- เปิดตัวปัญญาประดิษฐ์ (Ai) Midjourney กับความสามารถในการเปลี่ยนข้อความให้กลายเป็นภาพศิลป์
- ทักษะและการเรียนรู้เกิดขึ้นได้แม้นอกห้องเรียน สื่อการสอนที่ดีที่สุดจึงไม่ใช่แค่หนังสือ แต่คือจากประสบการณ์ผ่านสายตาและสองมือ
- เทคโนโลยีช่วยปลดปล่อยความสร้างสรรค์ เมื่อขอบเขตจินตนาการก้าวไปไกลกว่าที่เคย
เพราะการเรียนรู้เกิดขึ้นได้แม้นอกห้องเรียน
ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาคงไม่มีอะไรเป็นไวรัลมากเท่าเจ้า AI สายอาร์ท พัฒนาโดย เดวิด โฮลซ์ เจ้าของและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทซอฟต์แวร์ Leap Motion เจ้า AI ตัวนี้ถูกมองว่า น่าจะเข้ามาสร้างหมุดหมายใหม่ให้กับสายงานภาพประกอบ ใช้ได้ง่าย ๆ เพียงป้อนคีย์เวิร์ดเข้าในกลุ่ม Discord ของ Midjourney (ต้องสมัครเป็นสมาชิกก่อนนะ) จากนั้นภาพอาร์ตหลากแนว ปรับเลือกสไตล์ได้ตามชอบ จะแสดงผลให้เอาไปใช้งานต่อ
ชาว #Mappians เลยนึกสนุก ลองป้อนคีย์เวิร์ดเกี่ยวกับเรื่องการเรียนรู้ของเด็ก ๆ วัยพรีทีน 9 -12 ปี ให้เจ้า AI ลองโชว์ฝีมือ เพราะเราเชื่อสุดใจว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ ไม่ใช่แค่ในห้องเรียน และการที่เด็กจะเติบโตงอกงามขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่รักในการเรียนรู้ แค่อ่านหนังสือเรียนอย่างเดียวไม่พอ
แต่อาจต้องลองให้มือเปื้อนดิน ตัวคลุกฝุ่น หรือพาไปเจออะไรใหม่ ๆ ที่ช่วยต่อยอดความสร้างสรรค์ให้หยั่งราก
Keywords: Kids visit museum with family
ประวัติศาสตร์ไม่จำเป็นต้องเรียนผ่านหนังสือแต่ต้องเปิดใจและใช้สองตาดู
พูดถึงการเรียนประวัติศาสตร์ หลายคนอาจเบือนหน้าหนี เพราะเป็นวิชาที่เน้นหนักไปกับการท่องจำ ทั้งชื่อคน เหตุการณ์ และไทม์ไลน์เวลาที่ยิ่งย้อนเวลากลับไปนานเท่าไหร่ ยิ่งไม่เชื่อมโยงกับปัจจุบัน แล้วฉันจะเรียนไปทำไม?
แต่การเรียนประวัติศาสตร์จำเป็นต้องเน้นแต่การท่องจำที่ชวนให้หลับเท่านั้นจริงหรือ?
