โรงเรียนเบญจมราชาลัย: นโยบายปลอดการบ้าน 1 สัปดาห์ เเล้วมาเรียนรู้พร้อมกัน
การเรียนออนไลน์ที่กินเวลามานานเเรมปี ทำให้นักเรียนต้องเจอกับปริมาณการบ้านเเละภาระงานที่เยอะขึ้น ทั้งการบ้านประจำวัน ใบงาน งานกลุ่ม เเละการเตรียมตัวสอบ จนภาระงานเหล่านี้เข้ามาเเทรกช่วงเวลาเเห่งความสุขเเละการพักผ่อนของนักเรียน ทั้งๆ ที่พวกเขากำลังอยู่ในวัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังเเละค้นหาตัวตน
“ช่วงนี้การบ้านเยอะเลย น้องก็ทำตามความเร่งด่วน นอน 3-4 ทุ่มทุกวัน ปกตินอนไม่เกิน 2 ทุ่มครึ่ง ไม่ได้ออกจากบ้านไปไหนเลย ไม่มีกิจกรรมนอกบ้าน สงสารเหมือนลูกเหมือนกันค่ะ”
เสียงจากคุณแม่คนหนึ่งในกรุ๊ปไลน์โรงเรียน ส่งตรงถึง วุฒิชัย วรชิน ผู้อำนวยการโรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เเสดงถึงความกังวลเกี่ยวกับปริมาณการบ้านที่มากเกินไปในช่วงเรียนออนไลน์ ด้วยเหตุนี้ทางโรงเรียนจึงออกนโยบาย ‘สัปดาห์ปลอดการบ้าน’ ตั้งเเต่วันที่ 19-23 กรกฎาคม 2564 เพื่อลดความเครียดจากการเรียน
mappa ชวน ผอ.วุฒิชัย วรชิน พูดคุยเรื่องการปรับเเนวทางการสอนของโรงเรียนในช่วงเรียนออนไลน์ ว่าทำอย่างไรเด็กๆ จึงจะเรียนอย่างมีความสุขควบคู่กับความรู้
เสียงของครู นักเรียน เเละผู้ปกครอง
ผอ.วุฒิชัย เล่าว่า ก่อนจะเริ่มต้นนโยบายปลอดการบ้าน 1 สัปดาห์ ผู้อำนวยการเปิดรับความเห็นของครู นักเรียน เเละความกังวลใจของผู้ปกครองเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน เนื่องจากทั้งครูเเละนักเรียนมีความหลากหลาย โดยเฉพาะครูที่มีรูปเเบบการสอนเเละวางเเผนการสอนไม่เหมือนกัน ดังนั้นการปรับนโยบายจะต้องกระทบกับเเผนการสอนของครูให้น้อยที่สุด
ทางโรงเรียนจึงเลือกที่จะขอความร่วมมือครูให้ช่วยลดการบ้าน เเละมองหาวิธีการบูรณาการวิชาต่างๆ มากขึ้น
“การจะกำหนดนโยบายอะไรออกไปนั้นย่อมส่งผลกับครู เนื่องจากครูเเต่ละท่านวางเเผนการสอนไม่เหมือนกัน บางคนก็จัดเต็ม บางคนก็เข้าใจเด็ก ซึ่งเป็นความหลากหลายของคุณครู โดยเราต้องหาจุดร่วมกันของทั้งครูเเละนักเรียน”
นอกจากนั้น ผอ.วุฒิชัย ยังจัดทำเเบบสำรวจออนไลน์เกี่ยวกับปริมาณการบ้านของนักเรียนเเต่ละห้อง โดยให้ตัวเเทนนักเรียนเป็นคนกรอกเอง
“โรงเรียนทำเเบบสำรวจเเล้วให้หัวหน้าห้องเป็นคนกรอกว่าแต่ละวันมีการบ้านอะไร จะได้ดูว่าการบ้านวิชาไหนเยอะ สรุปเป็นรายสัปดาห์ จากนั้นก็จะเเจ้งคุณครูว่า วิชาไหนการบ้านเยอะ เพื่อหาวิธีลดการบ้านต่อไป”
รวมถึงยังรับฟังเสียงของผู้ปกครองที่ร้องเรียนมาถึงผู้อำนวยการโดยตรงเกี่ยวกับปริมาณการบ้านที่อาจจะมากเกินไป ทำให้เด็กๆ เครียด เเละไม่มีเวลาพักผ่อน
ในฐานะผู้บริหารโรงเรียน ผอ.วุฒิชัย มองว่า ฝ่ายบริหารมีหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างเด็ก ครู เเละผู้ปกครอง เเล้วลงมือช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้ อาจเป็นการบอกด้วยวาจาหรือการบังคับใช้นโยบายที่ทั้งสามฝ่ายพอใจ
นโยบายสัปดาห์ปลอดการบ้าน
จุดเริ่มต้นของการประกาศนโยบายสัปดาห์ปลอดการบ้านของโรงเรียนเบญจมราชาลัยเนื่องจากวันที่ 19-23 กรกฎาคม 2564 จะเป็นสัปดาห์สอบกลางภาค ซึ่งทางโรงเรียนมองว่านักเรียนควรจะมีเวลาอ่านหนังสือสอบอย่างเต็มที่ จึงตัดสินใจขอความร่วมมือคุณครูลดการสั่งการบ้านลง 30 เปอร์เซ็นต์
การบ้านของนักเรียนเเบ่งออกเป็น 2 รูปเเบบ คือ การบ้านเพื่อเสริมสร้างทักษะในวิชานั้นเพิ่มเติม เเละใบงานหรือกิจกรรมกลุ่มเพื่อเก็บคะเเนน ซึ่งปกติเเล้วคุณครูในโรงเรียนเบญจมราชาลัยจะประชุมวางเเผนการสอนเเละปริมาณการบ้านร่วมกัน
“ถ้าเรียนออนไซต์ ก่อนเปิดเทอมคุณครูในระดับชั้นจะมานั่งโต๊ะประชุมกันทั้งวันเลย ว่าวิชาไหนจะให้งานเท่าไหร่ ชิ้นงานไหนสามารถให้คะเเนนร่วมกันได้ เเต่พอเป็นออนไลน์ แผนที่ทำไว้ตรงนั้นพังหมดเลย”
ผอ.วุฒิชัย มองว่า ปัญหาการบ้านที่เพิ่มขึ้นจากการเรียนออนไลน์ คือปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งอาจมาจากปัญหาเรื่องการสื่อสารระหว่างครูเเละนักเรียน
“ในห้องเรียน (ออนไซต์) นักเรียนสามารถพูดคุยกับคุณครูโดยตรง ครูทวงงานได้ จี้ได้ แต่พอเป็นการเรียนออนไลน์ ทำให้ครูตามงานลำบาก การสื่อสารมีข้อจำกัด หมดคาบนี้ก็จบ คาบหน้าก็เรียนวิชาอื่นต่อ
“ทักษะการจัดการของเด็กเเต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน นักเรียนบางคนไม่มีปัญหาเรื่องการบ้านเลย สามารถที่จะบริหารจัดการตัวเองได้ แต่บางคนอาจจะพอกเอาไว้ แล้วปรากฏว่าพอถึงเวลาจัดการไม่ได้ เลยมีประเด็นเรื่องงานค้างหลายวิชา”
หลังจากประกาศนโยบายนี้แล้ว จะมีการติดตามผลอีกครั้งหลังสอบกลางภาค หากนักเรียนยังคงต้องเเบกภาระงานเเละการบ้านเช่นเดิม ทางโรงเรียนจะปรับเป็นสัปดาห์ปลอดการบ้านสัปดาห์เว้นสัปดาห์
ลบภาพจำห้องเรียนเเบบเดิม เเล้วเริ่มต้นใหม่พร้อมกัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเรียนออนไลน์ทำให้ประสิทธิภาพการเรียนลดลงตามสภาพเเวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการขาดอุปกรณ์การเรียน รวมถึงการบ้านที่เยอะขึ้น
ในมุมมองของผู้อำนวยการโรงเรียน ผอ.วุฒิชัย เห็นว่า ช่วงเวลานี้ควรให้ความสำคัญกับวิชาหลักในการเรียนออนไลน์ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เเละภาษาไทย เพื่อสร้างทักษะเเละนำไปใช้ในการสอบ ส่วนวิชาอื่นๆ อาจปรับเปลี่ยนเป็นการเรียนเเบบ on-demand หรือ self-study เเทน
“ครูทุกคนก็จะมองว่าวิชาของตัวเองสำคัญ เเต่ถ้าเป็นวิชาอื่นๆ ที่ไม่ใช่วิชาหลัก ก็อยากให้คุณครูถอยออกมาบ้าง เพื่อให้เด็กๆ ได้เน้นวิชาหลักที่เขาจะนำไปใช้ในอนาคต อาจจะปลอดการบ้าน 100 เปอร์เซ็นต์ ให้คุณครูเปลี่ยนเป็นการสอนแบบบรรยาย เเล้วเอาวิดีโอหรือใบงานไว้ในระบบให้นักเรียนมาเรียนตอนไหนก็ได้ เเค่เข้ามาเรียนจะเช็คเวลาให้ เเล้วอาจจะสอบเก็บคะเเนนตอนท้ายเทอมอย่างเดียว
“คุณครูที่เคยสอนออนไซต์ ต้องอย่าเอาภาพจำในห้องเรียนที่เคยสอนมาใช้ จะต้องลบทุกอย่างทิ้งหมดเลย เเล้วเริ่มต้นเรียนรู้กันใหม่”
ผอ.วุฒิชัย คาดว่า นโยบายของโรงเรียนทั้งการลดการบ้าน สัปดาห์ปลอดการบ้าน เเละการปรับรูปเเบบการสอน น่าจะช่วยลดปัญหาปริมาณการบ้านได้ประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักเรียน
ทั้งนี้ ผอ.วุฒิชัย ทิ้งท้ายการสนทนาด้วยเเนวทางการลดค่าเทอมของโรงเรียนเบญจมราชาลัยว่า ช่วงเเรกโรงเรียนคาดว่าจะสามารถกลับมาเปิดการเรียนการสอนในเดือนสิงหาคม เเต่สถานการณ์ปัจจุบันอาจต้องปรับเป็นการเรียนออนไลน์ตลอดเทอม ดังนั้นทางโรงเรียนจะคืนเงินส่วนที่นักเรียนไม่ใช้ เช่น ค่าไฟ ค่าวารสาร ค่าปฐมนิเทศ เป็นรอบที่ 2 ซึ่งจะประกาศให้นักเรียนเเละผู้ปกครองทราบต่อไป
โรงเรียนพัฒนาวิทยา: หยุดเรียน 1 สัปดาห์ คลายความเหนื่อยล้าให้เด็กๆ
“อาบี อาบี ลดการบ้านให้หนูนิดนึง มันเยอะมากเลย”
“ลูกผมต้องไปตัดแว่นแล้วนะ”
‘อาบี’ ในภาษามลายู แปลว่า ‘พ่อ’ รอสดี แมงกาจิ ผู้อำนวยการโรงเรียนพัฒนาวิทยา จังหวัดยะลา คือผู้ที่นักเรียนเรียกขานว่าอาบีอยู่เสมอ โดยเฉพาะช่วงที่เด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์ ปลายสายโทรศัพท์ของรอสดีจึงมักเต็มไปด้วยเสียงบ่นและคำร้องขอร้อยแปดพันเก้า จากทั้งนักเรียนและผู้ปกครอง
“โควิดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว บุคลากรของเราก็ได้ชิมลางแล้วนิดหนึ่ง แต่ปีนี้ดูเหมือนแนวโน้มน่าจะยาวนาน”
จากการประกาศเปิดเทอมของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา คุณครูในโรงเรียนพัฒนาวิทยาก็ได้ชิมลางในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์เต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนแล้ว จากการคาดการณ์สถานการณ์ที่คงไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ง่าย ประกอบกับบุคลากรในโรงเรียนกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ คือ ครูสอนศาสนาที่ค่อนข้างอายุมากแล้ว และไม่สันทัดเทคโนโลยี การตระเตรียมเหล่านี้ก็เพื่อให้แน่ใจว่า นักเรียนจะยังเรียนได้ในสถานการณ์วิกฤติ
“เราได้สำรวจพบว่า เด็กๆ มีเฟซบุ๊คกันทุกคนเลย เราจึงใช้ช่องทางนี้ในการเรียนการสอน ไม่เปิดแพลตฟอร์มอื่นให้ซับซ้อน
“ส่วนตารางสอนของโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม จากปกติ 9 คาบต่อวัน พอเรียนไปเรียนมา ลองคิดดูนะว่าเด็กต้องอยู่หน้าจอ 9 คาบต่อวัน ตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น เด็กล้ามาก เราก็มีนโยบายให้ฝ่ายวิชาการลดตารางเรียน จากเดิมวิชาหนึ่งมี 4 คาบต่อสัปดาห์ เราก็ลดลงมาเรื่อยๆ จาก 3 เป็น 2 จนเหลือ 1 เด็กๆ ก็มีเวลาผ่อนคลายมากขึ้น”
เมื่อลดคาบเรียนแล้ว มีช่องทางสื่อสารที่ไม่ยากแล้ว ทว่าในหน้างานจริง การลดเวลาเรียนให้น้อยลงเพื่อต้องการให้เด็กๆ ได้ผ่อนคลาย กลับกลายเป็นเวลาที่พวกเขาต้องนั่งปั่นการบ้านกองโตที่คุณครูสั่งไม่เว้นวัน
