Monster : ในโลกที่ทุกคนล้วนผิดพลาด เราก็ยังต้องมอบความเป็น ‘สัตว์ประหลาด’ ให้ใครสักคน

ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ภาพยนตร์เรื่อง Monster ได้รับความสนใจจากเหล่านักวิจารณ์ภาพยนตร์ และเป็นกระแสในกลุ่มคนที่ชื่นชอบผลงานของผู้กำกับมือรางวัลอย่าง ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ เป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นผลงานภาพยนตร์ที่โคเรเอดะไม่ได้เขียนบทเอง แต่เป็นฝีมือการเขียนบทจากปลายปากกาของ โยจิ ซากาโมโตะ นักเขียนบทมือฉมัง ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับรางวัล ‘บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม’ จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2023 (Cannes Film Festival 2023) อีกด้วย

เราขอพาทุกคนมาลองสำรวจมุมมองที่เราได้กลับมาจากการชมภาพยนตร์เรื่องนี้

มุมมองของคำว่า ‘สัตว์ประหลาด’ ที่ถูกสร้างขึ้นมา 

ไม่ใช่เพื่อการระบุถึงสิ่งมีชีวิตหน้าตาประหลาดที่ดูไม่คล้ายมนุษย์ แต่เป็นการตีตรามนุษย์ที่มองดูแล้วไม่ปกติธรรมดาในสายตาคนอื่น

บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์

Monster ใช้วิธีการถ่ายทอดเรื่องราวโดยแบ่งออกเป็น 3 องก์ ตามมุมมองของตัวละครหลักอย่าง แม่ ครู และเด็ก เพื่อให้ผู้ชมได้สวมบทบาทผู้สังเกตการณ์ที่มองเห็นเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้น

เรื่องราวในองก์แรก บอกเล่าผ่านมุมมองของแม่เลี้ยงเดี่ยวอย่าง ซาโอริ ที่ห่วงใยลูกชายมาก ซาโอริให้คำมั่นสัญญากับสามีที่เสียชีวิตไปว่าจะดูแล มินาโตะ เป็นอย่างดี เธอบอกกับลูกชายว่าจะดูแลเขาจนถึงวันที่เขาเติบโตมามีครอบครัวปกติธรรมดา ด้วยเหตุนี้เธอจึงพยายามรักษาบรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและลูกให้ไม่เลวร้าย พูดคุยกับเขาอย่างสบายๆ ไม่เข้มงวดกับลูกจนเกินไป

“ถ้าผ่าเอาสมองของคนเราออกไป แล้วเอาสมองหมูมาใส่แทน เราจะยังคงเป็นคนอยู่ไหม?”

มินาโตะถามซาโอริในขณะที่ทั้งคู่ออกมายืนดูเปลวเพลิงที่กำลังลุกไหม้สถานบันเทิงแห่งหนึ่ง ไม่ใกล้ไม่ไกลจากห้องพักที่สองแม่ลูกอาศัยอยู่ 

หากฟังเผินๆ อาจดูเหมือนว่าเป็นคำถามที่เกิดจากความอยากรู้และความช่างสงสัยของเด็กวัยนี้ แต่แล้วซาโอริก็เริ่มสังเกตเห็นว่าหลังจากวันนั้นลูกชายของเธอก็เริ่มมีพฤติกรรมที่แปลกไปจากเดิม 

เมื่อพฤติกรรมแปลกๆ ของลูกชายเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นที่มินาโตะเปิดประตูเพื่อกระโดดลงจากรถ ซาโอริจึงพยายามเพื่อหาสาเหตุของพฤติกรรมเหล่านี้ จนกระทั่งมินาโตะเอ่ยปากว่าเรื่องทั้งหมดนั้นเกิดจาก ครูโฮริ ครูประจำชั้นที่มาบอกว่าสมองของเขานั้นเป็นสมองหมู และทำร้ายร่างกายเขา ซาโอริจึงบุกไปยังโรงเรียนของลูกเพื่อหาคำตอบ แต่สิ่งที่เธอได้รับจากครูและผู้อำนวยการกลับมีเพียงการยืนโค้งคำนับและพูดคำว่า “ขอโทษ” เพียงเท่านั้น

“ที่ฉันพูดอยู่ด้วยนี่เป็นคนหรือเปล่า?” ซาโอริถามผู้อำนวยการที่ยังคงก้มหน้าไม่ปริปากพูดสิ่งใด 

ทว่าเมื่อพยายามกลับมาเค้นหาคำตอบที่โรงเรียนอยู่หลายครั้ง ท้ายที่สุดสิ่งที่ครูโฮริตอบกลับมากลับทำให้คนเป็นแม่อย่างเธอถึงกับชะงักไป

“ลูกชายของคุณต่างหากที่รังแกเด็กคนอื่น”

เมื่อองก์ที่สองเริ่มขึ้น เส้นเรื่องถูกสลับเปลี่ยน ย้อนกลับมาเล่าเรื่องราวบนเส้นเวลาคู่ขนานในมุมมองของครูและผู้อำนวยการ

ในสายตาของครูประจำชั้นอย่างโฮริ มินาโตะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีเท่าไรนักกับ โฮชิกาวะ เพื่อนร่วมห้อง เพราะดูเหมือนว่ามินาโตะนั้นจะเป็นคนที่พยายามกลั่นแกล้งโฮชิกาวะ และต่อมาไม่นานนักมินาโตะก็เกิดอาละวาดในห้องเรียน โฮริจึงพยายามเข้าไปช่วยเหลือ แต่เกิดอุบัติเหตุทำให้มินาโตะได้รับบาดเจ็บ

“แม่เลี้ยงเดี่ยวก็อย่างนี้แหละ ปกป้องลูกชายมากเกินไป” โฮริบอกกับแฟนสาว หลังจากเล่าเรื่องราวให้เธอฟัง

แต่เมื่อเรื่องราวกลับกลายเป็นข่าวใหญ่โต โฮริถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นครูใจร้าย และเมื่อผู้อำนวยการต้องการรักษาชื่อเสียงของโรงเรียนเอาไว้ โฮริเองก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากต้องออกมาก้มหน้ายอมรับผิด

ก่อนหน้านี้ผู้อำนวยการเองก็มีปัญหาชีวิตเช่นกัน สามีของเธอถอยรถทับหลานสาวตัวเอง แต่ถึงอย่างนั้นก็มีเสียงจากคนรอบข้างที่คิดว่าเธอเองนั่นแหละที่เป็นคนทำ เหตุการณ์นี้ก็ทำให้เธอมีอาการเลื่อนลอย สติไม่อยู่กับเนื้อกับตัว จนกลายเป็นสาเหตุของการนิ่งเฉยเมื่ออยู่ต่อหน้าผู้ปกครองเด็ก ไร้ซึ่งคำอธิบายที่นอกเหนือไปจากคำว่าขอโทษ

และท้ายที่สุดก็ดำเนินมาถึงองก์ที่สามซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวในมุมของเด็กๆ ทั้งสองคน

โฮชิกาวะเติบโตมากับคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ชอบเที่ยวสถานบันเทิง และมักจะเรียกเขาว่า ‘ไอ้สมองหมู’ 
เมื่ออยู่ที่โรงเรียน เพื่อนๆ ในห้องมักจะรุมกลั่นแกล้งโฮชิกาวะ พร้อมทั้งล้อเลียนถึงอัตลักษณ์ทางเพศ แต่มินาโตะเป็นเพียงคนเดียวที่ยอมเล่นกับเขา
ทั้งสองเริ่มสนิทกันและใช้เวลาในการขลุกอยู่ในฐานทัพเล็กๆ ณ โบกี้ทิ้งร้างในป่าทางรถไฟสายเก่า อยู่ใน ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ที่มีเพียงพวกเขาเท่านั้นที่รู้

สัตว์ประหลาด คือคนไหน” 

เสียงของเด็กทั้งสองที่กำลังเล่นการ์ดเกมทายสัตว์ประหลาดดังขึ้น

ตลอดระยะเวลาที่เรื่องราวดำเนินไป ร่องรอยของสัตว์ประหลาดถูกทิ้งเอาไว้ในระหว่างทาง

แปลกแยก ผิดแผก แตกต่าง
เพิกเฉย ตัดสิน ตีตรา

ร่องรอยของสัตว์ประหลาดที่ยังคงเป็นปริศนา ทำให้เราพยายามตามหา ‘สัตว์ประหลาดที่แท้จริง’

คาดเดาและตีความไปต่างๆ นานา จนกระทั่งเมื่อภาพจากมุมมองของทุกตัวละครปรากฏขึ้นมา และค่อยๆ ขยับเข้าหากันจนรวมเป็นภาพขนาดใหญ่ 

เวลานั้นเองที่ผู้ชมอย่างเรามองเห็นส่วนที่ทับซ้อนและเชื่อมโยงกันจนประกอบเป็นภาพภาพหนึ่ง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังคงมีบางส่วนที่เหลื่อมออกมา และไม่มีทางที่จะทับซ้อนกับส่วนอื่นได้

เรื่องราวของทุกตัวละครมีมุมที่ถูกซ่อนเอาไว้ และไม่มีทางที่คนอื่นจะได้รับรู้ หากไม่ได้อยู่ในฐานะ ‘ผู้ชม’ ที่มองเห็นเบื้องลึกเบื้องหลังทั้งหมด

Monster ทิ้งคำถามสำคัญเอาไว้ให้เราตลอดทั้งเรื่อง
และในระหว่างที่เรากำลังค้นหาคำตอบว่าในสังคมที่ทุกคนล้วนทำผิดพลาด ใครกันแน่ที่เป็นสัตว์ประหลาด เราก็ได้มองเห็น ‘ความธรรมดา’ ของมนุษย์ที่เป็นสาเหตุของความประหลาดในเรื่องนี้ 

ลูกชายที่กลัวว่าจะไม่สามารถเติบโตไปมีครอบครัวปกติธรรมดาอย่างที่แม่อยากเห็น 
แม่ที่แบกรับภาระหน้าที่และพยายามดูแลลูกอย่างดีจนกดดันตัวเอง
ครูประจำชั้นที่เข้าใจเด็กผิดไป หลังจากที่พยายามสอดส่องดูแลเด็กๆ ให้ทั่วถึง 
ผู้อำนวยการที่เหม่อลอยเพราะจมจ่อมอยู่กับความผิดพลาดและการสูญเสีย
เด็กที่อารมณ์ดีและเข้มแข็งหลังจากที่ถูกพ่อทำร้ายและด่าทออยู่เสมอ
ทุกตัวละครมีเหตุผลของการกระทำซุกซ่อนอยู่ในมุมที่คนอื่นไม่อาจมองเห็นหรือเข้าใจได้
ทว่าเรากลับพยายามตามหาใครสักคนที่จะมารับบทเป็น ‘สัตว์ประหลาด’ ในโลกใบนี้

หากเราทุกคนต่างมีความประหลาดที่ปรากฏออกมา
แล้วเหตุใดจึงต้องมีใครสักคนถูกตราหน้าว่าเป็นสัตว์ประหลาด


Writer

Avatar photo

ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts