“ทำงานเหมือนไม่มีลูก – เลี้ยงลูกเหมือนไม่ต้องทำงาน – ดูแลตัวเองเหมือนไม่ได้มีลูกและไม่ต้องทำงาน” สมการลับของแม่มหัศจรรย์ 2025  เมื่อเราถูกโปรแกรมให้เป็น Wonder Woman แต่จักรวาลดันลืมให้ Super Power

จากชุดบทความ : เลี้ยงลูก 2025 ในสังคมที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อพ่อแม่ ตอนที่ 1/5 

คุณเคยเห็นนักมายากลที่พยายามหมุนจาน 3 ใบพร้อมกันไหม?

จานใบแรกหมุนได้สวย จานใบที่สองเริ่มโซเซ พอไปหมุนจานใบที่สาม จานใบแรกก็ร่วงกระแทกพื้น

ยินดีต้อนรับสู่ชีวิตของแม่ยุคใหม่  ที่เราถูกคาดหวังให้หมุนจานพร้อมกัน 3 ใบ โดยที่ทุกใบต้องหมุนได้อย่างสมบูรณ์แบบ

“ผู้หญิงยุคนี้ต้อง ทำงานเหมือนไม่มีลูก เลี้ยงลูกเหมือนไม่ต้องทำงาน
ดูแลตัวเองเหมือนไม่ได้มีลูกและไม่ได้ทำงาน”

เพราะอะไร ประโยคนี้มี retweet กว่า 50,000 ครั้งใน 24 ชั่วโมง

เพราะมันเหมือนมีใครมาอ่านใจคนเป็นแม่ออก มาเปิดโปงความลับที่คนเป็นแม่ส่วนใหญ่ในสังคม รู้สึกทุกวัน แต่ยุ่งจนเกินกว่าจะมีเวลาพูดออกมา

แม่: ซูเปอร์ฮีโร่ที่ไม่มีวันหยุด

ลองนึกภาพตาม ถ้า Wonder Woman ต้องมาใช้ชีวิตจริงในปี 2025 

ตอนเช้าเธอต้องส่งลูกไปโรงเรียน (แต่ห้ามบินได้ เพราะจะดูแปลก) เข้าประชุมกับชาว Justice League ผ่าน Zoom (พร้อมกับปิดกล้องเพราะยังใส่ชุดนอน) กลางวันต้องไปสู้กับวายร้าย (แต่ต้องจบก่อน 3 โมง เพราะต้องไปรับลูก) เย็นกลับมาทำอาหาร ช่วยลูกทำการบ้าน พอลูกนอน ต้องทำรายงานเพื่อส่งให้ Batman

ทำได้สองเรื่องละ คือทำงาน และเลี้ยงลูก

แต่แล้วเธอจะมีเวลาดูแลตัวเองตอนไหน? 

ระหว่างอาบน้ำก่อนเข้านอน บังเอิญไปไถฟีดเข้า 

โอ้โห! คุณแม่คนนั้นออกกำลังกายตอนห้าทุ่ม (ไม่รู้ออกตอนนั้นจริงๆ หรือเค้าพึ่งโพสต์ตอนนั้น)

ทันใดนั้นก็เริ่มเห็นว่าเราเริ่มจะเหี่ยวๆ ย้อยๆ ไม่ฟิตแอนด์เฟิร์มเหมือนเมื่อก่อน สงสัย ‘ต้อง’ ลุกขึ้นมาดูแลตัวเองอย่างจริงจัง เพราะชุดวันเดอร์ วูแมนนั่น ก็ช่างออกแบบมาอย่างเพอร์เฟกต์เสียเหลือเกิน

ต้องแทรกเวลาอีกสักครึ่งชั่วโมงต่อวัน เพื่อหาเวลาออกกำลังกาย นั่งสมาธิ 

แต่จะมีเวลาตอนไหนล่ะ

นี่แหละ ชีวิตจริง

คุณแม่ร้อย Tab: เมื่อความคิดคืองานที่มองไม่เห็น และกลายเป็นบราวเซอร์ที่กดปุ่ม x ไม่ได้

