เจี๊ยบ-มัจฉา พรอินทร์

“มันต้องอิ่ม มันต้องอุ่น มันต้องเติบโต”​ ความสุขตามประสา แม่ แม่ และลูก

  • ครอบครัวไม่จำเป็นต้องหมายความแค่ พ่อ แม่ ลูก เสมอไป ‘เจี๊ยบ’ มัจฉา พรอินทร์ กับคู่ชีวิต ‘จุ๋ม’ วีรวรรณ วรรณะ มีความสุขตามประสา แม่ แม่ และลูก มานานแล้ว
  • “ครอบครัวสำหรับเราคือคนที่เราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้โดยที่เรารู้สึกสบายใจ แล้วเราได้รับการสนับสนุน” แค่นี้ก็พอแล้ว
  • “มันเป็นความหลากหลายของครอบครัวด้วย ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องอบอุ่นตลอดเวลา มันก็มีปัญหา แต่ปัญหาที่เราเจอ เราก็แก้ไขเสมอ แล้วบ้านต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย” ลูกของแม่เจี๊ยบและแม่จุ๋ม ให้นิยาม

บทสนทนากว่า 2 ชั่วโมงของเรากับ เจี๊ยบ-มัจฉา พรอินทร์ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศตลบความคิดกลับไปมาเสมอ

ถ้าเป็นตัวละครในนิยายที่มีตัวเอกสู้ชีวิต ก็คงต้องบรรยายว่าเธอคือคาแรคเตอร์ที่สู้ตั้งแต่หน้ากระดาษแรกๆ จนถึงตอนจบ สู้เบาๆ กับวิถีทางเพศของตัวเอง หนักขึ้นในการต่อรองและแสดงจุดยืนการเป็น LGBTQ+ ต่อครอบครัว หนักขึ้นอีกจากการต่อสู้กับระบบการศึกษาไทย สังคมที่เชื่อในสองเพศ และหนักอย่างไม่รู้จะสิ้นสุดเมื่อไหร่จากการเป็นนักสิทธิฯ ที่เคลื่อนไหวด้านความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิของผู้หญิง การศึกษาและพื้นที่ปลอดภัยของเยาวชนชาติพันธุ์ และอีกมากมาย

ล่าสุดก็คือหัวข้อที่ 2 ชั่วโมงก็เกือบจะไม่พอ คือเรื่องลูก ความสุข ความไม่เท่าเทียม และความหมายของคำว่าครอบครัว

ดูเหมือนว่าสังเวียนนี้ไม่ได้เต็มไปด้วยร่องรอยบาดแผลเสมอไป ทุกหมัดและแผนกลยุทธ์ที่เจี๊ยบทำความเข้าใจก็ทั้งเจ็บจี๊ดและหวานเจี๊ยบไปตามกาลเวลา

เริ่มจากการที่เธอกับคู่ชีวิต จุ๋ม-วีรวรรณ วรรณะ ที่เป็นนักเคลื่อนไหว ทั้งคู่ปิ๊งรัก ใช้ชีวิต และโอบรวมครอบครัวและคนทั้งสองฝ่ายเข้ามาทำความเข้าใจความสัมพันธ์แบบที่สังคมเรียกว่า หญิงรักหญิง เลสเบี้ยน หรือคู่รักหลากหลายทางเพศ 

ไม่ว่าสังคมจะนิยามอย่างไร จุ๋มและเจี๊ยบก็ตกอยู่ในสักเฉดหรือสักจุดหนึ่งของ LGBTQ+ spectrum ที่เริ่มได้รับความสนใจจากกระแสและการเมืองโลกที่เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดในทศวรรษหลัง 

แต่นั่นอาจไม่ใช่สาระสำคัญ

“ไม่เคยคิดเรื่องรับเด็กมาเลี้ยงเลย ไม่มีอยู่ในความรู้สึกเลย”

โลกในยุคศตวรรษที่ 21 มีบทความและงานวิจัยจำนวนมากที่ระบุว่าคน Gen Y ที่เกิดในช่วงปี พ.ศ. 2523-2540 ไม่อยากมีลูกด้วยต้นทุนทางสังคมที่สูงขึ้น 

ความ ‘พร้อม’ ที่จะมีลูกเต็มไปด้วยข้อกังวลต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับความสำเร็จในชีวิตของ Gen Y เช่น เป็นแม่บ้านฟูลไทม์แล้วอาจจะต้องละทิ้งความสำเร็จในหน้าที่การงาน และหากพูดในมุมของผู้หญิง งานวิจัยหลายชิ้นก็บอกว่าการมีลูกกระทบกับผู้หญิงในส่วนของเป้าหมายชีวิตมากกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด 

จากบทสนทนา เราเชื่อว่ามัจฉาและคู่ชีวิตบู๊งานหนักกันมากพอที่จะไม่กังวลต่อปัจจัยข้างต้น แต่ก็น่าสนใจว่าทั้งสองคนจัดการความสัมพันธ์และชีวิตอย่างไรเมื่อตัดสินใจรับเลี้ยงบุตร

ตลบที่หนึ่งคือการที่ทั้งคู่รักกันและต่อสู้มาด้วยกัน พื้นฐานของจุดยืนที่แข็งแรงไม่ได้สร้างปัญหาหรือประเด็นน่าหนักใจจนกว่าจะถึงตลบที่สอง ที่ทั้งสองตัดสินใจรับ น้องหงส์-ศิริวรรณ พรอินทร์ ในวัยจิ๋วมาเป็นลูก เนื่องจากเห็นปัญหาในเชิงวิธีการที่แม่ของเจี๊ยบใช้เลี้ยงลูก ต่อจากนั้นคือการต่อรองกับครอบครัว พ่อของหงส์ ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงเรื่องนี้สู่สังคม และ ‘ชีวิต’ ของลูกที่แม่ทั้งสองคนต้องรับผิดชอบ 

รักอย่างไรให้รักจริง โมโหอย่างไรบนพื้นฐานของเหตุผล รองรับเป็นพื้นที่อบอุ่นปลอดภัยอย่างไรในบ้านของนักสิทธิฯ ที่ก็คือมนุษย์คนหนึ่ง

ความคิดเรื่องมีลูกไม่มีอยู่ในหัวเลย

“มีเหตุผลรองรับว่าทำไมเราถึงไม่คิดว่าต้อง adopt (รับเลี้ยง) ลูกหรือมีลูก มันต้องดูที่วิถีชีวิตค่ะ เดือนหนึ่งถ้าเดินทางตอนพีคที่สุดคือ ลากกระเป๋าลงมาเปลี่ยนเพื่อที่จะไปต่ออีกประเทศหนึ่ง อยู่เชียงใหม่ 4 วัน แล้วทำงานแบบนี้มาตลอดไงคะ จันทร์ถึงศุกร์อาจจะต้องทำเอกสาร รายงานประชุม วิถีชีวิตของเราคงเป็นวิถีชีวิตที่ลำบากมากเลยถ้าเราจะต้องดูแลลูก เพราะฉะนั้นการที่เราไม่ได้คิดจะ adopt แต่แรกเพราะเรารู้สึกว่าเราทำงานเยอะ และการดูแลลูกคงจะลำบากมาก”

หน้าที่การงานเป็นแรงขับให้มัจฉาเดินทางไปจัดอบรมทั้งในประเทศและต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา หลายครั้งเธอเป็นตัวแทนของภูมิภาคเอเชียไปปรากฏในเวทีนานาชาติ แต่ไม่ใช่ข้อจำกัดด้านเวลา ความที่ทำงานกับเด็กชาติพันธุ์หรือเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศตั้งแต่เรียนจบทำให้เจี๊ยบรู้สึกว่านั่นคือความเติมเต็ม

“เราดูแลเด็กเหมือนกับเป็นลูก ดูแลเรื่องอาหาร ไปส่งโรงเรียน ดูพัฒนาการของเขา แล้วเรามีความรู้สึกว่ามีเด็กจำนวนหนึ่งที่อาจจะถูกทอดทิ้ง เราทำงานกับเด็กเร่ร่อนที่สะพานแม่สายด้วย เราเป็นนักวิจัยทำเรื่องเด็กขอทานว่าชีวิตของเขาเป็นยังไง ได้รับผลกระทบอะไรจากการอยู่ชายแดน ก่อนที่จะมีลูก ประมาณ 10 ปีที่เราทำงานอยู่กับเด็กเป็นร้อย มันก็ overwhelmed (เปี่ยมล้น) มาก

“ในแง่หนึ่ง แต่ในแง่หนึ่งก็รู้สึกได้เลยว่าครอบครัวในความหมายของเรามันเปลี่ยนไปตั้งแต่เรามาอยู่ที่เชียงใหม่”

เชียงใหม่ เป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยความหมายและความงดงามของเจี๊ยบ เพราะในช่วงเวลานั้นฐานะทางบ้านไม่ได้พร้อมสนับสนุนให้เธอเรียนต่อ แลกเปลี่ยนกับครอบครัวไม่ได้ทุกเรื่องจากความที่เป็นคนหลากหลายทางเพศ เธอจึงเหมือนได้มาสร้างครอบครัวที่แท้จริงในวัยเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจอเพื่อน LGBTQ+ รวมก๊วนนักกิจกรรมที่อาจารย์ไม่รัก คุยกันทุกเรื่อง ขบถนำหลายกฎเกณฑ์ในคณะ

และที่สำคัญคือมันปลอดภัยแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

“คำว่าครอบครัวสำหรับเราคือคนที่เราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้โดยที่เรารู้สึกสบายใจ แล้วเราได้รับการสนับสนุน เราไม่จำเป็นต้องมีสายเลือดเดียวกัน เราก็เป็นครอบครัวเดียวกันได้ ครอบครัวหมายถึงคนที่อยู่ด้วยกัน ดูแลกัน สำหรับเราที่มันเพิ่มขึ้นมาคือมี commitment (การผูกมัด) ต่อกัน

“มันไม่ใช่แค่มาอยู่ด้วยกันแล้วสบายใจ แต่ต้องดูแลกันเท่าที่เราทำได้ เราเลยรู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่เพื่อน แต่มันมี bond บางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่ามันอบอุ่น แล้วพอเรามาเจอน้องๆ ที่ถูกทอดทิ้งหรือถูกใช้ความรุนแรง เรารู้สึกว่าสิ่งที่เด็กขาดคือการที่เขารู้สึกปลอดภัยในชีวิต ได้เป็นตัวของตัวเอง มีคนรับฟัง เพราะฉะนั้นถ้าใครก็ตามสามารถทำหน้าที่แบบนี้ได้ รับฟัง สนับสนุนแล้วก็ทำให้เขาปลอดภัย รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในพื้นที่นั้น นั่นก็คือครอบครัวแล้ว”

เจี๊ยบ-มัจฉา พรอินทร์

ครอบครัวในนิยามของเจี๊ยบขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ต่างคนต่างพยายามสลับเป็นพ่อ แม่ ลูกของกันและกัน มัจฉาขอทุนการศึกษาให้เด็กต่อเนื่องจนจบระดับอุดมศึกษา เด็กบางคนมาจากครอบครัวที่พ่อแม่เสียชีวิตไปแล้ว หรือพ่อแม่หย่าร้าง 

ไอเดียเรื่องการมีลูกจึงไม่เคยมีอยู่เพราะการทำงานทุกวันก็เหมือนได้เลี้ยงลูกอยู่แล้ว 

“แม่มาหาเราพร้อมกับลูกสาว (ในปัจจุบัน) แล้วเราก็เห็นว่าตอนนั้นเวลาเราถาม เขาไม่ตอบคำถาม เขาอายุ 9 ขวบแล้ว แต่เขาบอกความต้องการของเขาไม่ได้ เช่น เราไปเที่ยวแล้วเขาจะอ้วก แล้วเขาบอกเราไม่ได้ เราก็สังเกตวิธีการเลี้ยงของแม่ว่าทำไมลูกไม่รู้สึกที่จะสื่อสาร

“ยังไม่นับเรื่องการอ่านหนังสือ การเขียน แต่เข้าใจได้เพราะที่อีสาน หรือการสอนหนังสือของชนเผ่าพื้นเมือง ระบบการศึกษามันแย่มาก เด็กทุกวันนี้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เป็นเรื่องปกติ แต่พอเราถามเรื่องง่ายๆ แล้วลูกตอบกลับมาไม่ได้ เราก็รู้สึกว่ามันต้องมีปัญหาเรื่องการดูแลแน่เลย แล้วเราไปเห็นว่าแม่อายุมากแล้ว เวลาที่คุยกับลูกเราจะเป็นคำสั่งหมดเลย นี่คือที่เราวิเคราะห์ เราเลยบอกแม่ว่าแม่คงเลี้ยงไม่ไหวเนอะ เราคิดว่ามันเป็นปัญหา เพราะฉะนั้นเดี๋ยวเราจะดูแลหลานเอง ตอนนั้นก็ใช้คำว่าหลาน”

“ถ้า LGBTQ+ เลี้ยงลูก แล้วลูกจะกลายเป็น LGBTQ+ ไหม” “เด็กจะรู้สึกขาดพ่อหรือเปล่า”เป็นชุด kit คำถามแช่แข็งสำนึกทางเพศตั้งแต่สมัย 10-20 ปีที่แล้ว วันนี้ดูเหมือนกระแสสังคมและ movement ต่างๆ จะถูกยกระดับขึ้นในระดับมหภาค แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศจะสร้างความเข้าใจอย่างแท้จริงให้กับทุกครอบครัว

ครอบครัวของมัจฉาก็มีท่าทีต่อต้านและไม่เห็นด้วยในครั้งแรกเช่นเดียวกัน มีบรรยากาศของความไม่สบายใจหลังจากที่เธอรับหงส์มาเลี้ยงเป็นลูก ช่วงแรกๆ คุยกับยายของหงส์ไม่ค่อยได้ พ่อของหงส์ก็ยิ่งลำบากมาก เป็นเวลาร่วม 2 ปีแห่งการเงียบหายกันไป ความตึงเครียดนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร

“คิดว่าเป็นอคติต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ต่อตัวคนอาจจะไม่เท่าไหร่ เพราะมันจะมีช่องว่างในเรื่องของอำนาจว่าถ้าเราไม่ได้พึ่งพิงเขา เขาก็จะทำอะไรเราไม่ได้อยู่แล้ว แต่พอเป็นเรื่องที่เราจะดูแลลูก มันจะมีอคติของคนข้างนอกที่คิดว่าเราจะดูแลลูกได้ไหม ดูแลแล้วจะเป็นอย่างไร 

“สังคมก็บอกว่า เนี่ย LGBTQ+ ดูแลลูกแล้วลูกจะเป็น LGBTQ+ ไหม เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้มันอาจจะอยู่ใน mindset ซึ่งไม่ได้ออกมาเป็นคำพูดนะว่าห้าม adopt แต่มันรู้สึกได้ จนกระทั่งพอลูกเรียกว่าแม่ ซึ่งเขาเป็นคนเลือกเนอะ พอเลยปีที่ 2 ขึ้นมา เราก็พูดถึงปัญหาแล้วสมมุติว่าเราต้องการทำเอกสารอะไรเกี่ยวกับลูกนี่พ่อเขาต้องเซ็น เพราะเราไม่ใช่ผู้ปกครองในทางกฎหมาย ก็เลยคุยกับเขาว่ามันลำบากมากเลยนะเวลาลูกย้ายโรงเรียนแล้วเราเป็นแค่ใครก็ไม่รู้ ไม่สามารถเซ็นอะไรได้ ต้องขอความยินยอมจากพ่อ พอพูดแบบนี้ปุ๊บก็โกรธกันแล้ว ก็จะหายไปอีกเป็นพักใหญ่ๆ

“จนกระทั่งปีที่แล้วที่เราเริ่มพูดในสื่อเยอะมากเรื่องความหลากหลายทางเพศ สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว เขาได้ยิน เขาเห็นทุกอย่างจนกระทั่งท้ายที่สุดปีนี้เขายินดีแล้วที่จะให้ adopt ลูกตามกฎหมายแต่ติดเรื่องโควิดนี่ล่ะ กลายเป็นว่าเราสู้กันมายาวนานเหมือนกัน”

รู้ไหมเนี่ย นี่คือแม่ที่หลายคนอยากได้นะ

คือคำที่เราพูดกับหงส์เมื่อถกกันเรื่องการศึกษาแล้วแม่เจี๊ยบโยนข้อเสนอที่เด็กหลายคนอาจจะตาลุกวาว 

“เราบอกลูกตั้งแต่เรียน ม.2 เลยว่าถ้าหนูไม่อยากเรียนหนังสือเลย ได้นะ ออกมาทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยกับแม่ก็ได้ ไปเรียนศิลปะ เอาดีทางบางเรื่องก็ได้ อันนี้เป็นข้อเสนอ แต่เขาบอกว่า หนูอยากไปโรงเรียน เราก็ไม่มีปัญหา มีหน้าที่สนับสนุน สุดท้ายเราบอกว่าหนูไม่ต้องสอบเข้ามหา’ลัยก็ได้นะ ยังไม่ต้องเข้าก็ได้เพราะเรื่องโควิด หรือ gap year (ช่วงเวลาว่างหลังเรียนจบ) ก็ได้ แต่เขาบอกหนูอยากลองเนอะ”

เวลาเกือบ 9 ปี จาก ‘หลาน’ ตัวจิ๋วในวันนั้นก็กลายมาเป็นน้องหงส์ในวัยที่ตัดสินใจจะสอบเข้าคณะมนุษยศาสตร์ สาขาปรัชญา

“นี่เชียร์ให้ลูกออกตั้งแต่ ม.2 ม.3” แม่จุ๋มกึ่งฟ้อง

“ออกเลยไหมลูก (หัวเราะ) เขาก็บอกว่าเดี๋ยวหนูลองเรียนไปก่อน ประเด็นคือเขาก็ไม่ได้ชอบเรียนในระบบ เขาชอบศิลปะ ดนตรี กีฬา ร้องเพลง ซึ่งในโรงเรียนไม่ได้สนับสนุนเลย พอไปโรงเรียนเลยรู้สึกว่าตัวเองไม่ฉลาด ไม่เก่ง ไม่ดี แล้วเรารู้สึกว่าลูก suffer (เจ็บปวด) เลยบอกว่างั้นก็ออกมาแล้วไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ที่ตัวเองรู้สึกว่าได้ใช้ศักยภาพและได้รับคำชื่นชม ไปโรงเรียนเต้นเก่งนี่ก็ไม่มีใครชม ครูด่าอีก เราเลยรู้สึกว่าทำไมลูกต้องเจ็บปวด แต่ถ้าเขายืนยันปุ๊บว่าจะเรียน ก็รับผิดชอบ

“ความคาดหวังของเราคือไม่อยากให้เขาเรียนมหาวิทยาลัย เพราะเราสอนที่ มช. สอน ม. พายัพ สอนที่ ม.ธรรมศาสตร์ด้วย แล้วพบว่าระบบการศึกษามันมีปัญหามาก แล้วเด็กๆ ที่เข้าไป ความคาดหวังการเรียนรู้กับความเป็นจริงต่างกัน ถ้าเขาเรียนเองแล้วอาจจะเป็นการเรียนรู้มากกว่าในมหาวิทยาลัย เราไม่เคยอยากให้ลูกเรียนมหาวิทยาลัยเลย นั่นคือความคาดหวังของเรา พี่จุ๋มไม่เคยอยากให้ลูกออกมาเคลื่อนไหวเลย นั่นคือความคาดหวังของพี่จุ๋ม”

จุ๋ม-วีรวรรณ วรรณะ

หงส์เองก็ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองชอบเรียนในระบบหรือเปล่า หรือแค่อยากจะเหมือนเพื่อน คำตอบมีหลากหลายและไม่ตายตัว แต่โรงเรียนเป็นพื้นที่ในการทดลองใช้ชีวิตของเธอ เป็นประสบการณ์ เมื่อไหร่ไม่อยากเรียนก็อาจจะลองทำงานกับแม่

เธอใช้คำว่า “แอบสอดส่อง เก็บข้อมูล” ซึ่งเป็นการนิยามตัวตนกับความเป็นโรงเรียนได้แปลกและน่าสนใจ 

ผ่านจากการบอกเล่าของแม่เจี๊ยบ หงส์มีวิธีการจัดการสภาพแวดล้อมทางอารมณ์กับตัวตนในโรงเรียนที่สามารถมองเป็นกระบวนการเรียนรู้ได้ดี จากการอยู่ในครอบครัวที่มีแม่-แม่ และบ้านที่เต็มไปด้วยเยาวชนชาติพันธุ์หรือเด็กในโครงการอบรม มีแนวคิดเรื่องเพศสภาพ เพศวิถีในมิติทางจิตใจ การแสดงออกและการใช้ชีวิตที่แตกต่างกับสภาพแวดล้อมของโรงเรียนอย่างชัดเจน 

“เรากับพี่จุ๋มมีสิ่งที่เหมือนกันคือมุมมองทางด้านสังคม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ลูกจะเห็นคือบทสนทนาในครอบครัว เช่น หนังที่มีฉากข่มขืน พอเราไปโรงแรมแล้วเห็นฉากแบบนั้นเราก็โกรธมากเลย พอสนทนากัน เขาก็จะเห็นว่าแม่สองคนนี้มีการวิเคราะห์สังคมเหมือนกัน แต่แม่ก็เถียงกันมากเลย เพราะฉะนั้นในครอบครัวก็จะเต็มไปด้วยการพูดคุยที่ radical (สุดโต่ง) ตั้งคำถามเยอะ” 

“น้องหงส์จะได้เห็นอะไรหลากหลาย เช่น เราจะชอบซ่อมไฟ มีเครื่องมือช่าง เขาก็จะได้เห็นว่าแม่ก็ทำได้” แม่จุ๋มเสริม

“แล้วก็จะเห็นแง่มุมที่แม่ไม่เหมือนกัน เช่น พี่จุ๋มจะชอบงานทำอาหาร ทำความสะอาดบ้าน”

“ไม่ได้ชอบ” แม่จุ๋มแทรกพร้อมเสียงหัวเราะของทั้งคู่

“โอเคๆ ไม่ได้ชอบ บ้านเราทุกคนต้องกินข้าวใช่ไหม พี่จุ๋มถนัดก็เป็นคนปรุง แต่ล้างผักใครก็ทำได้ เพราะฉะนั้นถ้าทำอาหาร ทุกคนต้องเข้าครัว แล้วช่วงแรกไม่ได้มีแต่น้องหงส์ เราดูแลน้องอยู่ 11-12 คนในบ้านเดียวกัน มีอาสาสมัครด้วย 4 ชั้น มีอยู่ 7-8 ห้อง มีเด็กเต็มเลย เป็นเด็กชนเผ่านี่แหละค่ะ มาเรียนที่เชียงใหม่เพราะเราให้ทุน เพราะฉะนั้นน้องหงส์จะมีแม่เลี้ยงหมู่ คือน้องๆ พี่ๆ จะช่วยกันเลี้ยงแล้วก็มีทั้งพี่ที่เป็น Transgender (บุคคลข้ามเพศ) เกย์ กะเทย ครบทุกเพศทุกวัย เขาก็จะเห็นภาพว่าต่อให้คุณเป็นผู้ชาย แต่ว่าบ้านเราถ้าจะกินข้าวก็จะต้องกินที่ครัว งานของเราจะไม่มีเพศ งานที่เราต้องทำก็ต้องทำ แต่ว่าถ้าใครถนัดเรื่องไหนให้เขานำ คนที่ไม่ถนัดก็ซัพพอร์ต”

คำถามสำคัญคือทักษะในการเผชิญหน้ากับโลกแห่งความเป็นจริงผ่านสิ่งที่แม่สอนหรือทำให้ดู บ้านส่งผลอย่างไรบ้างต่อหงส์

“เรารู้ว่าเขามีวิธีการรับมือการบูลลี่ (bully) ตั้งแต่การย้ายโรงเรียนครั้งแรก ทันทีที่เขาไปโรงเรียน เขากลับมาแล้วเขาบอกว่าแม่ หนูไปเจอครูนะ ไปเล่าให้ครูฟังว่าประวัติความเป็นมาของหนูเป็นยังไง แล้วปรากฏว่าเขาอยู่ที่นั่น ครูรัก ดูแลดีมาก จากการที่เขาอยู่โรงเรียนเก่า ครูใช้ความรุนแรง ตีเด็ก แต่เขาไม่เคยเล่าให้แม่ฟัง มาเล่าให้ฟังหลังจากย้ายโรงเรียนแล้ว 

“พอเขามาโรงเรียนใหม่ ครูสนับสนุนเขา เขาก็สามารถมั่นใจในตัวเองขึ้นมาได้ เลยกลายเป็นว่าสิ่งที่เขารับมือกับความไม่เข้าใจก็คือการเล่าชีวิตของตัวเองให้ฟัง ซึ่งนี่คือสิ่งที่เราทำงานกับน้องๆ ชาติพันธุ์ เราเลยวิเคราะห์ว่าลูกรู้ว่าเราใช้เรื่องราวเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้าใจ ดังนั้นเขาก็ใช้เรื่องราวในการสร้างความเข้าใจกับครู เขามาเล่าให้เราฟังว่าเพื่อนชอบมาเล่าให้หนูฟังว่าทะเลาะกับพ่อแม่ เขาก็ได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เราทำคือเป็นพื้นที่ปลอดภัย เขาเลยทำเหมือนที่แม่ทำ ก็คือรับฟัง ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องแนะนำอะไรเลย เพราะปัญหาหลายเรื่องเราแก้ให้เด็กไม่ได้ แต่เรายินดีรับฟังและเราสะท้อนว่าเขามีความเข้มแข็ง 

“สิ่งที่น่าสนใจก็คือเพื่อนของลูกเราก็จะเป็นคนชายขอบหมดเลย เช่น เด็กเรียนเก่งที่ตัวเล็กๆ ถูกเพื่อนรังแก เด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ เด็กชนเผ่าพื้นเมือง เขาก็จะมารวมกลุ่มกันของเขา กลุ่มนี้ก็จะเป็นกลุ่มที่ถูกเพื่อนรังแกถ้าอยู่คนเดียว แต่พอมารวมกลุ่มกัน เปอร์เซ็นต์ของการถูกรังแกก็จะน้อยลง เพราะฉะนั้นเรารู็สึกว่าลูกก็ได้ฟังปัญหาในโรงเรียนเรื่องการบูลลี่ สิ่งที่แม่อบรมว่าเราจะรับมือกับปัญหานี้ได้อย่างไร เขาไม่ได้เอามันไปใช้ทีเดียว และเขาก็ดึงดูดเพื่อนๆ ที่มีอัตลักษณ์หลากหลายเข้ามา แล้วเมื่อเขารวมกันได้ เขาก็สามารถปกป้องกันและกันเพื่อที่จะไม่ให้เพื่อนๆ รังแก”

น้ำเสียงของมัจฉามั่นใจมากขึ้นเมื่อพูดถึงเรื่องวัฒนธรรมการบูลลี่ และการใช้ความรุนแรง ในวาระโอกาสที่ประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของโลกที่มีสถิติของผู้ชายที่ทำร้ายผู้หญิงในครอบครัว หรือความรุนแรงจากครอบครัวเกิดขึ้นต่อ LGBTQ+ มากที่สุด (Spectrum.co) เราเชื่อมั่นได้เลยว่าบ้านนักสิทธิฯ จะมีวิธีคิดกับเรื่องนี้ในแบบที่เข้มข้น 

“เราทำงานเรื่องความรุนแรงในครอบครัวแล้วค้นพบว่ามีผู้หญิงจำนวนมากที่เจ็บปวดจนจะตาย แต่ว่าต้องอยู่เพื่อที่จะรักษานิยามคำว่าครอบครัว แล้วเมียก็เจ็บปวด เด็กก็เจ็บปวดต่อ ซึ่งเราบอกว่าครอบครัวถ้ามันไปถึงจุดหนึ่งแล้วอยู่ไม่ได้ก็สามารถเลิกกันได้ บทบาทความเป็นพ่อแม่ยังคงอยู่แม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกัน มันก็จะไปลดภาระที่ต้องแบกคำว่าครอบครัวที่สมบูรณ์ไว้ แล้วทำให้ผู้หญิงออกมาจากความรุนแรง 

“เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่ไม่มีพ่อก็เข้มแข็งได้ ไม่ได้จำเป็นต้องเป็นเด็กมีปัญหาแบบที่เขา stigmatize (ตีตรา) เรานี่พ่อแม่เลิกกัน เราก็ไม่ได้เห็นว่าเราจะชอบความรุนแรง กลายเป็นเด็กมีปัญหา ติดยา แต่ว่ามีบางคนที่ถูกบอกแบบนั้นแล้วเขา internalise (จดจำเข้าไปภายใน) เข้าไป มันทำให้เขาสูญเสียโอกาส

“ที่บ้านเราจะไม่ใช้ความรุนแรงเลย ในชีวิตเราไม่เคยผลัก สลัด ไม่เคยด่า เหยียดหยามกัน เวลาโมโหเสียงอาจจะดังมาก แต่ก็ต้องกลับมา เพราะฉะนั้นลูกเองก็จะไม่เคยถูกด่าแบบเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กัน know-how ในการเลี้ยงลูกของเราคือธรรมชาติของแม่เป็นยังไง เราก็แค่ทำให้ลูกเห็นว่าเราเป็นตัวของตัวเอง แล้วเราก็ใช้ศักยภาพสูงสุดในตัวที่เรามีทำหน้าที่ของเรา แล้วก็ช่วยเหลือกันในครอบครัว เราเลี้ยงดูเขาโดยที่ไม่เคยสอนลูกเลย ถ้าบอกว่าแม่ตั้งใจทำงาน มันไม่ make sense (เป็นเหตุเป็นผล) หรอก แต่เขาเห็นด้วยตาของเขาว่าความรับผิดชอบ ความละเอียดอ่อนในการทำงานคืออะไร”

ความสำคัญในการสร้างความเข้าใจให้ลูกคิดว่ามันมีความแตกต่างหลากหลาย เช่น เราเป็นคู่แม่-แม่ คืออะไร ทำอย่างไรให้เด็กในวัยนี้สร้างสมดุลได้

“สมมุติว่าเขาถูกครูตี แล้วเขารู้เลยว่าถ้าเขามาบอกแม่ แม่จะไปที่โรงเรียน แล้วเขาอาจจะรู้สึกว่าเขารับมือไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันเต็มไปด้วยการคิดวิเคราะห์ของเขา เราอาจจะถามว่าวันนี้เป็นยังไงบ้างลูก ลูกก็อาจจะเลือกเล่าบางอย่าง เพราะนี่คือพื้นที่ส่วนตัวของเขา การรับมือของเขา

“เราคิดว่าถ้าในโรงเรียน เวลาเพื่อนถามว่าทำไมไม่อยู่กับพ่อ หรือทำไมมีแม่สองคน ด้วยความที่เขาอยู่ร่วมกันกับเพื่อน 5-6 ปี มันยาวพอที่จะค่อยๆ ตอบ หรือบางทีถ้าโมโหจะไม่ตอบก็ได้เพราะว่าเป็นเพื่อนๆ กัน เรารู้สึกว่าเขาผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมาโดยการเลือกที่จะอธิบายเท่าที่จำเป็นสำหรับเพื่อนที่รับฟัง แต่ถ้ามีอคติเขาก็จะไม่คุย เพราะหลายครั้งเขาก็เจ็บปวดเพราะต้องอธิบายว่าต้องอยู่กับแม่-แม่

“มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เรารู้เลยว่าถ้าคนที่ถามมีอำนาจมากกว่า นี่แหละที่มันจะทิ้งร่องรอยกับเขาได้มากกว่าการที่เพื่อนถาม ตอนที่เขาไปประชุมกับพี่แล้วมีเครือข่ายอื่นๆ เข้ามาประชุมด้วย แล้วเขาก็เข้ามาแอทแทคว่า เธอมีแม่สองคนเหรอ แล้วคนไหนเป็นพ่อ คนไหนเป็นแม่ ตอนนั้นเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่คู่ชีวิตเราอยู่ตรงนั้น เราก็ต้องกันลูกเราออกมาแล้วอธิบายให้ลูกฟังว่าไม่ถูกต้องเลยที่ลูกถูกถามแบบนั้น เราก็เข้าไปที่เครือข่ายว่าคำถามพวกนี้ไม่โอเคเลย ถ้าคนนั้นมาด้วยอำนาจที่ไม่เท่ากันหรือมาด้วยอคติ มันก็สร้างร่องรอยให้กับลูกของเราได้”

แม่เจี๊ยบเล่าว่ามีช่วงที่ลูกเปลี่ยนไปมาก เสียความเชื่อมั่นเพราะถูกบูลลี่อย่างหนักหลังจากที่ออกสื่อให้สัมภาษณ์ประเด็นครอบครัวสีรุ้ง มีการเพิกเฉยหรือหัวเราะเยาะ เธอสังเกตว่าจากที่ลูกสดใส วันหนึ่งก็ค่อยๆ เงียบลงๆ จนต้องเข้าไปคุยกับคุณครูเพื่อขอความร่วมมือ

“ถึงจุดหนึ่งแล้วหน้าที่ของเราก็คือถ้ามันเกินกว่าที่เขาจะรับมือไหว ไม่ว่าเขาร้องขอหรือเราสังเกตเห็น ก็ต้องผ่านกระบวนการตกลงกันที่ว่าแม่ต้องขอเข้าไปแล้วนะ ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งหมดที่อยู่กับลูกมาปีนี้ปีที่ 10 เนี่ย เราเข้าไปโรงเรียนแค่สองครั้งเอง

“ลูกอยู่กับเราแค่กลับบ้านมานอนกับทำกิจกรรม แต่ว่าที่เหลือก็คือชีวิตเขา แล้วเราก็เชื่อใจว่าเครื่องมือที่เขามีมันจะทำให้เขาสามารถเลือกเพื่อนที่โอเค ไม่รังแก สร้างความเข้าใจให้คนที่ไม่เข้าใจเท่าที่ทำได้ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของเขาที่จะไปเปลี่ยนโลก”

เราบอกรักกันเป็นปกติ แต่ไม่ได้ใช้แค่คำว่ารัก เราทำให้เห็นด้วย

ความรักเป็นเรื่องซับซ้อน แต่สำหรับคนที่รัก เราคงจะอยากซับซ้อนกับเขาให้น้อยที่สุด ในบ้านที่ใช้หลักเกณฑ์ของความเป็นเหตุเป็นผลสู้กันอยู่ตลอดเวลา การแสดงออกทางความรักของแม่จุ๋ม แม่เจี๊ยบในฐานะคู่ชีวิตก็ไม่ได้น้อยหน้าการถกเถียง

“ใช้เหตุผลเยอะมาก ทุกเรื่องเลย เวลาแม่เขาทะเลาะกันเขาก็ทะเลาะกันแบบหลักการด้วยนะ แล้วเราก็จะแบบ อ้อๆๆ มีช่วงหนึ่งที่แม่จุ๋ม แม่เจี๊ยบคุยกันเรื่องงานตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอน กินข้าว ทำทุกอย่างเป็นเรื่องงาน เราก็แบบ ไม่ไหวแล้ว” หงส์ลากเสียงยาวพร้อมแสดงสีหน้าที่ทำให้แม่ทั้งสองคนหัวเราะออกมา 

“เรากับพี่จุ๋ม รักกันก็ทำให้เห็น เดินจับมือกัน ดูแลกัน นวดกัน กอดกัน หอมกันเป็นเรื่องปกติให้เขาเห็น แล้วก็ทำแบบนั้นกับเขา เรารักแมวดูแลแมวยังไง เราก็สอนให้เขาดูแลแมวอย่างนั้น แล้วเขาก็ดูแลแมวมากกว่าที่เราดูแลอีก เลยกลายเป็นว่าวิธีการแสดงออกทางความรักของเราคือ ทำให้เห็น อย่างเราชอบวิ่ง แต่พี่จุ๋มไม่ชอบเลย เราก็ต้องไปวิ่งให้พี่จุ๋มดู บังคับเขาไม่ได้ ตอนนี้เขาวิ่งได้ 6 โลฯ แล้ว ถ้าเรารักเขา เราก็ทำให้เขาเห็นว่าเรารักตัวเอง อย่างที่หนึ่ง อย่างที่สองคือเราก็เอื้อให้เขามารักตัวเองด้วยกับเรา 

