- “ก่อนหน้านี้มีสื่อหลายสำนักอยากจะถามและคุยเรื่องนี้ แต่ผมก็ไม่ได้ตอบตกลงให้สัมภาษณ์กับที่ไหนเลย”
- แต่หนนี้ ‘ทิม’ พิธา ตัดสินใจพูดเรื่องอ่อนไหว เปิดเผยความรู้สึกลึกๆ ข้างในใจ ทั้งๆ ที่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเขาคือ ความมั่นคงทางอารมณ์ของลูก
- “ไม่อยากให้ใครทุกข์ทรมาน เราลองผิดลองถูกมาเยอะพอสมควร ถ้าใครเจอแบบเรา เรื่องของเราอาจจะทำให้เขาง่ายขึ้น” เหตุผลของคุณพ่อวัย 41 ปี
“ช่วงที่เรื่องส่วนตัวผมพังที่สุดคือช่วงที่งานผมถึงความฝันมากที่สุด” กราฟชีวิตของ ‘ทิม’ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลวัย 41 ปี และคุณพ่อของ ‘พิพิม’ ลูกสาววัยใกล้ 6 ขวบ เป็นอย่างนี้
การสิ้นสุดบทบาทสามีกับการเริ่มต้นในอาชีพนักการเมืองแทบจะมาพร้อมๆ กัน หนนั้นมีการแถลงครั้งใหญ่ของ ‘ทิม’ พิธา ยังไม่รวมการให้ข้อมูลไปมาในฐานะพ่อและแม่ แต่หลังจากนั้นพื้นที่ของเรื่องราวส่วนตัวก็หายไป ทดแทนด้วยงานการเมืองที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ หลายคนรู้จักเขาจากการอภิปรายปัญหาเกษตรกรในสภาผ่านหัวข้อ ‘กระดุมห้าเม็ด’ ที่ชัดเจน หนักแน่น หวดหนักด้วยหมัดที่เข้าใจง่าย
แต่น้อยคนจะรู้ว่า ขุนพลฝ่ายเกษตรและเศรษฐกิจของพรรคอนาคตใหม่ในตอนนั้น อุ้มลูกที่ไม่สบายไปขณะร่างนโยบายกระดุมห้าเม็ดไป
เรารู้เรื่องนี้จากคำถามว่า มีช่วงที่ ‘ทิม’ พิธา พังบ้างไหม พังแบบจัดการไม่ได้
“ช่วงนั้นคือช่วงที่พิพิมกินนมเยอะ มีเสมหะลงท้อง คืออ้วก เอาเป็นว่ามีหลายครั้งในชีวิตที่ผมต้องอุ้มเขาไปด้วยแล้วเขียนคำอภิปรายไปด้วย หรืออุ้มเขาไปด้วยแล้วก็ซ้อมอภิปรายที่ผมตั้งใจว่าจะทำให้เป็นจุดสูงสุดของความฝัน”
วันนี้เขาเล่าไปยิ้มไป และบรรยายความนรกในช่วงนั้นอีกด้วยว่า
“what the hell (หัวเราะ) อะไรมันจะมาผสมปนเปกันได้ขนาดนี้”
อย่างตรงไปตรงมา บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้เริ่มต้นจากการสงสัยว่า ทำไม ‘ทิม’ พิธา ถึงตัดสินใจพูดเรื่องอ่อนไหว เปิดเผยความรู้สึกลึกๆ ข้างในใจเวลานี้ ทั้งๆ ที่สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเขาคือ ความมั่นคงทางอารมณ์ของลูก
คำตอบอยู่ตั้งแต่บรรทัดล่างเป็นต้นไป
หลังจากตัดสินใจจบความสัมพันธ์ กว่าจะตั้งสติได้นานไหม เพราะพอเป็นข่าว คุณทิมออกมาแถลงและให้สัมภาษณ์แทบจะทันที
ตั้งสติได้สำหรับลูก ตอนนั้นพอเอาลูกเป็นศูนย์กลางแล้ว ลูกต้องไม่มารับเรื่องความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ ลูกต้องไม่เป็นข่าว จังหวะนั้นผมคิดว่าต้อง respond แต่ไม่ react คือตอบสนองแต่ไม่ตอบโต้
พอรู้แล้วว่าครอบครัวเราคงไปต่อไม่ได้ ความรักเราคงจบ แต่ความเป็นครอบครัวยังไงมันก็ต้องไปต่อ พอมันเป็นอย่างนี้ปุ๊บก็เลยต้องเลือกทำแต่ละอย่างด้วยการเอาประโยชน์ของลูกมาเป็นหลัก แล้วถ้าอันไหนมันต้องตั้งสติ ก็ตั้งสติ แต่ว่าแน่นอนมันก็มีราคาที่ต้องจ่าย เพราะว่าสักวันหนึ่งมันก็ต้องกลับมาหาเรา เราต้องหาวิธี self-care (ดูแล) ตัวเอง ทำความเข้าใจตัวเอง ซึ่งในตอนนั้นก็ต้องค้นลึกเข้าไปในจิตใจเหมือนกันว่าจะทำยังไงให้มันผ่านไปได้
แล้วพอมองย้อนกลับไปก็จะเห็นช่วงเวลาที่มีความสุข ที่เป็นสิ่งดีๆ แต่ยังไงอดีตก็กลับไปไม่ได้ แต่อนาคตจะทำยังไงให้สามารถเป็นพ่อเป็นแม่ของลูกได้ ก็ต้องยอมรับว่าใช้เวลาพอสมควร แน่นอน มันยากที่จะพูดคุยกันในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะกับลูกที่ยังเล็กอยู่ (ขณะยุติความสัมพันธ์ พิพิมอายุประมาณสองขวบครึ่ง) มันก็ต้องมีการบริหารจัดการ แล้วก็ไปทำความเข้าใจความรู้สึกตัวเราเองที่อื่น คือไม่ได้ทำกับลูกหรืออดีตภรรยาอีกต่อไปแล้ว เราก็ต้องไปหาวิธีที่จะบริหารจัดการ อย่างออกกำลังกาย คุยกับคนที่เคยรักเรามาก่อน
นานแล้วที่ไม่ได้คุยกับแม่ ไม่ได้คุยกับญาติ ไม่ได้คุยกับลูกพี่ลูกน้องที่โตมาด้วยกัน เจอหน้ากันตามงานวันเกิดวันปีใหม่ แต่เราก็ไม่ได้ reconnect กับเขานานแล้ว เป็นช่วงที่ต้องยอมรับเลยว่าตอนนั้นเราต้องการความช่วยเหลือ คุยกับคนโน้นคุยกับคนนี้ หาทั้งความช่วยเหลือทั้งในเรื่องของเวลา ให้เรามีเวลาอยู่กับตัวเราเองด้วย ก็เป็นช่วงประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว มันเป็นระบบที่ดีที่ทำให้เราสามารถทำความเข้าใจกับมันได้ ทั้งเพื่อลูกเรา และทำความเข้าใจกับตัวเองด้วย
เสียใจไหม ก็ต้องเสียใจเป็นธรรมดา แต่ว่าเราไม่ได้เสียศูนย์ ทำให้เรามีแรงที่จะทำงานต่อ ดูแลลูกเราต่อ ทำงานที่เรารักต่อ
ในความสัมพันธ์ที่จบลงไป ต่างคนต่างผิดพลาด คิดว่าอะไรเป็นความผิดพลาดของคุณทิมบ้าง
อันที่หนึ่งเลยคือ ได้เข้าใจว่าความรักเป็นพื้นที่ที่ทั้งอบอุ่น พื้นที่ที่เจ็บปวด แล้วก็เป็นพื้นที่ให้เติบโต จากก่อนหน้านี้เรารู้สึกว่าความรักมันเป็นพื้นที่สำหรับความอบอุ่น การตกหลุมรักกันหลายๆ ครั้ง โดยไม่ได้คิดถึงพื้นที่ด้านลบของมัน
มันเป็นสัจธรรมที่เราอาจจะมองข้ามไปว่า มันคือพื้นที่ที่ทำให้เรารู้สึกว่าความเจ็บปวดที่มาจากความรักก็เป็นเรื่องธรรมดา
ถามว่าถ้าย้อนกลับไปแล้วจะทำยังไง ก็ไม่ได้คิดที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร มันเป็นความรู้สึกที่ดี อยู่ด้วยกันมา 10 กว่าปี แต่งงาน 6 ปี และอีก 4-5 ปีในสถานะคนรัก
บอกตรงๆ ไม่เคยคิดเลยว่าชีวิตนี้จะต้องแยกจากกัน แต่ในเมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็หาวิธีที่จะยอมรับได้ ซึ่งเป็นมุมของความรักที่เราไม่เคยรู้สึกมาก่อน แน่นอนว่าเราก็เป็นคนมีจุดอ่อน เป็นสามีที่ไม่ได้เพอร์เฟ็คต์ ที่ผ่านมาก็อาจจะทำให้ความรักมันไปต่อไม่ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องของความรัก แต่เราก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คนอื่นเขากล่าวหาด้วยเช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้นก็ต้องทำใจในมุมนี้แล้วก็ไปต่อ ยากไหม ยาก แต่จะถามว่าหมดศรัทธากับความรักไหมก็ไม่ ก็ยังคิดว่าถ้ามันถึงเวลาก็คงจะมาเอง แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้เท่านั้นเอง (หัวเราะ)
เวลาที่ได้อยู่กับตัวเอง ได้คิดกับตัวเอง ได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง
expectation ของเราก่อนที่จะมาถึงวันนี้ เราคิดว่าความรักเป็นอะไรที่อบอุ่น เป็นบวก เป็นพื้นที่ที่มีแต่เรื่องดีๆ ตลอดเวลา โดยที่เราไม่ได้นึกถึงว่าจริงๆ แล้วก็มีความเจ็บปวดซ่อนอยู่ในความรักเช่นเดียวกัน
ผมคิดว่าถ้าเกิดเราเข้าใจ expectation นี้ตั้งแต่แรก หลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างก็อาจจะไปได้ราบรื่นมากกว่านี้ แต่ไม่ได้คิดย้อนกลับไปว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็เรียนรู้ในสิ่งที่ดีๆ เรียนรู้ในสิ่งที่เราทำแล้วทั้งเขาและเรามีความสุข เรียนรู้ว่ามันก็มีความเปลี่ยนแปลงได้ในตัวของมันเองโดยที่เราไม่ได้โทษว่าเป็นความผิดของใคร รู้ว่ามันมีพื้นที่เจ็บปวด รู้ว่ามีความเปลี่ยนแปลง เรียนรู้ว่ามันอาจจะไม่ใช่นิรันดร แต่มันก็ไม่ใช่ความผิดของความรักซะทีเดียว มันอาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยคนสองคน มันเปลี่ยนแปลงด้วยตัวของมันเอง ก็ต้องยอมรับ
สำหรับคุณทิม จุดไหนในความสัมพันธ์ที่ทำให้รู้สึกว่าพอแค่นี้ดีกว่า
เพราะรู้สึกว่าแยกกันอยู่มีความสุขกว่าอยู่ด้วยกันสำหรับลูก แต่บางคน อยู่ด้วยกันต่อไปแล้วอาจจะมีความสุขกว่าก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าเขาหาความสุขด้วยวิธีของเขาเองได้ แต่สำหรับผมรู้สึกว่าถ้าต่างคนต่างอยู่ แยกกันอยู่ แล้วก็เป็นพ่อเป็นแม่ของลูกอยู่อย่างนี้ มันน่าจะดีกว่า ก็ต้องยอมรับว่าการตัดสินใจตอนนั้นเอาลูกมาตั้งเป็นหลักพอสมควร
ยังตลกอยู่เลยว่า ตอนนั้นมีนิทานเล่มหนึ่ง ลูกเดินไปหยิบมาเองโดยที่ไม่ได้ตั้งใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับจระเข้กับยีราฟ ยีราฟไปอยู่ในบ้านของจระเข้แล้วไม่มีความสุข จระเข้ไปอยู่ในบ้านของยีราฟก็ไม่มีความสุข ต่างคนต่างอยู่มีความสุขมากกว่า ก็เป็นคำตอบที่ตอบคุณ และเป็นคำตอบที่ตอบพิพิมด้วยว่าทำไมพ่อแม่ไม่อยู่ด้วยกัน แต่ยังไงพ่อกับแม่ก็รักพิพิมเหมือนเดิม พิพิมจะได้เจอพ่อกับแม่เหมือนเดิม แล้วก็ไม่ใช่ความผิดของพิพิมที่เราแยกกันอยู่ ยังไงชีวิตพิพิมก็ยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลยนะลูก
เมื่อตัดสินใจตรงนั้นได้ ที่เหลือก็พอที่จะทุเลา พอที่จะง่าย แต่ไอ้ช่วงที่จะดูอาการ ดูความคิดตัวเองมันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ มันเป็นเรื่องที่เอาแค่ logic มาคิดไม่ได้ หรือเอาความรู้สึกมาคิดมันก็ไม่ได้ (หัวเราะ) สองอันผสมกันมันก็ไม่ได้ มันก็เลยไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครคนใดคนหนึ่ง
ถ้าย้อนกลับไป จุดไหนคือจุดที่ยากที่สุด
(นึก) ยากที่สุดน่าจะเป็นความไม่รู้นะ เป็นอารมณ์ในใจของเราเอง พอเราตัดสินใจแล้วว่าเราจะไม่ย้อนอดีต เราจะอยู่กับอนาคตแล้ว แน่นอน เราก็ฝันไว้ว่าอยากจะเป็นพ่อที่ดูแลลูก ผมโตมาในครอบครัวที่ผมอยู่นิวซีแลนด์ พ่อมีหน้าที่ไม่ต่างจากแม่ กลับบ้านมาเลี้ยงลูกเปลี่ยนผ้าอ้อม ตอนเขาเกิดต้องอยู่กับเรา 24 ชั่วโมง ของผมก็มีอยู่หลายช่วงที่ไม่มีพี่เลี้ยงมีแต่เรากับลูกสองคนในบ้าน
ตอนนั้นก็กังวลใจ มันเป็นเวลาที่พึ่งยูทูบพอสมควร (หัวเราะ) พึ่งเพื่อนคนอื่นพอสมควร เราก็ไม่รู้ว่า เฮ้ย อย่างงี้ต้องทำยังไง ทำไงดีลูกร้องไห้ไม่หยุด มันมีช่วงโกลาหลเหมือนในหนัง เราก็ doubt (สงสัย) ตัวเองพอสมควรว่าจะทำได้ไหม จะดูแลเขาได้ไหม โดยที่ตอนนั้นเริ่มมีเรื่องการเมืองเข้ามา อนาคตใหม่เพิ่งประกาศตั้งพรรค เราก็ยังไม่รู้ว่าจะเข้าไปทำงานการเมืองหรือเปล่า
รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายแล้วเราอยากจะดูแลลูกทุกอย่างด้วยตัวของเราเอง ไม่ใช่แค่กลับบ้านมาเล่นนิดหน่อย ไม่ใช่แค่เปลี่ยนผ้าอ้อมให้เขานิดหน่อย ไม่ใช่ว่าสอนการบ้านเขานิดหน่อย แต่อยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมงติดกัน 4-5 อาทิตย์ หลังๆ มาก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ยากอย่างที่คิด เวลาไปเที่ยวกันก็สองคนพ่อลูกตลอด ไปต่างประเทศสิบกว่าวันมีแต่ผมกับลูกสองคน ก็ผ่านมาได้ พอผ่านมาได้ก็เบา แต่ก่อนที่จะมาถึงตรงนี้ได้ ไอ้ความกังวล ความไม่มั่นใจในตัวเอง self-doubt มันมีเยอะอยู่พอสมควร
ข้อดีของมันก็มี คือเราเอาหัวไปวุ่นกับตรงนี้ ตรงอื่นก็จะได้ไม่ต้องไปนึกถึงมันหรือไม่ต้องไปกังวลกับมันมากจนเกินไป พอเรารู้แล้วว่าอนาคตเรากับลูก just the two of us แบบนี้มันส่งผลต่อแก่นของการคิด แก่นของการแก้ปัญหาต่อไปในอนาคตพอสมควร
ในสังคมไทย เป็นสังคมที่มีถูกมีผิด มีขาวมีดำ มีการตัดสินว่าถ้าเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยวจะเป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวจะเป็นอย่างนี้ จังหวะที่คุณทิมตัดสินใจ กังวลเรื่องพวกนี้บ้างไหม
ไม่เลยครับ (ตอบทันที) ผมไม่เคยคิดว่าจะเป็นทาสของ discrimination แค่รู้สึกว่าลูกเราจะเป็นยังไงมากกว่า ถ้าเราเอาลูกเป็นที่ตั้งแล้วก็ดูซิว่า outcome จะเป็นยังไง
กับการเป็นคนมีชื่อเสียง กังวลเรื่องพวกนี้บ้างไหม
กังวลเพราะลูกอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นคนมีชื่อเสียงหรือไม่มีชื่อเสียงก็คงจะ handle ในแบบที่ต้องยอมรับว่าเราโดนตรวจสอบได้ เราก็ต้องยอมรับว่าเราโดนวิพากษ์วิจารณ์ได้เป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนก็เคยเป็นตัวร้ายในเรื่องเล่าของคนอื่นเหมือนกัน ถ้าเกิดเราหนีตรงนี้ไม่ได้เราจะกลายเป็นทาสในคำพูดของคนอื่นไปตลอดชีวิต แล้วชีวิตเราจะไม่มีความสุขเลย
ผมไม่ได้คิดว่าลูกจะต้องมีวุฒิภาวะหรือว่าเข้มแข็ง แต่ตอนนี้เขาก็เข้มแข็งพอแล้ว สบายใจขึ้นเยอะพอสมควร เขาเข้มแข็งกว่าตอนสองสามขวบ
คุณทิมเห็นจากอะไรบ้าง ถึงบอกว่าลูกเข้มแข็ง
การตั้งคำถามของเขา การชวนคุย การเล่า อย่างที่บอกว่าสองสามปีแรก ลูกต้องการที่จะเอาใจเรา พอลูกอยู่กับแม่ เขาก็จะเอาใจแม่ ไม่พูดถึงพ่อ พออยู่กับพ่อก็จะพูดถึงพ่อแล้วพยายามไม่พูดถึงแม่ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของเด็ก ไม่ได้เป็นความผิดของพ่อแม่คนไหนเลยนะ คือลูกเกิดมาเพื่อที่จะทำแบบนั้น
แต่พอเขาเริ่มเข้าใจว่ามันมี routine ของมันอยู่นะ เขาก็เริ่มตั้งคำถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นทำไมถึงเป็นอย่างนี้ด้วยความเข้าใจ พอเราได้อธิบาย ผมก็เลยรู้สึกว่า โอเค ก็เปิดใจพร้อมที่จะพูดคุยเรื่องแบบนี้ แล้วก็เริ่มที่จะเข้าใจ ไอ้คนที่เหงื่อตกก็กลายเป็นพ่อซะมากกว่า (หัวเราะ)
ตอนนี้ momentum มันดีขึ้นเรื่อยๆ?
ใช่ๆ แล้วก็อยู่ที่การบริหารจัดการ เด็กเขาต้องการ routine เขาต้องการความสม่ำเสมอให้ได้ ทั้งบ้านพ่อบ้านแม่ ต้องพยายามคุยกับเขาให้เข้าใจทั้งสองฝ่าย เช่น กลับถึงบ้านทำอะไร นอนประมาณกี่โมง ไม่อย่างนั้น ขนาดเราเป็นผู้ใหญ่ให้ย้าย 2 บ้านไปๆ มาๆ เรายังรู้สึกหลับไม่ได้ นอนไม่พอ ถ้าเกิดมันมี routine อย่างนี้ทั้งในแง่ของกิจวัตรประจำวัน และสามารถ handle คำถามเขาอย่างตรงไปตรงมา ไม่พูดอ้อมๆ ไม่หลอกเขา ไม่พูดถึงอีกฝ่ายหนึ่งในทางที่ไม่ดี ไม่ฝากสิ่งที่เราอยากจะบอกอดีตภรรยาผ่านลูก หรือให้ลูกเป็นเมสเซนเจอร์
เรื่องพวกนี้ถ้าเกิดมันมี boundary (ขอบเขต) ที่คุยกันชัดเจน มันจะทำให้ชีวิตเราไปต่อได้
คุณทิมเคยบอกว่าตอนนี้แตกสลายอยู่ อะไรที่ทำให้บอกตัวเองอย่างนั้น
ด้วยความเป็นมนุษย์ มันก็จะมีอะไรมากระทบอารมณ์เราทุกวันอยู่แล้ว ทั้งเรื่องที่เราควบคุมได้และเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ กับเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้เรายังมีวิธีการบริหารจัดการกับอารมณ์ของเราทุกวันเพื่อให้ตัวเองทำงานต่อได้ เราจะไม่รอจนถึงจุดที่เราไม่ไหว แล้วค่อยไปดูแลตัวเอง self-care ตัวเอง ออกกำลังกาย คุยกับเพื่อน แล้วกลับมาคุยกับตัวเอง
มันเป็นสิ่งที่คนที่ไม่ผ่านความเจ็บปวดมาก่อนอาจจะไม่เข้าใจ แต่ถ้าเกิดใครที่ผ่านความเจ็บปวดมาก่อนแล้วก้าวข้ามมันได้ ก็จะรู้สึกว่า โอเค มันไม่ใช่หนังที่เริ่มต้นแล้วจบ แต่มันคือชีวิตที่คงจะกลับไปกลับมาจนกระทั่งเรารู้ว่า โอเค กลับมาเมื่อไหร่เราพร้อมที่จะ handle มันแล้วก็ชนะมันทุกครั้งได้ มันอาจเป็นความรู้สึกแบบนั้นมากกว่า
ตอนนี้มีแพ้บ้าง ชนะบ้าง?
ก็ยังคิดว่าชนะอยู่ทุกครั้งนะ ยังพร้อมที่จะลุกขึ้นมาใช้ชีวิตแล้วก็ทำงานต่อไป เพียงแต่ว่าจะยากจะง่ายเท่านั้นเอง เหมือนกับว่ามันต้อง reinvent ตัวเองอยู่ตลอดเวลา จากที่เคยมองว่ากีฬาเป็นแค่ความสนุก จริงๆ แล้วมันก็กลายเป็นเรื่องหนึ่งที่ทำให้เรามีสมาธิกับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และทำให้เราลืมคิดถึงสิ่งที่วนในหัวตลอดเวลา มันทำให้มีพื้นที่อื่นๆ ในสมอง ทำให้สามารถอยู่กับมันได้ มีวิธีบริหารจัดการได้ กล้าที่จะขอความช่วยเหลือหรือว่าพูดคุยกับคนอื่นที่รักเราได้ ทำให้ชีวิตไปต่อได้
ถ้ารู้สึกว่าวันนี้ไม่ไหว หาทางออกหรือปล่อยอย่างไร
ตอนนี้รู้สึกว่าสิ่งที่ช่วยที่สุดคือ เขียน journal ด้วยตัวเอง เขียนเช้า-เย็น โดยไม่ต้องไปคำนึงถึงความสวยงามของภาษา รู้สึกอย่างไรก็เขียนแบบนั้น ทำให้ตัวเองสามารถผ่านไปได้ บางทีเราคิดมากเกินไปจนเราสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง แต่พอได้เขียน jounal เหมือนได้ mind dump ได้ทิ้งทุ่น (หัวเราะ) มันก็ทำให้เราได้รับการตอบสนอง ช่วยได้พอสมควร
วางความเป็นพ่อ วางความเป็นนักการเมืองไว้ก่อน แล้วอยู่กับตัวเองจริงๆ มีช็อตแบบนั้นบ้างไหม
เยอะมาก เสาร์อาทิตย์ลูกไม่อยู่ (อยู่กับคุณต่าย) ช่วงแรกๆ มันก็จะรู้สึกโหวงๆ ปกติจันทร์ถึงศุกร์จะเป็นวันที่ทำงานหนักแล้วกลับบ้านมาก็ต้องเลี้ยงลูก คุย Zoom วงของเราเสร็จ ก็ต้อง Zoom วงของลูกต่อ แล้วก็ต้อง Zoom วงของเราต่อ มันก็จะมีอะไรที่ occupied ชีวิตเราตลอด แต่พอเสาร์อาทิตย์เริ่มว่าง ลูกไม่อยู่ ก็จะเป็นช่วงที่เรากลับมาคุยกับตัวเองได้บ่อยมากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นข้อดี (หัวเราะ) หรือเป็นข้อไม่ดีก็ได้ มันก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติเรา ว่าเราจะใช้เวลา 48 ชั่วโมงตรงนั้นยังไง
กีฬาที่เลิกเล่นก็ต้องกลับมาเล่นใหม่ ดนตรีที่เลิกเล่นไปแล้วก็ต้องกลับมาเล่นใหม่ เพลงที่เลิกฟังไปแล้วก็ต้องกลับมาฟังใหม่ คนที่เคยรักเราปรารถนาดีกับเราสมัยก่อนที่จะมีลูก ก็ต้องกลับมารักกันใหม่เพื่อที่จะทำให้เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ทำให้จิตใจเราเข้มแข็งมากขึ้น
ช่วงแรกๆ มันต้องมีการปรับตัว เพราะทิ้งมานาน (หัวเราะ) แต่ทุกวันนี้ก็กลับมาทำ hobby ที่ตัวเองชอบ แต่ตอนนี้ก็กลายเป็นเวลาที่ใช้ลงพื้นที่ซะส่วนใหญ่ (หัวเราะ) ศุกร์เสาร์อาทิตย์ก็จะเหนือ ใต้ อีสาน ตะวันตก ตะวันออก มัน recharge ทำให้กลับมามีพลัง
กลับมาวันจันทร์ก็คิดถึงลูกเป็นพิเศษ (ยิ้ม) ลูกกลับมาถึงแล้วก็จะถามว่าพ่อไปไหนมา เอารูปเอาวิดีโอมาให้ดูหน่อย พ่อไปยังไงบ้าง ทำไมไม่พาพิพิมไป เราก็ถามว่าคราวหน้าเป็นวันปีใหม่ของพี่น้องชาติพันธุ์นะ พิพิมอยากไปไหม เขาก็อยากไป เขาชอบขึ้นเหนือ จะนะ สงขลาก็ไปแล้ว เขาจะรู้สึกว่าเหมือนได้ไปเที่ยว ได้เห็นอะไรที่มันต่างออกไป แล้วก็กลับมาเล่าให้เพื่อนที่โรงเรียนฟัง เป็นวิถีชีวิตที่พอจะกลมกลืนกันไปได้พอสมควร
มีช็อตที่ไม่ได้ productive บ้างไหม เท่าที่คุยกันมาตั้งแต่แรก ดูต้องหาอะไรทำ ทิม พิธาว่างได้ไหม
อืม ช่วงแรกๆ ไม่น่าได้นะ เพราะว่างแล้วมันไม่ได้เป็นประโยชน์กับตัวเอง ไม่ได้เป็นประโยชน์กับการเป็นพ่อมากนัก แต่ว่าพอช่วงหลังๆ ก็อยากว่างกับเขาเหมือนกัน (หัวเราะ) อยากว่าง อยากอ่านหนังสือที่ตัวเองชอบ ก็ไม่ได้ว่างอยู่ดี
อยู่กับตัวเองได้ไหม ได้สิ ฟังเพลงเยอะ ฟังเพลงยาว อ่านหนังสือนิดหน่อย มีอยู่ๆ ซึ่งมีความสุขมาก
มีช่วงที่ ทิม พิธา พังบ้างไหม พังแบบจัดการไม่ได้
ชัดๆ เลยน่าจะก่อนตัดสินใจทำงานการเมือง คือผมสนใจการเมืองมา 20 กว่าปี ไปเรียนปริญญาโทเกี่ยวกับการเมืองมา(1) เพราะฉะนั้นในช่วงที่เรื่องส่วนตัวพังที่สุดคือช่วงที่ผมไปถึงความฝันผมมากที่สุดพร้อมๆ กัน
ตอนที่อธิบายกระดุมห้าเม็ด ที่เป็นช็อตแจ้งเกิดทางการเมืองของผมสำหรับคนอื่น แต่ช่วงนั้นคือช่วงที่พิพิมกินนมเยอะ มีเสมหะลงท้อง คืออ้วก เอาเป็นว่ามีหลายครั้งในชีวิตที่ผมต้องอุ้มเขาไปด้วยแล้วเขียนคำอภิปรายไปด้วย หรืออุ้มเขาไปด้วยแล้วก็ซ้อมอภิปรายที่ผมตั้งใจว่าจะทำให้เป็นจุดสูงสุดของความฝัน
มันเป็นสิ่งสำคัญทั้งสองอย่าง ลูกก็สำคัญ งานก็สำคัญ จัดการยากใช่ไหม
ใช่ เป็นประธานกรรมาธิการแต่ไปประชุมสายเพราะต้องไปส่งลูกก่อนแล้วลูกไม่ยอมไป ให้ผมทำไง (หัวเราะ) จะให้ผมอุ้มเขาลงไปก็ไม่ได้ เขายังอยากจะเล่นของเล่นของเขาอยู่ แล้วเรายังไม่รู้วิธีที่จะพูดหรือบริหารจัดการกับเขา แต่อีกด้านเราเป็นประธานฯ ทั้งห้อง 40 คนรอเราอยู่คนเดียว (หัวเราะ)
เรื่องแบบนี้คุณทิมรู้สึกผิดไหม หรือรู้สึกให้อภัยตัวเอง
รู้สึกแบบ what the hell (หัวเราะ) อะไรมันจะมาผสมปนเปกันได้ขนาดนี้ แต่พอกลับมาตอนนี้คือขำแล้วล่ะ สักวันหนึ่งถ้าเล่าให้ลูกฟัง เขาคงตลก แต่ตอนที่มันแหลมคมอย่างเช่น 2 ปีที่แล้วพรรคกำลังจะโดนยุบ หรือตอนต้องขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค พิพิมแค่ 3 ขวบครึ่ง ยังเป็นช่วงที่ยากลำบากอยู่พอสมควร ตอนนั้นก็แค่คิดในใจว่า มันต้องมีช่วงพังแน่ๆ แต่เราก็ยังพังไปข้างหน้า พังแบบ fall forward ไม่ได้ fall backward ก็เลยตัดสินใจว่า โอเค เดี๋ยวถึงเวลาก็ค่อยว่ากันอีกที
ส.ส. ที่เขาหวังให้เราเป็นหัวหน้าก็บอกเขาว่าคุณเลี้ยงลูกผมสิ (หัวเราะ) แล้วเขาก็ช่วยกันเลี้ยงจริงๆ คุณไหม-ศิริกัญญา, คุณเบญจา, พี่วิโรจน์, ครูจุ๊ย เวลาไป outing ของพรรค ลูกก็ต้องไปด้วยเพราะไม่มีใครเลี้ยง เขาก็ผลัดกันพาไปเล่น ซึ่งร้ายก็กลายเป็นดีไปตรงที่เขาก็เข้ากับใครได้ง่าย มีผู้ใหญ่ที่เขาจะรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ด้วย อันนี้ก็ลดความเป็นขั้วของพ่อและแม่ลงไปพอสมควร
คุณพ่อหลายๆ คนที่ผ่านมา จะจัดการโดยให้คนอื่นเลี้ยง ฝากญาติ หรือให้คุณแม่เป็นคนเลี้ยงไป ทำไมคุณทิมถึงรู้สึกว่าเราต้องเป็นคุณพ่อ fulltime
แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองต้องเลี้ยงลูก 100 เปอร์เซ็นต์ ตลอดเวลา ก็ขอความช่วยเหลืออยู่เป็นประจำ แต่เราอยากอยู่กับลูกทุกวันตลอดเวลา อย่างน้อยที่สุดถ้าวันไหนยุ่ง แต่ได้กลับบ้านมาเข้านอนกับเขา กลับมาอ่านนิทานสักเรื่องสองเรื่องก็น่าจะเป็นการใช้เวลาที่มีประโยชน์มากที่สุดในการ connect กับลูก
คนที่คุณทิมขอให้ช่วยมีใครบ้าง
แม่ น้องชาย น้องสะใภ้ ลูกพี่ลูกน้อง เลขาฯ เพื่อนที่พรรค เพื่อนสมัยเด็ก คุณครู ครูที่สอนว่ายน้ำ เยอะ มีคนคอยช่วยตลอดเวลา
พอเราปรับใจได้แล้วว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และกล้าหาญมากพอที่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ชีวิตมันก็เบาขึ้นเยอะ
ช่วยในความหมายคือช่วยดูพิพิมหรือช่วยคุณทิมเอง
ทั้งหมด เพื่อนรักตอนเด็กๆ ที่ปกติคุยกันแต่เรื่องผิวเผิน เขาก็มานั่งคุยนั่งฟังให้เราได้เอาอะไรที่มันอยู่ในหัวออกมา
เรายอมปล่อยความรู้สึกในใจเราให้กับคนอื่นแล้ว เชื่อใจเขา ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นความอ่อนแอที่ไม่สามารถแชร์ให้คนอื่นฟังได้
ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นี้ แชร์บ้างไหม
ตอนที่ตัดสินใจได้แล้ว ตอนที่รู้สึกว่ากังวลว่าชีวิตเราจะไปต่อยังไง ก็เริ่มรู้สึกแล้วว่าถ้าเราปล่อยตัวเอง เราจะไม่สามารถเลี้ยงพิพิมขึ้นมาให้ดีได้ เพราะเรายังเอาตัวเองไม่รอด ก็น่าจะใช้เวลาประมาณสัก 3-4 เดือน
ตอนนี้พิพิมไม่รู้สึกอะไรแล้ว ตอนแรกๆ เขาก็รู้สึกทำไมพ่อไม่เป็นคนไปส่งเขาเอง ทำไมพ่อไม่เป็นคนไปรับ ทำไมพ่อไม่กลับบ้านมาอ่านนิทาน ความจริงคือสภาเปิดแล้วลูก พ่อก็ต้องไป ถ้าอยากไปก็ต้องไปสภากับพ่อนะ
การที่เขาโตขึ้น มันก็มีทั้งอะไรที่ดีขึ้นและมีอะไรที่เราไม่เคยเจอมาก่อน แล้วผมก็ยังไม่รู้ด้วยว่าผมจะเจออะไรต่อ ตอนที่เขาโตมากกว่านี้ เข้าใจอะไรมากกว่านี้ ตอนที่เขามีเพื่อนใหม่ๆ มากกว่านี้ ถึงเวลานั้นคงมีอะไรใหม่ๆ ก็คงต้องแก้ไขปัญหาทีละเปลาะ ค่อยๆ ว่ากันไป
เป็นพ่อที่เลี้ยงลูกสาวและเป็นคุณพ่อที่ผ่านความผิดหวังในความรักมา กังวลไหมว่าลูกสาวต้องไปเผชิญเรื่องนี้เหมือนกัน
ไม่มีทาง คุณอย่าเอาไม้บรรทัดตัวเองไปวัดคนอื่นเลย ถึงจะยาก ถึงจะใช้เวลากว่าจะผ่านมันได้ แต่ผมไม่เคยหมดศรัทธาในความรักแล้วก็ไม่เคยปิดกั้นตัวเอง
ถ้าลูกถามว่าความรักคืออะไร คุณทิมจะสอนลูกว่าอย่างไร
ทำให้เห็น หลายสิ่งหลายอย่างพอพูดไป เขาจะไม่รู้สึกเท่ากับการทำเป็นตัวอย่างให้เห็น ซึ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือเวลาที่เขาผิดคำสัญญาหรือดื้อ ถ้าเป็นวิธีคิดเก่าๆ อย่างที่เราเจอมาก็คงโดนทำโทษหรือโดน time out แต่การที่เราคอยดูแลเขาอยู่ห่างๆ และพยายามจะบอกว่าเขารู้สึกอะไรแบบไหน กับการมี boundary คือคุยด้วยไม่ได้จนกว่าจะเข้าใจความรู้สึกตัวเองและสงบสติอารมณ์ลง หลังจากนั้นค่อยมาหาวิธีแก้ปัญหาด้วยกันก็น่าจะพอที่จะพิสูจน์ให้เขาเห็นได้ว่าความรักมันคืออะไร
หรือเวลาพ่อเหนื่อยมากแล้ว จะขอ time out ทันที พิพิมไม่ต้องสนใจ ก็ไม่รู้ว่าเป็นวิธีที่ถูกหรือผิดหรือเปล่านะ แต่ว่าลูกผมสงบได้เร็วขึ้นกว่าการดุเขาหรือไปทำอะไรที่มันกระทบจิตใจเขามากกว่า ก็หวังว่าเขาจะรู้สึก
ขออนุญาตถามเรื่อง co-parenting ตอนนี้ก็ยังไม่สามารถใช้คำว่าเพื่อนกับคุณต่ายได้ใช่ไหม
ใช้คำว่าเป็นแม่ของพิพิมได้ ยังใช้คำว่าครอบครัวอยู่ได้ แต่ไม่ได้เจอกัน
วิธีการสื่อสาร การตัดสินใจเรื่องลูก เข้าใจว่าจะมีข้อที่ควรเคร่งครัดกับบางข้อที่ยืดหยุ่นได้ มีหลักอย่างไร
ถ้าเอาลูกเป็นหลัก ผมคิดว่ารูทีนของลูกสำคัญ เคร่งครัดนิดหนึ่ง แต่ถ้าอะไรที่มันไม่เกี่ยวข้องกับลูกเลยก็ยืดหยุ่น อะไรก็ได้ ทำตามความถนัดของตัวเอง คุณต่ายเขาจะเก่งเรื่องศิลปะ ดนตรี เขาก็จะดูแลลูกทางด้านนี้ ผมก็จะดูเรื่องการเรียน activity กีฬา ซึ่งตรงนี้มันใช้เวลา ก็คงไม่ได้แบ่งกันเป๊ะๆ ว่าอย่างนู้นอย่างนี้ ลองผิดลองถูก แล้วดูว่าอันไหนลูกมีความสุขมากที่สุด
แต่ถ้ามันไม่มี boundary (กรอบ/ขอบเขต) ในการพูดคุยกันเลย ตอนที่เป็นสามีภรรยายังไม่สามารถคุยกันได้ ตอนนี้เป็นพ่อกับแม่ของลูกแล้วก็ยังไม่มี boundary อีก มันจะยิ่งทำให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีไปตกอยู่กับลูก ก็คงต้องลองผิดลองถูก
ตอบไม่ได้ว่ารายละเอียดแต่ละอันเป็นอย่างไร แต่หลักสำคัญคือว่าเอาลูกเป็นศูนย์กลาง ลูกเป็น center ไม่ได้เป็น middle หรือตัวกลาง เราสื่อสารกันแบบ professional ไม่ได้คิดว่าเขาคือภรรยาของเราอีกต่อไปแล้ว และผมไม่ได้เป็นสามีของเขาอีกต่อไป เขาเป็นคนที่เราต้องให้ความเกรงใจในการพูดจา เรากับเขาจำเป็นต้องสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา ลูกต้องไม่เป็นตัวกลาง
ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘united front’ คือ คุยกันให้รู้เรื่องว่าเราและเขาจะไม่พูดถึงกันในแง่ไม่ดีต่อหน้าลูก ถึงแม้ข้างหลังจะมีปัญหายังไงก็ตาม ผู้ใหญ่ต้องมาบริหารจัดการกันเอง เรื่องนี้ต้อง strict พอสมควร แต่ถึงแม้ว่าเราจะคิดว่า strict แน่นอนมันก็มีความเป็นมนุษย์ เดี๋ยวมันก็หลุดไปมา แต่ระยะเวลาก็จะค่อยๆ ทำให้มันดีขึ้น ก็ต้องเป็นกำลังใจคุณพ่อคุณแม่ที่ต้อง co-parenting มันต้องใช้เวลา
วิธีการทำความเข้าใจเรื่อง co-parenting คุณทิมค้นหาข้อมูลจากไหน
Helpguide.org
ในสังคมไทยยังไม่มี?
สำหรับผม ก็พาพิพิมไปหา behaviors specialist ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ตอนเด็กๆ คุณแม่ก็พาผมไปหา
ก็ยังต้องยอมรับว่า resource มาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่และเราก็ต้องเอามาปรับให้เข้ากับบริบทของสังคมไทยว่าอะไรเหมาะสม ไม่เหมาะสม
แต่ co-parenting น่าจะเป็นเรื่องปกติที่หลายคนเคยผ่าน เคยเจอมาเยอะพอสมควร เช่น ภายในอาทิตย์เดียวลูกต้องย้าย 2-3 ที่ มันยากมากในการที่จะเอาลูกออกจากอกเราเพื่อไปอีกที่นึง แต่ก็จะมีวิธีที่โอเค เช่น คุณต้อง adopt ลูก โดยการส่งลูกไปรอในจุดที่เหมาะสม แล้วอีกฝ่ายหนึ่งมารับ ไม่ควรเป็นการส่งต่อเหมือนส่งสิ่งของ มันเป็นรายละเอียดเล็กๆ ที่เรานึกไม่ถึง แต่ดีเทลต่างๆ แบบนี้ เดี๋ยวมันค่อยๆ โผล่ขึ้นมาเอง
ผมมี Helpguide.org มี beanstalkmums.com.au ของออสเตรเลีย ที่คอยช่วยเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราไม่รู้จะปรึกษาใคร ให้มันง่ายขึ้น เราก็เอาหลักการมา adapt เช่น วางระเบียบยังไง วาง schedule วาง calendar ยังไง ทำยังไงให้ลูกรู้สึกว่าสองบ้านไม่ได้ต่างกันมาก
เช่น เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ มี 2 ชุด แปรงสีฟันมี 2 ชุด ใช้ playlist เดียวกันเวลาฟังเพลงทำให้เขารู้สึกว่าไม่ได้ต่างกันมากเกินไป ของสองบ้าน ก็เป็นรายละเอียดที่ต้องค่อยๆ เก็บ แล้วเดี๋ยวมันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ปรับกันไปเรื่อยๆ
แน่นอน ตามหลักการไม่มีใครเหมือนใคร แต่หลักการคือคุณไม่โกหกและไม่พูดในสิ่งที่ลูกยังไม่เข้าใจ คราวนี้เมื่อนำมาปฏิบัติเป็นรูปธรรม คุณทำยังไงให้เหมาะสมกับลูกคุณ ผมก็แค่ต้องการหลักตรงนั้น แล้วพอถึงเวลาเราก็เป็นคนตัดสินใจ เพราะเรารู้จักลูกเราดีกว่าทุกคนในโลกนี้
ผมก็พยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้มันเต็มที่ที่สุด แล้วอะไรที่เราไม่รู้ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นหายนะของชีวิต ยังมีคนที่เขารู้มาก่อน พอที่จะให้หลักเราในการคิด ให้เราเอาไปบริหารจัดการต่อได้ในอนาคต
แค่พิมพ์ชื่อคุณทิมในกูเกิล ก็เจอ digital footprint เต็มไปหมด แง่ลบก็มาก คุณทิมกังวลไหม และมีวิธีจัดการอย่างไร
นั่นคือสาเหตุว่าทุกครั้งเวลามีอะไรแบบนี้ ผมเลือกที่จะตอบสนองกับคำถาม ไม่อยากตอบโต้ ที่ผ่านมาก็ไม่เคยหลีกเลี่ยงนะครับ ถ้ามีสื่อหรือประชาชนถามก็พยายามตอบในขอบเขตที่ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกทางอารมณ์ของลูก หรือความมั่นคงทางอารมณ์ของลูกเสียเกินไป
แต่ถ้าทุกครั้งที่มีข่าวมาแล้วเก็บไว้ในใจหมด ผมบ้าตายพอดี แต่ถ้าให้ตอบโต้กันไปมาไม่จบไม่สิ้นก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีสำหรับลูกเหมือนกัน ผมคิดว่าเขามีสิทธิโตขึ้นมาอยู่ใน environment ที่ไม่ต้องมาเจออะไรแบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นลูกใครก็ตาม ก็คงต้องพยายามบริหารจัดการแบบนี้ ก็เข้าใจและพยายามยอมรับมัน
คิดว่าสื่อมวลชนมีผลที่จะทำให้เรื่องราวแบบนี้มันยากขึ้นไหม
เขาก็ทำหน้าที่ของเขา มันเป็นสังคมที่ freedom of expression เขามีสิทธิที่จะเสนอ ผมก็มีสิทธิที่จะตอบสนอง มีสิทธิเลือกว่าทำยังไง ไม่ทำยังไง ถ้ามีคำถามถูกตั้งขึ้นมาก็ต้องตอบตรงไปตรงมา แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกครั้งที่มีผมต้องพูดเรื่องนี้ไม่จบไม่สิ้น เรื่องผ่านมา 4 ปีแล้วก็ยังถามอยู่ เวลาที่ผมออกมาพูดหรือออกมาอธิบายมันอาจจะสั้นเกินไปหรือน้อยเกินไปจนไม่มีใครเห็นในสิ่งที่ผมพยายามที่จะยืนยัน ก็ช่วยไม่ได้ ต้องยอมรับ เพราะถ้าจะให้พูดมากกว่านี้ หรือจะเอาสิ่งที่อยู่ในใจผมออกมาเยอะๆ มากขนาดนี้ ผลมันตกอยู่กับลูกก็ต้องยอมรับว่าเราจะเลือกความมั่นคงทางอารมณ์ของลูกหรือว่าจะเลือกอีกแบบหนึ่ง แต่ผมเลือกความมั่นคงทางอารมณ์ของลูก
ถ้าวันหนึ่งลูกมาเสิร์ชเจอ คุณทิมจะทำอย่างไร ได้เตรียมการไว้บ้างไหม
ผมทำอีเมลไว้ให้เขาตั้งแต่เด็ก อะไรที่เขาประสบความสำเร็จหรือสิ่งไหนที่อยากให้เขาจำเพราะตอนเด็กๆ เขาจำไม่ได้ ผมก็ส่งเข้าอีเมลนั้นทั้งหมด ถึงวันที่เขามีวุฒิภาวะมากพอ ผมก็จะให้ password เขา
การที่เรากระตือรือร้นในชีวิตลูก มันทำให้เราเชื่อใจว่าลูกจะทำความเข้าใจกับมันได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องหาสมดุลในการปกป้องเขามากเกินไปกับการให้เขาเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตครอบครัวเรา ไม่ได้กังวลว่าเขาจะเข้าใจพ่อผิด
ความใกล้ชิดทำให้มั่นใจเรื่องนี้ได้
แน่นอน การที่พ่อกระตือรือร้นในชีวิตเขา มันให้ value แก่เขา ความรู้สึกการมีคุณค่าในตัวเขาสูงมากขึ้น แล้วผมก็มั่นใจว่าเขาจะเข้าใจ และด้วยความที่เขาใกล้ชิดกับพ่อมาตั้งแต่เด็ก เขาจะรู้ว่าคุณพ่อเป็นใครมากกว่านักข่าวทุกคน
ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา 5 ปีข้างหน้าหรืออีก 10 ปีข้างหน้าเขาก็จะรู้ว่าพ่อเขาเป็นยังไง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะอนุญาตให้ลูกกับนักข่าวมาเจอหน้ากันทุกเรื่อง ไม่ใช่เสิร์ชชื่อเขาแล้วไม่มีเรื่องอื่น มีแต่เรื่องแบบนี้ผมก็ยอมไม่ได้เหมือนกัน
ในสังคมไทยความเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว พ่อกับแม่ใครใช้ชีวิตยากกว่ากัน
ผมว่ายากทั้งคู่ หมดยุคแล้วที่บอกว่าพ่อยาก เพราะคุณพ่อต้องไปทำงานดึกดื่นเพื่อเอาเงินมาเลี้ยงหรือคุณแม่ไม่มีโอกาสที่จะดูแลตัวเองเลย เวลาเข้าห้องน้ำก็ต้องเอาลูกเข้าไปด้วย แล้วมาเปรียบเทียบกันแบบนั้น สำหรับบ้านผมจริงๆ แล้วไม่เคยมีแบบนั้น ต่างคนก็ต้องกระตือรือร้นในชีวิตของลูกให้มากที่สุด แล้วก็ทำให้รู้สึกว่าการอยู่กับเขามันก็มีประโยชน์กับเรา ไม่มองว่าเขาเป็นภาระ
การที่เราไม่เคยคิดว่าเขาเป็นภาระก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความเป็นมนุษย์ของเราสมบูรณ์แบบมากขึ้น จะไม่มานั่งคิดว่าของใครยากกว่าใคร แล้วถ้าถามว่าใครยากกว่าใคร มันวัดยังไง เอาไม้บรรทัดใครมาวัด ไม่ควรจะเป็นในรูปแบบนั้น มันควรจะเป็นลักษณะที่ว่าฉันก็เหนื่อย เธอก็เหนื่อย ควรช่วยกันดูแลซึ่งกันและกัน ให้แต่ละฝ่ายมีเวลาในการใช้ชีวิตของตัวเอง เพื่อให้ตัวเองกลับมาเป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ดีขึ้นมากกว่า
โลกแบบไหนที่อยากจะให้ลูกของเราอยู่
ก็ต้องเป็นโลกที่เราสอนลูกว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ชาย ผู้หญิงหรือว่าเพศหลากหลายว่าคนเรามันแตกต่างกันได้ ยังไงก็ต้องมีความเคารพซึ่งกันและกัน แล้วคุณค่าของคนไม่ได้อยู่ที่เพศสภาพ ถ้าเป็นลูกสาวผม ผมก็ต้องสอนแบบนี้ ถ้าเกิดพิพิมเป็นผู้ชายผมก็ต้องสอนแบบนี้ ถ้าเกิดพิพิมเป็น LGBTQ ผมก็ต้องสอนแบบนี้ ถึงจะสามารถไปต่อกันได้ เพราะว่าถ้าเกิดกฎหมายมันเปลี่ยน อะไรมันเปลี่ยน ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันจะหายไป
ในบทบาทของคุณพ่อ เป็นนักการเมืองด้วย เชื่อว่าหลายครั้งมีจุดที่ต้องตัดสินใจ เวลาต้องเลือก ใช้หลักอะไร
มันไม่ได้ไปด้วยกันแบบเป็นคู่ขนานตลอดเวลา บางครั้งก็เลือกลูกก่อน บางครั้งก็เลือกงานก่อน มันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละครั้ง
จัดการกับแรงเสียดทานหรือผลที่ตามมาอย่างไร
ก็ตรงไปตรงมา บอกว่าเรื่องนี้ไม่ได้ เรื่องงาน อาจมีคนอื่นที่บริหารจัดการได้ เผลอๆ ทำได้ดีกว่า set boundary กันให้ชัดว่าตอนนี้ลูกต้องการ ตอนนี้ต้องไปกับลูก ก็บริหารจัดการ มอบหมายคนนี้ให้ไปแทนผม แต่ถ้าเกิดอันไหนไม่ได้ หน้าที่นี้คือเราทำได้คนเดียว ถึงเวลานั้นคือเราก็ต้องเลือกประชาชน แล้วที่เหลือนี้ก็คือบริหารจัดการไป
สำคัญที่สุดก็คือการพูดคุยกับลูกให้เข้าใจ ว่าพ่อก็มีความรับผิดชอบ ลูกก็มีความรับผิดชอบ บางครั้งพ่อก็ต้องรับผิดชอบในสิ่งนั้นๆ ไม่ได้หมายความว่าพ่อไม่ได้รักลูก แต่พ่อต้องไปทำอันนี้ก่อน พิพิมทำอย่างนี้ได้ไหม อยู่กับย่าสักพักนึงได้ไหม อยู่กับหม่าม้าได้ไหมช่วงนี้ เขาก็ค่ะ เข้าใจ มันก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิดหรือที่ผมกังวล
ผมตรงไปตรงมากับคนที่พรรค แล้วก็ตรงไปตรงมากับพิพิม อย่างช่วงปีใหม่ เราเคยคุยกันไว้ว่าเราจะไปเที่ยว แต่ปีใหม่นี้พ่อมีงาน แล้วคนอื่นทำแทนพ่อไม่ได้ ยังไงพ่อก็ต้องไปแล้วเดี๋ยวพ่อจะถ่ายรูปเยอะๆ ส่งให้พิพิมดูว่าพ่ออยู่ที่ไหน ทำอะไรอยู่ เขาก็ค่ะ แล้วก็ทำได้
แต่ถ้าเกิดมันมีอย่างอื่นที่เรียงลำดับความสำคัญแล้วมีคนที่ทำแทนได้ กระจายงานออกได้ เพื่อลูกเรา ผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องที่ต้องเลือกอะไร แต่มันเป็นการบริหารจัดการที่ดี ก็ต้องทำแบบนี้ เพื่อให้มีเวลาด้านอื่นของชีวิตบ้าง ไม่งั้นก็พังร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำอย่างอื่นไม่ได้ มันไม่ยั่งยืน สักวันหนึ่งมันก็กลับมาทำลายเรา
ช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์มาถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้เหมือนกราฟชีวิตดิ่งลง ขณะเดียวกันหน้าที่ทางการเมืองที่พุ่งขึ้น มันเป็นกราฟที่ตัดกัน ตอนที่จุดนั้นตัดกันพอดี เป็นอย่างไรบ้าง
ตอนนั้นตรงๆ เลย คิดว่าคืนนี้คือคืนสุดท้ายก่อนตาย ถ้าย้อนกลับมามอง แบบไหนที่เราจะ regret กับการตัดสินใจน้อยที่สุด
ถามตัวเองว่าเราจะเสียใจทางไหน ระหว่าง บอกตัวเองว่าหนักเกินไปรับไม่ไหว ไม่รับตำแหน่ง ไม่ลุกขึ้นมาสู้ ถอยแล้วปล่อยไป กับยอมรับมันตรงๆ ว่าก็คงจะผิดพลาดในอนาคต ล้มเหลวแต่จะไม่ล้มเลิก แล้วก็พูดกับคนอื่นตรงๆ ว่าเรามีหลายภารกิจที่ต้องดูแลแต่ก็อยากทำให้ดีที่สุด อาจจะมีบางช่วงที่ทำได้ไม่ดีมากนัก คุณพร้อมที่จะช่วยผมหรือเปล่า
ถ้าบริหารความคาดหวังของทุกคนได้ รวมถึงตัวลูกเอง ถ้าเขาเข้าใจตรงนี้ด้วยก็ทำได้ พูดกันตรงๆ ให้เข้าใจตั้งแต่ตอนแรกว่าจะเอาแบบไหน ก็เลยตัดสินใจว่าโอเค ต้องว่ากัน
ตอนเด็กๆ ไม่ว่าพ่อหรือแม่ก็ตาม ลูกก็จะคิดว่าพ่อเป็นของเขา เขาจะเติบโตอย่างไรที่ทำให้รู้สึกว่าพ่อไม่ใช่ของเขาคนเดียว พ่อเป็นคนของสาธารณะ
เมื่อเขาไว้วางใจคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อได้ ช่วงแรกคือใช่ ทุกอย่างต้องดึงเขามาตลอด แต่เมื่อมีกิจกรรม มีบุคคลอื่น มีบุคคลที่สามที่เขาไว้วางใจ จึงไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นพ่ออย่างเดียว อาจจะเป็นพ่ออย่างเดียวตรงที่เดทใครไม่ได้ ก็ยังพอมีแบบนั้นอยู่ (หัวเราะ) อย่างเมื่อคืนยังบอกอยู่ว่าพ่อแต่งงานกับคนอื่นไม่ได้นะ พ่อต้องแต่งงานกับพิพิมคนเดียว แต่ในมุมการทำงาน ก็จะเป็นบุคคลสาธารณะ เดี๋ยวพ่อต้องขึ้นเวทีแล้ว เดี๋ยวพ่อต้องขอถ่ายรูปกับพี่น้องประชาชนก่อน พิพิมไปรอได้ หลายครั้งพิพิมก็มาถ่ายด้วยกัน หรือวิ่งไปวิ่งมา อยู่กับคนโน้นคนนี้ได้ ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องแบบพ่อเท่านั้น อย่างนั้นมันหายไปนานแล้ว เมื่อเรากล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น
แล้วคุณพ่อขอความช่วยเหลืออะไรจากลูกบ้าง
นวด เหยียบพ่อหน่อย โดนตรงเส้นบ้าง ไม่ตรงเส้นบ้าง (ยิ้ม) เล่นแล้วเก็บของเอง เขาก็ดูแลตัวเองได้ แปรงฟันเองได้ เข้าห้องน้ำเองได้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นบุญของพ่อ (หัวเราะ) เขาพร้อมที่จะช่วยเหลือตัวเองได้แล้วเขาก็รู้สึกภูมิใจในตัวเอง แค่นี้ก็เบาลงเยอะ มีความสุขมากขึ้น
ระบายความทุกข์กับลูก หรือให้ลูกเห็นมุมที่อ่อนแอแค่ไหน
เขาก็จะห่วงพ่อมาก กลับมาก็ถามคุณพ่อเหนื่อยไหมคะ คุณพ่ออย่างโน้นอย่างนี้ จะมีอะไรประมาณนี้อยู่แล้ว ถ้าเกิดกลับบ้านมาแล้วสลบเลย ผมว่าเขาน่าจะรู้ว่าเหนื่อย แต่ถ้าเกิดอยู่ในชุดทำงานแบบนี้แล้วนอนคว่ำหน้า เขาจะรู้ว่าพ่อเหนื่อยมากๆ
เขารู้เองหรือเปล่า
ผมว่าเขารู้เอง เขาก็จะเงียบๆ แล้วเดินไปบอกพี่เลี้ยง “ชู่ว์ พ่อหลับอยู่ อย่าเสียงดัง” ผมเดาเอาว่าลูกคงจะแคร์ผมกับการที่เขาอยากเล่นเสียงดังๆ หรืออยากดูการ์ตูนดังๆ
เล่นอะไรกับพิพิมบ้าง
เล่นพวก Uno, Jenga ไพ่จำ วิ่งเล่นทั่วไป เล่นดนตรี อ่านนิทาน เล่นบาร์บี้
แล้วก็ชอบพวกราพันเซล พวกแอเรียล (The Little Mermaid) เขาก็จะเอาหนังสือมา ให้ผมทายว่า คนนี้คู่กับใคร จัสมินคู่กับใคร โพคาฮอนทัสคู่กับใคร พยายามทดสอบเรา
ตอนนี้คำว่าครอบครัวอบอุ่นของคุณทิม แปลว่าอะไร
สิ่งที่เป็นอยู่ก็ถือว่าพอใจ ครอบครัวที่อบอุ่นก็คงไม่ต้องเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ แต่คือครอบครัวที่ real ครอบครัวที่อยู่ได้จริง แล้วก็มีทั้งวันที่ดีและวันที่ไม่ดี แต่วันที่ดีก็อยู่ด้วยกันผมว่าน่าจะเป็นครอบครัวที่อบอุ่นอย่างแท้จริง แล้วก็ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องเป็นสิ่งที่ดีตลอดเวลา
อยากจะพูดอะไรในประเด็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว
ก็ไม่ได้อยากให้ใครต้องมาเจออย่างที่เราเจอประมาณนั้นมั้ง
หมายถึงความผิดพลาด?
ไม่ใช่ คือไม่อยากให้ใครต้องมาทุกข์ทรมาน
ทุกคนก็ต้องผ่านความทุกข์
ผ่านทุกข์ คือเสียใจไม่เสียศูนย์ รู้สึกว่ายังไม่ใช่วันสุดท้ายของชีวิต เขาใช้คำนี้กันหรือเปล่า ไม่ใช่ทุกข์ขนาดไม่อยากไปต่อ เหมือนกับผมเป็นโรคลมชักตั้งแต่เด็ก พอเจอใครที่เป็นแล้วก็รู้สึกเข้าใจเขา ไม่อยากให้เจอในสิ่งที่เราเจอ
คนที่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ก็ไม่ได้หมายความว่าชีวิตจะไปต่อไม่ได้ ซึ่งเราก็ต้องลองผิดลองถูกมาเยอะพอสมควร ก็ไม่ได้อยากให้เขาเป็นแบบเรา ต้องให้มันง่ายขึ้นสำหรับเขา ประมาณนั้นที่รู้สึก
ทำไมคุณทิมถึงตัดสินใจให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ เวลานี้
ก่อนหน้านี้มีสื่อหลายสำนักอยากจะถามและคุยเรื่องนี้ แต่ผมก็ไม่ได้ตอบตกลงให้สัมภาษณ์กับที่ไหนเลย ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะเรารู้สึกว่าช่วงเวลานั้น เรื่องนี้ถูกเชื่อมโยงให้เป็นประเด็นทางการเมืองมากพอสมควร
บางที่ที่เข้ามาก็อยากให้เรา react ในเรื่องที่เคยพูดไปแล้ว ซึ่งเราก็ไม่ได้ต้องการแบบนั้น
ส่วนที่มานั่งพูดคุยให้สัมภาษณ์ในตอนนี้ อาจเพราะ ณ เวลานี้มันไม่ใช่ประเด็นทางการเมืองสักเท่าไรแล้ว
ทำไมถึงเป็น mappa
จริงๆ ต้องพูดตามตรงว่าผมเป็นแฟนคลับของ mappa ครับ ชอบ DNA ของ mappa ที่สื่อสารเรื่อง micro อย่างการเลี้ยงลูก เด็ก วัยรุ่น ครอบครัว ความเป็นพ่อแม่ ไปถึงเรื่อง macro อย่างเรื่องนโยบาย เรื่องกฎหมาย เรื่องสังคม เรื่องการเมือง แล้วก็ย้อนกลับมาที่เรื่อง micro ได้อีกทีหนึ่ง ซึ่งก็รู้สึกว่าคอนเทนต์หลายชิ้นของ mappa จุดประสงค์คือเพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางให้กับใครหลายๆ คนที่กำลังมองหาทางออกในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องครอบครัว ซึ่งผมก็เคยหาทางออกคล้ายๆ กันในช่วงก่อนหน้านี้
สำหรับการให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ คิดว่าเรื่องราวของผมจะพอช่วยให้คนที่กำลังตัดสินใจหรืออยู่ในความสัมพันธ์แบบ co-parenting เห็นภาพและเป็นหนึ่งในแนวทางของการเป็น co-parenting หรือพ่อเลี้ยงเดี่ยว แม่เลี้ยงเดี่ยว ได้ไม่มากก็น้อย
ก็ต้องขอขอบคุณทาง mappa สำหรับการสัมภาษณ์ในครั้งนี้เป็นอย่างมากครับ
เชิงอรรถ
(1) ปริญญาโท การเมืองการปกครอง สาขาการบริหารภาครัฐ ที่ John F. Kennedy School of Government มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด