โปรดอย่าถามว่าฉันเป็นใคร มีอะไรเป็นของตัวเองหรือยัง? ยังไม่ออกดอกออกผล ใช่ว่าจะหยุดเติบโต อ่านเรื่องว้าวุ่นของวัยรุ่นปวดหลัง กับความสำเร็จ(รูป)ที่ชวนปวดหัว  

รถ บ้าน งาน คอนโด เงินเดือน แฟน ไปจนถึงชีวิตที่สงบสุข 

อายุเท่านี้มีอะไรเป็นของตัวเองแล้วบ้าง?

ทำงานที่ไหน ตำแหน่งอะไร การเงินเป็นยังไง มีแฟนหรือยัง แต่งงานปีไหน ? คำถามในทำนองถามไถ่สารทุกข์สุกดิบจากบรรดาญาติมิตร เพื่อนๆ ไปจนถึงป้าลุงข้างบ้านที่วัยรุ่นปวดหลังทั้งหลายคุ้นชิน แน่นอนว่าคำถามเหล่านี้อาจมาพร้อมกับความห่วงใยรวมถึงความเคยชินโดยปกติทั่วไป แต่ในทางหนึ่งมันก็สะท้อนวิธีการมอง “คุณค่า” ในตัวคนเราของสังคมที่หล่อหลอมให้เราถามไถ่กันถึงแต่เรื่องของ “ความสำเร็จ” เพื่อประเมินความเป็นมาเป็นไปหรือการ “เติบโต” ของแต่ละคน จนบางครั้งดูเหมือนว่าการเติบโตขึ้นนั้นสัมพันธ์อยู่กับเงินทองในบัญชี รถที่ขับ เสื้อผ้าที่ใส่ ไปจนถึงหน้าที่การงานที่มั่นคง ดังที่ Devon Price, Ph.d. นักจิตวิทยาสังคม กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ในตอนหนึ่งของ Laziness Does Not Exist หนังสือที่ศึกษารากฐานทางจิตวิทยาของความขี้เกียจอย่างหลากด้านว่าการยึดติดอยู่ในกรอบว่าด้วยความสำเร็จของสังคมสามารถกลายมาเป็นตัววัดคุณค่าของคนเราได้อย่างแนบเนียน เมื่อเรายึดติดอยู่กับกรอบความคิดว่าด้วยความสำเร็จมากเท่าไหร่ คนเราก็ยิ่งจะจัดลำดับ วัดคุณค่า ตัดสินทุกๆ อย่างที่เราทำมากขึ้นเท่านั้น  

ภายใต้เงื่อนไขเศรษฐกิจสังคมและลึกลงไปกว่านั้นคือความซับซ้อนของชีวิตคนเราซึ่งแตกต่างกันออกไป  เราอาจไม่สามารถประเมินชีวิตของใครได้อย่างหมดจดจากหน้าที่การงาน เงินเดือน หรือวิถีชีวิตแบบที่พวกเขาเลือกเดิน โดยเฉพาะในวัยตั้งต้นค้นหาคำตอบบางอย่างจากโลกการทำงาน ยิ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาจะต้องเผชิญเงื่อนไขมากมาย ทั้งการเปลี่ยนแปลงบทบาทชีวิตจากวัยที่ผ่านพ้นมา การปะทะกับความคาดหวังของคนรอบข้างรวมถึงสังคม สำหรับหลายคนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย 

ชวนอ่าน 3 แง่มุมจากชาววัยรุ่นปวดหลัง ทั้งที่จบมาหมาดใหม่และทำงานมาได้สักระยะ 

  • พวกเขารู้สึกอย่างไรกับชีวิตในวัยทำงาน
  • และรู้สึกอย่างไรกับคำถามในทำนองที่ว่า “อายุ 2x มีอะไรเป็นของตัวเองแล้วบ้าง” 

