- ถ้าอากงไม่เดินเข้ามาบอกว่า “ถ่ายรูปให้หน่อยจะเก็บไว้ใช้วันงานศพ” ความสัมพันธ์ระหว่างหลานอย่าง ‘แป้ง’ กับอากงอาม่าคงเป็นเพียงแค่คนที่อยู่บ้านเดียวกัน
- จากถ่ายภาพใช้ในงานศพ กลายเป็นถ่ายภาพเพื่อบันทึกความทรงจำลงเพจ Noonday โดย แป้ง – ณัฐธิดา ศาสตร์ยุทธ
- “แป้งรู้สึกว่าถ้าใครทำดีกับเราในวันนี้ก็คือขอบคุณเขาไปเลยหรือแบบมีอะไรที่อยากจะพูดก็พูดกันเลย อย่ารอให้ถึงวันที่มันสายไปแล้ว”
ภาพ : เพจ Noonday
“ถ้าไม่มาถ่ายรูปอากงอาม่าก็คงจะไม่รู้ว่าอาม่ายิ้มสวยหรือหัวเราะเก่งขนาดนี้มาก่อน”
ความรู้สึกของ ‘แป้ง’ ณัฐธิดา ศาสตร์ยุทธ ในวัย 24 ปี เจ้าของเพจ Noonday หลังมองภาพที่เธอกดชัตเตอร์ถ่ายโมเมนต์ที่น่ารักของอากงและอาม่า
แม้ทั้งสองคนจะดูแลเด็กหลังกล้องคนนี้มากกว่า 10 ปี แต่กลับมีบทสนทนากันน้อยมาก เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ที่ห่างเหินกันไป
จนอากงพบว่าตัวเองป่วยเป็นมะเร็งระยะที่ 4 แล้วเดินมาบอกหลานว่า “ถ่ายรูปให้หน่อยจะเก็บไว้ใช้วันงานศพ” ถึงจะเป็นภาพที่ไม่อยากถ่าย แต่แป้งก็ต้องยอมเพราะไม่เคยถ่ายภาพคนในครอบครัวมาก่อนเลย
ด้วยเหตุผลนั้นทำให้ภาพถ่ายเริ่มเป็นสื่อกลางเชื่อมความสัมพันธ์ของอากง อาม่า และหลานสาวให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น
เพราะที่ผ่านมาบทสนทนาของญาติแปลกหน้าไม่มีอะไรไปมากกว่า “กินข้าวยัง? กลับบ้านยัง?” แต่วันนี้มีหัวข้อคอลเลกชันการถ่ายภาพเข้ามาแทนที่… พร้อมๆ กับเสียงของหลานที่ดังมาจากหลังกล้องที่คอยบรีฟท่าทางของผู้สูงวัยสองคนหน้ากล้องให้กล้าจับมือหรือมองหน้ากันอย่างไม่เคอะเขิน
“ยิ้มหน่อย กอดกันหน่อย จับมือกันหน่อย เนี่ยแฟนเราแต่งงานกันนานแล้วแตะตัวกันได้ แฟนเราเขาน่ารักนะเนี่ย”
เมื่อไรที่อากงเขินหรืออาม่ายิ้มจนแก้มแดง นั่นคือสัญญาณที่บอกให้แป้งลั่นชัตเตอร์รัวๆ เพื่อไม่ให้พลาดโมเมนต์นั้น
“แป้งมองว่ามันพลิกมากเลย จากที่เราไม่รู้จะคุยอะไรกัน จนถึงวันนี้เรามีสิ่งที่ทำร่วมกันได้แล้ว ยิ่งสิ่งนี้เป็นอาชีพที่เราทำด้วย ทำให้กงกับม่าเข้าใจเราและซัพพอร์ตเรา ถ้าแป้งมีนางแบบมาถ่าย บางทีอากงก็จะเป็นคนขับรถพาแป้งไปถ่ายกับนางแบบ พอเขาเข้าใจในสิ่งที่เราทำ เราก็มีเรื่องที่จะคุยด้วยกันมากขึ้น”
“ไม่คิดเลยนะว่าเราจะมาถึงจุดนี้กันได้ หรือเราจะรักกันมากขึ้นขนาดนี้”