“ด้วยความเคยชินของครู นั่นคือ สอนเสร็จให้การบ้าน มันก็กลับไปอีหรอบเดิม เด็กก็เจอปัญหามากขึ้น จะออกไปปรินท์งานก็ไม่ได้ ออกไปหาข้อมูลนอกบ้านก็ไม่ได้ ผมก็เลยให้นโยบายใหม่อีกครั้ง”
นโยบายที่ว่าคือ ต้องสอนให้เสร็จภายในคาบ และการบ้านหรือแบบทดสอบในคาบต้องออกแบบมาเพื่อให้เด็กได้ประโยชน์
ในวัยเด็ก เราอาจสงสัยอยู่ไม่น้อยว่า การบ้านบางวิชาที่ต้องจดจนมือชา คัดลอกจากหนังสือลงสมุด หรือตัดแปะภาพลงกระดาษ – เกิดประโยชน์อะไร
รอสดีก็คิดเช่นเดียวกัน
ลดคาบเรียน ลดการบ้าน มีช่องทางสื่อสารที่ไม่ซับซ้อน เด็กๆ ก็น่าจะสบายกับการเรียนมากขึ้น แต่ไม่ใช่เลย เพราะเมื่อรอสดีมองกลับไป การบ้านเก่าๆ ที่ค้างคาเมื่อครั้งก่อนยังคงทับถมพวกเขาอยู่
นี่จึงเป็นที่มาของนโยบาย ‘หยุดการเรียนการสอน 1 สัปดาห์’ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสพักผ่อน และมีเวลาทำงานในส่วนที่ครูผู้สอนมอบหมายไว้ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ครูผู้สอน บุคลากร ได้เตรียมการสอนและการจัดการเรียนรู้ของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทางโรงเรียนจึงขอประกาศหยุดการเรียนการสอน 1 สัปดาห์
“การบ้านเก่าๆ ของเด็กก็ยังค้างคาอยู่เยอะ เราก็เลยนึกได้ว่า เอ้อ น่าจะให้นักเรียนได้หยุดพักผ่อนบ้าง set zero ตัวเองสัก 1 สัปดาห์ เพื่อให้สมองได้ refresh ใหม่
“อย่าลืมว่า ถ้าอยู่ในห้องเรียน เด็กๆ เขาสามารถพูดคุยสนุกสนานกับเพื่อนๆ ได้ วิ่งเล่นได้ แต่พออยู่หน้าจอ บางทีจอเล็กนิดเดียว เขาต้องเพ่ง บางทีต้องเอาลำโพงโทรศัพท์มาไว้ข้างหูเลย แล้วก็ไม่ใช่ว่าพ่อแม่ทุกคนจะมีโน้ตบุ๊คให้ลูกเรียน บางคนสัญญาณก็ไม่ค่อยดี เราก็เลยคิดว่า เอาล่ะ ให้เด็กๆ พักผ่อนบ้าง”
หากในกรณีที่นักเรียนไม่สามารถเข้าเรียนออนไลน์ได้พร้อมเพื่อนๆ เนื่องจากต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน เพราะในสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้ หลายบ้านยังต้องดิ้นรนเลี้ยงปากท้อง รอสดีบอกว่า
“ถ้าเด็กไม่สามารถเข้าเรียนออนไลน์ในเวลาเดียวกับเพื่อนๆ ได้ เพราะช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี เด็กอาจต้องทำงานหรือช่วยพ่อแม่ทำงานเพื่อเลี้ยงครอบครัว ผมก็ทำความเข้าใจกับครูว่า การที่เราเช็คชื่อเด็กขาดเรียน ให้ มส. (หมดสิทธิ์สอบ) หรือตัดคะแนนเขา มันไม่แฟร์กับเขามากนัก ครูต้องดูแลเด็กที่ไม่พร้อมเหล่านี้ในแบบอื่น”
รอสดีบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ใจจริงแล้วเขาอยากสนับสนุนอุปกรณ์ แท็บเล็ต อินเทอร์เน็ต ให้ครบถ้วนทุกคนทั้งบุคลากรและนักเรียน ทว่าพัฒนาวิทยา คือโรงเรียนสงเคราะห์ งบประมาณอุดหนุนไม่มากมาย สิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุดในฐานะผู้นำภายใต้สภาวะวิกฤติคือ
“ข้อหนึ่งที่ผมเรียกร้องไปยังต้นสังกัดคือ ผมอยากใช้เงินเรียนฟรี 15 ปี ซื้ออินเทอร์เน็ตให้กับนักเรียน เราไม่อยากให้เด็กทำใบงาน เพราะในความจริงแล้ว มันเดินทางไปหากันไม่ได้ หมู่บ้านนั้นก็มีโควิด หมู่บ้านนี้ก็มีโควิด แล้วถ้าจะส่งไฟล์ให้เด็กไปปรินท์มาทำ เขาจะไปปรินท์ที่ไหน
“ผมมองว่า โรงเรียนควรออกค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ต แต่ตอนนี้ก็ยังติดขัดที่นโยบายเรียนฟรี 15 ปี ว่าจะซื้อได้หรือไม่ได้ เรื่องนี้ผมและทีมโรงเรียนอีกหลายโรงทำหนังสือไปยังต้นสังกัดเพื่อเรียกร้องตรงนี้ ถ้าทำได้ ผมจะแจกเงินสดให้นักเรียนไปซื้ออินเทอร์เน็ตมาใช้เดือนละครั้ง เท่าที่เราจะทำได้ เพราะตอนนี้เงินมาแล้ว แต่เงินยังใช้ไม่ได้ ผมกำลังรอการอนุมัติอยู่”
อินเทอร์เน็ตสำหรับรอสดีนั้น ไม่ได้หมายความแค่ว่าเด็กสามารถเข้าเรียนออนไลน์ได้ แต่รวมถึงความสามารถในการค้นคว้าสิ่งอื่นในโลกกว้างที่พวกเขาสนใจ ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้ถือว่ามหาศาลสำหรับเด็กๆ และครอบครัวจำนวนไม่น้อย
สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป จำเป็นอย่างมากที่ทุกคนต้องปรับตัว โดยเฉพาะผู้บริหารโรงเรียนที่เปรียบเสมือนคนคุมหางเสือ
“ช่วงวิกฤติแบบนี้ ผมประชุมมานับสิบรอบกับกลุ่มสาระ ติดตามตลอดเวลา ภาวะผู้นำที่สำคัญของผู้อำนวยการคือการนำปัญหาไปแก้ไข แล้วต้องให้กำลังใจครู เพราะครูเขาก็ไม่เคยเจอสถานการณ์แบบนี้ จะไปบอกว่า ‘ครูสอนไม่ดี ครูปรับตัวช้า’ แบบนี้ไม่ได้ มันไม่ใช่เวลาที่ต้องมาต่อว่ากัน เราต้องให้กำลังใจกัน
