Peaceful Death ระลึกถึงความตาย ออกแบบชีวิตบั้นปลายและชุมชนกรุณาที่สร้างได้ด้วยมือเรา

  • การวางแผนชีวิตบั้นปลายสามารถทำได้ตั้งแต่วันนี้ เพื่อเป็นการตระเตรียมตัวเองและคนรอบข้างให้พร้อมรับกับการตัดสินใจในช่วงเวลาอันยากจะรับมือ แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
  • การดูแลผู้ป่วยในระยะสุดท้ายไม่ใช่หน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว ครอบครัว ญาติ หรือเพื่อนล้วนอยู่ใน วงล้อการดูแล (circle care) ซึ่งมีความสำคัญต่อกระบวนการรักษาแบบประคับประคองไม่ยิ่งหย่อนกว่าผู้เชี่ยวชาญ
  • สุ้ย – วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death คือผู้ดูแลโครงการชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี ที่ทุ่มเทเวลากับการออกแบบชีวิตในบั้นปลาย ด้วยการสร้างเครือข่ายชุมชน และคิดค้นเครื่องมืออย่าง “สมุดเบาใจ” หรือ “bed cleaning” ที่จะทำให้เราสามารถจากโลกนี้ไปได้อย่างหมดห่วง

เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่คงจะดีถ้าเราเลือกได้ว่าวาระสุดท้ายของเราจะเป็นอย่างไร

ความตายเป็นประเด็นละเอียดอ่อน จะหยิบยกขึ้นมาพูดกับคนธรรมดาว่ายากแล้ว เมื่อจะพูดกับผู้ป่วยที่มีสภาวะร่างกายและจิตใจไม่เสถียรยิ่งยาก เพราะต้องระวังไม่ให้กระทบความรู้สึก หรือก่อความเข้าใจผิดว่ากำลังส่งสัญญาณอ้อม ๆ ถึงผู้ป่วยว่าเวลาของเขาใกล้หมดลงแล้ว

ความตายจึงเป็นประเด็นที่ควรพูดถึงตั้งแต่เรายังสุขภาพดี มีความพร้อมที่จะไตร่ตรองและระบุความต้องการของตัวเองอย่างชัดเจน เป็นการเตรียมตัวทั้งสำหรับตัวเองและคนใกล้ชิด เพื่อที่จะได้มีช่วงสุดท้ายของชีวิตในแบบที่ปรารถนาและไม่สร้างภาระทางใจให้แก่คนที่ยังอยู่

“เราเป็นพยาบาลยังยากขนาดนี้ แล้วคนทั่วไปล่ะ เขาจะรู้สึกอย่างไร เขาจะรู้สึกขัดแย้งในตัวเองแค่ไหน เขาจะแย่ขนาดไหน มันจะเป็นตราบาปเขาอย่างไร นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่าอยากให้คนที่ต้องเจอสถานการณ์แบบนี้เขารู้ว่ามันมีทางเลือกอื่น และมันโอเคที่เราจะเลือกแบบอื่น” คุณสุ้ยเล่า

ร่วมเสวนากับ สุ้ย – วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death ผู้ดูแลโครงการชุมชนกรุณาเพื่อการอยู่และตายดี เรื่องการออกแบบชีวิตขาลง สมุดเบาใจ ชุมชนกรุณา กฎหมายการุณยฆาต และความตายที่สัมพันธ์กับการมีชีวิตอยู่อย่างลึกซึ้ง

ออกแบบชีวิตขาลง

ทำไมถึงเลือกย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด

เราฝันอยากอยู่ต่างจังหวัดตั้งแต่ตอนที่เป็นนักศึกษาพยาบาลแล้ว เวลาไปออกค่ายแล้วเราชอบชีวิตชนบท แต่ด้วยความที่เราเป็นคนกรุงเทพฯ และพ่อแม่เป็นคนจีน เขาก็บอกว่า “ไปอยู่ต่างจังหวัดคนเดียว จะไปอยู่ยังไง จะอยู่กับใคร มันอันตรายไหม” เขาไม่ค่อยชอบที่เห็นเราออกเดินทางไปต่างจังหวัดคนเดียว ทำให้เราคิดว่าการใช้ชีวิตต่างจังหวัดเป็นไปไม่ได้เลย

ตอนจบพยาบาลใหม่ ๆ มีความตั้งใจมากว่าจะไปใช้ทุนต่างจังหวัด โรงพยาบาล 10 เตียง 30 เตียงเหมือนในหนังสือ ปุลากง (นวนิยายโดย โสภาค สุวรรณ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ประพันธสาส์น) แต่ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีไม่ให้ใช้ทุนที่ต่างจังหวัด เขาให้ใช้ทุนที่รามาฯ เท่านั้น พอคุณพ่อคุณแม่เสียหมดแล้ว ก็กลับมาคิดว่าเอาอย่างไรต่อดี เราจะเลือกเส้นทางชีวิตของตัวเองหรือเราจะยังอยู่ที่เดิม มีความคิดว่าเราควรตัดสินใจเพื่อตัวเองบ้าง เพราะที่ผ่านมาเราอาจจะใช้ชีวิตที่ใส่ใจและดูแลคนอื่นเยอะ เรารู้สึกว่าถ้าเรามีฝันอะไรเราก็ควรทำตามความฝันของเราบ้าง

คุยกับครอบครัวอย่างไร

เราตัดสินใจซื้อบ้านที่ขอนแก่นโดยไม่ได้บอกใคร ไม่ได้บอกกระทั่งพี่สาว ก่อนจะไปคุยกับพี่ เราไปเข้าอบรม Coaching for Transformation ของ มาร์ธา ลาสลีย์ ก็เลยลองเอาเรื่องนี้ขึ้นมาทำงานดู มาร์ธาให้โจทย์ทันทีว่า ภายในการอบรม 3-5 วันนี้ คุณลองไปคุยกับพี่สาว พอบอกกับพี่สาวว่าทำไมอยากไปอยู่ต่างจังหวัด พี่สาวบอกว่า “เออ ก็ไปสิ เผื่อเบื่อกรุงเทพฯ พี่จะได้ไปอยู่ด้วย” (หัวเราะ) รู้สึกปลดล็อกมาก

Quote เวลาเราจะเลือกอะไรสักอย่างในชีวิต เรามักจะคิดว่าเราต้องเลือกอันหนึ่งแล้วต้องทิ้งอีกอันหนึ่ง มันเหมือนกับเราเลือกแล้วเราต้องเสียอะไรบางอย่างไป แต่ความจริงมันไม่จำเป็น เราสามารถเลือกได้ทั้งสองอย่าง หรือเราสามารถอยู่กับสิ่งหนึ่ง ให้น้ำหนักกับสิ่งนี้ แล้วก็ให้น้ำหนักกับอีกสิ่งน้อยหน่อยก็ได้ มาร์ธาบอกเราแบบนี้

มันเหมือนเราติดกับดักว่าถ้าเราเลือกอันหนึ่งแล้วต้องเสียอีกอันหนึ่งไป ซึ่งแบบฝึกหัดอันนี้ก็ทำให้รู้ว่ามันเป็นไปได้ที่เราจะทำสิ่งที่เราปรารถนาขณะเดียวกันก็ได้ดูแลพี่สาวด้วย เราก็ได้ทำความฝันของตัวเองด้วย พอเราเข้าใจอันนี้ เรารู้สึกว่าตัวเองคิดถูกมากที่ไปอยู่ขอนแก่น รู้สึกมันทำให้เราเริ่มต้นบทใหม่ของชีวิตว่าเราอยากจะมีชีวิตบั้นปลายแบบไหน

ตอนนั้นอายุเท่าไร แล้วจุดไหนที่เราคิดว่าต้องเริ่มดีไซน์ชีวิตขาลงแล้ว

เรารู้สึกว่าอยากเกษียณในวัยที่ร่างกายเรายังพร้อมและยังสนุกกับชีวิตอยู่จึงตั้งเป้าเอาไว้ที่ 55 ปี

เราโสด เราก็มักจะคิดว่าอยู่คนเดียวมันต้องเหงา หรือถ้าเราเจ็บป่วยใครจะดูแลเรานะ เราจะใช้ชีวิตอย่างไร คนหนุ่มสาวสมัยนี้ที่โสดกังวลว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต เราก็กังวล แต่เรามั่นใจว่าไม่ได้ต้องการใครเข้ามาในชีวิต เราตั้งคำถามว่าเราอยู่เป็นโสดอย่างไรที่จะทำให้ชีวิตเรา healthy และยังมีคุณค่าด้วย

เพราะฉะนั้น เราต้องไปเริ่มต้นตั้งแต่ตอนนี้แหละ วันที่เราค่อย ๆ สร้างชุมชนที่เราอยากอยู่ด้วย ก็ไปเลย ไปตอนที่เรายังไม่รู้นี่แหละ ไปแล้วค่อย ๆ หาหนทาง หาเงื่อนไขที่จะใช้ชีวิตที่นู่นอย่างมีความสุข มันต้องเอาตัวเองเข้าไปจุ่มแช่หรือเอาตัวเองเข้าไปสัมผัสกับพื้นที่ตรงนั้นเพื่อให้เราซึมซับและรู้ว่ามันโอเคจริงหรือเปล่าที่เราจะอยู่ที่นี่ มันมีความเป็นไปได้อะไรบ้างที่เราคิดเอาไว้และมันเป็นไปได้แค่ไหน เพราะบางครั้งในความคิดเมื่อมาเป็นเรื่องจริงแล้วมันเป็นไปไม่ได้

วิธีคิดการออกแบบชีวิต การสร้างชุมชนที่เราอยากใช้ชีวิตในบั้นปลายได้จากการทำงาน Peaceful Death หรือเปล่า

แน่นอน เราได้เห็นว่าชีวิตมันประมาทไม่ได้ เราไม่รู้ว่าเราจะตายวันไหน เพราะฉะนั้นเราควรต้องออกแบบช่วงเวลาชีวิตขาลงของเราเอาไว้ ต้องออกแบบตั้งแต่ตอนนี้แล้วค่อย ๆ ทำให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ออกแบบชีวิตที่เราอยู่ได้และเติมเต็มสิ่งที่เราปรารถนา ไม่ใช่ว่าชีวิตผลักดันเราจนถึงจุดหนึ่งที่เราต้องยอมรับข้อจำกัด หรือปล่อยให้สถานการณ์มันกดดันเราจนถึงจุดที่เราไม่มีทางเลือก จะเป็นอย่างไรถ้าเราได้เลือกชีวิตตัวเองตั้งแต่วันนี้ วันที่เรายังพอทำอะไรได้และเรารู้ว่าจะอยู่ในสังคมแบบไหน ชุมชนแบบไหน เราก็ไปลงมือทำให้เป็นจริงขึ้นมา

จากการอบรมเผชิญความตายมาหลายครั้ง เราจะพบว่าหลายคนเขาไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งที่เขาอยากทำ และหลายครั้งมันสายเกินไป เช่น ผู้ป่วยมะเร็งหรือผู้ป่วยระยะสุดท้าย หลายคนรู้สึกเสียดายชีวิตที่ผ่านมา เขาอยากบอกทุกคนว่าอยากทำอะไรก็ทำเถอะ อย่ารอ บางทีมันอาจไม่มีวันนั้น อยากทำอะไรทำเลย

ทุกครั้งที่เราได้เจอคนที่เขามีประสบการณ์แบบนี้ เขารู้ว่าชีวิตมันจำกัด ทำให้เห็นว่าการเห็นคุณค่าในชีวิตแต่ละวันมันสำคัญอย่างไร มันก็สะท้อนให้เรารู้ว่าเราต้องไม่ประมาท ยิ่งเราทำงานนี้ เรายิ่งรู้สึกว่าเวลาเราเที่ยวไปบอกคนอื่นว่า “แกใช้ชีวิติอย่าประมาทนะ” แล้วเราคิดหรือยัง มันก็กลับมาถามตัวเองเหมือนกันว่าแล้วเราออกแบบชีวิตบั้นปลายแบบไหน เกิดมาบนโลกใบนี้ได้บรรลุสิ่งที่ตั้งใจหรือยัง ได้กลับมาถามตัวเองบ่อย ๆ 

