อวยพร เขื่อนแก้ว : อำนาจร่วมจะทำให้เด็กมั่นคง เห็นคนเท่ากัน มีความคิดสร้างสรรค์ “เขาจะไม่ปิดบังพ่อแม่แม้ทำความผิด”

  • “เราไม่ได้อยู่ในสังคมที่เมตตากรุณา”​ อวยพร เขื่อนแก้ว อธิบายถึงอำนาจนิยมที่ซึมลึกและฝังราก “ถ้าเมตตาจริงๆ เราจะเห็นคนเท่ากัน” 
  • ทางออกของวิกฤติคนต่างรุ่นคือ ‘อำนาจร่วม’ ที่ควรเริ่มตั้งแต่ในบ้านและการฟังซึ่งกันและกัน ความรักไม่ควรเป็นเหตุผลของการใช้ความรุนแรง 
  • ถ้าเด็กเติบโตในบ้านที่ใช้อำนาจร่วม เขาจะเป็นคนที่มั่นคง ไม่กดข่มคนอื่น มีความไว้ใจ ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ปิดบังพ่อแม่แม้กระทั่งทำความผิด  สังคมจะมีความสุข เบิกบานและปลอดภัย เพราะคนรู้สึกว่าได้ใช้อำนาจร่วมกันจริงๆ

“เรียนไม่จบ เป็น LGBTQ ท้องในวัยเรียน ลูกจะเข้าหาแม่ เพราะแม่อยู่ตรงกลาง อำนาจพ่ออยู่สูงสุด แม่รองลงมา แล้วค่อยเป็นลูก นี่เป็นเรื่องอำนาจทั้งสิ้น”​

อวยพร เขื่อนแก้ว ผู้ก่อตั้งศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรมชวนตั้งข้อสังเกตว่าทำไมแม่มักรับบทผู้ไกล่เกลี่ย 

คำตอบสำคัญที่ได้จากการสนทนาคือ เพราะเราอยู่สังคมที่ศิโรราบให้อำนาจเหนือหรือ power over มานานจนเรียกมันว่าวัฒนธรรมและความปกติ แบบที่ “ใครๆ เขาก็ทำกัน” 

ทางออกของเรื่องนี้อยู่ที่อำนาจร่วมหรือ power sharing ไม่ได้เรียกร้องให้พ่อแม่ต้องเข้าใจลูก หรือลูกต้องเข้าใจพ่อแม่ แต่เริ่มจากการฟังซึ่งกันและกัน 

“พี่จะบอกเด็กๆ ที่ทำงานด้วยว่า ต้องเข้าใจว่าพ่อแม่หรือผู้นำรัฐ เขามีความกลัว กลัวว่าจะสูญเสียอำนาจจากการที่ลูกไม่ฟัง ถ้าเราเข้าใจมากเท่าไหร่ เราจะเห็นความกลัวของเขา แล้วความเข้าใจจะทำให้เราอดทน เราจะอดทนอดกลั้นด้วยความเข้าใจ แต่ในขณะเดียวกันจะทำยังไงที่ไม่ต้องถึงกับเอาชนะคะคาน เพราะมันไม่ชนะหรอกโดยเฉพาะระดับครอบครัว” 

และความรักไม่ควรเป็นเหตุผลของการใช้ความรุนแรง 

“ภาวะซึมเศร้าจากพ่อแม่กดดัน จริงๆ มันคือการใช้ความรุนแรง มันทำลายจิตใจ จิตวิญญาณของลูก ลูกไม่สามารถเลือกทางดำเนินชีวิต เลือกอัตลักษณ์ทางเพศ เลือกงาน เลือกอาชีพ แล้วพ่อแม่ไม่เข้าใจว่านี่คือความรุนแรง เพราะเมื่อเราอยู่ในระบบอำนาจนิยม คนที่มีแหล่งอำนาจ เช่น พ่อแม่หรือผู้นำรัฐมักจะบอกเราว่ารักและหวังดี อาบน้ำร้อนมาก่อน แต่สำหรับเขาไม่ใช่ เขารู้ดีว่าชีวิตต้องการอะไร” 

และนี่คือช่วงเวลาที่คนจากโลกสองใบมาเผชิญหน้ากัน โลกของคนหนึ่งซึ่งกลัว กับโลกของอีกคนที่ไม่กลัว 

แต่ทั้งคู่รักกัน

ปัญหาในปัจจุบันที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมทางเพศ ในความคิดพี่อวยพร ปัญหาไหนรุนแรงที่สุด 

เพราะว่ามันอยู่คนละโลก โลกที่พี่โตมาเนี่ย มันถูกบอกถูกสอนว่ามีแค่สองเพศ แต่ละเพศต้องไปตามชุดที่เขาบอกว่า ต้องแต่งตัวอย่างนี้ ต้องรักต่างเพศ กริยา ท่าทาง พฤติกรรมต้องแบบนี้ แม้กระทั่งงาน สถานที่ อำนาจ ตำแหน่งที่แต่ละเพศถูกจัดไว้แล้ว แล้วที่มันยากเพราะว่า มันใช้คำว่า ‘ปกติ’ หรือใช้คำว่า ‘ประเพณีของสังคมไทย’  

ทีนี้คนรุ่นใหม่เขาไม่ใช่ หนึ่ง โลกทัศน์ที่เขามอง สิ่งที่เขารับรู้มันเปลี่ยน เนื่องจากการเรียนรู้จากโลกอื่นๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต ผ่านภาษา ผ่านภาพ ฯลฯ มันไม่ใช่แล้ว เขาเห็นว่าคนอื่น ประเทศอื่นๆ ที่ต่างออกไป มันเป็นอย่างไร สอง ภาพที่เห็น มันสื่อถึงความเป็นเพศที่เราอึดอัด หมายถึงผู้ชายด้วยนะ เขารู้สึกว่ามันกดดัน ผู้หญิงจะยิ่งรู้สึกหนัก เพราะในระบบเพศของเราที่ทำงานอยู่ตอนนี้มันกีดกันสิทธิเสรีภาพของเด็กผู้หญิง ซึ่งเป็นยุคที่เด็กเขาไม่เอา เราจึงเห็นคนรุ่นใหม่ รวมถึงผู้หญิงและ LGBTQI ออกมาเรียกร้องเสรีภาพ เรียกร้องอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง ซึ่งล้อไปกับการเคลื่อนไหวทั่วโลก

