อ่าน ๆ ฟัง ๆ อย่างชั่งใจ เพราะ “ไม่มีใครรู้จักลูกดีเท่าพ่อแม่อีกแล้ว” ชวนพ่อแม่คิดก่อนเชื่อเพจเลี้ยงลูก

  • เพจเลี้ยงลูกกลายเป็นพื้นที่ของพ่อแม่ที่มาแบ่งปันเรื่องราวและเคล็ดลับการเลี้ยงลูกของตัวเอง หลายเพจเปรียบเสมือนพื้นที่ปลอดภัยของพ่อแม่ที่มาเล่าปัญหาและช่วยกันหาทางแก้ไข ขณะที่พ่อแม่หลายคนก็ผันตัวจาก “ผู้ติดตาม” มาเป็น “เจ้าของเพจ” ก่อนจะกลายเป็น “งาน” ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกทางหนึ่ง 
  • แม้การทำเพจเพื่อแบ่งปันเคล็ดลับและวิถีชีวิตของครอบครัวจะกลายเป็น “เรื่องธรรมดา” ในวันที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนมากขึ้น แต่โซเชียลมีเดียส่งผลกระทบทางลบกับเด็กมากกว่าที่คนทั่วไปคิด ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ หากพ่อแม่ไม่ระมัดระวังในการใช้ 
  • สำหรับพ่อแม่ที่ทำเพจเลี้ยงลูก การหาจุดกึ่งกลางให้กับการทำเพจกับการให้พื้นที่และสิทธิได้เป็นเด็กที่ลูกพึงได้ ก็เป็นแนวทางที่ประนีประนอมและอาจจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย ในวันที่โซเชียลมีเดียกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต เช่นเดียวกับการรู้จักใช้พื้นที่และสิทธิพิเศษที่ได้รับจากโซเชียลมีเดียอย่างพอดี 
  • สำหรับพ่อแม่ที่อยู่ในฐานะ “ผู้ติดตามเพจเลี้ยงลูก” ก็จำเป็นต้องระมัดระวังตัวเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่อง “การเปรียบเทียบ” ที่อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจของพ่อแม่หลายคน สิ่งสำคัญมากกว่าการนำข้อแนะนำจากเพจมาใช้และคาดหวังผลลัพธ์ คือพ่อแม่ต้องเลี้ยงลูกโดยอิงไปตามพัฒนาการและความสามารถของลูกตัวเอง 

เลี้ยงลูกอย่าง…

เลี้ยงลูกตามใจ…

เลี้ยงลูกให้เป็น…

สำหรับพ่อแม่ยุคโซเชียล การเข้าเพจเลี้ยงลูกบนโลกออนไลน์เพื่อหาข้อมูลและแลกเปลี่ยนพูดคุยกับพ่อแม่บ้านอื่น คงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดหรือเป็นสิ่งที่ไม่คุ้นเคย ถึงขึ้นที่ว่าพ่อแม่หลายคนก็อาจจะเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้ติดตาม” ไปสู่ “เจ้าของเพจ” ที่คอยแบ่งปันเคล็ดลับการดูแลเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับลูกของตัวเองให้คนอื่นได้ติดตาม เช่นเดียวกับเป็นการสร้าง “ชุมชนพ่อแม่” ที่เข้าอกเข้าใจและคอยซัพพอร์ตให้กำลังใจคนเป็นพ่อแม่ด้วยกัน ในยุคที่อะไร ๆ ก็อาจจะดูยากไปเสียหมด 

พฤติกรรมแบบนี้สะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของคนที่โลกอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทกับการเลี้ยงลูกมากยิ่งขึ้น ทว่า การเลี้ยงลูกไม่ได้มี “สูตรสำเร็จ” ที่ใครทำตามก็จะได้ผลลัพธ์เหมือนกัน และเพจเลี้ยงลูกก็อาจจะเป็น “ดาบ 2 คม” สำหรับพ่อแม่ที่เป็นเจ้าของเพจหรือเป็นผู้ติดตาม หากไม่ตระหนักถึงปัญหาจากโซเชียลมีเดียที่อาจจะส่งผลกระทบต่อลูกโดยตรง Mappa คุยกับ “พญ.วนิดา เปาอินทร์” กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองเด็กและ “แม่น้ำหวาน – ภญ.ญาธิป พิริยะพงศ์ศักดิ์” เจ้าของเพจ Happy Mommy Diary ถึงประเด็นเรื่องเพจเลี้ยงลูกบนโลกออนไลน์ และการเลี้ยงลูกในยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทกับการเลี้ยงลูกของพ่อแม่

