เรียนออนไลน์: “พังได้ ไม่เป็นไร” รัฐต้องเยียวยา พ่อแม่ เด็ก ครู ดูแลตัวเองมามากพอแล้ว

  • เรียนออนไลน์ไปตลอดคงไม่ไหว ไม่ใช่แค่สุขภาพจิตเด็กที่แย่ แต่ผู้ปกครอง และครูก็แย่ไม่ต่างกัน
  • ในสถานการณ์ที่ไม่เอื้อให้ลูกได้เรียนรู้อย่างเต็มที่ คำว่า ‘ยอม’ และ ‘ไม่เป็นไร’ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องมี ไม่กดดันลูก เพื่อรักษาใจเขาและเราให้มีแรงเดินหน้าต่อ
  • “ขอดร็อป” “ขอลดการบ้าน” “ขอลดค่าเทอม ช่วยค่าไฟ ค่าเน็ต” ฯลฯ คำขอมากมายพา mappa จัดวงเสวนากับแม่ๆ ครู และนักจิตวิทยา เพื่อหาทางร่วมมือเยียวยาใจ พร้อมเปล่งเสียงความต้องการ ต่อภาครัฐให้หันมาเหลียวแล

ณ ขณะนี้ ความหวังที่จะกลับไปเรียนในโรงเรียนเช่นเดิมยังคงริบหรี่อยู่ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไร้วี่แววจะจบลงโดยง่าย ผู้ปกครอง ครู และเด็กต้องเผชิญกับปัญหาการเรียนออนไลน์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปัญหาเก่ายังไม่คลี่คลาย ปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน 

เมื่อ mappa ขอสามคำขอจาก แม่ตุ๊ก-นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์ เจ้าของเฟซบุ๊คแฟนเพจ Little Monster และ A Mom 2 Daughters 

นี่คือสามสิ่งที่แม่ตุ๊กขอ 

หนึ่ง การช่วยเหลือด้านจิตวิทยา การดูแลจิตใจทั้งพ่อแม่และเด็ก อยากให้มีการเข้าถึงได้ง่ายกว่านี้

สอง อุปกรณ์ เพื่อให้เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษา

สาม หลักสูตรที่ต้องปรับ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ส่วนสามข้อจาก แม่จั่น-ชนิดา สุวีรานนท์ เจ้าของเฟซบุ๊คแฟนเพจ เรไรรายวัน มีดังนี้ 

หนึ่ง มองเด็กหลายๆ มิติ เช่น เด็กหัวแถว ที่ถูกห้ามให้ตอบบ่อยๆ โดยไม่มีการอธิบายเหตุและผลกับเขา การห้ามเช่นนี้จะบั่นทอนความมั่นใจของเด็ก 

สอง ลดการบ้านที่ไม่จำเป็น 

สาม โรงเรียนต้องมอบหมายกิจกรรมให้เด็กทำที่เอื้อทั้งพ่อแม่และเด็ก เช่น มอบหมายงานให้เด็กเรียนรู้วิธีการทำงานจากอาชีพของพ่อแม่ เป็นต้น ไม่ใช่การเรียนจากบทเรียนเพียงอย่างเดียว 

คำขอจากทั้งสองแม่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากกว่า 300 คำขอที่ทาง mappa ได้เก็บข้อมูล และรวบรวมคำตอบเป็นเวลา 3 วัน จนนำมาสู่การเสวนา หัวข้อ ‘ถ้าลูกเรียนออนไลน์ทั้งเทอม พ่อแม่ทำยังไง ใครไม่ไหวยกมือขึ้น’ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยมีแม่ตุ๊ก,  แม่จั่น พร้อม ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ประธานกรรมการบริหารโรงเรียนต้นกล้า และ คุณแม่ลูกสองอย่าง แม่ปูน-ธารีวรรณ เทียมเมฆ หัวหน้าหน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิต สำนักบริหารกิจการนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักจิตวิทยาจาก Knowing Mind – ศูนย์บริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและส่งเสริมสุขภาวะ 

เพื่อแชร์ประสบการณ์ ปัญหา และความอัดอั้นตลอดการเรียนออนไลน์ของลูกๆ ผู้ปกครอง ครู และเด็กต้องหาทางเยียวยาจิตใจกันเองจนท้อ จึงต้องส่งเสียงถึง ‘รัฐ’ หัวเรือหลักของการแก้ปัญหา ให้รับฟัง ช่วยเหลือ และแก้ไขอย่างเป็นระบบและจริงจัง

ลูกเรียนออนไลน์ พ่อแม่ปรับตัวอย่างไร ในสถานการณ์น่าปวดหัว

“อุปกรณ์การเรียนไม่พร้อม เรามีลูกสองคน แล้วลูกเรียนพร้อมกัน อย่างจินใช้ไอแพด ก็จะไม่มีไอแพดให้เรนนี่ใช้ เราก็ให้เขาใช้คอมฯ แต่เราก็ต้องทำงาน

