“ที่นี่คือหมู่บ้านโนนหินแห่จ้า
เพื่อนต่างจังหวัดถามว่าโนนหินแห่คืออิหยัง
‘แห่’ อย่างไรน่ะเหรอ นี่ไง”
ภาพถนนหนทางที่เป็นหินแห่หรือหินลูกรัง-ดินลูกรัง เมื่อรถของผู้คนในชุมชนแล่นผ่านไปมา ฝุ่นจากถนนเส้นนั้นก็จะ ‘ไหง่ง่อง’ ตลบไปทั่วทุกทิศ
นี่คือถนนเส้นสำคัญของหมู่บ้านโนนหินแห่ และเป็นฉากเปิดเรื่องสำคัญที่พาเราเข้าสู่ซีรีส์เรื่อง ‘หน่าฮ่าน’ ผลงานการกำกับโดยผู้กำกับหญิงอีสานรุ่นใหม่อย่าง ตั๊ก-ฉันทนา ทิพย์ประชาติ เดินทางออกสู่สายตาของผู้ชมเมื่อปี 2565 ซึ่งมีกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม เป็นที่พูดถึงของนักวิจารณ์ภาพยนตร์ ไปจนถึงผู้ชมหลากเพศหลายวัย
จากวันนั้นจนถึงวันนี้เมื่อผู้เขียนเองเข้าไปคลิกชมซีรีส์เรื่องนี้อีกครั้ง ก็ได้พบว่ายอดวิวทั้งหมดบน AIS PLAY ของซีรีส์อีสานร่วมสมัยเรื่องนี้ มียอดรวมอยู่สูงถึง 38 ล้านวิว ซึ่งตอกย้ำพลังของสื่อบันเทิงอีสานที่เมื่อออกเดินทางแล้วก็ดูเหมือนว่าจะพุ่งไป ‘ทางหน่า’ ได้อย่างไม่รู้จบ น่าจับตามอง และมีประเด็นให้น่าขบคิดอยู่ไม่ส่วงไม่สร่าง
เรื่องราวหลังฝุ่นตลบของถนนลูกรังในหมู่บ้านโนนหินแห่ที่ซีรีส์เรื่องนี้นำเสนอคือเรื่องราวของเยาวรุ่นในชุมชนที่มี ‘หน่าฮ่าน’ หรือบริเวณหน้าเวทีหมอลำเป็นจุดรวมตัวในการนำเสนอตัวตน และพลังอันล้นเหลือของวัยเยาว์ แต่มากไปกว่านั้น ซีรีส์เรื่องนี้ยังพาไปให้เห็นถึงแรงปรารถนาและความใฝ่ฝันที่ซ่อนอยู่ภายในของเด็กวัยรุ่นในหมู่บ้าน ที่ระบบการศึกษาหรือสังคมที่พวกเขาอยู่ไม่อาจทำให้ความเพ้อฝันที่ซุกซ่อนอยู่นั้นชัดเจนขึ้นมาได้
ไกลออกไปจากหมู่บ้านโนนหินแห่ จึงเป็นปลายทางที่หวังของหลากหลายตัวละครในเรื่องที่ออกตามหาชีวิตที่ดีขึ้นหลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในแบบของตัวเอง โดยที่พวกเขาหลายคนก็ไม่อาจมั่นใจหรือวางใจได้เหมือนกันว่า ปลายทางที่กำลังจะมุ่งไปนั้นจะเป็นอย่างไรกันแน่
…เรื่องราวของซีรีส์ก็จบลงเพียงเท่านั้น…
แต่เมื่อลองคิดให้เรื่องนี้ยังไม่จบลง หากตัวละครเยาวรุ่นทั้งหลายยังมีชีวิตอยู่ หลังจากพวกเขาออกเดินทางจากชุมชนไปตามหาชีวิตใหม่ ถ้าเติบโตขึ้นมา วันนี้พวกเขาและเธอจะทำอะไรอยู่หรือมีชีวิตอย่างไรกัน เป็นคำถามที่อาจตอบยากพอๆ กับว่าจากวันนั้นจนถึงวันนี้หมู่บ้านโนนหินแห่ในเรื่องเล่าจะมีถนนหนทางลาดยางสำหรับเดินทางไปถึงปลายทางอย่างที่ไม่ต้องตกหลุมและเต็มไปด้วยฝุ่นตลบตลอดทางแล้วหรือยัง
