Night School : อดีตเด็ก dropouts ที่กลับมาเรียน เหนื่อยแทบตาย แต่ยังไปต่อได้เพราะ Support System

  • อินเดียนาโพลินเป็นหนึ่งในเมืองที่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุดในสหรัฐอเมริกา
  • สารคดี Night School ของ Andrew Cohn ผู้กำกับที่เคยคว้ารางวัล Emmy Award พาเราไปสำรวจชีวิตสุดเรียลของอดีตเด็กหลุดจากระบบการศึกษาสามคนที่ในวันนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่พวกเขาอยากจะกลับไปเรียนให้จบมัธยมปลายอีกสักครั้ง
  •  เป้าหมายปลายทางของทั้งสามต่างกัน อุปสรรคมีทั้งจุดร่วมและจุดต่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ช่วยผลักดันให้ทั้งสามคนเรียนจนจบได้ คือ Support System กลุ่มสนับสนุน คนที่คอยเป็นแรงใจ ไม่ว่าจะเป็นลูกสาว แฟนหนุ่ม เพื่อนฝูง หรือคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ให้พวกเขายังไปต่อได้แม้ในวันที่เกือบจะร่วงหล่นไปอีกหนก็ตาม

สำหรับชายหนุ่มพ่อเลี้ยงเดี่ยว  ‘การศึกษา’ หมายถึงโอกาสหนที่สองและอนาคตของลูกสาว 

สำหรับหญิงสาวไร้บ้านที่ต้องนอนในรถ ‘การศึกษา’ หมายถึงบ้านอบอุ่นสักหลัง ชีวิตที่ดีขึ้น และงานที่ใฝ่ฝัน                         

สำหรับหญิงวัยกลางคนขี้เหงาอีกหนึ่ง ‘การศึกษา’ หมายถึงสิ่งที่จะทำให้เธอกลับมาเป็น ‘ใครสักคน’ ในโลกเหงาๆ นี้อีกครั้ง

“เธอมาถ่ายฉันทำไม ไม่มีใครเขาอยากดูหรอก” 

อาจเป็นรอบที่สิบหรือร้อยตลอดการถ่ายทำที่แอนดรูว์ คอห์น (Andrew Cohn) ผู้กำกับ Night School (2559) สารคดีว่าด้วยการกลับมาเข้าเรียนอีกครั้งของเหล่า dropouts (คนที่หลุดจากระบบการศึกษา) ได้ยิน เมลิสซา ลูวิส บอกกับเขา

ใจกลางอินเดียนาโพลิส หนึ่งในเมืองที่มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษามากที่สุดในสหรัฐอเมริกา แอนดรูว์ คอห์น พาเราไปตามติดชีวิต เกร็ก เฮนสัน, เมลิสซา ลูวิส และชินีกา เจคส์ สามคนที่เคยหลุดจากระบบการศึกษา แต่กลับมาเผชิญหน้ากับการศึกษาอีกหนด้วยเป้าหมายที่ต่างกัน

เป็นโอกาสหนที่ 2, เป็นความหมายของชีวิต, เป็นอนาคต

เกร็ก เฮนสัน คืออดีตพ่อค้ายา เขาเลือกออกจากระบบการศึกษาด้วยตนเองเพราะต้องการจะเที่ยวเล่นและค้ายาซึ่งเป็น ‘อาชีพ’ ที่เห็นเงินได้ไวกว่า แต่เมื่อรู้ตัวอีกทีเขาก็กลายเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ต้องกระเตงลูกสาวไปด้วยทุกที่ และเธอนั่นเองที่เป็นเหตุผลให้เกร็กกลับเข้าระบบการศึกษาอีกครั้งในวัย 30 กว่าปี เขาเชื่อว่าใบประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมนี้จะทำให้เขาได้ทำงานที่ดี ซึ่งนั่นแปลว่ามีอนาคตที่ดีรอลูกเขาอยู่ด้วย

            เมลิสซา ลูวิส วัย 50 กว่าปี เป็นคุณแม่และคุณย่าเลี้ยงเดี่ยว เธอออกจากระบบการศึกษาเพราะมีลูกชายคนแรกตั้งแต่อายุ 14 ปี ในวัย 50 กว่าปีที่เป็นเพียงคุณย่าอยู่ในบ้านเหงาๆ การศึกษาไม่ได้มีความสำคัญกับเมลิสซาในฐานะเครื่องมือต่อยอดหน้าที่การงาน แต่ชีวิตที่ผ่านมาโดยปราศจากการศึกษานั้นทำให้เธอต้องต่อสู้ดิ้นรนมากกว่าคนอื่นๆ และเพราะความไม่ง่ายของชีวิตนี้เอง ที่ทำให้เมลิสซาคอยตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอว่าชีวิตของเธอจะเป็นอย่างไรหากไม่ตัดสินใจหยุดเรียนและออกมาใช้ชีวิตในฐานะคุณแม่ตั้งแต่อายุ 14 คำถามที่ไม่อาจตอบได้เหล่านี้ เมื่อถูกถามขึ้นในหัวซ้ำๆ ก็ทำให้เมลิสซาเสียความมั่นใจและความเคารพในตัวเอง กลายเป็นคนที่ไม่เห็นคุณค่าของชีวิต การมีอนาคตหรือหน้าที่การงานที่ดีจึงไม่ใช่เป้าหมายของการกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้งในรอบ 30 กว่าปีของเมลิสซา หากแต่การจบการศึกษาให้ได้ (หลังจากตกวิชาพีชคณิตและต้องเรียนซ้ำมา 5 รอบ) คือสิ่งหนึ่งที่จะพิสูจน์กับตัวเธอเองได้ว่าเธอได้ทำบางสิ่งที่ยากยิ่งสำหรับเธอจนสำเร็จและได้เป็น ‘ใครสักคน’ สำหรับตัวเธอเองแล้ว 

            ชินีกา เจคส์ คือเด็กสาวที่เคยเป็นเด็กเรียนดี กระทั่งย้ายโรงเรียน โรงเรียนใหม่ของเธอนั้นให้ความรู้สึกไม่เป็นมิตร ไม่มีครูที่ใส่ใจนักเรียน ความโดดเดี่ยวในโรงเรียนใหม่ทำให้เธอหันหน้าไปหาเพื่อนที่ไม่อยากเข้าเรียนเหมือนๆ กัน จนเลยเถิดมาเป็นการหลุดออกจากระบบการศึกษาในวัย 20 กว่าปี
ชินีกาเป็นพนักงาน Arby’s แฟรนไชส์ฟาสต์ฟูด กับค่าแรงต่ำเตี้ยเรี่ยดินที่ไม่พอแม้กระทั่งค่าเช่าบ้าน เธอกลายเป็นคนไร้บ้านที่ต้องนอนบนรถ ถึงอย่างนั้นเธอก็มีความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่านั่นคือการได้เป็นพยาบาล ใบประกาศนียบัตรนี้จึงถือเป็นใบเบิกทางที่จะทำให้เธอมีบ้านที่อบอุ่นและมีหน้าที่การงานในฝัน

อุปสรรคที่ไม่เลือกอายุ

            ในประเทศไทย รายงานภายใต้โครงการ ‘การสนับสนุนและพัฒนากลไกการขับเคลื่อนครูและเด็กนอกระบบการศึกษา’ โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่าสาเหตุการออกนอกระบบการศึกษาของเยาวชนนั้นมาจากความยากจนถึงร้อยละ 46.70 ปัญหาครอบครัวร้อยละ 16.14 ออกกลางคันหรือถูกผลักออกร้อยละ 12.03 รวมถึงการไม่ได้รับสวัสดิการด้านการศึกษา ปัญหาสุขภาพ อยู่ในกระบวนการยุติธรรมและได้รับความรุนแรง ตามลำดับ

            อุปสรรคที่ผู้ใหญ่ทั้งสามที่กลับเข้าระบบการศึกษาต้องเผชิญในสารคดีเรื่องนี้ต้องเผชิญนั้นไม่ต่างกันนัก และความพิเศษของสารคดีนี้ก็คือการพาไปสำรวจปัญหาเหล่านี้ที่ดูจะยิ่งถูกขับเน้นให้เด่นชัดขึ้นเมื่อเล่าในมุมมองของผู้ใหญ่ที่ต้องแบกรับปัญหาเหล่านี้โดยตรง

            ทั้งเกร็ก เมลิสซา และชินีกา ต่างโดนปัญหาเหล่านี้เล่นงานและทดสอบอยู่เสมอ

            แม้จะพร่ำบอกกับน้องชายว่าเขาควรจะรู้จักการเติบโตเป็นผู้ใหญ่และมีความรับผิดชอบบ้าง แต่เมื่อน้องชายที่ยังอยู่ในแวดวงยาเสพติดถูกยิงทั้งที่การเรียนของเกร็กกำลังไปได้ดี เกร็กก็แทบจะเลิกล้มความตั้งใจในการคว้าโอกาสครั้งที่สอง และไปเอาคืนคนที่ยิงน้องของเขา ส่วนตัวเขาเองก็มีประวัติอาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ จนทำให้การลองสมัครงานหนแรกของเขาไม่ประสบความสำเร็จ จนเกร็กต้องแบ่งเวลาที่มีน้อยนิดอยู่แล้วในการเรียน ไปเดินเรื่องขอลบประวัติอาชญากรรม เกร็กจึงเป็นอีกคนที่เป็นทั้งเหยื่อของความยากจน กระทั่งทั้งน้องชายและตัวเขาเองมีชีวิตที่พัวพันกับการกระทำผิดกฎหมายเพราะหาเงินได้มากกว่า แถมยังมีคดีติดตัวที่เป็นอุปสรรคทั้งกับการเรียนและการหางาน

            ทางด้านเมลิสซานั้น ความยากจนและการเป็นคุณแม่ตั้งแต่อายุ 14 ทำให้เธอทำงานหนักที่ต่อให้ขยันมาตลอดชีวิตก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของเธอดีขึ้น ในวัย 50 กว่าปีที่ยังไม่เข้าข่ายคนชราด้วยซ้ำ
เมลิสซากลับมีปัญหาสุขภาพ เธอเดินโขยกเขยก กว่าจะพาร่างตัวเองไปถึงโรงเรียนได้ก็ลำบากพอตัว
แต่สิ่งที่ทำให้เมลิสซาถอดใจมากที่สุดคือการตกพีชคณิตถึง 5 ครั้ง เป็น 5 ครั้งที่ใบประกาศนียบัตรอยู่แค่เอื้อมแต่เธอต้องมาเรียนซ้ำเพียงเพราะวิชาเดียว

            ชินีกาที่เป็นพนักงาน Arby’s ก็มีปัญหาในการแบ่งเวลาเรียนกับเวลาทำงานที่รายได้ต่ำเตี้ย สวัสดิการน้อยนิด แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังสองจิตสองใจว่าควรทุ่มเทให้อะไรกันแน่ หากทุ่มเทกับการเรียนจนโดนไล่ออกจากงานแต่สอบไม่ผ่าน อนาคตเธอจะเป็นอย่างไร แต่หากทุ่มเทกับงานรายได้ต่ำจนการเรียนแย่ อนาคตที่เธอวาดฝันจะมีทางมาถึงไหม ในช่วงหนึ่งที่ชินีการู้สึกว่าผู้จัดการร้านจงใจกลั่นแกล้งให้เธอลงกะที่ไม่เอื้อต่อตารางเรียนของเธอ ครูของชินีกาก็ให้สัมภาษณ์ว่าการเรียนของเธอแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด และมีหลายครั้งที่ตัวชินีกาเองดูพร้อมจะถอดใจและกลายเป็นเด็กหลุกจากระบบการศึกษาไปอีกครั้ง

            อย่างไรก็ตาม ทั้งสามคนกลับยังถือว่าเป็นกลุ่มคนที่โชคดีที่มีโรงเรียนอย่าง The Excel Center ให้พวกเขาได้เข้าเรียน ในขณะที่อีกหลายคนที่เคย dropout เข้าไม่ถึงโรงเรียนแบบศูนย์การเรียนแห่งนี้
โดยส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกายังเข้าถึงเพียงแค่การสอบ GED หรือสอบเทียบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งอาจมีประโยชน์ในการยื่นเข้ามหาวิทยาลัย แต่จากผลสำรวจพบว่าผู้จ้างหลายแห่งไม่รับคนสอบ GED ได้ แต่จะรับคนที่มีประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายมากกว่า ซึ่งโรงเรียนผู้ใหญ่ที่มีประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลายให้ก็ไม่ได้มีแพร่หลายนักในอเมริกา

            “นี่ไม่ใช่แค่ใบกระดาษว่าสอบผ่าน แต่นี่คือปัญหาด้านความเท่าเทียมในสังคม” เบรนต์ ฟรีแมน ผู้อำนวยการโรงเรียน The Excel Center ให้สัมภาษณ์ในสารคดี 

“คนที่นี่ไม่ได้รับโอกาสหรือทรัพยากรทางการศึกษาที่พร้อมเท่าเด็กกลุ่มอื่น แต่เขาก็แสดงให้เห็นแล้วว่าถ้าได้รับโอกาส เขาก็ทำได้เหมือนกัน”

            นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ The Excel Center เป็นโรงเรียนการศึกษาผู้ใหญ่แบบเรียนฟรีที่เอื้ออำนวยนักเรียนในทุกด้าน ภาพของพ่อแม่กระเตงลูกมานั่งเรียนด้วยกลายเป็นภาพปกติ นอกจากนั้นที่นี่ยังมีบริการดูแลเด็กในชั้นเรียน ตารางเรียนแบ่งเป็นทั้งภาคเช้า บ่าย หรือแม้แต่ช่วงค่ำเพื่อให้นักเรียนได้เลือกเรียนในเวลาที่สะดวก หลายๆ คอร์สที่ต้องเรียนแยกกันในโรงเรียนมัธยมทั่วๆ ไป ก็รวมเป็นคอร์สเดียวกันโดยได้หน่วยกิตเทียบเท่าการเรียนหลายคอร์สเพื่อให้นักเรียนได้หน่วยกิตครบเร็วที่สุด ห้องเรียนออกแบบมาให้มีขนาดเล็กเพื่อที่ครูจะสามารถให้คำปรึกษาและช่วยเหลือตัวต่อตัวได้ รวมถึงมีโค้ชที่คอยให้คำปรึกษาและวางแผนการเรียนที่เหมาะกับเป้าหมายและความต้องการของนักเรียน

            แม้อาจจะยังไม่สมบูรณ์แบบแต่โรงเรียนอย่าง The Excel Center ก็พยายามจัดการศึกษาที่อุดช่องว่างของปัญหาที่ทำให้นักเรียนของพวกเขาต้องเคยเป็นเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาเพื่อที่เหตุการณ์เดิมจะไม่เกิดซ้ำรอย และยังทำให้เราคิดว่าชีวิตของนักเรียนที่นี่จะเป็นอย่างไรหากโรงเรียนทุกโรงเรียนมีสิ่งเหล่านี้ให้พวกเขาแต่แรก เกร็กอาจไม่ต้องไปค้ายา เมลิสซาอาจเรียนไปเลี้ยงลูกไปได้ ชินีกาก็คงจะรู้สึกว่าโรงเรียนน่าอยู่มากกว่านั้น

Support System : กำลังใจให้อยากไปต่อ

สิ่งที่ทำให้ Night School พิเศษสำหรับเรา คือแม้มันจะเป็นสารคดีที่ค่อนข้างตึงเครียด ถ่ายทอดทั้งความกดดันจากการเรียน ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไร้ทางแก้ อุปสรรคส่วนตัวที่กลุ้มรุมทั้งเกร็ก เมลิสซาและชินีกา แต่มันยังกล่าวถึงสิ่งหนึ่งที่ทำให้ทั้งสามคนยังไปต่อไหวและไม่กลายเป็นเด็ก dropouts อีกหน ก็คือ Support System เพื่อนคู่คิดมิตรคู่ใจของพวกเขาที่หลายคนมักมองข้ามเมื่อพูดถึงการแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา

            “เราต้องการให้ใครอยากสำเร็จการศึกษามากกว่าตัวเขาเองอยากสำเร็จการศึกษาไม่ได้หรอก”
คือคำที่ครูคนหนึ่งของเกร็กพูดในตอนที่เขาเริ่มทำตัวเหลวไหลไม่เข้าเรียน ต่อให้ The Excel Center จะเป็นโรงเรียนที่ดีแค่ไหน บางครั้งเกร็กอาจถอดใจลาออกไปตั้งนานแล้วหากไม่มีลูกสาวของเขาเป็นแรงใจชั้นดี ทุกครั้งที่ดูเหมือนเขาจะร่วงหล่นไปอีกครั้ง เกร็กจะพูดกับตัวเองดังๆ ว่า “Single dad’s gonna get my sh*t together” (พ่อเลี้ยงเดี่ยวต้องดึงสติได้แล้ว) เพราะการสำเร็จการศึกษาในครั้งนี้ไม่ได้หมายถึงอนาคตของตัวเขาเองเท่านั้น แต่คืออนาคตและชีวิตทั้งชีวิตต่อจากนี้ของลูกสาว

การสอบจบการศึกษาที่ใกล้จะมาถึง ทั้งความตึงเครียดและกะเข้างานที่เธอเชื่อว่าผู้จัดการสาขาจงใจกลั่นแกล้งเธอ ทำให้ชินีกาถึงกับหลั่งน้ำตาในห้องเรียน เท้าสองข้างของชินีกายืนอยู่คนละฝั่งเสมอ ฝั่งหนึ่งเธอเหยียบความฝันที่จะเป็นพยาบาลและชีวิตที่ดีกว่าไว้ อีกฝั่งเธอยังคงเหยียบงานพาร์ตไทม์ที่ Arby’s ไว้ด้วยกลัวว่าจะสอบไม่ผ่าน ชีวิตการเป็นนักเรียน The Excel Center ของชินีกาจึงเต็มไปด้วยความกล้าๆ กลัวๆ เคลือบแคลงสงสัยในตัวเองและอนาคตอยู่เสมอ แต่แล้วชินีกาก็ได้เจอกับ Support System ของเธอเองเมื่อชายคนหนึ่งยื่นใบปลิวให้เธอ มันคือใบปลิวรณรงค์เรียกร้องขอค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้น ทีแรกชินีกากล้าๆ กลัวๆ เธอยังลังเลว่าการเรียกร้องจะคุ้มค่าไหม แต่แล้วเธอก็ตัดสินใจที่จะลองดูสักตั้ง ที่นั่นเธอได้พบกับผู้คนมากมายที่ฝันถึงอนาคตที่ดีกว่าร่วมกัน และไม่มากก็น้อย การได้ไปชุมนุมเหมือนเป็นการปลดล็อกบางสิ่งในใจของชินีกา จากที่ลังเล เธอกลายเป็นหนึ่งในคนที่ถือโทรโข่งเรียกร้องสิทธิให้ตัวเองและผู้คนที่ประสบปัญหาเดียวกัน และนั่นกลายเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่ทำให้ชินีกาคว้าใบประกาศนียบัตรในฝันมาได้

เมลิสซาในวัย 50 กว่าปีผู้ที่พร้อมจะถอดใจกับการเรียนได้ทุกเมื่อกลับพบ support system ในโรงเรียน The Excel Center แห่งนี้นี่เอง ไม่ใช่แค่ในการเรียน แต่ในทุกขณะชีวิต เธอเจอกับ ‘ริก’ ชายวัยกลางคนรุ่นราวคราวเดียวกันที่กำลังเรียนที่ The Excel Center เหมือนกันขณะนั่งรถกลับบ้าน ทั้งคู่ออกเดตกัน เป็นเพื่อนร่วมเรียนและเพื่อนใจให้กัน เป็นความรักครั้งใหม่ของคนเหงาวัยกลางคน จากนั้นช่วงเวลาสีทึมเทาของการติวโจทย์พีชคณิตยากๆ ที่เมลิสซาสอบตกมาแล้ว 5 ครั้งก็ดูจะเป็นช่วงเวลาที่สดใสขึ้นมาบ้าง นอกจากริกแล้วเธอยังได้พบเพื่อนวัยใกล้เกษียณที่เกลียดพีชคณิตไม่ต่างจากเธอ เมลิสซาจึงมีใครสักคนให้บ่น และใครสักคนให้จูงมือพากันกลับเข้าเรียนทุกครั้งที่รู้สึกท้อ

            ในวันที่ความพยายามครั้งที่ 6 ของเมลิสซาไม่ได้ผลและเธอสอบตกพีชคณิตอีกครั้ง แรงใจไฟฝันของเมลิสซาก็มอดดับลง เธอไม่ไปเรียนสองสัปดาห์ แต่กลับได้รับจดหมายจากครูที่เขียนมาบอกว่าเธอน่าเคารพยกย่องแค่ไหนที่สู้มาได้ถึงขนาดนี้ จดหมายนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่นว่าเธอจะต้องทำได้ เมลิสซาตัดสินใจขอพักเรียนและพักใจจากความผิดหวังในการสอบไปช่วงหนึ่ง แต่ด้วยกำลังใจทั้งจากริก จากเพื่อน จากครู เธอก็กลับไปเรียนอีกครั้งในภาคเรียนถัดไป และในครั้งนี้เธอก็กำราบข้อสอบพีชคณิตได้ในที่สุด

            Night School ถ่ายทอดเรื่องราวของอดีตเด็ก dropout ให้เราได้เห็นว่า ปัญหาที่ทำให้พวกเขา dropout นั้นยังตามหลอกหลอนเขาอยู่เสมอ ความยากจน ความเจ็บป่วย การต้องแบกรับภาระในครอบครัว ความรุนแรง ต่างเป็นเงาตามตัวของทั้งเกร็ก เมลิสซา และชินีกา แต่ขณะเดียวกันมันก็ทำให้เราได้เห็นว่าแม้เราอาจไม่สามารถขจัดอุปสรรคเหล่านี้ให้หมดไปได้ อย่างน้อยการออกแบบการศึกษาที่เหมาะสมและสวัสดิการผู้เรียน รวมถึงการมีใครสักคนให้คอยบ่นว่าพีชคณิตสุดจะยากแต่ก็จูงมือกันกลับไปเรียนได้ทุกเมื่อ ก็อาจจะพอช่วยทุเลาปัญหาเหล่านั้น และฉุดรั้งคนที่กำลังจะร่วงหล่นจากระบบกลับมาก็ได้ 


Writer

Avatar photo

ปัญญาพร แจ่มวุฒิปรีชา

อย่ารู้จักเราเลย รู้จักแมวเราดีกว่า

Illustrator

Avatar photo

อุษา แม้นศิริ

มนุษย์กราฟิกผู้ชื่นชอบงานภาพประกอบ สีฟ้า ดนตรี และมีนกน้อยสองตัวเป็นของตัวเอง

Related Posts