เราทุกคนล้วนเคยสัมผัสการถูกลืมในช่วงระยะเวลาเพียงสั้น ๆ
ครั้งหนึ่งพ่อเคยลืมมารับเราที่โรงเรียน ครั้งหนึ่งเพื่อนเคยลืมเขียนชื่อเราลงไปในใบงานกลุ่ม
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความกลัดกลุ้มในสถานการณ์และช่วงเวลานั้น ทำให้เรารู้สึกเสียใจเมื่อต้องรับบทบาทของการเป็น ‘ผู้ถูกลืม’
และความเสียใจนี้อาจทวีคูณขึ้น เมื่อคำว่า ระยะเวลาเพียงสั้น ๆ เปลี่ยนผันเป็นคำว่า ตลอดไป
‘แม่ ฉัน และอัลไซเมอร์’ คือหนังสือที่แค่เพียงได้ยินชื่อในครั้งแรก ก็ทำให้เราอยากอ่านเรื่องราวภายในเล่ม เหตุผลนั้นมาจากอาการของยายที่เราเริ่มสังเกตได้เมื่อตอนกลับบ้าน ระยะเวลากว่า 3 นาทีที่ยายใช้ในการพยายามนึกชื่อหลาน เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานมากในความรู้สึกของเรา
การถูกลืมโดยคนที่เรารัก เป็นสิ่งที่เราเฝ้าภาวนาไม่ให้เกิดขึ้น และเชื่อว่าคนอื่น ๆ ก็คงหวังให้เป็นเช่นเดียวกัน
‘แม่ ฉัน และอัลไซเมอร์’ ผลงานของผู้เขียนนามปากกา ชลจร จันทรนาวี (ก้อง-จักรพันธ์ ตัณฑะสุวรรณะ) เป็นผลงานที่พาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับเรื่องราวและแง่มุมของการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ชลจรซึ่งมีอาชีพเป็นนักแสดงเลือกใช้วิธีการบอกเล่าเรื่องราวคล้ายกับการเขียนบทละคร โดยมีเส้นเรื่องของสองแม่ลูกที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาที่อ่านง่าย และมีอารมณ์ขันสอดแทรกอยู่ในเนื้อเรื่องทุกขณะ แต่ก็แอบแฝงด้วยความรู้สึกเหนื่อยล้าที่เราสัมผัสได้ผ่านทางตัวอักษร
‘ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ทุกเสี้ยววินาทีคือปัจจุบัน’
ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะไม่สามารถจดจำและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้ ซึ่งหมายความว่าสำหรับตัวผู้ป่วยแล้ว จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘อดีต’ และ ‘อนาคต’ เกิดขึ้น ทุกอย่างที่ดำเนินไปจะเป็นเหตุการณ์ที่ผู้ป่วยรับรู้ได้ในชั่วระยะเวลา ‘ปัจจุบัน’ เท่านั้น หรือบางครั้งก็อาจจะไม่รับรู้อะไรเลย
เหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผู้เขียนต้องเผชิญ หากมองดูเผิน ๆ อาจเป็นเพียงเรื่องราวกิจวัตรประจำวันทั่วไป พาแม่ร้องเพลง กินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน แต่ในทุกเหตุการณ์นั้นเรากลับสัมผัสได้ถึงความเจ็บปวดและความเข้มแข็งของผู้เขียนในทุกตัวอักษร
ชลจรบันทึกเหตุการณ์ของแม่ได้อย่างละเอียดและชวนให้นึกภาพตาม ตั้งแต่เรื่องราวความท้าทายในการสอนแม่กดรีโมทเปลี่ยนช่องโทรทัศน์เพื่อที่จะได้ดูรายการที่ลูกจัดทุกสัปดาห์ ไปจนถึงการพาแม่ไปหาหมอฟัน เราเผลอลุ้นเอาใจช่วยตามไปด้วยในขณะที่อ่านเรื่องราวแต่ละเรื่อง มีทั้งเหตุการณ์ที่แฝงความตลก (ร้าย) เหตุการณ์ที่ชวนให้นึกย้อนกลับไปในวันเวลาเก่า ๆ ในขณะเดียวกันก็คล้ายถูกดึงกลับมาด้วยความเศร้าที่ว่าเรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ มีเพียงผู้เขียนคนเดียวที่ยังคงจำได้ และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป
เบื้องหลังของการดูแลแม่ที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ ชลจรต้องแบกรับความรู้สึกมากมาย มีหน้าที่การงานที่ต้องคอยรับผิดชอบหลายอย่าง แต่มุมมองเหล่านี้มักไม่ได้ถูกตีแผ่ออกไปให้สังคมเห็น และยังเป็นอีกแง่มุมที่ผู้คนในสังคมลืมนึกถึง
ลืมว่าคนที่ต้องดูแลผู้ป่วยก็ต้องการเวลาดูแลตัวเองเช่นกัน
คนใกล้ชิดผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักถูกตั้งคำถามถึงอาการของผู้ป่วยซ้ำ ๆ ต้องตอบคำถามเดิม ๆ ไม่รู้กี่หน ต้องทนฟังคำพูดที่ไม่เห็นใจคนที่ดูแลผู้ป่วยอยู่บ่อยครั้ง นั่นเป็นสิ่งที่เรายังไม่เคยได้สัมผัสและไม่เคยนึกถึงมาก่อน กระทั่งได้มาอ่านหนังสือเล่มนี้ ทำให้เราได้เข้าใจความรู้สึกของคนที่ต้องดูแลผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น
เรารู้สึกเหมือนได้ลองตั้งคำถามเพื่อทบทวนตัวเองไปพร้อม ๆ กับเรื่องราวในเล่ม หากการลงมือทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อใครสักคน มีผลลัพธ์ที่ลงเอยด้วยการ ‘ถูกลืม’ เราจะยังตัดสินใจทำมันอยู่หรือเปล่า
คำถามข้างบนนี้เราขอตอบในใจ
เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ เราอยากส่งกำลังใจให้คนใกล้ชิดผู้ป่วยทุกคนที่ต้องคอยทำหน้าที่นี้ในทุก ๆ วัน พวกคุณเก่งมาก และความพยายามของพวกคุณนั้นมีค่าเสมอ อย่างน้อยก็ยังมีตัวคุณที่รับรู้ และมีตัวเราที่ขอเป็นกำลังใจให้
หวังว่าทุกคนจะมีความสุขอยู่กับปัจจุบัน เหมือนอย่างที่หนังสือเรื่อง ‘แม่ ฉัน และอัลไซเมอร์’ บอกกับเราว่าวินาทีที่สำคัญ คือวินาทีที่แม่กำลังมีความสุขอยู่ตรงหน้า และการลงมือทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เกิดขึ้นนั้นอาจไม่ใช่การลงมือทำเพื่อความทรงจำของแม่ แต่คือการลงมือทำเพื่อความทรงจำของลูกด้วย
ขอให้ทุกคนได้ใช้เวลาจดจำทุกเรื่องราวตรงหน้าให้คุ้มค่าที่สุด