ลองจินตนาการ…

คุณกำลังดูละครเรื่องหนึ่ง ที่นางเอกต้องแสดงเป็น ตัวละคร 3 ตัวพร้อมกัน ในฉากเดียวกัน

ตัวแรก: CEO ที่เฉียบขาด ตัดสินใจเร็ว มั่นใจ 

ตัวที่สอง: แม่ที่อ่อนโยน อดทน ใส่ใจทุกรายละเอียด ไม่พลาดทุกความต้องการของคนในครอบครัว 

ตัวที่สาม: ผู้หญิงที่ต้องดูดี มีเวลาให้ตัวเอง ฟิตแอนด์เฟิร์ม

คุณคิดว่า  นักแสดงคนนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง?

คำตอบคือ ไม่รู้ว่านักแสดงคนนี้จะสวมบทบาทแบบนี้ได้นานแค่ไหน

แต่นี่คือสิ่งที่สังคมคาดหวังให้คนเป็นแม่ต้องทำทุกวัน

การวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัย Bath และ Melbourne พบว่าแม่รับผิดชอบงานทางความคิด (Mental Load)  ถึง 71% ของงานบ้านทั้งหมด

71%  ฟังดูเหมือนแค่ตัวเลข

แต่ถ้าเราแปลงเป็นภาพ มันคือการที่สมองของเราต้องเปิด tab พร้อมกัน

Tab 1: ตารางนัดหมอของลูก 3 เดือนข้างหน้า 

Tab 2: รายการซื้อของที่บ้าน (อย่าลืม 1!  กระดาษทิชชู่หมดแล้ว, อย่าลืม 2! ลูกฝากซื้อชอคโกแลต อย่าลืม 3,4,5,6,………….) 

Tab 3: โปรเจกต์งานที่ต้องส่งพรุ่งนี้ 

Tab 4: วันเกิดเพื่อนลูกอาทิตย์หน้า (ต้องซื้อของขวัญ) 

Tab 5: ค่าเทอมที่ต้องจ่ายภายในสิ้นเดือน 

Tab 6-100: และอีกมากมาย…

แล้วคุณรู้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อคอมพิวเตอร์เปิด tab มากเกินไป?

มัน… ค้าง

แต่ก็อีก วันเดอร์ วูแมน เครื่องค้างได้ที่ไหน 

Cognitive household Labor: งานที่ทุกคนได้ประโยชน์ แต่ไม่มีใครมองเห็น

Cognitive household labor คืองานทางความคิดในการจัดการบ้านและครอบครัว ซึ่งเป็นงานที่ซับซ้อนและไม่มีที่สิ้นสุด มันเหมือนกับการเป็น CEO ของครอบครัว ที่ต้องวางแผนกลยุทธ์ จัดการทรัพยากร ประสานงาน และควบคุมคุณภาพของ “องค์กร” ที่เรียกว่าบ้าน

