เล่น-ทำงาน-อ่าน เข้าไปในโลกส่วนตัวของนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

  • “มีอีกเยอะมากที่ต้องรีบพูดก่อนตาย”​ คือชื่อแรกสุดของบทความว่าด้วยอัตชีวประวัติ ผลงานและความคิดของนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
  • ด้วยความที่คุณหมอไม่ค่อยให้สัมภาษณ์หรือออกสื่อใด นี่จึงเป็นอัตชีวประวัติที่ครบถ้วนและถูกต้องที่สุดของคุณหมอ เพราะคุณหมอตรวจสอบเรียบร้อยตั้งแต่บรรทัดแรกไปจนตัวอักษรสุดท้าย
  • พร้อมทั้งเข้าไปในโลกส่วนตัวของคุณหมอที่บอกว่าหวงแหนมากที่สุด

ภาพ: คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“มีอีกเยอะมากที่ต้องรีบพูดก่อนตาย” 

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ให้เหตุผลถึงการตัดสินใจทำห้องเรียนพ่อแม่ในวัยเกษียณ รวมถึงให้ความรู้ต่างๆ ผ่านสามคำสำคัญ ‘อ่าน เล่น ทำงาน’ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา 

แต่ชีวิตของคุณหมอเอง น่าจะเริ่มต้นด้วยคำว่า ‘เล่น’ จากนั้นจึงตามมาด้วย ‘ทำงาน’ และส่วนสำคัญที่ทำให้คุณหมอเป็นคุณหมออย่างทุกวันนี้คือการ ‘อ่าน’ 

เล่น

ย้อนกลับไปหกสิบกว่าปีที่แล้ว ด.ช.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เกิดมาในครอบครัวคนจีน พ่อแม่ย้ายถิ่นฐานมาเปิดร้านขายของชำเล็กๆ แถววัดไผ่เงิน กรุงเทพฯ มีพี่ชายหนึ่งคนและน้องสาวอีกหนึ่งคน 

ตามตำรา Wednesday’s Child ลูกคนกลางน่าจะเอาเรื่องมากที่สุดในบรรดาพี่น้องสามคน และก็คงใช่ ถ้าอ้างอิงจากที่คุณหมอเล่าวีรกรรมวัยเด็ก

“ผมเล่นเยอะจริง ไม่เข้าห้องเรียน เอาแต่เล่นในสนาม จนแม่เหนื่อยหน่ายกับผมเรื่องเล่น จะทำงานบ้าน ถูบ้าน ล้างจาน ผมเล่นตลอดเวลา”

แม้อยู่ในหน้าที่ ด.ช.ประเสริฐ ก็เล่น 

“ทำงานบ้านก็เล่นรำทวน สมมติตัวเองเป็นตัวละคร ผู้ยิ่งใหญ่แห่งเขาเหลียงซาน รำทวนไปถูบ้านไป ไม่เสร็จซะที แม่ขึ้นมาด่าทีนึงแล้วก็เล่นต่อ ล้างจานก็เอาจานเป็นเรือดำน้ำ สู้กันในมหาสมุทร เล่นได้ตลอด”

เด็กทั้งสามคนในบ้านต่างมีงานต้องรับผิดชอบ ขณะที่เพื่อนๆ คนอื่นได้เล่น ด้วยความที่บ้านอยู่หน้าโรงเรียน เลิกเรียนเด็กๆ ต้องวิ่งกลับมาช่วยขายของ เพราะชั่วโมงเลิกเรียนคือเวลาทำเงินมากที่สุดของวัน 

ขายของเสร็จ งานถัดมาคือถูบ้าน กวาดบ้าน และทำงานบ้าน เสร็จแล้วค่อยไปทำการบ้าน อาบน้ำ แล้วค่อยถึงเวลาทองคือ ดูโทรทัศน์ ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นจอขาวดำ หรือไม่ก็เล่น

กิจวัตรที่ต้องทำก่อนสันทนาการทั้งหลาย ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างว่านอนสอนง่าย โดยเฉพาะลูกชายคนกลางที่มักจะชักสีหน้าและทำอย่างขอไปทีแทนการบอกไปตรงๆ ว่าไม่อยากทำ เพราะรู้ดีว่าอย่างไรก็ต้องทำ บางทีต้องทำซ้ำด้วยถ้าไม่ตั้งใจ 

“ถูบ้าน กวาดบ้าน ล้างจานก็ทำลวกๆ ฤทธิ์เดชเรามีหมด แต่ไม่ต้องสน ขอให้ทำ แต่เขา(พ่อแม่) ก็มาตามดูรายละเอียด ทำไม่สะอาดก็โดนจี้ เขามีหน้าที่จี้ เราก็มีหน้าที่เบี้ยว สู้กันไปอย่างนี้” 

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

จนถึงวัยนี้คุณหมอก็ยังยืนยันว่างานบ้านไม่สนุก แต่ดี 

“ถามว่าดีมั้ย ดี สนุกมั้ย ไม่สนุก งานบ้านไม่สนุกหรอก แต่ผมรับรองว่า บ้านไหนจับลูกทำงาน รับรองว่าเด็กจะได้ดี”

บ้านนี้สอนลูกว่า ลูกทุกคนต้องทำงานก่อน แล้วค่อยเล่น เข้าตำราลำบากก่อนสบายทีหลัง 

“ผมชอบปั้นดินน้ำมันเป็นตัวละครสู้กัน เอาก้านธูปมาเป็นปืนก็ได้ หอกก็ได้ ปักกันจึ๊กๆๆ ทะลุท้อง ของทุกอย่างในบ้านเล่นได้หมดแหละ” 

แต่ความเป็นเด็กขี้เล่นของคุณหมอ มีความสัมพันธ์บางอย่างกับการเรียนหนังสือได้ดี เพราะเล่นเยอะทำให้สมองเชื่อมโยงเรื่องต่างๆ ในบทเรียนได้ง่าย โดยเฉพาะวิชาวรรณคดีกับประวัติศาสตร์ ด.ช.ประเสริฐ ชอบมากและเก่งมาก

“ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่องไอคิวดีแต่กำเนิด แต่เชื่อว่าต้องมีบางอย่างที่ทำให้สมองทำงานได้ดี นึกถึงภาพตอนเด็กๆ ผมมีแต่การเล่น ไม่มีอย่างอื่น จำเรื่องห้องเรียนไม่ค่อยได้ 

เป็นไปได้ว่าแววบางอย่างของด.ช.ประเสริฐ อาจเริ่มเข้าตาครู วันนั้นตอนอยู่ชั้นป.3 เด็กชายไปโรงเรียนตามปกติ คุณครูมายืนเข้าเวรหน้าโรงเรียนตามปกติ แต่ที่ไม่ปกติคือจู่ๆ ครูก็ยื่นนิตยสารชัยพฤกษ์ให้พร้อมกับบอกว่า “ครูอ่านแล้วให้เธอนะ”

ชัยพฤกษ์ คือ นิตยสารรายปักษ์ภาษาไทย ที่เน้นเนื้อหาสาระสำหรับเยาวชน จัดทำโดยสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ตีพิมพ์ฉบับแรกเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2497 และตีพิมพ์ต่อเนื่องมานานหลายปี ต่อมาได้ตีพิมพ์ฉบับเสริมที่เน้นเฉพาะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ใช้ชื่อว่า ชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ และการ์ตูน ใช้ชื่อว่า ชัยพฤกษ์การ์ตูน ซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้ว (ที่มา: วิกิพีเดีย) 

ด.ช.ประเสริฐจบชั้น ป.3 พร้อมกับรางวัลเรียนดีที่มาในรูปแบบของหนังสือภาพวิจิตรเรื่องสังข์ทองทั้งชุด ซึ่งถูกใจเด็กชายผู้หลงใหลวิชาวรรณคดีที่สุด

ถามตรงๆ ว่าทำไมถึงเรียนเก่ง มีแรงผลักหรือจูงใจใดๆ ไหม คุณหมอตอบสั้นๆ ว่าไม่มี มันได้ของมันเอง 

แต่ส่วนสำคัญที่ทำให้เก่งคือวินัย และวินัยเกิดจากการทำงานบ้าน ช่วยพ่อแม่ขายของ ถึงแม้จะเข้าห้องเรียนแทบนับครั้งได้ก็ตาม คุณครูจะพบตัวด.ช.ประเสริฐได้ตามสนามกลางแจ้งมากกว่า 

แม้ผู้เป็นแม่จะเหนื่อยหน่ายอ่อนใจอย่างไร แต่คุณหมอยืนยันว่า “พ่อแม่อยู่บ้านตลอดเวลา” ทั้งๆ ที่พ่อแม่เอาเวลาทั้งหมดไปทุ่มให้กับงาน แต่เพราะงานอยู่ที่บ้าน 

“แม่อยู่บ้าน หันไปก็เห็น เพราะเขาขายของที่บ้านเช้าถึงเย็น คุณพ่อไม่ไปไหน ไม่เที่ยวกลางคืน ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่ไปสนามม้า ไม่ไปสนามมวย” 

วัยรุ่นมีปัญหา 

เมื่อเติบโตขึ้นจาก ด.ช.กลายเป็นนายประเสริฐ ด้วยนิสัยชอบเล่นมากกว่าเรียน ทำให้นิยามตัวเองว่าเป็นวัยรุ่นที่มีปัญหา ทั้งปัญหาไม่ชอบไปโรงเรียน อยู่บ้านก็ไม่ชอบขายของ 

“เราเป็นวัยรุ่น เราเลยเบื่อ” 

จนแล้วจนรอด เด็กมีปัญหาคนนี้ก็ไม่เคยหนีเรียน ทำได้เพียงเถลไถลกลับบ้านช้า ประวิงเวลาช่วยงานที่บ้านให้น้อยที่สุด 

หลักเลิกเรียน หาตัวนายประเสริฐ ได้ตามโรงหนัง ตรงที่นั่งแถวหน้าสุดเพราะราคาตั๋วถูกที่สุด สมัยนั้นสนนราคาอยู่ที่นั่งละ 10 บาท 

“สยาม ลิโด้ สกาล่า เซนจูรี่ หมดทุกโรงในกรุงเทพฯ ไปหมด บางวันดูสองเรื่องควบด้วย” 

ถ้าไม่อยู่โรงหนังอีกที่ที่ตามหาตัวได้คือร้านหนังสือระหว่างรอรอบหนัง สองร้านที่เจอตัวได้คือ ดวงกมลหลังโรงหนังลิโด้ กับร้านประพันธ์สาส์นย่านวังบูรพา 

เมื่อลูกชายคนกลางครองแชมป์กลับบ้านดึก แรกๆ พ่อแม่ถาม แต่ก็ถามจนเบื่อ เบื่อเพราะรู้ว่าอย่างไรก็ห้ามไม่ได้ ที่สำคัญลูกชายเกเรเรื่องนี้แค่เรื่องเดียว 

โรงเรียนชายล้วนอย่างสวนกุหลาบ คุณหมอจัดอยู่ในกลุ่มเด็กเก่งและเป็นติวเตอร์ เพื่อนๆ ทุกคนถึงกับบอกว่า “กระดาษทดของประเสริฐมันยอดมาก” กระดาษทดในที่นี้หมายถึงกระดาษทดเลขจริงๆ ซึ่งจะมีรายละเอียดของวิธีทำโจทย์ วิชายอดนิยมคือ พีชคณิต ตรีโกณมิติ จนประเสริฐขึ้นแท่น ดาว ม.ศ.4 ของเพื่อนๆ 

ก่อนหน้าจะเลือกสายวิทย์ ความใฝ่ฝันของเด็กชายชั้นมัธยมต้นคือนักโบราณคดี เพราะสนใจวรรณคดีกับประวัติศาสตร์ตั้งแต่จำความได้ 

“แต่แม่ไม่ให้ แม่พูดชัดเจน ต้องเป็นหมออย่างเดียว” 

แทนที่วัยรุ่นผู้มีปัญหาจะต่อต้าน กลับเชื่อฟัง ไม่ดื้อเลย 

“ตอนนั้นท่านเหนื่อยมาก นั่งขายของ เช้ามืดถึงสองทุ่ม ทุกวันจนเราโต รู้ว่าท่านเบื่อมาก เบื่อแต่ทำเพราะลูกล้วนๆ ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง ไม่ลงทุน ไม่ทำอะไร มีเงินเก็บกิน จนส่งลูกสามคนเรียนจบ พอถึงเวลา ถ้าท่านบอกว่าอยากให้เป็นหมอ ก็เป็น ง่ายๆ ผมไม่ดื้อเลย เป็นเลย มีแม้กระทั่งว่า เป็นหมอที่ไหน ขอไปเรียนเชียงใหม่ได้มั้ย แม่ไม่ให้ อยากให้อยู่ใกล้บ้าน พี่ชายเรียนรามาธิบดีแล้ว ก็เอาศิริราช จะได้ไม่ซ้ำกัน” 

จึงเป็นความมุ่งมั่นตั้งใจมาตั้งแต่ ม.ศ.4 และเป็นเวลาเดียวกับที่ได้รู้จัก ธงชัย วินิจจะกูล และ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ครั้งแรกในฐานะรุ่นพี่ปีเดียวกับพี่ชาย ศ.นพ.ดร.ประสิทธิ์ ผลิตผลการพิมพ์  

“พี่สองคนดังตั้งแต่มัธยมต้นแล้ว ทำหนังสืออนุสรณ์ เริ่มตั้งคำถาม เริ่มมีความคิดท้าทาย ต่อจารีต ผมได้ทำโครงงานวิทยาศาสตร์ปีเดียวกันกับพี่ธงชัย ที่จำได้คือซีนที่พี่เค้าโมโหรุ่นพี่คนหนึ่งว่า ทำไมชอบพูดไทยคำอังกฤษคำ จะเห็นว่า วัยรุ่นเริ่มตั้งคำถามแล้ว สมัยนั้นผมฟังก็รู้สึกว่าคำถามนี้เท่มาก เออ ทำไมต้องพูดไทยคำอังกฤษคำวะ”  

ถึงรุ่นน้องจะรู้สึกว่ารุ่นพี่เท่ตรงกล้าตั้งคำถาม แต่จนแล้วจนรอดตัวเองก็ยังไม่กล้าตั้งคำถามอยู่ดี 

“ผมช้า ผมอยู่ในจารีตเยอะ โดยรวมๆ แล้วผมเป็นเด็กอยู่ในกรอบ แม้ว่าจะไม่ชอบ แต่จริงๆ แล้วเป็นเด็กที่กลัวโดยพื้นฐาน ไม่ค่อยพยศหรอก” 

วิชาที่ชอบสุดจิตสุดใจอย่างวรรณคดีและประวัติศาสตร์ ไล่มาตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ คุณหมอในวัยนั้น เล่าได้เป็นฉากๆ จำละเอียดยิบชนิดปี พ.ศ. ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ถามมาตอบได้หมด แต่กลับไม่เคยตั้งคำถามต่อข้อเท็จจริงแม้สักครั้ง 

“ครูให้ทำสมุดรายงานประวัติศาสตร์เล่มนึง ผมตัดภาพประวัติศาสตร์สำคัญๆ ของโลกจากนิตยสารชัยพฤกษ์ ประวัติศาสตร์ตั้งแต่นโปเลียน อเล็กซานเดอร์มหาราช แต่ได้คะแนนหกเต็มสิบ เพื่อนๆ ผมข้ามถนนไปซื้อรูปประวัติศาสตร์ข้างคุรุสภา มาตัดๆ แปะๆ ได้สิบเต็ม ผมจะบ้าตาย แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ตั้งคำถามนะว่าทำไม คิดแค่ว่ามันต้องมีบางอย่างไม่ปกติแน่ๆ” 

ความสงสัยในความไม่ปกติถูกล็อคเก็บไว้โดยไม่เคยตั้งคำถาม จนเด็กสวนกุหลาบสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ได้อย่างสบายๆ 

นักศึกษาแพทย์ที่ไม่มีความสุข

ความยากของการสอบเข้าคณะอันดับหนึ่งของสายวิทย์ในตอนนั้น คุณหมอบอกว่าสบายมาก แค่ใช้วิธีทำแบบฝึกหัดวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ให้เยอะที่สุด 

“ส่วนวิชาที่เหลือ ผมมีหลักการข้อเดียวคือท่องทุกตัวอักษร ได้แน่นอน รู้เลยว่าสอบได้ตั้งแต่ท่องหนังสือเสร็จ เพราะท่องหมด ไม่ต้องเข้าใจแม้แต่อย่างเดียว” คุณหมอยังทิ้งท้ายประโยคนี้ไว้อีกว่า ไม่เห็นน่าภูมิใจเลย

ทั้งหมดที่ทำไปเพราะไม่อยากให้แม่เสียใจ 

“ที่สำคัญ การเตะฝุ่นตอนนั้นมันเป็นการเสียหน้าอย่างมาก ยิ่งเป็นประเสริฐ ยิ่งเตะฝุ่นไม่ได้” 

พอเขยิบขั้นเป็นนักศึกษาแพทย์ เด็กหนุ่มที่เคยฝันว่าอยากเข้าคณะโบราณคดี ไม่ค่อยมีความสุขกับการเรียนฝั่งศิริราช แต่ก็เรียนได้ด้วยวิธีท่องให้เสร็จ ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ครบ

คุณหมอคลายความทุกข์ตอนเรียนด้วยการเริ่มอ่านการ์ตูนอย่างจริงๆ จังๆ  อย่างโดราเอมอน หมัดเพชฌฆาตดาวเหนือ ซิตี้ฮันเตอร์ เซนต์เซย่า ฯลฯ ฉบับแปล

“ผมไม่ค่อยได้เข้าห้องเลคเชอร์ที่ศิริราชเท่าไหร่ เพราะฟังไม่รู้เรื่อง ผมเป็นเด็กเรียนรู้ช้ามาก จึงไม่เคยรู้เรื่องเลย ต้องมาอ่านเองเสมอ ส่วนใหญ่ข้ามเรือมาอ่านที่ธรรมศาสตร์ อ่านสลับกันระหว่างตำราแพทย์กับการ์ตูน อ่านจนหมดเวลาก็ไปหาหนังดู ชีวิตจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่เสียเวลาในห้องเลคเชอร์ที่จะอย่างไรเราก็โง่เกินกว่าจะรู้เรื่อง เซฟเวลาได้เยอะมาก” 

การเป็นเด็กเรียนเก่งตั้งแต่ ป.3 ถึง มศ.5 ทำให้นักศึกษาแพทย์ล้ามาก การเรียนสองปีแรกถึงขั้นหมดพลัง เข้าไปฟังเลคเชอร์จึงรู้ว่าไม่รอด มีแต่จะหลับ เลยหลบมาเล่นไพ่ที่ใต้ถุนคณะวิทยาศาสตร์ ถึงเวลารอบหนังก็ไป 

จนปี 3 ข้ามฟากไปเรียนฝั่งศิริราช เริ่มเห็นความแตกต่างและสิ่งที่เรียกว่า ‘ชนชั้น’ ทั้งหมู่เพื่อนด้วยกันและอาจารย์ 

“นศ.แพทย์กลุ่มหนึ่งขับรถเก๋งมาเรียน อยู่ดีกินดี แต่นศ.แพทย์อีกกลุ่มหนึ่งกลับไม่มีทุนเรียน ใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง เอาแค่สองขั้วนี้ผมก็รู้สึกละ ผมอยู่ตรงกลาง เราก็รู้สึกไม่ชอบ ไม่ควรชัดขนาดนั้น กับคนไข้มันก็มีสิ่งที่เรียกว่า ห้องสามัญกับห้องพิเศษ อันนี้ก็ไม่ชอบ” 

ตอนคุณหมอยังเป็นนักศึกษาแพทย์ ต้องเข้าไปถามประวัติ ตรวจผู้ป่วยในห้องสามัญ ผู้ป่วยในห้องนั้นจะถูกถามประวัติซ้ำซ้อนหลายครั้งจากบุคลากรทุกระดับ 

“ไม่มีใครสอนเราเรื่องวิธี approach (เข้าหา) ผู้ป่วยไร้ญาติ ทั้งการให้เกียรติ เคารพสิทธิเขา โดยเฉพาะเราทำบางเรื่องกับเค้าซ้ำๆ เช่น ถามซ้ำๆ เจาะเลือดซ้ำ ฯลฯ ก็รู้ว่าเป็นการศึกษา เขาต้องเป็น Subject ให้เรา แต่รู้สึกไม่ชอบระบบ มันน่าจะมีวิธีที่ดีกว่านี้ พอเราไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ รู้สึกว่าเค้าก็เป็นคนมากกว่าที่เราเคยถูกเสี้ยมสอนมา เค้าก็คนเหมือนเรานั่นแหละ ไม่ชอบสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบโรงเรียนแพทย์ ความแปลกแยกชัดเกินในทุกระดับ” 