จากความรู้สึกวันแรกที่แป้งถ่ายรูปอากงอาม่า แม้มันเป็นสิ่งแปลกใหม่ เพราะปกติถ่ายแต่ภาพคนอื่น การได้ลองถ่ายภาพคนในครอบครัวอย่างจริงจัง ได้มีกิจกรรมร่วมกัน ทำให้ความสัมพันธ์เปลี่ยนแปลง จากที่ไม่เคยกอดกัน…วันนี้ก็ได้ทำแล้ว
ความสุขที่เริ่มต้นด้วยภาพถ่าย
แป้งเป็นบัณฑิตจบใหม่จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ก่อนผันตัวเป็นช่างภาพอิสระที่นำมาสู่การเป็นนักทำคอนเทนต์ผ่านภาพภายใต้เพจเฟซบุ๊กที่มีชื่อว่า Noonday ที่ปัจจุบันมีผู้ติดตามมากกว่าแสนคน
จุดเด่นของเพจ คือ ภาพคู่รักหลากวัยหลายท่าทาง เพื่อถ่ายทอดความน่ารักและบันทึกความทรงจำในวันที่ยังมีโอกาส
ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากการจับกล้องครั้งแรก หลังจากอากงซื้อกล้องให้ตอนม.4
“น่าจะตอนม.4 ตอนนั้นเห็นอะไรสวยๆ ก็ถ่ายไปเรื่อยเลย ทั้งมีโครงการแข่งทำวิดีโอ แป้งเลยขอกงให้ซื้อกล้องให้หน่อย กงก็ซื้อให้ พอได้กล้องเลยเริ่มถ่ายมาเรื่อยๆ”
โดยมีเพื่อนสนิทเป็นนางแบบคนแรก และได้รับคำชมว่าเธอทำได้ดี ทำให้แป้งเลือกที่จะถ่ายรูปต่อไป เพราะคิดว่าเธอจะทำได้ดีกว่านี้
“ถ้าถามว่าทำไมชอบถ่ายรูป คงเพราะเรารู้สึกว่าเราทำได้ดีแล้วอยากจะทำให้ดีกว่านี้ อยากจะพัฒนาไปอีกเรื่อยๆ โดยที่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันมาถึงจุดนี้ได้ยังไง แต่ตอนนี้มันมีความสุขมากกับสิ่งที่ทำอยู่”
แป้งเริ่มจริงจังกับการถ่ายรูปมากขึ้น เมื่อเพื่อนชวนมาทำเพจถ่ายภาพด้วยกันตอนเรียนมหาวิทยาลัยชั้นปีที่ 2
“เพื่อนชวนมาทำเพจถ่ายภาพเลยเริ่มถ่ายภาพ portrait อย่างจริงจังตอนฝึกงานตอนปี 4 เราก็เลือกฝึกงาน video editor ซึ่งจะได้ถ่ายภาพ จากนั้นเลยถ่ายภาพมาเรื่อยๆ มาจนมาเป็นอาชีพ”
จากความสุขในการถ่ายภาพวิว ดอกไม้ ท้องฟ้า หรืออะไรที่มองว่าสวย วันนี้ความรู้สึกที่ชื่นชอบการถ่ายภาพชัดเจนขึ้นเพราะเธอเข้าใจมุมมองชีวิตผู้คนหลังเลนส์มากขึ้น
จนปัจจุบันแป้งรับงานถ่ายภาพอิสระทั่วไปภายใต้เพจ Noonday
แรงบันดาลใจของชื่อเพจมาจากวันเกิดในช่วงเที่ยงวันของวันที่ 12 เดือน 12 ในปฏิทินเพราะเหตุผลที่อยากให้เพจเกิดบ้างจึงเป็นไอเดียในการตั้งชื่อนี้ขึ้นมา
แม้ตอนแรกแป้งจะอยากเป็นสถาปนิกหญิงแต่ก็พลิกผันมาจับกล้องถ่ายรูปจนเป็นช่างภาพที่สร้างรายได้พอที่สามารถเลี้ยงตัวเองและดูแลครอบครัวได้
จนเมื่อ 3 ปีก่อน อากงเป็นมะเร็งตับอ่อนระยะสุดท้าย เขาจึงอยากให้หลานสาวช่วยถ่ายภาพสักใบเพื่อใช้ในงานศพ