งานนี้เริ่มตั้งแต่ตื่นนอนแล้วคิดว่าวันนี้ลูกจะใส่เสื้อผ้าตัวไหน 

อากาศหนาวต้องเพิ่มเสื้อกันหนาว

 ข้าวกล่องเมื่อวานเหลือครึ่งนึงทำไมลูกกินไม่หมดนะ 

ลูกมีกิจกรรมพิเศษต้องเตรียมอุปกรณ์ 

สามีมีนัดประชุมสำคัญต้องเตรียมเสื้อเชิ้ตให้ 

ข้าวสารเหลือน้อยต้องซื้อเพิ่ม 

วัคซีนลูกครบกำหนดต้องนัดหมอ

เอ๊ะ จ่ายค่าน้ำหรือยังนะ

มันคืองานที่ต้องคิดไว้ล่วงหน้าตลอดเวลา เหมือนมีคอมพิวเตอร์ที่รันอยู่ในหัวตลอด 24 ชั่วโมง คำนวณ วิเคราะห์ วางแผน ปรับแผน และวางแผนสำรอง วางแผนว่าสัปดาหน้าจะทำอะไรบ้าง จัดระเบียบให้ทุกอย่างอยู่ในที่ที่ควรอยู่และหาได้เมื่อต้องการ คาดการณ์ความต้องการของทุกคนในบ้าน แม้กระทั่งสิ่งที่พวกเขายังไม่รู้ว่าตัวเองต้องการด้วยซ้ำ และมอบหมายงานให้สมาชิกในครอบครัว พร้อมทั้งอธิบายวิธีทำและคอยติดตาม ถ้าพวกเขาไม่อยากทำ ก็ต้องหาวิธีสร้างแรงจูงใจ และหลังจากนั้นก็ต้องติดตามให้แน่ใจว่าทุกอย่างดำเนินไปตามแผน หรือปรับแผนใหม่เมื่อมีสิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้น

ที่สำคัญ งานเหล่านี้ไม่มีวันหยุด ไม่มีเวลาเลิกงาน และไม่มีค่าแรง มันเป็นงานที่ทำให้บ้านดำเนินไปได้อย่างปกติสุข แต่กลับเป็นงานที่ไม่มีใครมองเห็น ตัวอย่างเช่น งานที่มองเห็นคือทำอาหารเย็น แต่งานที่มองไม่เห็นคือการคิดเมนูที่ทุกคนกินได้ เช็คว่ามีวัตถุดิบอะไรในตู้เย็น วางแผนว่าจะซื้ออะไรเพิ่ม คิดว่าจะทำอะไรก่อนหลังให้ทันเวลา จำว่าวันนี้ลูกมีกิจกรรมต้องกินเร็วหน่อย แถมให้หน่อยว่าต้องคิดบทสนทนาหรือคำถามสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างมื้ออาหาร 

งานที่มองไม่เห็นนี้ ใช้พลังงานสมองมากกว่าการทำอาหารจริงๆ เสียอีก

“ช่วย” กับ “รับผิดชอบ”  ช่องว่างที่ใหญ่กว่าแกรนด์ แคนยอน

“สามีก็ช่วยทำบ่อยนะ” 

“ช่วย?” คำนี้บอกอะไรเราบางอย่าง 

“ช่วย” กับ “รับผิดชอบ” มีช่องว่างใหญ่กว่าแกรนด์ แคนยอน เสียอีก

สิ่งที่เขียนต่อไปนี้ไม่ได้ตั้งใจจะกล่าวโทษสามีหรือผู้ชายแต่อย่างใด (ในบทที่ 2 เราก็มีความเห็นอกเห็นใจคนเป็นผู้ชายอยู่ด้วย)  แต่ในบทนี้ขอเขียนเพื่อให้เห็นถึงสิ่งที่ผู้หญิง และคนเป็นแม่ในปี 2025 ต้องแบกรับอย่างชัดเจนที่สุด

เริ่ม!

มีคู่สามีภรรยาคู่หนึ่ง ทั้งคู่ทำงานเต็มเวลา

เย็นวันหนึ่ง สามีบอกว่า “ผมจะช่วยทำอาหารนะ” 

ภรรยาดีใจมาก…แต่แล้ว

“ที่รัก เกลืออยู่ไหน?” “น้ำมันหอยล่ะ?” “ซีอิ๊วต้องใส่มั้ย?”

“บอกมาเลยดีกว่าต้องใส่เครื่องปรุงอะไรบ้าง?” 

“ลูกชอบกินแบบไหน?” “ถ้าทำแบบนี้เจ้าคนโตมันจะกินมั้ย” 

ภรรยาที่ทีแรกกะว่าจะเอนหลังไปพักสักหน่อย เลยต้องคอยยืนข้างๆ ช่วยหยิบนั่นหยิบนี่ ตอบคำถาม และส่งกำลังใจว่า “คุณทำได้ดีแล้ว” แม้บางทีจะแอบคิดในใจว่า “ทำไปเหอะ กินได้บ้างไม่ได้บ้างก็ไม่เป็นไร” 

