทธและมุสลิมมีต่อกันเหมือนตอนที่เขายังเด็ก
“ผมถือว่าเยาวชนมีความสำคัญกับเมืองมาก ไม่ว่าเมืองนั้นจะสงบหรือไม่สงบเพราะเขาคือพลังในอนาคต ในตอนมีเหตุการณ์ไม่สงบ ความรู้สึกแปลกแยก ความรู้สึกเกลียดชัง มันขยายไปยังเด็กรุ่นหลังซึ่งสิ่งเหล่านี้น่ากลัวมาก เพราะถ้าเด็ก ๆ โตขึ้นมาภายใต้สิ่งเหล่านี้ เราไม่มีทางห้ามอยู่ ยิ่งนานแผลจะยิ่งกว้าง ในฐานะที่เราบริหารเมืองเราต้องคิดทันทีว่าแผลกว้างแบบนี้เราจะปล่อยต่อไปไม่ได้ มันก็ต้องหาเครื่องมือสมานแผล”
“แล้ววันหนึ่งผมก็ไปเป็นประธานเปิดกีฬาเทศบาล ก็เห็นวงโยธวาธิตเดินผ่าน เราเลยคิดว่าถ้าเอาเด็ก ๆ ชาวพุทธและมุสลิมมาอยู่ด้วยกันมันน่าจะดี และเราก็คิดต่อไปอีกว่าภายใต้ความคุกรุ่น เราจะทำอย่างไรให้จิตใจอ่อนโยนลง ผมก็คิดว่าเครื่องดนตรี ที่เป็นเครื่องสายมันน่าจะฟังดูอ่อนโยนกว่าเครื่องตีหรือเครื่องเป่า เราจึงทำวง symphony orchestra เพราะความเป็น symphony โน้ตดนตรีมันไม่เหมือนกันดังนั้นเวลาเล่นต้องเอาใจเขาไปใส่ใจเรา ใจเราไปใส่ใจเขาเพื่อหลอมเป็นความเป็นหนึ่ง”
แม้ในยะลาจะไม่มีคนเล่นเครื่องสายได้เลยและมีงบประมาณกับทรัพยากรที่จะใช้ในการสอนอย่างจำกัดจำเขี่ย แต่นายกอ๋าก็ได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์สุกรี เจริญสุข ผู้ก่อตั้งวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาช่วยในการฝึกสอนครูดนตรีในยะลา ได้อาจารย์วีระศักดิ์ อักษรถึง จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลามาฝึกสอนและเป็นวาทยกรให้ และได้ความร่วมมือทั้งจากครูและผู้ปกครองที่อยากเห็นเด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมดี ๆ ร่วมกัน
“วันเปิดรับสมัครวันแรก คนมาสมัครกันเต็ม มาเป็นร้อยคน ผมยังไม่รู้จักเครื่องดนตรีเลย ผมก็มานั่งเรียนรู้กับเด็กว่าเครื่องนี้เรียกว่าอะไร ผมไม่มีเงินซื้อเครื่องดนตรีดี ๆ แค่สีแล้วมีเสียงดังผมก็โอเคแล้ว แล้วเราก็ฟังดนตรีไม่เป็น พอเด็กได้สีพร้อมกันอย่างพร้อมใจวันแรกก็ฟังดูเพราะไปหมด พอคอนเสิร์ตแรก เด็กบรรเลงเพลงแรกขึ้นมา น้ำตามันก็ไหลออกมาไม่รู้ตัวเลย ผลลัพธ์ของความเหนื่อยคือเราได้สร้างเด็กขึ้นมา พ่อแม่ของเด็ก ๆ ก็มาบอกผมว่า ขอบคุณนายกเพราะความยากจนทำให้เขาไม่เคยคิดว่าลูกจะได้ถือเครื่องดนตรีเลย” นายกอ๋ากล่าวพร้อมรอยยิ้ม
มิดเดิลโน้ตกลิ่นความเจริญ : อนาคตยะลาในมือคนรุ่นใหม่
ในปีเดียวกันกับที่วงออร์เคสตร้าเยาวชนเทศบาลนครยะลาถือกำเนิดขึ้น ยังมีอีกเรื่องที่เรียกเสียงฮือฮาและรอยยิ้มให้ชาวเมืองยะลาได้ไม่แพ้กัน นั่นคือการเปิดตัวของ อุทยานการเรียนรู้ TK Park ยะลา ซึ่งถือเป็น TK Park แห่งแรกในต่างจังหวัด นายกอ๋าเล่าว่าการนำ TK Park มาเปิดที่ยะลานั้นเกิดจากการที่เขาต้องการให้มีพื้นที่ส่วนกลางที่เด็กและเยาวชนจะได้พบเจอและเรียนรู้กันและกัน
