ปัจจุบันเด็กๆ เข้าถึงโลกออนไลน์มากขึ้น พวกเขาอาจเห็นสื่อหรือโฆษณาที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่และมีพฤติกรรมเลียนแบบ เช่น ถ่ายภาพนู้ดหรือวิดีโอทางเพศของตนเอง
การล่วงละเมิดทางเพศในโลกออนไลน์ (Online Sexual Harassment) คือ การใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือในการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ผลิตและแบ่งปันสื่อที่แสดงถึงการล่วงละเมิดทางเพศเด็กทางออนไลน์
เด็กอาจเจอการกลั่นแกล้งทางเพศ ส่งภาพอนาจารในแชทส่วนตัว ถูกข่มขู่ทางเพศให้ส่งภาพส่วนตัว ถูกแบล็คเมล์เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศ ฯลฯ
ผู้ก่อเหตุอาจลวนลามผ่านโซเชียลด้วยการคอมเมนต์คุกคามทางเพศ ขอมีกิจกรรมทางเพศ หรือตัดต่อภาพให้เสียหาย และอาจก่อเหตุให้อับอายด้วยการเผยแพร่ภาพหรือวิดีโอโดยที่ไม่ผ่านความยินยอมของเด็ก
ผู้ก่อเหตุเป็นไปได้หมด ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน แฟน หรือคนที่เด็กรู้จักผ่านเกมส์หรือสื่อในโลกออนไลน์ พูดคุยถึงกิจกรรมทางเพศและแลกเปลี่ยนรูปภาพส่วนตัว นำไปสู่การแบล็คเมล์เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศเด็กได้เรื่อยๆ
แล้วสาเหตุของการถูกคุกคามทางเพศในโลกโซเชียลคืออะไร?
หนึ่งในนั้นคือ การพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องทางเพศเป็นสิ่งที่น่าอึดอัดใจ เด็กๆ จึงใช้โลกออนไลน์เป็นพื้นที่ที่แสดงออก และผู้ก่อเหตุใช้ผลประโยชน์ตรงนี้ฉวยโอกาสทางเพศเด็ก อาจล่อลวง ข่มขู่ เด็กให้ไม่กล้าบอกพ่อแม่หรือแจ้งความ
สำหรับเด็กคนหนึ่ง การถูกคุกคามเป็นเรื่องที่หนักหนาอยู่แล้ว แต่ความทุกข์ที่กลัวพ่อแม่ผิดหวังก็ไม่น้อยไปกว่ากัน
mappa ชวนพ่อแม่สร้างพื้นที่ปลอดภัยในบ้าน เพื่อให้ลูกไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหากเจอเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ ผ่านอินโฟกราฟิก 8 ภาพ ที่แนะนำทั้งการสังเกต ถาม ฟัง และรับมืออย่างใจเย็น
ส่องสัญญาณการถูกล่วงละเมิดทางเพศในโลกออนไลน์
เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ลูกถูกล่วงละเมิดทางเพศในโลกออนไลน์ ลูกอาจรู้สึกแย่กับปัญหาเหล่านี้จนความมั่นใจในตัวเองลดลง ส่งผลให้บุคลิกภาพเปลี่ยนไปอย่างกะทันหัน และมีอารมณ์ที่แปรปรวนมากขึ้น
พ่อแม่สังเกตได้จากพฤติกรรมแยกตัวจากครอบครัวและเพื่อนสนิท โดยมีเพื่อนใหม่ที่ติดต่อกันอย่างลับๆ และใช้เวลาด้วยกันในโลกออนไลน์มากขึ้น ต้องการความเป็นส่วนตัวในการใช้โทรศัพท์ รวมถึงรู้สึกกระวนกระวายหากมีคนพยายามดูมือถือ
ความทุกข์หรือความกลัวที่เกิดจากสถานการณ์การล่วงละเมิดอาจทำให้ลูกนอนน้อยลงหรือฝันร้าย แสดงอารมณ์แปรปรวนมากขึ้น เช่น โกรธและโมโหอย่างรุนแรง หม่นหมอง ร้องไห้ เป็นต้น
พฤติกรรมเหล่านี้เป็นสัญญาณการถูกล่วงละเมิดทางเพศในโลกออนไลน์ที่พ่อแม่สังเกตได้เบื้องต้น
ถามอย่างไร ให้ลูกเปิดใจกับพ่อแม่
หากพ่อแม่สงสัยว่าลูกกำลังเจอกับสถานการณ์ล่วงละเมิดทางเพศในโลกออนไลน์และต้องการสื่อสารกับเขา อันดับแรกควรเข้าหาลูกอย่างใจเย็น หากพ่อแม่อารมณ์เสียหรือโกรธ ลูกอาจกลัวจนไม่กล้าคุยกับพ่อแม่
สิ่งสำคัญ คือ เคารพความเป็นส่วนตัวของลูก พ่อแม่ควรเลือกพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถพูดคุยแบบส่วนตัวและไม่ถูกขัดจังหวะ อาจเริ่มจากการพูดคุยในขณะที่กำลังทำอะไรบางอย่างด้วยกัน เช่น ระหว่างการเดินทางด้วยกันในรถ