แม้ในสถานการณ์ข้างต้น จะดูเกินจริง (แต่ก็มีหลายเสียงบอกอยู่ว่า เหมือนที่บ้านเลย) แต่นี่คือความแตกต่างระหว่างการ “ช่วย” กับ “รับผิดชอบ”

“ผู้ช่วย”  ทำตามคำสั่ง 

“ผู้รับผิดชอบ” คิด วางแผน จัดการ ระบความผิดพลาด และแก้ปัญหา 

ที่สำคัญกว่านั้น ผู้รับผิดชอบต้องจำได้ว่างานไหนต้องทำเมื่อไหร่ ต้องคิดถึงผลกระทบของการไม่ทำ และต้องหาทางแก้เมื่อแผนเดิมไม่ได้ผล เช่น เมื่อเด็กป่วยแล้วไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ใครจะดูแล? ถ้าไม่มีใครดูแลแล้วไม่สามารถไปทำงานได้ ต้องขอลาอย่างไร? ถ้าลาไม่ได้ต้องหาคนมาดูแลจากไหน? ถ้าค่าใช้จ่ายสูงเกินงบ เงินจะมาจากไหน? นี่คือ “ห่วงโซ่ที่ต่อเนื่องของความรับผิดชอบ”  (chain of responsibility) ที่ต้องคิดและจัดการ 

การแบ่งงานในครอบครัวจึงไม่ได้เท่ากันอย่างที่หลายคนคิด แม้ว่าพ่อแม่อาจจะ “ช่วยกัน” ทำงานบ้านเท่าๆ กัน แต่ประเภทของงานและลักษณะความรับผิดชอบนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง

พ่อมักทำงานแบบ episodic คืองานที่เป็นครั้งคราว เช่น ซ่อมของเสีย ล้างรถ ตัดหญ้า หรือติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ งานเหล่านี้มีจุดเริ่มต้นและจุดจบที่ชัดเจน เมื่อทำเสร็จแล้วก็จบ สามารถพูดได้ว่า “เรียบร้อยแล้ว” และมีความภาคภูมิใจจากผลงานที่เห็นได้ชัดเจน บางอย่างอาจจะไม่ต้องทำอีกเป็นเดือนหรือเป็นปี

ตรงข้ามกับแม่ที่ทำงานประจำวัน daily tasks ถึง 79% เช่น ทำอาหาร ล้างจาน ซักผ้า ดูแลลูก วางแผนกิจกรรม ซื้อของใช้ในบ้าน นัดหมอ จัดการเรื่องโรงเรียน งานเหล่านี้ไม่มีจุดจบ วันนี้ทำเสร็จแล้ว พรุ่งนี้ต้องทำใหม่ เสื้อผ้าที่ซักเสร็จเมื่อวาน วันนี้สกปรกอีกแล้ว อาหารที่ทำเช้านี้ เย็นนี้ต้องทำใหม่ การดูแลลูกไม่มีวันหยุด

และไม่มีวันที่จะพูดได้ว่า “เรียบร้อยแล้ว เลี้ยงลูกเสร็จแล้ว”

When Perfect Becomes Prison : เมื่อสังคมสร้างภาพ “แม่ในอุดมคติ” ให้กลายเป็นคุกของความสมบูรณ์แบบ

เธอตื่นเช้ามาออกกำลังกาย (แน่นอน ต้องดูแลรูปร่าง) ทำอาหารเช้าแบบ healthy ให้ทุกคน ส่งลูกไปโรงเรียนด้วยรอยยิ้ม ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ (ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นเมื่อเช้า) รับลูก พาไปเรียนพิเศษ หลังจากนั้นกลับบ้านมาทำอาหารเย็น ช่วยลูกทำการบ้าน อ่านนิทานก่อนนอน แล้วยังมีเวลาควอลิตี้ ไทม์ กับสามี

เธอทำทั้งหมดนั่นได้อย่างไร?

