- “แม่แต้ว – วราภรณ์ อ๋องเซ่ง” คุณยายวัยใกล้ 70 กับหลานวัยทีนทั้ง 2 คน อย่าง “เอเชีย – ชาดา สังวรณ์” และ “เปียโน – บุศบา สังวรณ์” ผู้สืบสายตระกูลโนราเติม หนูวิน หนูวาด ซึ่งเป็นสายตระกูลโนราที่โด่งดังในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดนครศรีธรรมราช
- หลังจากแม่แต้วเข้ามารับช่วงดูแลโนราของครอบครัว เอเชียก็ถือกำเนิดขึ้น หลานสาวคนนี้จึงกลายเป็น “ความหวัง” ของคุณยาย ที่จะช่วยสืบทอดสายตระกูลโนรา และอีก 3 ปีถัดมา เปียโนก็ตามพี่สาวเข้าสู่วงการโนรา และโนราก็กลายเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของยายหลาน
- เพราะวัยที่ห่างกัน ก็ทำให้ยายหลานมีความไม่เข้าใจกันอยู่บ้าง แต่การพูดคุยและความพยายามที่จะปรับตัวเข้าหากันของทั้ง 3 คน และโซเชียลมีเดียก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยให้ทั้งยายและหลานมายืนอยู่ในจุดที่เข้าใจกันมากขึ้น
เวลาได้ยินคนพูดถึง “นาฏกรรมโนรา” เราก็มักจะคิดถึงการฟ้อนรำของชาวใต้ ในชุดลูกปัดหลากสีและท่าร่ายรำที่แสนอ่อนช้อย แต่ก็อดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามในหัวใจลึก ๆ ว่าลมหายใจของโนราเริ่มแผ่วเบาแล้วหรือเปล่า กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมงาน “โครงการโนราภูมิปัญญาแห่งแผ่นดิน” ของศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม แห่งองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ณ จังหวัดพัทลุง จึงทำให้ตระหนักว่า “วิถีแห่งโนรา” ยังคงถูกรักษาและส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ
เหมือนกับ 3 ยายหลานที่เราได้พบเจอในวันงาน ที่ “อายุ” ไม่ใช่อุปสรรคของความตั้งใจที่จะดำรงไว้ซึ่งเชื้อสายโนราอันเก่าแก่ของตระกูล แน่นอนว่าช่วงวัยที่ห่างไกล ย่อมทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันบ้าง แต่ทั้ง 3 ก็ใช้หัวใจที่รักในศิลปะการรำโนรามาเป็น “ตัวเชื่อม” ความรักและความสัมพันธ์ เกิดเป็นความตั้งใจของคน 2 รุ่นที่จะอนุรักษ์และสืบสานการรำโนราให้อยู่คู่กับสังคมไทยต่อไป
และนี่คือเรื่องราวของ “แม่แต้ว – วราภรณ์ อ๋องเซ่ง” คุณยายวัยใกล้ 70 กับหลานวัยทีนทั้ง 2 คน อย่าง “เอเชีย – ชาดา สังวรณ์” และ “เปียโน – บุศบา สังวรณ์” ที่มีโนราและปรมาจารย์ลัทธิมารเป็นตัวเชื่อมคน 2 Gen เข้าไว้ด้วยกัน
“โนรา” ลมหายใจของคุณยาย