ในขณะเดียวกันก็กำหนดขอบเขตของพ่อแม่ สนับสนุน และรอให้เขาแสดงความรู้สึก หลีกเลี่ยงคำถามที่ล่วงล้ำหรือกดดันลูก เช่น ถามว่าเกิดอะไรขึ้น หรือถามถึงรายละเอียดอย่างถี่ถ้วนโดยที่ลูกไม่อยากพูดถึง
ควรใช้คำถามที่ใส่ใจความรู้สึกและความคิดของลูก เช่น “เคยมีคนขอให้ลูกส่งภาพนู้ดให้ดูไหม ลูกรู้สึกอย่างไรกับคำขอนี้” จะช่วยให้พ่อแม่ประเมินความเข้าใจของลูกต่อสถานการณ์ที่กำลังเกิดมากขึ้น แต่ไม่ควรกดดันหรือคาดคั้นลูกให้เล่าเรื่องหรือรายละเอียดทั้งหมด
หากลูกยังไม่พร้อมตอบคำถาม พ่อแม่ก็ไม่ควรกดดันให้ตอบ แต่ควรอยู่เคียงข้างและช่วยให้เขาได้พูดคุยกับคนที่เขารู้สึกสบายใจ
5 วิธีรับฟังปัญหาของลูก
‘การฟัง’ จะช่วยให้พ่อแม่เข้าใจทัศนคติของลูกและประเด็นของปัญหามากขึ้น
หากลูกตัดสินใจเล่าว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศในโลกออนไลน์ สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ ฟังและไม่ตัดสิน แสดงออกว่าสนับสนุนลูกและไม่เผยแพร่เรื่องนี้กับคนที่ไม่เกี่ยวข้อง ให้เวลาลูกระบายความรู้สึกโดยไม่ขัดจังหวะ รับฟังประสบการณ์ของเขาอย่างใจเย็น
บางครั้งเด็กจะรู้สึกสบายใจหากได้พูดคุยกับเพื่อนหรือคนที่เขารู้สึกว่าไว้ใจได้ ถ้าลูกต้องการพูดคุยกับคนเหล่านั้น พ่อแม่ควรฟังความต้องการของเขา และช่วยจัดการให้เขาได้คุยกับคนเหล่านั้น
ทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่อยู่เคียงข้างเขาตลอดเวลาไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม
คำที่ควรพูด เพื่อบอกลูกว่าไม่เป็นไร
บางครั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้น อาจทำให้พ่อแม่มีอารมณ์หงุดหงิดหรือโกรธ และเผลอแสดงออกว่ากำลังโทษเด็ก หรือไม่เชื่อคำพูดพวกเขา นั่นส่งผลกระทบกับเด็กโดยตรง ความรู้สึกของเขาต่อเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นและต่อตัวเอง
จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเชื่อในสิ่งที่ลูกพูด และไม่โทษว่าเป็นความผิดของเขา
เป็นไปได้ที่พ่อแม่จะรู้สึกโกรธกับสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงโกรธลูก เพราะเขาก็มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ดังกล่าว จนเผลอแสดงออกมาให้ลูกรับรู้ได้ ความรู้สึกเหล่านี้อาจมาจากความรักความเป็นห่วงของพ่อแม่ แต่หากแสดงออกมาอย่างไม่รอบคอบอาจทำให้ลูกเจ็บปวดมากขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบางครั้งการฟังเรื่องที่ลูกเล่าก็ยากจะเชื่อ พ่อแม่บางคนเลี่ยงจะยอมรับความจริง แต่การที่พ่อแม่ไม่เชื่อลูกจะทำให้เขารู้สึกแย่ลงและเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดมากขึ้น
เด็กที่โดนล่วงละเมิดมักโทษตัวเองและรู้สึกถูกตีตรา พ่อแม่จึงมีส่วนสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่าเขามีคนที่เคียงข้าง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวตนของเขาเลยแม้แต่น้อย
“พ่อแม่เชื่อในสิ่งที่ลูกพูด”
“ตัวตนของลูกยังเหมือนเดิมเสมอสำหรับพ่อแม่”
ลูกตำหนิตัวเอง และคิดว่าพวกเขาจะได้รับสิ่งนี้จากผู้อื่นเช่นกัน พ่อแม่จึงต้องเรียกความเชื่อมั่นของลูกกลับมาด้วยการแสดงออกว่าเชื่อใจเขา
วิธีช่วยลูกเก็บหลักฐาน
เมื่อรับรู้ว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศเกิดขึ้น สิ่งที่ควรทำ คือ หยุดติดต่อสื่อสารกับบุคคลนั้นทันที แต่ไม่ควรบล็อกหรือลบข้อมูลการติดต่อกับผู้ก่อเหตุ เพราะเป็นหลักฐานที่สำคัญในการดำเนินคดี
พ่อแม่ควรประเมินสถานการณ์ว่าลูกแบ่งปันอะไรและกับใครทางออนไลน์ รวมถึงการละเมิดดำเนินไปถึงขั้นไหน ในบางกรณี ผู้ก่อเหตุคุกคามเด็กในชีวิตจริงด้วย