ความไม่ชอบความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีรุ่นพี่เอาหนังสือมาร์กซิสต์มาให้อ่าน ได้รู้จักเพลงกรรมาชน จนทำให้นักศึกษาแพทย์สมัยนั้นแบ่งเวลาไปสนใจและช่วยงานการเมืองต่างๆ เช่น ไปฟังรุ่นพี่ไฮด์ปาร์ค ช่วยปิดโปสเตอร์ตามที่ต่างๆ และขลุกตัวอยู่ที่สโมสรนักศึกษามากกว่าห้องเลคเชอร์ 

ตอนนั้นสโมสรนักศึกษาของศิริราช ได้ชื่อว่าเป็นที่ชุมนุมของนักศึกษาหัวก้าวหน้า มีนักคิด นักเขียน และนักพูดหลายคน รวมถึงมรดกทางความคิดที่ตกทอดมาจากนักศึกษาแพทย์รุ่นก่อนๆ ที่เพิ่งผ่านพ้นเหตุการณ์ตุลาคม 2516 และ 2519 มาไม่นาน 

แม้ว่าจะไม่ฮาร์ดคอร์ ไม่ถึงกับไปช่วยปิดโปสเตอร์กลางค่ำกลางคืน แต่จากการซึมซับมาเรื่อยๆ คุณหมอจึงรู้สึกว่า การเมืองคือหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยตอบโจทย์ความรู้สึกข้างในที่อึดอัดกับช่องว่างที่ถ่างห่างขนาดนี้ในสังคม

“มันทำให้รู้สึกว่า อนาคตมีทางออก โลกมันดีกว่านี้ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้ มีทฤษฎี มีคนเขียนไว้ว่ามันออกทางประชาธิปไตยได้ ออกทางสังคมนิยมได้ มันออกได้หลายเส้นทาง ไม่จำเป็นต้องปิดประตูตาย รู้สึกว่าชีวิตมันไม่ได้อับจนว่าโลกมันจะต้องเป็นเช่นนี้ตลอดไป เท่านี้ก็พอใจแล้ว” 

สุดท้ายแล้ว เรียนจบคุณหมอก็แบกเป้มาใช้ทุนเป็นแพทย์ฝึกหัดที่เชียงราย ตอนนั้นเองคุณหมอยังไม่รู้เลยว่าเชียงรายเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าอยากเป็นแพทย์ชนบท เพื่อดำเนินรอยตามรุ่นพี่ที่เป็นไอดอลสมัยนั้น

“ซึ่งตอนนั้นชนบทเป็นอย่างไรยังไม่รู้เลยนะ” เด็กกรุงเทพฯ สารภาพ 

“รู้แต่ฮีโร่เรามา ก็ต้องมา” 

ทำงาน

เก่งแค่ไหนก็ช่วยชีวิตคนไข้ไม่ได้ 

ชีวิตนักศึกษาแพทย์ฝึกหัดจากต่างถิ่น เริ่มต้นครั้งแรกที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย ในปี พ.ศ.2526 และเป็นช่วงที่คนรวยถือบัตรสงเคราะห์และบัตรสุขภาพ ขณะที่คนจนนอนป่วยบนเตียงผ้าใบ ตากฝน และหนาวเหน็บ

สำหรับคุณหมอฝึกหัด  นอกจากประสบการณ์รักษาจริงที่ได้ ยังเห็นสังคมจริงๆ ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทุกชนชั้น ได้เจอคนไข้จริงๆ และเป็นครั้งแรกที่เห็นซึ้งถึงคำว่า “ชนชั้น”

เริ่มตั้งแต่ห้องฉุกเฉินที่เปิดรับคนบาดเจ็บเมาเละ ผ่านการตีรันฟันแทง เลือดตกเพราะแท้งลูก 

“เห็นทุกอย่างบนโลกมนุษย์ เป็นชีวิตที่ดี ตอนอินเทิร์นนี่ชอบมาก อันนี้ของจริง แม้ว่าจะอึดอัดบ้างว่าโรคง่ายๆ เรารักษาไม่เป็น อย่าง ปอดบวม งูสวัด ท้องเสีย ฯลฯ ศิริราชไม่ได้สอนมา รักษาได้แต่โรคยากๆ”

คุณหมอใช้ทุนและมาเป็นแพทย์แผนกอายุรกรรม ณ ตอนนั้น ต้องทำเองทุกอย่าง มีหมอทั้งโรงพยาบาล 11 คน แต่ไม่มีหมอเฉพาะทางแม้แต่คนเดียว เคสไหนรักษาไม่ได้ก็วิ่งเข้าห้องพักแพทย์ เปิดตำรา อ่านแล้ววิ่งออกมาปฏิบัติหน้าที่

“เครียด” คุณหมอบรรยายอารมณ์ตอนนั้นด้วยคำนี้ 

ถึงแม้ไม่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางแต่บุคลากรแต่ละแผนกล้วนเก่งและมากประสบการณ์ในงานตัวเองกันหมด 

“ศัลยแพทย์ สูติแพทย์ อายุรแพทย์ กุมารแพทย์ ออร์โธปิดิกส์ รุ่นพี่ทุกคนเป็นหมอบ้านนอกหมด มีอะไรก็ปรึกษาพวกเขาได้ รุ่นพี่มิได้จบวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญ ไม่ใช่อาจารย์ เพราะฉะนั้นมีอะไรเราก็เปิดตำรา คนไข้ก็มหาศาล เยอะแยะเต็มไปหมด ตอนนั้นความเป็นแพทย์ค่อยๆ เริ่มต้นและเติบโตอย่างรวดเร็ว หมอ 11 คนนี้เป็นอาจารย์แท้ๆ ของผมเลยเพราะจับผมสอนวิธีรักษาชาวบ้านจริงๆ”

ไม่ว่าจะเป็นเจาะปอด เจาะตับ เจาะไขกระดูก ฯลฯ แพทย์ใช้ทุนทำเป็นหมด ตอนนั้นคุณหมอรู้สึกว่าตัวเองเก่ง 

แต่เก่งแค่ไหนก็ช่วยชีวิตคนไข้ไม่ได้ 

“อายุรแพทย์เป็นกลุ่มโรคเรื้อรังเยอะ เช่น โรคปอดเรื้อรัง ตับเรื้อรัง ไตเรื้อรัง มะเร็ง ไข้สมองอักเสบ ฯลฯ ไม่หาย ไม่ตาย เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาล ตอนนั้นเราไม่มีความสามารถทำให้เขามีความสุขด้วยเพราะไม่ได้เรียนมา ตอนเป็นนักศึกษาแพทย์ได้เรียนจิตเวชศาสตร์น้อยมาก”

จนมาถึงวันที่คุณหมอรู้สึกว่าอายุรแพทย์ไม่ใช่ทาง เพราะทำอย่างไรคนไข้ก็ไม่มีความสุข รักษาไป เดือนหน้าก็กลับมาใหม่ ทุกอย่างเรื้อรังหมด

ย้อนกลับไปสมัยเรียนคุณหมอได้ A อยู่สองวิชาคือวิชา Anatomy กับจิตเวช โดยเฉพาะวิชาหลัง เอาจริงๆ คุณหมอบอกว่าไม่ถึงกับสนใจมาก 

“รู้สึกว่าวิชานี้ง่าย รู้ทางว่าจะดูผู้ป่วยแบบไหน วินิจฉัยยังไง ทำให้เขาดีขึ้นได้อย่างไร รู้วิธีทำให้เขามีความสุข แม้ว่าจะไม่หายเหมือนเดิม”

ในความคิดของคุณหมอตอนนั้น  โรคทางจิตเวชศาสตร์รักษาแล้วไม่หาย เช่นเดียวกับโรคทางอายุรกรรม นอกจากไข้หวัดกับท้องเสีย แต่สิ่งที่ควรทำคือทำให้คนไข้มีความสุข ถึงแม้ที่สุดแล้วจะไม่หายอยู่ดี กอปรกับมีความชอบเป็นทุนเดิมอยู่บ้าง คุณหมอจึงตัดสินใจเรียนต่อเฉพาะทางด้านจิตเวช แต่หลักๆ คือไม่มีใครแย่งเรียนมากนักเสียมากกว่า

“เป็นวิชาที่สมัยนั้นไม่มีคนแย่งเท่าไหร่นัก นอกจากไม่แย่งแล้ว ยังถูกตั้งคำถามเยอะ จะบ้าเหรอที่ไปเรียนเนี่ย ผมโดนเยอะมาก ทั้งจากญาติ จากเพื่อน จากทุกคน ถูกล้อ กระแนะกระแหน บอกว่าผมเรียนวิชาไสยศาสตร์มีนะ ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว ผมเลยบอกทุกคนว่าเรียนที่หลังคาแดงไปเลย เพราะเราก็ไปเรียนที่ปากคลองสานจริงๆ (โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา)” 

อีกเหตุผล คือ ตอนเป็นแพทย์ใช้ทุนในแผนกอายุรกรรมต้องดูแลและรักษาผู้ป่วยจิตเวช ตั้งแต่ตรวจ ให้ยา และปรากฏว่าการตอบสนองดีมากทุกราย 

“ทุกวันนี้ผมก็ยังยืนยันว่า การรักษาทางจิตเวช ให้ยาโดสสูงๆ หายทุกราย อยู่ที่ว่าคุณจะสู้ยาโดสสูงได้หรือเปล่า แต่ไม่หายขาดนะ แน่นอนว่าต้องกินยาหลายเดือน หลายปี แต่อาการทางจิตหาย 80-90 เปอร์เซ็นต์” 

เช่นนั้น ขั้นตอนการสอบสัมภาษณ์เข้าเรียนต่อที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา อาจารย์แพทย์ถามว่า “ทำไมคุณหมอถึงมาเรียนจิตเวช” 

“รักษาแล้วหายครับ ผมตอบคำแรกเลย” กลุ่มผู้ถามถึงกับวางปากกาแล้วถามต่อว่า มันหายจริงๆ หรือ 

สุดท้าย คุณหมอก็สอบผ่านทั้งข้อเขียนและสัมภาษณ์ 

จิตแพทย์ผู้รักษาทั้งกายและใจ 

หลักการพื้นฐานของจิตเวชศาสตร์คือ Bio-psycho-social คนจะป่วยมีสาเหตุทั้งสามประการเสมอ ชีววิทยา จิตวิทยา และสังคมวิทยา ไม่มีสาเหตุโดยตรง 