“ปัญหาเรนนี่ เขาเป็นเด็กเล็ก วัยนี้ไม่พร้อมที่จะเรียนออนไลน์ เพราะเบื่อง่าย สมาธิยังสั้น และด้วยนิสัยส่วนตัวของลูกเราที่ไม่ค่อยพูด ยกมือ หรือถาม ก็สร้างความเครียดให้เราเหมือนกัน ลูกแทบไม่ได้เรียนรู้อะไรในคลาส เพราะเขินอาย

“จิน เด็กโตก็มีงานที่ยากขึ้น บางวิชาเราสอนไม่ได้ เช่นภาษาจีน แม่ก็ไม่รู้จะช่วยอย่างไร ถ้าเขาตามไม่ทัน”

สามปัญหาหลักของ แม่ตุ๊ก คุณแม่ลูกสองของจิน และ เรนนี่ เมื่อลูกต้องเรียนออนไลน์ 

แม่ตุ๊ก-นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์

และ “ก้อนเมฆ กับสายลม เพิ่งขึ้น ป.1 ด้วยความที่เขาเป็นแฝด ปีนี้ครูไม่ให้อยู่ห้องเดียวกัน งานเลยเป็นสองเท่าของแม่ ต้องแบ่งไปดูลูกที่เรียนในเวลาเดียวกัน สอนต่างกัน การบ้านไม่เหมือนกัน

“พอลูกเรียนพร้อมกัน แม่แยกตัวไม่ได้ ลูกสามคน เรียนสามชั้น สาม สอง หนึ่ง เราต้องเดินขึ้นลงบันไดตลอดเวลา ขาก็ปวด”

เสียงบ่นถึงปัญหาการเรียนออนไลน์จาก แม่จั่น คุณแม่ลูกสามของต้นหลิว ก้อนเมฆ และ สายลม 

แม้การเรียนออนไลน์จะไม่ใช่เรื่องใหม่แกะกล่อง แต่ก็ใช่ว่าเป็นเรื่องเก่าที่ใครๆ ก็หาทางออกได้ หรือมีสูตรตายตัวไว้แล้วสำหรับการแก้ปัญหา 

วิธีการรับมือเพื่อให้ลูกเรียนออนไลน์รอด แม่ๆ จึงมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป

สำหรับแม่ตุ๊ก ต้องทบทวนบทเรียนให้เรนนี่ทุกครั้งหลังเลิกเรียน หรือหาช่องทางการเรียนเพิ่มเติมให้จิน อย่างการให้ฟังเพลงจีน หรือดูการ์ตูนภาษาจีน ผ่าน YouTube เพื่อให้ลูกสนุกกับการเรียนมากขึ้น 

แต่นั่นเป็นเพียงการเติมเต็มทางความรู้ แต่การจะให้ลูกไม่คิดลบต่อการเรียนออนไลน์ พ่อแม่ต้องดูแลสภาพจิตใจเขาเช่นกัน 

แม่ตุ๊กกล่าวว่า การปรับทัศนคติให้ลูกมองเห็นข้อดีของการเรียนออนไลน์ จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เด็กยังพอจะเรียนต่อไปได้

“ถ้าลูกเรียนไม่ทันจริงๆ ก็ต้องคุยว่าโรงเรียนช่วยอะไรได้บ้างไหม หรือคุยกับลูกด้วยว่าไม่ชอบตรงไหน รู้สึกอย่างไร แม่ช่วยอะไรได้บ้าง เพื่อให้เขารู้สึกดีขึ้น”

หรือ “ดูว่าเขาสามารถปรับวิชาที่ไม่ชอบให้ชอบได้อย่างไร เราก็ให้เขาลองนึก สิ่งที่ดีในการเรียนออนไลน์ว่ามีอะไรบ้าง ช่วงแรกไม่มีเพราะเขาเบื่อ ดังนั้นการจะทำให้เขาเรียนได้ เราก็เพิ่มการชื่นชมในเรื่องความอดทน ให้กำลังใจเขา เพื่อเสริมความมั่นใจให้ลูก เช่น เขาไม่ชอบคลาสนี้ แต่เขาก็ยังเรียน เราก็ชมความอดทนเขา”

ส่วนแม่จั่นที่ต้องวิ่งขึ้นวิ่งลง ทั้งปวดขา และปวดหัวกับการแยกร่างไม่ได้ของคนเป็นแม่ เห็นว่าการมองหา ‘คนช่วย’ เป็นอีกทางหนึ่งที่จะรอดจากปัญหานี้ 

“สิ่งหนึ่งที่เราต้องมองหา คือคนช่วยแบ่งเบา ถึงแม้ไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แบ่งได้ซัก 20-30 เปอร์เซ็นต์ เราก็ต้องพอใจตรงนั้น ไม่งั้นเราจะเครียดเอง”