“2 – 3 ปีที่แล้ว เหมือนอากงเขาตรวจเจอว่าเขาเป็นมะเร็งตับอ่อน แล้วมันมีอยู่วันหนึ่งเขาเดินมาหาเราแล้วบอกว่าถ่ายรูปให้หน่อยได้ไหม จะเก็บไว้ใช้วันงาน ตอนนั้นก็แบบไม่อยากถ่ายให้เลย แต่สุดท้ายแล้วเราก็ถ่ายให้”
“ในตอนนั้นเราก็ใช้เวลาพักหนึ่งเลยกว่าจะยอมรับกับสิ่งที่มันกำลังเกิดขึ้น พอเรารู้สึกโอเคก็คิดว่าในตอนนี้เรายังมีเวลาได้ทำอะไรด้วยกันอยู่ พอตอนที่อากงมาขอให้ถ่ายรูป เราเลยคิดขึ้นมาได้ว่า เราถ่ายคนมากมายแต่พอมาคิดดูดีๆ ทำไมเราไม่เคยถ่ายรูปคนในครอบครัวตัวเองเลย”
แม้จะเป็นภาพที่ไม่อยากถ่าย แต่ความคิดนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้แป้งอยากจะเก็บความทรงจำเหล่านี้ไว้ด้วยภาพ และเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในตอนนี้ ในช่วงที่มีเวลาที่จะได้ทำอะไรร่วมกัน
เชื่อมความสัมพันธ์ด้วยภาพถ่าย
เด็กหญิงแป้งเติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูของอากงอาม่า เพราะพ่อและแม่ต้องอยู่ต่างจังหวัด เมื่อคนที่อายุห่างกันมากๆ อยู่ร่วมกัน ช่องว่างระหว่างวัยจึงเกิดขึ้น
“ตื่นหรือยัง”
“กินข้าวหรือยัง”
“ทำไมยังไม่อาบน้ำอีก”
คือบทสนทนาทั่วไปที่เกิดขึ้นในทุกวัน ไม่ได้มีหัวข้ออะไรเป็นพิเศษ
แป้งมองว่าการมีเรื่องที่สนใจร่วมกันน้อย ทำให้ไม่มีเรื่องที่จะคุยกันต่อ และใกล้เกินไปก็ทำให้มองข้ามคนใกล้ตัว ไม่เห็นความสำคัญว่าเราน่าจะแสดงความรักระหว่างกัน
การแสดงความรักด้วยการบอกรักหรือการกอดแม้จะเป็นเรื่องปกติที่หลายครอบครัวทำ แต่สำหรับบ้านแป้งกลายเป็นความไม่ปกติ ความเขินอายหยุดไว้ให้ไม่กล้าไปต่อ
การแสดงความรักในครอบครัว แป้งตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “การบอกรักในครอบครัวก็คือเป็นศูนย์เลย”
“ด้วยความที่ครอบครัวเราไม่ได้เป็นคนที่แสดงออกเกี่ยวกับความรักมาตั้งแต่เด็กก็เลยจะเขินอาย แม้กระทั่งตัวเราเอง ซึ่งตัวแป้งพยายามที่จะละลายสิ่งนี้เหมือนกัน เพราะเรารู้สึกว่าการกอดเป็นการแสดงความรักที่น่ารักดี”
จนเป็นที่มาของคอนเทนต์ในเพจ Noonday เน้นภาพคู่รัก “ที่ผ่านมาเราไม่เคยได้ทำพอเรามีโอกาสได้ทำแล้วก็เลยอยากจะสื่อไปในทิศทางนี้ เหมือนเติมเต็มในสิ่งที่เราไม่เคยได้ทำมาก่อนด้วย”
และหลังจากอากงขอให้ช่วยถ่ายรูปงานศพ แป้งเกิดไอเดียที่อยากจะบันทึกความทรงจำร่วมกันในวันที่ยังมีโอกาสทำ แต่ถ้าจะถ่ายอากงคนเดียวคงไม่ยอม ต้องอาศัยแรงเลยชวนอาม่ามาถ่ายภาพด้วยกัน
