NFT

NFT101: NFT คืออะไร โลก Metaverse เป็นแบบไหน พ่อแม่รู้ไว้ จะได้คุยกับลูกรู้เรื่อง

  • NFT คืออะไร Metaverse หน้าตาเป็นอย่างไร เพราะนี่คือโลกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ และเป็นสิ่งพ่อแม่ควรรู้ไว้ อย่างน้อยไม่ได้เข้าใจทั้งหมด แต่พ่อแม่จะเป็นที่ปรึกษาให้ลูกได้
  • สนทนากับ ‘เบียร์’ รัฐโรจน์ พณิชย์จุติ CEO และ Co-Founder NextArt แพลตฟอร์มซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญา ในรูปแบบของ NFT ว่าด้วยเรื่อง “NFT101” เริ่มต้นตั้งแต่ความหมายจนถึงการเตรียมตัวเข้าตลาด NFT
  • เพราะ NFT คือส่วนหนึ่งของโลกดิจิทัลซึ่งเป็นโลกใหม่ที่พ่อแม่ควรรู้ จะได้คุยกับลูกรู้เรื่อง

“แม่ หนูขอวาดรูปขายใน NFT ได้ไหม เพื่อนบอกว่าได้เงินเยอะ”

ถ้าลูกถามอย่างนี้ พ่อแม่ที่ยังไม่รู้เลยว่า NFT คืออะไร จะตอบยังไง

อยากทำความรู้จัก NFT ให้มากขึ้น เพื่อที่จะคุยกับลูกให้รู้เรื่อง แต่อ่านเท่าไรก็ไม่เข้าใจ ถ้าเป็นแบบนั้น เราคือเพื่อนกัน 

สนทนากับ ‘เบียร์’ รัฐโรจน์ พณิชย์จุติ CEO และ Co-Founder NextArt แพลตฟอร์มซื้อขายทรัพย์สินทางปัญญา ในรูปแบบของ NFT 

คลายข้อสงสัยเรื่อง NFT อะไรคือความหมายที่แท้จริง ข้อดีข้อเสีย แล้วถ้าอยากจะก้าวเท้าเข้าสู่วงการนี้สิ่งที่ต้องรู้มีอะไรบ้าง 

หาคำตอบไปด้วยกันตั้งแต่บรรทัดล่างนี้

NFT คืออะไร

NFT ย่อมาจาก Non-Fungible Token คือ สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีชิ้นเดียวในโลก ถึงแม้จะส่งต่อหรือมีหลายก๊อปปี้ก็จะยังรู้ว่าต้นทางของงานอยู่ที่นี่ 

ทำให้งานบนตลาด NFT จะมีเอกลักษณ์ของตัวเองสูงไม่สามารถมีใครมาทดแทนได้ ยกตัวอย่างงานศิลปะของอาจารย์เฉลิมชัย มันมีชิ้นเดียวมันเอาอย่างอื่นมาแทนไม่ได้

เพราะหลักการของ NFT คือ การเปลี่ยนไฟล์ดิจิทัลเป็น NFT Token หรือหลักฐานการแสดงความเป็นเจ้าของผลงานนั้น สามารถพิสูจน์ผลงานที่เป็นของจริงหรือเป็น original ได้ผ่านระบบ Blockchain (ระบบคอมพิวเตอร์แบบไร้ศูนย์กลาง)

ดังนั้น ถ้าใครมีฐานแฟนคลับหรือมีคนติดตามอยู่แล้ว การนำผลงานมาขายในตลาด NFT คนซื้อก็จะรู้สึกถึงความเป็น original อยากจะซื้อ อยากจะเก็บ เพราะคิดว่าผลงานนี้คือ ‘ของจริง’หรือ ‘original’

อะไรบ้างที่เป็น NFT

ทุกอย่างที่เป็นไฟล์ดิจิทัลสามารถทำเป็น NFT ได้หมด ทั้งคลิปเสียง คลิปสัมภาษณ์ เพลง และมีเรื่องราว content ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่นสามารถทำได้เลย แต่ถ้าเกี่ยวอาจจะต้องขออนุญาต เพราะสิ่งที่ขายได้ในงาน NFT จะต้องมีเรื่องราวและคุณค่ามากพอที่จะทำให้ซื้อ จึงทำให้คนขายงาน NFT จะเป็นกลุ่มดารา กลุ่มนักวาดภาพ ช่างภาพ หรือ influence เพราะพวกเขามีวัตถุดิบในการทำงานอยู่แล้ว 

ความพิเศษของ NFT คืออะไร

NFT มันสร้างโอกาสได้ มันสามารถทำให้คนที่ no name เป็นคน have some name ได้ เพราะ NFT เป็นตลาดที่ fair play ทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับตลาด

จะมีราคาหรือไม่มีราคามัน base on คุณค่าของผลงานชิ้นนั้น ไม่ว่าจะเป็นความสวยงาม เรื่องราว ประวัติศาสตร์ หรือความชอบส่วนบุคคล เจ้าของผลงานต้องคิดว่าทำอย่างไรให้ขายได้ เพราะสุดท้ายคนที่จะบอกว่าผลงานนี้มีคุณค่าหรือไม่ คือ ‘ตลาด’

จะตั้งราคาถูกหรือแพงก็ได้ คนขายสามารถออกแบบวิธีการขายได้เอง ทั้งตั้งขายราคาถูก ลดราคา หรือให้ฟรี เพื่อสร้างภาพจำให้ community เพราะครั้งต่อไปถ้าผลงานเรามีความสวย มีเรื่องราว หรือตรงกับความชอบ ผู้ซื้อจะมองเห็นคุณค่างานของเรา 

และอีกอย่างคือ ตลาด NFT ไม่จำกัดที่ประเทศใดประเทศหนึ่งมันเป็นตลาดโลก ทุกคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ก็สามารถเข้าถึง NFT ได้ 

หมายความว่าสุดท้ายตลาด NFT จะเป็นตัวตัดสินคุณค่าหรือความงามของผลงานชิ้นนั้นใช่ไหม

ตลาดจะเป็นคนบอกเองว่างานไหนมีคุณค่า งานไหนไม่มีคุณค่า ขอแค่คุณเล่าเรื่องคุณค่าของงานออกไปแล้วมีคนเห็นคุณค่าของมันแบบที่คุณเห็น งานของคุณก็จะมีคุณค่าขึ้นมาทันที มันเหมือนห้องแล็ปขนาดใหญ่ที่ให้คุณมาพิสูจน์ว่าคุณค่าที่คุณเห็นมันมีคนเห็นด้วยไหม หน้าที่ของคนสร้าง NFT คือการสื่อสารออกไปให้ได้มากที่สุด ทำให้คนเห็นภาพหรืองานมากที่สุดเพื่อจะพิสูจน์ว่าคุณค่านั้นมันมีอยู่จริงหรือไม่ 

ลูกค้าในตลาด NFT คือใคร

ลูกค้ามีหลายกลุ่ม บางคนซื้อไปสะสมเรียกว่า NFT Collector บางคนซื้อเพราะต้องการช่วย Community ให้โตขึ้น ในขณะที่บางคนอาจจะซื้อเพราะต้องการเก็งกำไร หรือบางคนซื้อเพราะว่าต้องการสิทธิเพื่อเอาไปทำผลงานต่อยอดหรือสินค้าต่างๆ 

ลูกค้าจะมีความหลากหลายเพราะให้คุณค่ากับผลงานและเรื่องราว แต่ละคนมีจุดขายไม่เหมือนกัน บางคนขายความสวยของตัวงาน บางคนขายเรื่องเล่า บางคนก็ขายที่ความเป็นบุคคลมีชื่อเสียงของตัวคนสร้าง