ทำไมเริ่มมาสนใจความตาย

มันเริ่มมาจากความขัดแย้ง ตอนพ่อเราเป็นมะเร็งปอด เราที่เรียนพยาบาลมาช่วยอะไรพ่อไม่ได้ ขณะที่เราเองไม่มีความมั่นใจในการดูแลพ่อให้ตายดี ทุกคนมองว่าเราเป็นพยาบาล เรารู้ดีกว่าทุกคน ต้องเป็นคนตัดสินใจและรับผิดชอบ เราก็ไม่กล้าบอกใครว่าฉันก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร เราต้องแบกความหวังเหล่านั้น

พ่อพูดอยู่เสมอว่าไม่ไปโรงพยาบาล ไม่ใส่ท่อ แต่พอถึงจุดที่พ่อเขาเริ่มหายใจลำบากและเราไม่รู้มาก่อนว่าอาการเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ เราทรมานใจที่เห็นเขาเป็นแบบนั้น สุดท้ายจึงพาเขาไปโรงพยาบาล หมอบอกว่าถ้าไม่ให้ปั๊มหัวใจ ไม่ให้ใส่ท่อ คุณต้องเซ็นไม่สมัครใจ เราก็รู้สึกเหมือนให้เราเขียนปฏิเสธการรักษา ทำไมต้องผลักให้เรา วันนั้นโชคดีมาก โทรศัพท์ไปหาแม่ ถามแม่ว่าทำยังไงดี แม่ก็ถามกลับมาง่ายมาก แม่ถามว่าพ่อรู้ตัวไหม เราก็บอกไม่รู้ตัว คุยไม่รู้เรื่องแล้ว แม่ถามว่าพ่อกินข้าวได้ไหม เราก็บอกกินไม่ได้แล้ว ใส่อาหารทางจมูก แม่บอกว่า ถ้าอย่างนั้นเขาก็เดินมาสุดทางแล้วละ

ชีวิตเดินมาสุดทางแล้ว เราจะทำต่อไปอีกเพื่ออะไร มันเกิดความชัดเจนขึ้นมา และทำให้รู้เลยว่ามันไม่ง่ายเลยสำหรับผู้ดูแล เราเป็นพยาบาลยังยากขนาดนี้ แล้วคนทั่วไปล่ะ เขาจะรู้สึกอย่างไร เขาจะขัดแย้ง เขาจะแย่ขนาดไหน มันจะเป็นตราบาปเขาอย่างไร นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่าอยากให้คนที่ต้องเจอสถานการณ์แบบนี้เขารู้ว่ามันมีทางเลือกอื่น และมันโอเคที่เราจะเลือกแบบอื่น

ไม่ควรจะมีใครทุกข์ใจจากการจากไปของใคร แม้จะทุกข์แต่ไม่ควรต้องรู้สึกผิด

เราเห็นใจคนที่ไม่ใช่บุคลากร คนทั่วไปเขาจะรู้สึกอย่างไรเวลาเผชิญความตาย นี่คือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและรู้สึกว่าต้องช่วยแล้ว ต้องทำแล้ว

ตอนที่อยู่แผนกอายุรกรรมเราเห็นเตียงนั้นตาย เตียงนี้ตาย ที่มันน่ารักคือเขาก็มีญาติที่เฝ้า เขาไม่ใช่ญาติเรานะ แต่เขาก็มีน้ำใจคอยคุยกับเรา “หนูไปกินข้าวก่อนไหมเดี๋ยวป้าเฝ้าให้” “ถ้ามีอะไรไม่เข้าท่าป้าเดินไปบอกพยาบาล” เราไม่ใช่ญาติกันนะ แต่เขาจะคอยถามไถ่ น้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเป็นสิ่งที่มีค่ามาก เป็นเหตุผลที่เราทำงานจิตอาสา เพราะบางทีผู้ดูแลที่อยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก ถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งหยิบยื่นน้ำใจให้มันช่วยเขามาก ๆ มันช่วยให้ความรู้สึกที่แห้งเหี่ยวฟูขึ้นมา มันไม่ได้แปลว่าเราไม่เสียใจ แต่มีมนุษย์คนหนึ่งมารับรู้ความเสียใจของเรา เราซาบซึ้งกับการทำหน้าที่ของคุณป้าในวันนั้นมาก และยังจดจำความรู้สึกนี้มาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้รู้สึกว่าถ้าวันหนึ่งเรามีโอกาสเราอยากตอบแทนคืน อยากทำประโยชน์ให้กับคนอื่น ๆ ที่เขาอยู่ในสถานการณ์คล้าย ๆ กัน เราคุยเล่นกับตัวเองว่า การตายของคุณพ่อชักนำให้เราเข้าสู่บทบาทตรงนี้

นึกถึงคุณป้าทีไรก็ตื้นตันใจและรู้สึกว่า คุณป้านี่แหละคือนิยามของชุมชนกรุณา มันไม่ต้องบอกว่าต้องทำอะไร มันเป็นความกรุณาที่อยู่ในเนื้อตัวของพวกเราทุกคน เพียงแค่เราใส่ใจและมองเห็นนิดหนึ่งว่าคนนี้กำลังรู้สึกอย่างนี้อยู่ เราช่วยอะไรได้บ้าง แม้เพียงเล็กน้อยมันก็ช่วยให้เราผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้และรู้สึกโชคดีมาก