‘Forever Love’ เพราะชีวิต…อยู่ได้ด้วยกำลังใจ อัลบัมแรกที่แป้งชวนอากงและอาม่าถ่ายภาพร่วมกัน โดยมีคอนเซ็ปต์ คือ การเล่าถึงความรักของทั้งสองที่ผ่านทุกข์สุขมาด้วยกันและอยู่ข้างกันตลอด 24 ปี
แม้ครั้งแรกที่ชวน อากงและอาม่าปฏิเสธเสียงแข็งไม่ยอมถ่ายเด็ดขาด แต่ด้วยลูกตื๊อของแป้งที่นั่งคุกเข่าพนมมือขอร้องเช้าเย็น สุดท้ายก็ได้ภาพน่ารักออกมา
“ตอนแรกยากหน่อย เพราะเขาไม่เคยถ่ายรูปเลย พอถ่ายรูปทีก็จะยืนข้างกันนิ่งๆ บางทีไม่ยิ้มด้วยซ้ำ แต่หลังๆ คือ โพสต์ท่ากันเองได้แล้ว เก่งขึ้น”
กระบวนการถ่ายรูปทำให้ช่องว่างระหว่างคนสองวัยเติมเต็มขึ้น ในขณะที่แป้งคิดคอนเซ็ปต์ อากงอาม่าก็ช่วยลองชุดที่จะถ่าย ตลอดจนถึงวันที่แต่งภาพเสร็จแชร์ภาพออกไปทั้งสามคนก็จะมีเรื่องพูดคุยกันเสมอ
“พอจะถ่ายก็ต้องเตรียมตัวกันละว่าเดี๋ยววันนี้ถ่ายแบบนี้นะ โอเคไหม มีการลองชุด ตามมาด้วยบทสนทนาตลกๆ เหมือนมันเป็นสิ่งใหม่ๆ ที่เขาไม่เคยทำ พอได้ลองทำเลยมีความสนุกอยู่ระหว่างนั้น”
หลังจากครอบครัวศาสตร์ยุทธมีกิจกรรมที่เข้ามาปลดล็อกความสัมพันธ์ ทำให้แป้งเริ่มเห็นความน่ารักเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่อย่างแนบเนียน
แม้เราจะเห็นกันอยู่ทุกวัน แต่ความรู้สึกของคนที่เพิ่งเจอกันครั้งแรกยังเกิดขึ้นเสมอ – คือความรู้สึกนั้น
“ถ้าแป้งไม่มาถ่ายรูปให้อากงอาม่า แป้งจะไม่รู้เลยว่าอาม่ายิ้มสวย หรือว่าหัวเราะเก่งขนาดนี้ มันกลายเป็นสิ่งที่เราเพิ่งสังเกตเห็น”
สำหรับแป้ง ภาพถ่าย คือ การเก็บโมเมนต์ความทรงจำของเวลายิ้ม หัวเราะ ที่คนในภาพอาจหลงลืมไปแล้ว แต่ถ้าย้อนกลับมาดูรูปถ่ายเมื่อไร ความทรงจำนั้นจะหวนกลับมาราวกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน
ไม่ต้องเป็นวันพิเศษก็ถ่ายรูปด้วยกันได้
“เราถ่ายคนมาเยอะเลย แต่พอมาคิดดูดีๆ ก็สงสัยว่าทำไมเราไม่เคยถ่ายรูปคนในครอบครัวตัวเองเลย”
ความทรงจำในวัยเด็กของแป้ง การถ่ายรูปครอบครัวสักใบหนึ่ง ต้องเป็นวันที่พิเศษ อย่างวันรวมญาติ หรือวันรับปริญญาใครสักคน หากเป็นวันธรรมดาทั่วไป แทบจะไม่มีโอกาสได้ถ่ายรูปร่วมกันเลย
“แป้งรู้สึกว่ายิ่งเราใกล้ชิดกันเท่าไหร่ เรายิ่งมองข้ามกันไป เหมือนรูปครอบครัวจะมีได้ก็คือวันเกิด ไปกิน MK ซึ่งเป็นรูปที่มีทุกบ้าน แค่นั้นเลย จะไม่ใช่อารมณ์ว่าวันนี้อยากถ่ายรูปด้วยจังเลย ไหนถ่ายรูปกันหน่อยซิ ไม่มีอะไรแบบนั้น”
แต่หลังจากเริ่มถ่ายภาพอากงกับอาม่าจนมาถึงวันนี้ วันที่ความรู้สึกของแป้งเปลี่ยนไปทุกครั้งเมื่อลั่นชัตเตอร์
“แป้งรู้สึกว่าถ้าวันนั้นเราเลือกที่จะไม่ถ่ายรูปให้อากง ความสัมพันธ์ระหว่างแป้งและอากงอาม่ามันคงเป็นคนที่อยู่บ้านหลังเดียวกัน แต่แทบจะไม่ได้มีประโยคหรือบทสนทนาอะไรเลย”
จากไม่เคยเห็น แป้งเริ่มสังเกตอากงอาม่ามากขึ้น สิ่งที่เธอเห็น คือ อากงกับอาม่าจะมานั่งคุยกันหน้าบ้านทุกวัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สองคนทำเป็นปกติอยู่แล้ว หรือถ้าแป้งบอกอากงว่าชอบกินอะไร หลังจากนั้นทุกครั้งที่อากงไปไหน ถ้าเห็นอาหารที่แป้งชอบ จะซื้อติดมือกลับมาฝากตลอด
ซื้ออาหารที่ชอบ นั่งข้างๆ คอยเล่าเรื่องที่พบเจอ คือ การ ‘บอกรักแต่ไม่พูดคำว่ารัก’ ของครอบครัวศาสตร์ยุทธ
“จริงๆ อากงกับอาม่าแต่งงานกันนานแล้วนะ แต่ยังไม่กล้ากอด ไม่กล้าหอมให้ลูกหลานเห็นเลย จนตอนนี้ 24 ปีแล้ว แป้งยังไม่เคยเห็นภาพนั้นเลย นอกจากกอดกันเวลาถ่ายรูป”
“โมเมนต์ที่แป้งจำได้ขึ้นใจ คือ แป้งบอกให้อากงอาม่าจับมือกัน แล้วเขาก็ไม่จับมือกันสักที จนเราต้องทำท่าให้ดูว่าจับแบบนี้นะ แต่อากงรู้สึกเกร็งมากๆ เราก็จะแซวว่า… ไหนเอียงหัวหน่อย ชิดๆ กันหน่อย แต่เขาก็ไม่กล้าชิดเพราะเขิน ซึ่งอาม่าเป็นคนที่ถ้าเขินหรือทำอะไรไม่ถูกจะยิ้มอย่างเดียว ยิ้มจนหน้าแดง”
“ก่อนหน้าที่จะถ่ายรูปอากง อาม่า แป้งไม่รู้มาก่อนเลยว่าอาม่าเป็นคนที่ยิ้มได้สดใสขนาดนี้ จนพอมาถ่ายรูปค่อยเห็นว่าอาม่าเราเป็นคนที่ยิ้มได้สดใสขนาดนี้เลยเหรอเนี่ย”
แป้งเล่าต่อว่าถ้าอากงไม่ขอให้ช่วยถ่ายรูปให้ภาพในเพจอาจจะมีแค่ภาพคู่รักหรือภาพผู้คนทั่วไป อาจจะไม่มี Noonday ที่มีอากง อาม่าเหมือนอย่างทุกวันนี้
“แป้งรู้สึกดีมากที่เวลามีคนมาคอมเมนต์ใต้เพจว่า ‘ถ่ายพ่อแบบนี้บ้างสิ’ ‘ถ่ายแม่แบบนี้บ้างสิ’ แท็กลูกหลานเขา เหมือนสิ่งที่เราทำมันส่งผล มันเปลี่ยนแปลงบางอย่าง”
นอกจากได้ความสัมพันธ์กลับคืน อีกสิ่งหนึ่งที่แป้งได้รับคือ บทเรียนที่สอนเธอว่า อยากทำอะไรก็ทำเลย หากปล่อยเวลาล่วงเลยไป เราอาจไม่มีโอกาสได้ทำนั้นสิ่งนั้นอีก แล้วต้องมาเสียใจภายหลัง
“คนเราชอบเห็นค่าของคนคนหนึ่งในวันที่เขาจากไปแล้ว คือถ้าสมมติว่าเขายังไม่จากไป ทำไมเราไม่เห็นค่า ไม่ขอบคุณเขาเลยกับสิ่งที่เขาทำ หรือไม่เล่าความประทับใจอะไรที่มีต่อเขา ทำไมถึงมาคิดถึงการพิมพ์อะไรที่ยืดยาวตอนที่เขาจากไปแล้ว”
“แป้งรู้สึกว่าถ้าใครทำดีกับเราในวันนี้ก็คือขอบคุณเขาไปเลยหรือแบบมีอะไรที่อยากจะพูดก็พูดกันเลย อย่ารอให้ถึงวันที่มันสายไปแล้ว”