ความรัก การเดินทาง และความฝัน ย่อมเป็นสิ่งที่ใครหลายคนยึดถือและเชื่อมั่นเมื่อเรามีโอกาสเกิดมาเป็น ‘เรา’ ในสักครั้งหนึ่งของชีวิต
เราเองในฐานะมนุษย์ ต่างก็เรียนรู้หลายอย่างผ่านประสบการณ์ต่างๆ ของชีวิต ที่ทั้งดี ร้าย ทุกข์ สุข ปะปนกันไป แต่ในแทบทุกครั้งชีวิตมักจะบอกอะไรกับเราอยู่เสมอในท้ายที่สุดก่อนที่บทเรียนนั้นจะจบลง
สำหรับ น้อย-กฤษดา สุโกศล แคลปป์ หรือที่เราคุ้นเคยกับเขากันดีในชื่อ ‘น้อย พรู’ (NOi Pru) เองก็ไม่ต่างกัน บทสนทนาในวัย 54 ปีกับบทบาทคุณพ่อของลูกชายและลูกสาวที่กำลังเข้าวัยแรกรุ่น หลากหลายบทเรียนชีวิตที่ได้เรียนรู้ตอนเป็นคุณพ่อ เรื่องราวชีวิตมากมายที่อาจไม่เคยมีใครได้ฟังในฐานะผู้สนับสนุนการเติบโตของลูกชายและลูกสาว
คำกล่าวที่ว่า “ไม่มีใครรู้ว่าความรักคืออะไรจนกว่าคุณจะมีลูก” ไม่เกินจริงไปนักสำหรับเขา
Don’t Lie. – คือสิ่งสำคัญที่สุดที่เขาเรียนรู้จากคุณพ่อของเขาเอง และเขาก็บอกกับลูกๆ อยู่เสมอ เพราะเมื่อเราจริงใจ ไม่มีใครทำอะไรเราได้
Thinking outside the box. Be Yourself and Stay Weird. – คือสิ่งสำคัญถัดมาที่เขาอยากให้ลูกๆ ได้เติบโตอย่างภาคภูมิใจในการเป็นตัวของตัวเอง อาจเรียกได้ว่านี่เป็นการสร้างตัวตนให้ลูกในแบบฉบับของน้อย พรู
If you want it, earn it. – เพราะเงินเป็นสิ่งที่มีค่า หากคุณต้องการก็ต้องหามา
Learning from mistakes. – เพราะไม่มีใครไม่เคยพลาด และอาจดีเสียกว่าหากเรานำมันมาเป็นบทเรียน
และ Time is Everything in Life. – เพราะสายน้ำไม่คอยท่า วันเวลาไม่คอยใคร ดังนั้นอยากทำอะไร ทำเลย อย่ารอ
วันนี้ Mappa จึงชวนคุณพ่อน้อยเปิดบทสนทนาว่าด้วยบทบาทของ ‘คุณพ่อ’ ที่เขาอยากเล่าให้ทุกคนฟัง ท่ามกลางบรรยากาศที่สนุกสนานของงานแถลงข่าว Relearn Festival 2025 ที่ชวนให้ย้อนกลับไปเห็นความสนุกสนานแบบเด็กๆ ที่เราอาจไม่ได้สัมผัสมานาน
‘ลูกชายคนเล็กของบ้าน’ สู่ ‘คุณพ่อลูกสอง’
น้อยเป็นลูกชายคนสุดท้องที่เติบโตในบ้านสุโกศล แคลปป์ ครอบครัวนักดนตรีที่มีทั้ง คุณแม่กมลา สุโกศล เจ้าของเพลงฮิต Live & Learn วลีเตือนสติสอนใจอย่าง “อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน” พร้อมด้วยลูกๆ ทั้ง 4 คน อย่าง มาริสา สุโกศล หนุนภักดี พี่สาวคนโต เจ้าของเสียงหวานๆ จากบทเพลง สักวันหนึ่ง หรือพี่สาวคนรองอย่าง ดารณี สุโกศล แคลปป์ และน้องชายคนรองหนึ่งในหัวเรือใหญ่ นักแต่งเพลง และมือกีต้าร์จากค่ายเบเกอรี่มิวสิคอย่าง กมล สุโกศล แคลปป์ และเขาคนนี้ที่เราได้มีโอกาสคุยด้วยในวันนี้ กฤษดา สุโกศล แคลปป์ ลูกชายคนเล็กของบ้าน
หลายคนมักคิดว่าคุณแม่กมลาเป็นผู้เลี้ยงลูกด้วยการสอน แต่ที่จริงแล้วหลากหลายบทเรียนในชีวิตเขาได้เรียนรู้อะไรจากคุณพ่ออยู่พอสมควร