ช่วยเล่าโปรเจกต์ Peaceful Death ได้ไหมว่ามีกระบวนการอย่างไรบ้าง

เราทำ Peaceful Death มา 10 กว่าปีแล้ว ซึ่งมีหลายงานที่เกี่ยวข้อง

งานที่หนึ่ง คือ การสร้างความตระหนักให้กับคนในสังคมว่าชีวิตมันมีจำกัด ความตายไม่รู้จะมาถึงเราเมื่อไร อย่าประมาท อะไรเตรียมพร้อมได้ก็เตรียมเถอะ อันนี้เป็นข้อความหนึ่งที่เราตั้งใจจะสื่อสารกับคนทั่วไปในสังคม ซึ่งก็นำไปสู่เรื่องงานอีเวนต์ หนังสือ คอนเทนต์ต่าง ๆ

งานที่สอง เราช่วย พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ทำโครงการเผชิญความตายอย่างสงบซึ่งเป็นเวิร์กช็อป เรามีโอกาสได้เจอทั้งกลุ่มผู้ป่วยเองที่อยากมาเตรียมตัวเอง ได้เรียนรู้จากเขาว่าเวลาที่เรารู้ว่าตัวเองป่วยในระยะท้ายข้างในเป็นอย่างไร อีกกลุ่มคนที่มาอบรมคือลูกหลานที่อยากดูแลพ่อแม่เพราะพ่อแม่ป่วย แก่แล้ว หรือตรวจพบเป็นโรคร้ายรักษาไม่ได้ อีกกลุ่มคือกลุ่มบุคลากรสายสุขภาพ ซึ่งเขาทำงานกับผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด แต่พอเป็นเรื่องช่วยให้เขาตายดี หรือช่วยดูแลชีวิตจิตใจในช่วงภาวะสุดท้าย บางทีก็เกิดความสงสัยว่าต้องทำอย่างไร

ตอนเราเรียนในโรงเรียนพยาบาลหรือโรงเรียนแพทย์ จะถูกสอนให้ช่วยชีวิต พยายามไม่ให้ผู้ป่วยตาย รักษาโรคให้หาย แต่เมื่อโรคมันรักษาไม่ได้และเรารู้ว่าเขาต้องตายสักวันหนึ่งและเวลานั้นก็หดแคบเข้ามาเรื่อย ๆ บางทีคนรอบข้างก็ไม่รู้ว่าจะตอบสนองอย่างไร จะดูแลเขาแบบไหน จะพูดกับเขาอย่างไรหรือจะเข้าไปช่วยสนับสนุนเพื่อให้เขาข้ามผ่านช่วงเวลาแย่ ๆ อย่างไร

นอกจากนั้นเป็นคนทั่วไปที่อาจจะสนใจธรรมะหรือรู้ว่าชีวิตมันประมาทไม่ได้นะ ก็อยากมาเรียนรู้เอาไว้

งานที่สาม คือ งานที่เราเข้าไปสนับสนุนโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยอยู่แล้ว มีทีมประคับประคองในโรงพยาบาลอยู่แล้วแต่เขายังขาดกระบวนการทำงานกับผู้ป่วย ผู้ดูแล จิตอาสา หรือแม้แต่คนทำงานด้วยกันเอง เราจะเข้าไปเป็นเพื่อนที่สนับสนุนว่าถ้าเขาอยากทำงานลักษณะนี้ อะไรที่ยังขาดอยู่และ Peaceful Death จะเข้าไปเติมอะไรได้บ้าง

ทราบมาว่ามีเรื่องของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วย

อาจไม่ได้เป็นงานหลักของ Peaceful Death แต่เรามีโอกาสได้รับเชิญไปเป็นกระบวนกรให้กลุ่มจิตอาสา กลุ่มผู้ป่วย กลุ่ม อสม. เป็นระยะ ทำให้เราได้เห็นคนที่อยู่ในหน้างาน คนที่อยู่ในพื้นที่ คล้ายกับว่าเราได้ไปสัมผัสสถานการณ์ปัญหาของเขา ซึ่งมันทำให้เราได้เอาข้อมูลพวกนั้นออกมาดีไซน์งานเพื่ออุดรูรั่ว ส่วน 5 ปีหลังจะทำเรื่องชุมชนกรุณากับเรื่องการวางแผนการดูแลล่วงหน้า

การวางแผนการดูแลล่วงหน้าจะเชื่อมต่อไปยัง Peaceful Death ด้วยหรือไม่

ต่อให้ไม่อยากยื้อชีวิต แต่พอถึงเวลาจริงมันมักไม่เป็นอย่างนั้น เพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง ตั้งแต่ญาติเข้ามาตัดสินใจแทน และมันมีทัศนคติของสังคมด้วย เช่น “เราจะปล่อยเขาไปอย่างนี้จริงเหรอ มันได้เหรอที่เราปล่อยให้เขาจากไปโดยไม่ได้ทำอะไร” ทำให้หลายคนรู้สึกว่าต้องรักษาเต็มที่จนคุณหมอบอกว่าไม่ได้แล้วถึงจะยอม ซึ่งส่วนใหญ่พออยู่ใน ICU แล้ว ถึงคุณหมอบอกรักษาถึงที่สุดแล้ว ตอนนั้นผู้ป่วยต้องผ่านกระบวนการที่ทุกข์ทรมานมากมาย ไม่อยู่ในจุดที่จะบอกคุณหมอว่าไม่ได้อยากได้แบบนี้

นึกถึงคนรู้จักที่เตรียมเรื่องนี้ไว้ก่อนเพราะรู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง เขาพูดว่าไม่อยากตายที่โรงพยาบาล จะตายที่บ้าน เตรียมบ้านเลยนะ จัดรูปภรรยา รูปลูก เตรียมที่นอน เตรียมให้ทุกคนไม่ขนย้ายศพลำบาก แต่สุดท้ายแล้วก็ไปโรงพยาบาล

ในมาตรา 12 พรบ.สุขภาพอนุญาตให้บุคคลแสดงเจตนาเลือกวิธีการรักษาหรือปฏิเสธการรักษาที่เป็นไปเพื่อยืดชีวิตเท่านั้น แต่คนส่วนมากไม่รู้ว่าเรามีสิทธิออกแบบชีวิตในช่วงท้ายเราไว้ก่อน เวลาคุณไม่ได้ออกแบบ สุดท้ายคุณกำลังผลักภาระทั้งหมดไปที่คนอื่น และหลายครั้งคนอื่นเขาอาจไม่ได้รู้ใจคุณว่าคุณอยากได้อะไรและอาจจะตัดสินใจสวนทางสิ่งที่คุณอยากได้

