Power of The Tales นิทาน: การสานพลังระหว่าง ‘ภาพ’ และ ‘ความ’ เพื่อเชื่อมโลกของเด็กกับผู้ใหญ่ ในแบบของครูปรีดา ปัญญาจันทร์

ที่โรงเรียนบ้านวังทองวัฒนายามบ่ายเต็มไปด้วยเสียงเจี๊ยวจ๊าว ชายวัยกลางคนพาเราหลบหลี้ความกระดี๊กระด๊าของเด็กๆ เข้าห้องทำงานที่มีกองนิทานสูงลิ่ว แน่นอนว่าแต่ละเล่มปรากฏชื่อของเขาในฐานะคนวาดและคนแต่ง

ครูปรีดา ปัญญาจันทร์ คือชายคนที่เรากำลังพูดถึง

กว่า 40 ปีแล้วที่ครูปรีดาคลุกคลีอยู่ในโลกของนิทานเด็ก รังสรรค์ผลงานออกมาแล้วกว่า 400 เล่ม รวมถึง ‘เม่นหลบฝน’ หนังสือภาพรางวัลดีเด่นประเภทหนังสือสำหรับเด็กปี 2539 ที่คุณพ่อคุณแม่ยังตามหามาจนถึงปัจจุบัน 

เด็กๆ ที่โตมากับนิทานและเรื่องเล่าของครูปรีดา ล้วนรู้ว่า นิทานของครูปรีดานั้นมีลายเซ็นชัดเจน ไม่ว่าจะลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์ คำคล้องจองแสนสนุกช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ และเนื้อเรื่องที่น่าตื่นเต้น บ้างก็เหนือจริง แต่สอดแทรกคติธรรมประจำใจให้ได้ขบคิดต่อ

อาจพูดได้ว่า นิทานคือความสนใจ ความคลั่งไคล้ อาชีพ และโลกทั้งใบของครูปรีดา เพราะนอกจากจะผลิตผลงานต่อเนื่อง ครูปรีดาเชื่อว่า นิทานนี่แหละคือสะพานเชื่อมระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ให้อยู่ในโลกเดียวกัน ครูจึงหยิบนิทานไปสอนในคาบศิลปะตั้งแต่นั้น เมื่อขยับจากครูมาเป็นผู้บริหาร ครูปรีดาก็ออกนโยบายให้ใช้นิทานเป็นเครื่องมือในการสอนให้กับครูคนอื่นๆ

เส้นทางของครูปรีดาเป็นมาอย่างไร อะไรทำให้ครูปรีดาคลั่งไคล้ในนิทานนัก และนิทานแบบปรีดา ปัญญาจันทร์ จะเป็นแบบไหน เราชวนทุกคนนั่งลงด้วยกันแล้วฟังครูปรีดาเล่าในบทสัมภาษณ์นี้

ครูปรีดาไม่ได้จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ แต่รู้ว่าตัวเองอยากมีศิลปะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต 

ย้อนกลับไปในวัยเยาว์ เด็กชายปรีดาชอบงานศิลปะแทบทุกแขนงไม่ว่าจะงานวาดหรืองานปั้น ตอนนั้นเขาไม่รู้หรอกว่า ตัวเองเก่งหรือไม่เก่งกับการทำงานศิลปะ แต่เขารู้ว่าชอบมันและอยากซื่อสัตย์กับสิ่งที่ตัวเองชอบ แม้จะเติบโตมากับมายาคติว่าศิลปินไส้แห้งก็ตาม

อีกสิ่งหนึ่งที่ชอบไม่แพ้กัน คือการฟังนิทาน

“เด็กทุกคนชอบฟังนิทาน และครูปรีดาก็ไม่ได้ต่างจากเด็กคนอื่นที่ชอบฟังนิทานเหมือนกัน ตอนเด็กๆ คุณยายจะไปฟังเทศน์ทุกวันพระ และทุกครั้งที่พระเทศน์ ท่านก็จะมีนิทานชาดกมาเล่าให้ฟัง พอยายกลับมาจากวัด  เรานอนหนุนตักยายแล้วฟังนิทาน รู้สึกว่านิทานตอบสนองจินตนาการของเรา 

“เมื่อโตขึ้นในวัยประถมศึกษา พี่ชายเขาก็รับนิตยสารชัยพฤกษ์ อ่านนิทานในนั้นแล้วก็เล่าให้เราฟัง แต่เขาจะเล่าไม่จบ ถ้าอยากฟังให้จบ ต้องไปล้างจาน เด็กทุกคนที่ฟังนิทานจากพี่ชายก็รีบไปล้างกันใหญ่ นั่นคือครั้งแรกที่เรารู้สึกว่า นิทานมีพลัง”

ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ครูปรีดาจึงเลือกเรียนคณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ซึ่งถือเป็นนักเรียนรุ่นแรกของภาควิชานี้ ที่นั่นเอง เขาได้เรียนรู้ ลองผิดลองถูก และในที่สุดก็ค้นพบว่าจุดแข็งของตัวเองคือการใช้งานศิลปะสื่อสารกับเด็ก

“ช่วงนั้นมีรุ่นพี่ปริญญาโท เอกภาษาไทย เขาเรียนวิชาเขียนหนังสือสำหรับเด็ก เขาต้องแต่งนิทาน เลยมาหาคนวาดรูปในนิทาน เพราะเราชอบและคิดว่าน่าจะทำได้ เลยเสนอตัวไปวาดให้”

หลังจากนั้น ปรีดาก็กลายเป็นมือวาดรับจ้างยอดนิยมประจำคณะ จนปี พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นปีเด็กสากล มีการเกิดใหม่ของสำนักพิมพ์หนังสือสำหรับเด็ก 2 สำนัก คือสำนักพิมพ์ชมรมเด็กและสำนักพิมพ์ปาณยา โดยสำนักพิมพ์หลังนี้เองที่ได้มาเห็นงานของปรีดา และชวนไปทำงานวาดภาพประกอบที่สำนักพิมพ์

อาจเป็นเรื่องบังเอิญ สำนักพิมพ์ปาณยาทำโรงเรียนอนุบาลของตัวเองด้วย วันหนึ่งปรีดาก็คิดว่า หากเขาจะจริงจังเกี่ยวกับการวาดนิทานเด็กแต่ไม่รู้จักเด็ก นิทานของเขาก็จะแห้งแล้ง ในปี พ.ศ. 2523 ชายหนุ่มจึงขออนุญาตเจ้าของสำนักพิมพ์เข้าไปเป็นครูพิเศษในโรงเรียนเพื่อสอนศิลปะ 

“เราสอนเด็กแบบไม่รับค่าจ้าง ไม่ได้สอนเป็นอาชีพ แต่สอนเพราะสนุกและอยากรู้จักเด็ก สิ่งที่เราทำคือใช้นิทานเป็นตัวเปิดจินตนาการ และเป็นเครื่องมือในการทำให้เด็กได้เรียนรู้ เพราะเราจำได้ว่า ตอนเด็กๆ เราเคยฟังนิทานกับยาย เราเลยเข้าห้องไปเล่านิทานก่อนเลย หลังจากเด็กนิ่งตั้งใจฟัง เราก็ชวนเขาวาดรูป จากนั้นก็สนุกเลย”

หลายปีหลังจากนั้น ครูปรีดาขยับขึ้นมาเป็นผู้บริหารโรงเรียนอีกแห่ง ก็แจงนโยบายให้ฝ่ายวิชาการใช้นิทานเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้ต่อพัฒนาการการเรียนรู้ เพราะสำหรับเขา นิทานเปรียบเสมือนสะพานระหว่างผู้ใหญ่และเด็กที่แข็งแรงมาก

“นิทานคือเรื่องเล่าที่ไม่ธรรมดา มันมีจินตนาการและความเหนือจริงอยู่ในนั้น เวลาเราเล่านิทานเพื่อสื่อสารกับเขา เราเหมือนอยู่ในโลกใบเดียวกัน การสื่อสารของเรากับเด็กก็ชัดเจน เข้ากันได้ง่ายขึ้น มองตากันก็รู้เรื่อง”

หลายคนอาจสงสัย ทำไมครูปรีดาถึงแต่งนิทานได้เก่งกาจ ผลิตงานออกมากว่า 400 เล่ม และยังผลิตออกมาอย่างต่อเนื่อง

ครูปรีดายิ้ม แล้วตอบเราว่า อย่างแรกคือเริ่มจากการอ่านนิทานเยอะๆ ก่อนเพื่อสะสมคลังคำและเรื่องราว 

“นิทานไม่ใช่เรื่องเล่าปกติอยู่แล้ว แต่เป็นเรื่องเล่าที่ต้องมีอุปสรรคปัญหา มีดราม่าอยู่ในนั้น อย่างหนูน้อยหมวกแดงถ้าไม่เจอหมาป่าก็ไม่ใช่เรื่องหนูน้อยหมวกแดงแล้วใช่ไหม และถ้าหมาป่าไม่ไปหลอกกินยายก็ไม่ใช่นิทานแล้ว ที่สำคัญ ในนิทานต้องมีบอกว่าตัวละครจะแก้ปัญหาอย่างไรด้วย” 