ยกตัวอย่าง ถ้าโน๊ต อุดมมาขายคลิปเล่าเรื่องตลกที่เป็นตำนาน เราก็คงซื้อเพราะว่ามันเป็นเรื่องเล่าที่เล่าจากศิลปินที่เราชื่นชอบและมันเป็นตำนาน ถ้าพี่โน๊ตเอาคลิปตุ๊กแกในเดี่ยวสองมาทำเป็น NFT นี่ผมจะรอซื้อเลย 

หรือบางทีเราอาจจะอยากซื้อเพราะว่ามันเป็นงานของเพื่อนเรา ของคนที่เรารักมันก็แค่นั้นเลย มันคือเรื่องความ variety ของตลาด ซึ่งเป็นเรื่องจริง 

มีคนที่ซื้อตาม influencer บ้างไหม 

ก็มี ในอนาคตผมคิดว่าเราอาจจะรู้เลยว่ารูปของ A ถูกซื้อโดย B ที่เป็น influencer ซึ่งจริงๆ แล้วเราอาจจะไม่ได้ต้องการภาพนั้น แต่ซื้อเพราะ influencer ซื้อ ที่สุดท้ายอาจนำมาสู่การเก็งกำไร (speculator) เพราะกลายเป็นของหายากที่อาจจะไม่มีอีกแล้ว

อีกมุมหนึ่งคือ งานชิ้นนั้นไม่ได้มีมูลค่าเพราะผลงาน แต่ผลงานมีมูลค่าเพราะเรื่องราวการส่งต่อภาพว่า วาด ซื้อ และส่งต่อไปที่ใคร

เมื่อการซื้อขายถูกทำผ่านระบบ Blockchain แสดงว่าถ้าอยากจะเริ่มทำ NFT ควรมีความรู้เรื่องคริปโตมาก่อน?

ต้องพอรู้เรื่องคริปโตบ้าง เพราะการซื้อขายทุกอย่างอยู่บน Blockchain ทุกคนจำเป็นต้องมี crypto wallet (กระเป๋าเงินคริปโต) เพื่อแลกเปลี่ยนกัน บางแพลตฟอร์มของ NFT อย่าง OpenSea จะต้องเสียค่าธรรมเนียมแรกเข้า หรือถ้าเป็น NextArt ไม่ต้องเสียตังค์ก่อน คือมีแค่ตัวงาน แต่ใช้แพลตฟอร์มได้เลย แล้วรอรับตังค์ แต่พอรับตังค์มาแล้วเป็น Binance (แพลตฟอร์มซื้อขายสกุลเงินคริปโต) ถ้าอยากเปลี่ยนสกุลเงินเป็นบาทก็จะต้องหาระบบสำหรับเปลี่ยนสกุลเงิน เช่น Binance หรือ BitKub 

ทำไมพ่อแม่ควรรู้จัก NFT 

อนาคต NFT จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการสะสมหรือการลงทุน แล้วลูกของเราก็จะเป็นผู้ใช้ NFT หรือ ผู้สร้าง NFT เพราะฉะนั้นพ่อแม่ก็ควรจะต้องคุ้นเคยกับมันไว้ จะได้บอกลูกได้ว่า โอกาสการขายอยู่ตรงไหน อะไรเป็นความเสี่ยง

ความรู้เบื้องต้นเรื่องคริปโต พ่อแม่จะจะหาข้อมูลได้จากที่ไหน

LinkedIn Learning แต่เงื่อนไขคือเป็นภาษาอังกฤษ เปิดสอนโดยคนที่อยากให้เราเข้าใจคอนเซ็ปต์แล้วนำมาประยุกต์เองได้ พอเป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนมันจะกระตุ้นความรู้สึกได้ง่ายมาก

หรือถ้าเป็นภาษาไทยก็หาได้ Youtube เลย  แต่ถ้าฟังจาก Youtube Influencer ก็ต้องคัดกรองหน่อย เพราะ NFT เป็นเรื่องใหม่ มันมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันอยู่มากเพราะแต่ละคนก็เข้าใจไม่เหมือนกัน 

ถ้าเป็นเด็กอาจจะต้องเป็นเด็กโตหน่อย แต่เด็กเล็กถ้าจะให้มาเรียน อยากชวนตั้งคำถามว่า เขาพร้อมเรียนแล้วหรือยัง หากเด็กๆ จะยึดเป็นอาชีพอย่างที่บอกว่า อาชีพนี้คงยังไม่ใช่คำตอบ เพราะอาจทำให้เขาเชื่อว่า ชีวิตนี้ไม่ต้องทำอะไรแล้ว เนื่องจากเสียทั้งเงินและเวลา

อยากให้เด็กๆ มองว่าสิ่งนี้คือสามารถทำเป็นงานอดิเรก เป็นการทำเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่อาจจะต่อยอดไปอย่างอื่นได้ 

แล้วถ้าเด็กคนหนึ่งอยากจะหาอาชีพในโลกดิจิทัลยุคใหม่ อาชีพแบบไหนที่พ่อแม่ควรรู้จัก

จริงๆ แล้วเทคโนโลยีใหม่เปิดโอกาสให้คนมีความสามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องรอจบการศึกษา มีหลายอาชีพที่ลงมือทำได้เลย เช่น อาชีพนักวาด NFT นักแต่งเพลง NFT ดีไซน์เนอร์โลก Metaverse

เพราะ Metaverse คือ การยกตัวเราเข้าไปอยู่ในระบบจำลองเหมือน copy โลกนี้ไป แล้วในอนาคตก็จะมีการซื้อขายสินค้าและบริการ รวมถึงสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ พร้อมกับประชากรที่ไม่รู้ว่ามีเท่าไร คนที่ออกแบบสิ่งเหล่านี้จึงเป็นคนสำคัญ

แล้วนิยามจริงๆ ของ Metaverse คืออะไร

ไม่มีใครนิยามได้ชัดเจนหรอก แต่หลักการมาจากข้อสันนิษฐานว่า มันไม่มีอะไรน่าบันเทิงเท่าการไปอยู่โลกเสมือน คนบนโลกไม่ใช่คนจริง แต่เป็นตัวเราที่เข้าไปอยู่ในนั้นได้ คล้ายๆ กับสร้างอวาตาร์ไว้ แล้วมันจะสร้างการรับรู้อีกแบบหนึ่งว่า เราจะเป็นใครก็ได้ในนั้น เหมือนมีโลกใบใหม่ที่มีกำลังใจให้อยู่ต่อ สมมติคนแก่เพื่อนตายหมดแล้ว แต่ฉันสามารถขึ้นไปอยู่บนโลกเสมือน แล้วฉันก็มีชีวิตอยู่ในนั้นมันก็มีความอยากที่จะมีเพื่อนต่อไป อีกหน่อยก็จะมีการซื้อรถ ซื้อบ้าน อย่างที่บอกว่าคนดีไซต์ของเหล่านี้ก็จะเป็นอาชีพหนึ่ง

ภาพจาก Rokas Tenys / Shutterstock.com

เข้าใจว่าเป็นโลกคู่ขนาน แล้วเราจะเข้าไปอยู่ในโลกนั้นได้อย่างไร 

ในเวอร์ชัน 1.0 คล้ายๆ กับการเล่นเกม ยกตัวอย่างเช่น เข้าไปเห็นกิจกรรมของเพื่อนๆ ใน Facebook กดไลก์ คอมเมนต์ กดแชร์ เราปฎิสัมพันธ์กันแบบนั้น เราอาจจะไม่ได้เห็นเป็นคนจริงๆ แต่อนาคตเราจะเห็นเป็นภาพในโทรทัศน์  แล้วพอเป็นเวอร์ชั่น 3.0 แบบที่มาร์ค ซักเคอร์เบิร์กทำอยู่ คือ ใส่แว่น VR เข้าไปอยู่โลกเสมือนจริง อยากเดินไปที่ไหนก็ได้ และจะไม่มีแค่ใน Facebook แน่นอน แต่ทุกที่สามารถสร้างโลกเสมือนของตัวเองขึ้นมาได้ 