เพจเลี้ยงลูก: พื้นที่ออนไลน์ของพ่อแม่

“เราเริ่มต้นทำตรงนี้ ตั้งแต่วันที่เรายังไม่รู้ว่ามันคือสิ่งที่ทำรายได้ได้ เพจ Happy Mommy Diary เกิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว ซึ่งในวันนั้นเราทำเพราะแพสชั่นล้วน ๆ มันเป็นสิ่งที่เราอยากทำ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าวันหนึ่งมันจะออกมาเป็นแบบในวันนี้ แล้วเรารู้สึกว่า ถ้าเราทำเพื่อให้มันมีวันนี้ เราก็คงจะมาไม่ถึงวันนี้” แม่น้ำหวานเริ่มต้นเล่า 

เพจ Happy Mommy Dairy ของแม่น้ำหวานมีผู้ติดตามกว่า 6 แสนคน มีจุดเริ่มต้นจากความรู้สึกอยากทำของแม่น้ำหวาน ก่อนจะกลายมาเป็นพื้นที่ของเหล่าคุณแม่ที่มาแบ่งปันเรื่องราวของลูกของตัวเอง เปรียบเสมือน “พื้นที่ปลอดภัย” ที่แม่จะมาเล่าปัญหาและช่วยกันหาทางแก้ไข เพื่อให้แม่สามารถทำหน้าที่แม่ได้อย่างมีความสุข 

“คนที่ติดตามเราส่วนใหญ่ก็ตามกันมาตั้งแต่เราเริ่มเป็นแม่ด้วยกัน มันจึงมีความเป็น unity ของคนเป็นแม่ด้วยกัน แล้วทุกคนก็เข้าใจว่าความเป็นแม่ ไม่ต้องมาบอกหรอกว่าเธอทำอันนั้นถูก ฉันทำอันนี้ถูก ไม่ใช่เลย หรือเวลาที่เราแชร์เรื่องราวต่าง ๆ เราก็ไม่ได้แชร์ในมุมที่ว่า “นี่ค่ะ ดิฉันทำแบบนี้นะคะ ทำตามดิฉันสิ ดิฉันเป็นคุณแม่ที่เก่งที่สุดในโลก” เราไม่ทำแบบนั้นอยู่แล้ว เพราะเรารู้ว่าเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย”

“แต่เราเคารพในสิทธิของทุกคนนะ ใครอยากทำอะไร ถ้าไม่เดือดร้อนคนอื่น ก็ทำไปเถอะ แต่ถามว่าเราจะทำไหม เราก็คงไม่ทำ อย่างทุกวันนี้มีคนมาถามเรื่องโรงเรียนลูกเยอะมาก เพราะการศึกษาของลูกเป็นสิ่งที่พ่อแม่ให้ความสำคัญ เราจะบอกตลอดว่าสิ่งที่เราเลือก ไม่ได้แปลว่ามันคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน แต่มันเหมาะกับชีวิตเราที่สุดและเข้ากับลูกของเรามากที่สุด ถามว่าสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดของเรา มันจะดีที่สุดสำหรับทุกคนไหม ก็ไม่ใช่ เพราะเป้าหมายของแต่ละคนไม่เหมือนกันอยู่แล้ว”

