“ความสามารถของเด็กไทยห่างไกลจากทั่วโลกมากขึ้นทุกที” การศึกษาไทยอ่อนแอ หลักสูตรล้าสมัย ใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ TDRI เผยสัญญาณวิกฤตการศึกษา จากกรณีผลสอบ PISA เด็กไทยคะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (13 ธันวาคม 2566) เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 2 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Develeopment Research Institute: TDRI) มีการจัดแถลงข่าว ‘ผลสอบ PISA สัญญาณเตือนวิกฤตการศึกษา แก้ปัญหาให้ถูกจุด’ จากกรณีที่ผลการประเมินสมรรถนะผู้เรียนตามมาตรฐานสากล (PISA) ของเด็กไทยอายุ 15 ปีในปีที่ผ่านมา พบว่า มีคะแนนต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ซึ่งส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ มากไปถึงการตั้งคำถามถึงระบบการศึกษาของไทย จากกรณีผลสอบของเยาวชนที่ลดลงต่ำสุดในครั้งนี้

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ เริ่มต้นกล่าวว่า ทางทีดีอาร์ไอเองมีการจัดทีมเพื่อติดตามการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาการของการศึกษาไทยมาตลอด 10 ปี จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้บอกขยายเรื่องนี้ต่อไป เป็นเรื่องดีที่คนไทยให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างมาก เพราะความสนใจของประชาชนจะก่อให้การแรงผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้

ปัญหาสำคัญ: การศึกษาไทยอ่อนแอ หลักสูตรล้าสมัย ใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ 

ทางด้าน พงศ์ทัศ วนิชานันท์ นักวิจัยอาวุโสด้านการปฏิรูปการศึกษา นำเสนอข้อมูลสำคัญและสัญญาณต่อการศึกษาไทย โดยระบุว่า ความสามารถของเด็กไทยห่างไกลจากทั่วโลกมากขึ้นทุกที และถึงแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษา แต่ก็ไม่ใช่สาเหตุหลักที่ทำให้คะแนนเฉลี่ยของเด็กไทยลดน้อยลง แต่เป็นเพราะการศึกษาไทยอ่อนแอ หลักสูตรที่ล้าสมัย รวมถึงการใช้ทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ที่เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาฝังรากหยั่งลึกดังที่เป็นอยู่

“จากผลการสำรวจพบว่า เด็กไทยอายุ 15 ปีจำนวนมาก เมื่อวัดเป็นร้อยละเพื่อแบ่งตามระดับความสามารถ พบว่า กลุ่มที่มีจำนวน ‘มากที่สุด’ คือ ‘เด็กกลุ่มที่นำความรู้มาใช้จริงในชีวิตประจำวันไม่ได้’ ถึงแม้ว่า ประเทศไทยจะสามารถผลิตเด็กที่มีความสามารถสูงได้เช่นกัน แต่ก็เป็นจำนวนที่น้อยมาก และประเทศไทยมีแนวโน้มผลิตเด็กกลุ่มนี้ (เด็กที่มีความสามารถสูง) ได้น้อยลงมาโดยตลอด”

“เด็กไทยอายุ 15 ปี กว่าร้อยละ 65 ไม่สามารถอ่านจับใจความในบทความขนาดสั้นได้ เช่นเดียวกันกับคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ที่เด็กยังไม่สามารถนำความรู้มาแก้ปัญหาหรืออธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ ส่วนเด็กกลุ่มที่สามารถนำความรู้เหล่านี้มาใช้ได้อย่างดีเยี่ยม มีไม่ถึงร้อยละ 1 จากสัดส่วนทั้งหมด”

ทั้งนี้ หลักสูตรแกนกลางของการศึกษาไทยยังมีการใช้มายาวนานกว่า 15 ปี ซึ่งพบว่า นอกจากหลักสูตรล้าสมัยแล้ว สิ่งที่อยู่ในหลักสูตรและวิธีการเรียนรู้ยังไม่ส่งเสริมให้เกิดสมรรถนะ เพราะเน้นการสอนความรู้เป็นหลัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ส่งเสริมการคิดขั้นสูง

เมื่อ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ

นักวิจัยอาวุโสด้านการปฏิรูปการศึกษายังระบุต่อถึง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ระหว่างเด็กเก่งกับเด็กอ่อน ที่ช่องว่างระหว่างคะแนนแทบไม่เคยลดลงตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยอีกหนึ่งประการสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขร่วมกัน

(ที่มา: iStock by Getty Images)

ข้อเสนอ 3 ระยะ ปฏิรูปการศึกษาไทย

ดังนั้น ทีดีอาร์ไอจึงเสนอ 3 ระยะ ในการปรับปรุงการศึกษาแบบ ‘ยกเครื่อง’ โดยแผนงานแบบ Quick Win ที่รวดเร็วที่สุดคือการปรับปรุงในระยะสั้น (ภายใน 1 ปี) โดยการลดภาระงานอื่นๆ ของครู เช่น การจัดทำเอกสารโครงการ หรือการรายงานผลโครงการ เพื่อส่งเสริมให้การสอนเป็นไปได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

สำหรับข้อเสนอระยะกลาง (ภายใน 3 ปี) เสนอให้มีการปรับหลักสูตรแกนกลางใหม่ โดยให้อิงสมรรถนะและส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ รวมถึงออกแบบระบบอื่นๆ ให้สอดคล้องต่อหลักสูตร 

และข้อเสนอระยะยาวที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คือ การบริหารจัดการโรงเรียนเด็กเล็กเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ โดยมีนโยบายที่ชัดเจน ผ่านการ ‘บริหารควบรวมและพัฒนาเป็นเครือข่าย’ โดยเพิ่มมาตรการยกระดับการมีส่วนร่วมของชุมชน รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้ครูไปอยู่ในโรงเรียนเล็กห่างไกล

ทั้งนี้ โปรแกรมประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment: PISA) คือ โปรแกรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพของระบบการศึกษาในประเทศต่างๆ ในการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนได้มีศักยภาพ หรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตท่ามกลางโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นการประเมินจากการใช้ความรู้และทักษะชีวิตจริง มากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในห้องเรียน โดยโครงการนี้ริเริ่มจากองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Develeopment: OECD) ปัจจุบันนี้มีประเทศที่เข้าร่วมโครงการกว่า 80 ประเทศทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น


Writer

Avatar photo

รุอร พรหมประสิทธิ์

หนังสือ ไพ่ทาโรต์ กาแฟส้ม แมวสามสี และลิเวอร์พูล

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts