- Memorial หรือ เป็นอนุสรณ์ คือนิยายที่เขียนโดยไบรอัน วอชิงตัน เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของ ‘เบนสัน’ และ ‘ไมก์’ คู่รักเกย์ต่างเชื้อชาติ กับความรักระหองระแหงที่ใกล้จะจบลง ขนานไปกับความสัมพันธ์หลายรูปแบบของตัวละครอื่น ๆ
- วอชิงตันใช้วิธีเล่าเรื่องได้เรียบง่ายผ่านบทสนทนาที่ค่อนข้างสั้นและห้วนของตัวละคร แต่รอยอารมณ์บาดหมาง ขุ่นเคือง รัก ผูกพัน ลังเลกลับซ่อนอยู่ในความเงียบของตัวละคร ในถ้อยคำล่องหนที่พวกเขาไม่ได้พูดออกมา
- สิ่งที่อยู่ในเรื่องราวของบรรดาตัวละครผู้เคยรัก ยังรัก หรือเลิกรัก ก็คือ ‘อนุสรณ์’ ของความรักที่เคยเกิดขึ้น เพราะต่อให้วันหนึ่งจะเลิกรัก ก็ไม่ได้แปลว่าไม่เคยรักเลย
ไบรอัน วอชิงตัน เป็นนักเขียนเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันวัยเพียง 30 ปีที่มีฝีไม้ลายมือในการเขียนอันโดดเด่น ผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มแรกของเขาอย่าง Lot ที่ตีพิมพ์ในปี 2019 ที่เป็นเรื่องราวของเมืองฮูสตัน ชุมชนของคนดำ สามารถคว้ารางวัลมาได้มากมาย
ครั้งแรกที่เราเห็นผลงานชิ้นที่สองของเขาอย่าง Memorial ในฉบับภาษาไทยที่ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์กำมะหยี่ เราก็รู้สึกสะดุดใจกับชื่อไทยที่ถูกแปลมาว่า “เป็นอนุสรณ์” โดยทันที ‘เป็นอนุสรณ์’ ชวนให้เราสงสัยว่าอะไรกันที่เป็นอนุสรณ์ทั้งที่หน้าปกก็ดูไม่ต่างจากนิยายรักวัยรุ่นหรือนิยายแนว coming of age เรื่องอื่น ๆ แต่คำว่า ‘เป็นอนุสรณ์’ ทำให้เรานึกไปถึงบางสิ่งบางอย่างที่จากไปแต่ยังทิ้งรอยจำเอาไว้ เป็นความรู้สึกอบอุ่นปนหน่วงเหมือนเวลาที่นึกถึงบางความทรงจำที่จบไปแล้วแต่มวลบางอย่างยังคงลอยค้างเติ่งในอากาศ
ยิ่งเมื่อเปิดมาเจอคำนำสำนักพิมพ์ที่มีเพียงคำว่า “รักคือรักคือรักคือรักคือรัก….” ติดกันโดยไม่มีข้อความอื่น ๆ เราก็ยิ่งติดใจหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่ยังไม่ได้อ่านจนต้องหยิบขึ้นมาอ่านในที่สุด
Memorial หรือ เป็นอนุสรณ์ ว่าด้วยความสัมพันธ์ของเกย์คู่รักอย่าง ‘เบนสัน’ และ ‘ไมก์’ คนแรกคือคนดำที่เป็นครูอยู่ในศูนย์เด็กเล็ก คนหลังเป็นชาวญี่ปุ่นที่ย้ายมาอยู่อเมริกาตั้งแต่เด็กและทำงานเป็นเชฟที่ร้านอาหารเม็กซิกัน สิ่งที่พิเศษในนิยายเรื่องนี้คือ ผู้เขียนอย่างวอชิงตันไม่ได้เล่าเรื่องเน้นไปที่ความรักของชาวเกย์ที่ต้องข้ามผ่านอุปสรรคมากมายอย่างที่นิยายหลาย ๆ เรื่องเลือกจะเล่า และก็ไม่ได้เริ่มเล่าจากวันแรกที่เขาทั้งคู่เจอกัน หากแต่เป็นช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ 4 ปีของทั้งคู่ดูจะเรียบเรื่อยเกินไป และพวกเขาก็เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าชีวิตที่เป็นอย่างนี้ กับคนคนนี้ คือชีวิตที่พวกเขาต้องการไหม ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ไมก์ยังได้รับข่าวร้ายว่าพ่อชาวญี่ปุ่นที่เปิดบาร์เล็ก ๆ ในโอซาก้า ซึ่งเป็นคนไม่เอาไหน และไม่ได้เจอหน้าเขามา 10 กว่าปี กำลังป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย
เรื่องราวยังอีนุงตุงนังมากขึ้นเมื่อแม่ของไมก์ก็บินข้ามฟ้าจากญี่ปุ่นมาเพื่อจะใช้เวลากับลูกชายของเธอในช่วงเวลาที่เขาตัดสินใจบินกลับไปดูแลพ่อ ‘มิทสึโกะ’ แม่ของไมก์จึงต้องใช้ชีวิตในอเมริกากับแฟนของลูกที่เธอไม่ได้ชอบหน้านัก แถมยังมีความต่างทางวัฒนธรรมเป็นกำแพงอีกชั้น
“พออยู่กับใครสักคนไปถึงจุดหนึ่ง ทุกอย่างที่ทำมันก็กลายเป็นแค่ปฏิกิริยาตอบสนอง ก็แค่ทำทุกอย่างที่ต้องทำ” เบนสันตั้งข้อสังเกตต่อความสัมพันธ์ของเขาและไมก์ ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่พวกเขาคบกันมา ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ไม่ได้หวานล้ำฉ่ำใจ มันมีทั้งการทะเลาะ การไม่ลงรอย เลยเถิดไปจนถึงการใช้กำลังกันทั้งสองฝ่าย แล้วก็จบลงที่การมีเซ็กซ์ แต่พอถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจว่าจะเลิกกันจริง ๆ ทั้งคู่ก็กลับตัดสินใจไม่ได้ แม้ว่าจะเฉื่อยชาต่อกันจะแย่ แม้ว่าต่างคนต่างก็ได้พบเจอ (จนถึงขั้นมีเซ็กซ์) กับใครคนใหม่ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถตัดใจปล่อยมือไปจากกันและกันได้จริง ๆ สักที
Memorial ทำให้เราได้เห็นว่าความสัมพันธ์บางความสัมพันธ์มีระยะของมัน และเมื่อใดก็ตามที่มันเคลื่อนขยับออกมาจากระยะที่มันควรอยู่ ความสัมพันธ์นั้นก็อาจกลายเป็นความกระอักกระอ่วน แต่อีกบางความสัมพันธ์ที่ดูจะไม่มีตำแหน่งอันเหมาะสม ก็อาจเป็นความสัมพันธ์ที่กำลังมองหาที่ที่สบายใจให้ตัวมันเอง วอชิงตันใส่ฉากเหล่านี้มาไว้มากมายในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่ดูจะผิดศีลธรรมของเบนสันกับผู้ปกครองนักเรียนในศูนย์เด็กเล็ก ความสัมพันธ์ของไมก์และลูกค้าที่เจอกันในบาร์ของพ่อ ความกระอักกระอ่วนเมื่อครอบครัวของเบนสันบังเอิญมาเจอกับแม่ของไมก์โดยที่ต่างฝ่ายก็ต่างไม่ได้ชอบลูกชายของอีกฝ่ายมากนัก