ยื้อชีวิตก็ลำบาก แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยเราจะอกตัญญูหรือเปล่า มันคือการผลักภาระทั้งหมดให้กับคนที่อยู่ข้างหลัง และหลายครั้งพวกเขาก็เจ็บปวดเพราะไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจมันดีพอหรือยัง แม้พ่อแม่จะตายไปแล้วแต่บาดแผลพวกนี้บางทีมันยังอยู่ เราเจอบ่อยเวลาอบรมเผชิญความตายที่มีการเขียนจดหมายความในใจ เขียนเรื่องที่รู้สึกผิด ความรู้สึกผิดจำนวนมากเกิดจากการไม่มีเวลาดูแลพ่อแม่หรือตอนพ่อแม่ป่วยหนัก เขาเลือกที่จะพาไปโรงพยาบาลซึ่งสวนทางกับความต้องการของพ่อแม่ หรือไม่ได้อยู่ในนาทีสำคัญที่พ่อแม่กำลังจะจากไป มันทำให้เขารู้สึกแย่ที่เขาไม่ได้ส่ง เป็นต้น ไม่ว่าลูกหลานตัดสินใจอะไรก็ลำบากใจและเป็นบาดแผล เราจึงคิดว่าเราต้องรณรงค์ อย่าผลักภาระนี้ให้คนอื่นเลย คุณทำเถอะ วางแผนตั้งแต่วันนี้เถอะ

ถ้าเอาสมุดเบาใจไปยื่นที่โรงพยาบาล แพทย์ไม่สามารถปฏิเสธได้ใช่ไหม

สมุดเบาใจไม่ใช่คำสั่งที่สามารถบังคับให้บุคลากรทำตาม แต่เป็นเจตจำนงที่เราต้องการสื่อสารให้บุคลากรให้ความร่วมมือกับเราในฐานะเจ้าของชีวิต ซึ่งกรณีที่แพทย์ลงความเห็นว่าอาการนี้ยังไม่ใช่ระยะสุดท้าย ยังรักษาได้ แบบนั้นก็ไม่จำเป็นต้องปล่อยให้เขาเสียชีวิต มันจะต้องเกิดขึ้นเมื่อเขาอยู่ในจุดที่หมอวินิจฉัยว่าเป็นระยะสุดท้ายแล้วเท่านั้น

ที่ต่างประเทศถ้าแพทย์ยื้อไว้ผู้ป่วยเขาสามารถฟ้องร้องได้

ในต่างประเทศ เรื่องอัตตาณัติ (autonomy) มันแข็งแรงมาก แต่ในสังคมไทยชีวิตของเราไม่ใช่ขึ้นอยู่กับเราคนเดียว วัฒนธรรมมันแตกต่างกัน ชีวิตเรามีความเชื่อมโยงกับคนอื่นจึงไม่สามารถที่จะตัดสินใจแบบเด็ดขาดคนเดียวแล้วทุกคนต้องฟัง สาระสำคัญของการวางแผนล่วงหน้าจึงไม่ใช่หนังสือคำสั่ง แต่เป็นกระบวนการสื่อสารที่ว่าเราต้องการอะไร และควรมีการพูดคุยกันด้วยในกลุ่มของคนใกล้ชิดว่าที่เราเลือกแบบนี้เพราะอะไร แล้วลูกหลานคิดอย่างไร การคุยกันมันจะทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น ถ้าเราคุยกันรู้เรื่อง มีอะไรเราปรึกษาหารือกัน มีความสัมพันธ์ที่ดีในวันนี้ก็พอแล้ว เราจะได้เคารพกัน หัวใจของมันคือเรื่องการสื่อสารแล้วทำให้เราเข้าใจคุณค่าที่แต่ละคนยึดถือ

เราจะเดินเอาสมุดเบาใจไปให้พ่อกับแม่เขียนอย่างไร

สมุดเบาใจเป็นเครื่องมือช่วยให้เราได้พูดคุยกันเรื่องนี้ เราอาจไม่ต้องถือสมุดเบาใจไปก็ได้ อาจดูซีรีส์ด้วยกันแล้วคุยกันก็ได้ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์นี้จะทำอย่างไรนะ สามารถคุยกันธรรมดาได้ เราก็เคยเจอหลายคนที่คุยกันแบบนี้ พอถึงเวลาทุกอย่างมันกลับตาลปัตรหมดเลย ดังนั้นเรามาเขียนดีไหม แบบนี้มันง่ายกว่า ทำให้เป็นธรรมชาติ ทำให้สามารถพูดคุยเรื่องนี้ได้ในครอบครัว

เราออกเครื่องมือมาหลายตัวเพื่อช่วยในการคุย เช่น เกมไพ่ไขชีวิต มันก็เป็นเกมการ์ดที่ทำให้ชีวิตเรื่องความตายเป็นเรื่องคุยง่าย เราก็ได้ฟังไอเดียพ่อกับแม่และก็ได้บอกด้วยว่าเราอยากได้อะไร

มันเหมือนเราเข้าไปในร้านอาหารแล้วเปิดเมนูแล้วถามพ่อกับแม่บอกว่าอยากกินอะไร พ่อกับแม่ตอบว่าอะไรก็ได้ แต่อะไรก็ได้ของพ่อแม่พอสั่งมาให้อาจจะไม่ชอบ ไม่กินถั่วงอก กระเทียมเยอะไป ฉุน หรือรสชาติไม่ถูกปาก มันจะดีกว่าไหมถ้าพ่อแม่บอกมาเลยว่าจะกินก๋วยเตี๋ยวเย็นตาโฟ ไม่เอากระเทียมเจียว ไม่เผ็ดนะ

มันช่วยทำให้เรามองเรื่องความตาย การวางแผนล่วงหน้าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน มันไม่ต้องจงใจว่ามันถึงเวลาของเธอแล้ว อย่ารีบด่วนผลักมันออกไป สุดท้ายเราเองอาจเป็นคนที่ไม่ทำตามนั้นสักอย่างก็ได้

เมื่อถึงบั้นปลาย ขอให้ได้ “ตายดี”

ตายดีคืออะไร

สำหรับเรา มันเป็นกระบวนการที่คนที่กำลังจะจากไปเขาจากไปด้วยความรู้สึกพร้อมและยอมรับที่จะจากโลกนี้ไป และเขารู้สึกมันโอเค โอเคในที่นี้คือมันเหมาะกับเรา เราใช้ชีวิตมาประมาณนี้ เจ็บป่วยมาขนาดนี้ ชีวิตผ่านอะไรมาเยอะแล้ว พร้อมยอมรับและจากไป ขณะเดียวกันก็เป็นกระบวนการที่คนรอบข้างเข้าใจว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นและสามารถยอมรับได้ว่านี่มันคือส่วนหนึ่งของชีวิตที่ต้องเผชิญ แม้มันจะทำให้เจ็บปวดเสียใจ รู้สึกเศร้า แต่เราหนีไม่พ้น เราจะค่อย ๆ เรียนรู้กันไป มันคือการประคับประคองชีวิตหนึ่งที่กำลังจะปลิดปลิวออกจากขั้ว เหมือนใบไม้สักใบ เราช่วยกันประคับประคองให้มันร่วงลงสู่พื้นดินอย่างนิ่มนวล

ภาพการตายดีของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นกับเราให้คุณค่ากับอะไรและทุกคนได้ช่วยกันทำให้สิ่งนั้นมันเกิดขึ้น มันเป็นความงดงามของการที่เราได้ดูแลกันในยามที่จะจากลา มีความใส่ใจและเคารพความต้องการของคนที่กำลังจะจากโลกนี้ไป

กฎหมายไทยรองรับแล้วหรือยัง เราต้องทำอะไรบ้าง

ยัง สิทธิต้องมาพร้อมหน้าที่ หน้าที่ที่ทำให้เราเข้าถึงการตายดี เช่น เขียนสมุดเบาใจเอาไว้ คุยกับคนรอบข้างเอาไว้ สื่อสารกับทีมสุขภาพหรือหมอเจ้าของไข้เราว่า ถ้าถึงจุดหนึ่งที่เรียกว่าระยะสุดท้ายอย่ายื้อฉันนะ หรือกระทั่งการทำพินัยกรรมมรดกให้เรียบร้อย

ตอนนี้เรากำลังทำโครงการ bed cleaning นั่นคือ สิ่งของอะไรที่จะเป็นภาระคนอื่นเอามันออกไปก่อน ใครได้ประโยชน์จากอันนั้นก็เอาไปให้เขาก่อน ให้มันเหลือสิ่งที่จะเป็นภาระจากเราในวันที่เราตายไปน้อยที่สุด

ปัจจุบันสิทธิการตายดีในประเทศไทยผลักดันไปถึงไหนแล้ว

ในประเทศไทยยังเป็นสิทธิตามมาตรา 12 คือ บุคคลสามารถแสดงเจตนาล่วงหน้าได้ว่าเมื่ออยู่ในภาวะสุดท้ายเขาต้องการการดูแลรักษาแบบไหนและไม่ต้องการการดูแลรักษาแบบไหน โดยเฉพาะเขาสามารถปฏิเสธการรักษาที่เป็นไปเพื่อยืดชีวิต ส่วนเรื่องการุณยฆาตมันยังอีกไกล เพราะหลายครั้งเวลาคนต้องการให้มีการยุติชีวิต แสดงว่าเขาเผชิญกับความทุกข์ทรมาน ซึ่งมันมีความทุกข์ทรมานบางประเภทที่สามารถดูแลได้แต่คนไม่รู้ เช่น เรื่องการดูแลแบบประคับประคองซึ่งช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถสุขสบายจนนาทีสุดท้ายได้ หรือที่เรียกว่า palliative care

คนจำนวนมาบอกว่าเอายามาฉีดให้ฉันตายไปเถอะ ส่วนหนึ่งเพราะเขาเข้าไม่ถึง palliative care ดังนั้นเวลาปวดแล้วไม่มียาแก้ปวด ไม่มีใครดูแล พอระยะสุดท้ายก็เอากลับไปนอนรอความตายที่บ้าน มันทรมาน แต่ถ้าเขาเข้าถึง palliative care มันจะมีการจัดการอาการรบกวนต่าง ๆ ถ้าเข้าถึง palliative care คนที่อยากเลือกการุณยฆาตอาจจะน้อยลง แน่นอนว่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะป่วยด้วยบางโรคที่มันทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ กลุ่มประเภทนี้ในบางประเทศมีกฎหมายรองรับให้เลือกขอยุติชีวิตได้ เช่น กลุ่มโรคที่เห็นร่างกายตัวเองถอยลงไปเรื่อย ๆ ควบคุมกล้ามเนื้อแขนขาร่างกายไม่ได้ เขาจะมีคณะกรรมการพิจารณาว่าข้อเสนอของเราอยู่ในขอบข่ายที่แพทย์จะให้ความร่วมมือยุติชีวิตไหม ซึ่งมีไม่กี่ประเทศในโลก

อีกอย่างคือมุมมองที่เรามีต่อชีวิตและความตาย เราคิดว่าแต่ละคนตอนนี้มันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านคนรุ่นที่โตมากับความคิดความเชื่อเรื่องชีวิตและความตายอีกแบบหนึ่ง แต่คนรุ่นใหม่อาจมองเรื่องชีวิตและความตายอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นมันจะมีเฉดว่าชีวิตคืออะไร ความตายคืออะไร สังคมมันต้องมีการสนทนาเรื่องนี้มากขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าคนที่ต้องการการุณยฆาตสมเหตุสมผลหรือไม่ ไม่ใช่เราผลักให้คนจนที่เข้าไม่ถึง palliative care เลือกไปจบชีวิต ในหลายประเทศที่เขาทำการุณยฆาต ส่วนใหญ่ระบบ palliative care เขามั่นคงแล้ว ถ้า palliative care มันแข็งแรงแล้วยังมีคนร้องขออยู่แปลว่ามันมีพื้นที่สีเทาที่แม้กระทั่ง palliative care ก็ไม่สามารถดูแลให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

ของประเทศไทยไปถึงไหนแล้ว เรื่อง palliative care คนจนเข้าถึงหรือยัง

ถือว่าคืบหน้ามากในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ตอนนี้เราขึ้นจาก tier 3 ไปเป็น tier 4A แล้ว อย่างภาคอีสานที่เราอยู่ ทุกโรงพยาบาลมี palliative care หมด มีระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพมาก ๆ ผู้ป่วยสามารถร้องขอไปเสียชีวิตที่บ้านได้ และมีทีมเยี่ยมบ้าน มีมอร์ฟีนไปถึงบ้านเลย คนที่เข้าถึงระบบนี้ยากที่สุดกลับกลายเป็นคนกรุงเทพฯ คนป่วยระยะท้ายในกรุงเทพฯ มีไม่น้อยเพียงแต่ระบบ palliative care ในกรุงเทพฯ ยังไม่มี roadmap ที่ชัดเจน

เรามีโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดมูลนิธิ โรงพยาบาลสังกัดทหาร หลายสังกัดมากแล้วยังไม่มีการเจรจากันว่าเราจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะมันมีเรื่องสำคัญอื่นที่ยังไม่สามารถบริหารจัดการได้ เราจึงรู้สึกว่ากรุงเทพฯ เป็นที่ที่ยากที่สุดแล้ว

ตอนนี้ที่ขอนแก่นมี hospice หรือสถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ไม่ยื้อชีวิต เป็นอีกทางเลือกหนึ่งนอกเหนือจากโรงพยาบาล

ระยะสุดท้ายคืออะไร ทางการแพทย์ระบุหรือไม่ว่าระยะสุดท้ายแปลว่าอย่างไร หรือขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

คำว่าระยะสุดท้ายตีความได้หลายอย่าง ถ้ากลุ่มผู้ป่วยมะเร็งจะชัดเพราะมะเร็งบอกเป็นระยะ พอเป็นระยะ 4 เขาก็เรียกว่าเป็นระยะสุดท้ายหรือเรียกว่าระยะลุกลาม แต่ในกรณีโรคเรื้อรังจะต้องมีเกณฑ์ว่าถึงจุดไหนที่เรียกว่าระยะท้าย ต้องมีดุลพินิจของแพทย์เข้ามา แต่ถ้าในต่างประเทศจะบอกว่าเขาจะใช้ surprise question เช่น ถ้าถามว่าคุณจะประหลาดใจไหมถ้าคนนี้จะตายภายใน 6 เดือน เป็นวิธีหนึ่งที่จะเช็กว่าอยู่ในขอบเขตที่เรียกว่าระยะสุดท้ายไหม

ในมุมของการดูแลแบบประคับประคอง เขาบอกว่ามันควรดูแลตั้งแต่วินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคที่รักษาได้ยากหรือเป็นโรคที่รักษาไม่หาย หรือมีระยะเวลาจำกัด มันควรเข้าหาเขาตั้งแต่ต้น ถ้าเข้าหาตอนระยะสุดท้าย หลายครั้งมันสายเกินไป การดูแลช่วงบั้นปลายชีวิตมันเปราะบาง มันเหมือนเรามีหมอเจ้าของไข้รักษากันมานาน แล้ววันหนึ่งมาบอกเราว่าเป็นระยะสุดท้ายแล้วทีม palliative care มาดูแล ต้องฝากชีวิตช่วงสุดท้ายไว้กับคนแปลกหน้าที่เราเพิ่งรู้จัก ในความเป็นจริงมันไม่ได้

เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้ปัญหาของการดูแลแบบประคับประคองคือผู้ป่วยจำนวนมากเข้าไม่ถึง palliative care เพราะเจ้าของไข้ยังไม่ปรึกษา ผู้ป่วยระยะท้ายก็อาจจะเข้าไม่ถึงทีม palliative care เหลือเวลาอีกไม่กี่อาทิตย์ มันทำอะไรไม่ได้มาก จะดีกว่าถ้าเรามีโอกาสได้เจอกันตั้งแต่ต้น ๆ แล้วได้คุยกัน มันมีความสัมพันธ์ ได้เข้าใจกันว่าทำไมคิดแบบนี้ เลือกแบบนี้ อะไรจะช่วยให้รู้สึกดีขึ้นบ้างถ้าถึงจุดนั้น เราถึงบอกว่าควรได้สื่อสารตั้งแต่ตอนที่ยังไม่ป่วยหนัก เพราะถ้ารอจนถึงตอนนั้นพอเราพูดมันจะไปสะกิดเขา เหมือนเรากำลังส่งสัญญาณว่าเขากำลังจะตายแล้ว 

ระยะสุดท้ายต้องทำใจอย่างเดียวใช่ไหม

ระยะสุดท้ายไม่ใช่จุดจบ แต่หมายถึงระยะท้ายของโรคที่เป็น ซึ่งอาจจะอยู่ได้อีกเป็นปีเลย เราอาจรักษาประคับประคองแล้วคงต้องคุยกันว่ามันมาถึงจุดนี้แล้วนะ ไม่หายแล้ว ที่ทำได้คือให้เขามีคุณภาพชีวิต ไม่ได้แปลว่าต้องมีชีวิตยืนยาว แต่ไม่ว่าช่วงเวลาจะเหลือเท่าไรแต่ผู้ป่วยรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่มีคุณภาพ เราเชื่อว่าถ้าผู้ป่วยได้รับการปรึกษาเกี่ยวกับวิธีประคับประคองเร็วที่สุดยิ่งดี มันจะช่วยให้มีบทสนทนาแบบนี้ ที่ทำให้เราเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่เขาให้คุณค่า อะไรคือความยากของเขา อะไรคือโจทย์ของเขาที่เขายังวางไม่ได้ บางทีก็เป็นเรื่องความสัมพันธ์ บางทีก็เป็นเรื่องลูก หนี้สิน ฯลฯ เราก็ช่วยทำให้ตรงนั้นมันยากกับเขาน้อยลง