3 ปีกับการเรียนต่อเฉพาะทางด้านจิตเวช เปรียบเทียบกับชีวิตนักศึกษาแพทย์ 6 ปี และอีก 1 ปีในฐานะแพทย์ฝึกหัด และอีก 2 ปีในฐานะแพทย์ใช้ทุน สำหรับคุณหมอ การเรียนเพื่อรักษาใจและรักษากาย แตกต่างกันมาก 

“ตอนที่เราไปเรียนเฉพาะทาง 3 ปี รุ่นผมเกือบทุกคนใช้ทุนมาแล้ว 2 ปี ยังไม่นับรวมที่เรียนรวมๆ อีก 7 ปี ทุกคนที่เรียนเฉพาะทางจึงเป็นผู้ใหญ่มากพอสมควร มีวุฒิภาวะ การตัดสินใจต่างๆ ดีกว่าตอนเพิ่งจบแพทย์ การเรียนหนนี้คือเรียนอย่างรู้วิธีเรียน รู้ว่าเรียนอย่างไรเพื่อช่วยผู้ป่วย ไม่ใช่เรียนเพื่อท่องสอบ” 

ความยากและเชี่ยวชาญด้านจิตเวชที่ใช้เวลาร่ำเรียนถึง 3 ปี ทำให้คุณหมอตระหนักโดยหน้าที่ว่า ไม่ว่าเคสผู้ป่วยงานหรือยาก แพทย์เฉพาะทางไม่มีสิทธิปฏิเสธ 

“เพราะทั้งประเทศไทยมีแต่คุณที่รักษาโรคนี้ได้ คุณต้องเป็นเซียนด้านนี้ นี่คือสิ่งที่แพทย์เฉพาะทางมอบให้เรา เรามีหน้าที่รักษาผู้ป่วยที่ไม่มีคนรักษาได้” 

เมื่อแพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชกลับมาทำงานต่อที่โรงพยาบาลเชียงราย ก็ยังประจำอยู่แผนกอายุรกรรมต่อ เพราะสมัยนั้น (ราว พ.ศ.2532) ยังมีคนรู้จักคำว่าจิตเวชศาสตร์ไม่มาก ในโรงพยาบาลชนบทไม่มีแผนกนี้เฉพาะ ฉะนั้นการทำงานช่วงแรกจึงไม่ง่าย ขณะที่ยอดผู้ป่วยจิตเวชรังแต่จะพุ่งขึ้นเรื่อยๆ 

“สมัยนั้น รุ่นน้องผมที่จบไล่ๆ มาเจอปัญหาแบบนี้เหมือนกันหมด เราต้องทำงานเพื่อพิสูจน์ตัวเยอะมากว่านี่เป็นงานที่มีกลุ่มผู้ป่วยเฉพาะที่ต้องการเวลาโดยเฉพาะที่จะจัดการ” 

อีกราวๆ 5 ปี โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์จึงมีแผนกจิตเวชอย่างเป็นทางการ แต่ก่อนหน้านั้นคุณหมอก็รักษาผู้ป่วยทั้งกายและใจควบคู่กันมาตลอด ยกตัวอย่างเช่น ทำให้คนไข้โรคปอด ตับ ไต มีความสุขมากขึ้น โดยการทำให้เขามีความสุขกับโรคที่เป็น 

หลักการง่ายมาก คุณหมอบอก 

วิธีการรักษาทางกาย คือ จ่ายยา ซึ่งเป็นวิธีที่หลายคนไม่ชอบแต่คุณหมอยืนยันว่า แม้ยาด้านจิตเวชหลายชนิดจะยังมีคำถาม แต่ยาทุกแผนกของแพทย์แผนปัจจุบันต่างก็มีคำถามด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะคำถามเกี่ยวกับงานวิจัยรองรับ และความน่าเชื่อถือต่างๆ 

“ยาจิตเวชถูกพิสูจน์แล้วหลายตัวว่าดีมาก มันเป็นทางลัดจริงที่จะทำให้ผู้ป่วยดีขึ้นชั่วข้ามคืน สองอาทิตย์ หนึ่งเดือนเป็นอย่างมาก ดีขึ้นมาก ดีจนถึงระดับนั่งคุยกันได้จากเดิมคุยกันไม่ได้เลย เพราะไม่มีสมาธิฟังหมอหรือเอาแต่แย่งหมอพูด แต่ยาทำให้เขาสงบ สงบจนได้มานั่งคุยกันสักทีว่าโรคตับ ไต ปอดที่เป็นมันมีความหมายว่าอย่างไรสำหรับคุณ คุยกันไปจนถึงจุดที่เขาจะรู้ว่าไม่มีวันหายหรอก ดังนั้น เป้าหมายใหม่คืออยู่กับมันอย่างไรให้มีความสุข นี่คืองานของผม” 

อธิบายให้ละเอียดกว่านั้น เม็ดยาที่คุณหมอให้จะไหลลงกระเพาะอาหาร สลายเป็นผง แล้วถูกละลายด้วยน้ำย่อย จากนั้นดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ยาถูกแปรรูปแล้วเดินทางขึ้นบนผ่านเส้นเลือดคาโรติดที่คอสู่สมอง ผ่านบลัดเบรนแบริเออร์เข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง ตัวยาซึมเข้าไปในบริเวณช่องว่างระหว่างจุดเชื่อมต่อของเซลล์ประสาทแล้วเข้าไปปิดกั้นประตูน้ำ มิให้เซโรโทนินถูกดูดกลับเข้าไปในเซลล์ ผลที่ได้คือระดับเซโรโทนินที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่องว่างนี้ 

ยาจึงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับจิตแพทย์ที่ต้องใช้เวลาในการรักษาแต่ละเคสอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจิตแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งมีคนไข้ปริมาณเยอะมาก การใช้ยาร่วมกับการพูดคุยคือ การรักษาที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด 

“ผมตรวจประมาณ 100-150 คนต่อวัน จันทร์-พุธ-ศุกร์ ตลอดเวลาที่รับราชการ คนไข้ได้เวลาจากผมเฉลี่ยคน 3 นาที คนไข้เก่าได้ 1 นาที ส่วนคนไข้ใหม่ได้ประมาณ 5 นาที”

1 นาทีสำหรับคนไข้เก่า บทสนทนาแบบกระชับจะอยู่ที่ “สบายดีมั้ย” “วันนี้มีอะไรอยากถามหมอบ้าง” หรือ “มีอะไรเหลือให้หมอช่วยอีกมั้ย” แทบจะเป็นแพทเทิร์นสำหรับเคสที่อาการดีขึ้นจนไว้ใจได้แล้ว 

หากคนไข้ 100-150 คนที่มาหาคุณหมอทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่มาพร้อมกับความเกรงใจ คิดว่าตัวเองมาขอความช่วยเหลือมากกว่ารักษา จะมาด้วยอาการมากน้อยแค่ไหน ส่วนใหญ่ไม่กล้าถามเยอะ หลายคนเลือกตัดบทเองเลยว่า “พอละวันนี้ ข้างนอกยังรอหมออีกมาก”

“เค้าแค่ต้องการยาเดิมเพราะได้ประโยชน์จากยาจริงๆ ผู้ป่วยแทบทุกคนของผมมาตามนัด ทุกคนทดลองหยุดยาคนละสามรอบโดยประมาณ เข็ด หยุดทีไรก็ไม่รอด ไม่มีทางจะรอดหรอก ในสภาพสังคมแบบนี้ เขาต้องมียาจิตเวชช่วย ดังนั้น ทุกคนก็จะมาเพื่อเบิกยาและเจอหน้าผม นาทีเดียวก็ยังดี หลายคนบอกว่า ได้แตะชีพจรก็ยังดี ชาวบ้านมักน้อยมาก” 

ในการรักษา ยิ่งผู้ป่วยมักน้อยยิ่งต้องไม่ฉวยโอกาส แค่หนึ่งนาทีที่เขามาพบแพทย์ ก็ต้องทำให้ทั้ง 60 วินาทีนั้นมีค่าที่สุด และไม่มีคนไหนรอข้ามคืน นี่คือจรรยาบรรณแพทย์ของคุณหมอ 

ภายในสี่โมงเย็น ผู้ป่วยจิตเวชในความดูแลของนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ต้องได้กลับบ้านทุกคน ไม่มีการค้างคืน ไม่ต้องนอนศาลาพัก ไม่ต้องหาโรงแรมนอน 

“จะตรวจดีๆ คนละ 30 นาที แล้วที่รออีกร้อยคนทำอย่างไร มาจากเวียงแก่น ขุนตาล แม่ฟ้าหลวง เชียงของ เขาจะกลับถึงบ้านกี่โมง ผมสารภาพว่าเอาปริมาณก่อน จิตแพทย์บางคนโกรธผมมาก ผมจึงพูดเสมอ ผมเอาปริมาณ แล้วผมทำให้ทุกคนมีความสุขไล่เลี่ยกัน แน่นอน ตรวจวันละ 150 คนมีคนไม่พอใจผมแน่ๆ อย่างน้อย 5 คนต่อวัน แต่ 145 คนพอรับได้ ผมก็เอาเท่านี้” 

การตรวจแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้ามคืนแบบนี้สร้างและสะสมความเครียดมาตลอดระยะเวลาเกือบสี่สิบปีในระบบราชการ จนต้องงดอาหารกลางวันแล้วเอาเวลานั้นไปว่ายน้ำแทน 

“ตรวจคนไข้ช่วงเช้า 80 คน มันเครียดมาก ชีวิตมันอยู่ไม่ได้หรอก ถ้ากลางวันกินข้าวยิ่งเครียดใหญ่ หรือมัวแต่กินข้าวก็หมดเวลา แล้วก็ง่วงเหงาหาวนอนหลับ เลยไปว่ายน้ำ ภรรยาผมก็ไปเฝ้า เอาข้าวกล่องไปกินข้างสระ ขึ้นมาก็สดชื่น ตรวจได้อีกทั้งบ่าย อยู่บ้านนอกรถไม่ติด สระว่ายน้ำใกล้โรงพยาบาล ไปว่ายยี่สิบนาทีกลับมาได้ใน 1 ชั่วโมง ภรรยาเป็นพยาบาลการเข้าออกงานตรงเวลามากจะเถลไถลมิได้” 

ตลอดสี่สิบปี คุณหมอกินข้าวเฉลี่ยวันละสองมื้อ คนไข้เก่าได้โควต้า 1 นาที คนไข้ใหม่ 3-5 นาทีที่ได้คนละสิบคำถามก็สามารถวินิจฉัยและจ่ายยาได้ มีบ้างวันละ 2-3 รายที่เข้ามาแบบชิงโชคได้นาทีทองไปจากคุณหมอคนละ 15-20 นาทีเพราะมีเรื่องวิกฤติจริงๆ แต่นั่นหมายความว่าคนไข้ที่นั่งข้างนอกต้องรอนานขึ้นอีก 

“ถ้ามีกรณีจำเป็นแบบนี้เยอะ ข้างนอกตายเลยนะ เดือดร้อนมาก เดินกันพลุกพล่าน พยาบาลก็เดือดร้อน อยู่ไม่สุข เปิดประตู หมอเป็นอะไรไปหรือเปล่า คนนี้ยี่สิบนาทีแล้วนะ ก็จะมีผู้ป่วยได้นาทีทองวันละสองสามคน แต่เกลี่ยได้ไง ทุกอย่างมันเป็นฟอร์แมตในหัว”

ไม่ใช่จิตแพทย์เด็กแต่สนใจเรื่องเด็ก 

จากงานเขียนเกี่ยวกับการ์ตูน และงานเขียนที่เน้นเรื่องพัฒนาการตามวัยของเด็กๆ จนถึงทุกวันนี้หลายคนยังเข้าใจอยู่ว่าคุณหมอเป็นจิตแพทย์เด็ก ซึ่งไม่ใช่ คุณหมอต้องคอยแก้ข้อมูลเป็นระยะๆ ว่าเป็นจิตแพทย์ทั่วไป

แต่เหตุผลที่สนใจเรื่องเด็กคือ คิวพบจิตแพทย์เด็กในโรงพยาบาลเชียงรายยาวขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ ที่มีแผนกจิตเวชเด็ก 

“บางโรงพยาบาลคิว 8 เดือน คือไปลงทะเบียนวันนี้ กว่าจะเจอหมอคือ 8 เดือนข้างหน้า จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่เสียงแบบนี้มีมากกว่าหนึ่งเสียง คิวที่โรงพยาบาลเชียงรายฯ ผมเดินผ่านโอพีดีจิตเวชเด็ก คิวมันยาวขึ้นเรื่อยๆ เห็นใจแพทย์ซึ่งมีอยู่คนเดียว เขาทำยังไงก็ไม่ทัน แล้วจิตเวชเด็ก ยาทางจิตเวชเด็กค่อนข้างมีปัญหาว่าทุกตัวได้ผลจริงหรือเปล่า ที่สำคัญ การคุยกับพ่อแม่เป็นเรื่องยากที่สุดในโลก ใช้เวลาคนละชั่วโมงจริงๆ นี่ยังไม่นับคุยกับเด็ก เล่นกับเด็กอีกคนละหนึ่งชั่วโมง จิตแพทย์เด็กไม่มีวันพอ” 

ประสบการณ์ทำงานยาวนาน คุณหมอยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าหาทางออกของปัญหาจิตเวชเด็กคิวยาว ไม่เจอ 

“สมัยก่อนมีอยู่สามเคส ขโมยยางลบ ปัสสาวะรดที่นอน ไม่ไปโรงเรียน เดี๋ยวนี้กลายเป็นเรื่องขี้ผงไปแล้ว จิตเวชเด็กเจอโจทย์ยากกว่านี้หลายสิบเท่า เยอะขึ้นมากด้วย ทั้งเรื่อง เพศสัมพันธ์ในห้องเรียน ใช้ยาบ้าในห้องน้ำโรงเรียน ความรุนแรง ยาเสพติด เอชไอวี สำหรับเด็กประถมมัธยมคำถามคือ “โรงงาน” ไหนผลิตผู้ป่วยให้มาเข้าคิวจิตเวชเด็กอย่างนี้” 

ส่วนเด็กเล็ก ถูกจูงเข้าแผนกจิตเวชด้วยเหตุผลอันดับหนึ่งคือ สมาธิสั้น ตบเท้าเข้ามาในปริมาณมากจนคุณหมอตั้งคำถามว่า ประชากรตัวเล็กเหล่านี้สมควรมาเข้าคิวจริงหรือไม่

ในฐานะจิตแพทย์ทั่วไปแต่สนใจเรื่องพัฒนาการเด็ก คุณหมอบอกว่า งานที่ทำนั้นอยู่บนสมมติฐานสองเรื่อง คือ หนึ่ง แรกเกิดถึง 3 ขวบ พ่อแม่อยู่กับลูกน้อยเกินไป นั่นคือ ผลิตผู้ป่วยกลุ่มที่หนึ่ง และสอง 4-7 ขวบ เด็กเรียนเยอะไป จนกลายเป็นผู้ป่วยกลุ่มที่สอง 

“สองประโยคนี้ถูกหรือเปล่า เถียงกันได้ ประเด็นคือเถียงสิ จะได้รู้ ถ้าเราได้เถียงแล้วเราบอกว่า จริง เราอยู่กับเขาน้อยไปสำหรับเด็กเล็ก จะได้กระแทกถูกรัฐเสียทีว่าทำยังไงให้พ่อแม่อยู่กับเขามากขึ้น ส่วน 4-7 ขวบ ทำอย่างไรให้ไม่ต้องเรียนเยอะ โรงเรียนทางเลือกก็แพง แต่ไม่ได้แพงอย่างที่คิด ถ้ารัฐมีเงินอุดหนุน” 

ไม่อาจพึ่งรัฐได้ การลดคิวในแผนกจิตเวชเด็กให้น้อยลงจึงกลายมาเป็นเป้าหมายของคุณหมอ งานบรรยาย ให้ความรู้ด้านพัฒนาการตามวัยจึงทำควบคู่กับงานประจำที่โรงพยาบาล และคลินิกนอกเวลาราชการมาตลอด 

จนคุณหมอตัดสินใจเกษียณก่อนกำหนด 

“มันเริ่มมีนโยบายขอให้ล็อกทุกอย่าง ล็อกจำนวน เอาคุณภาพ ล็อกเวลาผู้ป่วย ล็อกวัน จะว่าผมไม่ปรับตัวก็ใช่ ยอมรับผิด แต่ชาวบ้านเวียงแก่น ขุนตาล แม่ย่าม่อน ปากอิง ฯลฯ เขาไม่รู้กติกาที่โรงพยาบาลเขียนหรอก เขาขึ้นรถได้เขาก็มา มาถึงไม่ตรวจ บอกให้ขึ้น waiting list ถ้าเป็นหมอแบบนี้ผมเลิกเป็น เราก็รู้ว่าเราเป็นคนแก่ที่เป็นไม้ตายซาก เป็นหมออายุ 55 ที่ไม่ยอมปรับตัวเข้ากับยุคสมัย ถึงเวลาก็ต้องออก” 

ถึงลาออกจากราชการมาแล้ว คุณหมอก็ยังเป็นคุณหมออยู่ดี ประจำการคลินิกจิตเวชส่วนตัวที่เปิดมาตั้งแต่ตอนเรียนจบใหม่ๆ จนถึงวันนี้เปิดรับคนไข้จากหลากหลายจังหวัด หลากหลายเชื้อชาติจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า ลาว จีน ทั้งหมดเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่เด็ก 

“คนอื่นชอบคิดว่าผมเป็นจิตแพทย์เด็กแต่ผมไม่ตรวจ ใครมาก็ต้องขอโทษที่ทำให้ต้องเข้าใจผิดว่าตรวจเด็ก เขียนเรื่องเด็กเฉยๆ แต่ไม่ตรวจ เป็นจิตเวชผู้ใหญ่” 

รูปแบบเป็นคลินิกเอกชนที่มีการเก็บค่าบริการอย่างตรงไปตรงมา มีรายที่ฟรีบ้างแต่คุณหมอใช้วิธีรักษาสักพักแล้วเขียนใบส่งตัวและพร้อมชื่อยาเพื่อไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลรัฐ 

สุขภาพต้องไม่ใช่สังคมสงเคราะห์ จึงต้องมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 

ถึงจะเปิดคลินิกแต่ส่วนตัวแล้วคุณหมอสนับสนุนโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาตลอด และไม่กลัวว่าจะกระทบต่อรายได้เพราะคนไข้คนละกลุ่มกัน 

“เรื่องนั้นมันไม่กระทบคลินิก มีคนกลุ่มหนึ่งอย่างไรก็ต้องไปใช้ 30 บาท และมีคนอีกกลุ่มหนึ่งพร้อมจะเข้าโรงพยาบาลเอกชนจ่ายเท่าไหร่ก็ไม่อั้น อย่างไรสังคมก็ต้องมีมนุษย์ 2 กลุ่มนี้อยู่ดี” 

สำหรับคุณหมอ สุขภาพคือสิทธิ ประชาชนไม่ว่ายากดีมีจนต้องเข้าถึงมาตรฐานการรักษาขั้นต่ำ และนี่คือจุดยืนของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 

“สุขภาพจะต้องไม่ใช่สังคมสงเคราะห์ เราไม่ควรจะออกจากจุดยืนนี้ แล้วก็ไปเถียงเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น ประชานิยม กินเหล้าต้องจ่ายค่ารักษาเอง ติดเอดส์ต้องจ่ายค่ารักษาเอง วิวาทะพวกนี้เราผ่านมาแล้วไง มันกลับไปได้อย่างไรไม่รู้ เรื่องนี้ไม่ควรเถียงแล้ว” 

สำหรับคุณหมอ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ใช่สังคมสงเคราะห์ เพราะหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการปฏิรูประบบสุขภาพ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารและบริการระบบสุขภาพ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ให้ประโยชน์แก่ทุกคน ไม่ว่ารวยหรือจน 

คนจนไม่ควรยินดีปลาบปลื้มกับการถูกสงเคราะห์ คนรวยไม่ควรพึงพอใจกับบุญที่ได้จากการสงเคราะห์ผู้อื่น โดยเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาลและแพทย์โดยเฉพาะแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐคือบุคลากรที่ทำงานตามหน้าที่ กินเงินเดือนจากภาษีประชาชน ควรถูกปฏิบัติอย่างปกติ ไม่ใช่บุคคลพิเศษตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

“เราเป็นบุคคลพิเศษจริง ต้องยอมรับ เวลาขับรถไปในเชียงราย ไม่เคยมีปัญหา ขับรถผ่านด่านแล้วผมลืมวางเครื่องมือหมอไว้ข้างตัว ก็ผ่านทุกด่าน เจออย่างนี้ประจำ ทั้งๆ ที่เหยียบมาร้อยกว่า เราเป็นอภิสิทธิ์ชนแน่ๆ ผมรู้นานแล้ว รู้ตั้งแต่มาเป็นแพทย์ฝึกหัด อันนี้เป็นสิ่งที่ผมรำคาญมากว่าเราเป็นอภิสิทธิ์ชนเยอะโดยไม่รู้ตัว เราไม่อยากได้เราก็ได้ ไม่เรียกร้องอะไรก็ได้ ถ้าพูดจริงๆ ข้าราชการทุกคนในจังหวัด เป็นอภิสิทธิ์ชนหมด คุณไม่รู้ตัวหรอกว่าคุณได้ ดังนั้น อย่ามากไป เราทำอะไรคืนชาวบ้านได้ก็ทำไป ทำจนหมดแรงกันไปข้างนั่นแหละ ผมหมดแรงบ่อยจะตาย burn out จนเชี่ยวชาญ” 