“การเรียนรู้ที่จะใช้พื้นที่ร่วมกันคือการสอนให้เด็กเคารพและให้เกียรติคนอื่น ขณะเดียวกันผมก็ต้องการทำห้องสมุดที่เด็กรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน เข้าไปแล้วไม่ต้องเครียดกับบรรณารักษ์ ไม่ต้องเครียดกับบรรยากาศน่าอึดอัด ทำให้เขาอยากนอนอ่านอะไรก็ได้ สมาชิกเทศบาลแรก ๆ ก็ไม่เข้าใจแต่สุดท้ายพอสร้างเสร็จก็ฮือฮากันทั้งเมือง พ่อแม่ก็พาลูกมาอ่านหนังสือกันที่นี่”
นอกจากสองโครงการเพื่อเด็กและเยาวชนที่กล่าวมาแล้ว หากเราย้อนกลับไปดูการจัดสรรงบประมาณของเทศบาลนครยะลาในแต่ละปี ก็จะพบว่างบประมาณส่วนใหญ่นั้นเน้นไปที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
“ตอนนี้ช่วงปิดเทอมเราจะมีค่ายเยาวชนสำนึกรักษ์บ้านเกิด เด็กที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กยากจนจะต้องมาเรียนหนังสือที่เทศบาล 40 วัน เรียนทุกเรื่องเกี่ยวกับเทศบาล หน้าที่ของเทศบาลที่พึงมีต่อประชาชน และเราก็สร้าง sense of belonging ให้เขา สร้างการมีส่วนร่วมให้เขา”
“วันที่เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจหรืออะไรก็ตาม สิ่งที่เรายังต้องรักษาไว้เหมือนเดิมคืองบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของเด็กและเยาวชน ส่วนอื่นเราคิดว่ารอได้ แต่โอกาสทางการศึกษา ความก้าวหน้าของเด็กและเยาวชน และทักษะความจำเป็นต่าง ๆ มันรอไม่ได้ เรื่องถนนหนทางเราค่อย ๆ ทำก็ได้ไม่เป็นไร เราพยายามบำรุงรักษาที่มีอยู่ให้ดี นี่คือหลักการของเทศบาล”
‘The Second Singapore’ คือวิสัยทัศน์ที่นายกอ๋าวาดหวังไว้ให้ยะลาในวันแรกที่เขาเข้ามาเป็นนายกเทศมนตรี ในอดีตสิงคโปร์เป็นเพียงประเทศเล็ก ๆ ที่มีทรัพยากรอยู่อย่างจำกัด แม้แต่น้ำพวกเขาก็ยังต้องรับซื้อจากมาเลเซีย แต่เหตุที่ทำให้สิงคโปร์พัฒนาอย่างก้าวกระโดดได้เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้วประเทศอื่น ๆ ก็คือนโยบายที่เน้นไปที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
“วันนี้ผมเลยต้องสร้างคนขึ้นมาก่อน เราเป็นคนรุ่นเก่า มันมีแต่จะชราลง คนรุ่นใหม่เขามีการตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราต้องสร้างคนเหล่านี้มารองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันมันเป็นพลังที่มี productivity สูงถ้าเรารู้จักเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนเมืองต่อไป”
“เด็กที่ลำบากเราก็ดูแลด้วย เราทำค่ายเยาวชนมาเกือบ 20 ปี ช่วงโควิดก็ยังทำแม้ว่าจะมีการห้ามรวมกลุ่มกัน ผมให้เด็ก ๆ มาทำงานในค่ายเยาวชนและมีค่าตอบแทนให้เป็นรายสัปดาห์ หรือเด็กที่ปิดเทอมกลับบ้านมาและครอบครัวยากจน ผมก็จ้างพวกเขาสำรวจรายชื่อคนฉีดวัคซีน เพราะว่าพ่อแม่เขาไม่มีตังค์แล้วยังต้องหยุดทำงาน ถ้าลูกไม่มีรายได้จากตรงนี้ไปจะยิ่งแย่ ขณะเดียวกันเด็กที่มีความสามารถ มีทัศนคติที่คำนึงถึงสาธารณะประโยชน์ เราก็ส่งเสริมเพราะพอเขาไปประสบความสำเร็จแล้วเขาอยากกลับมาพัฒนาบ้านเมือง มันก็เป็นเหมือนร่มคันใหญ่ คนที่อยู่ใต้ร่มก็จะได้โอกาสไปด้วย”