“เราคิดว่าพ่อแม่ทุกคนล้วนทำทุกอย่างโดยมีลูกเป็นหลัก คิดถึงและหวังดีต่อลูกเป็นหลักอยู่แล้ว การทำเพจของเราจึงจะผ่านการคิดทบทวนมาแล้วเป็นอย่างดี คือเราไม่ได้ลงแค่ว่าวันนี้มีอะไรบ้าง แต่เราจะคิดไปถึงอนาคตเลยว่า ถ้าวันหนึ่งลูกกลับมาอ่าน ลูกจะรู้สึกอย่างไร และเราจะไม่ค่อยทำวิดีโอ เราใช้ภาพนิ่งแล้วให้แม่เล่าเรื่องต่อ เพราะวิดีโอคือการต้องให้ลูกดำเนินเรื่องตลอดเวลา ซึ่งเราไม่เลือกวิธีนั้น แล้วมันยังต้องแลกกับการที่เราเอาเวลาไปทำอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็จะลดลง ถ้าเราไปโฟกัสกับการทำวิดีโอ เวลาที่เราจะได้เลี้ยงลูกและปฏิสัมพันธ์กับลูกก็จะลดลงอย่างเลี่ยงไม่ได้ เราก็เลยเลือกที่จะไม่ทำ”  แม่น้ำหวานบอก

“เด็ก” ในโลกโซเชียลมีเดีย

แม้การทำเพจเพื่อแบ่งปันเคล็ดลับและวิถีชีวิตของครอบครัวจะกลายเป็น “เรื่องธรรมดา” ในวันที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนมากขึ้น แต่คุณหมอวนิดาก็สะท้อนว่าโซเชียลมีเดียส่งผลกระทบทางลบกับ “เด็ก” มากกว่าที่คนทั่วไปคิด ทั้งในด้านการตอบสนองทางร่างกายในวัยเด็กเล็ก หรือปัญหาทางใจที่อาจมีสาเหตุจากถ้อยคำของคนบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งพ่อแม่จำเป็นต้องปูพื้นฐานที่มั่นคงให้กับลูก เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าวที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ในสังคมที่คนส่วนใหญ่มีปัญหาเรื่องการใช้เหตุและผล 

“เด็กกำลังอยู่ในช่วงวัยของการพัฒนา แต่เมื่อเขาต้องกลายเป็นคนของโซเชียลมีเดีย เขาก็จะถูกจับตามองมากขึ้น ซึ่งการถูกจับตามองจากสังคมมันเครียดนะ ดังนั้น การทำให้ลูกกลายเป็นคนบนโซเชียล มันจึงเหมือนการทำให้ลูกเข้าไปอยู่ในโลกที่ไม่สงบสุขนัก ถามว่ามีใครพร้อมที่จะอยู่บนเวทีบ้าง อาจจะมีผู้ใหญ่บางคนเท่านั้นที่พร้อม แต่เขาก็ไม่ได้อยู่บนเวทีตลอดเวลา เขาแต่งหน้าทำผมขึ้นเวที หลังจากนั้นจะใส่หรือจะทำอะไรก็ได้ แต่การที่เด็กเข้าไปอยู่ในโลกโซเชียล มันเหมือนเป็นการทำให้เด็กอยู่บนเวทีตลอดเวลา ซึ่งมันไม่เหมาะกับวิถีชีวิตของมนุษย์คนไหน และไม่เหมาะกับวิถีชีวิตของมนุษย์เด็กด้วย” คุณหมอวนิดาชี้ 

“พ่อแม่กำลังโยนลูกเข้าไปในโซเชียลมีเดีย ที่มีคนทุกชนิด แล้วเขาจะตัดสินลูกของคุณ แล้วลูก ๆ เขาจะรับมือกับมันอย่างไร เด็กรับมือไม่ไหวหรอก ผู้ใหญ่ยังรับมือยากเลย หมอก็เลยไม่เห็นด้วยกับการโยนเด็กเข้าโซเชียลมีเดีย แต่ถ้าคุณอยากแนะนำหรือทำเพจเลี้ยงลูกจริง ๆ สิ่งสำคัญเลยคือคุณต้องปูพื้นฐานของลูกให้มั่นคงเสมอ แล้วก็สร้างพื้นที่ให้ลูกสามารถพูดคุยกับพ่อแม่ได้ทุกเรื่อง ถ้าคุณเตรียมลูกดี ๆ ผลกระทบก็จะไม่มาก ลูกก็จะเข้มแข็งได้” คุณหมอวนิดาอธิบาย