แต่กรอบของผู้ใหญ่ที่เป็นพ่อแม่เนี่ยไม่ได้ขยับเลย เพราะเขาได้รับการศึกษาเรื่องนี้น้อยมาก ถ้าคุณดูทีวี ตัวละครไม่ว่าจะหันไปทางไหน มันคือความเป็นเพศแบบเดิม แล้วสิ่งหนึ่งที่มากับระบบเพศแบบนี้คือ วัฒนธรรมอำนาจนิยม แปลว่า กลุ่มไหนก็ตาม คนไหนก็ตามที่มีแหล่งอำนาจเยอะ เขาจะมีสิทธิ์ตีตรา มีสิทธิ์ให้ความหมาย ตีค่าประสบการณ์ของคนที่แหล่งอำนาจน้อยกว่า 

อวยพร เขื่อนแก้ว ผู้ก่อตั้งศูนย์ผู้หญิงเพื่อสันติภาพและความยุติธรรม

ทีนี้เมื่อเราไปเรียกเขาเป็นเด็กก้าวร้าว เขาก็ยิ่งกระแทกกลับมา เพราะสิ่งหนึ่งที่มันเกิดในวัฒนธรรมอำนาจนิยมคือ ‘ห้ามเถียง’ พี่คิดว่ามันเป็นจุดวิกฤติเรื่องวัฒนธรรมอำนาจนิยม วัฒนธรรมที่ไม่ยอมขยับแว่นในการมองสิ่งที่มันเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อเขาไม่สามารถเปลี่ยนได้ มันจึงเป็นที่มาว่าทำไมเด็กวัยรุ่นส่วนหนึ่งถึงต้องออกจากบ้าน หรือพูดความจริงกับพ่อแม่ไม่หมด ไม่ใช่เฉพาะเรื่องเพศ เรื่องอื่นๆ ด้วย เพราะเขารู้ว่าพูดไปก็เสียเวลา พูดไปก็ถูกตีตรา ถูกตำหนิ เขาก็ยังรักพ่อแม่แต่มันไม่มีช่องว่างเลย ไม่มีพื้นที่ที่ให้พูดคุยรับฟังกันและกัน เพราะวัฒนธรรมอำนาจนิยม ตั้งแต่ระบบราชการไปจนถึงบ้าน มันลึกมาก 

พี่คิดว่าผู้ใหญ่ทั้งหมดจะต้องนั่งวิเคราะห์แล้วดูว่าโลกทัศน์ของเรามันทำงานยังไง แล้วมันทำร้ายความแตกต่างหลากหลายของความคิดใหม่ยังไงบ้าง มันสั่นคลอนแม้กระทั่งความเป็นไทย ความเป็นไทยสำหรับพี่มันคืออำนาจนิยมชายเป็นใหญ่นะ เพราะฉะนั้นถ้าเขาไม่มีการวิพากษ์ ไม่มีการพูดคุย เราก็จะยืดวิกฤตินี้ไปอีกนาน 

พี่อวยพรมองว่า วิกฤติ ณ ตอนนี้ที่มันเกิดขึ้น การชนกันของคนต่างวัย มันจะนำไปสู่อะไรบ้าง

ในระดับการเมือง ไม่ว่าออกมาเรียกร้องอะไรก็ตาม เขาถูกจับ ถูกกฎหมายเล่นงาน ในขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ไล่ลูกออกจากบ้าน  เด็กถูกไล่ออกจากโรงเรียน ทุกระบบมันพยายามจะจัดการความคิดใหม่ โลกทัศน์ใหม่ที่แสดงผ่านเยาวชน ไม่ว่าจะเรื่องการเมืองหรือเรื่องอื่นๆ ก็ตาม 

แค่เรื่องแต่งตัวของเด็กเนี่ย สังเกตมั้ยทำไมมันตีกลับมาเหมือนเดิม ทั้งที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ บอกว่าเรื่องการแต่งกายตัดผมเด็กมันไม่ควรแล้ว ครูไม่ควรจะทำร้าย แต่ครูยังอยู่ในโลกเก่า แล้วอำนาจของครูในโรงเรียนไม่เคยถูกตั้งคำถาม เหมือนกับอำนาจของพ่อแม่ที่ไม่เคยถูกตั้งคำถาม 

พี่จะบอกเยาวชนที่ทำงานด้วยว่า ต้องเข้าใจว่าพ่อแม่หรือผู้นำรัฐที่ยังยึดอยู่กับโลกทัศน์หรือวิธีคิด การกระทำแบบอำนาจนิยม เขาถูกหลอมมาอย่างนี้ แล้วเขามีความกลัว กลัวว่าจะสูญเสียอำนาจจากการที่ลูกไม่ฟัง ถ้าเราเข้าใจมากเท่าไหร่ เราจะเห็นความกลัวของเขา แล้วความเข้าใจจะทำให้เราอดทน เราจะอดทนอดกลั้นด้วยความเข้าใจ แต่ในขณะเดียวกันจะทำยังไงที่ไม่ต้องถึงกับเอาชนะคะคาน เพราะมันไม่ชนะหรอกโดยเฉพาะระดับครอบครัว ทำยังไงที่จะอธิบาย พูดคุยได้ ถ้าเราเข้าใจ เราจะเกื้อกูลกัน

เราทำงานสันติวิธี ฐานของมันคือความเมตตากรุณา เราเห็นพ่อติดยึดอยู่กับความกลัว ถ้าเราเห็นความกลัวเท่าไหร่ เราจะเริ่มเข้าใจ ผลักเขาออกไม่ได้ ด่าว่าเขาก็ไม่เวิร์กหรอก แต่เราจะใช้ปัญญาเพื่อหาวิธี พี่เลยสอนประโยคที่เด็กๆ จะไปพูดกับพ่อแม่ ให้เริ่มต้นจากการรับรู้ความรู้สึกของเขา เช่น รู้ว่าพ่อเสียใจที่ลูกไม่ได้เป็นอย่างที่ต้องการ รู้ว่าพ่อเสียใจที่ไม่ได้บวชให้ ไม่ได้แต่งงาน มีลูกมีหลานสืบตระกูลให้ไม่ได้ แต่อยากจะบอกพ่อกับแม่ว่าลูกได้ค้นพบตัวตนแล้ว ขอโทษที่ทำให้พ่อผิดหวัง แต่ตัวเองก็ไม่สามารถจะเป็นอัตลักษณ์ทางเพศอย่างที่พ่อแม่คาดหวัง