1

ต้นกล้า  (นามสมมติ) อายุ 27 อาชีพล่ามภาษาญี่ปุ่น

มีอีโค่คาร์หนึ่งคันเป็นของตัวเอง

เราทำงานมาสามปีแล้วแต่ยังอยู่ที่เดิมที่เดียวมาตลอด รู้สึกเบื่อและเหนื่อยกับภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น แต่เงินเดือนไม่ได้เพิ่มตามในอัตราส่วนที่เท่ากัน สาเหตุที่ทำอยู่ที่เดิมมาตลอดเพราะตอนที่เริ่มทำงานเราค่อนข้างได้เงินเดือนเยอะเมื่อเทียบกับเพื่อนที่จบพร้อมกัน แต่ผ่านมาสามปี เงินเดือนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากจากตอนสตาร์ตจนเพื่อนหลายคนแซงไปแล้ว ก็เลยเริ่มทำเรซูเม่ มีไปสัมภาษณ์งานใหม่ด้วย แต่สุดท้ายก็ปฏิเสธไปเพราะคำนวนหลายอย่างแล้วอยู่ที่เดิมน่าจะดีกว่า ตอนนี้เหมือนทำงานไปพลางหางานใหม่ไปพลางแบบแกล้ง ๆ จะลาออกไปเลยก็ไม่ได้เพราะเพิ่งมีภาระชิ้นใหม่เพิ่มเข้ามาในชีวิตซึ่งก็คือรถยนต์หนึ่งคัน

วัยนี้สำหรับเราเคว้งหลายเรื่องมาก แม้เวลาส่วนใหญ่จะถูกใช้ไปกับการทำงานแต่เรากลับไม่ค่อยเคว้งเรื่องงานนอกเวลางานเท่าไหร่ เรื่องที่ทำงานจบในที่ทำงาน ส่วนเรื่องนอกเหนือจากงานก็มีแบ่งไปเคว้งในเวลางานบ้าง (หัวเราะ) ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ ครอบครัว กับเงินที่มี ทำให้อดคิดไม่ได้หลายอย่าง ในตอนที่อยากพักสมองไม่ต้องหาคำตอบให้ใครหรือสิ่งใด เราก็จะพยายาม distract ตัวเองออกจากสิ่งเหล่านั้นด้วยการฟังเพลงของศิลปินที่ชอบ ฟังยูทูปช่องที่ชอบ เล่นเกม ไปยิม ขับรถเล่น ล้างห้องน้ำ ก็หาไรทำก๊อก ๆ แก๊ก ๆ ไปเพื่อปลดตัวเองจากอะไรก็ตามชั่วคราวเพื่อจะได้มีแรงวิ่งหนีออกจากความรู้สึกที่ตัวเองไม่ชอบต่อไปได้เรื่อย ๆ

เราชอบอ่านพันทิปเจอกระทู้ประเภทอายุเท่านี้เงินเดือนเท่านี้ หรือวางแผนเกษียณก่อนวัยหรืออะไรก็ตามที่ทำให้คิดว่า แบบนี้แก่ไปมีหวังลำบากแน่ถ้ายังทำไม่ได้เหมือนคนอื่น หุ้นก็เล่นไม่เป็น ลงทุนก็ทำไม่เป็น ฮาร์ดสกิลก็ไม่มีอะไรเลย ทำไมคนในวัยเดียวกันเก่งจังมีนู่นนี่นั่นแล้ว มีครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่อบอุ่นดูเพียบพร้อมในขณะที่เรามีภาระก้อนใหญ่คือมรดกหนี้จากที่บ้าน (≈1.2ล้าน) กับรถยนต์ที่ตัดสินใจออกเองเมื่อไม่นานมานี้ ก็เลยเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อยากหางานใหม่เพื่ออัพเงินเดือน จะได้มีเงินเผื่อใช้จ่ายซื้อความสุขให้ตัวเองเล็ก ๆ น้อย ๆ ระหว่างใช้ชีวิตวัยทำงานไปพลาง ๆ จนกว่าจะหาจุดลงตัวในหลาย ๆ เรื่องของตัวเองได้