หลังจากอยู่ในตำแหน่งมา 20 ปี ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนมาถึง 4 สมัย ในวันนี้นายกอ๋ากำลังวางแผนภารกิจทิ้งทวนเพื่อเตรียมเมืองยะลาให้พร้อมรองรับความต้องการของเยาวชนยะลาที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อาจจะอยากกลับมาขับเคลื่อนเมืองต่อไปในอีก 10 ปีข้างหน้า ตอนนี้เทศบาลนครยะลาได้เริ่มให้คำปรึกษาการวางแผนอนาคตกับเยาวชนทุกคน และยังมีแฟ้มผลงานของเด็กมัธยมต้นจำนวนกว่า 2,500 คนเพื่อเตรียมความพร้อมทางอาชีพให้กับเด็ก ๆ จากนั้นเทศบาลนครยะลาจะนำข้อมูลเหล่านี้มาแปลงเป็นนโยบายเพื่อกำหนดทิศทางการเติบโตของเมืองให้พร้อมรองรับอาชีพที่หลากหลายในอนาคต
“มันทำให้เราสามารถมองเมืองต่อไปได้ว่าคนของผมต้องการให้เมืองเติบโตไปในทิศทางไหน หน้าที่ของผู้บริหารต่อจากนั้นคือการสร้าง ecosystem เพื่อให้เด็กเติบโตไปในทิศทางที่มีอนาคตร่วมกัน อย่างทุนการศึกษาผมจะเลือกให้เด็กปี 4 ก่อนเพื่อส่งเขาไปถึงฝั่ง เพราะตอนนี้ตลาดแรงงานมันยังเป็น degree-based (ประเมินจากวุฒิการศึกษา) อยู่ เราจึงต้องให้ดีกรีเขาก่อน แต่จริง ๆ แล้วถ้าอยากให้เมืองพัฒนาเราต้องเป็น competency-based (ประเมินจากสมรรถนะ) เพราะไม่ว่าคุณจะจบปริญญาอะไรก็ตาม คุณก็จะมีฐานเงินเดือนเท่า ๆ กันแล้วเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามสมรรถนะของคุณ คนก็อยากเรียนรู้และพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ผมจะบอกเด็กแบบนี้ตลอด”
“เราอยากให้เด็กได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ โตขึ้นเขาจะกลับหรือไม่กลับมายะลาก็แล้วแต่เขา แต่อย่างน้อยเขาได้ทำในสิ่งที่เขารัก productivity ก็จะเกิด ความเจ็บปวดหรือความซึมเศร้าก็น้อยลง เขาจะได้เปล่งประกายได้เต็มที่ และผมก็เชื่อว่าอย่างน้อยวันเวลาที่เขาอยู่ในยะลา ที่เขาได้โอกาส ก็อาจทำให้เขาอยากกลับมา ผมเลยทุ่มให้เขาทั้งหมด เด็ก ๆ ที่ผมให้ทุนการศึกษาไป ผมบอกเขาว่าลูกไม่ต้องมาตอบแทนนายก ขอให้ลูกคิดว่าวันนี้มันมีสังคมดีลูกถึงได้มีโอกาส เพราะฉะนั้นหน้าที่ลูกในวันข้างหน้ามาร่วมกันสร้างสังคมให้ดี มันจะได้สร้างโอกาสส่งต่อให้เด็กคนอื่น”
เมื่อพูดคุยกันถึงประเด็นนี้ เราในฐานะคนรุ่นใหม่ที่ต้องโยกย้ายจากภูมิลำเนามาทำงานที่กรุงเทพฯ เนื่องจากความหลากหลายของความต้องการในตลาดแรงงานและฐานเงินเดือนในต่างจังหวัดยังไม่ตอบโจทย์ จึงอดถามนายกอ๋าไม่ได้ว่า เทศบาลจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้เมืองสามารถรองรับคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับมาทำงานในบ้านเกิดของตัวเอง