รวมถึงเรื่องพ่อแม่บังคับให้ลูกเรียนในสิ่งที่เขาไม่อยากเรียน นี่ไม่ใช่เรื่องเพศแล้วนะ มันเป็นเรื่องที่เขาถูกเลี้ยงแบบเดิม แล้วหลายคน เรามาเจอเขาตอนอายุ 30 เขามีภาวะซึมเศร้า มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย 

ภาวะซึมเศร้าจากพ่อแม่กดดัน จริงๆ มันคือการใช้ความรุนแรง มันทำลายจิตใจ จิตวิญญาณของลูก ลูกไม่สามารถเลือกทางดำเนินชีวิต เลือกอัตลักษณ์ทางเพศ เลือกงาน เลือกอาชีพ แล้วพ่อแม่ไม่เข้าใจว่านี่คือความรุนแรง เพราะเมื่อเราอยู่ในระบบอำนาจนิยม คนที่มีแหล่งอำนาจ เช่น พ่อแม่หรือผู้นำรัฐมักจะบอกเราว่ารักและหวังดี อาบน้ำร้อนมาก่อน แต่สำหรับเขาไม่ใช่ เขารู้ดีว่าชีวิตต้องการอะไร พี่จึงพยายามทำงานกับช่องว่างตรงนี้ ช่องว่างที่จะก้าวผ่านได้ด้วยความเข้าใจ เข้าใจว่าโลกของเขาเป็นอีกโลกนึง นอกจากความโลภ บ้าอำนาจก็เห็นความกลัวของเขาด้วย และคนมักจะใช้ความกลัวเพื่อจะสยบอีกฝ่าย ด้วยกำลังทหารหรือด้วยกฎหมาย ถ้าพ่อแม่คือการไล่ออกจากบ้าน ไม่ส่งเรียน นี่คือการทำโทษคนที่มีอำนาจน้อยกว่า 

พี่อวยพรเคยให้สัมภาษณ์ว่า เราไม่ได้อยู่ในสังคมที่เมตตากรุณา?

ใช่ พี่คิดว่าเราอยู่ในสังคมที่ใช้คำว่าเมตตากรุณา เฉพาะตอนเราไปทำบุญทำทานให้คนยากจน หรือไปโปรดสัตว์ นี่คือการแปลความสำหรับพี่ 

พี่ทำงานแนวพุทธเพื่อความเป็นธรรม ใต้ความกรุณามันคือปัญญา คือความเข้าใจ แต่ถ้าความกรุณามาจากความคิดว่าฉันเหนือกว่าเธอ มันจะเป็นการให้ทานแบบไม่เท่ากัน ให้ทานสัตว์ ให้ทานคนยากคนจน

มองว่าตัวเองสูงกว่า?

ใช่อยู่แล้ว มองไม่เท่า แต่ถ้าเป็นความเมตตาจริงๆ คือเห็นคนเท่ากัน เท่ากันเรื่องชีวิต และเท่ากันในแง่ที่เราสามารถบรรลุธรรม พอเห็นคนเท่ากันนะ เราจะไม่เหยียดใครเลย ความเมตตาของเรามันมาจากความรู้สึกว่า ด้วยสภาพสังคม สิ่งแวดล้อม ระบบที่ทำให้มันไม่เท่ากันไม่ใช่เรื่องของกรรมหรือชาติก่อน เพราะฉะนั้นเราจะทำงานด้วยความเข้าใจ อ่อนน้อมถ่อมตน มันจะเห็นความทุกข์ของคนที่มาจากระบบ ส่วนปัญญาที่อยู่ใต้เมตตาจะคิดว่าฉันทำอะไรได้บ้าง เพื่อแก้ไขสาเหตุที่ทำให้คนมันไม่เท่ากัน 

สังคมเราจึงไม่มีความเมตตากรุณา คำสอนหลายเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง คนพิการ คนยากจน อัตลักษณ์เพศที่เป็นชายขอบ ที่อ้างเรื่องกรรม เรื่องชาติที่แล้วนั้นไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า โดยเฉพาะสิทธิคนรักเพศเดียวกัน ที่บอกว่า “พวกนี้ผิดศีลข้อ 3 เมื่อชาติที่แล้ว” ส่วนคนพิการก็บอกว่าเป็นกรรมชาติที่แล้ว ซึ่งหลายคนพิการจากการจราจรที่มันแย่ ระบบถนนที่ไม่ปลอดภัย แล้วความจนของคนมันมาจากระบบเศรษฐกิจ นโยบายต่างๆ ที่ไม่เอื้อ มันสร้างความเหลื่อมล้ำต่างหาก 

สังคมเราไม่ได้เอาหลักคำสอนจริงๆ ของพระพุทธเจ้ามาสอน เมื่อ 2,000 ปีที่แล้วพระพุทธเจ้าบวชผู้หญิงให้เป็นภิกษุณี พอบวชเสร็จความวรรณะจะต้องหมดไป ก็แปลว่าเท่ากัน คนที่สูงกว่า คือสูงด้วยจริยธรรมและเมตตาธรรม สิ่งนี้มันไม่เจอในสังคมเรา ซึ่งเป็นเมืองพุทธ พี่กล้าพูดเลยเพราะพี่ทำงานกับคนชายขอบทุกกลุ่ม มันไม่ใช่สังคมเมตตากรุณาที่มาจากความเข้าใจและปัญญา มันมาจากเมตตาที่แปลแค่ว่าเราเอาของไปแจกคน เพราะมันทำให้เราดูดี 

ความเมตตากรุณานี้มันจะมาสนับสนุน ประยุกต์ใช้กับความเข้าใจในครอบครัวได้อย่างไรบ้าง

เข้าใจว่าพ่อแม่มาจากอีกโลกหนึ่งคือ โลกของอำนาจนิยม 

พี่ทำงานอย่างนี้ผ่านแม่พี่ แม่พี่อยู่กับพ่อที่ใช้ความรุนแรง แต่แม่บอกว่า “ยัยคนนี้มันยังไม่มีผัวเนี่ย แม่จะนอนตายตาไม่หลับ” เราก็แซว “แล้วผัวแม่ล่ะ ใช้ความรุนแรงกับแม่” แม่เนี่ยจะไม่แตะลูกชายเลย กับลูกชาย แกพูดดีมาก กับลูกสาวแกเริ่มต้นด้วยคำด่า แต่พี่รู้ว่าแม่ถูกล้างสมองด้วยวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นพี่เลยไม่โกรธแม่ 