ความสัมพันธ์รักไม่ได้เกลียดไม่ลงระหว่างตัวละครทั้งสองและพ่อไม่เอาไหนของพวกเขา หรือความสัมพันธ์ของมิทสึโกะ (แม่ของไมก์) กับเบนสัน ที่ในตอนแรกดูจะต่อไม่ติด แต่พวกเขาก็ค่อย ๆ เชื่อมสัมพันธ์ผ่านการออกไปซื้อวัตถุดิบทำอาหารญี่ปุ่น และความเข้าอกเข้าใจก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น แทรกซึมเข้าไปในอาหารแต่ละคำที่แม่ไมก์ทำให้เบนสันทาน
ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ของตัวละครหลักอย่างเบนสันและไมก์ วอชิงตันก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างแยบยลไม่แพ้กัน เรื่องราวของเบนสันและไมก์แบ่งออกเป็น 2 ช่วงใหญ่ ๆ ครึ่งแรกของเล่มเราจะได้รู้เรื่องราวจากมุมมองของเบนสัน ครึ่งเรื่องหลังเราได้รู้เรื่องจากมุมมองของไมก์ การได้อ่านเรื่องราวเดียวกันจากมุมมองของคนสองคนแบบแยกส่วนกันชัดเจนก็ทำให้เราเห็นว่า เราอาจเป็นตัวร้ายในเรื่องราวของใครอีกคน แม้ว่าความเป็นจริงเรื่องราวนั้นอาจไม่ได้มีใครที่เป็นคนผิดเลยก็ได้ วิธีการเล่าเรื่องดังกล่าวยังทำให้เราเห็นว่าบางครั้งเราก็พร้อมที่จะเชื่อและเห็นอกเห็นใจใครบางคนแม้เราจะรู้ดีว่าเขาเล่าเรื่องจากมุมมองของเขา และเป็นเขาคนเดียวเท่านั้นที่เล่าให้เราฟัง
เมื่ออ่านจนจบ เราก็ได้เข้าใจว่าเหตุใดหนังสือจึงมีชื่อว่า Memorial หรือ เป็นอนุสรณ์
‘อนุสรณ์’ แรก เป็นความรู้สึกคั่งค้างในความสัมพันธ์ของเบนสันและไมก์ ภาษาที่วอชิงตันใช้เล่าเรื่องของเขาทั้งสองไม่ได้งดงามราวบทกวี ที่จริงแทบจะเรียกได้ว่าเป็นภาษาพูดเสียมากกว่าภาษาเขียน เพราะเราจะได้รู้เรื่องราวส่วนใหญ่ผ่านบทสนทนาของตัวละครที่ไม่มีเครื่องหมายอัญประกาศ เสียงและความคิดของตัวละครทั้งคู่จึงกลมกลืน เห็นพ้อง ขัดแย้ง ทะเลาะ บอกรัก และชวนสับสนพอ ๆ กับความรู้สึกที่พวกเขามีต่อกันในระยะหลังของความสัมพันธ์ และวอชิงตันก็ยังทิ้ง ‘รอยอารมณ์’ ไว้เป็นอนุสรณ์ผ่านสิ่งที่ทั้งสองไม่ได้พูด ผ่านช่องว่างระหว่างบรรทัด ผ่านหน้ากระดาษเปล่าที่ไร้ตัวหนังสือหลังจากถ้อยคำของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจบลง Memorial จึงทำงานกับเราเหมือนเราเป็นนักสืบที่ต้องไขคดีที่เต็มไปด้วยปริศนา มันสามารถดึงเราเข้าไปในช่องว่างระหว่างบรรทัดและหน้ากระดาษว่างเปล่าเหล่านั้น เดินวนในวงกตความเงียบงัน พยายามเสาะหาว่าเพราะอะไรที่ทำให้ความรักของคนสองคนค่อย ๆ เหือดแห้ง จากสิ่งที่พวกเขาไม่ได้พูด