ในการเก็บข้อมูลหลักฐาน พ่อแม่ควรเคารพความเป็นส่วนตัวของลูกเสมอ ให้ลูกบันทึกบทสนทนาทั้งแบบรูปภาพและบันทึกวิดีโอหน้าจอด้วยตัวเอง หากเขาต้องการให้ช่วย พ่อแม่ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ห้ามไม่ให้ผู้อื่นเข้าถึงเนื้อหาเหล่านี้
การเก็บหลักฐานจะเป็นตัวช่วยสำคัญหากเด็กต้องการดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุต่อไป
ปรึกษาใคร เมื่อครอบครัวอยากไปต่อ
พ่อแม่สามารถปรึกษาเจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญ เพื่อรับคำแนะนำในขั้นตอนการดำเนินคดี การแจ้งเจ้าหน้าที่จะช่วยให้ครอบครัวเข้าถึงกระบวนการเยียวยาและสิทธิ์ทางกฎหมายได้ง่ายขึ้น
การแจ้งดำเนินคดีจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศในโลกออนไลน์อาจเป็นการตัดสินใจที่ยาก เพราะมีสายตาไม่เข้าใจจากคนรอบข้าง เพื่อน หรือโรงเรียน แต่การแจ้งความจะช่วยหยุดการข่มขู่จากผู้ก่อเหตุและอาจช่วยเด็กคนอื่นๆ จากการตกเป็นผู้เสียหาย พ่อแม่สามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศออนไลน์ เช่น TICAC , กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์, กองบัญชาการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
สร้าง ‘3 พื้นที่’ ให้บ้านปลอดภัย
หลังจากจบเรื่องแล้วหรือขณะที่กำลังดำเนินเรื่องทางกฎหมาย ลูกอาจมีความรู้สึกโกรธ ผิดหวัง และโทษตัวเอง รวมถึงความกดดันที่เกิดจากสายตาคนรอบตัว ความรู้สึกลบที่เกิดขึ้นกำลังทำลายพวกเขา ‘บ้าน’ ที่พวกเขาอยู่จะกลายเป็นพื้นที่เซฟโซนทางจิตใจและร่างกายของพวกเขา ด้วย ‘3 พื้นที่’ ปลอดภัยในบ้าน ซึ่งพ่อแม่สามารถช่วยสร้างพื้นที่เหล่านี้ได้ เริ่มจาก
‘พื้นที่เข้าใจ’ พยายามทำความเข้าใจและเคียงข้างลูก พ่อแม่ควรทำความเข้าใจอารมณ์ของตัวเองด้วย หากรู้สึกวิตกกังวล ควรปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ ระวังไม่ให้อารมณ์ด้านลบกระทบลูกจนรู้สึกกังวลหรือกดดัน
‘พื้นที่พูดคุย’ พูดคุยอย่างใจเย็น เลี่ยงการด่าทอรุนแรง เพราะลูกอาจไม่ไว้ใจและขาดที่พึ่ง ถ้าเป็นไปได้ควรให้กำลังใจ รับฟัง และขอบคุณเขาที่กล้าหาญมากในการบอกเรื่องนี้กับพ่อแม่
‘พื้นที่ปลอดภัย’ หากลูกรู้สึกแย่กับตัวเองเพราะเรื่องที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกมั่นใจว่าพ่อแม่รักและยอมรับเขา ไม่นิ่งเฉยต่อปัญหาของลูก พ่อแม่อาจช่วยปกป้อง แต่ก็คำนึงถึงความอิสระของลูกเช่นกัน บ้านคือส่วนสำคัญ หากบ้านปลอดภัย ลูกจะรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง
รับมืออนาคต สนับสนุนลูกกลับไปใช้โซเชียล
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ และเพื่อความปลอดภัยของลูก พ่อแม่อาจทำข้อตกลงในการใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตกับลูก ทำความเข้าใจว่าข้อมูลส่วนตัวของเขาในอินเทอร์เน็ตอาจถูกเผยแพร่อีกครั้ง เพื่อให้ลูกเตรียมรับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต สังเกตพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กอยู่เสมอ เพื่อให้ความช่วยเหลือหากเขาต้องการ
แม้ลูกอาจยังไม่พร้อมกลับไปใช้อินเทอร์เน็ต แต่พ่อแม่ควรสนับสนุนให้กลับไปทำกิจกรรมออนไลน์ตามปกติ และเมื่อไรที่ลูกพร้อม พ่อแม่ควรอยู่เคียงข้าง และช่วยเหลือเมื่อเขาต้องการ
พ่อแม่อาจจะช่วยแนะนำลูกในการเลือกคบ แต่ให้อิสระเขาเลือกเอง ควรทำให้ลูกมั่นใจว่าพ่อแม่จะช่วยเหลือหากเขาพบเจอปัญหาในโลกออนไลน์อีก