กระนั้นแล้ว ก็เป็นคำถามที่ทำให้อยากลองตั้งต้นถามอย่างสุดแรงต่อไปว่า จากวันนั้นถึงวันนี้ถ้าเราลองจินตนาการให้ทะลุออกไปจากความไหง่ง่องของถนนลูกรังหมู่บ้านโนนหินแห่ดูล่ะ ลองจินตนาการเพ้อฝันไปกับเยาวรุ่นเหล่านั้นจนถึงปลายทาง ผ่านสายตาที่มองเข้าไปในชีวิต ตัวตน ศักยภาพ และพลังล้นเหลือแห่งวันวัยของพวกเขา เยาวรุ่นที่หมู่บ้านโนนหินแห่ส่งเข้าประกวดเหล่านั้น จะยืนโดดเด่นที่สุดในเวทีชีวิตของพวกเขาได้หรือไม่ และในบทบาทอย่างไร พูดอีกทางหนึ่งก็คือว่า หากฝันอย่างสุดแรงฝัน ความเป็นไปได้ที่พวกเขาจะไปถึงคือชีวิตปังๆ แบบไหนได้บ้างนั่นเอง
Beauty Blogger
‘เป็กกี้’ อนาคต Beauty Blogger
‘ปากเป็น’ ดาว ติ๊กต็อก (TikTok) ชื่อดังจากบ้านโนนหินแห่
ตัวละครหนึ่งที่โดดเด่นแม้ว่าจะไม่ได้มีเรื่องราวมากมายนักในซีรีส์คือ ‘เป็กกี้’ พี่กะเทยแห่งหมู่บ้านโนนหินแห่ที่การแต่งตัว ทำผม แต่งหน้าเป๊ะปังกว่าใครเพื่อน แม้บทของเป็กกี้จะไม่มากมายเท่าตัวละครหลักคนอื่นๆ แต่ก็เป็นตัวละครที่มีความมั่นใจในตัวเองและมีจังหวะในการพูดจาที่สนุกสนาน สร้างสรรค์คำและประโยคที่เรียกเสียงหัวเราะได้ตลอดทั้งเรื่อง หรือเรียกอีกอย่างตามภาษาลาวภาคอีสานว่าเป็นคน ‘ปากเป็น’ เว่านัวหัวม่วน จนอดคิดไม่ได้เลยว่า ถ้าเป็กกี้หยิบโทรศัพท์ขึ้นมาอัดคลิปลงติ๊กต็อก คนอีกมากมายจะชื่นชอบในความสนุกสนานและความเป็นตัวมัมในการสร้างสรรค์เรื่องเล่าของเขามากขนาดไหน
นอกจากนี้เรายังเห็นเป็กกี้ชื่นชอบการแต่งหน้าแต่งตัว แววตาที่มีความสุขของเป็กกี้ตอนได้ทำผม ได้แต่งหน้าให้ฝาแฝดอย่าง ‘หอยกี้’ ทำให้เพ้อฝันต่อไปด้วยว่า ถ้าเป็กกี้ได้เติบโตไปเป็นคนที่อยู่ในแวดวงการออกแบบการแต่งตัว การแต่งหน้าทำผม เขาคงจะสนุกและมีความสุขไม่น้อย
หากจะจินตนาการว่าเป็กกี้จะเป็นอะไรสักอาชีพหรือสักบทบาทหนึ่งในอนาคตผ่านตัวตนและความปังในแบบของเขาเอง เป็กกี้สามารถที่จะเป็น Beauty Blogger ชาวอีสานที่ทำคอนเทนต์พูดคุยสนุกสนานเกี่ยวกับความสวยความงามลงติ๊กต็อกจนมีคนติดตามหลักล้านเลยก็เป็นได้
Ma’am
‘หอยกี้’ มาดามตัวมัม ร่ำรวย และใช้ชีวิตที่ต่างประเทศกับสามีชาวฝรั่งเศส
หอยกี้เป็นตัวละครวัยรุ่นอีกหนึ่งคนที่น่าสนใจ เธอเป็นฝาแฝดของเป็กกี้ มีความสดใสตามวันวัย เธอได้พบเจอกับชาวต่างชาติที่เข้ามาในหมู่บ้านในระยะหนึ่ง แล้วได้คบหาดูใจกันก่อนจะเรียนจบ ม.6 จนพบว่าเธอพลาดท้องในวัยเรียนขึ้นมาในที่สุด ซึ่งสร้างความสั่นคลอนในหัวใจกับเด็กวัยรุ่นอย่างเธอ แต่ด้วยพี่และเพื่อนให้ความเข้าใจต่อเรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้หอยไปต่อกับชีวิตของเธอในเงื่อนไขที่เป็นอยู่ได้ สิ่งที่หอยบอกเพื่อนๆ หลังจากรู้ว่าตัวเองท้องคือ
“กูคุยกับผัวแล้วว่าหลังคลอดจะไปอยู่ด้วยกันที่ฝรั่งเศส”
ถ้าไม่ผิดพลาดไปจากที่หอยบอกกับเพื่อน ชีวิตของหอยกี้ในจินตนาการทะลุถนนลูกรังอาจคือ การเดินทางออกจากหมู่บ้านไปไกลที่สุดถึงประเทศฝรั่งเศสกับสามีที่มีพื้นฐานครอบครัวที่ร่ำรวย มีกินมีใช้ และดูแลเธออย่างดี รวมถึงเธออาจได้พบกับโลกอีกใบ สังคมอีกแบบผ่านพื้นที่ใหม่อย่างฝรั่งเศส ทั้งระบบการศึกษา ระบบสวัสดิการ ไม่แน่ว่าทุกปีใหม่หรือสงกรานต์ หอยกี้อาจกลับมาเยี่ยมยามหมู่บ้านด้วยลุคมาดามสุดแซ่บ มาเต้นหน่าฮ่านกับเพื่อนย้อนวันวาน พร้อมกับเงินผ้าป่าเป็นถุงเป็นถังมอบให้โรงเรียนเก่าของเธอจำนวนมากด้วยความหวังที่จะเห็นสิ่งต่างๆ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้เกิดขึ้นในโรงเรียนเก่าของเธอ
Screenwriter
‘แคลเซียม’ นักเขียนบทชื่อดังพลิกวงการหนัง-ซีรีส์อีสาน
“อันยองฮะเซโย อันยองฮะเซโย แคลเซียม อิมนีดะ”
เสียงรอสายของแข่วหรือแคลเซียม เยาวรุ่นโนนหินแห่ที่ชื่นชอบการดูซีรีส์เกาหลีเป็นชีวิตจิตใจ จนสามารถจดจำบทจากหลายๆ เรื่องได้ ตลอดทั้งเรื่องเธอมักจะนำบทละครหรือซีรีส์ที่ได้ดูมาจินตนาการต่อแล้วทำการแสดงบทบาทสมมติโดยมีเพื่อนสนิทคือ ‘เติ้ลไม้’ ที่จะมาทำหน้าที่สวมบทเป็นพระเอกให้กับเธออยู่เสมอๆ
ตัวละครแคลเซียมคือเด็กที่เปี่ยมไปด้วยจินตนาการ ความเฟื่องฝัน ความโรแมนติก เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่อ่อนไหวต่อเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องราวความสัมพันธ์ของเธอเองก็เหมือนกับละครที่แอบรักเพื่อนสนิทอย่างเติ้ลไม้ สายตาในเวลาที่เธอมองเติ้ลไม้คือสายตาที่มองผ่านจินตนาการเสมอว่าเขาคือตัวแทนของความเป็นพระเอกและความรักโรแมนติก
เธอสัญญากับเติ้ลไม้ว่าถ้าจบ ม.6 จะออกไปตามหาฝันในดินแดนอื่นที่ไม่ใช่หมู่บ้าน และในที่สุดพวกเขาก็เดินทางออกไปด้วยกันโดยรถทัวร์ที่โดยสารผู้คนไปกรุงเทพฯ ไกลที่สุดในเนื้อเรื่องที่พวกเขาเดินทางไปถึงก่อนซีรีส์เรื่องนี้จะจบลงคือการสมัครเป็นพนักงานบริษัทในกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ด้วยสายตาที่ไม่เหมือนใครและตัวตนอย่างที่เป็น ผู้เขียนคิดว่า หากเธอได้มีพื้นที่ละเลงจินตนาการ หรือพบเจอจังหวะชีวิตบางอย่าง แคลเซียมอาจเป็นคนที่ทำงานสร้างสรรค์และทรงพลังมากเป็นแน่ ไม่แน่ว่าในขณะที่เธอเป็นพนักงานบริษัท ในเวลาที่พอจะว่างเธออาจปลดปล่อยจินตนาการเหล่านั้นทางเว็บไซต์เขียนนิยายสักเว็บ แล้วเริ่มเล่าจินตนาการสุดฟุ้งฝันของเธอออกมา จนเริ่มมีผู้ติดตามจำนวนมากแล้วโด่งดังขึ้น กลายมาเป็นนักเขียนบทหญิงชาวอีสานที่ยืนหนึ่งในวงการอีกคนก็เป็นได้
Actor
‘เติ้ลไม้’ นักแสดงซีรีส์ชื่อดังที่ลุกขึ้นมารณรงค์ประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ
เติ้ลไม้เป็นตัวละครที่นำเสนอภาพของ LGBTQ+ ที่ไม่มี ‘ที่ทาง’ ในการเป็นตัวของตัวเอง การเป็นเกย์ถูกครอบครัวมองว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอายและทำให้ไม่สามารถเติบโตได้ดิบได้ดีได้ ส่งผลให้เติ้ลค่อนข้างเป็นเด็กที่เงียบ ไม่ถกเถียง ไม่แสดงออกมากนักว่าตัวเองรู้สึกหรือต้องการอะไร แต่เขาก็มีเพื่อนๆ ที่รู้ดีว่าตัวตนและเพศสถานะเขาเป็นอย่างไร กลุ่มเพื่อนในหมู่บ้านโนนหินแห่จึงเป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยของเติ้ลไม้ โดยเฉพาะ ‘แข่ว’ ที่ทั้งเป็นคนคอยรับฟังและเข้าใจเติ้ลมากที่สุด
ปมในเรื่องเพศถูกขมวดให้ชัดขึ้นเมื่อเติ้ลไม้พบกับ เค น้องชายของแข่ว แล้วทั้งสองก็พบว่ารู้สึกดีต่อกัน ทำให้เกิดความสัมพันธ์ในแบบของความรักใคร่ต่อกัน ทั้งสองคนไม่ได้สับสนมากนักต่อความรู้สึกของตัวเอง แต่ด้วยสภาพสังคมและครอบครัวไม่ยอมรับในความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ ทำให้ทั้งสองคนเจ็บปวดจากความสัมพันธ์ครั้งนี้มาก ประกอบกับว่าความสัมพันธ์ของสองคนนี้ยังผูกโยงไปถึงแข่วซึ่งมีความรู้สึกดีต่อเติ้ลไม้อีก ทำให้เคเองตัดสินใจไปทำงานเกาหลี เพื่อหาเงินและหนีความรู้สึกเหล่านี้ ส่วนเติ้ลไม้เองก็ได้ลองขอแม่ให้หยุดคาดหวังในตัวเขา แล้วให้เขาได้เป็นตัวของตัวเอง แต่คำปฏิเสธของแม่ทำให้เติ้ลไม้ตัดสินใจได้ชัดเจนมากขึ้นในการเก็บกระเป๋าออกจากหมู่บ้านไปพร้อมกับแข่วได้ เพื่อไปหาชีวิตใหม่ที่ดี
“อีเติ้ล มึงฮู้บ่ ยามแสงไฟหน่าฮ่านกระทบหน่ามึง หน่ามึงคือจั่งดาราเกาหลีเลยอะ”
คำที่แข่วพูดกับเติ้ลไม้ด้วยแววตาเป็นประกาย เห็นความสดใสและออร่าจากตัวของเติ้ลจนเปรียบเทียบว่าหน้าเขาเมื่อเจอกับแสงไฟแล้ว ทำให้นึกถึงพระเอกเกาหลีเลยทีเดียว ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเติ้ลไม้ถูกผลักดันให้เติบโตไปในโลกของการแสดงเขาจะไปได้ไกลขนาดไหน ไม่แน่ว่าถ้าแข่วกลายเป็นนักเขียนบทชื่อดังจริง เธอจะต้องนึกถึงเติ้ลไม้เป็นคนแรกๆ ที่จะเชื้อชวนให้มาร่วมสร้างสรรค์ผลงานไปกับเธอ แววตาที่มีเสน่ห์ บุคลิกที่ทำให้เข้าถึงได้ง่ายอย่างเติ้ลไม้ อาจกลายเป็นขวัญใจวัยรุ่นที่โด่งดังมากก็เป็นได้ และแน่นอนผู้เขียนเชื่อว่า จากประสบการณ์ความเจ็บปวดที่เขาได้เผชิญเรื่องเพศ เขาจะใช้พื้นที่ตรงนั้นในการลุกขึ้นมาเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศให้เกิดขึ้นจริงได้ โดยเฉพาะในชุมชนหมู่บ้านที่อยู่นอกสายตาของการตั้งคำถามต่อประเด็นนี้มากกว่าสังคมในเมือง
Politician
‘สวรรค์’ นักการเมืองไฟแรงที่อยากเป็นกระบอกเสียงของคนรุ่นใหม่
‘สวรรค์’ คือตัวละครที่นำเสนอภาพนักเรียนดีเด่นในระบบการศึกษาไทยเลยก็ว่าได้ เขาอยู่ในกรอบที่พ่อซึ่งเป็นข้าราชการครูกำหนดให้เป็น ทั้งการตั้งใจเรียน การรักษาวินัย การก้าวไปตามครรลองของระบบอย่างไม่ตั้งคำถาม ซึ่งสวรรค์เองก็ทำได้ดีมากๆ จนก้าวขึ้นมาเป็นนักเรียนแบบอย่างได้ แต่ความน่าสนใจอยู่ที่สวรรค์หลงรัก ยุพิน ตัวละครเอกของเรื่องที่มีจุดยืนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับสวรรค์ คือยุพินเป็นเด็กที่ต่อต้านการอยู่ในกรอบของระบบการศึกษาไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นในมุมหนึ่งว่าลึกๆ สวรรค์เองก็ใฝ่ฝันที่จะมีอิสระในชีวิตวัยรุ่นและกล้าตั้งคำถามอย่างที่ยุพินถาม อย่างในฉากหนึ่งที่สวรรค์นั่งคุยกับยุพินว่าเขารู้สึกดีมากทุกครั้งที่ได้อยู่กับยุพิน แล้วยุพินก็เหมือนบอกว่าการคบกันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะชีวิตสวรรค์ที่มีพ่อเป็นครูปกครอง คงจะยอมรับการแต่งตัวของเธอไม่ได้ สวรรค์ตอบกลับยุพินทันทีว่าการแต่งตัวไม่เห็นเกี่ยวอะไร ทำให้ยุพินสะท้อนกลับสวรรค์ไปอีกต่อหนึ่งว่า
“การแต่งโต มันบ่เกี่ยวหยังกับการเรียนคือกัน เธอกล้าแก้ผ้าหน้าเสาธงแล้วเรียกร้องให้ยกเลิกชุดนักเรียนได้บ่ล่ะ”
คำท้าทายและข้อเสนอของยุพินทำให้สวรรค์ไม่มีข้อคัดค้านได้ และสิ่งที่หลายคนไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เขาแก้ผ้าขึ้นยืนบนหน้าเสาธง แล้วประกาศกร้าวถึงปัญหาในการใส่ชุดนักเรียนและวินัยหลายๆ อย่างที่ตีกรอบความคิดและชีวิตของนักเรียน ทำให้หลายคนรู้สึกทึ่งและชื่นชมเขามาก
แม้สวรรค์จะเป็นนักเรียนในระบบการศึกษาแสนดี แต่เขาก็มีพลังของการลุกขึ้นมาต่อสู้ในขณะที่สามารถดีลกับระบบได้ หากจะจินตนาการสวรรค์เมื่อโตขึ้น ผู้เขียนเลยคิดว่าเขาอาจเป็นนักเรียนวิศวกรรมตามที่พ่อต้องการ แต่ด้วยชุดคำถาม สายตาของการอยากเปลี่ยนแปลงในแบบของเขา รวมถึงเงื่อนไขชีวิตที่สนับสนุนให้เขาสามารถเข้าถึงผู้คน สิ่งแวดล้อมและการศึกษาที่จะพาไปพบโลกอีกหลากด้าน จะทำให้เขาเกิดพลังอยากจะเปลี่ยนแปลงขึ้นมาได้ เหมือนที่เขาเจอกับยุพิน ในวันนั้นสวรรค์อาจกลายเป็นนักการเมืองที่อยากเข้าไปทำงานในระบบเพื่อเปลี่ยนแปลงมันก็เป็นได้
Superstar
‘สิงโต’ นักร้องลูกทุ่งอีสานที่จ้วดที่สุดแห่งยุค
ตัวละครที่แตกต่างจากสวรรค์อย่างสิ้นเชิง แต่ได้หัวใจของยุพินไปเต็มๆ คือ ‘สิงโต’ ซึ่งเขาเป็นเยาวชนที่มีสถานะยากจนและหันหลังให้ระบบการศึกษาเพื่อตามหาความฝัน อย่างการเป็น ‘นักร้อง’ ลูกทุ่งอีสานป๊อป เขาพยายามที่จะลองอัดคลิป ทำงานร้านอาหาร และรับร้องเพลงในงานต่างๆ แต่แล้วความจนก็ทำให้เขาทดท้อต่อการตามหาฝันอย่างถึงที่สุด เขามียุพินเป็นคนรัก แม้สิงโตจะไม่ได้เป็นคนในลักษณะที่ลุกขึ้นมาแถลงนโยบายเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบหน้าเสาธงโรงเรียนอย่างสวรรค์ แต่ก็เป็นตัวละครที่เข้าใจความยากลำบากและปัญหาของระบบเป็นอย่างดีจากสิ่งที่เขาเผชิญ จากสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของชีวิตเขาเอง ทำให้เขาและยุพินเข้าถึงกันและกันได้ง่ายว่าที่ยุพินจะรู้สึกเข้าถึงสวรรค์
เมื่อเส้นทางความฝันขรุขระ สิงโตตัดสินใจเลิกกับยุพินออกเดินทางจากหมู่บ้านเพื่อเข้ากรุงเทพฯ ไปตามหาความฝัน ไปหาโอกาสที่มากขึ้นในเมืองหลวงเขาทำคลิปอย่างสม่ำเสมอจนมีคนเริ่มเข้ามาติดตาม และเขายังได้คอนเน็กชั่นกับวงหมอลำชื่อดัง จนได้เปิดตัวเป็นนักร้องในงานบุญที่หมู่บ้าน ครั้งนั้นทำให้เขากลับมาเจอยุพินอีกครั้ง
หากการเดินทางของสิงโตด้วยแรงปรารถนาที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นผ่านเสียงร้องสำเร็จได้จริง เขาจะต้องกลายไปเป็นซูเปอร์สตาร์อีสานที่มีชื่อเสียง เราอาจจะเห็นภาพ ก้อง-ห้วยไร่ หรือ เปิ้ล-ปทุมราช ในตัวของสิงโต และเขาอาจเป็นอีกหนึ่งคนที่มาสร้างแรงกระเพื่ิอมให้กับวงการลูกทุ่งป๊อปร็อกของอีสานเลยก็เป็นได้
CEO
‘ยุพิน’ อินฟลูเอนเซอร์สาวอีสานสุดมั่นที่ปั้นแบรนด์ ‘โนนหินแห่’
ตัวตึงบ้านโนนหินแห่จะเป็นใครไปไม่ได้ถ้าไม่ใช่ ‘ยุพิน’ นักเรียนหญิงผู้เดินนำและเต้นนำในพื้นที่หน่าฮ่าน เธอเป็นวัยรุ่นที่เติบโตมากับแม่เลี้ยงเดี่ยว เพราะพ่อถูกปลิดชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองในเดือนเมษายน ปี 2553 ที่กรุงเทพมหานคร ทำให้ลึกๆ แล้วยุพินไม่อยากไปกรุงเทพฯ เลย และเธอยังเติบโตมาแบบที่กล้าที่จะออกนอกกรอบที่โรงเรียนจัดตั้งขึ้น ทั้งการแต่งหน้า การย้อมผม การตั้งคำถามกับเรื่องชุดนักเรียน เธออยู่เบื้องหลังในการชวนให้สวรรค์คิดตั้งคำถามและสร้างการเปลี่ยนแปลง ตัวละครยุพินถูกใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการศึกษาอย่างเข้มข้น ในขณะที่ก็ไม่ได้ถึงกับว่าเธอจะเป็นนักกิจกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนไหวทางการเมืองแบบพ่อของเธอ
แต่พลังของการตั้งคำถามต่อระบบและความกล้าหาญ ความเป็นผู้นำ และคิดสิ่งใหม่ก็ได้สะท้อนออกมาจากเธอในอีกแบบหนึ่ง อย่างตอนที่เธอคุยเรื่องความฝันกับสวรรค์ว่าเธอไม่อยากเรียนต่อเพราะรู้สึกว่าเรียนไม่ได้ไม่เก่ง
“เฮาว่าเฮาสิเปิดเพจขายของดีบ่ เฮาสิรับกะบกอีสานมาขายให้คนกรุงเทพฯ แล้วสิเอิ้นว่าอัลมอนด์อีสาน”
การคิดที่จะหยิบพืชท้องถิ่นอย่างกระบกขึ้นมาทำให้เกิดแบรนด์ในท้องถิ่นตัวเอง สะท้อนแรงสู้และความปรารถนาลึกๆ ของยุพินได้ดี ว่าเธอเห็นอำนาจและความหมายของถิ่นที่ที่เธออยู่อย่างไร ทั้งยังสร้างสรรค์วิธีการที่จะนำเสนอเพื่อ ‘ขาย’ ให้คนกรุงเทพฯ อย่างไรด้วยสายตาแบบเด็ก ม.6 อย่างยุพิน
หากยุพินเติบโตขึ้นไป แล้วด้วยในตอนท้ายเรื่องเธอได้ย้ายไปกรุงเทพฯ กับสิงโตที่กำลังจะเป็นนักร้อง เธออาจทำงานเก็บเงิน และช่วยกันกับสิงโตในการสร้างแบรนด์ที่ยึดโยงกับหมู่บ้านของเธอขึ้นมาได้ จนกลายเป็นนักธุรกิจชื่อดัง เป็นอินฟลูเอ็นเซอร์ แล้วกลับมาสร้างความเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้กับหมู่บ้านของตัวเองได้ ด้วยความเป็นผู้นำ การคิดนอกกรอบ การตั้งคำถามต่อระบบ และการมีประวัติศาสตร์ชีวิตที่เจ็บปวดจากการรวมศูนย์ อาจเป็นแรงผลักดันสำคัญของยุพินที่จะสร้างคำตอบแบบใหม่ๆ ที่ไม่ใช่การอพยพเข้ากรุงให้กับวัยรุ่นรุ่นถัดไปจากเธอได้
____
จะว่าไปแล้วซีรีส์เรื่อง ‘หน่าฮ่าน’ เต็มไปด้วยเยาวรุ่นที่เปี่ยมพลังในการเติบโต พวกเขามีตัวตน เสียง ศักยภาพ และความมุ่งมั่นไม่น้อยไปกว่าใครๆ ที่กำลังเติบโตในเมืองใหญ่หลวง พวกเขามีศักยภาพมากมายที่จะเป็นอะไรต่อมิอะไรได้อีกมากนอกจากที่ผู้เขียนนั่งมโนนึกขึ้น จนอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าถนนหมู่บ้านโนนหินแห่ไม่ไหง่ง่องจนทำให้มองเห็นพวกเขาชัดขึ้น ถ้าการเข้าถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘โอกาส’ ได้อย่างเท่าเทียมกว่าที่่เป็นอยู่ สุดแรงปรารถนาของพวกเขาจะพาพวกเขาเองไปถึงปลายทางไหนได้อีกบ้าง
ภาพจาก:
‘หน่าฮ่าน’ เดอะซีรีส์