แต่สิ่งที่น่าจะทำให้คุณหมอ burn out จริงๆ และคิดว่ารักษาไม่ได้คือความคิดและทัศนคติของข้าราชการระดับผู้มีอำนาจตัดสินใจระดับนโยบายในวงการสาธารณสุข รวมไปถึง กลุ่มคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

“คุณหมอพูดเหมือนคอมมิวนิสต์” 

จากหนังสือหลักประกันสุขภาพที่รัก คุณหมอเขียนขยายความไว้ว่า ประโยคนี้เป็นของรุ่นพี่ระดับอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งพูดถึงคุณหมอในที่ประชุมร่วมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานเมื่อปี พ.ศ.2546 

แต่คุณหมอไม่ทันได้ตอบโต้เพราะช็อคอยู่ 

ประเด็นสำคัญของการประชุมวันนั้นคือเรื่องร่วมจ่าย (co-payment) คุณหมอเป็นหนึ่งในเสียงคัดค้านการร่วมจ่ายของประชาชนมาตั้งแต่แรก เพราะเห็นว่าการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ เป็นการโน้มน้าวผู้ป่วยและญาติด้วยความกลัว จนต้องยอมร่วมจ่ายเพื่อให้ได้บริการที่ดีที่สุด 

เช่นนั้นแล้ว การร่วมจ่ายที่จุดบริการ ย่อมไม่ต่างจากสถานที่ที่ต่อรองได้ แต่ร้านค้านี้มีชื่อว่าโรงพยาบาล การต่อรองในที่นี้คือต่อรองความตาย คุณภาพชีวิต  ความกตัญญู ฯลฯ เช่นนี้แล้วควรจะจัดระบบต่อรองเช่นไร 

ยกตัวอย่าง มียาสองตัว ตัวแรกฟรีจากสิทธิ 30 บาท แต่อีกตัวออกฤทธิ์เร็วกว่ามาก หายปวดเร็วแต่ต้องจ่ายเพิ่มเม็ดละ 30 บาท ผู้ป่วยมีสิทธิเลือกได้ว่าจะใช้ยาตัวไหน

ถ้าพอมีกำลังจ่ายหรือหยิบยืม ผู้ป่วยก็ต้องเลือกยาตัวหลังกันทั้งนั้น ดังนั้นการร่วมจ่ายก็คงไม่ต่างอะไรกับการผลักภาระ ทั้งๆ ที่ระบบประกันสุขภาพควรถ้วนหน้าอย่างเท่าเทียมต่อคนทุกกลุ่มจริงๆ 

“ทำไมการเจ็บป่วยต้องทำคนเราล้มละลาย คนจำนวนหนึ่งที่ต้องการบริการชั้นหนึ่ง จะยังคงไปโรงพยาบาลเอกชน แต่คนจำนวนมากที่ไม่มีเงิน เขาควรมีที่ไป ง่ายๆ แค่นี้เอง” 

…..ง่ายๆ แค่นี้เอง 

อ่าน 

“เงินซื้อความรู้ได้ สมัยก่อนการ์ตูนเล่มละ 6 สลึง ขณะที่น้ำเก๊กฮวยแก้วละ 50 สตางค์ แม่ก็บ่นนะ แต่ซื้อให้ วอลท์ดิสนีย์ เล่มละ 2 บาท เดือนละเล่ม ก็สมัครสมาชิกให้ ต่อทุกปี เรื่องหนังสือแม่ไม่เคยห้ามเลย” 

สามคนพี่น้องที่เติบโตมาในวัดไผ่เงินชอบอ่านกันทุกคน เท่าที่จำความได้ แม่มักพาไปเดินงานวชิราวุธ พี่ชายคนโตเลือกของแข็งอย่างสามก๊ก ส่วนเด็กชายประเสริฐขอรามเกียรติ์ แต่บางทีขอรวมนิทานขำขัน 

“บอกแล้วไงผมหลงใหล ทั้งหมดนั้นคือคลังคำโดยไม่รู้ตัว ใครๆ ก็ว่าผมหัวก้าวหน้า เปล่า ผมไม่ได้หัวก้าวหน้า ผมจารีต” 

ตั้งแต่เด็กคลังคำของคุณหมอได้มาจากการอ่าน ไม่ใช่ท่องศัพท์ โดยเฉพาะจากวรรณคดี ที่ได้คลังคำมากกว่าวรรณกรรมสากล เพราะวรรณคดีเต็มไปด้วยคำคล้องจอง ทั้งศัพท์ชาวบ้านจากขุนช้างขุนแผน หรือศัพท์ราชสำนักจากรามเกียรติ์ 

“คลังคำพวกนี้มันฟอร์มเส้นประสาทในสมอง เราไม่ได้ต้องการคำจริงๆ หรอก เราต้องการเส้นประสาทที่พาดกัน แต่คลังคำมันก็มาอยู่ดี เวลาผมเขียนหนังสือก็จะมีคลังคำลื่นไหลอยู่ชุดหนึ่ง กี่หมื่นคำไม่รู้ มันลื่นไหลอยู่ในสมอง” 

ส่วนพ่อ รับบทนักเล่านิทานก่อนนอนแต่ไม่สม่ำเสมอทุกคืน เพราะต้องไปทำงานต่างจังหวัดบ่อยๆ แต่ทุกครั้งที่กลับมาก็จะมาเปิดนิทานอ่านโดยมีลูกๆ รายล้อม เรื่องที่จำได้คือ ไซอิ๋ว สนุกมากโดยเฉพาะตอนเห้งเจียขี่เมฆลอยสู่กับปิศาจ 

“นั่นคือความทรงจำที่ดี” (ยิ้ม)

อ่านอะไรบ้าง

มีหนังสือหลายเล่มที่เป็นส่วนสำคัญในชีวิตของคุณหมอ ไม่ต่างจากจิ๊กซอว์ที่ต่อกันจนเป็นนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ทุกวันนี้ 

เริ่มจากเล่มแรก วีรธรรม วารสารรายสัปดาห์ที่จัดทำโดย คณะภราดาเซนต์คาเบรียล ที่ทำให้ ด.ช.ประเสริฐ รู้จักความหมายของบูรณาการ ก่อนจะรู้จักคำๆ นี้ด้วยซ้ำไป 

“ผมได้ความรู้ทั่วไปจากเล่มนี้เยอะมาก เรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกตั้งแต่เด็กๆ เลยคือ เราต้องเสียเวลาไปอ่านแบบเรียนเยอะเกินไป อ่านอย่างนี้ดีกว่า ตอนนั้นเด็กประถมอย่างผมไม่รู้จักคำศัพท์ว่าบูรณาการหรอก แต่มีความรู้สึกว่ามันสนุกกว่ามาก รู้เรื่องปฏิวัติฝรั่งเศสตั้งแต่ประถม ถ้าเปรียบเทียบวันนี้ก็คือนิตยสารสารคดี แต่สารคดีไม่มีการ์ตูนหน้ากลาง” 

ด้วยความที่ย้ายบ้านบ่อย วารสารวีรธรรมที่เคยเก็บสะสมไว้ ตอนนี้เหลือไม่ถึงหนึ่งในสิบของที่เคยมี จึงถูกจัดเข้าหมวดความทรงจำที่หล่นหาย

กับอีกเล่มที่เด็กๆ บ้านผลิตผลการพิมพ์เป็นสมาชิกคือ วอลท์ดิสนีย์

“เล่มละ 2 บาท สมัครสมาชิกเดือนละเล่ม แม่ต่อสมาชิกให้ทุกปี แม่ก็ไม่ว่า แย่งกันอ่านกับพี่ๆ น้องๆ สนุกมากเวลาตบตีแย่งกัน จนถึงตอนนี้บางเล่มก็ซื้อมือสองกลับมาใหม่ด้วยซ้ำ” 

การตามซื้อหนังสือเก่ากลับมาเก็บคือการตามล่าอดีตอย่างหนึ่ง เพื่อเก็บส่วนที่หล่นหายรายทางกลับมาต่อกับความทรงจำเดิมที่อยู่ในสภาพกระท่อนกระแท่น

จนมาถึงเล่มสำคัญอย่าง แต๋ง แต๋ง (Tin Tin) ที่ลงทุนซื้อทุกเดือนจากร้านหนังสือดวงกมล (สยามสแควร์) จนมีครบทั้งหมด 22 เล่ม  

“อ่านจบ ก็ครบ 8 วิชาสาระ คือ ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ หน้าที่พลเมือง คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ทั้งหมดอยู่ในนี้ การศึกษาสมัยใหม่เราอยากให้บูรณาการ เรียนเท่าที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต ไม่ใช่รู้ทุกอย่าง สิ่งที่เราอยากให้เด็กพัฒนามากกว่าคือทักษะ อนาคต นั่นคือทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิต ทักษะไอที” 

แต๋งแต๋ง ให้ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประเทศต่างๆ ในโลก เพราะแต๋งแต๋งเหมือนอินเดียนา โจนส์ ผจญภัยไปทั่วโลก รู้จักจีน ญี่ปุ่น อาหรับ อเมริกาใต้ และทำให้รู้ว่าต้นกำเนิดของแต๋งแต๋งอย่างเบลเยียมเป็นนักล่าอาณานิคม 

แต๋งแต๋งเป็นเล่มสำคัญ เวลาคุณหมออธิบายเรื่องการอ่านทำให้เซลล์สมองมีความสุข

“ทำให้อยากอ่านไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้สึกว่ามันคือแบบเรียนหรือตำรา ต่างจากการท่องหนังสืออย่างสิ้นเชิง ผมเรียนเก่งเพราะการท่อง แต่ถามว่ามีความทุกข์มั้ย มี ถึงได้ท่องไปรำทวนไปแก้ทุกข์ ฆ่าศัตรูไปเรื่อยๆ เพราะสมมติศัตรูให้เป็นครูบางคน แต่การ์ตูนพวกนี้ไม่มีทุกข์ รู้โดยที่ไม่ตั้งใจรู้ทั้งเรื่องการล่าอาณานิคม คอมมิวนิสต์ การเหยียดผิวเหลือง