‘อนุสรณ์’ ที่สองที่วอชิงตันใส่เข้ามา คืออนุสรณ์ของรูปแบบความสัมพันธ์ที่พ่อแม่ส่งต่อให้ลูก เบนสันมาจากครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้างเพราะแม่ทนกับพ่อที่ติดสุราและชอบอาละวาดตอนเมาต่อไปไม่ไหว เขาถูกทิ้งไว้ให้อยู่กับพ่อขี้เมาที่ยอมรับเพศวิถีของลูกอย่างขอไปที ก่อนจะไล่ลูกชายออกจากบ้านเมื่อพบว่าลูกติดเชื้อ HIV ขณะเดียวกัน ไมก์มีครอบครัวเป็นชาวญี่ปุ่นที่ตั้งใจจะลงหลักปักฐานที่อเมริกา แต่แม่ของเขาก็หอบไมก์หนีจากสามีของตัวเองมาเพราะรับความไม่เอาไหนและไม่มีการมีงานทำของเขาไม่ได้ ทั้งคู่จึงกลายเป็นเด็กที่เติบโตมาด้วยบรรยากาศในครอบครัวที่ใกล้เคียงกัน การเก็บงำซ่อนเร้น การไม่ยอมบอกความรู้สึกที่แท้จริง การหลีกลี้หนีปัญหา ซึ่งย้อนมาส่งผลต่อความสัมพันธ์ของทั้งคู่เช่นกัน
‘อนุสรณ์’ ที่สามซึ่งเป็นหลักใหญ่ใจความของเรื่อง คือทรงจำอันกระจัดกระจาย ที่ทั้งสวยงาม ทั้งเจ็บปวด ทั้งสุข ทั้งเศร้า ทั้งหวาน ทั้งขม แต่ยังคงแจ่มชัดในทุกความสัมพันธ์ มันทำให้เรานึกถึงมีม ‘you can’t unsee it’ ที่ชาวเน็ตมักนำมาใช้เวลาโพสต์ภาพสิ่งใดสิ่งหนึ่งในอีกมุมมองที่อาจทำให้ความประทับใจที่เรามีต่อสิ่งนั้นเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ที่เมื่อได้พบพานแล้ว เราจะย้อนกลับไปไม่เคยพบพานไม่ได้ เมื่อสัมผัสแล้ว เราจะย้อนกลับไปไม่เคยสัมผัสไม่ได้ เมื่อผูกพันแล้ว เราจะย้อนกลับไปไม่เคยผูกพันไม่ได้ และเมื่อรักแล้ว เราก็จะย้อนกลับไปไม่เคยรักไม่ได้ มันจะทิ้งรอยจำเป็นอนุสรณ์ให้เราโดยฉับพลันทันทีที่มันเกิดขึ้น
แม้เราจะขีดเส้นจุดเริ่มต้นและจุดจบให้กับบางความสัมพันธ์ แต่นั่นไม่ได้แปลว่าช่องว่างระหว่างจุดเริ่มต้นและจุดจบนั้นจะไม่ได้ถูกถมด้วยโมงยามเล็ก ๆ ที่คนทั้งคู่มีต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นแม่ของเบนสันที่ยังคงห่วงใยพ่อของเขาแม้ว่าเธอจะมีครอบครัวใหม่ไปแล้ว หรือแม่ของไมก์ที่ร้องไห้คร่ำครวญในวันที่รู้ว่าพ่อของลูกจากไปแม้จะไม่ลงรอยกันเลยสักนิด หรือตอนที่อนุสรณ์จากความสัมพันธ์ของเบนสันกับไมก์-ลูกชายของเธอ ได้เปลี่ยนเป็นสายใยเล็ก ๆ ระหว่างเธอกับเบนสัน หรือสิ่งที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ของเบนสันกับไมก์เอง ที่ถึงจะดูเลือนรางใกล้จางหาย แต่ไม่ว่าจะจบอย่างไร อนุสรณ์ก็ถูกสร้างไว้ตั้งแต่วันที่เขาทั้งคู่ได้พบพานกันแล้ว