“คือเราคุยกันทุกเรื่อง เรื่องบางเรื่องที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเด็กเป็นเล็กไม่ต้องรู้ แต่เรารู้สึกว่ามันเกี่ยวกับชีวิตเขา เราก็ต้องให้ลูกรู้ เคารพเขา อย่างเรื่องที่เราเผชิญกับโควิด เราไม่มีเงินเดือน ลูกก็ต้องรู้เพราะเขาจะได้รับผลกระทบ เขาอาจจะไม่สามารถซื้อหนังสือการ์ตูนที่เขาชอบ เพราะว่าเราก็ไม่ได้มีเงินฟุ่มเฟือยได้ขนาดนั้น เขาก็ต้องรู้สถานการณ์ของแม่ แต่วิธีการของเราก็คือเราก็คุยกัน 

“เราคิดว่าการแสดงออกความรักของเราก็คือใช้เวลา ไม่ใช่การอยู่บ้านด้วยกันเฉยๆ แต่ทำอะไรด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน เล่นแมวด้วยกัน ก่อนนอนก็จะให้เขาเข้ามาในห้อง อ่านหนังสือให้ฟัง เราบอกรักกันเป็นปกติ แต่ไม่ได้ใช้แค่คำว่ารัก เราทำให้เห็น”

อะไรที่ทำให้คนในครอบครัวพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง

แม่จุ๋มตอบก่อนอย่างเรียบง่ายและสั้นว่า “เราใช้ฐานในการฟังกันมากกว่า เราคุยเขาก็ฟัง เขาคุยเราก็ฟัง

“แล้วก็พูดกันตรงๆ เรารู้สึกว่าเราอยู่ในสังคมไทยที่พูดกันไม่ได้ เราเลยต้องฝึก คือมันเฮิร์ทเนอะตอนที่เราบอกว่าเฮ้ย เราไม่ชอบนะอันนี้ ขอได้ไหม เขาอาจจะไม่ตั้งใจหรือไม่รู้ตัว แต่เราก็จะบอกว่าอันนี้เราไม่ชอบนะ เรารู้สึกว่าต้องบอกกันตรงๆ” แม่เจี๊ยบต่อความ

การมีครอบครัวแบบแม่-แม่ ลูก เหมือนหรือแตกต่างกับครอบครัวพ่อ แม่ ลูก อย่างไรบ้าง

“คิดว่าโดยหน้าที่มันเหมือนกัน คือใครก็ตามที่ตัดสินใจจะดูแลเด็กคนหนึ่ง มันเป็นภาระหน้าที่ที่เราจะต้องทำให้ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขใดๆ ก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี มันมี commitment ของคนที่เลือกแล้วว่าจะมีลูก ครอบครัวมีหน้าที่ต้องดูแลเด็กให้โตไปแล้วเข้มแข็งและแข็งแรง ดูแลตัวเองได้ 

“คราวนี้สิ่งที่ absolutely ไม่เหมือนเลยกับครอบครัวชาย-หญิงสำหรับเราคือ เด็กจำนวนมาก ยิ่งถ้าเป็นเด็กผู้หญิง เขาจะถูกจำกัดการเรียนรู้เพียงเพราะว่าเป็นผู้หญิง เช่น พ่อแม่อาจจะไม่สนับสนุนให้เด็กผู้หญิงปีนต้นไม้ อย่าไปที่นั่นนะ มันไม่ปลอดภัย อย่าแต่งตัวอย่างนี้นะ เด็กโดยทั่วไปที่ครอบครัวมีกรอบคิดเรื่องสองเพศ เด็กผู้หญิงจะสูญเสียโอกาสบางอย่าง แต่ครอบครัวของเราไม่เป็นแบบนั้น 

“เสื้อผ้า งาน มันไม่ได้มีเพศ อยากจะใส่อะไร อยากจะทำอะไร เลือกเลยลูก แต่วิธีการเลือกก็ต้องมีเงื่อนไขด้วย เช่น จะไปปีนต้นไม้ แล้วใส่กระโปรงลากพื้นจะตกไหม สิ่งที่ไม่เหมือนคือเราจะไม่เอากรอบเพศไปบอกลูกแล้วไปจำกัดสิทธิและโอกาสของเขา แต่เรา challenge (ท้าทาย) ให้เขาได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ให้เต็มศักยภาพของเขา ฉะนั้นพวกเราจะเชียร์มากเลยเวลาลูกปีนต้นไม้ จะพยายามสนับสนุนให้เขากล้าหาญ ไม่กลัว”

ณ ปัจจุบัน พ.ร.บ.คู่ชีวิตของคนที่มีความหลากหลายทางเพศยังดำเนินไปในทำนองแบบแผ่นเสียงตกร่องในหมวดการรับบุตรบุญธรรมและมรดก การจัดการทรัพย์สิน หรือสิทธิในผลประโยชน์และสวัสดิการของคู่รักอีกฝ่ายในฐานะคู่สมรสทางกฎหมาย แม่เจี๊ยบ แม่จุ๋ม ลูกหงส์ยังคงรับรู้ประเด็นนี้และต่อสู้กับมันอยู่ในวิถีที่เชื่อมั่นว่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