เวลาแม่พูดอะไรที่เป็นวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ พี่หัวเราะตลอดเวลา แต่พอหัวเราะเสร็จพี่ก็จะบอกว่า “แม่ ลูกสาวที่ดีที่สุดคือคนนี้ ไม่ใช่ลูกชายแม่ เห็นไหมทำทุกอย่างเลย” หรือแม่บอกว่า เนี่ย ทำไมไม่มีลูก ทำไมไม่มีผัว พี่ก็บอก “โอ๊ย ไม่อยากเป็นภาระเหมือนแม่ ชีวิตหนูมีอิสระจะตาย เห็นไหมมีเวลามาดูแลแม่” 

เรากำลังให้การศึกษา พี่ใช้คำนี้เลยนะ Educate แม่ให้เห็นความจริงของชีวิตว่าเรามีความสุขจะตายจากการที่เราไม่มีลูก จากการที่เราใช้ชีวิต มีอิสรภาพ ได้ดูแลแม่ ได้ไปทำงานเพื่อสังคม เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเชื่อฝังหัวเรื่องอำนาจนิยม เรื่องเพศ หรือเรื่องใดก็ตาม คุณจะไม่เห็นความจริง 

แต่ถ้าจัดการไม่ได้ พี่ก็ปล่อยให้เสียงมันตก บางทีไปตะโกนด่าพ่อกับแม่ที่ทุ่งนา (ยิ้ม) แต่พี่ก็ยืนยันสิทธิของพี่เหมือนเดิม

ทำงานกับแม่ ทำงานกับคนในครอบครัวยากไหมคะ

ยากสิ พี่ต้องหัวเราะบ่อยมาก เวลาพี่เดินเข้าครัว บ้านแม่กับพี่ห่างกัน 10 ก้าว พี่เขียนว่า นี่คือ Meditation Hall นี่คือหอสมาธิ เพราะจริงๆ เนี่ย สมาธิตามแนวพุทธ ไม่ได้แปลว่านั่งแล้วสงบ แต่นั่งแล้วต้องเห็นว่าสงบและโอเคกับความไม่สงบ

ถ้าเขาไปปุ๊บ โอ้โห มันหนักมาก พี่ก็ถอยกลับบ้านพี่ แค่นั้นเอง ถ้าวันนี้แม่ว่าอะไรไป แต่พี่เบิกมารมา เล่นโยคะมาแล้ว พี่ก็อธิบายด้วย หัวเราะด้วย แม่ไม่เปลี่ยนไม่เป็นไร แต่เราเปลี่ยน เพราะเรารู้ว่าเรากำลังสู้กับอะไรที่ใหญ่มากในหัวแม่ แต่เขายังเป็นแม่เราที่เรารัก การทำงานกับคนใกล้ชิดจึงยากที่สุด แต่ถ้าเราก้าวข้ามได้ เราจะทำงานกับคนอื่นได้ 

เพราะฉะนั้นสอนได้ก็สอน บอกได้ก็บอก สารพัดค่ะ บางทีก็กอดเขาเลย บอกว่า “รู้ไหมว่า เมื่อแม่พูดประโยคนี้ทำให้เรารู้สึกแย่ แล้วเราเป็นลูกที่ทำดีที่สุดทุกแง่มุม ไม่ขาดตกบกพร่อง แม่ควรจะภูมิใจ”

ตอนนั้นพี่ทำงานให้ผู้หญิงพม่า แม่ก็ด่าเลย “อิห่านี่ ถ้าไปนะ รถชนตาย” พี่ก็บอกเลยต่อไปสิ่งที่แม่ควรพูด เวลาหนูออกจากบ้านก็คือ ขอให้ลูกไปเจริญรุ่งเรืองปลอดภัย พี่บอกว่า ลองท่องประโยคนี้ซิ แกเงียบเลยนะ แต่หลังจากนั้น ประโยคแช่งนี้ไม่ได้ออกจากปากแม่อีกเลย 

วิธีในการอธิบายคือแสดงความรู้สึกของเราไป?

ไม่แสดง แต่ต้องพูดความรู้สึก พูดเลยว่า เมื่อพ่อแม่พูดประโยคนี้ มันทำให้เรารู้สึกยังไงบ้าง แล้วมันส่งผลต่อชีวิตเรายังไง เราเสียใจที่ไม่ได้เป็นดั่งที่เขาตั้งใจ แต่ว่าเราก็รักชีวิตเรา เพราะเรารู้ว่า เราเลือกเองได้ เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว และเราจะต้องกำหนดอนาคตของเราเอง แน่นอนว่าเรารู้สึกขอบคุณที่เขาดูแลเรามาทุกเรื่อง เราขอโทษที่ทำให้เขาเสียใจ แต่เราเปลี่ยนใจไม่ได้ กับอัตลักษณ์ทางเพศ กับวิชาชีพ หรืออะไรของเราก็ตามที่เราเลือกแล้ว เราค้นพบตัวเอง แล้วเราอยากให้เขามีความสุขกับการค้นพบตัวตนของเรา 

แล้วเราก็บอกเขาว่า เรารู้ว่าเขายังรับไม่ได้ แต่เราอยากจะบอกเขาว่า สิ่งที่เราค้นพบเนี่ยแหละเป็นตัวตน เป็นสิ่งที่เราต้องการ เป็นความฝันที่ทำให้เรามีความสุขที่สุด อาจจะไม่ทำให้พ่อแม่ภูมิใจ แต่อยากบอกให้เขารู้ว่า สิ่งที่เราค้นพบเป็นสิ่งที่เราหามานาน คือพูดว่าเกิดอะไรขึ้นแต่ไม่ตำหนิตีตราเขา 

สังเกตหลายๆ บ้าน แม่มักเป็นตัวกลางประสาน มันสะท้อนอะไรคะ

มันคือวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ในระดับสถาบันครอบครัว ผัวกับพ่อเป็นใหญ่ที่สุด ถ้าคุณเป็นคนรักต่างเพศเนี่ย แต่งงานปุ๊บ หน้าที่เมียคืออะไร คือดูแลผัว เอาใจ ใส่ใจ ไม่เถียงไม่โต้แย้ง แล้วพอเป็นแม่ คุณก็กลายเป็นคนไกล่เกลี่ย ระหว่างการใช้อำนาจของพ่อกดข่มเมียและลูก

มันมาจากการบอกว่า “ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว” ก็แปลว่า ผู้ชายมีสิทธิ์ใช้อำนาจครอบงำคนอื่น หรือใช้ความรุนแรง เพราะฉะนั้นเราจะเจอทุกที่เลย ไม่ว่าลูกเรียนไม่จบ ลูกเป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยน หรือลูกท้องในวัยรุ่น ลูกทั้งหมดจะเข้าหาแม่ แม่จะอยู่ตรงกลาง เพราะว่าอำนาจพ่อสูงสุด แม่รองลงมา แล้วค่อยเป็นลูก นี่เป็นเรื่องอำนาจทั้งสิ้น

ตรงนี้แหละที่พี่คิดว่ามันต้องเปลี่ยน เราจะต้องเปลี่ยนอำนาจนิยมทุกที่ เราจะต้องเปลี่ยนอำนาจนิยมแบบนี้ทุกสถาบัน และเริ่มที่ครอบครัว 

คือการเปลี่ยนมาใช้อำนาจร่วม? 