นอกจากนั้น เธอต้องทำทุกอย่างข้างบนนั้นด้วย “ความเต็มใจ” ถ้าบ่น แสดงความเหนื่อย หรือรู้สึกผิดหวัง สังคมจะพร้อมตัดสินว่าเธอ “เป็นแม่ที่ไม่ดี” “ไม่รักลูก” “ไม่น่าเหมาะกับการเป็นแม่” เธอต้องซ่อนความเครียดเอาไว้เบื้องหลังรอยยิ้ม แกล้งทำเป็นว่าการเลี้ยงลูกเป็น “ของขวัญ” ที่ไม่เหนื่อย ไม่ลำบาก ไม่ยากสักนิด

แต่ความจริงคือ การแบ่งงานที่ไม่เท่ากัน โดยเฉพาะงานที่มองไม่เห็น (Cognitive Labor) มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้า ความเครียด ภาวะหมดไฟ และสุขภาพจิตโดยรวมของแม่ การวิจัยทางจิตวิทยาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ผู้หญิงที่แบกภาระและการจัดการทางความคิด (mental load ) มากเกินไป มีความเสี่ยงสูงต่อปัญหาสุขภาพจิต ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ไม่ได้แค่เหนื่อยกาย เหนื่อยใจ เหนื่อยสมอง เพราะแม้จะเหนื่อย ก็ต้องแกล้งทำเป็นว่าไม่เหนื่อย 

ฝืนยิ้มเมื่อภายในไม่ได้รู้สึกแบบนั้น 

ต้องตอบ “สบายดีค่ะ” เมื่อคนถามทั้งที่รู้สึกอยากจะนอนไม่ตื่น 

ต้องแสดงความเป็นแม่ที่สมบูรณ์แบบในโซเชียลมีเดีย 

ขณะที่ในความเป็นจริงกำลังอยู่ในจุดใกล้จะแตกสลาย การปกปิดความจริงนี้เป็นภาระเพิ่มเติมที่ทำให้สุขภาพจิตแย่ลงไปอีก เพราะไม่เพียงแต่ต้องแบกภาระหนัก แต่ยังต้องแกล้งทำเป็นว่าภาระนั้นไม่ได้หนักหนาอะไรเลย

Breaking the Code: เมื่อเราเริ่มพูดความจริง

ชาว Mappa ได้นั่งคุยกับแม่ท่านหนึ่งในกิจกรรมที่เราสร้างพื้นที่เพื่อให้พ่อแม่ได้พูดถึงความรู้สึกของตัวเอง เธอบอกในวงสนทนาวันนั้นว่า: “รู้ไหม สิ่งที่ฉันอยากได้ที่สุดในวันแม่ ไม่ใช่ดอกไม้หรือของขวัญ แต่คือการได้ตื่นสายโดยไม่ต้องรู้สึกผิด”

อีกคนบอกว่า “แค่อยากอาบน้ำโดยไม่ต้องรีบ ไม่มีใครมาเคาะประตู ไม่ต้องคิดว่าข้างนอกเกิดอะไรขึ้น”

และอีกคนบอกว่า “ไม่ได้อยากจะไปเที่ยวต่างประเทศเลย คิดดูว่ากว่าจะคิด วางแผนทริป จองตั๋วเครื่องบิน คิดว่าลูกคนโตจะสนุกกับอะไร อีกคนจะสนุกไหม สามีจะอยากทำอะไร แล้วเอาแผนทั้งหมดนั้นมารวามกันเพื่อให้ทุกคนสนุกที่สุด ไหนจะต้องย้ายโรงแรม ย้ายเมือง กลับมาแล้วก็ต้องซักผ้า ต้องลางาน ซื้อของฝากมาฝากเจ้านายอีก ทั้งหมดนั่นเป็นงานทั้งนั้นเลย” 

พวกเราหัวเราะเสียงดัง พยักหน้าหงึกหงัก

แต่ก็แอบรู้สึกเจ็บในใจจี๊ดๆ

และรู้สึกว่ามันเศร้านิดหน่อย เพราะความต้องการของแม่ ทำไมมันช่างดูเรียบง่ายเสียเหลือเกิน 

มันคือระบบ ไม่ใช่คน 

ย้ำอีกครั้งว่า บทความชุดนี้เขียนขึ้นโดยไม่ได้ต้องการตำหนิใคร ไม่ใช่การโจมตีพ่อ ไม่ใช่การบ่นว่าแม่น่าสงสาร และบทความถัดไปเราจะเขียนถึงความจริงของพ่อเช่นเดียวกัน 

แต่เขียนขึ้นเพื่อชี้ให้เห็นว่า “ระบบที่เราอยู่ มันออกแบบมาผิดตั้งแต่ต้น”

ระบบที่สร้างความเชื่อผิดๆ ว่า 

ผู้หญิงเก่งเรื่องจัดการ (งั้นก็จัดการทุกอย่างสิ!) 