ดังนั้นสำหรับแม่จั่นแล้วการปรับตัวไม่ให้เครียดจนเอาความเครียดไปลงกับลูก ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ลูกเรียนออนไลน์ต่อได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

“ความสำคัญในการเรียนออนไลน์ แม่ว่าเด็กปรับตัวได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ พ่อแม่มีความคาดหวัง ลูกเรียนร้อยอยากให้ได้ร้อย เกิดภาวะความเครียดของแม่ที่ไปลงกับลูก ดังนั้นด้วยภาวะแบบนี้แม่คิดว่าเราต้องยอมบ้าง อย่างลูกยุกยิกก็ต้องปล่อยเขา ให้โดนครูบ่นบ้าง นั่นจะทำให้เขาปรับตัวและเรียนรู้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องทำในตอนนี้ มากกว่าให้ลูกตามเนื้อหาให้ทัน คือทำให้เขาปรับตัวตามสภาพแวดล้อมออนไลน์ให้ได้ก่อน”

แม่จั่น-ชนิดา สุวีรานนท์, น้องต้นหลิว

‘ยอม’ และ ‘ไม่เป็นไร’ สองคำเยียวยาใจพ่อแม่ และลูกให้เดินหน้าต่อได้

เมื่อพ่อแม่ต้องเยียวยาใจลูก แล้วใครจะเยียวยาใจพ่อแม่?

จากตัวอย่างของแม่จั่นข้างต้น และเรื่องราวของแม่ตุ๊กที่เล่าว่า

“ช่วงแรกที่ปรับตัวไม่ได้เรามีความคาดหวังในตัวลูกสูง เราก็เครียด และจัดการความเครียดตัวเองได้ไม่ดีเท่าไหร่ ตุ๊กก็ขอความช่วยเหลือสามี หรือน้องสาวบ้าง เพราะถ้าอารมณ์เราไม่ดีก็ไปต่อไม่ได้ เราต้อง ask for help ไม่งั้นจะกลายเป็นเราไม่รอด ลูกก็ไม่รอด ความเครียดก็ตกที่ลูก” 

ทั้งคู่มีวิธีรับมือแทบจะเหมือนกันคือ ยอมรับว่า ‘แม่พัง’ แล้ว “ขอความช่วยเหลือ” 

ตัวอย่างการรับมือของแม่ๆ ทั้งสอง ถือเป็นตัวเลือกที่นักจิตวิทยาอย่าง คุณปูน แนะนำ

แม้ไม่ได้ถาโถมเป็นคลื่นลูกใหญ่ลูกเดียว แต่เป็นคลื่นความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างเบาๆ และกัดเซาะจิตใจต่อเนื่องเป็นเวลานาน ของทั้งพ่อแม่ลูกและทุกคนในครอบครัว

“ความต้องอยู่กับสถานการณ์เบาๆ ที่ต่อเนื่องยาวนานแบบนี้ เป็นความเสี่ยง เด็กอาจไม่ได้แสดงเป็นความเศร้า แต่แสดงออกทางพฤติกรรม อย่างการก้าวร้าว หรือผู้ใหญ่เองจะเห็นความ ‘ทนได้’ ของเราขาดง่ายขึ้น เรื่องเดิมๆ ที่เราเคยทนได้ ตอนนี้เราแสดงอารมณ์ที่เกรี้ยวกราด หรือหงุดหงิดใจออกมาเร็ว สัญญาณความล้าที่ตื่นนอนมาไม่สดใส แม้จะนอนเต็มอิ่ม หรือไม่อยากตื่นขึ้นมาทำอะไร ด้วยสภาพจิตใจเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เราต้องกลับมาดูแล” แม่ปูนกล่าว

แม่ปูน-ธารีวรรณ เทียมเมฆ

นอกจากนี้ การที่เด็กหลายคนรู้สึกหมดกำลังใจที่จะเรียน หมดหวังกับอนาคต และชีวิตของตัวเอง อาจไม่ใช่เพียงเพราะสถานการณ์ที่ย่ำแย่ แต่เกิดจากความกดดันของผู้ปกครอง

ดังนั้นการไม่กดดันลูก คือการ ‘ยอม’ จะทำให้เขา และเราได้ผ่อนคลายจากความตึงเครียดลง

“ในสถานการณ์แบบนี้ สิ่งแรกที่ต้องมีคือคำว่า ‘ยอม’ เกิดขึ้น เพื่อเยียวยาจิตใจลูก และพ่อแม่เองด้วย การยอมให้ลูกเกรดไม่ดี ยอมให้ลูกดร็อป หรือยอมรับที่เขาเป็นเขา มันจะช่วยขจัดความกังวล ความกลัว ความบีบคั้นในใจตัวเองลงได้