การใช้อำนาจร่วม แปลว่าเราจะฟังกันและกัน และเราจะ empower ลูก ตั้งแต่ 4-5 ขวบว่าลูกจะแต่งตัวแบบไหน ไม่ใช่ผู้หญิงต้องแต่งตัวน่ารัก ใส่รองเท้าสีชมพู เด็กผู้ชายก็ต้องสีฟ้า ซึ่งไม่ใช่แล้ว เด็กรุ่นใหม่จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เรื่องความรัก เรื่องเพศ แม้กระทั่งเรื่องการเรียน เมื่อใดที่เราฟังลูก และเราส่งเสริมให้ลูกเลือกเอง นั่นคือการฝึกให้ลูกมั่นใจในตัวเอง ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยหรือตามใจลูก โดยเฉพาะถ้าการตัดสินใจนี้เป็นการตัดสินใจที่เป็นสิ่งที่ดีสำหรับชีวิตเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน การเดินทาง การคบเพื่อน การทำกิจกรรมอะไรต่างๆ นี่คือวิธี empower ให้เขาเติบโตจากข้างใน เติบโตจากข้างในคือความมั่นใจ เพราะความมั่นใจเนี่ยมันต้องถูกฝึกนะ ไม่ใช่เกิดมาแล้วมีเลย เริ่มฝึกตั้งแต่การเลือกเสื้อผ้า

เมื่อลูกกำลังเอาตัวเองเข้าไปสู่ประสบการณ์ที่เรารู้ว่ามันเสี่ยงแล้วลูกรู้ไม่พอ เช่น ยาเสพติด อันนั้นพ่อแม่ต้องเข้ามา แต่อย่าเข้ามาแบบ Power Over หรืออำนาจเหนือ คือ “ห้ามคบเพื่อนคนนี้” “ไปทำไม!” “บอกแล้วไม่ให้ไป” หรือลงโทษโดยการไม่พูดด้วย แต่ชวนคุยว่า “ช่วงนี้ชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง เกิดอะไรขึ้น ช่วงนี้เราสังเกตเห็นอย่างนี้ มีอะไรจะบอกเราไหม” 

เมื่อลูกทำอะไรที่พลาด สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ลูกไว้ใจคือ อย่าตำหนิ ให้ฟัง พอฟังจนจบ ลูกจะบอกเองว่าขอโทษ เขาไม่ได้คิดว่าจะเกิดขึ้นแบบนี้ แต่พ่อแม่อำนาจนิยมจะไม่ฟัง เพราะฉะนั้น Power Sharing เริ่มตั้งแต่ฟังลูก เปิดพื้นที่ให้เขาตัดสินใจ เคารพความคิดเห็นของเขา 

พี่นั่งฟังเด็กอายุ 7-8 ขวบ เขาเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ เต็มไปด้วยความรู้ว่าอันนี้ควรไม่ควร แต่แค่ปริปากพูดเนี่ย พ่อแม่ไม่ฟัง แม้กระทั่งพ่อแม่อายุไม่ถึง 60 ก็ควบคุมลูกสูงมาก โดยเฉพาะชนชั้นกลางนะ เพราะเป็นลูกคนเดียว แล้วมันเป็นตัวแทนสถานภาพสังคมของเขา เขาจะปั้นลูกให้เป็นอย่างนี้ ตอนหลังๆ เราจึงเจอเด็กในมหา’ลัยที่มีภาวะซึมเศร้าเยอะมาก    

เพราะฉะนั้น Power Sharing หรือการขยายอำนาจร่วม คือ ต้องเห็นว่าลูกมีเสรีภาพ ลูกมีความคิดสร้างสรรค์ มีวิธีแก้ปัญหาซึ่งอาจจะต่างจากเรา เสร็จแล้วถ้าจะไม่เห็นด้วยก็ถามลูกว่า ถ้าลูกแก้แบบนี้ เลือกแบบนี้ ลูกคิดไหมว่ามันอาจจะมีผลเสียตามมา คือตั้งคำถามให้เขาคิด แม้เขาจะเลือกวิธีที่คุณไม่เห็นด้วย แต่มันไม่ได้เป็นอันตราย หน้าที่เราจะอยู่เคียงข้างลูกยังไง เพราะเมื่อลูกล้ม เราจะไม่กระทืบ ไม่ซ้ำเติม เพราะชีวิตเราทุกคนเคยผ่านเหตุการณ์ที่มันพลาดมาหมดแล้ว 

เหมือนที่ผ่านมาเราได้แต่คำสั่งเป็นส่วนใหญ่?

ใช่ คำสั่งว่าเราคิดมาเรียบร้อยแล้ว แล้วก็ให้ฟัง เพราะฉะนั้นอำนาจร่วมมันเริ่มจาก ‘ฟังกันและกัน’ เพราะว่ามันก็มีลูกอีกกลุ่มที่พ่อแม่ปล่อยให้ทำทุกอย่างเลย อันนี้ไม่ใช่ Power Sharing นะ เพราะว่ามันเป็นการปล่อยให้ทำอะไรก็ได้จนเด็กไม่มีขอบเขตความสัมพันธ์ (boundary) เพราะถูกตามใจ พี่คิดว่าตอนนี้ วิกฤติของประเทศไทยมีสองอัน หนึ่ง พ่อแม่เลี้ยงลูกแบบ Control กับสอง เลี้ยงแบบปล่อยปละละเลย และทั้ง 2 อันนี้มันไม่เวิร์ก ไม่ใช่ทางสายกลาง มันสุดโต่งทั้งสองข้างและมันคือวิกฤติของประเทศ