“แม่แต้วรับราชการที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาได้ 27 ปี ก็ตัดสินลาออกจากราชการเพื่อมาสืบทอดโนรา ซึ่งก็คิดหนักมาก เพราะการออกมาทำโนราเหมือนออกมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ แต่เราก็คิดว่างานราชการนั้น ใครก็เข้ามาทำได้ แต่โนราเป็นของพ่อแม่เรา ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำ ส่วนพี่น้องเขาก็ไม่อยากทำ เขาลืมไปหมดแล้ว ช่วงแรกก็เลยค่อนข้างโดดเดี่ยว คือพี่น้องให้กำลังใจนะ แต่เขาคิดว่าถ้าทำไม่ดี จะทำให้พ่อแม่เสียชื่อเสียง แต่เรากลับคิดว่า พ่อแม่ทิ้งผลงานและสมบัติโนราเอาไว้เยอะแยะ ถ้าเก็บไว้อย่างเดียวจะมีประโยชน์อะไร เอามาทำต่อดีกว่า” แม่แต้วเริ่มต้นเล่า
แม่แต้วคือลูกสาวของ “โนราเติม” ผู้มีพรสวรรค์ในด้านการขับกลอนมุตโตหรือกลอนสด ทั้งเป็นผู้พัฒนารูปแบบการแสดงโนราสู่สากล จึงเป็นโนราที่มีชื่อเสียงโด่งดังในจังหวัดตรังเป็นอย่างมาก ขณะที่แม่ของเธอคือ “โนราหนูวิน – โนราหนูวาด” ซึ่งเป็นโนราหญิงในยุคแรก ๆ ที่ผู้หญิงยังไม่ได้รับการยอมรับให้รำโนรา แม่แต้วเล่าว่าโนราหญิงมักถูกทำคุณไสย ทำให้รำได้ไม่นาน บางครั้งก็ตกเลือดบนเวทีแสดงเลยก็มี แต่ “โนราวันเฒ่า” ซึ่งเป็นคุณตาของแม่แต้ว ก็เป็นโนราที่ชำนาญด้านคาถาอาคม จึงปกป้องลูกสาวทั้งสองให้สามารถแสดงโนราได้อย่างยาวนาน
“แม่แต้วลาออกมาในช่วงปี 2547 แล้วก็เป็นความบังเอิญที่เอเชียเกิดในปี 2548 พอดี เราก็เริ่มมีความหวัง เพราะลูกสาวของเราก็ปาราชิก แม่แต้วเองก็เหมือนกัน การปาราชิกก็คือไปยุ่งกับเรื่องพิธีกรรมไม่ได้เลย เพราะไม่ใช่คนบริสุทธิ์ ดังนั้น พอเอเชียกับเปียโนเกิดมา เราก็ดูแลให้เขาเป็นเด็กที่บริสุทธิ์ แม่แต้วก็พาหลานไปดูโนรา แล้วก็หัดดัดมือดัดตัวตั้งแต่เด็กเลย ซึ่งแม่ของเขาจะโกรธมาก บอกว่าเดี๋ยวมือลูกเขาจะหัก แต่เอเชียคือความหวังแรกเลย เพราะแม่แต้วประกอบพิธีกรรมไม่ได้ คนที่จะทำได้คือหลานผู้หญิงที่รักษาพรหมจรรย์ เขาก็จะครอบเทริด ผูกผ้าใหญ่ได้ เด็กคนนี้จะสามารถทำเรื่องโนรา สืบทอดจากทวดหนูวินทวดหนูวาดได้ แต่ความห่างระหว่างวัยก็คือ 70 กับ 17 จะทำยังไงให้มันมาอยู่แบบนี้ได้” แม่แต้วกล่าว
เอเชีย เปียโน: ความหวังสุดท้าย
“หนูเกิดมา ตอนนั้นคุณยายได้รับช่วงต่อมาจากโนราหนูวินแล้ว เลยต้องมาสานต่อด้านศิลปะการแสดงโนรา คุณยายก็ตัดสินใจไปเปิดคณะเล็ก ๆ สอนรำโนราที่สงขลา หนูได้ยินเสียงปี่เสียงกลองครั้งแรก ก็รู้สึกว่าเสียงแปลก ๆ ไม่เคยได้ยินมาก่อน พอรู้ว่าที่บ้านเป็นสายตระกูลโนรา คุณทวดคือโนราเติมจากเมืองตรัง คุณยายก็เลยคาดหวังว่า อย่างน้อยหนูเป็นผู้สืบทอดโนราต่อจากคุณยาย พอคุณยายเปิดคณะ คุณยายก็ดัดท่ารำให้ หนูก็รำจนชำนาญ ตอนนี้จึงมาช่วยคุณยายสอนน้อง ๆ ด้วย” เอเชียเล่า