ในแต๋งแต๋งฉบับจีน ญี่ปุ่น อเมริกาใต้โดนไปหลายดอก อาหรับโดนหลายเล่ม พวกนี้ซึมซับเข้ามาเอง เสร็จแล้วถามว่าเรารังเกียจผิวเหลือง อเมริกาใต้มั้ย ก็ไม่ ถามว่าทำไม ผมคิดว่าเป็นเพราะการ์ตูน แม้ว่าจะมีถ้อยคำเหยียด การกระทำบางอย่างซึ่งรับไม่ได้ในสมัยนี้ แต่ด้วยความที่เป็นการ์ตูนเรารับได้ ผมรับได้ทั้งด้านบวกและด้านลบว่าของมันก็ตามยุคสมัย  คนเราควรรู้จักเปลี่ยนแปลง” 

อีกเล่มที่เป็นจิ๊กซอว์ของชีวิต คือ ดราก้อนบอล คุณหมอบอกว่าชอบพระเอก คือ โงกุน ที่บ้านมีโมเดลอยู่หลายตัวทีเดียว 

“เพราะ โงกุน ล้มแล้วลุกได้ทุกครั้ง ทุบจมดินก็ลุก ตายก็ตื่น และซื่อสัตย์ โดยเฉพาะเรื่องที่ล้มไม่ลุกคิดว่าเป็นสิ่งที่ลูกๆ ผมควรมีเหมือนผม ชีวิตมีอุปสรรคตลอด ล้มจนชิน burn out จนชิน burn out งานโรงพยาบาลจนชิน นอนก่ายหน้าผากอยากลาออกจนชิน แต่เราก็ลุกขึ้นไปทำงานใหม่เสมอ เพราะรับผิดชอบเหมือนโงกุน ต้องปราบจอมจักรวาลให้ได้ แค่นี้ก็สนุกแล้ว”

โงกุนมีลูกพลัง แล้วลูกพลังของคุณหมอคืออะไร? 

“ถ้าให้ตั้งสมมติฐานก็งานบ้าน แม่บังคับให้ทำ ยังไงก็ต้องล้างจาน ไม่ล้างก็โดนทำโทษ ในที่สุดก็ล้าง แต่แม่ยืนเท้าสะเอวเสียงเขียว ไม่มีการต่อรองมีแต่สั่งให้ล้าง พ่อแม่มีหน้าที่สั่งสอน ไม่ได้มีหน้าที่เป็นเพื่อน ต้องมี Authority คิดว่าความรับผิดชอบหรือพลังในการทำให้เสร็จลุล่วงมาจากงานบ้าน ประเด็นไม่ใช่บ้านสะอาด แต่คือวงจรการทำงานที่เราไม่ชอบ ไม่สนุก น่าเบื่อ แต่ต้องทำ คนไข้ 80 คนรอที่โรงพยาบาล ตรวจเสร็จครึ่งหนึ่งไปว่ายน้ำ กลับมา รออีก 40 คนก็ตรวจจนเสร็จ ถ้าไม่ทำใครจะทำ ก็เป็นประโยคเดียวกัน ลูกไม่ล้างจานใครจะล้าง แม่ขายของอยู่ ใครจะล้าง โดนอย่างนี้มาตลอดชีวิต” 

แต่จนถึงตอนนี้ดราก้อนบอลก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบ คุณหมอบอกว่า ลูกโตก็ยังอ่านได้สนุกอยู่แต่ต้องเป็นพล็อตใหม่ 

“ดราก้อนบอลก็ยังไม่จบ การ์ตูนญี่ปุ่นแทบทุกเรื่องไม่จบ ผมตายก็จะไม่จบ อาจจะไม่จบที่รุ่นเรา ดราก้อนบอลทุกวันนี้ ชุดใหม่ซื้อมาได้ 8 เล่ม ยังไม่ได้เริ่มแกะซองเลย รอสะสมไปก่อนแล้วค่อยอ่านรวดเดียว มันเป็นความผูกพัน เป็นรักแรกพบ” 

คุณหมอเคยพูดเอาไว้ว่า การ์ตูนคือศิลปะการเล่าเรื่องยาก เรื่องที่พูดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน อย่างการเมือง ชาติ ศาสนา ให้ง่าย ลดความรุนแรงแต่ยังคงไว้ซึ่งข้อเท็จจริง 

They Called Us Enemy คือตัวอย่างเล่มหนาที่บอกว่า เราพูดสิ่งเหล่านี้ได้ในการ์ตูน 

เรื่องมีอยู่ว่า จอร์จ ทาเคอิ คือลูกเรือสตาร์เทร็ครุ่นแรก เป็นคนญี่ปุ่น เล่าเรื่องพ่อกับแม่ถูกกักกันในสหรัฐอเมริกาช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  สมัยนั้นอเมริกาเกลียดคนญี่ปุ่น ความโหดร้ายคือพ่อแม่ของทาเคอิถูกทรมานอะไรบ้างในค่ายกักกัน 

“เนื้อหาแบบนี้พอเขียนเป็นการ์ตูนแล้วมันโอเคทั้งสองฝ่าย ฝ่ายกระทำ ฝ่ายถูกกระทำ ทำให้เรื่องซอฟต์ลง ฝ่ายกระทำมันไม่ดีหรอก โดยเฉพาะเรื่องราวในค่ายกักกัน มนุษย์ทำกับมนุษย์แบบนี้ได้ยังไง น่าอ่าน ดีกว่าแบบเรียนตั้งเยอะ” 

เล่มถัดมาคือ โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ที่โดดเด่นตรงการเปลี่ยนนามธรรมเข้าใจยากให้เป็นรูปธรรมที่ย่อยง่าย 

“อะไรที่เป็นนามธรรมก็เปลี่ยนเป็นอาวุธได้หมด” คุณหมอบอก 

ถามว่าชอบอะไรที่สุดในการ์ตูนเรื่องนี้ คุณหมอตอบว่า ความกตัญญู ซึ่งนามธรรมอย่างความกตัญญูถูกเปลี่ยนให้เป็นวัตถุจับต้องได้อย่างกุญแจ ยิ่งกตัญญูมาก กุญแจยิ่งอันใหญ่  

“นั่นคนไข้ผมทั้งนั้นเลย ทำอะไรไม่ถูกใจพ่อแม่ วัฒนธรรมเราถือเป็นความไม่กตัญญู การไม่เชื่อฟังพ่อแม่คือการไม่กตัญญู คนไข้ผมเยอะมากที่มาทุกวันนี้ แม้กระทั่งเรียนจบก็ไม่สามารถไปจากพ่อแม่ได้ นี่ก็ปัญหาคลาสสิค มีลูกแล้วก็ยังไม่สามารถฝืนคำสั่งปู่ย่าตายายได้” 

เส้นเรื่องสำคัญ คือ ผู้ร้ายคนหนึ่งใช้ความกตัญญูเป็นอาวุธ โดยวาดรูปเป็นกุญแจติดหัวใจ ยิ่งกตัญญูมาก หัวใจก็จะใหญ่ขึ้น ยิ่งร้ายแรง ลูกยิ่งไปไหนไม่ได้

แล้วกุญแจที่ใหญ่ขึ้น มันอธิบายถึงอะไร? 

“น้ำหนักที่เราแบก สมมติผมบอกลูกว่า ต้องกตัญญูด้วยการกลับมาเชียงราย แต่ผมกลับบอกลูกว่า ลูกไปไหนได้ไปเลย เหนื่อยเมื่อไหร่ คิดถึงข้าวซอย คิดถึงน้ำเงี้ยว คิดถึงอาหารเมืองก็กลับมา มันอีกเรื่องหนึ่งเลยนะ ถามว่าเขากตัญญูมั้ย เขาก็กตัญญู เวลาผมกับแฟนจะไปเที่ยวต่างประเทศนี่ง่ายมาก บอกเขาว่าจะไปไหน เขาบินตาม ถ้าเขาจอยน์สุวรรณภูมิไม่ได้ เขาไปรอที่บรัสเซลส์ คือเขาไม่รำคาญเราเลย แม้ว่าตอนวัยรุ่นเราจะมีการสอนและขี้บ่น แล้วก็มีขัดแย้ง หนึ่งหรือสองครั้งต่อคน ที่แบบคุณพ่อระเบิดละ ไม่ไหวละ ลูกดื้อจัง แต่ผมทำอย่างมาก สองครั้งต่อคน จำได้เลย จากนั้นแล้วผมก็รู้ว่าผมถอยได้แล้ว” 

สองเล่มสุดท้ายที่คุณหมอชอบมากคือ The Lord of the rings กับ The Hobbit แต่ชอบภาพยนตร์ก่อนจึงค่อยซื้อหนังสือมาอ่าน 

“ประเด็นชัดเจนคือโค่นมารลงให้ได้ แต่ถ้าอำนาจอยู่ในมือเราเมื่อไหร่ เราก็จะเป็นมันเหมือนกัน เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเป็นประชาธิปไตยอยู่ดี The Lord of the Rings กับ The Hobbit พูดเรื่องประชาธิปไตย ใครครองแหวนก็จบ” 

แต่เล่มที่น่าจะสำคัญที่สุดคือ “นิทาน” อ่านกับลูก 

คุณหมอเปิดคลินิกส่วนตัวตั้งแต่มีลูก แต่จะเปิดเฉพาะตอนเย็น  17.00-19.00 น. เวลาทำการแค่ 2 ชั่วโมง 

“ต้องทิ้งเงินบางก้อนกลับบ้านจริงๆ ใครเข้ามาตอน 1 ทุ่มผมต้องขออภัยแล้วเชิญกลับเพราะว่าหมอจะกลับบ้าน ลูกรออยู่ มิเช่นนั้นจะไม่มีเวลาอ่านนิทานให้ลูกฟัง โชคดีอยู่เชียงรายรถไม่ติด 1 ทุ่มถึงบ้านอาบน้ำ โยนทุกอย่างออกจากตัว ลงมือเล่นกับลูกแล้วก็อ่านนิทาน จนลูกต้องเข้านอนไม่เกิน 3 ทุ่ม” 

ในโลกส่วนตัว

เวลาค้นข้อมูล คุณหมอจะใช้วิธีเปิดตำราหาหนังสือมากกว่า google (ยกเว้นวันไหนขี้เกียจเดินจริงๆ) 

