คุณอาจเคยได้ยินชื่อกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. กันจนคุ้นหูในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บางคนอาจรู้จักในฐานะหน่วยงานที่มอบทุนช่วยเหลือเด็กยากจนพิเศษมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่า จริงๆ กสศ. มีหน่วยงานภายในแตกย่อยออกเป็นหลายหน่วย ซึ่งพยายามสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาให้กับกลุ่มเป้าหมายตั้งแต่ปฐมวัยไปจนถึงคนวัยแรงงาน
หนึ่งในหน่วยภายใน กสศ. ที่ใหญ่ที่สุดคือ ‘สำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา’ ซึ่งมี ‘กนิษฐา คุณาวิศรุต’ นั่งตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักในปัจจุบัน หน่วยนี้นี่เองที่เป็นจุดกำเนิดของ ‘ทุนเสมอภาค’ ที่ใครหลายคนรู้จัก และทำงานกับเด็กๆ ยากจนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึง ม.ต้น ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุดในกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
นับจากวันแรกมาจนถึงวันนี้ สำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. ได้มอบทุนเสมอภาคเพื่อช่วยเด็กยากจนกว่า 1.3 ล้านคนต่อปี แถมยังเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันให้ทุนเสมอภาคมีอัตราเพิ่มมากขึ้น ช่วยเหลือเด็กๆ ได้เยอะขึ้น
ในขวบปีที่ 6 กสศ. จึงชวนหัวเรือใหญ่อย่างกนิษฐามาย้อนรอยเรื่องทุนเสมอภาค หาคำตอบว่าเบื้องหลังการลดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทยได้สำเร็จนั้นต้องผ่านอะไรมาบ้าง มีบุคคลใดอยู่เบื้องหลัง คุยกันไปจนถึงเรื่องรางวัลใหม่ Equity Award ที่ กสศ. ตั้งขึ้นเป็นปีแรก เพื่อตอบแทนบุคลากรและหน่วยงานภาคีเครือข่ายให้พวกเขาได้ภาคภูมิใจ
จากประสบการณ์ของคุณที่อยู่กับทุนเสมอภาคมาตั้งแต่วันแรก เล่าให้ฟังหน่อยว่าทุนเสมอภาคมีเส้นทางการเดินทางอย่างไรบ้าง
ทุนเสมอภาคเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ซึ่งตั้งขึ้นตอนปี พ.ศ.2561 มาพร้อมกับภารกิจหลักของกองทุนฯ คือช่วยเด็กผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์
ความตั้งใจของทุนเสมอภาคมาจากหลายแนวคิด แนวคิดแรกคืองานวิจัยว่าด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ผ่านมา เราพบว่าแม้เด็กที่ยากจนจะได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ แต่ต้นทุนชีวิตที่น้อยมากของเขาทำให้เขาก้าวเข้าสู่รั้วโรงเรียนแบบเด็กทั่วไปไม่ได้ หมายถึงว่าการที่เด็กคนหนึ่งจะได้เรียนฟรี เขาต้องไปถึงโรงเรียนให้ได้ แต่เด็กกลุ่มที่ กสศ. ทำงานด้วยคือกลุ่มที่ไม่มีโอกาสแม้จะออกจากบ้านเพื่อเดินทางไปโรงเรียน ถ้าเราจะทำให้ความเหลื่อมล้ำตรงนี้แคบลง มันควรมีอะไรมาเติมเต็ม
ทุนเสมอภาคไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาทั้งหมดได้ แต่ทุนนี้คือการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำให้น้อยลง เป็นการช่วยเหลือเฉพาะหน้า
เราเริ่มจากใช้เครื่องมือทางวิชาการในการค้นหาเด็กที่มีปัญหาความยากจนให้ถูกคน โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายโรงเรียนทุกสังกัดในการระดมสรรพกำลังค้นหา เราทำฐานข้อมูลจำแนกให้ชัดเจนว่าเด็กคนไหนที่ควรจัดลำดับช่วยเหลือก่อน และ เด็กที่ได้ทุนช่วยเหลือคงไม่มีใครอยากมีสถานะเป็นนักเรียนทุนยากจนมันเลยกลายเป็นที่มาของการตั้งชื่อว่า “ทุนเสมอภาค”
กสศ. เรารู้อีกว่าการให้เงินอุดหนุนหรือทุนที่ผ่านมาไม่ได้มีการติดตาม ทำให้ไม่มีข้อมูลว่าการช่วยเหลือเด็กคนหนึ่งต้องดูแลเขายังไงต่อ ทุนเสมอภาคจึงเป็นการให้เงินแบบมีเงื่อนไข โดยเราจะขอ 2 ข้อคือ ขอให้มาเรียนในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 เพราะเขาจะได้มีสิทธิ์สอบ เงื่อนไขต่อมาคือ เราอยากติดตามว่าเงินที่เราให้เด็กไป นอกจากจะช่วยให้เขาเดินทางมาโรงเรียนได้แล้ว เขามีพัฒนาการด้านการเจริญเติบโต น้ำหนักส่วนสูงดีขึ้นไหม เราจัดสรรเงินทุนเสมอภาคและติดตามนักเรียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เขามีหลักประกันว่าเขายังมีเงินทุนก้อนนี้สำหรับการมาเรียนในทุกภาคเรียน นี่เป็นเส้นทางทุนเสมอภาคในช่วง 3-4 ปีแรก
พอเข้าสู่ปีที่ 5-6 เราเริ่มเห็นภาพมากขึ้นว่าทุนเสมอภาคเป็นแค่จุดเริ่มต้น ที่มากกว่านั้นคือเราต้องพาเด็กกลุ่มนี้ไปสู่การศึกษาที่สูงขึ้น เพราะเชื่อจากข้อมูลว่าถ้าครอบครัวมีรายได้สูงขึ้น เด็กมีการศึกษาที่สูงขึ้น มันจะทำให้ครอบครัวเขาหลุดออกจากเส้นความยากจนได้ นี่คือจุดหมายปลายทาง เพราะฉะนั้นเลยเกิดแนวคิดระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เมื่อเด็กได้ทุนเสมอภาคจนถึงชั้น ม.3 เราต้องทำงานต่อกับหน่วยงานภายนอก หาทุนให้เขาได้เรียนต่อ ม.ปลายหรือปวช. เรามีการประคับประคองเด็กกลุ่มนี้ต่อเนื่องด้วยการสร้างเครือข่ายในการทำงาน เพื่อให้เด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนเขารู้ว่าเขามีสิทธิ์จะไปต่อ
คุณคิดว่าหัวใจสำคัญของการสร้างหลักประกันโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้เด็กทุกคนไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังคืออะไร
จริงๆ กสศ. เป็นหน่วยงานเล็กที่เพิ่งเกิดใหม่ เพราะฉะนั้น หัวใจสำคัญน่าจะเป็นเรื่องกลไกภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับ กสศ.
เรามีคุณครูที่ทำงานกับเรา 400,000 คน ในทุกปีคุณครูลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน สอบถามข้อมูลผู้ปกครอง และช่วยบันทึกข้อมูลกลับมาที่ กสศ. เพื่อให้เรามีข้อมูลในการช่วยเหลือเด็ก เพราะฉะนั้นทุนเสมอภาคจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากคุณครูและสถานศึกษาทั่วประเทศ อันนี้ต้องขอขอบคุณคุณครูทั่วประเทศ นอกจากนี้ เรายังได้กลไกจากสถานศึกษา รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐระดับผู้ใหญ่บ้าน กำนันในพื้นที่ที่ช่วยรับรองข้อมูล ยืนยันความโปร่งใสเพื่อให้ข้อมูลแม่นยำที่สุด และทำให้เราช่วยเหลือเด็กให้ตรงจุดที่สุด ฉะนั้นต้องยอมรับเลยว่างานทุนเสมอภาคทั้งหมดนี้เป็นงานที่ทรงคุณค่ากับคุณครูมาก เพราะในแต่ละปี มีเด็กมากกว่าล้านคนที่ได้รับการช่วยเหลือจากสองมือของคุณครูที่ทำงานในพื้นที่ด้วยความเสียสละ
ข้อมูลที่ครูทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ถึงปัจจุบัน ทำให้น้องๆ ได้เงินเพิ่มขึ้น จากอัตราในปีแรก 1,600 บาท ขยับมาเป็น 3,000 และ 4,200 ซึ่งเราก็พยายามบอกกับคุณครูว่าข้อมูลที่ทำให้รัฐบาลเชื่อมั่นเป็นข้อเท็จจริงที่คุณครูบอกกับเรา คุณครูเอาข้อมูลเข้ามา รัฐบาลมองเห็น เขาก็ให้ทุนเพิ่ม
สำหรับเด็กยากจน สำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษามีบทบาทในการส่วนเหลือพวกเขาในแง่มุมไหนบ้าง
แบ่งเป็นทางตรงกับทางอ้อม ทางตรงคือเมื่อคัดกรองเสร็จ เราก็จะจ่ายเงิน แต่ทางอ้อมคือการใช้ข้อมูลที่ได้ไประดมทุน จริงๆ กสศ. และรัฐมีงบประมาณจำกัด แต่สิ่งที่สำนักหลักประกันโอกาสทางการศึกษาทำคือเราดึงข้อมูลของเด็กยากจนไปจนถึงยากจนพิเศษไประดมทุนจากภาคเอกชน ถ้าเป็นที่ผ่านมา เราจะเห็นโครงการ ปตท. วิ่งเพื่อน้อง โครงการพี่ตูนก้าวเพื่อน้อง หรือบริษัทอย่างเอสโซ่ เครือเซ็นทรัล เขาก็มีการนำข้อมูลเราไปใช้ต่อ
เรามองว่าข้อมูลที่เราได้จากครูไม่ใช่แค่ทำงานกับ กสศ. แต่นำไปสู่หลายภาคส่วนที่ช่วยขับเคลื่อนเรื่องนี้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราทำรางวัล Equity Award ขึ้นมา เพื่อสะท้อนภาพการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะหน่วยงานเหล่านั้นทำให้เกิดระบบที่เอื้อกับการดูแลกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กยากจนเหล่านี้
Equity Award คือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เป็นแรงกระเพื่อมจากครูที่เขาลงพื้นที่แล้วเห็นสภาพปัญหา เขามองเห็นและต่อยอดได้ว่าถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือ เด็กคนหนึ่งจะไปได้อีกไกล
พูดถึงความร่วมมือ ภาคีเครือข่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณครู บุคลากรทางการศึกษา โรงเรียน และชุมชน กลุ่มคนเหล่านี้มีความสำคัญอย่างไรในการสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา
ภาคีเครือข่ายคือหัวใจสำคัญ กสศ. เราทำหน้าที่เหมือนเพื่อนที่ทำงานร่วมกับเขา ซึ่งจริงๆ แล้ว ไม่ว่าหน่วยจัดการศึกษาหรือภาคีระดับพื้นที่หรือระดับนโยบาย เขามีหน้าที่จัดการศึกษา ดูแลเด็ก และสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาอยู่แล้ว กสศ. เราอยากเป็นเพื่อนที่พร้อมเดินไปด้วยกัน เติมเต็มเขาด้วยการสนับสนุนเครื่องมือ องค์ความรู้ วิธีการทำงาน และทดลองต้นแบบ เพื่อให้การทำงานมีประสิทภาพมากขึ้น เช่น เมื่อก่อนเขาให้ทุนเด็กเป็นโควตา สมมติให้โควตาเด็กประถมไม่เกิน 40% มัธยมต้นไม่เกิน 30% ของโรงเรียน โรงเรียนก็จะหารเฉลี่ย ทำให้เด็กไม่เงินไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย สมมติเด็กคนหนึ่งควรจะได้ 1,500 บาท เขากลับได้ 500 บาท เนื่องจากครูต้องเอาเงินไปถัวเฉลี่ย เพราะแยกไม่ออกว่าเด็กคนไหนจนมากหรือจนน้อย บทบาทของ กสศ. คือการทำหน้าที่เติมเต็มให้หน่วยงานหลักทำงานช่วยเหลือเด็กได้ตรงจุดมากขึ้น
รางวัล Equity Award ก็เกิดขึ้นเพราะอยากจูงใจให้ภาคีเครือข่ายทำงานต่อใช่ไหม
อย่างแรกเลยคือเราอยากขอบคุณสำหรับ 6 ปีที่ผ่านมา ทุกโรงเรียนที่คัดกรองช่วยเหลือเด็กหมดเลย เราอยากให้รางวัลทุกโรงเรียน เพราะเขาทำได้ดีและเราขอบคุณมาก
สิ่งที่เราอยากเพิ่มคุณค่าให้กับเรื่องนี้ คืออยากให้เขามองภาพได้ว่า เด็กหนึ่งคนไม่สามารถช่วยได้แค่เงินทุนเสมอภาคเพียง 3,000 บาท คุณต้องไปต่อโดยการหาใครมาช่วย เราอยากเห็นต้นแบบของสถานที่ศึกษาที่ทำงานแบบนี้ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงของวิธีการทำงานในชุมชนหรือระดับจังหวัด
ถ้าสังเกตโลโก้ กสศ. เราจะเห็นเป็นรูปผีเสื้อ ซึ่งหมายถึงแรงกระเพื่อม เราอยากให้คนที่ได้รางวัลเป็นแรงกระเพื่อมให้กับโรงเรียนอื่นๆ ได้เห็นว่าสิ่งที่คุณทำมีคนเห็นนะ คุณควรได้รับการเชิดชูหรือยกย่อง เพราะบางทีโรงเรียนอื่นๆ อยากทำแต่เขายังหาจุดเริ่มต้นไม่ได้ กสศ.จึงอยากลองทำรางวัลนี้ขึ้นมา
คุณอยากฝากอะไรถึงครู บุคลากรทางการศึกษา สถานศึกษา และใครก็ตามที่สนใจในรางวัล Equity Award บ้างไหม
ปีนี้เป็นปีแรกที่ กสศ. เริ่มทำรางวัลนี้ มันจะเป็นปีที่สำคัญที่คุณครูจะรวมสร้างอัตลักษณ์ของทุนและรางวัล Equity Award เพราะฉะนั้นก็อยากเชิญชวนว่า หากโรงเรียนไหนที่มีจุดเด่นหรือมีประสบกาณณ์การทำงานในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนยากจน มีเครือข่ายในการทำงานที่ดี เราอยากชวนให้เข้ามาร่วมเรียนรู้โครงการนี้ด้วยกัน เพราะอย่างน้อย คุณจะได้เห็นว่าโรงเรียนอื่นๆ เขามีดียังไง มีจุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดูแลเด็กที่ดีขึ้นได้ยังไง อยากเชิญชวนโรงเรียนทุกแห่งที่สนใจหรือมีโมเดลที่อยากแลกเปลี่ยน ถ่ายทอด มาร่วมรางวัล Equity Award ด้วยกัน