เอเชียและเปียโนอายุห่างกัน 3 ปี แต่ทั้งสองคนเห็นตรงกันว่าทั้งคู่เป็นพี่น้องที่ไม่มีอะไรเหมือนกันเลย แถมไม่เคยจะลงรอยกันเสียด้วย แต่ตลอดบทสนทนาของพวกเรา น้องสาวที่นั่งอยู่ข้าง ๆ พี่สาว ก็พยักหน้าเห็นด้วยอย่างแข็งขัน และช่วยสนับสนุนพี่สาวของเธออย่างเต็มที่
“หนูก็เหมือนที่พี่เอเชียพูดเลยค่ะ ตอนได้ยินเสียงปี่เสียงกลองครั้งแรกก็ยังเด็กมาก ๆ รู้สึกแปลกใหม่ดี เราก็ชอบด้วย ตอนสามขวบก็โดนจับมาดัดตัว ได้ออกงานครั้งแรกก็ตอนอายุสามขวบ แล้วเราเพิ่งมารู้ว่ามีทวดเป็นโนราดัง เรามีสายเลือดของทวด ก็ทำให้ยิ่งชอบโนราขึ้นไปอีก” เปียโนเสริม
เมื่อกลายเป็นความหวังสุดท้ายที่จะเข้ามาช่วยสืบสานตำนานโนราของตระกูล เราจึงถามน้อง ๆ ทั้ง 2 คนว่ารู้สึกกดดันบ้างไหม เอเชียและเปียโนบอกว่า “ไม่กดดันมาก” เพราะเข้าใจว่าตัวเองมีหน้าที่ต้องเป็นผู้สืบทอดโนรา และเอเชียก็บอกกับเราว่า
“มันกดดันค่ะ แต่ไม่ได้กดดันมาก เราแค่ต้องมีเวลามานั่งคิดว่าเราจะหาวิธีการจัดการว่าเราจะเอาเวลาไหนมาฝึกซ้อม เพื่อไปแสดงโชว์ แต่คุณยายรู้ว่าหนูจะเรียนหนักแค่ไหน ก็จะเลือกรับงาน ถ้าเป็นงานที่อยู่ในช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์ ก็จะไม่รับเลย ถ้าเป็นเสาร์อาทิตย์จะรับ ยกเว้นเสาร์อาทิตย์ก่อนสอบ ที่คุณยายจะให้อ่านหนังสือ เพราะคุณยายก็เคยทำงานหลักสูตรที่คณะพยาบาลมาก่อน เขาไม่ยอมให้เราทิ้งเรื่องการเรียนอยู่แล้ว เขาก็รู้จักจัดการ ต่างคนก็ต่างเข้าใจกัน”
“คุณยายบอกว่าทวดเป็นคนหัวใหม่มาก หัวก้าวหน้า แล้วคุณยายก็ไม่ได้คาดหวังกับเราขนาดนั้น แค่คาดหวังว่าอย่างน้อยเราได้เป็นผู้สืบทอดโนราก็พอ รำโนราเป็น เป็นท่ารำในแบบของสายตระกูลโนราของเรา อย่างน้อยเราก็ได้เป็นผู้สานต่อ ทวดก็คงดีใจแล้ว เพราะยุคของทวด โนราผู้หญิงไม่ค่อยได้รับการยอมรับ เดินเฉียดโรงก็ยังไม่ได้เลย หนูมาอยู่ตรงนี้ได้ ก็ถือว่าทวดคงสบายใจและดีใจแล้ว” เอเชียบอก
คน 2 วัยแต่หัวใจเดียวกัน
เมื่อถามเอเชียและเปียโนว่าคุณยายดุไหม ทั้งสองคนหัวเราะเสียงดัง ก่อนมองหน้ากันเลิ่กลั่ก จนเราก็อดหัวเราะไปกับน้อง ๆ ไม่ได้ เปียโนบอกว่าปกติคุณยายก็ใจดี แต่ถ้าเป็นเรื่องโนราเมื่อไ ร ก็จะเป็นอีกคนไปเลย แล้วหลาน ๆ เองก็รู้ตัวว่าดื้อบ้างเป็นบางครั้งบางคราว จึงเข้าใจเวลาที่โดนดุ
“เราสนิทกันมากค่ะ แต่เราทำงานสายวัฒนธรรม พอถึงเวลาที่ทำงาน คุณยายจะเปลี่ยนไปเป็นอีกคนหนึ่งเลย โอโห เหมือนคนละคนเลยค่ะ ตอนก่อนนอนคุณยายเหมือนคนไม่ได้ทำงานด้านนี้เลย เหมือนคนธรรมดาทั่วไปที่เล่นกับหลาน มีความสุขมาก สนุก เราก็ตีกัน เล่นกัน มีถอดฟันปลอมมาหลอกหนูด้วย หนูร้องไห้เลยนะ แต่พอช่วงเวลาทำงาน หนูจะกลัวยายมาก เพราะเขาจะจริงจัง และเราก็ต้องทำตามที่เขาบอก” เอเชียเล่าเสริมน้อง
ด้านแม่แต้วก็ยอมรับว่าตัวเองเป็นคุณยายที่ดุ แต่ตัวเองก็มีหน้าที่ที่ต้องทำ และมีมรดกของสายตระกูลที่ต้องดูแลและส่งต่อ แม่แต้วจึงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะปลุกปั้นให้หลานสาวทั้ง 2 คน สามารถยืนอยู่ในวงการโนรานี้ได้
“เขาจะรู้ว่าถ้าพูดเรื่องโนรา จะเล่นไม่ได้นะลูก แต่ว่าช่วงที่ไม่ได้รำโนรา ก็จะตีลังกาเล่นกันบนเตียง คุณยายฟันไม่ปกติ ก็จะถอดออกมาหลอกเขาบ้าง คือเรารู้ว่าเขาแบกอะไรไว้เยอะ ตั้งแต่หลานเริ่มรำ แม่แต้วก็ดัดมือ เอาหนังสือของพ่อมาวางบนอก เอาเครื่องโนรามาใส่ให้เขา แล้วก็ถ่ายรูปไว้ตั้งแต่เขา 5 – 6 เดือน”
“เขาเป็นเด็กที่น่าสงสาร เขามียายที่แย่แบบนี้ แต่แม่แต้วก็บอกว่าให้จำแม่ขาเอาไว้นะลูก หนูอาจจะเหนื่อย แม่ขาไม่ใช่ไม่รู้ แม่รู้ว่าหนูเหนื่อย แต่หนูเชื่อแม่ขานะว่าโนราผู้หญิงที่ถูกกดดัน บอกว่าทำได้แค่นี้แหละ พอจะทำอันนี้ ผู้ชายก็บอกว่าไม่ได้ สักวันหนึ่งเราจะเปิดช่องว่างให้โนราผู้หญิงได้สำเร็จ” แม่แต้วกล่าว
ชีวิตหลังม่านโนรา
ยายหลานทั้ง 3 คนสนิทสนมกันมากเมื่ออยู่หลังม่านโนรา เอเชียและเปียโนเรียกคุณยายว่า “แม่ขา” แต่แน่นอนว่าด้วยช่วงวัยที่ต่างกันมาก ก็ทำให้ยายหลานต้องเรียนรู้ที่จะปรับจูนเข้าหากัน เพื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข
“หนูเรียกความสัมพันธ์ของพวกเราว่า “หนึ่งเดียว” เราอยู่ด้วยกันมาตั้งแต่เด็ก มีอะไรเราก็คุยกัน มันคือการใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว เพราะเราอยู่ด้วยกันมานาน” เอเชียระบุ
เมื่อถามว่านอกจากโนรา เอเชียและเปียโนจะโดนดุเรื่องอะไรอีกบ้าง ทั้งสองเงียบไป จนกระทั่งเรายกตัวอย่างเรื่องการใช้โทรศัพท์ จึงได้รับเสียง “โอโห” เสียงดัง “อันนี้เป็นประจำ” เปียโนสะท้อน
“ด้วยความที่คุณยายทำงานพยาบาลมาก่อน เขาก็จะเคร่งครัด หนูเคยไปถามเพื่อน ๆ ว่ากิจวัตรประจำวันของเพื่อนต่างจากเราไหม เพราะของเราคือสามทุ่มก็ต้องเก็บโทรศัพท์นอนแล้ว เพื่อนก็บอกว่าไม่นะ แต่เราก็เข้าใจนะว่าเราทำงานวัฒนธรรม เราต้องแบ่งเวลาอยู่ตลอด แต่ถามว่าเราเก็บจริงไหม ก็ไม่เชิง” เอเชียเล่า
“ยังเห็นแอบเล่นใต้ผ้าห่มอยู่เลย” เปียโนเย้า
“หลานเป็นเหมือนเด็กที่ถูกกดค่ะ เพราะกดดันจากคุณยายส่วนหนึ่ง จะนอกกรอบก็ไม่ได้ จะทำตัวอะไร จะวิ่งเล่น จะยกขา ฉีกขา คือไม่ได้เลย คุณยายก็รู้นะว่าตัวเองกดดันคุณหลาน เพราะเราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างมันเข้มงวด แต่หลาน ๆ เป็นเด็กที่เกิดในยุคนี้ มีโซเชียลมีเดียเข้ามา แล้วจะทำยังไงให้มันอยู่ตรงกลาง บางครั้งเราก็บอกให้เขาไปเล่นเกม” แม่แต้วเสริม