“ส่วนใหญ่แล้วคุณแม่เขาจะสอนลูกแบบ Live by Example จะไม่ค่อยได้ใช้คำสอนกับลูกๆ เท่าไร กลับกันคุณพ่อที่เป็นชาวอเมริกันเป็นคนที่สอนพวกเราพี่น้องเยอะมาก เขานับถือศาสนาคริสต์ เป็นคนชนชั้นกลาง ไม่ได้เป็นคนมีฐานะเหมือนคุณแม่ เขาเลยพยายามสอนเราว่าไม่ใช่ทุกอย่างจะได้มาง่ายๆ และสร้างวินัยให้เราเสมอ”
“ตอนอายุ 13 ปี น้อยเล่นเบสบอลเก่งที่สุดในทีม คุณพ่อบอกให้น้อยไปแข่งกับเด็กอายุ 15 ปี ซึ่งน้อยไม่อยากแข่งเพราะไม่อย่างนั้นเราจะไม่ได้เป็นคนเก่งที่สุดแล้ว แต่พ่อก็สอนให้น้อยเก่งขึ้น ด้วยการพาตัวเองไปในที่ที่สูงขึ้น”
เขาแอบเสียดายที่คุณพ่อคุณแม่เลิกกันตอนอายุได้ 10 ขวบ แต่น้อยเองยังมีโอกาสได้ไปเยี่ยมคุณพ่อที่อเมริกาอยู่บ้าง และทุกครั้งคุณพ่อก็มักจะสอนให้เขาได้เรียนรู้ถึงหลายสิ่ง ทั้งทำงานบ้าน ให้รู้ค่าของเงิน มากไปถึงชีวิตนี้ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ เราต้องพยายามทำทุกอย่างให้เต็มที่อยู่เสมอ
“พ่อเคยให้น้อยล้างรถแล้วให้ 1 ดอลลาร์เป็นค่าตอบแทน สมัยนั้นก็ 20 บาท (หัวเราะ) แล้วก็ให้ตัดหญ้าทั้งหมดในสวนของเขา เสร็จแล้วพอมาทานข้าวกัน ซึ่งเมื่อทานเสร็จเสร็จน้อยก็เป็นคนล้างจาน สิ่งเหล่านี้พ่อสอนเราเยอะมาก และนี่ก็เป็นสิ่งที่น้อยเองก็พยายามสอนลูกของน้อยเองอยู่เช่นเดียวกัน”
น้อยมีลูกสองคนและกำลังอยู่ในวัยรุ่นทั้งคู่ ลูกชายคนโตชื่อฟินน์ (Finn) วัย 17 ปี และลูกสาวคนเล็กอย่างโรซีย์ (Rosie) วัย 15 ปี ทั้งนี้เขายังเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวมาแล้วกว่า 5 ปี ลูกๆ ทั้งฟินน์และโรซีย์เติบโตที่เมืองไทย และถึงแม้จะเรียนที่โรงเรียนนานาชาติมาโดยตลอด แต่เขาเองก็เลี้ยงดูและสอนลูกทั้งวัฒนธรรมแบบไทยและตะวันตกผสมๆ กันไปเพื่อหาสมดุลระหว่างตรงกลาง และในท้ายที่สุดแล้วก็เป็นการเลี้ยงลูกในแบบฉบับ ‘น้อย พรู’ อันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเขาเอง
คุณพ่อที่อยากเป็นเพื่อนกับลูก
“ความรู้สึกแรกเมื่อรู้ว่ากำลังจะได้เป็นพ่อคน น้อยรู้สึกว่า น้อยกำลังเจอความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว และน้อยมักพูดว่า ไม่มีใครรู้ว่าความรักคืออะไรจนกว่าคนจะมีลูก ซึ่งสำหรับน้อยมันจริงนะ ความรักนี้มันเหมือนเดิมตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย และมันจะอยู่กับเราตลอดกาล”
ในฐานะคนที่ยังไม่เคยมีลูก เราเลยขอให้เขานิยามความรักนี้เพิ่มอีกสักหน่อย
“หากเทียบกันกับความรักโรแมนติกของหนุ่มสาว เราอาจเคยหลงรักแฟนหรือภรรยาของเรามาก แต่ความรักเหล่านั้นอาจมีวันจางหาย หรือกระทั่งหมดอายุตามเงื่อนไขที่แปรเปลี่ยน แต่กับลูกมันไม่ใช่อย่างนั้น”
“คนเรามักคิดและแคร์ว่าคนอื่นจะมองอย่างไรกับตัวเอง แต่สุดท้ายแล้วน้อยว่าไม่มีใครแคร์อะไรเราหรอกนอกจากพ่อแม่เรา
“โดยเฉพาะความรักระหว่างแม่กับลูก น้อยว่ามันมหาศาลมากจริงๆ ตั้งแต่เด็กเกิดมาและอยู่ในท้องแม่ มันมีความผูกพันลึกซึ้งบางอย่างที่ยากจะหาอะไรมาเทียบเคียง” น้อยว่าด้วยรอยยิ้ม
สำหรับน้อย การเลี้ยงลูกคล้ายกับการเห็นบางอย่างเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ มันเปลี่ยนไปตลอดเวลาและคาดเดาไม่ได้ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่มหัศจรรย์ระหว่างกัน เพราะตอนแรกเองเขาอยากมีลูกสาวมาก แต่ลูกคนแรกเป็นลูกชาย และถึงแม้ว่าลูกคนที่สองจะเป็นผู้หญิงแต่ก็อาจไม่ได้เป็นแบบที่เขาวาดฝันเอาไว้ นั่นจึงเป็นบทเรียนข้อแรกที่เขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นคุณพ่อว่า อาจไม่ควรคาดหวังอะไรมากจนเกินไป
น้อยตอบคำถามเราที่ถามว่าอยากสนิทกับลูกมากแค่ไหนด้วยรอยยิ้ม พร้อมนิยามว่า อยากเป็น ‘เพื่อน’ กับลูก และอยากสนิทกับทั้งสองคนมากกว่านี้อีก แต่ถึงอย่างนั้นก็พยายามไม่เป็นกันเองมากเกินไป เมื่อครั้งไหนที่แด็ดดี้ต้องออกโรง เขาก็พร้อมสวมบทบาท leader เช่นกัน
น้อยเข้าใจดีว่า ในช่วงเวลาที่เริ่มเติบโตเป็นวัยรุ่น ลูกๆ ย่อมต้องการเป็นตัวของตัวเอง มีสังคมเพื่อนของตัวเอง และอาจไม่ค่อยอยากเจอพ่อแม่เป็นธรรมชาติ พวกเขาต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น มากไปถึงอาจเล่นสื่อสังคมออนไลน์และมีโลกของตัวเองในนั้น
“ครอบครัวเราอาจจะไม่ได้ทานข้าวเย็นด้วยกันทุกวัน แต่ทุกๆ 2 เดือนน้อยจะชวนไปเที่ยวที่ต่างๆ กัน ซึ่งก็จะเป็นเวลาที่เราได้อยู่กับเขาแบบ 24/7 จวบจนจบช่วงวันหยุด ซึ่งน้อยมองว่าช่วงเวลาเหล่านี้เป็น Quality Time ที่สำคัญที่จะได้เรียนรู้และใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันจริงๆ” น้อยว่า
Don’t Lie – เมื่อเราจริงใจ ไม่มีใครทำอะไรเราได้
หากใครติดตามน้อย พรูมานานๆ หรือว่าเคยมีโอกาสได้อ่านหรือฟังสัมภาษณ์ของเขามาบ้าง จะมีคำสอนหนึ่งที่คุณพ่อของเขาสอนเขาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งเขาเองก็ชอบและจำมาใช้จนถึงทุกวันนี้ รวมถึงยังนำเอาไปแนะนำฟินน์และโรซีย์ต่อเช่นกัน สิ่งนั้นคือ ‘Don’t Lie’
“ของพวกนี้อาจดูเป็นค่านิยมแบบอเมริกัน แต่นั่นคือความสัตย์จริงบนโลกนี้ อย่าโกหก พูดความจริงเสมอ และพยายามพิสูจน์ตัวเอง พอโตขึ้นน้อยรู้ว่าสิ่งนี้ช่วยปกป้องตัวน้อยเองหลายครั้งมากๆ นอกจากกับลูกๆ กับคนอื่น กับงาน กับการเป็นศิลปิน น้อยก็จะบอกทุกคนเสมอว่า I don’t lie.”
“ผมไม่โกหก อยากรู้อะไรก็ถามมาเลย มันเป็นเรื่องที่ง่ายและพื้นฐานมากๆ แต่สำหรับหลายคนหรือหลายสถานการณ์อาจยาก (หัวเราะ) โอเค White lie (คำโกหกที่มีเจตนาดี) อาจจะมีอยู่แล้ว แต่ให้ดีที่สุดอย่าโกหกเลยจะดีกว่า”
Thinking outside the box. Be Yourself and Stay Weird. – การสร้างตัวตนให้ลูกในแบบฉบับของน้อย พรู
เราชวนน้อยคุยต่อถึงช่วงชีวิตที่เลี้ยงลูกอย่างใกล้ชิดและบทบาทในการสนับสนุนการเติบโตของพวกเขา น้อยมองว่าการที่พ่อแม่เป็นคนแบบไหน ทำอาชีพอะไรก็อาจเป็นการ shape เด็กๆ ในรูปแบบหนึ่งได้เช่นเดียวกัน
“การที่ลูกเห็นน้อยขึ้นเวทีก็ทำให้เขาอยากลองเป็น Performer บ้าง ลูกชายมาบอกแล้ว แต่ลูกสาวมีพูดนิดๆ หน่อยๆ แบบยังไม่ได้จริงจังมากนักว่าก็อยากลองชิมลางงานด้านดนตรีและการแสดง ซึ่งผมก็พูดไปตามตรงว่ามันยากนะอาชีพนี้ เลยบอกให้เขาฝึกภาษาไทยให้ดีๆ เพราะเรายังมีทางเลือกว่าอาจจะลองทำที่ตลาดเมืองไทยก่อนได้ เพราะเป็นบ้านเราเอง ไม่ได้มีการแข่งขันสูงเท่าเมืองนอก”
ในวันนี้ที่มีโอกาสนั่งคุยกัน น้อยได้ขึ้นเวทีทำการแสดงร้องเพลง ทุกสิ่ง ของวงพรู กับเด็กๆ วง ANT BAND วงดนตรีร็อคเด็กจิ๋วแต่แจ๋วที่มีพ่อแม่เป็นลมใต้ปีก จึงเกิดเป็นภาพน่ารักๆ ในการทำการแสดงอย่างไร้ช่องว่างระหว่างวัย การร้องเพลงกับเด็กๆ ในวันนี้ชวนให้เขาคิดถึงตัวเองในตอนเด็กหรือกับลูกๆ ของตัวเองไหม จึงเป็นสิ่งที่เราถามต่อ
“น้อยคิดถึงช่วงที่เราเริ่มต้นอยากเป็นศิลปิน พวกเขาได้เจอสิ่งที่รักก่อนน้อย และถึงแม้ว่ามันจะยากอย่างไร แต่ก็ขอให้น้องๆ ไปได้ไกลมากกว่าพี่” เขาว่าด้วยรอยยิ้มเช่นเคย
(ที่มาภาพ : เพจ Mappa)
สิ่งหนึ่งที่เขาอยากบอกลูกๆ หรืออาจจะรวมถึงคนรุ่นใหม่ที่มีฝันคือ ให้คิดนอกกรอบเข้าไว้ (Just thinking outside the box.) อย่าทำตามทุกคน อย่าไหลตามใครง่ายๆ เป็นตัวของตัวเองย่อมดีที่สุด เพราะมันมีพลังมหาศาล
“การคิดนอกกรอบที่น้อยว่า คือการสร้างอะไรที่ยูนีคจะยิ่งทำให้เราไปได้ไกล แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าความชอบของคุณคือเรื่องอะไรด้วย แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับน้อยมองว่าในไทยเราเองยังมีโอกาสให้เติบโตและได้ทำในสิ่งที่รัก”
คิดว่าสังคมไทยเราถือว่าเป็นสังคมที่ ‘ปลอดภัย’ กับการเติบโตของเด็กๆ หรือยัง – เราถามต่อ น้อยตอบว่า ถึงแม้ว่าด้วยบริบทจะทำให้เด็กๆ พอจะทำตามความฝันได้ แต่นั่นยังไม่มากพอ เพราะจุดอ่อนหลักของประเทศไทยคือช่องว่างระหว่างชนชั้น (Classed Structure) ที่มีมากเกินไป
“น้อยอยากให้ลูกโตมาในสังคมที่เท่าเทียมกันมากกว่านี้ ตอนนี้มันเป็นโลกที่ใครมีคอนเน็กชันเยอะก็ช่วยได้เยอะ”