“อย่างแรกเป็นเรื่องของค่าตอบแทน อย่างที่สองคือเด็กต้องการประสบการณ์หรือความท้าทายซึ่งตรงนี้เราต้องเป็นคนสร้าง วันนี้สิ่งที่สำคัญของเมืองที่จะทำให้คนอยากกลับมาได้คือสมรรถนะการแข่งขัน ผมในฐานะนายกมีหน้าที่สร้างสมรรถนะการแข่งขันให้กับเมือง เมื่อเมืองมีสมรรถนะ เอกชนก็อยากมาลงทุน พอมาลงทุนเยอะก็เกิด wealth creation เด็กก็จะกลับมา ถามว่ายะลาไปถึงจุดนั้นไหม ยังไม่ถึง แต่ผมกำลังทำ”
“ผมทำแผน 10 ปีของยะลา ด้วยการเก็บข้อมูลเด็กตั้งแต่ gen z แบ่งเป็นแต่ละด้าน เช่น ความรู้ ชุมชน การบริโภค การเงิน ฯลฯ เพื่อสำรวจความเห็นว่าเด็กต้องการอะไร มองเมืองอย่างไร คาดหวังอะไรจากเมือง และแต่ละรุ่นให้น้ำหนักกับอะไรเป็นอันดับหนึ่ง จากนั้นก็เอามาดูว่ายะลาอยู่ในสถานะไหน แล้วเราก็เอาข้อมูลที่ได้มาบูรณาการเข้าหากัน เช่น ต้องทำให้คนมีรายได้ 2 แสนบาทต่อคนต่อปี แต่ตอนนี้ได้แค่แสนเดียวเท่านั้น ฉะนั้นความต้องการของเราก็คือให้เมืองโต 10% แล้วเราต้องสร้างอะไรบ้าง การศึกษาต่อไปต้องเน้นด้านไหน หลังจากนั้นผมจะเชิญผู้บริหารทั้งหมดมาคุยแผนให้เข้าใจตรงกันแล้วทำนโยบาย และจะเชิญนักวิชาการมาให้คำปรึกษาเพื่อเดินหมาก 10 ปีได้ ผมจะวางให้เสร็จแล้วผมจะได้กลับบ้าน”
“บ้านนายกอ๋าอยู่ไหนคะ” เราแกล้งถาม แม้จะรู้ดีว่าเขาหมายถึงการลงจากบทบาทนายกเพื่อกลับไปพักผ่อนในวัยเกษียณ
นายกอ๋าหัวเราะแล้วตอบว่า “ก็ยะลานี่แหละ”
เบสโน้ตกลิ่นความเจริญ : นายกคือคนที่ตัวเล็กที่สุดในจังหวัด
อีกสิ่งที่สำหรับนายกอ๋าแล้วถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เมืองพัฒนาไปได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการมอบโอกาสให้เด็กและเยาวชน ก็คือการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
“สิ่งแรกที่ต้องปลูกฝังคือจิตสาธารณะ วันนี้เราไม่ต้องพูดคำว่าอาสา อาสานั้นเป็นอีกขั้นหนึ่ง คือคุณไม่ต้องไปช่วยสังคมก็ได้แต่คุณอย่าเอาเปรียบสังคมก็พอ อันที่สองคุณต้องแยกให้ออกระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับสาธารณะ วันนี้สองคำนี้มันปนกันไปหมด ผมอยู่มานาน บางครั้งจากจิตสาธารณะก็อาจกลายเป็นประโยชน์ส่วนตนก็ได้นะ ถ้าไม่รู้จัก control ตัวเองให้ดี แต่พอเรารู้แบบนี้ สิ่งที่คุณต้องทำคือเอาอำนาจออกจากตัวไปให้ประชาชน ให้เราเหลืออำนาจน้อยที่สุด พอชาวบ้านเข้มแข็ง ต่อให้คุณเป็นนายกแต่คุณก็จะตัวเล็กที่สุดในเมือง”
ยะลาจึงอาจเรียกได้ว่าเป็นจังหวัดแรกที่มีสภาประชาชนขึ้นเมื่อ 18 ปีที่แล้ว การประชุมสภาประชาชนจะจัดขึ้นปีละครั้งและมีคนเข้าร่วมกว่า 3,000 คน โดยเมื่อเสร็จสิ้นการประชุม นายกเทศมนตรีจะเป็นผู้สรุปประชุมและทิศทางของเมืองที่ประชาชนต้องการ มันคือพื้นที่ที่ “ประชาชนมาด่าเราได้ตลอด” นายกอ๋ากล่าวกลั้วหัวเราะ