2

พลอย (นามสมมติ) นิสิตจบใหม่ อายุ 22 ปี  

มีค่าปรับหนังสือเป็นของตัวเอง

รู้สึกว่าการหางานที่ค่อนข้างท้าทายมันมีความยากคือการเปรียบเทียบสวัสดิการ เพราะว่าหลายที่มีสวัสดิการที่น่าพึงพอใจ มันก็เหมือนเป็นข้อบังคับที่เราต้องเลือกงาน เพราะทุกคนต้องใช้เงินและมีงานทำเพื่อหารายได้ มันเลยเป็นความกังวลว่าทำไมเราต้องพยายามเอาตัวเองเข้าไปทำงานในสถานที่ที่เราได้สวัสดิการที่ไม่ดีเพื่อให้เราประทังชีวิตได้ แต่ในอีกมุมการมีงานก็ดีกว่าการที่ไม่มีงานเลย เพราะว่าการไม่มีงาน (ไม่มีรายได้จากทางไหนเลย) มันเป็นความไม่แน่นอนอย่างหนึ่งด้วย 

คำถามที่ว่า “อายุเท่านี้มีอะไรเป็นของตัวเองแล้วบ้าง” เป็นคำถามที่เราไม่ค่อยได้เจอกับตัวเท่าไหร่ แต่มันเหมือนเป็นคำถามที่พอเราได้รับรู้แล้ว เราต้องพยามกดดันตัวเองว่าเรา ‘ควร’ มีอะไรบางอย่างเหมือนกับคนในวัยเดียวกันหรือคนในวัยไม่ต่างกันนัก ในตอนนี้เราคิดว่าเรามีเงินเก็บประมาณหนึ่งมีเงินสำหรับพอลงทุนบางอย่างแล้ว แต่เอาเข้าจริงก็คิดว่ายังไม่พออยู่ดี เพราะในอนาคตก็เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและคาดการณ์ไม่ได้เลย ความไม่แน่นอนนี่แหละคือความแน่นอน เราคิดว่าเงินเก็บและสิ่งของที่เราเก็บไว้บางอย่างมันค่อนข้างสำคัญนะ เพื่อที่จะวางแผนอนาคตต่อไป เพื่อที่จะสร้างความมั่นคงแล้วก็ตอบสนองต่อเป้าหมายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตและแผนที่อยากที่จะทำต่อในปัจจุบัน

ทั้งนี้จากคำถามเรามีความเห็นว่า การที่จะมีอะไรสักอย่างหนึ่งหรือความรู้สึกว่าต้องมีอะไรสักอย่างตามค่านิยมเราคิดว่ามันไม่จำเป็น เพราะแต่ละคนมีความต้องการ มีรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน บางคนมีรถตั้งแต่อายุ 20 ในขณะที่หลายคนที่อายุ 20 ไม่มีรถก็ไม่ได้แปลว่าคนอายุ 20 ที่ไม่มีรถเป็นคนล้มเหลว เราว่าไม่ควรที่จะเอาเรื่องของอายุมาตัดสินกัน  

3

พีพี (นามสมมติ) อายุ 24 ปี อาชีพ ผู้สื่อข่าว 

มีเครื่องฟอกอากาศเป็นของตัวเอง

ย้อนไปตั้งแต่เด็ก เราเป็นคนที่โตมากับขนบ ด้วยความที่เราเป็น LGBTQ+ เราก็จะอยู่ในค่านิยมที่ว่าจะต้องเรียนให้เลิศ จริงๆ เรารู้สึกว่าเขาก็ไม่ได้ถึงขนาดบังคับให้เราต้องกดดันตัวเองนะ คือเราก็ยอมรับเอาความคิดนี้มา เพราะเราอยากมีชีวิตที่ดี เราเป็นลูกชาวบ้านอยู่ต่างจังหวัด เราก็อยากไต่เต้า ขวนขวายผ่านการศึกษา เรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ แต่ประเด็นที่มันขาดหายไปคือ ‘ตัวตนของเรา’ มันหายไประหว่างทางด้วยระบบการศึกษาไทย ก็คือเราไม่รู้ว่าอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร เราเป็นคนที่ไม่มีความฝัน เรียนจบมาจนวันสุดท้ายที่ส่งธีสิสก็ยังไม่รู้เลยว่าเราจะไปทำมาหากินอะไร รู้สึกว่าฉันแค่เรียนดีมาตลอดทำงานปัง ทุกอย่างคะแนนเต็ม ได้เกียรตินิยม ได้ใบปริญญามาแล้วจะยังไงต่อวะ สุดท้ายมันก็เจอวิกฤติจากช่วงการเปลี่ยนผ่านจากวัยเรียนมาวัยทำงาน รู้สึกหลงทาง รู้สึกสับสน มืดแปดด้าน ครอบครัวก็ถามว่าจะทำอะไร จะทำงานหรือยัง หางานได้หรือยัง เราก็ ‘อึ้งงงงง’ (เน้นเสียง) คือเรียนจบมายังไม่ทันได้พักเลย ต้องหาแล้ว ชีวิตจะต้องรันต่อ 

ทีนี้เราก็พยายามทำทุกโอกาสที่เข้ามาคือเราเป็นฟรีแลนซ์เขียนบทความตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ กลายเป็นว่ามีโอกาสหนึ่งเข้ามาจากการแนะนำของรุ่นพี่ก็คืองานข่าว พอเริ่มงานแรก เครียดมาก ร้องไห้ต่อกันเจ็ดวัน จำความรู้สึกได้เลยว่าโทรหาเพื่อนแล้วบอกเพื่อนว่า ‘มึงหรือกูไม่ไหววะ หรือกุยอมดีวะ’  เรารู้สึกว่าโลกการทำงานมันไม่มีพื้นที่ให้ผิดพลาดเลยอะ ไม่เหมือนตอนเรียนที่เรารู้สึกว่าเราลองผิดลองถูกได้ ทำผิดก็โดนหักคะแนน เขียนไม่เลิศก็คะแนนไม่ดี แต่คือชีวิตการทำงานทำให้รู้สึกว่าถ้าเราผิดพลาดคือเราต้องรับผิดชอบงานของเราที่มันจะไปกระทบคนอื่น 

คำถามที่ถามตัวเองในงานแรกคือการตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ฉันเป็นคนที่ไม่เก่งหรือเปล่า” คือจากที่เราเป็นคนมั่นมาโดยตลอด เราประสบความสำเร็จ คะแนนดีมาตลอด เราคิดว่าเราเป็นตัวแม่ ‘ก็มาดิ’ พอมาทำงานจริงเรารู้สึกว่าเราตัวเล็กในองค์กรมาก เราตัวลีบ เราไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าลองทำ เราไม่ค่อยมีปากมีเสียง มันเกิดคำถามว่าเราทำหน้าที่ของตัวเองดีหรือยัง ทำไปเรื่อยก็มาถึงจุดที่ถามว่าเราเหมาะกับเส้นทางนี้อยู่ไหม 

พอเปลี่ยนงานมันเริ่มรู้สึกเหมือนมั่นคงขึ้น เข้าที่เข้าทางมากขึ้น แต่โจทย์กลายเป็นโจทย์ใหม่ คือเราไม่ได้หลงทางในแบบที่เรารู้สึกตอนจบใหม่ๆ แล้ว มันกลายเป็นรู้สึกว่าสิ่งที่ทำคืองาน คือหน้าที่ไปแล้ว แม้ว่าจะได้คำตอบหรือเปล่าว่าชอบมันไหม งานหลักเป็นสิ่งที่ไม่ได้ชอบมากก็ได้ แต่เส้นคือ “แค่ทนกับมันได้หรือเปล่า” ถ้ายังทนกับมันได้ก็ทำต่อไปได้ ส่วนสิ่งที่ชอบเราก็ทำเสริมไป เช่น การเขียนบทความ 

ส่วนแนวคิดเรื่องความมั่นคงในวัยนี้ เราเองไม่มีแพลนที่จะมีบ้าน มีรถ มีคอนโด หรือหนี้เป็นก้อน ไม่ได้มองว่าจะต้องได้เงินเดือนมากๆ ในอายุเท่านี้ จำได้เลยว่าวันนั้นนั่งอ่านสกู๊ปประมาณว่าคนรุ่นใหม่เขาไม่นิยมซื้อบ้านกันแล้ว เราก็มองหน้ากับเพื่อน แล้วพูดว่า ‘ก็จริง’ เมื่อวานฉันเพิ่งสั่งกระเป๋าแบรนด์เนมซึ่งกินเงินเดือนเราเป็นครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ ทำไมฉันต้องซีเรียสกับความมั่นคงขนาดนั้น ทั้งที่ฉันอยากเอนจอยกับโมเมนต์ อยากใช้ชีวิตในช่วงนี้ให้เต็มที่ เพราะถ้าแก่กว่านี้อาจกินเที่ยวไม่สนุกแบบนี้ด้วยซ้ำ 