แล้วองค์ประกอบของนิทานที่ดีต้องมีอะไรบ้าง เราโยนคำถาม

“โครงเรื่องและการเดินเรื่องที่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็ก และตอบสนองจินตนาการของเด็ก นิทานบางเรื่องเหมือนไม่มีอะไรเลยแต่ทำไมเด็กชอบมาก เพราะมันตอบสนองความต้องการของเด็กได้ เคยดูเรื่อง กุริกับกุระไหม กุริกุระเป็นเรื่องของหนู 2 ตัว เดินเข้าไปในป่าเพื่อหาเก็บเกาลัดมาทำขนมกิน อยู่ๆ ก็ไปเจอไข่ฟองใหญ่ใบหนึ่ง คิดว่าจะเอากลับยังไงดี จะลากจะแบกก็ไม่ได้ เขาก็ต้องหาวิธี จนในที่สุดเขาก็ไปเอาเครื่องมือมาจากบ้าน ลากไข่ไปทำขนมกินด้วยกัน แล้วก็จบ ธรรมดาเลย แต่ถ้ามาวิเคราะห์ เรื่องนี้ตอบสนอง EF เรื่องจินตนาการ ครบหมด หนึ่ง เดินเข้าไปในป่า อันนี้เด็กชอบเล่น สอง เจอไข่ฟองใหญ่ นี่คือเรื่องเหนือจริง เป็นจินตนาการ สาม เอากลับยังไงดี ตรงนี้เป็นการแก้ปัญหา คือนิทานเรื่องนี้ท้าทายเด็กหมดเลย เด็กจึงชอบมากเพราะเขาลุ้นตลอดเวลา มีปัญหาซ่อนอยู่ตลอด”

สำหรับครูปรีดา ก่อนจะแต่งนิทานสักเรื่อง ครูบอกว่าจะคำนึงถึงโจทย์ที่ได้รับก่อน ซึ่งแบ่งเป็น 3 แบบ 

แบบแรกคือการได้รับโจทย์มาว่า อยากให้เด็กได้อะไรจากนิทานเรื่องนี้ เช่น อยากให้เด็กอ่านออกเขียนได้ ครูปรีดาก็จะออกแบบนิทานของตัวเองจากโจทย์นั้น ซึ่งตัวเลือกนี้เป็นสิ่งที่ครูปรีดาโปรดปรานเป็นที่สุด เพราะฝึกฝนมาทั้งชีวิต

“ล่าสุดได้โจทย์จาก AirAsia Foundation ว่า แต่งนิทานเพื่อให้เด็กฝึกอ่าน โดยใช้อักษรกลางบวกสระและมีวรรณยุกต์เท่านั้น ครูปรีดาก็สบายเลย ปู่ไปป่า เต่าเป่าปี่ เต่ากับไก่ป่าเป่าปี่ ง่ายมากสำหรับครูปรีดาเพราะเราทำเรื่องนี้มาตลอด”

กับอีกแบบหนึ่ง ครูปรีดาบอกว่าเป็นนิทานที่เกิดจากการ ‘ปิ๊งไอเดีย’

“เช่นเรื่องพระจันทร์อยากมีเพื่อน เรื่องเกิดจากการที่ต้องไปเล่านิทานในรายการผึ้งน้อย ช่อง 11 บางวันเราอ่านนิทานแล้วก็เบื่อ เราเลยอยากตัดกระดาษพับเป็นกรวยเพื่อเล่านิทานหนึ่งเรื่อง เป็นเรื่องพระจันทร์ที่อยากมีเพื่อนมาก เพราะเขาขึ้นมาตอนกลางคืน ไม่มีเพื่อนเลย เขาไปถามพระอาทิตย์ว่าทำไม  พระอาทิตย์บอกว่าบางวันพระจันทร์ก็หาย บางวันก็มาเสี้ยวเดียว แต่มันเป็นเพราะตอนพระจันทร์ลงมาที่โลก เจอนกจิก จระเข้งับ ปลาฉลามงับ ปลาปักเป้างับ เลยกลายเป็นจันทร์เสี้ยวเดียวบ้าง สุดท้ายพระจันทร์เจอกับปลาดาวที่เห็นพระจันทร์เป็นเพื่อน พระจันทร์เลยชวนขึ้นไปอยู่ด้วยกัน พอจบเรื่องแล้วเราก็คลี่กระดาษออก ก็เป็นรูปดาวล้อมพระจันทร์”

อีกประเภทหนึ่ง ครูปรีดาบอกว่าเกิดจากความสะเทือนใจ

“ช่วงที่โควิดกำลังระบาดแรงๆ เราจะเห็นการพลัดพรากมากมาย บรรยากาศหดหู่ ครูเลยเขียนเรื่องให้กำลังใจคน เป็นเรื่องเด็กหญิงที่แม่ให้ตุ๊กตามา น้องรักตุ๊กตามาก อยู่เป็นเพื่อนน้องตลอด แล้วอยู่มาวันหนึ่งก็มีคนมารับแม่ไป ไม่ต้องบอกเลยนะว่าแม่ไปไหน แค่วาดให้เห็นเด็กหญิงนอนร้องไห้กอดตุ๊กตาก็รู้แล้ว แต่สุดท้ายตุ๊กตาตัวนี้ก็ลุกขึ้นเช็ดน้ำตา ให้กำลังใจ ไปชวนเล่น ปลอบน้องให้สามารถมีชีวิตอยู่ต่อและคิดถึงแม่ เรื่องนี้ได้รับรางวัลนิทานดีเด่น

“ถ้ามีคนมาขอคำปรึกษาว่าอยากแต่งนิทานบ้างจะต้องทำยังไง อย่างแรกที่อยากให้ถามตัวเองคือ จะแต่งให้ใครฟัง เพราะระดับอายุก็เป็นตัวชี้วัดเหมือนกัน ถ้าเด็กเล็ก เรื่องต้องไม่ซับซ้อน มีรสชาตินิดๆ เหนือจริงหน่อยๆ พอเด็กโตมาอยู่อนุบาล ตัวละครเยอะขึ้น เหตุการณ์เยอะขึ้น ซับซ้อนขึ้น ถ้าเป็นเด็กประถมฯ รุ่นนี้คือรุ่นปราบเซียน เขาจะเริ่มไม่ฟังนิทาน เพราะฉะนั้น แฮร์รี่ พอตเตอร์ ออกมาตอบโจทย์ตรงนี้หมด เพราะมันเป็นเรื่องเหนือจริงที่เป็นฉากของเด็กประถมฯ มัธยมฯ” 

แต่ไม่ว่าจะแต่งนิทานประเภทไหน หนึ่งสิ่งที่ครูปรีดาจะไม่ทำเด็ดขาดคือการกล่าวว่าหรือเหน็บแนมเด็กๆ  ครูปรีดาเชื่อในการสื่อสารที่ละมุนละม่อมและมีชั้นเชิง ใช้ศิลปะในการเล่าเรื่องมากกว่า เพราะหากเด็กฟังนิทานแล้วไม่มีความสุข เขาอาจจะไม่อยากยุ่งกับนิทานอีกเลย 

นิทานหลายเรื่องจะเฝ้าสอนให้เด็กๆ เป็นคนดี ครูปรีดาก็เห็นมุมนี้ ว่าเด็กที่อ่านนิทานทุกคนจะเป็นอย่างนั้นเสมอ และ นิทานก็ยังมีคุณค่าบางอย่างที่ฝังรากลึกลงไปในใจของเด็กๆ ที่อ่าน

“เราสรุปถึงขั้นว่า เด็กที่อ่านนิทานจะโตไปเป็นคนดีทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะพอเขาหลุดจากวัยหนึ่งไป เขาจะเจออีกสังคม เจอกิจกรรมอื่นๆ ก็ได้  ไม่ได้หมายถึงว่าฟังนิทานแล้วต้องเดินช่องดีตลอด ไม่แน่ นิทานบางเรื่องอาจอยากทำให้เด็กอยากผจญภัย นิทานบางเรื่องอาจท้าทายเขาให้ทำบางอย่าง แต่รวมๆ คือ นิทานน่าจะทิ้งอะไรติดไว้ในตัวเด็ก ตัวเนื้อนิทานเองอาจเป็นเรื่องรอง แต่ความสัมพันธ์ของผู้เล่ากับผู้ฟังต่างหากที่เป็นเรื่องหลัก

“พ่อแม่เล่านิทานให้ลูกฟัง ความอบอุ่นมันเกิด ความแข็งแรงของอารมณ์มันมี อย่างครูปรีดานอนหนุนตักฟังนิทานจากคุณยาย เรามีภาพความแข็งแรงนี้ตลอด” ครูปรีดาระบายยิ้มทิ้งท้าย


Writer

Avatar photo

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนจากเชียงใหม่ผู้รักทะเลและฤดูหนาวพอๆ กับหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็นเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง

Photographer

Avatar photo

ชวณิช สุริวรรณ

อย่าซีเล็ง เดี๋ยวซู้หลิ่ง

Illustrator

Avatar photo

Arunnoon

มนุษย์อินโทรเวิร์ตที่อยากสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คนผ่านภาพวาด

Related Posts