ดูเหมือนจะมีเรื่องที่พ่อแม่ต้องเข้าใจ ทั้ง NFT Crypto หรือ Metaverse ที่สุดท้ายก็อาจจะไม่ได้เข้าใจ 100% ลูกอาจจะเข้าใจมากกว่า พ่อแม่จะซัพพอร์ตการเรียนรู้ของลูกได้อย่างไร

โลกหมุนเร็ว เทคโนโลยี วิ่งเร็ว เราคนที่เป็นพ่อแม่ ก็ต้องเร็วตาม พ่อแม่ต้องเรียนรู้ศึกษาไปพร้อมกันกับลูก อาจจะช่วยทั้งหมดไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นพี่เลี้ยงช่วยให้เขาเดินในโลกที่หมุนเร็วได้อย่างปลอดภัย เพราะ NFT ก็เป็นห้องแล็ปทดลองสำหรับลองขายภาพ ขายไอเดีย ได้ลองกับตลาดโลก ถ้าขายได้ก็ดี แต่ถ้าขายไม่ได้ก็เป็นประสบการณ์ว่างานของเรามันยังไม่ได้ 

ยกตัวอย่างศิลปินคนหนึ่งเป็นรูปที่ลูกวาดภาพแนว Doodle (การวาดเส้นตามอารมณ์ออกมาเป็นตัวการ์ตูน) ที่ครูด่าว่า วาดจนไม่เรียนหนังสือ แต่ลูกยังอยากวาดต่อเลยลองเอางานมาขายบน NFT เพื่อสร้างรายได้และอยากให้ทุกคนจำภาพของลูก หลังจากประกาศขายราคาของภาพขึ้นไปที่ราคา 100,000 บาท 

ขณะเดียวกันตอนนี้บางโรงเรียนนำเรื่องเทรดคริปโตบรรจุไว้ในหลักสูตรของโรงเรียน แต่บุคลากรหรือครูอาจจะยังตามไม่ทัน คุณมีความเห็นอย่างไร

ผมมองว่า เรื่องเทรด (trade) สำคัญ ประเด็นคือเทรดอะไร เรื่องคริปโตมีพื้นฐานซับซ้อน ผมว่าไม่ควรมาใช้เป็นตัวเริ่มต้นเพื่อสอนเด็กในโรงเรียน เทรดหุ้นน่าจะเหมาะสมกว่า เพราะอย่างน้อยคุณต้องทำการบ้านว่าธุรกิจนั้นคืออะไร แต่การเทรดคริปโตหลักๆ คือการเก็งกำไรอย่างเดียว

ผมว่าพ่อแม่บางคนไม่โอเคนะที่ให้ลูกเขาไปเทรดคริปโต การเทรดคริปโตต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าไม่เหมือนเทรดหุ้น เทรดหุ้นคุณต้องเข้าใจว่าธุรกิจมันทำอะไร แต่อันนี้คล้ายๆ การแทงไฮโลสูงต่ำ ไม่ได้บอกว่าการเทรดคริปโตไม่ดีนะ แต่จะบอกว่ามันเหมาะกับคนที่เข้าใจกลไกของมันดีพอ การเทรด การลงทุน ถ้าเราเข้าใจมัน โอกาสความพังก็ต่ำ แต่ถ้าเราไม่เข้าใจมัน โอกาสในความพังมันก็สูง 

เพราะว่าคนที่เทรดอยู่ เอาเข้าจริงจะมีใครยอมรับว่าไม่มีความรู้แล้วไปเทรด เพราะส่วนใหญ่ 99% ของคนที่เทรดจะไม่เข้าใจความซับซ้อนของเทคโนโลยี Blockchain หรือ Crypto Products (คริปโทโพรดักส์) ต่างๆ รู้ว่าเทรดแล้วมันจะขึ้น รู้แต่ว่าฉันซื้ออันนี้แล้วเดี๋ยวราคาขึ้น คิดว่าซื้ออะไรก็ราคาขึ้นไปหมด ซึ่งอันนี้มันคือความเสี่ยงใหญ่

พอเป็นแบบนี้ พ่อแม่จะสื่อสารกับโรงเรียนอย่างไร

ผู้ปกครองก็ต้องเข้าใจและพูดภาษาเดียวกัน แต่การจะเข้าใจกันได้ ทั้งโรงเรียนและผู้ปกครองต้องรู้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นโรงเรียนก็ต้องถามตัวเองก่อนว่า เหตุผลที่ร่วมมือกับบางแพลตฟอร์มคืออะไร ถ้าผมเป็นผอ.ก็คงบอกว่าอย่ากระตุ้นให้เด็กไปเทรด แต่ว่าคุณจะมาพูดเรื่อง Blockchain พูดเรื่องคริปโตว่ามันเป็นอย่างไร หรือว่าเรื่องเศรษฐกิจที่มันเกี่ยวข้อง เรื่องที่คุณต้องรู้ คืออันนี้อะดี แต่ถ้าบอกว่า agenda สุดท้ายคือแค่ให้ไปเทรด ผมไม่ค่อยเห็นด้วย

เพราะโลกดิจิทัลถูกกำหนดโดยกลไกตลาด อะไรคือแรงผลักดันข้างหลังที่ทำให้คนเชื่อว่าสิ่งนี้ดีแล้วอยากจะลงทุน

ทุกอย่างมันถูกสื่อ influence ว่าจะดันไปทางไหน คำว่ารวยง่าย คำว่าได้เงินเป็นตัวผลักดันหลักให้คนกระโจนเข้ามาเลย 

สิ่งต่อไปที่ผมคิดว่าสื่อกำลังจะพาไป คือ GameFi (เกมบนโลกดิจิทัลที่เล่นแล้วจะได้เงินมาเป็นสกุลเงินคริปโต) ที่ตอนนี้ promote กันว่าเล่นแล้วได้ตังค์ แล้วของที่อยู่ในเกมก็สามารถทำมาเป็น NFT ขายได้ 

เรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งเลยที่จะบอกว่าพ่อแม่ควรต้องระวัง เพราะเรื่องเกมนี่เข้ามาใกล้กับเด็กๆ เลย เด็กเกือบทุกคนชอบเล่นเกม และนาทีนี้มาบอกว่าเล่นละได้เงินนี่ยิ่งกระตุ้นกันไปใหญ่ 

แล้วถ้าลูกขอเล่น GameFi พ่อแม่ควรตอบว่าอย่างไร 

ถ้าเป็นลูกผม ผมจะบอกว่าอยากเล่นก็เล่น เล่นให้รู้ว่า มันคือ money game แล้วคุณเล่นตอนนี้ ได้เงินตอนนี้ แต่คุณต้องหนีให้ทัน หมายความว่า มันทำเงินได้จริง แต่จริงแค่ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะมันไม่ได้มีมูลค่าเศรษฐกิจหรือระบบใดๆ มารองรับ จริงๆ ก็ไม่ต่างจากการซื้อเพื่อเก็งกำไร ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าออกตอนไหนถึงจะทันก่อนที่ราคาจะตกลง เพราะมันเป็นเรื่องการเงิน

สมมติลูกมาบอกว่า ตอนนี้เขามีอาชีพเล่นเกมแล้วได้เงิน แล้วจะไม่ทำอาชีพอื่นเลย เรื่องไหนที่พ่อแม่ควรรู้ก่อนคุยกับลูก

