Perfectionism แล้ววันหนึ่งเราจะรู้ว่า “ไม่เพอร์เฟ็กต์” ก็ “ไม่เป็นไร”

  • ความนิยมความสมบูรณ์ไม่ใช่การพัฒนาตนเองแต่เป็นการแสวงหาการยอมรับ ซึ่งเป็นแนวคิดที่อันตรายและบ่อนทำลายตัวเอง
  • วัยรุ่นที่นิยมความสมบูรณ์แบบเสี่ยงที่จะประสบภาวะหมดไฟและวิตกกังวล
  • สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณทำได้ คือการสื่อสารผ่านคำพูดและการกระทำว่า ความรัก การยอมรับ และความเอ็นดูของคุณที่มีต่อพวกเขาไม่มีเงื่อนไขใดทั้งสิ้น

การแสวงหาความสมบูรณ์แบบฟังเหมือนเป็นเรื่องดี แต่ผู้คนจำนวนมากกลับถูกความคาดหวังแว้งกัด เพราะเสียงภายในใจที่ควรให้กำลังใจกลับเข้มงวดกวดขันกับตัวเอง ตำหนิติเตียนและคอยเปรียบเทียบให้เห็นว่าเราด้อยกว่าคนอื่นหรือไม่ดีพอ

วัยรุ่นเป็นช่วงวัยหนึ่งที่ต้องเผชิญความคาดหวังจากทุกสารทิศ ทั้งความคาดหวังในตัวเอง ความคาดหวังจากพ่อแม่หรือครู และความคาดหวังจากเพื่อน เช่น เป็นนักเรียนดีเด่น เล่นดนตรีระดับเซียน หรือเป็นเพื่อนที่ทุกคนในโรงเรียนอยากคบหา 

เมื่อสร้างตัวตนอุดมคติในใจแล้วไม่อาจเป็นได้ดังที่วาดหวัง ผลที่ตามมาคือการกดดันหรือโทษตัวเอง เครียดหรือกังวล จนอารมณ์ด้านลบเหล่านี้สะสม และกลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตเรื้อรังในที่สุด 

Mappa ชวนทวนนิยาม สังเกตสัญญาณเตือนภัย และหาแนวทางแก้ไขที่อาจเป็นประโยชน์สำหรับเหล่านักแสวงหาความสมบูรณ์แบบในโลกที่บกพร่องใบนี้

ข้างนอกสุกใส ข้างในผุพัง

เบรเน บราวน์ (Brené Brown) นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยฮูสตัน (University of Houston) ให้นิยามของความนิยมความสมบูรณ์แบบไว้ว่า

“ความนิยมความสมบูรณ์ไม่ใช่การพัฒนาตนเอง โดยแก่นแท้แล้ว มันคือการแสวงหาการยอมรับ ผู้ที่นิยมความสมบูรณ์แบบส่วนมากโตมากับการได้รับคำชมเมื่อบรรลุเป้าหมายหรือทำได้ดี (ผลการเรียน มารยาท การรักษากฎระเบียบ การเอาใจผู้อื่น รูปลักษณ์ภายนอก การเล่นกีฬา ฯลฯ) ณ จุดใดจุดหนึ่งในระหว่างทาง คนกลุ่มนี้รับเอาระบบการคิดที่อันตรายและบ่อนทำลายตัวเองที่ว่า ‘ฉันคือความสำเร็จของฉัน และการที่ฉันทำได้ดี เอาใจ ลงมือทำ สมบูรณ์แบบ’”

คนที่นิยมความสมบูรณ์แบบมักมีเสียงในใจเชิงลบ ดังที่กอร์ดอน เฟล็ตต์ (Gordon Flett) นักวิจัยด้านความนิยมความสมบูรณ์ระดับโลกกล่าวที่มหาวิทยาลัยยอร์ก (York University) ประเทศแคนาดา 

ภาพ https://www.pexels.com/th-th/photo/944737/ โดย Shamia Casiano

“พวกเขาจะบอกตัวเองว่าต้องทำให้ดีกว่านี้ ด่าว่าตัวเองเป็นคนขี้แพ้และใครสักคนจะเอาชนะตัวเองได้” 

ความนิยมความสมบูรณ์แบบและผลกระทบแง่ลบของมันแตกต่างกันออกไป แม้ลูกวัยรุ่นของคุณจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่อาการหนัก แต่คุณอาจตระหนักถึงเรื่องนี้และเป็นห่วง หากลูกมีแนวโน้มวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือแยกตัวจากสังคมเนื่องมาจากความต้องการที่จะสมบูรณ์แบบ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการช่วยเหลือ

ประเภทของเหล่า perfectionist 

ฟีโอนา ยัสซิน (Fiona Yassin) ผู้อำนวยการคลินิกนานาชาติที่ The Wave Clinic จำแนกคนที่นิยมความสมบูรณ์แบบเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

  • คนนิยมความสมบูรณ์แบบที่ขึ้นกับผู้อื่น (Other-oriented perfectionists) ตั้งมาตรฐานที่สูงเกินความเป็นจริงสำหรับผู้อื่น
  • คนนิยมความสมบูรณ์แบบที่ขึ้นกับตนเอง (Self-oriented perfectionists) ตั้งมาตรฐานที่สูงเกินความเป็นจริงสำหรับตัวเอง 
  • คนนิยมความสมบูรณ์แบบที่ผูกโยงกับสังคม (Socially prescribed perfectionists) เชื่อว่าผู้อื่นตั้งมาตรฐานที่สูงเกินความเป็นจริงต่อตัวเอง 

ความนิยมความสมบูรณ์แบบทั้งสามประเภทเป็นอันตรายต่อสุขภาพจิตอย่างมาก วัยรุ่นที่นิยมความสมบูรณ์แบบที่ขึ้นกับตนเองอาจประสบภาวะหมดไฟและวิตกกังวลในระหว่างที่ทุ่มเทเพื่อให้ได้เกรดสูง ๆ บ่อยครั้ง ส่วนวัยรุ่นนิยมความสมบูรณ์แบบที่ขึ้นกับผู้อื่นจะประสบปัญหาความสัมพันธ์เพราะเชื่อว่าเพื่อนและคนรอบข้างต้องสมบูรณ์แบบ

สัญญาณเตือนคืออะไร ทำไมต้องสมบูรณ์แบบ 

นอกจากประเภทของคนนิยมความสมบูรณ์แบบ ยัสซินยังเสนอสัญญาณเตือนของความสมบูรณ์แบบในเด็กและวัยรุ่นไว้ ดังนี้

  • ปฏิเสธการลองทำสิ่งใหม่ ๆ หากทำพลาด
  • กังวลและขุ่นข้องใจหากผิดพลาด
  • กลัวความอับอายขายหน้า
  • ระมัดระวังและละเอียดลออเกินเหตุกับงานที่ควรจะเป็นเรื่องง่าย

สาเหตุของความนิยมความสมบูรณ์แบบ

ความนิยมความสมบูรณ์แบบไม่มีสาเหตุตายตัว แต่มีปัจจัยหลายประการที่อาจเป็นสาเหตุ ได้แก่

ความเคารพตัวเองต่ำ – วัยรุ่นที่ความเคารพตัวเองต่ำอาจเชื่อว่าการมีผลการเรียนดีจะเพิ่มคุณค่าในตนเอง

อิทธิพลจากพ่อแม่ – แม้ไม่ได้เจตนา การชมเด็กว่าเก่งหรือชมเมื่อได้ผลการเรียนดี ๆ อาจเป็นการเพิ่มแนวโน้มความนิยมความสมบูรณ์แบบ พ่อแม่ที่นิยมความสมบูรณ์แบบส่งผลให้ลูกนิยมความสมบูรณ์แบบได้เช่นกัน

ภาพ https://www.pexels.com/th-th/photo/7114756/ โดย Monstera

ความกดดันทางการศึกษา – การเรียนกดดันวัยรุ่นอย่างมาก พวกเขาอาจรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าเท่ากับผลการเรียนเท่านั้น

สื่อสังคมออนไลน์ – โซเชียลมีเดียทำความสำเร็จและความล้มเหลวให้เป็นเรื่องสะเทือนอารมณ์และกล่อมให้วัยรุ่นคิดว่าตัวเองต้องสมบูรณ์พร้อม

สุขภาพจิต –  โรคบางโรค เช่น โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD) หรือโรคการกินผิดปกติอาจเพิ่มแนวโน้มความนิยมความสมบูรณ์แบบในวัยรุ่น นอกจากนั้น ปมในใจอาจนำไปสู่ความนิยมความสมบูรณ์แบบ ทำให้คิดว่าตนเองไร้ค่าหากไม่สมบูรณ์แบบ

บางคนคิดว่าความนิยมความสมบูรณ์แบบจะทำให้วัยรุ่นมุ่งมั่นและพยายามได้เกรดสูง ๆ แต่แท้จริงแล้ว แนวคิดนี้ให้ผลตรงกันข้าม ความนิยมความสมบูรณ์แบบสามารถทำให้วัยรุ่นเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น เช่น โรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล และโดยส่วนใหญ่ผู้ที่นิยมความสมบูรณ์แบบจะมีระดับความเครียดสูงกว่าคนทั่วไป