“สมัยที่น้อยทำเพลงแรกๆ น้อยภูมิใจและมีความสุขมากๆ เพราะวงการบันเทิงไม่ได้ตัดสินทุกอย่างด้วยคอนเน็กชัน จริงอยู่ที่พี่ชายน้อยเป็นเจ้าของค่ายเพลงเบเกอรี่ แต่คนที่จะตัดสินใจว่าให้น้อยอยู่ต่อหรือไม่คือประชาชนคนฟัง”
“ยิ่งสมัยน้อยเป็นไฮโซยิ่งยากครับ คนยังไม่ค่อยยอมรับเท่าไร (หัวเราะ) โดนหมั่นไส้ก็เยอะ ตอนนั้นน้อยเจอถึงขั้นว่าคนมีเงินจะรู้จักเพลงร็อกได้อย่างไร แต่ในเมื่อเราพิสูนจน์ตัวเองเรื่อยๆ คนก็จะยอมรับเรามากขึ้น”
นอกเหนือไปจาก Thinking outside the box ยังมีอีกหนึ่งประโยคที่น้อยบอกว่าเขามักพูดกับลูกๆ เสมอคือ You think who you are, you all the same. เพื่อให้ตอบตัวเองและพึงรู้เสมอว่า ‘เราคือใคร’ ซึ่งในแง่หนึ่งคือการสร้างตัวตนให้แข็งแรงผ่านการรับรู้และตระหนักในตัวเอง แต่ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นการบอกเป็นนัยๆ ว่า เราต้องเข้าใจความต่างในฐานะปัจเจกชน แต่ในขณะเดียวกันก็เคารพมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียม
If you want it, earn it. – เพราะเงินเป็นสิ่งที่มีค่า หากคุณต้องการก็ต้องหามา
หนึ่งในสิ่งที่เราอดทึ่งไม่ได้สำหรับการสอนลูกในแบบฉบับน้อย พรู คือ การที่ให้ให้ลูกนั่งเครื่องบินชั้นประหยัดอยู่เสมอๆ ไม่ให้นั่งที่ชั้นธุรกิจเพราะนั่นอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับเด็กอายุเพียงแค่สิบกว่าๆ
“น้อยเติบโตมาในแบบที่คุณพ่อคุณแม่สอนให้รู้จักคุณค่าของเงิน จึงเป็นสาเหตุที่น้อยสอนให้ลูกๆ ต้องรู้คุณค่าของเงินด้วย สำหรับน้อยการให้เด็กอายุ 15-18 ปีมานั่งชั้นธุรกิจมันเป็นอะไรที่มากเกินไป”
ลูกๆ ก็มีตั้งคำถามบ้าง ซึ่งสิ่งที่น้อยตอบไปคือ “You did not earn it.” ก็ลูกไม่ได้เป็นคนหารายได้เอง แต่หากมีโอกาสพิเศษ เช่น เขามีคะแนนสะสมแต้มมากพอ ก็อาจจะให้รางวัลกับพวกเขาบ้าง แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นบ่อยครั้ง
“ส่วนตัวน้อยเองมีนิสัยไม่ชอบใช้เงินแบบไม่มีเหตุผล เพราะตัวน้อยเองก็ไม่นั่งชั้นธุรกิจ สำหรับน้อยถ้าจะจ่าย 1 แสนบาทสำหรับนั่งเครื่องบิน 20 ชั่วโมงอย่างสะดวกสบาย น้อยเอา 1 แสนบาทนี้ไปใช้ประสบการณ์อื่นกับลูกดีกว่า”
(ที่มาภาพ : เพจ NOi Pru)
Learning from mistakes. – เพราะไม่มีใครไม่เคยพลาด และอาจดีเสียกว่าหากเรานำมันมาเป็นบทเรียน
อีกหนึ่งเรื่องที่พ่อน้อยให้ความสำคัญในการแนะนำลูกอย่างจริงจังคือเรื่องของการใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพราะโลกกลมๆ อันกว้างใหญใบนี้หมุนเร็วขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโลกออนไลน์ที่อาจเปรียบได้ดังโลกเสมือนของความจริง หากแต่นั่นก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ ‘จริง’ ไปเสียทั้งหมด