ส่วนประโยคคำถามที่ว่า “อายุเท่านี้มีอะไรเป็นของตัวเองแล้วบ้าง”  ประโยคนี้ใช้ไม่ได้กับทุกคน เรามีปัจจัยและชีวิตไม่เหมือนกัน บางคนประสบความสำเร็จในอายุที่น้อยมาก เขาอาจมีแรงผลัก มีทุนทางวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ มันไม่มีทางเหมือนกัน การศึกษาไม่เหมือนกัน การซับพอร์ตลูกไม่เหมือนกัน มันไม่สามารถประสบความสำเร็จแบบเดียวกันได้อยู่แล้ว ถามว่าทุกวันนี้เรามีอะไร ก็ไม่ได้มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เป็นชิ้นใหญ่ชิ้นโต เพราะตอนนี้ก็เช่าห้องพักอยู่ ยังโน่นนี่อยู่ เราไม่ได้มองว่ามันมีความสำคัญมากที่จะต้องมีอะไรเหมือนใครในเวลานี้ 

 

การตัดสินใจเปลี่ยนงาน การดีลกับเงื่อนไขของงานที่ไม่ได้ชอบ
การพยายามเก็บเงิน การดูแลครอบครัว 
การนั่งใส่ใจตั้งคำถามแล้วมองหาคำตอบให้กับตัวเองว่า
เราอยากจะทำงานอะไรจริงๆ กันแน่   

ฟังเรื่องราวของวัยรุ่นสร้างตัวทั้งสามคนแล้วก็ได้เห็นแง่มุมต่อชีวิตในวันวัยนี้ที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกันออกไป อีกทั้งยังเห็นได้ว่าการเดินทางของแต่ละคนเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขสังคม รวมถึงชีวิต ตัวตน และแนวคิดต่อคำว่า ‘ความสำเร็จ’ ที่แตกต่างกัน และพวกเขาก็ต่างกำลังเติบโตในแบบของตัวเองผ่านการก้าวผ่านโจทย์ในช่วงชีวิตนี้ที่ไม่ได้ง่ายเลย ทั้งต้องผ่านการร้องไห้นับครั้งไม่ถ้วน ต้องผ่านวังวนของความกังวลใจหลายต่อหลายครั้ง ผ่านความเคว้งคว้างว่างเปล่า ผ่านเศรษฐกิจการเมืองที่ไม่มั่นคงพอจะให้หายห่วง ผ่านโลกสวัสดิการที่อ่อนแอ และอีกมากมายที่วัยรุ่นปวดหลังจะต้องปะทะสังสรรค์-ต่อรองกับเงื่อนไขเหล่านี้เพื่อหาช่องทางเติบโตต่อไป การก้าวแต่ละสเต็ปของตัวเอง การยืนอยู่ที่เดิมได้ในแต่ละวัน หรือแม้แต่การถอยหลังกลับไปตั้งหลักใหม่ ล้วนใช้พลังงานชีวิตและความมุ่งมั่นไม่น้อย ถ้าหากว่าฤดูกาลออกดอกออกผลจะเดินทางมายังไม่ถึงก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

อ้างอิง 

Devon Price.(2565).ผ่อนชีวิต บิดขี้เกียจ[Laziness Does Not Exist](พิมพ์ครั้งที่ 1)(พรรษรัตน์ พลสุวรรณา, ผู้แปล).กรุงเทพฯ: broccoli, (ต้นฉบับพิมพ์ ค.ศ. 2021)  


Writer

Avatar photo

ศิรินญา

หาทำอะไรไปเรื่อยๆ ตามประสาวัยลุ้น

Illustrator

Avatar photo

สิริกร พรอนงค์

ดีไซน์เนอร์, นักวาด และอาร์ตไดมือใหม่ที่ชอบไปทะเล

Related Posts