สองหลานสาวบอกเราว่า พวกเธอใช้ชีวิตร่วมกับคุณยายมานาน แม้ช่วงวัยจะห่างกัน แต่ทั้ง 3 คนก็มีการพูดคุยและทำความเข้าใจกันและกันอยู่เสมอ แม้จะมีบางโมเมนต์ที่ผิดใจหรือมีความเห็นไม่ตรงกันบ้าง อย่างเปียโนขอไปดูหนังกับเพื่อน ๆ ช่วงงานปัจฉิมนิเทศน์ หรือการเต้นลง TikTok หรือถ่ายรูปลงโซเชียลของเอเชีย ที่คุณยายก็งง ๆ แต่บอกว่าเข้าใจ เพราะหากวัยรุ่นที่ต้องเนี้ยบตลอดเวลา ก็คงไม่ใช่ชีวิตของหลาน เช่นเดียวกับเอเชียและเปียโนที่มองเห็นตลอดว่าคุณยายพยายามจะทำความเข้าใจเด็กวัยรุ่นอย่างพวกเธอ
“เราอยู่กับยายมานานมาก ก็เป็นอีกเหตุผลที่เราสนิทกับยาย และรักยายมาก เราเหมือนปาท่องโก๋ตัวติดกันเลย แต่มันคนละรุ่น แล้วเราก็อายุห่างกันมาก การที่เราจะมานั่งคุยกัน บางเรื่องมันก็มีติดขัดไม่เข้าใจกันบ้าง แต่หนูก็สังเกตนะว่าคุณยายพยายามจะเข้าใจ พยายามเข้าถึงยุคของหนู แต่ยังไงคุณยายก็มีรุ่นของเขา แล้วตอนนี้คุณยายจะมีเฟสบุ๊ก (เปียโนแทรกเข้ามาว่าเล่นเก่งกว่าน้องอีก) หรือหนูมี TikTok ก็เคยชวนยายมาเล่น ปรากฏคุณยายดันไปเจอปรมาจารย์ลัทธิมาร สรุปก็คือติดซีรีส์งอมแงม คุณยายชอบหวังอี้ป๋อมาก ซึ่งนั่นทำให้หนูรู้ว่าคุณยายพยายามที่จะเข้าถึงพวกเราอยู่” เอเชียเล่า
แม่แต้วบอกกับเราว่าถ้าเห็นหวังอี้ป๋อเมื่อไรก็จะกดหัวใจให้ทุกครั้งเลย
ความในใจของยายหลาน
“มีบางเรื่องที่เราเห็นไม่ตรงกัน เพราะเราคนละเจน แต่หนูอยากบอกว่าหนูเข้าใจ คุณยายเกิดมาในยุคที่คุณยายอาจจะทันสมัยในยุคของคุณยาย ส่วนเราก็เกิดมาในยุคที่ทันสมัยของเรา ถามว่ามันยากไหมที่ต้องการนั่งคุยกัน แล้วก็ปรับความเข้าใจให้อยู่ในจุดเดียวกัน มันยากค่ะ มันต้องใช้เวลา แต่เราก็อยากจะหาวิธีที่คุยกันแล้ว เข้าใจกันมากขึ้น ตอนนี้ก็เข้าใจคุณยายนะคะ แม้จะมีบางเรื่องที่ยังขัดแย้งกันอยู่ คือเราอยู่กับคุณยายมานาน จนกลายเป็นชอบอะไรคล้าย ๆ คุณยายไปแล้ว” เอเชียฝาก
ด้านเปียโนก็ฝากมาสั้น ๆ บอกว่าเรื่องโทรศัพท์นี่แหละ เพราะยายชอบมองว่าการใช้โทรศัพท์เป็นการเสพ การใช้โทรศัพท์ไม่ดี ก็อยากให้คุณยายเข้าใจมากกว่านี้ แต่บางทีเปียโนก็โทษตัวเองนะว่าเล่นมากไปจริง ๆ
“โลกมันเปลี่ยน วัฒนธรรมก็เปลี่ยน ผู้ที่พัฒนาโนราคือทวดของเขา ในตอนนั้นทวดเขาก็ถูกว่า ถูกด่า ถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั่วไปหมด แต่แม่แต้วเชื่อว่าหลาน ๆ จะช่วยสืบต่องานโนราได้ ไม่จำเป็นต้องรักษาขนบจนดิ้นรนไม่ได้ จนตัวเองอึดอัด แล้วหลานก็เป็นผู้หญิง ก็ต้องมีครอบครัว ก็อยากให้เขาทำแต่พอดี” แม่แต้วกล่าวปิดท้าย