จุดกึ่งกลางของคนทำเพจ

ขณะที่ประเด็นเรื่องเพจเลี้ยงลูกและการให้เด็กเข้ามาอยู่บนโซเชียลมีเดียยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของหลายฝ่าย ในทางหนึ่งพื้นที่ตรงนี้ก็กลายเป็นแหล่งรวม “เพื่อนของครอบครัว” ที่พ่อแม่จะสามารถเข้ามาพูดคุยกันได้อย่างสบายใจ เช่นเดียวกับกลายเป็น “งาน” ของหลายครอบครัว ดังนั้น การหาจุดกึ่งกลางให้กับการทำเพจกับการให้พื้นที่และสิทธิได้เป็นเด็กที่ลูกพึงได้ ก็เป็นแนวทางที่ประนีประนอมและอาจจะเป็นผลดีกับทุกฝ่าย ในวันที่โซเชียลมีเดียกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือการรู้จักใช้พื้นที่และสิทธิพิเศษที่ได้รับจากโซเชียลมีเดียอย่างพอดี ซึ่งแม่น้ำหวานสะท้อนว่าพ่อแม่ที่ทำเพจต้องรู้จักลูกของตัวเอง และหาวิธีที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุดในการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตของลูกกับการทำเพจ ซึ่งเป็นวิธีการเลี้ยงลูกที่จะคู่ขนานกันไประหว่างโลกออนไลน์และโลกแห่งความเป็นจริง 

“เราก็ต้องยอมรับว่าอยู่ตรงนี้มันมีสิทธิพิเศษหลายอย่าง แต่ก็มีสิ่งที่เราต้องระวังเช่นเดียวกัน คือมีคนรักเด็ก ๆ เขาก็ส่งของมาให้ มีคนสนับสนุนหรือสปอนเซอร์ ซึ่งเราจะไม่ให้ของเหล่านั้นกับลูกทั้งหมดเลย บางอย่างเขาให้มา เราก็บอกว่าได้ค่ะ ส่งมาเลย แต่เรายังไม่ให้เขาเดี๋ยวนั้นเลยนะ เพราะมันเยอะเกินไป อย่างเด็กในวัยนี้เขาอาจจะมี 80 ไอเท็มที่อยากได้ แต่ลูกของเราได้เยอะกว่านั้นมาก ถ้าเราปล่อยให้เขาได้ทุกอย่างที่มีคนส่งมาให้ มันก็จะมากเกินไป ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้คือเราเก็บเอาไว้ก่อน เก็บไว้จนกว่าจะถึงวันที่ลูกถึงวัยที่เหมาะสม เพราะสิ่งสำคัญไม่ใช่สิ่งของ แต่คือการเลี้ยงลูกของเรา ที่จะต้องอยู่กับเราตลอดไป ของที่คนอื่นให้มา ได้มาแล้วก็ไป แต่ลูกของเราคือสิ่งที่เราต้องปั้นจนกว่าเขาจะเติบโต” แม่น้ำหวานกล่าว 

ไม่ต้องเลี้ยงอย่างใคร เลี้ยงให้ลูกเป็นหลักก็พอ

นอกจากคนทำเพจแล้ว พ่อแม่ที่อยู่ในฐานะ “ผู้ติดตามเพจเลี้ยงลูก” ก็จำเป็นต้องระมัดระวังตัวเช่นเดียวกัน แน่นอนว่าการที่พ่อแม่ติดตามและนำข้อแนะนำจากสารพัดเพจมาใช้กับการเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องผิด และกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในยุคนี้ไปแล้ว แต่หลายครั้งที่โลกออนไลน์ก็ย้อนกลับมาทำร้ายคนเป็นพ่อแม่ได้เหมือนกัน เมื่อ “ตัวอย่าง” ที่ปรากฏบนหน้าจอ ทำให้เกิด “การเปรียบเทียบ” ในชีวิตจริง จนสุดท้ายส่งผลต่อสภาพจิตใจของพ่อแม่หลายคน และนำไปสู่การทำร้ายจิตใจลูก ซึ่งแม่น้ำหวานเชื่อว่าการเปรียบเทียบเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ต้องรู้จักที่จะไม่เปรียบเทียบจนตัวเองรู้สึกทุกข์ 

“เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะไม่เปรียบเทียบหรือไม่สนใจอะไรเลย เราเป็นมนุษย์ เพราะถ้าเราไม่เคยมีลูกมาก่อน เราไม่รู้หรอกว่าเด็กวัยนี้ ๆ ทำอะไรได้ขนาดไหน อย่างน้อยก็ต้องเสิร์ชอินเทอร์เน็ตว่าเด็กวัยนี้มีพัฒนาการแบบนี้ แล้วก็มีเพจมากมาย คนก็อยากรู้แหละว่าพัฒนาการของลูกจะเป็นไปตามวัยไหน แต่เราว่าสิ่งสำคัญคืออย่าไปเปรียบเทียบจนทุกข์ เรามองซ้ายขวาก็พอ ให้รู้ว่าโลกนี้ดำเนินไปอย่างไรก็พอ แต่ถ้าเราเปรียบเทียบจนด้อยค่าตัวเอง ทำไมชีวิตของฉันไม่เป็นแบบคนนั้น อันนี้คือการสร้างความทุกข์ให้กับตัวเอง ซึ่งเราว่ามันไม่ได้” แม่น้ำหวานชี้ 

ด้านคุณหมอวนิดาก็ให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญมากกว่าการติดตามเพจเลี้ยงลูกและนำมาใช้เป็นแบบอย่าง คือการที่พ่อแม่ต้องกลับมาอยู่เคียงข้างลูกของตัวเองให้ได้อย่างแท้จริงเสียก่อน 

“คุณอยากให้ลูกเป็นคนเก่ง อยากให้ลูกเป็นคนดี อยากให้ลูกเป็นคนมีความสุข สิ่งแรกที่ต้องทำคือคุณต้องพอใจในตัวลูกก่อน แล้วถ้าลูกอยากทำอะไรหรืออยากให้เขาเพิ่มพูนทักษะอะไร ต้องเอ่ยชมลูก และก็ต้องมีความเชื่อมั่นในตัวลูก ตอนลูกล้ม คุณก็ล้มอยู่กับเขา ตอนประสบความสำเร็จ คุณก็ต้องดีใจไปกับเขา ทุกครั้งที่ทำอะไร คุณต้องมองว่าความล้มเหลวมันมาคู่กับความสำเร็จเสมอ อย่ามองหาแค่ความสำเร็จอย่างเดียว ไม่งั้นคุณเองนั่นแหละที่จะทำให้ลูกไม่มีความสุข เมื่อลูกไม่มีความสุข ความเก่งก็จะลดลง เพราะว่ามีความรู้สึกไม่เชื่อมั่นในตัวเองตามมา พอไม่มีความสุข ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง คนเราจะเป็นคนดียาก เพราะการเป็นคนดีเกิดจากการที่ภายในของตัวเองมั่นคง” คุณหมอวนิดาอธิบาย

“วิธีการเลี้ยงลูกที่ดีที่สุดคือ อิงไปตามลูก เดินทางไปกับลูก ไม่ต้องเร่ง ใส่ความสนุกเข้าไปในบรรยากาศ หากิจกรรมทำกับลูก แต่อย่าหวังว่าลูกจะทำสำเร็จ ให้ลูกได้ฝึกไปเรื่อย ๆ แล้วคุณจะเห็นลูกเสมอว่าเขาทำได้แค่นี้ ต่อมาเขาจะทำได้แค่นี้ อย่าก้าวไปหลาย ๆ ก้าวในเวลาเดียวกัน อย่าเลี้ยงลูกด้วยความคาดหวังและผิดหวัง แต่เลี้ยงลูกด้วยความคาดหวังและพอใจ” คุณหมอวนิดากล่าวสรุป


Writer

Avatar photo

ณัฐฐฐิติ คำมูล

วัยรุ่นปวดหลังที่ใฝ่ฝันถึงสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง

Illustrator

Avatar photo

ธีรภัทร์ เศาธยะนันท์

ชอบกินลาเต้เย็น

Related Posts