ผู้ชายไม่ถนัดเรื่องพวกนี้ (งั้นก็ไม่ต้องเรียนรู้!)  

แม่ที่ดีต้องทำได้ทุกอย่าง (ไม่งั้นจะเรียกว่าดีได้ยังไง!) 

พ่อที่ช่วยงานบ้านคือพ่อที่ดีมาก (ทั้งที่มันควรเป็นเรื่องปกติ)

ระบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มันถูกสร้างขึ้นมาโดยสังคมที่มองว่าการดูแลครอบครัวเป็น “สัญชาตญาณ” ของผู้หญิง ไม่ใช่ทักษะที่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ ระบบที่แบ่งแยกบทบาทอย่างเข้มงวดจนทำให้ผู้ชายกลายเป็น “ฟรีแลนซ์” ในบ้านของตัวเอง และผู้หญิงกลายเป็น “ผู้จัดการทุกอย่าง” โดยไม่ได้เลือก

Mental load หรือภาระทางความคิด มี 3 ลักษณะเฉพาะที่ทำให้แตกต่างจากงานประเภทอื่น 

ประการแรก : “มองไม่เห็น” แต่ส่งผลให้เกิดงานที่ต้องทำมากมาย เมื่อคุณเห็นแม่นั่งเงียบๆ แม่อาจกำลังวางแผนว่าพรุ่งนี้จะซื้อของอะไร จัดการเรื่องงานบ้านอย่างไร หรือกังวลเรื่องที่ยังไม่เสร็จ 

ประการที่สอง : “ไร้ขอบเขต” สามารถตามไปที่ทำงาน ในเวลาพักผ่อน แม้แต่ตอนนอน ไม่เหมือนงานประจำที่มีเวลาเริ่มและเวลาเลิก และไม่มีสวิตช์ปิด 

ประการที่สาม: “ไม่มีวันจบ” เพราะผูกอยู่กับการดูแลคนที่เรารัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำตลอดไป

นี่คือสิ่งที่ทำให้ mental load ต่างจากงานอื่น มันไม่มีวันที่เราทำเสร็จแล้วพูดได้ว่า “เสร็จแล้ว!” ไม่มีเช็คพอยท์ ไม่มีเดดไลน์ ไม่มีการประเมินผล มีแต่การทำต่อไป ทำต่อไป และทำต่อไป

The Revolution We Need : บ่นมาตั้งนาน จะแก้ปัญหาอย่างไร

เราไม่ต้องการแม่ที่เป็นวันเดอร์ วูแมน หรือ Super Mom เราต้องการแม่ที่ไม่โดดเดี่ยว (Supported mom)  เราไม่ต้องการ “ครอบครัวที่แสนจะเพอร์เฟ็กต์” เราต้องการ “ครอบครัวที่ช่วยกันทำงาน” (Functional Family)  เราไม่ต้องการให้ใครเป็นฮีโร่เพียงคนเดียว เราต้องการให้ทุกคนเป็นทีมเดียวกัน

ความแตกต่างระหว่าง Super Mom กับ Supported Mom คือ Super Mom ทำทุกอย่างคนเดียวอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ใกล้จะแตกหัก ส่วน Supported Mom อาจจะไม่ได้ทำทุกอย่างสมบูรณ์แบบ แต่มีคนช่วยเหลือ มีระบบรองรับ 