ขอตอบเลยว่าไม่ ประวัติศาสตร์เป็นวิชาที่ทั้งพ่อแม่ลูกร่วมกันเรียนรู้ได้ แล้วจะมีอะไรดีไปกว่าการได้เห็นอดีตผ่านสายตาตัวเอง
ช่วงวันหยุด แทนที่จะเเดินเตร่ในห้างฯ พิพิธภัณฑ์ก็เป็นตัวเลือกที่ไม่เลวสำหรับครอบครัวเพื่อย้อนเวลาทำความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างอดีตและปัจจุบัน การเห็นด้วยตา สัมผัสด้วยประสบการณ์ อาจจะทำให้เข้าใจได้ง่ายกว่า ไม่ใช่ข้อความหลายย่อหน้าในหนังสือเรียน
Keywords: Kids learn about carpentry with family and friends
ความเข้าใจเกิดขึ้นได้จากการทำจริง
ในระบบการศึกษากระแสหลัก การเรียนรู้ภาคปฏิบัติที่ปล่อยให้เด็ก ๆ ได้สำรวจ ลองผิดลองถูกกับการทำงานฝีมือ อาจไม่ได้มีพื้นที่มากพอสำหรับลองใช้เครื่องมือที่หลากหลาย เท่าที่พอนึกออกคงจะเป็นการเย็บปักถักร้อยหรืองานศิลปะ
พ่อแม่อาจเข้ามาช่วยเสริมแรง ชวนเด็กๆ ออกแบบการใช้เวลาว่างร่วมกัน อย่างน้อยก็ได้ช่วยเค้าค้นหาว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร
ในภาพนี้ เด็ก ๆ กำลังทดลองทำงานไม้ – สกิลที่สังคมไทยไม่ได้ให้คุณค่าเท่าไหร่ แต่กลับสำคัญ เพราะเปิดกว้างให้เขาได้ลองหยิบจับเครื่องมือของผู้ใหญ่ (ภายใต้การดูแลของพ่อแม่) เพื่อออกแบบชิ้นงานตามจินตนาการ ผลงานที่ออกมาอาจไม่ได้สวยหรือใช้ได้จริง เลี่ยงไม่ได้ที่ลูก ๆ บางคนอาจไม่ชอบผลของการลงแรง พ่อแม่อาจใช้จังหวะนี้ ชื่นชมในความพยายาม ทำให้ลูกเห็นว่าผลลัพธ์หรือปลายทางสำคัญน้อยกว่า ค่อยๆ ปรับมายด์เซ็ทให้เด็ก ๆ รู้ว่า การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกและท้าทาย
Keywords: Kids learn about nature in the forest
วิชาธรรมชาติที่โรงเรียนไม่ได้สอน
การเดินป่า ส่องนก หรือเดินท่องอุทยานแห่งชาติ ดูเผิน ๆ เหมือนเป็นแค่เสี้ยวเดียวของการท่องเที่ยวช่วงวันว่าง แต่ถ้ามองให้ลึก นี่เป็นโอกาสเหมาะในการสอนวิชาสำคัญที่โรงเรียนอาจไม่ได้สอน นั่นคือทักษะในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ
ในโลกที่ความเป็นเมืองขยายออกไปแทบสุดสายตา ธรรมชาติคือพื้นที่สุดท้ายที่สอนเราว่ามนุษย์มีจุดเริ่มต้นมาจากไหน ในห้องเรียนที่แวดล้อมด้วยสีเขียวของต้นไม้ ความรู้ที่เด็ก ๆ ได้ไปอาจไม่ได้ช่วยให้เขาสามารถแก้สมการคณิตศาสตร์หรือทำความเข้าใจคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ซับซ้อน แต่จะเป็นบทเรียนที่สอนเขาว่า ธรรมชาติผูกพันกับมนุษย์อย่างไร สำคัญกับเราแค่ไหน
และถ้าขาดธรรมชาติไป เราจะต้องสูญเสียอะไรไปบ้าง
Keyword: Kids do charity work with family
ความเห็นอกเห็นใจคือวิชาที่สอนไม่ได้ในห้องเรียนแต่ต้องลงมือทำ
ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) เป็นเลนส์ในการมองโลกที่ช่วยให้เรายอมรับความหลากหลายของกันและกัน การจะสอนให้เด็ก ๆ เข้าใจและมองเห็นแง่งามในตัวผู้อื่นได้ ห้องเรียนอาจสอนไม่ได้ทั้งหมด แต่อาจต้องอาศัยการเปิดใจและก้าวออกไปข้างนอกเพื่อเห็นโลกในองศาใหม่ด้วยกัน
อาจเริ่มด้วยการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือคนที่มีโอกาสน้อยกว่า อาจเป็นการพาเด็ก ๆ ไปเรียนรู้ชีวิตอีกรูปแบบที่นอกเหนือความเข้าใจอย่างชีวิตของคนเร่ร่อน หรืออาจเป็นการยกกันไปทั้งครอบครัว เพื่อฟังเสวนาสาธารณะที่สะท้อนปัญหาในสังคม
วิชานี้ไม่มีวิธีการเรียนรู้ที่ตายตัว อาศัยแค่การเปิดใจกว้าง ๆ เพื่อฟังเสียงคนอื่นอย่างตั้งใจก็พอ