สำหรับคนที่คิดหรือกำลังสร้างครอบครัว ควรตกลงกันเรื่องความสัมพันธ์หรืออำนาจตั้งแต่สามี ภรรยาหรือคู่รักก่อนเลยหรือเปล่า 

มันควรต้องเป็นอย่างงั้น อำนาจปิตาธิปไตย ชายเป็นใหญ่ มันแปลว่า สังคมมันมีระบบ วิธีคิด และการปฏิบัติที่เชื่อว่า เด็กผู้ชายและผู้ชายมีสถานภาพ อำนาจเหนือผู้หญิง และมีคุณค่ามากกว่าผู้หญิง โดยระบบทั้งสังคมมันมาจากความคิดว่าผู้หญิงตัดสินใจไม่เก่งเท่าผู้ชาย เดี๋ยวก็ลาคลอด ไม่เด็ดเดี่ยว ไม่เป็นผู้นำ เพราะฉะนั้นผู้หญิงที่ก้าวหน้าหลายคน อาจจะมาจากการสนับสนุนของครอบครัว ทั้งวงศ์ตระกูล เวทีการเมือง แต่ความเป็นหญิง ไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เธอไปยืนอยู่ข้างบน 

พอกลับมาที่เรื่องครอบครัว มันจัดการงานตามเพศเรียบร้อยเลยว่าผู้หญิงก็คืองานบ้าน ผู้หญิงเท่ากับแม่ ผู้หญิงเท่ากับเมีย แล้วมันจะมีชุดความคิดว่าเมียและแม่ที่ดีทำอะไรบ้าง 

ภาพโฆษณาตามป้ายเนี่ย ผู้หญิงจะอยู่กับลูก ไม่ใช่ผู้ชาย ผู้หญิงจะอยู่กับเครื่องซักผ้า ทุกอย่างมันแบ่งเพศไว้เรียบร้อย ตอนไม่มีลูกยังไม่เท่าไหร่นะ ผู้หญิงพอแต่งงานเสร็จ คุณยังต้องเป็นลูกสาวที่ไปดูแลพ่อแม่ตอนแก่เฒ่า แถมมันยังกำหนดว่าคุณต้องเอาใจ ดูแลพ่อแม่สามีด้วย มันดับเบิลทุกเรื่อง แล้วตอนนี้ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็ยังต้องทำงาน แต่งานมันให้คุณค่าเรา เพราะเราไม่ได้เกิดเพื่อเป็นแม่อย่างเดียว มันมีความภูมิใจ ความใฝ่รู้ เยอะแยะ นอกเหนือจากบทบาทที่สังคมกำหนด

รุ่นปัจจุบันและถัดจากนี้ ต้องเจอผู้ชายที่เป็นเฟมินิสต์ เฟมินิสต์ไม่ได้แปลว่าผู้หญิง ‘เฟมินิสต์’ แปลว่า ผู้ชายหรือผู้หญิงวัยไหนก็ได้ที่ไม่เห็นด้วยกับกรอบเพศที่กำหนดคนไว้ 2 กรอบ หรือเห็นว่าทุกอย่างมันไปโยงเรื่องเพศ และมันนำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกัน

เพราะถ้าเราเลี้ยงลูกร่วมกันเท่ากับเรา Power Sharing ถ้าต่างคนต่างทำงานบ้าน ทั้งหมดคือการ sharing แชร์ความรับผิดชอบ เพราะบ้านนี้เราซื้อกันทั้งสองคน ลูกก็เกิดมาจากทั้งสองคน ทีนี้มันจะเกิดขึ้นได้เมื่อรัฐเห็นความเท่าเทียมทางเพศ ต้องให้ผู้ชายลามาเลี้ยงลูก 1 ปี ใครจะเลี้ยงช่วงไหนก็ได้ ผู้ชายจะได้มาเรียนรู้ที่จะต้องมีความอดทน อ่อนโยนกับเด็ก เพราะว่าเด็กเนี่ย เราสอน เราเรียนรู้ แล้วเขาก็จะมีความสุขจากการเป็นพ่อ เขาก็จะรู้เลยว่า งานอะไรก็ตามที่มันทำให้บ้านนี้มีความสุข เขาก็จะทำ โดยไม่ดูว่างานนี้มันเพศไหน 

ถึงแม้เราจะตกลงกันเรียบร้อยแค่ไหนก็ตาม แต่กฎหมายไม่เอื้อ โครงสร้างต่างๆ ไม่เอื้อ ที่จะทำให้เราแชร์กันได้อย่างสบายใจ 

ใช่ ระบบเศรษฐกิจก็ไม่เอื้อ มันต้องขยับทุกระบบ ถ้าเราจะเปลี่ยนวัฒนธรรมอำนาจนิยม มาเป็นอำนาจร่วม เราต้องเปลี่ยนทุกที่ แต่ที่สำคัญเปลี่ยนที่บ้านก่อน แล้วเปลี่ยนที่โรงเรียน แล้วระบบจะค่อยๆ ขยับไป เพราะระบบและวัฒนธรรมแบบนี้มันถูกสร้าง มันไม่ใช่ธรรมชาติ 

บ้านที่อยากสร้างบรรยากาศของอำนาจร่วม เราจะมีเกณฑ์หลวมๆ ไหมคะว่าควรจะแชร์กันอย่างไร

แชร์เรื่องการรับผิดชอบ เรื่องการเลี้ยงลูก ถ้าลูกโตแล้ว เขาต้องรับผิดชอบเรื่องงานบ้าน เวลาเราพูดว่า empower เด็ก เวลาเราสอนเด็กเรื่องใช้อำนาจร่วม เรากำลังสอนให้คนรับผิดชอบหน้าที่ตัวเอง 

แต่ก่อนเราคิดว่าเด็กมีหน้าที่อย่างเดียวคือเรียน เพราะฉะนั้นพ่อแม่จะหนักมาก อย่างอื่นลูกไม่รับผิดชอบเลย แต่การฝึกลูกให้ซักผ้าเอง ทำกับข้าว เรากำลังฝึกวัฒนธรรมการใส่ใจ เกื้อกูลกัน เรียกว่าวัฒนธรรม Caring เวลาเราอยู่บ้านเดียวกัน เราก็ต้องรับผิดชอบงานหลายอย่าง ทำอะไรก็ได้ ในบ้าน ในงานที่เราสามารถทำได้ 

เพราะฉะนั้น Power Sharing มันต้องทำทั้ง 2 ด้าน เราให้อำนาจ เรา empower ลูก แต่เราก็รู้เลยว่าเรามีความคาดหวัง ไม่ใช่ให้ลูกคิดตามเรานะ แต่คาดหวังว่าเรากำลังฝึกให้เขามีความรับผิดชอบ ฝึกให้เขามีวินัย ให้เขาเห็นคุณค่าของสิ่งที่พ่อแม่หรือคนอื่นให้โอกาสเขา เขาต้องรู้ ให้เขารู้คุณ ซึ่งไม่ใช่บุญคุณนะ 

การรู้คุณ มาจากวัฒนธรรมใหม่ เราไม่ได้รู้คุณเฉพาะพ่อแม่ เรารู้คุณคนงานที่เขาทำงานหนักมากเพื่อผลิตเสื้อผ้าให้เรา เรารู้คุณชาวไร่ชาวนาที่ผลิตอาหารให้เรากิน เรารู้คุณคนที่เขากวาดถนน เรารู้คุณคนทุกคนและสรรพสัตว์ที่ไม่ใช่มนุษย์ เพราะชีวิตคุณมันมาจากอะไรหลายอย่างมากที่มอบให้คุณ

คำว่ารู้คุณ มาจากคำว่า Grateful ซึ่งลึกมาก แต่คำว่ากตัญญู มันมาจากวัฒนธรรมไทย พี่จะไม่อยากทำให้คนรู้สึกต้องกตัญญู ตอบแทนบุญคุณ  คำว่าบุญคุณมันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอำนาจนิยม เราจะต้องสร้างบุญคุณ ลูกจะต้องรู้จักบุญคุณเรา เราต้องรู้จักบุญคุณของผู้ปกครองหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่มาพัฒนา ไม่ใช่ ทุกคนมีหน้าที่ต้องทำ แล้วเรารู้คุณของกันและกัน 

ในฐานะคนให้ มันเหมือนการทำโดยไม่หวังผลไหม

พี่ว่าถ้าเราเป็นคนให้ โดยไม่กดให้เขาต่ำลง คนมันจะรู้คุณเอง ไม่ว่าลูกหรือใคร แต่เขาไม่จำเป็นต้องบอกเรา เมื่อเราทำสิ่งใดโดยไม่กดข่มคนอื่น เขาจะรู้สึกชื่นชม ขอบคุณ แต่เขาไม่ขอบคุณเราก็ไม่เป็นไร ที่เราทรีตเขา ปฏิบัติกับเขา ไม่ต่ำกว่าเรา คนมันสัมผัสได้ ถ้าเราได้ความเมตตากรุณาจากคนที่เป็นพ่อแม่ ผู้ใหญ่ หรือใครก็ตาม และได้รับความเมตตานั้นไม่ใช่จากการกดข่มหรือคาดหวังจะต้องไปตอบแทน คนจะรู้คุณ เพราะมันมาจากความซึ้งจากข้างในที่เขาเห็นจริงๆ ได้รับจริงๆ 

การที่เด็กคนหนึ่งเติบโตในบรรยากาศแบบอำนาจร่วม มันจะนำไปสู่สังคมแบบไหน

พี่สอนมา 30 ปีแล้ว พี่ถามว่า ใครบ้างที่เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อกับแม่ sharing จาก 27 คน มี 4 คน หนักนะ แต่ถามว่าแล้วใครบ้างที่มีแฟนแล้วใช้ power sharing เขาก็ยกกันหมด พี่บอก ลองเล่าให้ฟังซิ เวลาคุณใช้อำนาจร่วมกัน คุณทำยังไง เขาจะเล่าด้วยความเบิกบาน ด้วยความยินดีแล้วร่างกายเขามันผ่อนคลาย แต่พอให้แบ่งปันว่า ที่บ้านใช้อำนาจยังไง เขาก็เริ่มเล่าว่าพ่อเขาใช้อำนาจยังไง คุณเห็นร่างกายเขาเปลี่ยนไปเลย

ถ้าลูกเป็นคนที่มั่นคง ไม่กดข่มคนอื่น เขามีความไว้ใจ ความคิดสร้างสรรค์ เขาจะไม่ปิดบังพ่อแม่แม้กระทั่งทำความผิด เราจะเป็นสังคมที่มีความสุข เบิกบาน และปลอดภัย เพราะคนรู้สึกว่าได้ใช้อำนาจร่วมกันจริงๆ ไม่ว่าอำนาจระหว่างประชาชนกับรัฐ กับผู้นำองค์กร ครูกับนักเรียนที่ใช้อำนาจร่วมกัน มันคือการ empower กันและกัน  

พี่รู้สึกว่า สังคมแห่งการแบ่งปัน สังคมที่แชร์อำนาจร่วมเป็นทางออกของมนุษยชาติ เพราะตอนนี้เราถึงวิกฤติทุกเรื่อง แม้กระทั่งอากาศที่เราจะหายใจ เพราะมันมาจากวัฒนธรรมแบบนั้น วัฒนธรรม Power Over มันสอนให้คนรู้สึกว่าฉันเป็นเจ้าของทรัพยากร ซึ่งจริงๆ เราไม่ใช่เจ้าของ มันรู้สึกว่าฉันเหนือกว่าคนอื่น ฉันเหนือกว่าเพศนี้ ฉันเหนือกว่าคนยากจน มันคือการควบคุมและครอบครอง 

แต่ว่าวัฒนธรรม Power Sharing เราเกิดมาแล้วเราแชร์กัน หลายประเทศเริ่มขยับตัวแล้ว อย่างนิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ แล้วมันเริ่มจากครอบครัวและระบบการศึกษา แล้วคนรุ่นใหม่เขารู้สึกอยู่แล้ว เขาพร้อมที่จะรับ แล้วเราจะเห็นว่าเมื่อเขาใช้วัฒนธรรมแบบนั้นห้องเรียนมันดีขึ้น โรงเรียนมันดีขึ้น ครอบครัวมันดีขึ้น แล้วพอขยับระบบเศรษฐกิจอื่นๆ ด้วย มันดีขึ้นกับทุกคน 

มันมีรูปธรรมอะไรบ้างที่พี่อวยพรรู้สึกว่ามันใกล้เข้ามาแล้ว ที่ถามเพราะบางคนรู้สึกว่ามันช่างดูอุดมคติเหลือเกิน 

เวลาพี่ทำงานอบรมกับคนต่ำกว่า 40 ลงมา มันมีความหวัง เพราะเขาไม่เอาแบบนั้น แม้กระทั่งเรื่องเพศนะ เขาเป็นคนรักต่างเพศ เขายอมรับเพศอื่นๆ โดยง่ายดาย ไม่ตั้งคำถามเลย

พี่รู้เลยว่ามีความหวัง ไม่ต้องทำอะไร ไม่ว่าจะพูดเรื่องอำนาจ พูดเรื่องเพศหรือพูดเรื่องประชาธิปไตย เขาไปแล้ว เพียงแต่มาจัดระบบการคิด การวิเคราะห์ แต่ปัญหาคือ คน 50 ขึ้นไปนี่แหละ ที่ยังกุมอำนาจในสถาบันครอบครัว ในสถาบันหลักของประเทศ สำหรับพี่นะ 10 ปีมันก็เอาไม่อยู่หรอก เพราะเขาเอาไม่อยู่อยู่แล้ว หมายความว่า ในที่สุด พ่อแม่ก็ต้องยอม รักลูกอย่างที่ลูกเป็น

พี่คิดว่าถ้าคนรุ่นใหม่ในกระบวนการประชาธิปไตย ไม่เอาความเกลียดชัง พี่ทำงานกับพ่อนานมากเลยนะ เพราะพ่อใช้ความรุนแรง แล้วเราก็เห็นความบาดเจ็บ เห็นครอบครัวที่แตกสลาย พี่ก็เปลี่ยนแปลงจากการที่ไปเข้าภาวนา มันต้องทำงานเยอะมากกับ trauma ตัวเอง กับคนรอบข้างแล้วต้องทำความเข้าใจว่า พ่อถูกกลืนกินด้วยวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ ถึงใช้ความรุนแรง ขณะเดียวกัน เพื่อนบ้านไม่มายุ่ง พระก็ไม่มายุ่ง ผู้นำชุมชนก็ไม่ยุ่ง ไม่มีใครมา

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงเกิดขึ้นคือ คนที่เหลือเห็นว่าเป็นเรื่องคนอื่น เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ยุ่ง แม้กระทั่งโรงเรียน มีเด็กผู้หญิงถูกข่มขืน ครูที่เป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ครูโดยตรงเขาก็ไม่ยุ่ง อันนี้มันคือความน่ากลัว เมื่อเราเห็นความรุนแรงต่อหน้าเรา ในครอบครัวเรา ในองค์กรที่เราทำงานแล้วเราไม่ทำอะไรเลย เรากำลังอนุญาตให้มันเกิดขึ้น นี่แหละอันตรายที่สุด เมื่อเราเห็น เราอยู่ที่นั่น เราต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง เพื่อจะหยุดไม่ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม ที่ทำงานหรือข้างถนน 

พี่ไม่เห็นด้วยกับชุดความคิดทางการเมืองหลายอัน แต่พี่ต้องพยายามรู้ว่าที่มาที่ไปเขาเป็นยังไง แล้วที่ไหนมันเปิดให้เราวิพากษ์วิจารณ์ฟังกัน เราควรจะทำ และมันควรจะเริ่มทำที่บ้าน ถ้าคุณไม่ฝึกทำที่บ้านแล้วคุณจะฝึกทำที่ไหน 

พี่กำลังเขียนหนังสือ สอนให้พ่อแม่เห็นว่า ถ้าเราเป็นคนไทย เป็นชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง เราเห็นชาติพันธุ์อื่นๆ แม้กระทั่งเราเห็นแรงงานต่างชาติที่มาทำงานในบ้านเรา เราจะสอนลูกยังไงว่า คนเหล่านี้เขาเป็นต่างชาติ เขามาทำงาน เขามาช่วยเศรษฐกิจบ้านเรา ไม่ไปดูถูกเหยียดหยามเขา ถ้าลูกตัวเองมีเพศที่ตรงกับกำเนิด ชายหญิง แล้วลูกเล่าให้ฟังหรือลูกเห็นเพื่อนเพศสภาพต่างออกไป ควรคุยยังไง 

พี่เขียนขึ้นมา 2 เล่ม เล่มหนึ่งสำหรับโรงเรียน เล่มหนึ่งสำหรับที่บ้าน ว่าเราต้องสอนเรื่องความเท่าเทียม เรื่องอำนาจร่วม และต้องฝึกให้มันอยู่ในชีวิตประจำวันว่า เราไม่เหยียดใครเพราะเขาต่างจากเรา ไม่ว่าชนชั้น เพศ ชาติ ภาษา อันนี้สำคัญนะ เพราะเราเห็นเลยว่า มันมีชุดคำสอนที่พ่อแม่รับมาจากระบบรัฐ ระบบสื่อ เขาก็เหยียดคนโดยที่ยังไม่รู้เลยว่าคนนั้นเป็นคนยังไง อย่าไปยุ่งกับเขา เขาไม่เหมือนเรา

พี่ใช้เวลานานมากที่จะคิดเรื่องนี้ เพราะที่ที่อยู่นานที่สุดก็คือบ้านและโรงเรียน ที่ตรงนี้มันเป็นเบ้าหลอมหลายเรื่องมากให้เราทำร้ายกันเอง ทำร้ายสังคม ทำร้ายความเป็นมนุษย์

ถ้าเราเปลี่ยนสองที่ได้ มันจะขยับที่อื่น พี่คิดว่านี่เป็นทางออก พี่ไม่คิดจะไปเปลี่ยนระบบทหาร ระบบกระบวนการยุติธรรม เพราะมันไกลเกินเอื้อม แต่ที่บ้าน มันอยู่ในสิทธิของพลเมืองที่เราจะเลี้ยงลูกแบบไหน เราจะใช้วัฒนธรรมแบบไหนระหว่างพ่อและแม่ หรือระหว่างเพศ ที่โรงเรียน เด็กเขาพร้อม เขาไม่เอาอยู่แล้ว เด็กมหา’ลัย ก็ไม่เอาวัฒนธรรมอำนาจนิยม 


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Avatar photo

ชญาดา จิรกิตติถาวร

นิสิตวารสารฯ ที่ชอบออกกอง ตีสเลท และอยากอยู่ในประเทศที่ดีกว่านี้ ชอบฟัง K-Rap K-Indy ชอบอ่านเว็บตูน ดูซีรีส์ และยังโสด

Photographer

Avatar photo

ชัชฐพล จันทยุง

หลงรักการบันทึกรอยยิ้มและความรู้สึกเป็นภาพถ่าย

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Related Posts