“ตอนผมทำสภาประชาชนครั้งแรกเมื่อ 18 ปีที่แล้ว มีคนถามว่านายกไม่กลัวคนด่าเหรอ แต่สิ่งสำคัญคือคุณต้องกล้าตัดสินใจในครั้งแรกว่าคุณจะทำหรือไม่ทำ เพราะสุดท้ายใครที่ด่าไม่สร้างสรรค์มันก็จะเกิดกระบวนการ social control ซึ่งจะมีอีกฝ่ายหนึ่งมาโต้ในสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล มัน constructive และสุดท้ายมันจะได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดให้กับเมือง”
“แรก ๆ เราเริ่มตั้งสภาประชาชนโดยมีประธานชุมชน กรรมการชุมชน กรรมการนักเรียนจากทุกโรงเรียนและให้ประชาชนสมัครกันเข้ามา พอทำไปถึงจุดหนึ่งมันก็เริ่มเป็น norm ของเมือง ทุกคนก็มาฟัง ในการประชุมเราจะแบ่งเป็น 12 sections แล้ว rotate ไปเรื่อย ๆ เพื่อให้เห็นว่าทุกคนในห้องมีโอกาสได้พูดเท่าเทียมกันหมด ระหว่างนั้นเราก็เก็บแบบสอบถามความพึงพอใจของประชาชนในปีที่ผ่านมาว่าเราทำงานเป็นอย่างไร นอกจากนั้นเรายังมีสภากาแฟทุกเดือนให้ประชาชนพูดอะไรก็ได้และเราก็ใช้เป็นพื้นที่สื่อสารด้วย”
และเพราะเชื่อในการมีส่วนร่วมของประชาชนนี่เองที่ทำให้นายกอ๋าเป็นตัวแทนจากภาคท้องถิ่นเพียงคนเดียวที่ขึ้นไปชี้แจงปิดท้ายการอภิปรายร่างกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเรียกร้องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในปี 2565
“ที่ผมเรียกร้องการกระจายอำนาจ ผมไม่ได้เรียกร้องให้ตัวผมเอง แต่ผมต้องการเอาอำนาจนี้ส่งต่อให้ประชาชน พวกคุณกลัวการกระจายอำนาจแต่พวกคุณลืมไปว่าความกลัวของพวกคุณนี่แหละที่จะทำให้เกิดหายนะ วันนี้ทรัพยากรมันอยู่ข้างบน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือมีการตั้งพรรคการเมืองประจำแต่ละจังหวัดเพื่อไปชิงทรัพยากร แต่ถ้าคุณกระจายอำนาจ สมมติมีเงิน 100 บาทแล้วทุกคนได้เงินตามหลักเกณฑ์ที่จัดสรร ก็วัดกึ๋นผู้บริหารท้องถิ่นว่าใครสร้าง wealth ให้เมืองได้”
ถึงจุดนี้ ใครคนหนึ่งในพวกเราก็ถามขึ้นมาว่าหากการกระจายอำนาจเกิดขึ้นจริงแล้วเราจะวางใจได้อย่างไรว่าเหล่าผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะนำทรัพยากรที่ได้มาทุ่มเทให้กับเมืองอย่างที่นายกอ๋าทำอยู่
“สุดท้ายแล้ว social force มันจะเกิดขึ้น” นายกอ๋าตอบในทันที “อย่างผมที่อยู่ยะลา ถ้าผมทำแล้วจังหวัดอื่นไม่ทำก็อยู่ไม่ได้ สังคมจะสร้าง benchmark (เกณฑ์เปรียบเทียบสมรรถนะ) และสิ่งที่ดีที่สุดคือมันจะเกิดการแข่งขันกันระหว่างเมือง”
“ทำงานแบบนี้ต้องทำด้วยใจ ผมมี passion ชัดเจนว่าผมจะสร้างยะลากลับมายิ่งใหญ่ หากปลดล็อกท้องถิ่นได้ ผมจะสร้างมหาวิทยาลัยยะลา เพราะผมรู้ว่านี่คือข้อจำกัดของเมือง ยะลาไม่มีสนามบิน คนเดินทางมาก็ลำบาก เวลาผมจะดึงคนเก่งมาช่วย พอเป็นยะลาก็ไม่มีใครอยากมา ผมเลยต้องเรียนรู้และเข็นมันขึ้นมาเอง ต้องคิดเองทำเอง ยืนบนฐานของตัวเอง โดยมีทุนคือความสะอาด ความเป็นระเบียบ สิ่งแวดล้อม การศึกษา และวัฒนธรรม ผมเอา 5 ทุนนี้มาสร้างเมือง”
ไม่ง่ายนักที่จะเห็นนักการเมือง โดยเฉพาะในองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เต็มไปด้วย passion และความตั้งใจมากเท่านี้ คำถามที่เราไม่ถามไม่ได้ จึงเป็นคำถามที่ว่า อะไรที่ทำให้นายกอ๋าเป็นนักการเมืองที่ดีและทุ่มเทเพื่อยะลามากเท่านี้
“ผมมีความรู้สึกว่าผมติดค้างบุญคุณยะลา” นายกอ๋าตอบ “ตั้งแต่ครอบครัวที่ได้โอกาสจากคนยะลาในการประกอบธุรกิจจนประสบความสำเร็จ และผมก็ได้สิ่งดี ๆ จากยะลา ทั้งมิตรภาพและโอกาสต่าง ๆ ผมรู้สึกว่าเราต้องคืนกลับให้ ขณะเดียวกันผมก็เชื่อมั่นในประชาธิปไตย เราได้รู้แล้วว่าเผด็จการที่ดีที่สุดก็อาจไม่ใช่คำตอบ ประชาธิปไตยที่เลวที่สุดก็ยังจะดีกว่าเผด็จการที่ดีที่สุด เพราะอย่างน้อยมันก็มีการออกเสียงและมีกระบวนการควบคุม ดีกว่าไม่มีใครควบคุมได้เลย”
“แล้วผมก็เป็นคนที่ชอบเรียนรู้ ก็พยายามเรียนรู้เท่าที่เราเรียนได้ สรุปก็เกิดจากทั้งความรักในบ้านเกิด การอยากสร้างการปกครองที่ดี ความรักในการเรียนรู้ บวกกับ passion ที่เป็นแรงขับเคลื่อนในใจที่ทำให้เราอยากทำงานให้ประชาชน การรักบ้านเกิดมันก็เหมือนกับเรารักผู้หญิงคนหนึ่งแล้วทุ่มเทให้ได้ทุกอย่าง มันไม่ได้ต่างกันเลย”
“แล้วนักการเมืองที่ดีในความคิดของนายกอ๋าเป็นอย่างไร” คือคำถามทิ้งท้าย และนี่คือคำตอบ
“นักการเมืองที่ดีต้องมองประชาชนเป็นหลัก อย่ามองแค่ตัวเอง ให้มองว่าจะทำยังไงให้ประชาชนมีโอกาสที่ดีที่สุดและคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ถ้านักการเมืองทุกคนมองที่ตัวเองก่อนหรือมองแค่คะแนนเสียงว่านี่ของเรา นี่ไม่ใช่ การเมืองที่ดีก็จะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างที่สอง ต้องมีหลักความยุติธรรมในการปกครอง ความยุติธรรมจะทำให้ทุกอย่างมันอธิบายได้ ถ้าเราไม่มีความยุติธรรมมันจะอธิบายอะไรไม่ได้เลย”
“ผมพูดกับปลัดทุกคนที่ส่วนกลางเป็นคนส่งมาทั้งที่ผู้นำท้องถิ่นควรมีสิทธิ์เลือกเองว่าคุณอยากมาอยู่กับผม องค์กรผมมีศักดิ์ศรี คุณห้ามทำสิ่งไม่ดีที่ทำให้องค์กรผมเสื่อมเสีย สองคือคุณต้องมีความกล้าหาญ ไม่ใช่กล้าหาญที่จะโกง แต่กล้าทำโครงการใหม่ ๆ ที่คนอื่นไม่กล้า ถ้าระเบียบมันทำไม่ได้แต่คุณคิดว่ามีประโยชน์ต่อประชาชนและมันควรจะทำได้ คุณก็ทำหนังสือคัดค้านไปเลย ไม่ต้องไปตามมันทุกอย่าง”
“เราเป็นนักการเมืองมันต้องเป็นผู้บริหาร ต้องกล้า educate วันนี้เรามีนักการเมืองแบบนั้นน้อยมากเพราะกลัวเสียคะแนนเสียง แต่ผมพูดกับประชาชนตลอดว่าเราต้องการนักการเมืองแบบไหน แบบหน้างานศพเหรอ แบบฝากลูกได้เหรอ นั่นคือปัจเจกนะ แต่ถ้าเราละปัจเจก มองที่สาธารณะ มันจะทำให้คนอยากเข้ามาทำงานการเมืองมากขึ้น ผมเป็นนักการเมืองที่อาจไม่ได้ไปงานศพทุกงาน ถ้ามีงานผมก็เอางานก่อน แต่คนในยะลาก็จะรู้ว่านายกทำงานอยู่ซึ่งผมคิดว่าแบบนั้นคือประโยชน์ของสาธารณะ”