ถ้าอยากเล่นเป็นอาชีพ ผมว่าสิ่งที่ต้องรู้คือ มันเป็นอาชีพได้ แต่ไม่เสถียร เพราะมันไม่มีหลักการอะไรรองรับ ถ้าจะบอกว่าจะเล่นเกมต้องลงทุน 50,000 บาท ซื้อตัวละคร แล้วก็ไปเล่นเกมได้วันละ 150 บาท เดือนหนึ่งได้ 4,500 บาท 10 เดือนคืนทุน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น

ความไม่เสถียรที่บอกคือ ถ้าวันหนึ่งมีคนเล่นน้อยลง สิ่งที่จะตามมาคือ ลดเงินที่จะได้จากเกม เช่น ก่อนหน้านี้เล่นแล้วได้เดือนละ 20,000 บาท ผ่านไปเล่นแล้วเหลือ 5,000 บาท เงินที่เราควรจะได้ก็ลดลงตาม ต้องเข้าใจว่าพออัลกอริทึมเปลี่ยน ตัวละครที่วันนี้เก่ง วันหน้าอาจจะไม่ใช่แล้ว เพราะเมื่อเกมต้องการคนเล่นเพิ่ม เขาก็ต้องทำตัวละครใหม่ที่เก่งกว่าในราคาถูกลง ตัวละครเก่าๆ มูลค่าก็หายไป อยากเล่นต่อก็ต้องไปซื้อตัวใหม่ ว่าง่ายๆ คือจ่ายเพิ่มและนี่มันก็แค่เป็นคำอธิบายขายของของเจ้าของเกมเพื่อให้คนเข้ามาเล่น

พอเกมนั้นเป็นเกมที่ใครๆ ก็อยากเล่น ความสนุกก็เป็นธุรกิจได้เหมือนกัน

ใช่ เราถูกดึงโดย mechanism ปกติของเกม พอเล่นแล้วชอบก็อยากจะซื้อนู่นนี่ อันนั้นเป็นเรื่องของเรา เพราะเราเล่นเพื่อความสนุกและเพลิดเพลิน  เอาไว้เล่นกับเพื่อน ถึงจะเป็นเกม มันคือ real demand ของเกม

แต่ GameFi มันคือการ play to earn ถ้าไม่ได้บอกว่าเล่นแล้วได้ตังค์คงไม่มีใครไปเล่น เพราะเกมกำลังบอกว่า มาเล่นกับเราสิ เล่นแล้วได้ตังค์ มันกลายเป็นแบบนี้ไป 

เหมือนโลกอนาคตที่เรายังไม่รู้จัก มีแต่เรื่องน่ากังวล ถ้าอยากจะเข้าวงการนี้ อะไรคือสิ่งที่ต้องรู้

หาความรู้เยอะๆ แล้วที่สำคัญอย่าโลภ โลกคริปโตมันมีโอกาสมหาศาล ขณะเดียวกันก็ต้องบอกว่ามันโคตรอันตราย

เพราะฉะนั้นผมว่าพื้นฐานของการเทรดคริปโต เล่นเกม หรือทำ NFT คือ เรื่องเทคโนโลยี Blockchain หาความรู้พื้นฐาน ต้องเข้าใจว่าระบบเทคโนโลยีนี้ทำงานอย่างไร พอรู้คอนเซ็ปต์ก็จะมองภาพออกว่าแต่ละอันเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

อนาคตโลกดิจิทัลน่าจะเป็น next move ของประเทศแน่ๆ ประเทศไทยจะใช้ NFT เป็น Soft Power ของประเทศได้ไหม

ผมคิดว่า NFT สามารถเป็น soft power ของประเทศได้ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลี แต่เหตุผลที่ K-pop ไประดับโลกได้ เพราะเขาลองผิดลองถูก ทำทุกอย่างให้สนับสนุนการโกอินเตอร์ของศิลปิน เพื่อรอโอกาสที่เหมาะสม สร้างจุดแข็งของตัวเอง พอนึกถึงเรื่องนี้เงินทุนหรือบริษัทใหญ่ๆ ในอุตสาหกรรมก็จะมาลงทุน มันเป็นแค่สิ่งที่เขาทำก่อน มีพื้นที่อยู่ในสื่อโลกก่อน 

ขณะเดียวกันถ้าไทยอยากครองพื้นที่เรื่อง Metaverse หรือ NFT รัฐต้องสนับสนุนจริงจัง ไม่ได้ทำเพื่อเอื้อประโยชน์องค์กรใด ไม่ต้องพิธีรีตองมากมาย แต่ให้เกิดสปอตไลท์ที่ทำให้ทุกคนในโลกคิดว่า ไทยคือเจ้าพ่อเรื่อง NFT เรื่อง Metaverse เหมือนคนเห็น K-Pop แล้วนึกถึงเกาหลีก่อนเลย เราต้องทำให้ได้แบบนั้น ตอนนี้ NFT Metaverse มันเพิ่งเริ่มสตาร์ต ทุกประเทศมีของในมือเท่ากัน แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าใครจะจับโฟกัสและลงมือทำก่อนชิงพื้นที่ได้ก่อนแค่นั้นเอง

ในอนาคตเรื่อง NFT เรื่อง Metaverse อาจจะเป็น soft power ของไทยก็ได้ ผมจะบอกว่าคนดีไซน์บ้านเราก็มีฝีมือ ถ้าเขาอยู่รวมกัน ทั่วโลกสามารถเลือกได้เลยว่าอยากให้ใครมาดีไซน์ Metaverse อันนี้แหละ โคตร soft power เลย

สุดท้าย Soft Power ก็ทำไม่ง่ายภายใต้สังคมไทย NFT หรือ Metaverse ของไทยจะไปสู่ตลาดโลกได้จริงไหม 

ข้อดีของ Blockchain คือ ระบบถูก set มาเป็นตลาดโลก คนที่เข้ามาไม่จำเป็นต้องสนใจตลาดไทยด้วยซ้ำ เพราะไม่มีใครมาควบคุมได้ จะทำเกม NFT หรืออยากสร้างธุรกิจ ทุกอย่างทำบนโลกดิจิทัล เงินที่ซื้อขายยังไม่ใช่สกุลเงินบาทเลย ไม่จำเป็นต้องสร้างบริษัทในไทยก็ทำเป็นธุรกิจได้ 

เด็กหรือนักเรียนควรเข้าใจว่า ทุกวันนี้เราไม่ใช่พลเมืองไทย แต่เป็นพลเมืองโลก ไม่ต้องคิดว่าจะแข่งกับคนไทย แต่ไปแข่งกับโลก ถึงจะยากหน่อยด้วยเรื่องภาษา แต่การทำให้ NFT Metaverse ไทยไประดับโลกมันสามารถทำได้เลย แค่อาจจะเหนื่อยกันหน่อยก็แค่นั้น 

ศัพท์ควรรู้ก่อนเริ่มต้น NFT
1) NFT (Non-Fungible Token): โทเคนที่ลักษณะเฉพาะตัวไม่สามารถทดแทนด้วยโทเคนอื่นได้ 
2) Blockchain: เทคโนโลยีบล็อคเชน ระบบจัดเก็บข้อมูลแบบไร้ศูนย์กลาง 
3) Crypto Currency:  สกุลเงินเข้ารหัส ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนเป็นพื้นฐาน 
4) Binance: แพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตเคอเรนซี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
5) Gamefi: เกมที่ใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนเป็นพื้นฐาน 

Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Photographer

Avatar photo

ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรีส์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเป็นทาสแมว

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts