- วันหยุดยาวคือช่วงเวลาที่หลายคนจะได้พักผ่อนหย่อนใจ กลับไปใช้เวลากับครอบครัว หรือออกทริปที่รอคอยมาทั้งปี เมื่อกลับมาทำงานอีกครั้งจึงกลับมาด้วยความสดใสเหมือนได้ชาร์จแบตจนเต็ม
- ทว่าสำหรับบางคน เมื่อวันหยุดยาวจบลง ชีวิตก็กลับมาเหี่ยวเฉาทันที พลังงานดี ๆ จากวันหยุดยาวก็หายวับไปกับตา เราเรียกสิ่งนี้ว่า อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว (post-vacation depression, post-vacation syndrome, post-holiday blues หรือ holiday syndrome)
- ซึมเศร้า วิตกกังวล รู้สึกไร้ค่า อ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ ไม่อยากกลับไปทำงาน อาการเหล่านี้เป็นอาการที่พบได้ทั่ว ๆ ไปหลังวันหยุดยาว แต่ก็มีหลายวิธีที่จะทำให้เราก้าวข้ามอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการให้เวลาตัวเองได้ปรับตัวก่อนกลับมาทำงาน ยอมรับความรู้สึกของตัวเอง รักษาความสนุกแบบช่วงวันหยุดยาวเอาไว้ หรือแม้แต่วางแผนสำหรับวันหยุดยาวครั้งหน้า เพื่อที่เราจะได้มีอะไรให้ตั้งตารอคอยอีกครั้ง
เทศกาลสงกรานต์น่าจะเป็นเทศกาลที่ชาวไทยได้หยุดยาวที่สุดในแต่ละปี บางคนเลือกใช้เวลาวันหยุดไปกับการท่องเที่ยว หลาย ๆ คนเดินทางกลับไปพักผ่อนและใช้เวลาอันมีค่ากับครอบครัวที่ไม่ได้เจอหน้ากันมานาน บางคนก็ออกไปเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน วันหยุดยาวสำหรับหลายคนจึงเหมือนช่วงเวลาที่ได้ชาร์จแบตจนเต็มและกลับมาทำงานด้วยความสดใส ทว่ายังมีอีกหลายคนที่เพียงแค่คิดว่าต้องกลับไปทำงานอีกหนก็ชวนให้รู้สึกเศร้า หดหู่ และความรู้สึกสนุกสนานจากช่วงวันหยุดก็ดูจะหายวับไปกับตาทันทีที่วันหยุดยาวจบลง
การได้หยุดยาว ๆ ได้มีเวลาทำกิจกรรมสนุก ๆ หรือใช้เวลากับครอบครัวแม้จะเป็นโอกาสดีที่ทำให้เราได้ปลดปล่อยความเครียด ได้พักผ่อน ได้หากิจกรรมสนุก ๆ ทำ แต่ยังมีสิ่งที่เรียกว่า อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว (post-vacation depression, post-vacation syndrome, post-holiday blues หรือ holiday syndrome) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่ยุค 1950
นิโคล ฮอลลิงเชด นักจิตวิทยาแห่งศูนย์การแพทย์เว็กซ์เนอร์ มหาวิทยาลัยโอไฮโอกล่าวว่า วันหยุดยาวคือการเปิดโอกาสให้คนได้จดจ่อกับแผนท่องเที่ยวหรือจดจ่อกับการทำกิจกรรมสนุก ๆ ดังนั้นเมื่อวันหยุดสิ้นสุดลง หลาย ๆ คนก็อาจรู้สึกเคว้งคว้างว่างเปล่าเพราะไม่มีอะไรให้จดจ่ออีกต่อไปแล้ว
องค์กรพันธมิตรผู้ป่วยโรคทางจิตแห่งชาติแห่งสหรัฐอเมริกา (The National Alliance on Mental Illness (NAMI) ระบุว่า อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว คือความรู้สึกวิตกกังวลและความเครียดที่ก่อตัวขึ้นในช่วงวันหยุด ขณะที่จีนา มอฟฟา นักจิตบำบัดจากนิวยอร์ก ให้ความเห็นว่า มันอาจเป็นอาการเศร้า วิตกกังวล หรืออาการซึมเศร้าที่คล้ายกันกับโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล และอาจส่งผลต่อการนอนหลับ พลังงาน และความสามารถในการจดจ่อต่อบางสิ่งบางอย่าง
คนที่มีอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวมักจะมีอาการดังนี้
- รู้สึกเศร้า กังวล เคว้งคว้าง
- รู้สึกสิ้นหวังหรือมองโลกในแง่ร้าย
- ความอดทนต่ำ หงุดหงิด และกระสับกระส่าย
- รู้สึกผิดหรือไร้ค่า
- ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบ
- อ่อนเพลียหรือสูญเสียพลังงาน
- ไม่มีสมาธิ
- การนอนเปลี่ยนไป
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักเปลี่ยนไป
- ปวดตามเนื้อตัวโดยไม่มีสาเหตุ
แม้จะฟังดูแย่ แต่อาการเหล่านี้ก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ทั่วไปหลังจากวันหยุดยาวสิ้นสุดลง และมักจะคงอยู่เพียงแค่ 2 สัปดาห์ ซึ่งหากอาการเหล่านี้ยังปรากฏหลังผ่านไปหลายสัปดาห์หลังจากหยุดยาวแล้ว อาการที่ว่าอาจไม่ใช่อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวอีกต่อไป แต่อาจเป็นสัญญาณของโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตอื่น ๆ ที่ต้องไปพบแพทย์
สาเหตุของอาการซึมเศร้าหลังวันหยุด
อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดนั้นยังไม่ถูกบรรจุลงในคู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (The Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders) แต่ที่ผ่านมาก็มีการวิเคราะห์ว่าอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดอาจเกิดจากหลากหลายสาเหตุ เช่น
จังหวะชีวิต (biorhythm) ที่ผิดแปลกไป
โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนาวาร์ เชื่อว่ามนุษย์ไม่ต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ พวกเราต่างมีรูปแบบจังหวะชีวิตที่แน่นอน เช่น ตื่นเช้า ทำงานในเวลากลางวัน กลับบ้านตอนเย็น เข้านอนตอนกลางคืน แต่วันหยุดยาวและตารางชีวิตในช่วงวันหยุดอาจเป็นการแทรกแซงจังหวะชีวิต จนทำให้นาฬิกาชีวิตผิดเพี้ยนไปและส่งผลต่อสุขภาพจิตของเรา
การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง
โดพามีนเป็นสารสื่อประสาทที่ทำให้คุณรู้สึกมีความสุขหรือมีแรงจูงใจ สมองจะปล่อยสารตัวนี้ออกมาเมื่อเรากำลังจดจ่อรอคอยบางสิ่งหรือเมื่อเรากำลังทำอะไรสนุก ๆ หลังจากนั้นโดพามีนก็จะลดลง อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดจึงอาจเป็นช่วงที่สมองคุณพยายามปรับตัวตามปริมาณโดพามีนก็เป็นได้
ตารางวันหยุดที่แน่นเกินไป
วันหยุดเป็นช่วงเวลาแห่งความสนุกก็จริง แต่ก็อาจจะนำไปสู่ความเครียดได้ด้วย เช่น วางแผนไปเที่ยวแต่เครื่องบินกลับล่าช้า จัดตารางกิจกรรมแน่นเกินไป หรือต้องพบเจอกับญาติสนิทมิตรสหายมากเกินไป ความเครียดเหล่านี้อาจนำไปสู่อาการซึมเศร้าหลังวันหยุดได้เช่นกัน
งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า คนที่บอกว่าวันหยุดของเขานั้นเป็นเพียงวันพักผ่อนสบาย ๆ มักจะมีความสุขในช่วงหลังวันหยุดมากกว่าคนที่มีตารางแน่นเอี๊ยดในวันหยุด
การไม่พออกพอใจในชีวิต
ที่จริงการไม่พอใจในชีวิตก็ทำให้เรารู้สึกเศร้าอยู่แล้ว แต่ความรู้สึกนี้จะยิ่งแย่ลงในช่วงหลังวันหยุดเมื่อคุณต้องบอกลาชีวิตแสนหรรษากลับมาสู่ชีวิตประจำวันที่น่าเบื่อ คร่ำเคร่ง และไม่มีอะไรให้รู้สึกเติมเต็ม ยิ่งเมื่อคุณได้ใช้ช่วงเวลาวันหยุดกับคนอื่น ๆ ช่วงเวลาเหล่านั้นก็จะทำให้คุณรู้สึกผูกพัน มีประสบการณ์ร่วมกัน และมีคนให้แบ่งปันเรื่องต่าง ๆ แต่เมื่อวันหยุดจบลง คุณก็ต้องแยกย้ายไปมีชีวิตเป็นของตัวเอง
งานที่คร่ำเคร่ง
ยิ่งคุณมีงานที่คร่ำเคร่งเท่าไร การต้องกลับมาทำงานหลังวันหยุดก็จะยิ่งทำให้เศร้าและวิตกกังวลมากเท่านั้น งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าคนที่มีเนื้องานเคร่งเครียดน้อยกว่า จะยินดีกลับมาทำงานมากกว่าคนที่มีเนื้องานเคร่งเครียด
โรคทางจิตเวช
เมื่อคุณเป็นคนที่มีปัญหาสุขภาพจิต วันหยุดอาจหมายถึงโอกาสในการพาตัวเองออกมาจากสภาพแวดล้อมที่เป็นตัวกระตุ้นโรคทางจิตเวชเหล่านั้น และยังช่วยให้คุณเบี่ยงเบนความสนใจจากเรื่องเครียด ๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตเช่นกัน จึงไม่แปลกเลยหากคุณจะรู้สึกแย่ลงกว่าเดิมเมื่อวันหยุดสิ้นสุดลง
การป้องกันและการก้าวข้ามอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว
ให้เวลาตัวเองปรับตัว
ใครที่ไปเที่ยวในวันหยุด พอใกล้ถึงวันที่ต้องกลับ เราก็มักจะคิดถึงงานบ้านมากมายที่รออยู่ หรืองานคั่งค้างที่รอให้เรากลับไปทำล่วงหน้า แต่ทางที่ดี เราควรใช้เวลาพักผ่อนต่ออีกสักวันก่อนจะกลับไปทำงาน และทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำล่วงหน้าได้ให้เสร็จก่อนไปเที่ยว
“เห็นใจตัวเองสักนิด” ลอรี ซานโตส ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเยลแนะนำ “คุณไม่จำเป็นต้องตอบอีเมลทุกฉบับทันทีหรอก ไม่เป็นไรเลยถ้าจะแวะพักอีกนิด และหลักฐานก็บ่งชี้ว่าคนอื่น ๆ จะเข้าอกเข้าใจคุณมากกว่าที่คุณคิด”
รักษาความสนุกแบบวันหยุดเอาไว้
“จำไว้ว่าวันหยุดจบลงก็ไม่ได้แปลว่าความสนุกจะจบลงด้วย” ซานโตสเสริม “เราสามารถหาวิธีที่จะทำให้เรารู้สึกเหมือนตอนไปเที่ยวได้ถ้าเรายังรักษาความสนุกแบบตอนไปเที่ยวไว้ได้อยู่ตอนเรากลับบ้าน บางทีคุณอาจจะลองไปทานอาหารในร้านใหม่ ๆ หรือเดินเล่นในย่านใกล้ ๆ บ้านที่ไม่เคยไปก็ได้”
นักจิตวิทยาและนักวิทยาศาสตร์ด้านอารมณ์อย่างเทรซี โทมัส ยังเสริมอีกว่า เรามักจะไม่ทำสิ่งที่เราทำแล้วสนุกในช่วงวันหยุดหลังจากวันหยุดผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากเราพยายามหาว่าอะไรที่ทำให้เรามีความสุขในวันหยุด และเรายังทำมันต่อไปแม้วันหยุดจะผ่านพ้นไปแล้ว ก็จะทำให้เรามีความสุขกับชีวิตประจำวันได้ไม่ยาก
รักษาความทรงจำที่ดีในช่วงวันหยุดเอาไว้
ซานโตสแนะนำว่า เมื่อมีเวลา คุณควรย้อนกลับไปดูความทรงจำดี ๆ ในช่วงวันหยุด คุณอาจจะทำอัลบั้มภาพ เขียนบันทึก หรือมีของที่ระลึกที่ชวนให้นึกถึงช่วงเวลาเราได้ระลึกถึง เพราะความสุขนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ระหว่างวันหยุดอย่างเดียว แต่ยังเกิดขึ้นจากการได้จดจำมันด้วย
ออกกำลังกาย
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่าการออกกำลังกายจะช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้น การออกกำลังกายอาจไม่จำเป็นต้องเป็นการออกกำลังกายเป็นจริงเป็นจัง แต่อาจเป็นเพียงแค่การเดินเล่นก็ได้ นอกจากนั้นการออกกำลังกายยังทำให้เราหลับง่ายขึ้น ความดันเลือดต่ำลง และบรรเทาความเครียด
ยอมรับความรู้สึกตัวเอง
แอนเดรีย โบเนียร์ นักจิตวิทยา กล่าวว่า “มีงานวิจัยที่ระบุว่ายิ่งเราสามารถรับรู้ความรู้สึกของตัวเองได้เท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ความรู้สึกนั้นน่ากลัวน้อยลงเพราะเราจะรู้สึกว่าเราควบคุมมันได้” เธอยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เราสามารถมีความรู้สึกที่ขัดแย้งกันไปพร้อม ๆ กันได้ เช่น แม้จะเศร้าแต่ก็ตื่นเต้นได้ ความรู้สึกเศร้าหลังวันหยุดจึงไม่ใช่เรื่องแปลก และก็ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องปฏิเสธมัน
เริ่มจากการทำงานที่ง่ายก่อน
บางครั้งความเศร้าและเครียดหลังวันหยุดก็เกิดจากการเห็นงานกองโตที่รอให้เรากลับมาทำ แต่เราอาจเริ่มปรับตัวกลับมาทำงานด้วยการเริ่มทำงานที่ง่ายก่อนแล้วจึงไต่ระดับความยากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยให้คุณสามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังอาจทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
หาเวลาพักผ่อนมากขึ้นในชีวิตประจำวัน
หลายคนเชื่อว่าเราควรทำงาน ทำงาน และทำงาน แล้วค่อยหาเวลาพักผ่อนหย่อนใจในวันหยุดยาว แต่แท้จริงแล้วไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพคือการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการพักผ่อน บางครั้งอาจเป็นเพียงการออกไปสูดอากาศข้างนอกสัก 10 นาทีหลังจากทำงานมาชั่วโมงหนึ่ง หรือนัดเจอใครสักคนที่ทำให้เรามีชีวิตชีวาขึ้นมาได้สักสัปดาห์ละครั้งก็เพียงพอแล้ว
วางแผนสำหรับวันหยุดครั้งหน้า
อย่างที่บอกไปว่าอาการซึมเศร้าหลังวันหยุดยาวอาจเกิดจากการที่เราไม่มีสิ่งใดให้จดจ่อหรือตั้งตารอเหมือนในช่วงวันหยุด ดังนั้นวิธีก้าวข้ามอาการเหล่านี้อีกหนึ่งวิธีก็คือการวางแผนสำหรับการหยุดยาวครั้งหน้า เราอาจไม่จำเป็นต้องจองตั๋วเครื่องบินทันที แต่เพียงการได้คิดว่าเราอยากจะไปที่ไหน ทำอะไร พบเจอใครในวันหยุดยาวครั้งหน้า ก็จะทำให้เรามีบางสิ่งให้ตั้งตารอคอยอีกครั้งและหลงลืมความเศร้าที่ต้องโบกมือลาวันหยุดที่เพิ่งผ่านพ้นไปได้ในที่สุด