“เช่น ใครไม่พร้อมเรื่องเครื่องมือในการสอนออนไลน์ ผมก็ไปติดต่อกับธนาคารอิสลาม ให้สินเชื่อครูซื้ออุปกรณ์คนละไม่เกิน 50,000 บาท แล้วจ่ายคืนเดือนละ 1,000 บาท ตอนนี้อนุมัติเสร็จสรรพแล้ว นี่คือการซัพพอร์ตเท่าที่เราจะทำได้ตอนนี้ เราเป็นโรงเรียนการกุศล ไม่ได้เก็บค่าเทอมอะไรมากมาย จะไปแจกอุปกรณ์ทุกคนก็ไม่ไหว ผมจำเป็นต้องให้ครูซื้อเอง แต่เราก็จัดการให้ครูเข้าถึงแหล่งทุนได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้ครูเขาสะดวกในการจัดการเรียนการสอน แล้วอยู่ในวิสัยที่เขาจะผ่อนไหว”
ปัญหาในโรงเรียนนั้นก็ว่ามากแล้ว ทว่าในทัศนะของรอสดี ปัญหาเชิงโครงสร้างต่างหากที่เราควรพูดถึงกันตามเนื้อผ้าอย่างตรงไปและตรงมา การหลบเร้นและแสร้งทำเมินเฉยต่อปัญหาใต้พรมนั้น จะเกิดประโยชน์อันใดทั้งในปัจจุบันและอนาคต
นั่นเพราะปัจจุบัน เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าระบบการศึกษาปรับตัวช้ากว่าใครเขา
“ระบบการศึกษาช้าต่อสถานการณ์ปัจจุบัน และในการแก้ปัญหานั้น มักมาพร้อมกับระเบียบ ระเบียบ และระเบียบ ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบราชการ จริงๆ แล้วส่วนตัวผมมองว่า ฝ่ายบริหารของระบบการศึกษาควรจะต้องตอบโต้ ตัดสินใจ และแก้ไขปัญหาได้รวดเร็วกว่านี้
“เช่นในสถานการณ์วิกฤติ ระเบียบทั่วไปใช้การไม่ได้ ก็ออกพระราชกำหนดหรือออกนโยบายต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับมิติของการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ในปัจจุบันนี้ ต้องเร็ว และใช้พลังของรัฐบาลมาแก้ปัญหาตรงนี้ ไม่ใช่ว่าต้องเรียนออนไลน์ แต่อย่างอื่นกลับไม่เอื้อเลย มันติดขัดไปหมดเลยสำหรับคนบริหารโรงเรียนอย่างเรา” รอสดีทิ้งท้าย
โรงเรียนราชดำริ: แค่งดการเรียนยังไม่พอ ต้องเปลี่ยน ‘การบ้าน’ เป็นการพัฒนาตนเอง
“วันจันทร์ที่ 26 ถึงวันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม 2564 งดการเรียนการสอนออนไลน์ 1 สัปดาห์ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดจากการเรียน พร้อมทั้งให้นักเรียนได้ติดตามงาน และทบทวนบทเรียนแต่ละรายวิชา เพื่อเตรียมตัวสอบกลางภาค ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 วันที่ 2-6 สิงหาคม 2564” นี่คือคำประกาศจากโรงเรียนราชดำริ
ปัญหาใหญ่ของการเรียนออนไลน์ นอกจากอุปกรณ์การเรียนที่ไม่พร้อมแล้ว ตารางเวลาเรียนที่แทบจะชนกัน รวมถึงภาระงานและการบ้านที่มีปริมาณมาก ในชั่วโมงเรียนปกติเด็กก็เครียดมากพอแล้ว เมื่อเป็นรูปแบบออนไลน์ยิ่งทวีมากขึ้น
ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล คุณครูสอนวิชาสังคมศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กล่าวกับ mappa ว่า “เด็กเครียด ล้า ปกติผมสอนเด็กจะมีปฏิกิริยาตอบโต้ตลอด แต่สองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา energy ตก แม้จะเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมให้เด็กได้แลกเปลี่ยนความคิดกัน แต่เราก็รู้สึกได้ว่าเขาเหนื่อย
“เด็กหลายคนที่ดูเหมือนไม่มีปัญหากับการเรียน เขาก็บอกเคลียร์การบ้านไม่ทัน มันตึงไปหมด พอละสายตาจากหน้าจอก็ไม่อยากทำอะไรแล้ว มีเวลาพักแค่วันอาทิตย์ แต่ก็ต้องมานั่งเคลียร์นั่นนี่ ซึ่งมันก็ไม่ทัน”
ประโยคข้างต้นเป็นตัวสะท้อนให้เห็นได้ชัดว่า การเรียนออนไลน์ที่มีระยะเวลานาน ประกอบกับภาระการบ้านที่กองเป็นภูเขา ส่งผลให้เด็กมีสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ลง
ความหมายของคำว่า ‘การบ้าน’ ที่ต้องคิดใหม่
เรียนแทบไม่ทัน การบ้านไม่เสร็จ ทำเด็กเครียด และหมดใจในการเรียน หนึ่งตัวเลือกที่จะสลายปัญหาเหล่านี้ของเด็กคือ ‘การจ้างทำการบ้าน’
“ผมเห็นความล้มเหลว” ครูทิวตอบทันที เมื่อถูกถามถึงภาพสะท้อนของวิธีการดังกล่าว
“ถ้าหากเรามองเรื่องการจ้างคนทำการบ้านให้เป็นเรื่องปกติ แสดงว่าเป้าหมายการทำการบ้าน คือแค่ส่งแล้วได้คะแนน ไม่ใช่ทำเพื่อพัฒนาตัวเอง ปลายทางคือแค่คะแนนและตัวเลข เราวัดเด็กแค่ตรงนั้น ไม่ได้ดูที่กระบวนการ ซึ่งเราโทษเด็กไม่ได้ด้วย
“เราต้องย้อนไปที่ความหมาย ถ้าทำให้เด็กตระหนักได้ว่า ที่เขาจำเป็นต้องทำการบ้าน เขาจะได้ประโยชน์อะไรจากมัน และบางครั้งเด็กไม่ได้กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่เกิดจากการสั่ง ดังนั้น ครูต้องคุยกับเด็ก ต้องเชื่อมโยงให้เห็นเป้าหมายในสิ่งที่เขาทำอยู่ ถ้าทำเช่นนี้ได้ การลอก การจ้าง หรือให้แม่ทำ ก็จะไม่เกิด”