จะทำอย่างไรหากวัยรุ่นแสวงหาความสมบูรณ์แบบ

พ่อแม่หรือผู้ดูแลวัยรุ่นที่มีแนวโน้มนิยมความสมบูรณ์แบบมีแนวทางในการกล่าวถึงและลดความรุนแรงของปัญหาได้ ดังนี้

ชื่นชมความพยายาม ไม่ใช่ผลลัพธ์

หลีกเลี่ยงการชื่นชมผลลัพธ์ แล้วชื่นชมความพยายามในระหว่างทางแทน เช่น แทนที่จะชมตอนลูกได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน ให้เปลี่ยนเป็นชื่นชมความพยายามในการทบทวนบทเรียนของเขา ชมลูกทุกครั้งที่เห็นพวกเขาทำดีกับคนอื่นหรือเป็นเพื่อนที่ดี หากคุณมุ่งไปที่ผลลัพธ์ วัยรุ่นจะกลัวความผิดพลาดเป็นอย่างมาก ลองนึกดูว่าถ้าคุณชมแค่ตอนที่เขาทำได้ดี วัยรุ่นอาจเชื่อว่าเขามีคุณค่าเฉพาะเวลาที่ทำสำเร็จหรือมีคนยอมรับ ลองพูดว่า “พยายามได้ดีมาก ภูมิใจมากนะที่เห็นลูกตั้งใจ”

เล่าเรื่องความล้มเหลวของคนดัง

อับราฮัม ลินคอล์น แพ้การเลือกตั้งถึงเจ็ดครั้งก่อนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ประวัติศาสตร์มีเรื่องราวของผู้คนที่ล้มเหลวหลายต่อหลายครั้งกว่าจะประสบความสำเร็จ หากมีนักกีฬา นักร้อง หรือบุคคลมีชื่อเสียงคนโปรดของลูกวัยรุ่น อ่านชีวประวัติของพวกเขาให้ลูกฟัง เพื่อที่คุณจะยกตัวอย่างว่าพวกเขาข้ามผ่านความล้มเหลวมาได้อย่างไร

ส่งเสริมให้กล้าเสี่ยงในทางที่ดี

เพื่อหลีกเลี่ยงการตามหาความสมบูรณ์แบบ พ่อแม่หรือครูสามารถสนับสนุนวัยรุ่นให้เผชิญสถานการณ์ท้าทาย ลองชวนลูกเล่นกีฬาที่ไม่ถนัด หัดเล่นเครื่องดนตรีใหม่ ๆ หรือฝึกทักษะที่ไม่เคยฝึกเพื่อความสนุกเท่านั้น หลีกเลี่ยงการปกป้องลูกจากความล้มเหลว ให้โอกาสลูกเผชิญความล้มเหลว เรียนรู้จากมัน และตระหนักว่า ต่อให้เราบกพร่องก็มีชีวิตที่ดีได้ เป็นตัวอย่างให้ลูกในแง่ของการลองทำสิ่งใหม่ในชีวิต

ผูกมิตรกับเสียงตำหนิภายใน

สอนให้ลูกรักตัวเองแทนที่จะตำหนิตัวเอง เมื่อลูกโทษตัวเองซ้ำ ๆ เวลาที่ผิดพลาด ถามลูกว่าถ้าเปลี่ยนเป็นเพื่อนที่ทำพลาด ลูกจะพูดกับเพื่อนว่าอะไร นอกจากนี้ คุณอาจแสดงตัวอย่างให้เขาเห็น ลองพูดว่า “วันนี้ลืมไปธนาคารก่อนเวลาปิด ไม่เป็นไร พรุ่งนี้ค่อยไปใหม่” หรือ “ไม่ได้ดูเตา กับข้าวไหม้เลย เดี๋ยวหาอย่างอื่นมากินกัน คราวหน้าจะระวังนะ”