“น้อยเป็นคนหนึ่งที่เคยได้รับความคิดเห็นแย่ๆ ในสื่อสังคมออนไลน์ค่อนข้างเยอะ ถึงแม้ว่าพักหลังจะลดลงมา คนเริ่มยอมรับเรามากขึ้น แต่เราก็จะยังบอกกับลูกเสมอว่า พวกนักเลงคียบอร์ดด่าเก่ง ชอบว่าให้เรารู้สึกเจ็บ แต่สุดท้ายแล้วพ่อก็รู้ว่าไม่มีใครแคร์เกี่ยวกับเราหรอก”
“มันไม่มีใครสนใจเกี่ยวกับเราจริงๆ เพราะฉะนั้นเราอย่าไปสนใจว่าใครจะคิดอย่างไร มันเจ็บปวดแหละ แต่สุดท้ายแล้วจะรู้ว่าคนที่รักลูกจริงๆ ก็คือพ่อแม่ คนในครอบครัว แล้วก็เพื่อนอีกไม่กี่คนเท่านั้น พวกเขาคือคนที่จะอยู่กับเราไปตลอด”
“เราเลยอยากให้ลูกแข็งแกร่ง ดูแลตัวเองได้ และถ้าไม่รู้จะหันไปทางไหนก็หันมาหาพ่อได้ เราพร้อมเป็นทั้งกำแพงและเงาให้กับเขา แม้เราจะหวังว่าเขาจะเติบโตได้เองอย่างดีและไม่ต้องพึ่งเราตลอด แต่อย่างน้อยอยากให้เขารู้ว่ามีพ่อคนนี้ที่พร้อมเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาได้”
“กับยุคนี้ทุกคนสื่อสารกันด้วยการเขียน ผู้ใหญ่เรายังเป็นอย่างนั้นเลย บางทีอยู่ในบ้านเดียวกันคนละห้องแต่กลับคุยกันผ่านแชททั้งที่จริงๆ เราแค่เปิดประตูมาคุยกันก็ได้”
“แต่น้อยพยายามเข้าใจว่าเขาเติบโตมาในยุคที่เป็นแบบนี้และโลกออนไลน์มาแรง บางทีเด็กๆ เขาทะเลาะกันในนั้น หรือเพื่อนบางคนของลูกก็เลือกที่จะเผยความเศร้าผ่านการโพสต์ในโซเชียลมีเดีย เลยพยายามบอกพวกเขาเสมอว่า ทุกครั้งที่จะเขียนอะไรออกไป ข้อความเหล่านั้นมันย้อนมาทำลายเราได้นะ น้อยเลยมักจะเตือนลูกเรื่องการโพสต์ทั้งภาพและข้อความ แต่เราก็ปล่อยให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเองบ้าง”
“เรื่องนี้มักจะเป็นตัวอย่างที่น้อยมักจะบอกลูกว่า ให้เรียนรู้จากความผิดพลาด พลาดแล้วไม่เป็นไร มันกลายมาเป็นบทเรียนให้เราได้” น้อยว่า
(ที่มาภาพ : เพจ NOi Pru)
Time is Everything in Life. – เพราะสายน้ำไม่คอยท่า วันเวลาไม่คอยใคร
เหตุผลที่น้อยชอบใช้เวลาสุดสัปดาห์ทุกๆ 2 เดือนในการใช้เวลาคุณภาพด้วยการออกเดินทางไกลกับลูกๆ เขาให้เหตุผลว่า เพราะประสบการณ์เหล่านั้นมันทำให้ชีวิตสนุกที่สุด เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น
“สมมติว่าเราไปบินบนภูเขา hang gliding กันบนอากาศที่สูงเกือบ 1 พันเมตร เราอยู่ด้วยกัน มองหน้ากัน แล้วก็ crash landing ด้วยกัน ผมชอบเวลาแบบนี้ที่อยู่กับลูกๆ ที่สุดเลย เพราะการผจญภัยด้วยกันมันคือช่วงเวลาที่เราจะจดจำได้ตลอดชีวิต”
และถึงแม้ว่าเมื่อเป็นคุณพ่อแล้วชีวิตของเขาจะเปลี่ยนไปมากเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว แต่น้อยก็มีความสุขกับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น
“น้อยมีความนิสัยเด็กๆ คือลูกน้อยมักจะสังเกตว่าพ่อดูติ๊งต๊อง (หัวเราะ) แต่มันก็คือการเลี้ยงลูกตามสไตล์น้อย ที่ชอบเล่น ติ๊งต๊อง คิดนอกกรอบ”
นอกเหนือจากการท่องเที่ยวผจญภัย ครอบครัวของเขาก็ยังชอบคุยถกเถียงแลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆ หนัง เพลง ละคร หรือกระทั่งการเมืองระดับโลกเองก็ตาม น้อยมักจะบอกเสมอว่า ให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้และไม่จำเป็นต้องเชื่อพ่อไปเสียทุกเรื่อง เพราะในสุดท้ายคำตอบของพ่อแม่ก็อาจไม่ได้สมบูรณ์แบบ
“สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือต้องเรียนรู้ที่จะ ‘ขอโทษ’ ลูกได้ โดยที่การจะเริ่มพูดแบบนั้นได้เราต้องมี self-awareness ที่ดีก่อน ต้องมองเห็นตัวเองจากด้านบนได้ก่อน เพราะบางทีเราอาจจะมีข้อผิดพลาดแต่ก็ควรที่จะอ่านตัวเองให้ออก”
“สำหรับการเลี้ยงลูก น้อยมองว่ามันไม่เหนื่อยเลย แต่เป็นความสนุกเสียด้วยซ้ำเพราะได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เรียนรู้ความรักครั้งยิ่งใหญ่ที่ไร้ซึ่งกาลเวลาและเงื่อนไข”
ก่อนหน้านี้เขาเคยขบคิดเกี่ยวกับความตาย เขาเคยคิดว่าอยากให้ใครจดจำเขาอย่างไร จะต้องเป็นมุมที่ดีตลอดไปไหม แต่สุดท้ายแล้วทุกอย่างนั้นก็แค่ดับสลาย และเมื่อถึงวันนั้นคุณไม่สามารถนำอะไรติดตัวไปได้เลยด้วยซ้ำ
“แต่สิ่งสำคัญที่เป็น Legacy ของน้อยคือลูกๆ ของน้อยเอง น้อยสอนเขาอย่างดีไหม เขาเติบโตมาเป็นมนุษย์ที่ดีหรือเปล่า นั่นคือมรดกของน้อย พวกเขาจะมีชีวิตต่อไปถึงแม้ว่าน้อยจะตายแล้ว”
“การที่น้อยสอนให้เขาเป็นคนที่ดี ใช้ชีวิตให้ดีและมีคุณค่า เพราะว่าทุกคนมีชีวิตเพียงแค่ครั้งเดียว และทุกคนมีค่าในตัวเองเสมอ”
ก่อนจะจากกันเราลองให้น้อยจินตนาการว่า หากบทสนทนาที่จะกลายมาเป็นบทสัมภาษณ์นี้คือจดหมายถึงลูกๆ ของเขาในอนาคต มีสิ่งใดที่เขาอยากบอกหรือมอบให้กับลูกๆ ไหม
น้อยตอบเรามาด้วยการฮัมเพลง พรู ของวงพรู ซึ่งเป็นเพลงที่เขาเขียนที่โรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ที่ถึงแม้ว่าตอนแรกเขาจะแต่งและร้องเพลงนี้ให้กับตัวเขาเอง แต่เขาก็อยากส่งเพลงนี้ให้กับลูกๆ ทั้งสองเช่นกัน
“รู้ไหม หากวันนี้เธอไม่เห็นมีใคร ที่คอยรักที่คอยห่วงใย
หมดความหวังและกำลังใจ ฉันขอได้ไหม ฉันขอให้ร้องไห้ ร้องระบายกับตัวฉัน
ร้องไห้ ไม่ต้องอาย เพราะมันก็แค่นั้น สุดท้ายยังมีฉันอยู่กับพรู”
“ฉันรู้ว่าพรูจะสดใสสักวันหนึ่ง ฉันรู้ว่าพรูจะหัวเราะสักวันหนึ่ง ฉันรู้ใครๆ จะยอมรับ ฉันรู้ว่าคนจะส่งยิ้มให้ ไม่ต้องกลัวแค่ ร้องไห้ ร้องระบายกับตัวฉัน ร้องไห้ และไม่ต้องอาย เพราะมันก็แค่นั้น สุดท้ายยังมีฉันอยู่กับพรู”