คนใกล้ตัวก็ควรจะต้องเข้าใจเรื่อง palliative care ด้วย

มันเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ครอบครัว ญาติ แพทย์ พยาบาล รวมถึงเภสัชกร นักกายภาพบำบัด ทุกคนอยู่ใน วงล้อการดูแล (circle care) ทุกคนมีส่วนสำคัญในการดูแลให้คนคนหนึ่งจากไปด้วยดี หลายครั้งพอพูดว่าระยะสุดท้ายจะบอกว่าคิดถึงแพทย์พยาบาล แต่จริง ๆ เวลาที่เขาใช้ในช่วงระยะเวลาสุดท้ายส่วนมากมันอยู่ในมือของคนในครอบครัวกับเพื่อน กับ อสม. คนรอบตัวมากกว่า หมอคือวงไกลมากเลย แต่เรากลับให้น้ำหนักตรงนั้น

วงล้อการดูแลทำให้เราเห็นว่าในชีวิตคนคนหนึ่งมันเชื่อมโยงกับคนหลายคน มันอาศัยมือหลายมือเพื่อให้คนคนนี้กลับมามีชีวิตปกติ หรือแม้กระทั่งถ้าเขาจะจากโลกนี้ไปเขาก็จากไปอย่างสงบได้ มันต้องอาศัยการดูแลช่วยกันคนละเล็กคนละน้อยในจุดที่เขาทำได้ มันจะทำให้การจากไปมันไม่ยากเกินไป เป็นหน้าที่ของทุกคนที่เรารณรงค์กันทั่วโลกเลยนะว่า การช่วยให้คนคนหนึ่งจากไปด้วยดีหรือตายดีมันเป็นหน้าที่ของทุกคน มันเป็นหน้าที่ของชีวิต

เป็นการโฟกัสให้เขามีชีวิตปกติมากที่สุด ไม่ได้มองปลายทางว่าส่งเขาไปอย่างไร แต่ให้เขาอยู่กับวันนี้อย่างไร

การทำให้คนคนหนึ่งตายดีมันจึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคน ถ้าพวกเราช่วยกันสนับสนุนให้เขาจากไปด้วยดีมันก็คือการ empower ความเป็นมนุษย์ของเรา และถ้าสังคมเรามีวิธีแบบนี้ วันหนึ่งถ้าเป็นเรา เราก็จะตายดี วันหนึ่งที่เราแย่คนอื่นก็จะเข้ามาช่วยเหลือเรา

มันคือคุณภาพชีวิตใช่ไหม

ใช่ ระยะสุดท้ายมันไม่ใช่แค่หน้าที่ของหมอพยาบาลเท่านั้น มันเป็นหน้าที่ของทุกคนในวงล้อแห่งการดูแลที่เราสามารถสนับสนุนให้เขาตายดีได้ มันเลยเป็นเหตุผลที่เรามาทำ ชุมชนกรุณา (Compassionate Communities) ในช่วง 5 ปีหลังมานี้ เรากำลังพยายามผลักดันความคิดว่า เราอย่าผลักภาระนี้ให้เป็นหน้าที่ของรัฐหรือของหน่วยสุขภาพหรือของวิชาชีพเพียงอย่างเดียว มันคือหน้าที่ของพวกเราด้วยที่เราต้องช่วยกัน ลองเหลียวซ้ายแลขวาในบ้านเรา ญาติพี่น้องเรา หรือเพื่อนบ้านเรา มีใครที่เขาอยู่ในจุดยากลำบากบ้าง แล้วเราพอทำอะไรได้ ไม่ได้หมายความว่าต้องไปเป็นจิตอาสาเช็ดเนื้อเช็ดตัวให้ ไม่จำเป็น สมมติเราจะไปตลาดถามเขาว่าจะฝากเราซื้ออะไรไหม นี่ก็เป็นการช่วยแล้ว หรือเราทำกับข้าวแล้วรู้ว่าเพื่อนข้างบ้านไม่สบายเลยเอาไปฝาก หรือบ้านเรามีผู้ป่วยโรคไตเลยทานอาหารจืด เพื่อนบ้านเราก็มีคนเป็นโรคไตเราก็อาจจะทำเผื่อเขา หรืออาทิตย์หนึ่งฉันทำวันธรรมดา วันเสาร์อาทิตย์เธอทำนะแล้วเอาอาหารมาแบ่งกัน

ถึงตอนนี้ทั้งกระบวนการให้อะไรกับเราบ้าง

มันทำให้เราอ่อนโยนกับชีวิตมากขึ้น ทำให้เรารู้ว่าชีวิตเราเกิดมาเพื่ออะไร และเราได้กลับมาดูแลชีวิตของเราให้มันสอดคล้องกับคุณค่าข้างในของเราได้มากขึ้น อันที่สองเรารู้สึกว่ามันทำให้เห็นว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการมีชีวิตและดูแลชีวิตตัวเองและผู้อื่น มันไม่ได้เป็นเรื่องซับซ้อน เราช่วยเหลือกันได้ ไม่ได้เหลือบ่ากว่าแรง

เรารู้สึกชีวิตนี้เกิดมาแล้วคุ้มค่า รู้สึกว่าเราได้ทำตนให้เป็นประโยชน์ทั้งกับคนรอบข้างและสังคม รู้สึกว่าเราใช้ชีวิตมาดีพอสมควรนะ เราอาจไม่ได้มีลูกหลาน แต่ดีที่เราเลือกเส้นทางแบบนี้ พอสิ่งที่เราทำก็มีประโยชน์ มันก็กลับมาเป็นของขวัญ ความชื่นชูใจให้กับเราในวันคืนที่มันล่วงไป

อ้างอิงเพิ่มเติม

https://peacefuldeath.co/thailandhospicesituation/

https://www.praphansarn.com/home/content/83


Related Posts