“พอรู้สึกว่าเป็นแม่แล้ว เราก็ต้องปกป้องเขาอีก ต้องสู้แล้วแหละ ในทางปฏิบัติแล้วไม่ว่าเราจะได้รับสิทธิในการ adopt เขาหรือไม่ แต่หน้าที่ของเราคือการดูแลเขาให้ดีที่สุด แต่ทีนี้เราไม่สามารถดูแลเขาให้ดีที่สุดได้เพราะกฎหมายไม่อนุญาต รวมถึงว่าการที่เราไม่ได้เป็นผู้ปกครองมันเต็มไปด้วยคำถามมากมาย แล้วเราก็ต้องไปตอบคำถามเหล่านี้ซ้ำๆ เราเลยมีความรู้สึกว่าการต่อสู้เพื่อให้เรามีสิทธิเป็นแม่โดยชอบธรรม เพื่อให้เราสมรสกันได้ตามกฎหมาย มันจะช่วยให้น้องๆ ที่อยู่ในครอบครัวสีรุ้งเหมือนลูกสาวเราไม่ต้องมานั่งตอบคำถามกับสังคมว่ามีด้วยเหรอแม่สองคน มันก็เลยต้องสู้ให้สังคมเข้าใจ”

คำว่า ‘ครอบครัว’ ในแบบเรียนการศึกษาไทยยังมีการกำหนดความเป็นพ่อ-แม่แบบ Heteronormativity หรือบรรทัดฐานที่ยอมรับว่าโลกนี้มีเพียงสองเพศ ในเวลาที่แสงเย็นกำลังทาสีถนนในบริเวณคณะสังคมวิทยาฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้ง 3 คน แม่ แม่ ลูก ให้ความหมายของคำว่าครอบครัวของพวกเขาไว้ดังนี้

แม่จุ๋ม

“จริงๆ ความหมายของเราอาจจะไม่ใช่ความหมายที่สังคมนิยาม ที่มีพ่อ แม่ ลูก มันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น ครอบครัวของเรามันใครก็ได้ เพศไหนก็ได้ สามารถที่จะอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มันทำให้เรารู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย แล้วเรามีพื้นที่ที่จะสื่อสารพูดคุยกันได้ นิยามครอบครัวของสังคมบ้านเราที่มีแต่ พ่อ แม่ ลูก นี่มันหนักหนาสาหัสมากในแบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ มันอาจจะถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบ คำนิยามของคำว่าครอบครัวด้วย ปัจจุบันนี้เวลาหงส์ไปโรงเรียนก็จะมีครูประจำชั้นบอกว่าครอบครัวที่สมบูรณ์จะต้องมีพ่อ แม่ ลูก ครูก็พูดอย่างนี้ซ้ำๆ แล้วเด็กก็หลากหลาย บางคนอยู่กับปู่ บางคนอยู่กับญาติพี่น้อง จริงๆ แล้วสังคมหรือแม้กระทั่งระบบการศึกษาจะต้องทำความเข้าใจคำว่าครอบครัวใหม่สักทีว่ามันสร้างร่องรอยความเจ็บปวดให้เด็กขนาดไหน”

ลูกหงส์

“มันไม่ได้จำกัดแค่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ลูกแบบที่แม่จุ๋ม แม่เจี๊ยบพูด ไม่ใช่ต้องสายเลือดตรงกัน อาจจะเป็นพี่ๆ ที่ทำงานร่วมกันในองค์กรสร้างสรรค์ หรือตอนที่แม่เจี๊ยบทำบ้านพักให้พี่ๆ ที่เป็นชนเผ่า เราก็อยู่กันเป็นครอบครัวซึ่งเราไม่ได้มีสายเลือดเดียวกันอะไรเลย เราก็อยู่กันรักใคร่กลมเกลียว หนูว่ามันก็เป็นความหลากหลายของครอบครัวด้วย ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องอบอุ่นตลอดเวลา มันก็มีปัญหา แต่ว่าปัญหาที่เราเจอ เราก็แก้ไขเสมอ แล้วบ้านก็ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย”

และสุดท้ายแม่เจี๊ยบ

“คำว่าครอบครัว มันจะมีคำว่า ‘ครัว’ ด้วย จริงๆ มันคือที่ที่ต้องรู้สึกอิ่ม fulfilled (เติมเต็ม) น่ะ พร้อมทั้งจิตใจ ทั้งร่างกาย เรารู้สึกว่าครอบครัว เรื่องหลักเลยมันคือเรื่องความปลอดภัย เมีย พ่อ ลูก แม่ แม่ หรือใครก็ตามไม่ควรจะได้รับอันตรายจากการถูกใช้ความรุนแรง ดังนั้นเรื่องแรกครอบครัวสำหรับเราคือการที่จะต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย อันที่สองคือคนในครอบครัวควรจะรับฟังแล้วก็สนับสนุนกันและกัน ไม่ควรที่จะใช้อำนาจจำกัดคนที่มีอำนาจน้อยกว่าในครอบครัว เช่น ผัวก็ไม่ควรจะมาจำกัดเมีย เมียก็ไม่ควรมาจำกัดเพียงเพราะเรามีอำนาจมากกว่า 

“เราควรจะสนับสนุนให้เขาได้ใช้ศักยภาพสุงสุด มันต้องอิ่ม มันต้องอุ่น มันต้องเติบโต แล้วคอนเซ็ปต์นี้มันเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่พูดคุยกัน ไม่รับฟังกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำก็คือเปิดพื้นที่พูดคุย รับฟัง สนับสนุน กินข้าว นอน ทำกิจกรรมด้วยกัน เพราะฉะนั้นมันไม่ได้จำเป็นเลยว่าเราต้องมีสายเลือดเดียวกันเราจึงเรียกมันว่าครอบครัว เราต้องมีพ่อ มีแม่ เราจึงเรียกมันว่าสมบูรณ์ สำหรับเรามันสมบูรณ์ในตัวของมันเองแล้วไม่ว่าจะมีหนึ่งคนหรือสองคน หรือไม่ว่าจะมีเพศอะไรก็ตาม”


Writer

Avatar photo

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า

Photographer

Avatar photo

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

นักแปล นักเขียน ช่างภาพสาว ผู้ทำงานประจำอยู่ 6 เดือนและไม่ทำอีกเลย ซึ่งคิดว่าคงเป็นอย่างนี้ตลอดไป หาตัวได้แถวเชียงใหม่และบางแค หัวบันไดไม่เคยแห้งเพราะจ้างร้อยแต่ให้มาล้านทั้งปริมาณภาพ ความยาวของเนื้อหาและพาดหัว ไม่เคยมีคำว่าน้อยแต่มาก มีแต่คำว่ามากแต่มากกว่า

Related Posts