“พ่อแม่จะดูแลลูก ใจต้องนิ่งก่อน ถ้าใจไม่นิ่งแล้วฟาดเปรี้ยงใส่ลูก เด็กจะรู้สึกพ่อแม่ไม่ใช่ตัวช่วย ครูก็ไม่ได้อยู่ตรงนี้กับเขา เขาจะยิ่งเคว้งคว้าง ดังนั้นพ่อแม่ต้องอยู่ห่าง ถามไถ่ แสดงความห่วงใย และบอกลูกว่าเรียนให้เต็มที่ รู้เรื่องไม่รู้เรื่อง หรือผลจะออกมาเป็นอย่างไรไม่เป็นไร พ่อแม่ต้องคอยสนับสนุนลูก” คุณปูนแนะนำ

และเพื่อรักษาใจพ่อแม่ การบอกตัวเองว่า ‘ไม่เป็นไร’ เป็นอีกหนึ่งคำสำคัญเช่นเดียวกัน 

“ไม่เป็นไร เมื่อพังก็ยอมรับ มันคือการหันกลับมาให้อภัยตัวเอง (self-compassion)  ถ้ารู้ว่าเราพังต้องย้ายตัวเองออกไปก่อน ไม่ปล่อยความพังใส่ลูก หรือถ้าพังก็ขอโทษลูก มันคือการเรียนรู้ไปพร้อมกันทั้งพ่อแม่ ลูก เขาจะได้เรียนรู้ว่ามนุษย์ไม่ได้สมบูรณ์”

หรือ “บางทีอาจยอมให้บ้านไม่เรียบร้อยไปบ้าง รกบ้าง ยอมที่ไม่เก็บอะไรไปบ้าง แล้วปล่อยมัน เพราะสิ่งสำคัญตอนนี้ คือให้ลูกเรียนออนไลน์ให้ลุล่วงก่อน ในสถานการณ์นี้คนเป็นแม่อาจต้องจัดใจ ให้อภัยตัวเอง และ บอกตัวเองว่า ‘ไม่เป็นไร’ บ่อยๆ” แม่ปูนกล่าว

ดังนั้นการ ‘ยอม’ และ ‘ไม่เป็นไร’ ให้บางอย่างไม่สมบูรณ์ พร้อมบอกตัวเองว่าเราเยี่ยมที่สุดแล้ว แค่นี้ก็ดีที่สุดแล้วในสถานการณ์เช่นนี้ ให้อภัยตัวเอง ยอมรับที่จะพัง และไม่เป๊ะบ้าง จึงไม่ใช่เรื่องผิด

ที่สำคัญเมื่อพ่อแม่ และลูก ‘พังแล้ว’ การแชร์ความคิด ความรู้สึกอย่างซื่อตรงกันในครอบครัว คือการรักษาและเยียวยาใจ แม่ปูนมองว่าการจะฝ่าฟันวิกฤติไปได้ ครอบครัวต้องช่วยเหลือ และเยียวยาซึ่งกันและกัน จึงจะทำให้มีแรงเดินต่อ

พื้นที่สร้างสัมพันธ์ ให้ลูกยังได้มี ‘เพื่อน’

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ทุกบ้านที่ครอบครัวจะเป็น ‘safezone’ หรือที่พักใจ ในการแชร์ความรู้สึกภายในออกมาได้อย่างไม่ต้องกังวล 

ในฐานะนักจิตวิทยา คุณปูนกล่าวว่า ปัญหาของการเรียนออนไลน์ คือเมื่อเด็กมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับพ่อแม่ การอยู่ใต้หลังคาเดียวกัน อาจเป็นการเพิ่มความแตกร้าวของครอบครัวให้ทวีคูณขึ้น

การจะเยียวยาใจเด็กกลุ่มนี้ การเข้าถึงนักจิตวิทยาจึงต้องเป็นเรื่องง่าย และไม่มีค่าใช้จ่าย ตัวอย่างที่ ครูจุ๊ย หยิบยกขึ้นมา คือการมีนักจิตวิทยาอยู่ในโรงเรียนของประเทศฟินแลนด์ เพื่อให้คำปรึกษากับเด็กทุกคน หรือแม้แต่ในการแพร่ระบาดของโควิด อีกหนึ่งสิ่งที่จะเยียวยาใจเด็กได้คือ ครู 

กล่าวคือ ครูที่ฟินแลนด์จะได้รับเงินอุดหนุน เช่น ค่าเดินทางไปเยี่ยมเยียนเด็กตามบ้าน เพื่อดูความเป็นอยู่และดูแลสภาพจิตใจของเด็กไปพร้อมๆ กัน

แต่ด้วยบริบทของไทย การจะเข้าถึงนักจิตวิทยาของเด็กๆ ทุกคนนั้นค่อนข้างยาก อีกทั้งครูเองก็ไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีพอจากรัฐ 

ครูจุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ

การมีพื้นที่ให้เด็กยังได้เจอ ‘เพื่อน’ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะเยียวยาสภาพจิตใจเขาได้

“วัยของจินด้วยความที่เป็นเด็กโต เขาก็บ่นว่าไม่ชอบเรียนออนไลน์ เพราะคิดถึงเพื่อน ไม่ได้คุยกับเพื่อน การเรียนออนไลน์ทำให้เขาขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน โรงเรียนน่าจะแบ่งงานเป็นงานกลุ่มให้ได้ลองปรึกษาทำงานกลุ่มกับเพื่อน ให้มีการพูดคุยหรือ interact (มีปฏิสัมพันธ์) กับเพื่อน ไม่ใช่แค่กับครูในช่องทางเดียว” เสียงจากแม่ตุ๊ก

“ต้นหลิว อยู่ในวัย pre-teen คือขึ้น ม.1 ปัญหาเรื่องเรียนออนไลน์แทบไม่มี แต่มีปัญหาคือเรื่องเพื่อน เพราะปีนี้เขาไม่ได้เจอเพื่อนเลย โรงเรียนส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องเรียนระหว่างครูกับนักเรียน แต่แม่คิดว่าน่าจะมีพื้นที่แลกเปลี่ยนให้เด็กได้คุยกัน ในเรื่องที่ไม่ใช่วิชาการ ในเรื่องที่เขาอยากคุยกัน เหมือนพักเที่ยงที่เดินไปในโรงอาหาร ในสนาม ได้เจอรุ่นพี่รุ่นน้อง เป็นสังคมของโรงเรียนจริงๆ โรงเรียนอาจจะต้องจำลองสถานการณ์แบบนั้นขึ้นมา” ความคิดเห็นจากแม่จั่น

นอกเหนือจากความกังวลเรื่องวิชาการแล้ว เรื่องการเรียนรู้และการสร้างสังคม ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่พ่อแม่ก็คิดไม่ตก 

เพื่อจัดวิธีการเรียนการสอนออนไลน์ให้ยังคง ‘สร้างความสัมพันธ์’ ได้ในภาวะเช่นนี้  ครูและโรงเรียน จึงต้องเข้ามาเป็นตัวเชื่อมให้เด็กยังมีทักษะทางวิชาการและทักษะทางสังคมอยู่

ในฐานะครู ครูจุ๊ยมองว่าการอนุญาตให้โรงเรียนเป็นพื้นที่กลางในการเรียนรู้ ทำกิจกรรมร่วมกัน และให้เด็กได้พบปะผู้อื่นบ้างจึงเป็นเรื่องสำคัญ

“การที่โรงเรียนสามารถเปิดพื้นที่ประมาณหนึ่ง โดยไม่ทำให้เกิดอันตรายกับใคร จากการจัดเวลา จัดพื้นที่ที่ไม่เสี่ยง ให้พ่อแม่ไปใช้พื้นที่ได้ทีละครอบครัว สองครอบครัว เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เด็กได้กลับมาสัมผัสโรงเรียนบ้าง” 

เช่นเดียวกับแม่ปูนที่กล่าวว่า “การเรียนรู้ที่สำคัญอย่างหนึ่งในช่วงเวลานี้ คือเราต้องคงการเรียนรู้เรื่องปฏิสัมพันธ์และทักษะที่อยู่ร่วมกับผู้คนเอาไว้ ละทิ้งไม่ได้ คือทักษะความเป็นมนุษย์ที่เรียนรู้เรื่องวินัย และการจัดการชีวิต คลาสเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงโลกของเขา เพื่อมาเรียนรู้สิ่งเหล่านี้”

อย่าปล่อยให้พ่อแม่ ครู และโรงเรียนปรับตัวจนท้อ รัฐต้องมอง ช่วยเหลือ และปรับตัวเช่นกัน

เมื่อผู้ปกครอง เด็ก ครู หรือโรงเรียนปรับตัวกันค่อนข้างมากพอสมควร แต่ใช่ว่าจะราบรื่นและเป็นไปด้วยดี หากหัวเรือหลักสำคัญอย่าง ‘รัฐ’ ไม่เอื้อให้พวกเขาอยู่รอดได้

ปัญหารุมเร้า งานการหดหาย ค่าจ้าง หรือเงินเดือนลดลงตามกลไกสภาพเศรษฐกิจ ส่งผลให้พ่อแม่หลายคนต้องประสบกับปัญหาค่าใช้จ่ายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ 

ขอลดการบ้าน ขอลดค่าเทอม และขอให้ช่วยค่าไฟ และค่าเน็ต เป็นคำเรียกร้องหลักๆของผู้ปกครอง ครู และเด็ก ต่อภาครัฐที่ต้องรับฟัง และช่วยเหลือในฐานะผู้บริหารเชิงโครงสร้างระบบ

ไม่ไหวแล้ว ‘ดร็อป’ ได้ไหม? 

ด้วยสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยให้เด็กได้เติบโตทางการเรียนรู้ การขอดร็อปเรียนไว้ก่อนจึงเป็นสิ่งที่หลายคนอยากทำ แต่ก็กังวลใจไม่น้อยว่าจะทำได้จริงไหมในสังคมไทย

‘ได้’ ครูจุ๊ยตอบทันทีในกรณีเด็กเล็ก

“ถ้าพ่อแม่มีเวลาอยู่กับลูก เด็กเล็กตารางชีวิตประจำวันไม่ต้องเข้มงวดมาก แต่ต้องชัดเจน มีกิจกรรมหลากหลายให้เขาทำในแต่ละวัน

“อนุบาลเป็น optional (ทางเลือก) โดยหลักการอยู่แล้ว ดังนั้นทำได้ แต่ครอบครัวบางคนไม่พร้อม อย่างพ่อแม่ในไซต์ก่อสร้าง เอาเด็กมาทำงานด้วยกัน หรือบางคนพ่อแม่หนีบลูกไปทำงานด้วยในกรณีลูกไม่ได้ไปโรงเรียน แล้วแบบไหนจะตอบโจทย์ชีวิตคนเหล่านี้” ครูจุ๊ยตอบ

ดังนั้นด้วยบริบทของไทยที่สภาพสังคมมีความเหลื่อมล้ำมาก จึงเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับใครหลายๆ คนที่จะตัดสินใจให้ลูกดร็อป โดยที่ตัวเองไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง 

ส่วนเด็กโต ถือว่าเข้าสู่การศึกษาภาคบังคับเรียบร้อยแล้ว การดร็อปหรือหยุด เป็นไปได้ยาก เพราะระบบและโครงสร้างไม่เอื้อ และไม่มีนโยบายใดๆ รองรับ

‘ขอลดการบ้าน’ ได้ไหม ไม่ใช่แค่ลูกเหนื่อย แต่พ่อแม่ก็เหนื่อยไม่ต่างกัน

แม้แม่ตุ๊กและแม่จั่นจะไม่ประสบกับปัญหาที่ลูกการบ้านเยอะ เพราะได้รับการรับฟัง และช่วยเหลือจากโรงเรียน แต่ก็มีครอบครัว และเด็กอีกไม่น้อยที่ยังคงต้องทำการบ้านอย่างหนัก

การขอลดการบ้านไม่ใช่แค่เสียงจากเด็ก แต่พ่อแม่ก็ร้องขอ เพราะภาระไม่ได้ตกที่เด็กอย่างเดียว แต่ตกที่คนใกล้ตัวอย่าง ‘ผู้ปกครอง’ ด้วย

ดังนั้นสำหรับครูจุ๊ยแล้ว การจะให้เด็กทำการบ้าน หรือสั่งการบ้านต้องดูที่ ‘เป้าหมาย’ ว่ามีเพื่ออะไร

“มีเพื่อ เด็กอาจต้องฝึกฝน และต้องทำอะไรบางอย่างซ้ำๆ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ที่ต้องทำซ้ำๆ เพื่อให้เข้าใจวิธีแก้โจทย์มากขึ้น หรือการคัดที่ต้องใช้การทำงานร่วมกันระหว่างมือกับตา (hand-eye coordination) เพื่อให้เขาฝึกเขียน

“ดังนั้นการบ้านเป็นเรื่องที่แผนกวิชาการโรงเรียนต้องคุยกันว่าจะรวมการบ้านไว้ในหนึ่งชิ้น และประเมินจากการบ้านชิ้นนั้นได้ไหม ณ ตอนนี้ลักษณะการทำงานบางโรงเรียนเป็นวิชาใครวิชามัน ไม่คุยกันว่ามีกี่อย่าง เช่น 8 วิชา การบ้าน 8 ชิ้นเลยไหม ซึ่งการบ้านที่ให้ไปอาจซ้ำกันก็ได้”

เช่นเดียวกับการประเมินเด็ก อย่างการสอบ ที่ครูจุ๊ยมองว่าเกณฑ์ประเมินต่างๆ ต้องมีการตกลงกันอย่างชัดเจนว่าจะบริหารจัดการอย่างไร หรือหากไม่เปลี่ยนเกณฑ์ประเมิน แต่ต้องเปลี่ยนวิธีการนำเกณฑ์ประเมินมาใช้

“เกณฑ์การวัดประเมินในภาพใหญ่ของประเทศ ต้องเอาให้ชัดว่าจะเอาอย่างไร ถึงขั้นยกเลิกไม่สอบเลยไหมปีนี้ หรือจะปรับอย่างไร พอเป็นเช่นนั้นก็ต้องช่วยกันทำความเข้าใจกับคุณครู การให้การบ้านไม่จำเป็นต้องให้ใบงานเป็นกระดาษ แต่ต้องเข้ากับบริบทชีวิต และมีประโยชน์แก่นักเรียน

“ลักษณะของการบ้านไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเนื้อหาปริมาณมหาศาลอย่างเดียว แต่ต้องเป็นอะไรที่ได้ทักษะ ซึ่งจุ๊ยว่ามันหมดยุคการแจกใบงานอย่างเดียวแล้ว”

ดังนั้นสำหรับครูจุ๊ยแล้วการปรับวิธีการทำงานให้เข้ากับบริบท และเป้าหมายของสิ่งนั้นๆ ถือเป็นเรื่องที่ต้องทำ

“การยกห้องเรียนแบบ offline ไปวางไว้บน online โดยเฉพาะเด็กโต มันเป็นไปไม่ได้ที่จะมีประสิทธิภาพ เพราะคุณยกห้องเรียนแบบนั้นมา คุณยกวิธีการประเมินด้วย พอเปลี่ยนช่องทางการสื่อสาร สถานที่ และบริบท แต่จัดการแบบเดิมโดยไม่เปลี่ยนอะไรเลย มันไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพแน่นอน

“ดังนั้นการเรียนการสอนออนไลน์ต้องย้อนไปคำนึงถึงเป้าหมาย ของการเรียนรู้ และจัดให้เหมาะกับช่องทางการสื่อสารของครู และเหมาะกับช่วงวัยของเด็กด้วย”

ขอลดค่าเทอม ช่วยค่าอินเทอร์เน็ต ค่าไฟ

ในส่วนนี้ครูจุ๊ยกล่าวว่า หากมองว่าระเบียบราชการ คือระเบียบราชการ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ก็จะไม่สามารถไปแก้ไขได้ เพราะ 

“เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาฯ ถูกล็อคไว้โดยประเภทการใช้จ่าย อย่างค่าอาหารก็จ่ายค่าอาหาร ค่าชุดนักเรียนก็แค่ค่าชุดนักเรียน ถ้าพูดโดยเอาหลักการว่า เอาระเบียบว่า มันยากมาก ถามว่าแก้ไม่ได้เหรอ ในระดับกฎกระทรวงเอง รัฐมนตรีเอง หรือที่ประชุม ครม. มีอำนาจในการสั่งจ่ายเงินเพื่อจัดการปัญหาเหล่านี้ได้อยู่แล้ว

“เป็นคำถามที่จุ๊ยถามมาตลอดว่า ทำไมโรงเรียน และผู้ปกครองจึงไม่ได้รับการสนับสนุนทั้งในด้านอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะเข้าถึงเทคโนโลยี และปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น อย่างอาหารกลางวัน ที่เป็นมื้อหลักของเด็กกลุ่มยากจนพิเศษ แล้วการที่เขาไม่ได้ไปโรงเรียน หมายความว่าอาหารกลางวันของเขาจะหายไปเลยหรือเปล่า โรงเรียนสามารถจัดสรรอาหารกลางวันในรูปแบบที่แตกต่างจากเดิมได้ไหม เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง เพื่อที่จะให้เด็กเอาไปปรุงอาหารที่บ้านได้ ดังนั้นจริงๆ แล้วมันมีหนทางให้ทำ แต่ยังไม่มีคนทำ ยังไม่มีคนกล้าทำ”

นอกจากนี้ ครูจุ๊ยได้ยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ที่ช่วยเหลือครอบครัว และโรงเรียน ด้วยวิธีที่แตกต่างกันไปตามบริบทของความจำเป็น กล่าวคือ เด็กบางครอบครัวไม่อยากได้ซิมอินเทอร์เน็ต แต่อยากได้พื้นที่เรียนหนังสือ รัฐก็ผ่อนปรนระเบียบให้เด็กมาเรียนที่โรงเรียนได้ในจำนวนที่ปลอดภัย และเพื่อให้เด็กที่ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ มาใช้อุปกรณ์ของโรงเรียน เป็นต้น

ซึ่งหากหันกลับมามองดูรัฐไทยแล้ว…

“โรงเรียนเอกชน หรือแม้แต่โรงเรียนรัฐเอง ก็ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือ ค่าสาธารณูปโภค หรือช่วยเหลือดูแลคุณครู ในแง่การจัดสรรอุปกรณ์ให้สอนได้เต็มที่ หรือค่าน้ำมันที่ครูต้องจ่ายในการไปเยี่ยมเด็ก ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นระบบ สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนทั้งสิ้น ที่พวกเราประชาชนต้องดิ้นรน จัดการ เพื่อเอาตัวรอดให้ผ่านพ้นไปได้ ซึ่งโดยหลักการแล้ว รัฐต้องเป็นผู้อุดหนุนช่วยเหลือ” 

อีกทั้งในฐานะครู เธอกล่าวว่าการสนับสนุนขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องช่วยครู ไม่ควรเป็นแค่การอบรมสอนออนไลน์อย่างเดียว แต่คือการให้เงินอุดหนุน หรือสร้างคอมมูนิตี้ให้ครูได้แลกเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอนซึ่งกันและกัน

“ดังนั้นการสนับสนุนต่างๆ ต้องรอบด้านทุกมิติ วันนี้เราพูดเรื่องการ heal (เยียวยา) ใจเด็ก และพ่อแม่ จริงๆ ครูก็ต้องการเช่นกัน หลายครั้งความคาดหวังถูกกองที่ครูว่าต้องจัดการการเรียนให้สนุก แต่ขณะนี้ครูก็มือเป็นปลาหมึกแล้ว เพราะต้องใช้สองสามหน้าจอ ทั้งสอน ทำสไลด์ และเช็คเด็ก ความกดดันเกิดที่ครู ครูเลยต้องสอนมากขึ้น เพื่อให้พ่อแม่รู้สึกคุ้ม ครูเครียดเพิ่มอีก” ครูจุ๊ยกล่าว

รัฐต้องปรับตัว ปรับโครงสร้างระบบขนานใหญ่

เมื่อรัฐมีหน้าที่บริหารประเทศ และดูแลประชาชน ผู้จ่ายภาษี ดังนั้นการดูแลสิ่งพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ อย่างการศึกษา จึงต้องเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรเข้าถึงได้

“ในฐานะความเป็นมนุษย์เราก็ต้องดูแลครอบครัวให้ดีที่สุด และ รัฐควรมองว่าทุกครอบครัวอยากดูแลลูกตัวเองดีที่สุด โดยรัฐต้องช่วยให้กระบวนการนี้แก่ทุกครอบครัว มีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน ถ้ามองแบบนี้ แล้วออกแบบกลไกมาเพื่อช่วยเด็ก ครอบครัว ให้สามารถจัดการชีวิตในช่วงเวลาที่ยากลำบากขนาดนี้ได้ 

“ถามว่าคาดหวังความสมบูรณ์แบบจากรัฐในการจัดการวิกฤติที่ยาวนานขนาดนี้ไหม เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจถ้าเห็นความพยายามที่จะบริหารจัดการสถานการณ์ ด้วยการยื่นมือช่วยเหลือ ให้ครอบครัวได้เป็นครอบครัว ได้ดูแลลูก ไม่ต้องมีเด็กกว่า 65,000 คนที่กำลังจะหลุดออกนอกการศึกษาไป” 

ทั้งสองประโยคข้างต้นของครูจุ๊ย จึงชี้ให้เห็นว่า ปัญหาของการศึกษาไทย เกิดจากการที่รัฐไม่เห็นเด็กเป็นสำคัญ และนั่นเป็นเหตุให้ไทยยังคงเกิดปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาอย่างไม่สิ้นสุด

อีกทั้งเมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคแบบนี้ หากรัฐไม่ปรับโครงสร้างระบบของตัวเอง เช่น โครงสร้างงบประมาณ ให้เหมาะสมกับบริบทที่เป็นอยู่ ก็เป็นเรื่องยากที่จะดึงเด็กอีกหลายต่อหลายคนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อีกครั้ง

“ถ้ายังยึดวิธีการจัดการงบประมาณแบบเดิมที่แท่งไหนแท่งนั้น ยืดหยุ่นไม่ได้ เพื่อให้เด็กได้ประโยชน์จริงๆ อย่างหนังสือเรียน ไม่ว่าจะโรงเรียนรัฐ หรือเอกชนที่ขอเงินอุดหนุนจากรัฐบาล เขาไม่สามารถซื้อหนังสือตามใจชอบได้ ต้องซื้อหนังสือตามลิสต์ของรัฐเท่านั้น ทำไมโรงเรียนจึงไม่มีสิทธิในการบริหารจัดการงบนั้นด้วยตนเองตามความเหมาะสมของบริบท บางแห่งอาจไม่ต้องการเอาเงินไปซื้อหนังสือ แต่ต้องการนำไปซื้ออุปกรณ์ เพื่อให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่บ้านแทน

“ดังนั้นรัฐต้องไปทบทวนว่าในสถานการณ์แบบนี้ ยังจะบริหารจัดการแบบเดิมได้อยู่หรือเปล่า” ครูจุ๊ยทิ้งท้าย

รับชม รับฟังเสวนาฉบับเต็มผ่านทาง FB Fanpage หรือ Youtube


Writer

Avatar photo

ธัญชนก สินอนันต์จินดา

บัณฑิตไม่หมาดจากรั้วเหลืองแดง ที่พกคำว่า ‘ลองสิ’ ติดหัวตลอดเวลา เพราะเชื่อว่าประสบการณ์ชีวิตเกิดจากการไม่กลัวและลงมือทำเท่านั้น

Related Posts