ความแตกต่างระหว่าง Perfect Family กับ Functional Family คือ Perfect Family ดูดีจากข้างนอก ทุกอย่างเรียบร้อย แต่ข้างในอาจจะเต็มไปด้วยความเครียดและการเสียสละที่ไม่ยั่งยืน ส่วน Functional Family อาจจะไม่ได้ดูสมบูรณ์แบบ แต่ทุกคนมีความสุข รักกัน และช่วยเหลือกัน

การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากการยอมรับความจริง 3 ประการ 

ประการแรก : แม้ว่าแม่จะเป็นคนที่ทำอะไรๆ ได้ดีที่สุด แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครทำอะไรๆ ได้ทุกอย่าง และนั่นไม่ใช่ความล้มเหลวเลย มันคือความเป็นมนุษย์ที่มีข้อจำกัด 

ประการที่สอง: Mental load คืองานจริง ไม่ใช่แค่ “หน้าที่ของแม่” หรือ “สัญชาตญาณ” มันต้องการทักษะ เวลา และพลังงาน เหมือนงานประเภทอื่นๆ 

ประการที่สาม: ระบบต้องเปลี่ยน ไม่ใช่ทำทุกอย่างเพื่อให้แม่แข็งแรงขึ้น เพราะปัญหาไม่ได้อยู่ที่ความอ่อนแอของแม่ แต่อยู่ที่โครงสร้าง ระบบสังคม และทัศนคติที่เปลี่ยนช้ากว่าวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป

จากจานที่หมุนไม่รู้จบ สู่จานที่วาง

ถ้าเราต้องเลือกระหว่าง:

  • หมุนจาน 3 ใบพร้อมกันจนหมดแรง
  • หรือวางจานบางใบลง เพื่อหมุนใบที่สำคัญได้ดีขึ้น

คุณจะเลือกอะไร?

คำตอบอาจจะชัดเจนอยู่แล้ว เราสามารถตอบได้ทุกคน แต่ทำไมเราถึงยังพยายามหมุนทุกใบอยู่? เพราะเราถูกสอนมาว่า “แม่ที่ดี” ต้องทำได้ทุกอย่าง การวางจานลงถูกมองว่าเป็นการ “ยอมแพ้” หรือ “ไม่รับผิดชอบ” ทั้งที่ความจริงแล้ว การรู้จักจัดลำดับความสำคัญคือ ‘ปัญญา’ ไม่ใช่ ‘ความล้มเหลว’

บางทีแม่ที่ดีที่สุด อาจจะเป็นแม่ที่รู้ว่าเมื่อไหร่ควรวางจานลง แม่ที่รู้ว่าการดูแลตัวเองไม่ใช่ความเห็นแก่ตัว แต่เป็นการลงทุนในครอบครัว แม่ที่กล้าพูดว่า “ฉันต้องการความช่วยเหลือ” แม่ที่เลือกคุณภาพมากกว่าปริมาณ แม่ที่ยอมรับว่าบ้านที่มีความสุขสำคัญกว่าบ้านที่สมบูรณ์แบบ

และที่สำคัญกว่านั้น แม่ต้องมีคนมาช่วยถือจานด้วย ไม่ใช่แค่ยืนดู ไม่ใช่แค่ชื่นชมว่า “เก่งจัง หมุนได้หลายใบ” แต่เป็นการเข้ามาช่วยถือจานจริงๆ การแบ่งปันภาระ ไม่ใช่แบ่งปันคำชม แม่ต้องการพันธมิตร ไม่ใช่แฟนคลับ และต้องการทีมที่แข็งแกร่ง ไม่ใช่การมีซูเปอร์ฮีโร่คนเดียวที่จะเหนื่อยล้าในที่สุด


ในตอนต่อไป เราจะมาคุยกันว่า เพราะอะไร แม้พ่อจะอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการเลี้ยงลูกและงานบ้าน แต่ระบบ วัฒนธรรม และสังคมกลับผลักพวกเขาออกไป

เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องของแม่คนเดียว มันคือเรื่องของเราทุกคน


Writer

Avatar photo

กองบรรณาธิการ Mappa

Illustrator

Avatar photo

Arunnoon

มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด

Related Posts