คุยกับแม่ของลูก LGBTQ+: ลูกแม่ต้องไม่แค่ปลอดภัย แต่ต้องมีความสุขเฉิดฉายบนพรมแดง

  • คุยกับ ‘แม่แหม่ม’ แม่คนหนึ่งซึ่งมีลูกเป็น LGBTQ+ หรือ เพศทางเลือก และแม่แหม่มก็รับและรักอย่างที่ลูกเป็น
  • แม่แหม่มไม่ได้รับได้ตั้งแต่แรก เคยพยายามเปลี่ยน พยายามสอน สุดท้ายก็ยอมเพราะเห็นแล้วว่าลูกชายมีความสุขที่สุดเมื่ออยู่กับเพื่อนผู้หญิง
  • ระหว่างเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์กับเลี้ยงดูแม่ตอนแก่ แม่แหม่มถูกยื่นคำขาด ก่อนจะตอบว่า “แม่อยากได้เงินมากกว่า (หัวเราะ) แม่ไม่เกาะก็ได้ชายผ้าเหลือง”

‘แม่แหม่ม’ ไม่ได้เป็น somebody ที่พูดอะไรออกไปจะมีคนรอฟัง แม่แหม่มเป็นเพียงแม่คนหนึ่งซึ่งมีลูกเป็น LGBTQ+ หรือ เพศทางเลือก และแม่แหม่มก็รับและรักอย่างที่ลูกเป็น

เอาจริงๆ แม่แหม่มก็ไม่ใช่แม่ในฝันที่รับได้ตั้งแต่แรกๆ น่าจะจับทางได้ตอนลูกอยู่ชั้นประถม เพื่อนเขาเตะบอลกัน แต่ลูกชายแม่ไม่ 

“ไม่ใช่มั้ง” คำแรกๆ ที่แม่แหม่มบอกกับตัวเอง เท่านั้นยังไม่พอ แม่แหม่มพยายามสอนลูกให้ต่อสู้อย่างผู้ชาย 

“ต่อยมวยท่าไม่ได้ใช่ไหม อย่างนี้สิลูก (หัวเราะ)” ว่าแล้วแม่แหม่มก็รัวหมัดพร้อมอัพเปอร์คัทให้ลูกดู 

หลังจากนั้นแม่แหม่มก็สอนอีกตั้งหลายอย่าง ขณะเดียวกันก็สังเกตเห็นทีละเล็กทีละน้อยว่าลูกมีความสุขและเป็นตัวของตัวเองมากๆ เวลาอยู่กับเพื่อนผู้หญิง

บทสนทนากับ ‘แม่แหม่ม’ ถัดจากนี้ไม่มีดราม่า มีแต่เรื่องเล่าตลก เพื่อจะบอกว่า LGBTQ+ เป็นเรื่องธรรมชาติและธรรมดา 

“เมื่อก่อนเราก็คิดว่าเราเองที่เลี้ยงลูกไม่ดี แต่เดี๋ยวนี้…ทำไมไม่ลองมีแฟนเป็นฝรั่งล่ะ เราเยอะ(หัวเราะ)” 

แต่ก่อนแม่แหม่มรู้สึกยังไงกับเพศทางเลือกบ้าง

มีเพื่อนแบบนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว เราก็เห็นว่า เราไม่ได้ไม่ชอบอะไรเขา เห็นว่าเขาสนุกดี ชอบ มีเพื่อนแนวนี้เยอะ

สมัยนั้นเพศทางเลือกเป็นที่ยอมรับกันไหม หรือต้องแอบเป็น

ก็ไม่ต้องแอบนะ เขาก็เป็นปกติของเขา ใช้ชีวิตแบบเปิดเผยของเขา

ตอนแม่แหม่มมีลูกคนแรก คิดว่าอยากให้เขาโตไปเป็นแบบไหน

อย่างแรก อยากให้ลูกเป็นเด็กดี ไม่เกเร ก็ไม่ได้คิดนะว่าลูกจะเป็นเพศทางเลือก 

แล้วแม่แหม่มรู้ตั้งแต่ตอนไหนว่าลูกเป็นเพศทางเลือก

รู้ตั้งแต่เขาอยู่ประถมเลย เราก็สังเกตว่าเขาไม่เตะบอล ลูกไม่ชอบเล่นอะไรที่โลดโผน ไม่เล่นอะไรจริงจัง ก็เห็นละว่าลูกเราน่าจะใช่

พอค่อนข้างแน่ใจแล้ว แล้วความคิดแรกที่แวบเข้ามาในหัวคืออะไร

ไม่ใช่ม้างงงง (หัวเราะ) เดี๋ยวเราลองสอนให้เขาต่อสู้แบบผู้ชายดีกว่า หรือว่าเขาอยู่ใกล้เรามากเกินไปรึเปล่า เดี๋ยวเราลองสอนดูก่อน อาจจะไม่ใช่ก็ได้ 

ทำไมถึงคิดว่าอาจจะไม่ใช่ ทำไมต้องสอนต่อสู้

คิดว่า ถ้าเขาเป็นตามเพศสภาพเขา มันก็น่าจะดีกว่า มันน่าจะง่ายกว่า อาจจะแก้ไขได้ แต่จะได้หรือไม่ได้รึเปล่าไม่รู้นะ ความคิดตอนนั้นก็คือ เรามาลองสอนสิ 

สุดท้ายแม่แหม่มได้สอนไหม สอนให้เขาเป็นในเพศสภาพที่เขาเป็น สอนอะไรบ้าง

สอนสิ เวลาที่เขาทำอะไรตุ้งติ้ง เราจะแบบว่า ลูกกก (ลากเสียงยาว) เราต้องทำอะไรที่มันแข็งแรงสิ อย่างงี้ๆ ไม่ใช่อย่างงี้นะ 

ยกตัวอย่างได้ไหม

ง่ายๆ เลย ต่อยมวย เขาจะต่อยแบบนี้ (ต่อยเบาๆ กำมือหลวมๆ) เราก็ ไม่ใช่ลูก! เราต้องตั้งการ์ดแบบนี้สิ ต่อยๆ แบบนี้ (ชกแบบขึงขัง)  

เพราะเรากลัวลูกจะโดนแกล้ง เราเห็นจากข่าว ตุ๊ดเด็กโดนเพื่อนแกล้ง ลูกยังเล่าให้ฟังเลยว่าตอนประถมยังโดนแกล้ง ด้วยความที่ไม่ไปเล่นบอลกับเพื่อน ไม่เข้าพวกกับเด็กผู้ชาย เลยโดนเพื่อนแอนตี้ โดนเพื่อนเรียกว่าอีตุ๊ด แต่ลูกเพิ่งมาเล่าให้ฟังตอนโต

แล้วพอสอนไปเรื่อยๆ ลูกมาบอกไหมว่าเป็นนะ หรือแม่แหม่มตั้งคำถามก่อน

เขาไม่บอก เราก็ไม่ได้พูด เราไม่ได้มีการเฉลยกันนะ 

เหมือนรู้ด้วยกันเอง? 

ใช่ ประมาณว่า เรารู้กันโดยไม่ต้องพูด

เขาไม่ได้เดินมาบอก แต่ทุกการแสดงออกของเขามันใช่ เราก็ค่อยๆ ยอมรับไปเรื่อยๆ แล้วก็อยู่กับเขาให้ได้ พอมันมีความเอ็นดู มีความรัก มีความอะลุ่มอล่วย มันทำให้ทุกอย่างค่อยๆ เป็นไปในทางที่ดีและราบรื่น

ทำไมแม่แหม่มเลือกที่จะไม่ถาม

ไม่ต้องถามก็ได้ เพราะเรารู้ว่าลูกเราไม่ชอบคำถามจี้ ฉันเป็นก็เป็น ฉันอยากพูดก็พูดเอง 

แล้วอะไรที่ทำให้แม่แหม่มรู้สึกว่าจากพยายามสอนให้เขาขึงขัง คลี่คลายไม่ต้องถามแล้ว

มันค่อยๆ ยอมรับไปเรื่อยๆ ตอนแรกก็มีเล็กๆ ที่อาจจะไม่ใช่มั้ง เราต้องแก้ได้สิ แต่เราก็ดูๆ ไป นี่มันก็ลูกเรา สงสาร เอ็นดู โอเค เรายอมรับเขาได้ทีละนิด ซึมซับไปเรื่อยๆ คนเป็นแม่อะค่ะ เราขออย่างเดียวขอให้เขามีความสุขก็พอ 

แม่แหม่มจัดการความรู้สึกยังไง 

มันแทบจะไม่มีวิธีการจัดการใดๆ แม่ไม่รู้เลยว่าเราจัดการความรู้สึกไปเมื่อตอนไหน คือมันค่อยๆ เป็นไปทีละนิด แต่มันจะมีตอนที่ เอาล่ะ เราจะต้องบอกเพื่อนๆ รอบตัวให้รู้ว่าลูกฉันเป็นอย่างนี้ อันนั้นคือทุกข์ใจ กลัวเขาเอาไปเมาท์ เพื่อนจะเอาลูกเราไปพูดในทางที่ไม่ดีหรือเปล่า เราก็ได้แต่แบบว่าจะเอายังไงดีนะ ตอนนั้นลูกเราก็เพิ่งสอบเข้ามหา’ลัยได้ เราคิดไว้ในใจว่าต่อไปนี้เราจะให้ลูกเป็นในแบบที่เขาอยากเป็น อยากให้เขาเต็มที่กับชีวิตไปเลย เดี๋ยวเราจะไปพูดกับเพื่อนๆ ของเราเองว่าลูกเราเป็นนะ สารภาพว่าตอนนั้นเราค่อนข้างเครียด ถึงขนาดต้องหาบทสวดมนต์มาสวด (หัวเราะ) อยากสบายใจ แต่พอบอกเพื่อนๆ ไปแล้ว เพื่อนก็บอกว่าไม่เห็นเป็นไรเลย

แม่แหม่มบอกเพื่อนๆ ว่ายังไง 

แม่บอกว่า เนี่ย ลูกเป็นอย่างนี้นะ กลับกลายเป็นว่าเพื่อนทุกคนบอกว่าไม่เห็นเป็นไรเลย จะเป็นอะไรไม่เห็นแปลก พอเพื่อนคนนี้พูดแบบนี้ปุ๊บเราก็มีกำลังใจจะไปบอกคนต่อๆ ไป จนครบกลุ่มของเรา

แล้วได้บอกญาติๆ ไหม

เลือกบอกแม่ของตัวเอง (ยาย) บอกว่า แม่ หลานเขาไม่ได้เป็นผู้ชายเต็มตัว เขาเป็นสาวนะ แม่ก็ตอบมาว่า เหรอ แล้วลองสอนดูรึยัง เราก็บอกทำทุกวิถีทางละ จนมั่นใจว่าเขาเป็น ยายก็บอกว่างั้นไม่เป็นไร เป็นอย่างงี้ก็เป็น 

มันมีช็อตไหนไหม ที่แม่รู้สึกว่าลูกมีความสุขมากๆ กับชีวิตแบบนี้

เขาจะมีความสุขก็ตอนที่อยู่กับเพื่อนๆ ผู้หญิงของเขา เขาได้เป็นตัวของตัวเอง

ตอนอยู่บ้านเป็นยังไง 

เราก็คุยกันเรื่องน้ำหอม เรื่องสีผม อยากมีสีปากประมาณอย่างงี้ ทาสีนี้ให้มันแบบธรรมชาติ เราเองต่างหากที่สอนลูกว่า ทำไมไม่ลงรองพื้นบ้างล่ะ (หัวเราะ) เราก็เหมือนมีเพื่อนไปด้วย

ถ้าเทียบกัน ตอนที่รู้และยอมรับแล้ว คุยสนุกกันมากขึ้นใช่ไหม

บางทีเขาก็กั๊กๆ อะ แต่เหมือนหลังๆ มีโอกาสได้มาคุยกันว่า แม่รู้ว่าเราน่ะเป็นนะ เลี้ยงมาทำไมจะไม่รู้ เห็นเช้าจรดเย็นทำไมจะไม่รู้ เขายังบอกว่า ไม่รู้เลยว่าแม่รู้

แม่รู้สึกยังไงบ้างเวลาที่เราเห็นข่าวที่เด็กๆ เพศทางเลือกคนอื่นโดนทำร้าย โดยเฉพาะโดนทำร้ายจากครอบครัว 

เห็นแล้วสงสารเขา ทำไมเขาไปทำร้ายเด็ก ทำไมไม่คิดว่าเขาคือลูกล่ะ ทำไมไม่ใช้ความสงสารหรือความรักไปพูดคุยกับลูกล่ะ

แม่คิดยังไงกับประโยคที่บอกว่า ลูกฉันจะเป็นอะไรก็ได้ ก็ขอให้เป็นคนดีก็พอ

ด้วยความเป็นแม่เนอะ แม่ว่า มันเป็นข้อความที่ดี แม่ทุกคนคงจะคิดอย่างงี้ ถ้าลูกเรามีความสุข เป็นอะไรก็ได้นะ

คือเป็นอะไรก็ได้ขอให้ลูกมีความสุขก็พอใช่ไหม ไม่ต้องเป็นคนดีรึเปล่า

ต้องเป็นคนดีสิ (หัวเราะ) 

คนดีของแม่คืออะไร

คนดีของแม่ก็คือเด็กดี ตั้งใจเรียน ส่วนเขาจะไปเป็นสาวหรือเขาจะทำอะไรก็เต็มที่ เอาจริงๆ แม่ยังบอกว่า ลูก แรดให้เต็มที่นะ ต้องนัดเพื่อนไปร้านเหล้าบ้างนะ ทำไมไม่ลองมีแฟนเป็นฝรั่งล่ะ เราเยอะ (หัวเราะ)

คือทำอะไรแล้วก็ทำให้สุดใช่ไหม

อยากให้ลูกมีแฟน เอ๊ะ หรือลองแชทคุยไหม ทินเดอร์ ทำไมไม่ลองหาแฟนทางนั้นบ้าง คุยๆ ไปก่อน บริหารเสน่ห์ (หัวเราะ)

ถ้าสมมุติว่าแม่แหม่มเลือกที่จะทำเป็นไม่รู้ต่อไป คิดว่าจะแตกต่างจากตอนนี้ไหม

คิดว่าลูกคงอึดอัด เพราะว่าลูกแม่เขาเป็นเด็กที่ติดบ้าน ติดแม่ เราเป็นนิสัยงี้ด้วยมั้งเลยไม่ปล่อยให้ลูกต้องอึดอัด 

ความรู้สึกของคุณแม่แตกต่างไหม ตอนแรกอยากสอนให้ลูกต่อยมวยแต่ตอนนี้มาสอนให้ลูกแต่งหน้า 

ตอนนั้นเราอยากเปลี่ยนแปลงเขา เพราะเรามโนเองว่าเพื่อนจะยอมรับไหม เขาจะโดนแกล้งไหม เขาจะมีความสุขไหม แก่ไปจะมีคนดูแลไหม แต่มันก็ค่อยๆ เรียนรู้และยอมรับเอง ตอนนั้นสื่อก็มีออกมาเรื่อยๆ คนนี้เขาเป็นแบบนี้แต่ประสบความสำเร็จ คนนี้เขาเจออุปสรรคแต่ก็ยังประสบความสำเร็จ เราดูแล้วก็เอามาปรับกับตัวเอง ปรับกับลูกเรา 

พอได้ทำกิจกรรมด้วยกัน อย่าง ช็อบปิ้ง แต่งหน้า ฯลฯ ก็มีความสุขค่ะ ได้ทำอะไรกับลูก ได้พูดคุยกันเต็มที่ ลูกได้เพื่อนคุยที่เป็นเพื่อนด้วย เป็นแม่ด้วย เราเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของ เขา เป็นเพื่อนที่เจ๋งของเขาละ

เคยคุยกับลูกไหม ว่าทำไมไม่เลือกที่จะเล่าเอง 

เพราะคิดว่าเราไม่รู้ ด้วยความเป็นเด็กเขาคงคิดของเขาแล้วว่าเขาสู้ไปด้วยตัวเองดีกว่า ไม่บอกพ่อแม่หรอก 

แม่แหม่มมีวิธีการยังไงที่จะสื่อสารให้ลูกรู้ว่า แม่พร้อมที่จะยอมรับแล้วนะ

ตอนเขาสอบเข้ามหา’ลัยได้ แม่บอกว่าต่อไปอยากเป็นอะไรก็เป็นได้เต็มที่เลย ลูกสอบเข้ามหา’ลัยได้เพราะความตั้งใจและทุ่มเท ประสบความสำเร็จอีกขั้นนึงแล้ว  

แม่จะสอนเลยว่าลูกจะต้องไปดื่มกับเพื่อนนะ การไปดื่มไม่จำเป็นต้องดื่มเยอะ ไปแกล้งๆ จิบ ไปเมาท์อย่างเดียว ไปสร้างความสุขให้เพื่อน สอนจนเขาบอกว่า แม่เยอะไปเนอะ (หัวเราะ) 

ขณะที่พ่อแม่บางคนโทษตัวเองว่าเลี้ยงลูกให้เป็นอย่างนี้ ในฐานะที่แม่แหม่มผ่านตรงนี้มา มีคำแนะนำหรือวิธีการรับมือเรื่องแบบนี้ไหม

ไม่ต้องคิดว่าใครบกพร่องหรือใครผิด มันอยู่ที่เด็กเขาเกิดมาเขาเป็นแบบนี้ เมื่อก่อนเราก็คิดว่าเราเองที่เลี้ยงลูกไม่ดี แต่เดี๋ยวนี้สื่อออกมาเยอะแยะ เพียงแค่เขาเกิดมาไม่ตรงกับเพศสภาพเขาเท่านั้น จิตใจเขาเป็นแบบนั้นตั้งแต่แรกแล้ว แล้วทำไมเราต้องมาทำให้เขาไม่มั่นใจด้วย มองว่าเขาเป็นลูก เอ็นดู ให้ความรักเขา ยังไงเราก็ยอมได้หมด

ผู้ใหญ่สมัยก่อน มีค่านิยมเรื่องลูกชายต้องบวชจะได้เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ แม่แหม่มคิดว่ายังไง 

ลูกบอกเองเลยว่า ไม่บวชนะ แม่ก็ถามว่าทำไมไม่บวชล่ะ เดี๋ยวแม่ไม่ได้เกาะชายผ้าเหลืองนะ เขาก็บอกว่า แม่อยากเกาะชายผ้าเหลืองหรือแม่อยากให้ลูกเลี้ยงตอนแก่ล่ะ อือ… แม่อยากได้เงินมากกว่า (หัวเราะ) พอลูกยื่นข้อเสนอมาเนอะ แม่ไม่เกาะก็ได้ชายผ้าเหลือง 

วันหนึ่งที่ไม่มีแม่แหม่มแล้ว เป็นห่วงเรื่องอะไรบ้าง

 ห่วงว่าเขาจะมีเพื่อนที่ดีไหม ถ้าสมมุติไม่มีแม่อยู่ใกล้ๆ แต่ก็คิดว่าเขาคงฉลาดคบเพื่อนดีๆ ได้

ถ้าเขาแต่งงาน แม่แหม่มอยากให้งานแต่งงานเป็นแบบไหน

จูงมือกันเข้าโบสถ์ อยากได้ลูกเขยต่างชาติ แต่แม่คงคุยด้วยไม่ได้เนอะ (หัวเราะ) ถ้าเป็นภาษาอังกฤษแม่ก็คงแบบ ตายละ แม่จะพูดยังไง หรือจะขันหมากก็ได้ แม่ก็รำหน้าขันหมากได้อยู่ (หัวเราะ) 

อาจยังมีพ่อแม่หลายคนที่เขากำลังสงสัยหรือรู้แล้วว่าลูกเป็นเพศทางเลือก แม่แหม่มมีคำแนะนำหรืออยากฝากถึงผู้ปกครองคนอื่นๆ ไหม

ฝากถึงผู้ปกครองที่กำลังคิดว่าลูกเขากำลังจะเป็น ให้เห็นอกเห็นใจ เขาก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่เกิดมาบนโลกใบนี้ เขาเองไม่รู้หรอกว่าเขาจะเป็นแบบนี้ เราเป็นพ่อแม่ เราต้องยอมรับเขาให้ได้ก่อน สังคมถึงจะยอมรับเขาได้

บ้านแม่แหม่ม เริ่มต้นจากแม่ที่ค่อยๆ ทำความเข้าใจและยอมรับ อยากถามถึงคุณพ่อว่าเป็นอย่างไรบ้าง 

ค่อยๆ คุยกับพ่อเขาว่า เนี่ย สังเกตลูกเรา เขาน่าจะเป็นแบบนี้นะ เราก็ไปหยั่งเชิง ถามว่าป๊าคิดยังไง เขาก็ตอบมาแบบไม่หรอก เราก็บอกว่าใช่ มันใช่นะ เราดูแล้ว เราประเมินแล้ว เราพยายามพูดไปเรื่อยๆ จนพ่อเขาคิดว่ามันใช่แน่นอน บอกทีละนิด ทีละหน่อย เหมือนเคลียร์ทางให้เขาค่อยๆ ยอมรับไปกับเราด้วย ดีที่สามีเป็นคนพูดไม่ยาก เราก็พูดไปเรื่อยๆ จนเขาบอกว่า ถ้าเป็นก็ไม่เห็นเป็นไรเลย 

เหมือนแม่รับหน้าที่เป็นตัวกลาง?

ใช่ เราเป็นโค้ชไง ต้องเคลียร์ทางให้ลูก ปูพรมให้เขาเดินและเขาจะเดินธรรมดาไม่ได้ ลูกแม่ต้องเดินบนพรมแดงออสการ์ (หัวเราะ) 

ครอบครัวสำคัญมากๆ กับการที่เด็กคนหนึ่งรู้สึกว่าเขาจะปลอดภัย

ใช่ ทุกวันนี้เขารู้สึกปลอดภัย เขาเป็นเด็กที่ชอบอยู่บ้าน อยู่กับแม่ มีอะไรคุยกับแม่ มีอะไรเล่าให้ฟังหมด มันมีความสุขและปลอดภัย เลยไม่ต้องไปหาที่พึ่งพิงที่อื่น ไม่ต้องไปหาความรักจากที่อื่นแล้ว

พ่อกับแม่ต้องเป็นผู้รับฟังที่ดีก่อน?

พ่อแม่ต้องมีความโอบอ้อมอารี เห็นอกเห็นใจ เราก็ต้องเคารพเขา เคารพในสิ่งที่เขาเป็น

สังคมตอนนี้ที่ดูเหมือนค่อนข้างเปิดเกี่ยวกับเพศทางเลือก แต่ความจริงแล้วยังมีข้อจำกัดบางอย่างอยู่ เช่น กฎหมายสมรสเท่าเทียมที่ยังไม่ผ่าน ทำให้คู่ชีวิตทำธุรกรรมด้วยกันไม่ได้ ซื้อบ้านด้วยกันไม่ได้ เวลาอีกคนบาดเจ็บสาหัส ก็ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องการรักษาได้ เพราะไม่ใช่ญาติกันทางกฎหมาย ฯลฯ 

ถ้าเกิดว่ากฎหมายนี้มันผลักดันได้ก็ดีค่ะ เพราะคู่ชีวิตที่เขาอยู่ด้วยกัน เขาก็ควรได้แชร์สิ่งที่เขาหามาด้วยกันหรือเขาได้ทำมาร่วมกัน 

จริงๆ แค่การเปิดบทสนทนาแบบนี้กับลูกคงก็เป็นเรื่องยากแล้ว ไม่กล้าถาม ไม่กล้าพูด ถ้าบ้านไหนอยากเริ่มต้น แม่แหม่มมีวิธีการเปิดบทสนทนาอย่างไรบ้าง

เราต้องรู้ก่อนว่าลูกเราเป็นคนประเภทไหน พูดได้ไหม ถ้าลูกเป็นประเภทพูดอะไรก็ได้ คุยได้ทุกอย่าง เราก็พูดเลย แต่ถ้าลูกเป็นประเภทไม่ต้องมาจี้เรื่องพวกนี้ พ่อแม่ไม่ควรถามว่า เป็นหรือเปล่า บางคนเขาไม่ชอบคำพูดพวกนี้ เราอาจใช้วิธีแสดงออกให้เขารู้ ถ้าเขาสบายใจเขาจะพูดกับเราเอง

เช่นอะไรบ้าง ยกตัวอย่างได้ไหม

เช่น อย่างลูกเราไม่ชอบให้พูดว่า เป็นใช่ไหม เราก็จะ ลูกขา ลูกคะ ใช้คะขากับลูก เราสาวใส่ลูกก่อน ลูกก็จะแบบว่า โอเค แม่สาวจัง เขาก็จะสบายใจเหมือนคุยกับเพื่อนสาว บางทีเราก็แบบลูก ปากอันนี้เอาทินต์นี้ทาสิคะ เอาทาด้านในสิ บลัชออนของแม่ตรงนี้ใช้ได้นะ สีธรรมชาติ คอนซีลเลอร์แต้มๆ ใต้ตาหน่อยสวยนะ แต่เราก็ไม่ได้บอกว่า ลูก ลูกเป็นสาวเหรอคะ เราค่อยๆ คืบๆ คลานๆ ไป คุยเหมือนคุยกับลูกสาว แต่วิธีใครก็วิธีมันนะ อย่างเดียวที่ควรทำคือ สังเกตลูกเราว่าเป็นคนลักษณะไหน เราจะได้คุยกับลูกเราทางนั้น

จนถึงตอนนี้ แม่แหม่มอยากให้ลูกทำอะไรอีกไหม 

ไม่นะ ไม่อยากให้ทำอะไรเพิ่มแล้ว เขาก็เป็นแบบนี้ดีแล้ว สนุกไปตามวัย ร่าเริงไปตามวัย มีความสุข


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Avatar photo

นภัสสร มหาวรรณ

โตมากับการได้ฝึกเต้นด้วยตัวเอง เชื่อว่าการพัฒนาของเราเกิดจากการได้เคลื่อนไหวร่างกายมากกว่าท่องตำราเรียน และคิดว่าทุก ๆ ที่ควรมีพื้นที่สำหรับกิจกรรมของวัยทีนแบบเรา ๆ

Related Posts