ถึงแม้จะมีการประกาศนโยบายงดการเรียนการสอนข้างต้น จะทำให้เด็กเกิดกำลังใจในการเรียนขึ้นมาบ้าง แต่ความเครียดก็จะยังคงอยู่ต่อไป หากการหาความหมาย และเป้าหมายของการบ้านใหม่ไม่ถูกปรับเสียใหม่
“จริงๆ การลดการบ้าน ไม่ว่าจะออนไลน์ หรือเวลาปกติ เป็นเรื่องที่ควรตั้งคำถามแต่แรก เป้าหมายไม่ใช่การลดอย่างเดียว แต่ต้องตั้งคำถามว่างานที่สั่ง หรือการบ้านที่เด็กทำ มีความหมายมากน้อยแค่ไหน ปริมาณความเหมาะสมที่ให้เด็กควรอยู่ที่เท่าไหร่ เด็กก็รู้ว่าต้องมี ไม่ใช่ไม่เอาการบ้านเลย เพราะมันจำเป็นต่อการเรียนรู้และพัฒนาการ แต่ลดลงหรือปรับให้เหมาะสมหน่อยได้ไหม เขาจะได้ไม่รู้สึกว่ามันเป็นภาระ หรือมีงานหนัก ถ้าแก้ที่หลักคิดเลย มันจะไม่เกิดปัญหาดังกล่าว”
ดังนั้น การสั่งงานหรือให้การบ้านเด็ก โดยเอาปริมาณเป็นตัวตั้ง เพื่อประกอบการวัดประเมินผล โดยไม่ดูที่เนื้อหาสาระและประโยชน์ที่เด็กจะได้รับอย่างแท้จริง เป็นสิ่งที่ไม่ตรงจุดประสงค์ของคำว่าการศึกษา และเป็นปัญหาอย่างมากในระบบการศึกษาไทย
ครูทิวยกตัวอย่างวิธีการแก้ไขปัญหา ดังนี้
“ส่วนใหญ่ผมให้ทำการบ้านในคาบ หรือให้ไปดูคลิปแล้วให้เด็กคอมเมนต์ หรือในคาบอาจจะพูดคุยกันถึงสิ่งที่เด็กสนใจ เพื่อพัฒนาเป็นหัวข้อค้นคว้าอิสระของตัวเด็กเองโดยไปหาข้อมูลมาก่อน แล้วค่อยมาทำ
“วิชาผมไม่มีสอบ แต่ให้ค้นคว้าอิสระ เราเปิดกว้างให้เด็กทำหัวข้ออะไรก็ได้ โดยระหว่างที่ให้เขาค้นคว้าหรือตั้งหัวข้อ เราก็พยายามทำทีละสเต็ปๆ ไปพร้อมกับเขา เช่น เด็กสนใจเรื่องการเลือกสายวิชาตอน ม.4 ซึ่งระหว่างนี้เราก็ให้คำแนะนำเด็กไปด้วย อย่างเช่นทำไมต้องมีการแบ่งสาย มีตั้งแต่ตอนไหน ประมาณนี้ มันก็จะทำให้เราเห็นพัฒนาการของเขา วิธีการแบบนี้จะส่งผลต่อการเติบโตของเด็กมากกว่าการที่ปลายทางคือเก็บคะแนน แล้วเด็กไม่รู้ว่าการที่เขาได้ 7 เต็ม 10 แล้วอีก 3 หายไปไหน”
ระบบราชการไทยที่แฝงในระบบการศึกษา สร้าง ‘ความกลัว’ ให้ครูและผู้บริหาร
นอกจากความหมายใหม่ของการบ้านที่ยังเป็นปัญหาในระบบการศึกษาไทย ครูทิวมองว่ามีอีกหลากหลายปัจจัยที่ยังทำให้เด็กต้องติดกับดักความเครียดเช่นนี้อยู่ หนึ่งในนั้นคือ หลักคิดของครู
“ครูควรสลัดมายาคติหรือภาพของครูแบบไทยๆ ที่ว่า ครูคือแม่พิมพ์ พระคุณที่สาม พ่อแม่คนที่สอง ครูเป็นผู้ให้ หรือมองว่าสูงส่ง และถูกต้องเสมอ ถ้ายังมองแบบนี้อยู่ เราจะไม่ได้รับอะไรกลับจากนักเรียน จริงๆ แล้วถ้าเราเอาสิ่งที่มีในตัวนักเรียน อย่างความรู้สึกของเขา เอาตรงนี้มาพัฒนาการเรียนการสอน มันคือการยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ที่ได้ประโยชน์ทั้งครูและนักเรียนเอง
“ครูหรือผู้บริหารต้องฟังเสียงเด็กบ้าง จริงๆ แล้วบางครั้งเราอาจมองว่าเขาขี้เกียจ แต่ผมคุยกับเด็ก คือเขารู้ตัวนะ เขาก็อยากพัฒนาตัวเอง อยากจะเติบโต แต่ครูก็ต้องตั้งเป้าหมายกับเขา คุยกับเขา ลองฟังเด็กแล้วเสริมโดยไม่ตัดสินเขา ผมว่าน่าจะแฮปปี้ทั้งครูและเด็ก เพราะบางทีครูก็ตัน เด็กก็อัดอั้นตันใจ ถ้าเปิดพื้นที่ให้พูดคุย และมองว่าครู ผู้บริหาร เด็ก เป็นมนุษย์เท่ากัน มีบทบาทหน้าที่แตกต่างกัน แล้วเราจะช่วยเหลือเกื้อกูล เกื้อหนุนกันอย่างไรให้ทุกคนเติบโตได้หมด ทั้งเด็ก ครู และผู้บริหาร”
นอกจากนี้ ครูทิวมองว่าสิ่งที่ครอบกรอบความคิดของครูอยู่ เป็นผลมาจากปัญหาของระบบราชการไทยที่แฝงอยู่ในระบบการศึกษาด้วยเช่นกัน
กล่าวคือ บางครั้งครูมักไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบาย หรือเปลี่ยนแปลงวิธีการเรียนการสอน เพราะเกรงจะขัดต่อกฎและระเบียบของกระทรวงศึกษา
“ครู หรือแม้แต่ผู้บริหาร มักกลัวไปหมดว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้หรือไม่ได้ จะทำให้คนนั้นไม่พอใจไหม เขตจะว่าไหม เลยไม่กล้าเปลี่ยนนโยบาย กลัวว่าประกาศไปแล้วจะโดนดุ หรือโดนว่า จริงๆ มันทำได้โดยหลักการ แต่ด้วยวิธีคิดและระเบียบของระบบราชการมันไปครอบวิธีคิดของคน ว่า เฮ้ย… ฉันทำแบบนั้นไม่ได้ ฉันต้องทำแบบที่เคยทำ หรือทำอย่างที่ทำๆ กันมาดีกว่า อันนี้เป็นปัญหาหลัก
“ถ้าส่วนกลางบอกให้ลดภาระ แต่ไม่ปลดล็อคสิ่งที่เป็นระเบียบอยู่ ส่วนกลางเอาแต่พูดว่าให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ข้างล่างเขากลัวระเบียบที่รัดคออยู่ ไม่ได้ถูกปลดล็อคจากส่วนกลางจริงๆ มันก็ทำไม่ได้ นี่คือปัญหา”
ดังนั้น ด้วยระบบระเบียบราชการไทยที่สร้างบรรยากาศ ‘ความกลัว’ จนทำให้ผู้บริหาร หรือครูไม่กล้าที่จะขยับตัว แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงอะไร เด็กที่อยู่ปลายสายพาน จึงได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม): เด็กเหนื่อยล้า การบ้านเต็มหน้าตัก โรงเรียนต้องปลดล็อคความทุกข์
“ลูกอยู่แต่หน้าจอคอมฯ”
“การบ้านเยอะ ตารางเรียนแน่น จะเอาเวลาที่ไหนทำ”
เสียงบ่นบางส่วนจากผู้ปกครองและเด็กของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม)
และแน่นอนว่า เสียงบ่นข้างต้นคงมีอีกไม่น้อยที่หลายๆ โรงเรียนต้องประสบพบเจอ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเสียงบ่นและคำโอดครวญประดังเข้ามา หากโรงเรียนยังคงอยู่เฉย ก็อาจจะดูไร้ซึ่งความยินดียินร้ายอยู่ไม่ใช่น้อย
โรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายมัธยม) จึงประกาศนโยบายงดการเรียนการสอนในวันจันทร์ที่ 26 ถึงวันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม 2564 เพื่อให้นักเรียนได้มีเวลาติดตามและสะสางงานหรือการบ้านของแต่ละวิชาด้วยตนเอง ประกาศ ณ วันที่ 10 กรกฎาคม 2564
mappa พูดคุยกับ อาจารย์แต้ว–ธนลาวัณย์ เพียรค้า รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ เพื่อถามถึงที่มาที่ไปของนโยบายข้างต้น ว่าเพราะเหตุใดการหยุดพักเรียนชั่วคราวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความทุกข์ใจของเด็กๆ ลงได้
เพราะโรงเรียนเห็นเด็กเป็นสำคัญ
เวลาเรียนที่บีบรัดเด็กจนแทบไม่ได้หายใจหายคอ ประกอบกับภาระงานและการบ้านที่หนักอึ้ง ส่งผลให้เด็กที่อยู่ในช่วงเวลาของการเรียนออนไลน์เกิดภาวะเครียด เบื่อหน่าย ไม่สนุกกับการเรียน หรืออาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า
อาจารย์แต้วเห็นว่า ด้วยภาวะเช่นนี้ โรงเรียนต้องตระหนัก และเอาความสุขของเด็กเป็นที่ตั้ง เพื่อให้พวกเขามีใจที่จะเรียนต่อได้
“เด็กเรียนออนไลน์มานาน เราก็สำรวจตลอด ทำแบบสำรวจบ้าง ฟังความเห็นบ้าง หรือประชุมผู้ปกครองบ้าง โรงเรียนก็เอาข้อมูลเหล่านั้นมาประเมิน เราเห็นว่าเด็กส่งสัญญาณว่าเริ่มทุกข์ คณะกรรมการบริหารก็ประชุมกัน โดยโรงเรียนยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางอยู่แล้ว เราเอาความสุขของเด็กเป็นพื้นฐาน”
การยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ถือเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายพักการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนเด็กได้พัก ทบทวนตัวเอง และเริ่มสะสางงานที่คั่งค้างให้หมดไปเสียก่อน
ถึงอย่างนั้น หากเรามองย้อนกลับไปถึงช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 อาจทำให้ใครหลายคนเห็นว่าช่วงเวลานั้นการบ้านก็หนักอยู่แล้ว แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นการเรียนออนไลน์ เหตุใดเด็กจึงได้รับผลกระทบมากกว่าเดิม
“คณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการวิชาการ มองว่าการบ้านไม่ได้เยอะขึ้น เพียงแต่ว่าเวลาเรียนออนไซต์ เด็กจะมีเวลาพบเพื่อน ได้วิ่ง ได้เดิน ผ่อนคลาย เปลี่ยนอิริยาบถ แต่พอเรียนออนไลน์ทำให้ดูเหมือนการบ้านเยอะขึ้น เป็นเพราะเขาไม่มีช่องทางผ่อนคลาย ไม่มีช่องทางให้แชร์ความคิดเห็น หรือได้พบปะกับเพื่อนที่ไม่ใช่แค่บนหน้าจอคอมพิวเตอร์”
ดังนั้น การเปิดช่องทางให้เด็กได้สื่อสารกับครูบ้าง อาจารย์แต้วมองว่า นั่นคือทางหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กได้ผ่อนคลายความเครียดลงได้ และการไม่ได้เจอตัวกัน ย่อมสร้างความเหินห่างให้เด็กและครูอีกด้วย ดังนั้นแล้วหากโรงเรียนหรือครูมีช่องทางให้ได้สื่อสารกันมากขึ้น ก็จะช่วยรักษาความสัมพันธ์ให้ดีขึ้นได้
“เมื่อมีปัญหา เราต้องหาวิธีแก้ปัญหา ต้องพยายามแก้ จะถูกผิดไม่รู้ ต้องพยายาม เวลาที่หยุดไปก็ต้องดูอีกว่าเด็กเป็นอย่างไร เขามีปัญหาอะไรไหม โรงเรียนก็มีเครื่องมือช่วยในการทำการบ้านให้เขา เช่น การเปิดช่องแชทให้เด็กได้คุย ปรึกษาปัญหากับอาจารย์เวลาที่เขาสงสัย หรือไม่เข้าใจอะไรก็ถามครูได้
“แม้จะไม่เจอกันตัวเป็นๆ แต่ความห่วงใยยังมีอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์นี้คงอยู่ ครูเชื่อเรื่องความใส่ใจ การที่เรารับฟังกันมากขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์และปฏิสัมพันธ์ไม่ห่างไกลกัน”
ดังนั้น การคิดนโยบายพักการเรียนการสอนขึ้นมา จึงเป็นเพราะ “เรารักและใส่ใจเด็ก โรงเรียนยึดเด็กเป็นตัวตั้ง เวลาเรารักใคร เราก็อยากใส่ใจเขา เราจึงฟังเขามากขึ้น เพื่อดูว่าเขาคิดและรู้สึกอย่างไร” อาจารย์แต้วเสริม
โรงเรียนต้องปรับตัว เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ต่อ
“เราประชุมกันบ่อยมาก เราคุยกันในคณะผู้บริหารว่า เราน่าจะทำอะไรสักนิด เพราะเราไม่คิดว่าการเรียนออนไลน์จะยาวนานขนาดนี้ ตอนแรกคิดว่าเดือนเดียว แต่สถานการณ์ไม่มีทีท่าว่าเด็กจะได้กลับมาเรียนตามปกติ ฉะนั้นเราต้องแก้ไขทันที”
คำตอบจากอาจารย์แต้วสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อเกิดสถานการณ์ไม่คาดคิด เด็ก ผู้ปกครอง หรือแม้แต่ครูเอง ต่างก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ดังนั้น หากโรงเรียนไม่ลงมือทำอะไรเลย ก็เหมือนเป็นการลอยตัวอยู่เหนือปัญหา
ทั้งนี้ อาจารย์แต้วกล่าวว่า การเตรียมอุปกรณ์เทคโนโลยีการเรียนการสอนให้ครู เป็นเรื่องที่ทำมาโดยตลอดอยู่แล้ว อาทิ การซื้อแพลตฟอร์มการเรียนการสอน ที่ทั้งครูและนักเรียนเองต่างเริ่มคุ้นชินกับเครื่องมือเหล่านี้อยู่บ้าง
“เราเตรียมพร้อมมาก่อนหน้านี้แล้ว 2 ปี เราเตรียมเรื่องเทคโนโลยีกับครูมาเรื่อยๆ เลยไม่เดือดร้อนมาก ส่วนเด็ก ก็มีเด็กบางคนที่มาเรียนไม่ได้ เช่น เป็นนักกีฬาทีมชาติ หรือป่วย ต้องพัก ตรงนี้โรงเรียนก็สอนเทคโนโลยีให้เด็กเป็นการเตรียมพร้อมมาแต่แรกเริ่ม
“เราทยอยทำเรื่อยๆ ครั้งแรกปีที่แล้วซื้อแพลตฟอร์มให้เด็ก ครู พ่อแม่ เราเตรียมพร้อมก่อนโควิดจะมา ความคิดเรื่องนี้เริ่มจากการที่เราปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้ในยุคสมัยนี้ เราต้องใช้มันให้เกิดประโยชน์ เราก็ลงทุนไปก่อนเลย พอลงทุนแล้วก็ใช้มาตลอด”
นอกจากการปรับตัวของโรงเรียนแล้ว รวมถึงมีการประกาศนโยบาย
พักการเรียนการสอนแล้ว อาจารย์แต้วเสริมว่า ทางโรงเรียนยังได้มีการปรับตารางเรียนของเด็กให้น้อยลงเช่นกัน โดยให้มีช่วงเวลาพักมากขึ้น เช่น เรียน 1 ชั่วโมงครึ่ง พักครึ่งชั่วโมง เรียน 2 คาบ พักอีกครึ่งชั่วโมง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หากมองการปรับตัวไปตามสถานการณ์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะแก้ปมปัญหานี้ได้ในระยะยาว อาจารย์แต้วจึงชวนคิดให้กลับมาทบทวนถึงเป้าหมายของ ‘การบ้าน’ ที่บางครั้งการมีการบ้านในปริมาณมากจนเด็กรับไม่ไหว ทำให้เด็กบางคนเลือกที่จะจ้างผู้อื่น หรือให้พ่อแม่ทำการบ้านแทน เพื่อลดภาระที่พวกเขามี
“การที่เด็กมีการบ้าน ก็เหมือนเราทำงาน ซึ่งพอมันเยอะมากและทำไม่ทันก็ต้องหาตัวช่วย ดังนั้นการจะแก้ปัญหาแบบนี้ ต้องแก้ที่กระบวนการคิด ต้องสอนให้เด็กรู้ว่าขณะนี้เธอทำการบ้านด้วยเหตุผลอะไร และเมื่อเด็กทำแล้ว จะทำอย่างไรให้ความรู้ยังอยู่กับเขา การที่พ่อแม่ทำการบ้านให้ หรือจ้างคนทำการบ้านแทน คนเป็นครูคงไม่ต้องการเห็นสิ่งนี้ เราต้องการให้เด็กทำเอง เพื่อจะได้ผ่านกระบวนการคิด ผ่านตา ผ่านมือ ผ่านสมอง ซึ่งดีต่อตัวเด็กเอง
“เพราะฉะนั้นโรงเรียนต้องเน้นเรื่องทักษะการคิด เราให้การบ้านไปเพื่อให้เขาคิด ให้เขาเจอระดับการคิดที่สูงขึ้น คุณต้องรู้จักแก้ปัญหา ถ้าเจออะไรที่แก้ไม่ได้ จะทำอย่างไร เขาจึงต้องใช้ความอดทนและค้นคว้าที่มากขึ้นอีก”
ดังนั้นในฐานะครูและรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ จึงเห็นว่าควรปรับความหมายของการบ้านใหม่ที่ไม่อิงกับปริมาณ แต่ควรอิงกับระบบความคิด ว่าการแจกจ่ายงานให้เด็กนั้นพวกเขาจะได้อะไร และนำมาปรับใช้กับชีวิตตัวเองได้อย่างไร
นอกจากนี้ เมื่อถามถึงบทบาทของโรงเรียน และหน้าที่ของผู้บริหารโรงเรียนในยุคสมัยนี้ควรเปลี่ยนไปอย่างไร อาจารย์แต้วตอบว่า บทบาทด้านการบริหารเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะ
“ฝ่ายบริหารต้องว่องไวและทันเหตุการณ์ เพื่อจะได้แก้ปัญหาต่างๆ ได้ทัน สิ่งสำคัญที่สุดคือการศึกษาของเด็ก เพราะการศึกษาเป็นอาวุธเดียวที่ทำให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกันได้ การศึกษาเป็นอาวุธที่ทุกคนควรมีในมือ เขาถึงจะไปสู้กับคนอื่นได้”
สระแก้ว: เรียนออนไลน์ ฉบับ No homework
“ครูอยากบอกนักเรียนที่รัก ไม่ต้องเครียดกันนะ ช่วงนี้ครูไม่สั่งการบ้านเพิ่มให้กับลูกๆ แล้วนะ No homework!!”
เริ่มจากเสียงบ่นของนักเรียนไม่กี่คนที่ส่งตรงมายัง จุฑามาส เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้อำนวยการโรงเรียนสระแก้ว ว่าการเรียนออนไลน์ส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างไร
“ผอ. ขา การบ้านเยอะจังเลย”
ปัญหาหลักๆ คือการบ้านกองโต รองมาคือความไม่พร้อมของอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ ปัญหาเหล่านี้ จึงนำมาซึ่งความพยายามในการแก้ปัญหาของ ผอ.จุฑามาส ด้วยความเชื่อที่ว่า โลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปทุกขณะ การศึกษาก็เช่นกัน
“จริงๆ ก็มีเด็กไม่กี่คนนะคะที่สะท้อนเข้ามาว่าการบ้านเยอะ แต่แค่ไม่กี่เสียง เราก็มองว่า มันคือภาพสะท้อนของอีกหลายๆ คน เราจึงต้องให้ความสำคัญ
“เราเรียนออนไลน์กันมานานมากตั้งแต่ปีที่แล้ว พอมาปีนี้ เรามองว่าสถานการณ์แค่โควิดเองก็ตึงเครียดมากอยู่แล้ว ไหนจะเสียงของเด็กที่บอกเราว่า ‘ผอ. ขา คุณครูให้การบ้านหนูเยอะมากเลย หนูอยากมีเวลาหยุดสักวันสองวันเพื่อทำการบ้านเก่าๆ’ เราก็มองว่า เอ้อ แสดงว่าการบ้านมันคงเยอะมากจริงๆ เพราะมันไม่ใช่วิชาเดียว แต่มันหลายวิชา”
นโยบายลดการบ้านที่ถูกประกาศบนหน้าเพจของโรงเรียน แม้จะดูเหมือนเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทว่าในระยะยาว ผอ.จุฑามาส ตั้งใจไว้ว่า การลดการบ้านและการเรียนการสอนแบบบูรณาการจะต้องถูกนำมาใช้เป็นมาตรฐานของโรงเรียน
“เรา discussion กันตลอด เพราะการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นอยู่ตลอด จะมาจัดการเรียนรู้แบบเก่าๆ คงไม่ได้เช่นกัน เราจะมาบริหารแบบเดิมๆ ก็คงไม่ได้ เพราะโลกมันเปลี่ยน วิกฤติมันก็วิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราไม่แสวงหาสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเพื่อเด็กๆ และครู เราก็จะย่ำอยู่กับที่ เราจึงต้องเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ครูและนักเรียนก็เช่นกัน
“เราทำโครงการลดการบ้านมาตั้งแต่ปีที่แล้ว พยายามจะขับเคลื่อนไปให้เต็มรูปแบบและต่อเนื่อง ซึ่งก็ไม่ง่ายนัก การประกาศนโยบาย No homework จึงเหมือนเป็นการกระตุ้นและคอยติดตามความต่อเนื่อง
การระบาดที่ลากยาว พร้อมๆ กับการดิ้นรนของครูในการปรับรูปแบบการเรียนการสอน จนถึงวันนี้ ผอ.จุฑามาส มองว่าครูสามารถปรับตัวได้ค่อนข้างดี เริ่มมีรอยยิ้ม และเริ่มมีเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ ในการเรียนการสอนที่ต้องเปลี่ยนแปลง ซึ่งนั่นคือผลดีในอนาคต ในยุคที่โลกไม่ได้ให้ความหมายของการเรียนรู้ที่จำกัดอยู่แค่ในโรงเรียน
“ในระยะยาว เราเชื่อว่าครูจะปรับตัวได้ดี เพราะเราเจอสถานการณ์นี้มานานแล้ว เราแก้ไขปัญหากันมาเป็นปีๆ แล้ว แล้วเราก็เชื่อว่าครูเริ่มปรับตัวได้ เราเริ่มเห็นความสุขของครู เพราะเขาจะสอนเด็กที่ไหนก็ได้ ผอ. ไม่ได้ไปบังคับเขาว่าต้องมาสอนเด็กๆ ที่โรงเรียนเท่านั้นนะ ครูสามารถสอนออนไลน์ที่บ้านได้ หรือที่ไหนก็ได้ที่เขารู้สึกสบายที่สุด”
ผอ.จุฑามาส ย้ำอีกครั้ง การบ้านไม่ได้หมายถึงชิ้นงานที่ให้ครูนำมาเป็นผลงานหรือตอบตัวชี้วัดเท่านั้น แต่การบ้านต้องเป็นเหมือนเครื่องมือที่ทำให้เด็กนำไปใช้ในชีวิตได้อย่างเกิดประโยชน์
“การบ้านประเภทคัดลอกเนื้อหาจากหนังสือลงในสมุด หรือตัดแปะลงกระดาษ อะไรพวกนี้มันไม่ควรจะมี เราคุยกับกลุ่มสาระตลอดว่า ควรมีการครีเอทเรื่องการบ้านให้ตอบโจทย์ตัวชี้วัดจริงๆ ไม่ใช่เน้นแค่ว่า ไปย่อมานะ แล้วเอามาส่ง มันเชยไปแล้ว”