ภาพ https://www.pexels.com/th-th/photo/7176324/ โดย SHVETS production

ตั้งมาตรฐานที่เป็นไปได้

พ่อแม่อาจห่วงเรื่องความผิดพลาดของลูกมากเกินไป ซึ่งส่งสารว่าคุณกำลังตำหนิเขา ช่วยลดความกดดันด้านการศึกษาด้วยการลดความสำคัญของการเรียนดีและการสอบ และเน้นย้ำสมดุลที่ดีในชีวิต ด้วยการไม่อัดทุกอย่างลงตารางชีวิตจนแน่นและให้เวลาลูกพักผ่อน หากลูกวัยรุ่นตั้งเป้าหมายว่าจะต้องสมบูรณ์แบบ คุยกับเขาว่าการตั้งเป้าหมายที่เกินจริงมีผลเสียอย่างไรบ้างและช่วยเขาตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้มากกว่า 

สอนวิธีรับมือปัญหา

แม้ความผิดพลาดจะน่าอึดอัด แต่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่เราทนไม่ได้ สอนลูกให้จัดการกับความผิดหวัง การถูกปฏิเสธ และข้อผิดพลาด ด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น เขียนบันทึก พูดคุยกับเพื่อน เดินเล่นหรือออกกำลังกาย ฟังเพลง แช่น้ำ หรือวาดภาพ 

อย่าลืมสิ่งที่ควบคุมได้

ไม่ว่าลูกจะอยากเป็นนักเตะแข้งทอง หรือได้ที่หนึ่งในการสอบวิชาวิทยาศาสตร์ทุกครั้ง เตือนลูกว่าเราไม่อาจควบคุมทุกอย่างได้เสมอ ลูกไม่อาจควบคุมฝีมือของเพื่อนร่วมทีมหรือครูที่ออกข้อสอบ สิ่งเดียวที่ควบคุมได้คือความทุ่มเทของตัวเอง เมื่อลูกวัยรุ่นตระหนักว่าไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ เขาจะเลิกคิดว่าความผิดพลาดเป็นความผิดของตัวเอง 

ส่งเสริมการเอื้อเฟื้อ

คุณค่าที่เด็ก ๆ ยึดถือสำคัญต่อพ่อแม่และมีอิทธิพลต่อพัฒนาการอย่างมาก งานวิจัยเมื่อปี 2016 โดยมหาวิทยาลัยแอริโซนา สเตต พบว่าเด็ก ๆ เรียนได้ดีและมีพฤติกรรมที่ดีกว่าที่โรงเรียน หากเขาเชื่อว่าพ่อแม่ให้คุณค่ากับความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากกว่าความสำเร็จส่วนตัว ที่ย้อนแย้งกันคือ ผลวิจัยชี้ว่าพ่อแม่ที่กดดันให้ลูกเรียนเก่งมักเป็นกลุ่มที่ผลการเรียนไม่ดีและมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าหรือวิตกกังวลสูงกว่า

แสดงให้เห็นการยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข

สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณทำได้คือการสื่อสารผ่านคำพูดและการกระทำว่าความรัก การยอมรับ และความเอ็นดูของคุณที่มีต่อลูกไม่มีเงื่อนไขใดทั้งสิ้น

ใครก็อยากสำเร็จ ใครก็อยากสมบูรณ์แบบ แต่จะมีสักกี่คนที่ยอมรับได้จริง ๆ ว่า ก่อนสำเร็จเราต้องล้มเหลว และมนุษย์ไม่มีวันไร้ที่ติ การจะยอมรับข้อนี้ได้ต้องอาศัยการทำงานกับตัวเอง ร่วมกับคนรอบข้างที่เข้าใจ เพื่อให้เรารู้จักตั้งเป้าหมายที่ปฏิบัติได้จริงและส่งผลดีอย่างยั่งยืน และวันหนึ่งเราจะบอกตัวเองได้ว่า ต่อให้ “ไม่เพอร์เฟ็กต์” ก็ “ไม่เป็นไร” 

อ้างอิง :

https://www.psychologytoday.com/us/blog/helping-kids-cope/201809/the-perils-perfectionism-in-kids-and-teens

https://thewaveclinic.com/blog/perfectionism-in-children-and-teens/

https://middleearthnj.org/2019/10/14/how-to-combat-perfectionism-in-teens/

https://www.latimes.com/california/newsletter/2022-04-04/8-to-3-academic-perfection-toxic-teens-8-to-3

https://yourteenmag.com/health/teenager-mental-health/how-to-help-a-perfectionist


Writer

Avatar photo

ศิริกมล ตาน้อย

อยากเกิดใหม่เป็นแมงกะพรุน

Writer

Avatar photo

ลักษิกา บรรพพงศ์

กราฟิกดีไซน์เนอร์ที่เกิดและเติบโตมาพร้อมกับธุรกิจเพลงเด็ก ติดซีรี่ย์ ชอบร้องเพลง ชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และเป็นทาสแมว

Related Posts