“ถึง google ง่ายกว่า แต่ขี้เกียจเช็คที่มา อันนี้เราไม่ต้องเช็คที่มาแล้ว นี่คือคุณค่าของ Reference นะ เล่มละเป็นพัน (ยิ้ม) ไม่รู้นี่ว่าโลกจะมี google ไม่มีบอก (หัวเราะ) ซื้อ reference ไปหมดแล้ว แต่เปิด google บ้าง ไม่ได้ถึงกับไม่เปิดเลย แล้วแต่ความเร่งรีบของการส่งต้นฉบับด้วยเหมือนกัน”

หลายคนตามอ่านงานคุณหมอผ่านเพจเฟซบุ๊ค นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ที่ปล่อยวันละ 4 คอนเทนท์เป็นอย่างน้อย ไม่รวมรีรัน 

ในส่วนของหนังสือนั้น ตั้งแต่เออรี่รีไทร์คุณหมอมีหนังสือออกใหม่มากกว่า 20 เล่ม นับเฉพาะปีแรกที่เออรี่ออกมาก็ 5 เล่มแล้ว ก่อนหน้านั้นประมาณ 40 เล่ม รวมกันทั้งหมดประมาณ 60 เล่ม นับถึงปี พศ.2565 เพิ่มเป็น 70 เล่มแล้ว

คุณหมอบอกอีกว่าเขียนเพจง่ายกว่าเขียนต้นฉบับอยู่มาก ขยายความมากกว่านั้น อะไรที่ผุดขึ้นมาก็พิมพ์ไป (แน่นอนคลังคำเยอะอยู่เป็นทุนเดิม) เป็นธรรมชาติมากกว่า 

“เขียนต้นฉบับเป็นภาษาเขียนต้องระวัง อย่ามั่วมาก แต่เพจเขียนผิดก็ลบได้ เขียนไปชักไม่เข้าท่าก็ลบเฉยภายใน 2 นาที เรียนตามตรงว่าของเต็มหัว เหตุที่ต้องเขียนเร็วออกวันละ 4 เรื่อง เพราะว่าของมันอยู่ในหัวแล้วมันจดไม่ได้ จดก็หายไปเลยกับสิ่งที่จด ไม่รู้จดแล้วเอาไปเก็บไว้ไหน เพราะอย่างนั้น ระบายเลยดีกว่า แล้วปรากฏว่าเรากลับพัฒนาขึ้นทุกวันเลยครับ”  

สมัยหนุ่มๆ คุณหมอใช้เวลาเขียนตอนดึกหลังลูกและภรรยาหลับ แต่ตอนนี้โยกมาผลิตงานตอนเช้ามืดแทน หลังจากตื่น ออกกายบริหาร เขียนไปจนกว่าสมองตื้อตันแล้วค่อยหยุด 

“สมองตื้อเร็วขึ้นจริงตามสังขาร นี่เรื่องจริงเลยนะแปลกมาก แต่ว่าสปีดการเขียนต่อชิ้นเร็วขึ้น บางครั้งขึ้นแค่ย่อหน้าแรกได้แล้วคำศัพท์มันมาเชื่อมกันเอง มันแค่มีอะไรมาบังคับเราเขียน หลายครั้งมันออกมาเอง ตัวคำศัพท์จะออกมาเรียงแล้วได้ประเด็นเอง ขอให้ขึ้นย่อหน้า 1 ให้สำเร็จก่อน” 

หลังจากนั้นเป็นเวลาทำงานบ้านกันสองคนสามีภรรยา บ้านหลังนี้ไม่มีลูกจ้าง คุณหมอรับหน้าที่กวาดบ้าน ถูบ้าน ซักผ้า ตากผ้า เก็บผ้า เทขยะ รดน้ำต้นไม้ ฯลฯ ตลอดมาเพราะเป็นงานที่ชอบ แบ่งและช่วยกันกับภรรยาผู้รับหน้าที่ดูแลงานหมวดที่ละเอียดกว่าอย่างจ่ายตลาด ทำกับข้าว ดูแลที่นอน ฯลฯ 

“ก่อนเกษียณก็ทำแบบนี้ แต่ต้องทำตอนเย็นกับเสาร์อาทิตย์ ภรรยาทำหนักกว่าเพราะตอนเย็นผมไปคลินิก เราไม่เคยมีลูกจ้างตั้งแต่ไหนแต่ไร ทำกันเอง 2 คนตลอด จากนั้นภรรยาอยากไปตลาดก็พาไป อยากไปซื้อดอกไม้ก็พาไป อยากไปร้านมือสอง ซื้อพวกของเก่านู่นนี่นั่นก็พาไป หลังจากเออร์ลีออกมามีเวลาเยอะจริง ไม่งั้นก็คงไม่ออกมา 20 กว่าเล่มดื้อๆ ในเวลา 4 ปี เฉลี่ยแล้วปีนึงออก 5 เล่ม” 

เวลามีปัญหาคุณหมอประเสริฐปรึกษาใคร? 

“มีเป็นระยะๆ ไม่บ่อย ส่วนใหญ่ภรรยา จะเล่าบ่อย เล่าจนลูกๆ เบื่อ ป๊าม้าเมื่อไหร่จะหยุดพูดกัน กลับมาจากโรงพยาบาลโมโหมาก็เล่า ทำกับประชาชนแบบนี้ไม่ถูก เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักเลย แล้วเราไม่สามารถทำอะไรได้ในระบบ ก็จะระบายใส่ภรรยาตอนขับรถ ลูกๆ ก็จะฟังอยู่ข้างหลัง โตมาลูกๆ 2 คนก็ยังล้ออยู่ว่า “ป๊าม้าเป็นป๊าม้าที่พูดกันไม่หยุดเลยอะ ไปไหนมาไหนป๊าม้าก็คุยกันตลอดเวลาเลย” 

แต่แทบทุกคำที่ปล่อยออกมาจะเป็นการเล่ามากกว่าต้องการคำปรึกษา แค่ได้ระบายความโกรธออกมา แชร์ความเห็น แลกเปลี่ยนมุมมองกันได้ สิ่งนี้อาจสำคัญมากกว่าคำแนะนำหรือวิธีแก้ปัญหาด้วยซ้ำไป

“มันเป็นหลักการพื้นฐานนะ คนฟังเพิ่งฟังแป๊บเดียวคุณเอาอะไรมาแนะนำ ก็เหมือนกันผมก็จะไม่ทำแบบนั้นกับคนอื่นง่ายๆ ทำนองนี้ อันนี้เป็นหลักการพื้นฐานทางจิตเวชศาสตร์อยู่แล้ว เพียงแค่ระบาย ผู้ระบายก็ตั้งตัวติด นี่เป็นหลักการพื้นฐาน ถ้าไม่จำเป็นเราจะไม่ละเมิดกฎข้อที่ 1 เขามีศักยภาพที่จะฟื้นฟูตัวเองอยู่เสมอ กรุณาไม่ยื่นมือเข้าไปเยอะจนเกินไป ผมถึงไม่ชอบพวกโครงการที่ให้ความช่วยเหลือทั้งชาวบ้านหรือผู้ป่วยจิตเวชที่มากเกินไปแล้วมันรุกรานความสามารถของมนุษย์ หลายอย่างผมถือว่าเป็นการกดศักยภาพมนุษย์โดยไม่จำเป็น ในทางจิตเวชศาสตร์เราไม่ทำงานอย่างนี้อยู่แล้ว” 

ก่อนเกษียณคุณหมอวางแผนไว้ว่า จะนอน “นี่เรื่องจริง ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน” แต่ข้อเท็จจริงคือหนังสือกว่า 20 เล่มหลังจากเออร์ลี่รีไทร์ปีแรก และโพสต์คอนเทนต์ผ่านเพจวันละอย่างต่ำ 4 ครั้ง 

ส่วนกิจกรรมที่อยากทำจริงๆ และเป็นอีกหนึ่งแผนสำคัญหลังเกษียณคือ ลุยอ่านหนังสือและหนังที่ซื้อไว้ให้หมด 

“อยากดูหนังเก่าที่ชอบอีก 1 รอบก่อนตาย รวมทั้งหนังโทรทัศน์สมัยโบราณด้วย ผมซื้อไว้เป็นชุดๆ เช่น ผจญภัยใต้ทะเลลึก โลกพิศวง อุโมงค์มหัศจรรย์ อันนี้ฉายช่อง 4 บางขุนพรหมตลอด แต่เราดูไม่ครบไง เพราะเรา 1.ลงไปขายของ 2.ถูบ้าน 3.ท่องหนังสือ ดูไม่ครบสักอย่าง ซื้อเป็นซีรีส์หมดเลยจากอเมซอน อันนี้อยากทำเป็นอันดับเป็นต้นๆ เลยนะ  อยากรีวิวอดีตก็ใช่ เวลาผมรีวิวอดีตผมก็ได้ประโยชน์เยอะ  อย่างที่สองคือ อ่านหนังสือที่ซื้อไว้แต่ยังไม่ได้แกะแม้กระทั่งกระดาษที่ห่อ (หัวเราะ) ส่วนงานเขียนมันก็ได้เท่านี้แหละ ไม่ได้รู้สึกถึงอะไรที่ติดค้างเพราะเราก็รู้สึกว่าเราก็ทำเต็มที่” 

จะมีที่ติดค้างในใจอยู่เรื่องเดียวคือ การเปลี่ยนระบบสุขภาพ ที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ด้วยโครงสร้างราชการที่เป็นอยู่ ทำให้ประชาชนไม่ได้บริการที่ดีสักที 

“แม้ว่าเราจะผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่บริการก็ยังไปไม่ถึงวันยังค่ำ คนรู้จักของผมในเชียงรายเกือบทุกคนเวลามีโรคร้ายแรงยังไงก็ต้องไปเชียงใหม่” 

ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากสังคมที่เปราะบาง และสร้างผู้ป่วยจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน 

เริ่มตั้งแต่ หนึ่ง สตรีตั้งครรภ์ไม่พร้อม สอง ทารกขาดผู้ดูแลหลัก สาม การศึกษาปฐมวัยทำลายสมองและสุขภาพจิตเด็กเล็ก เป็นสามเรื่องแรกของชีวิตที่สร้างประชากรไม่มีคุณภาพเพื่อรอป่วย 

สี่ ครูไม่มีคุณภาพ ห้า ครัวเรือนที่รายได้ไม่พอรายจ่าย หก อุบัติเหตุบนท้องถนน  สามเรื่องหลังนี้สร้างผู้ป่วยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ 

“เป็นสังคมที่ตัวใครตัวมัน ไม่มีตาข่ายความปลอดภัยรองรับ คนที่รอดก็รอดด้วยความเหนื่อยล้า แต่คนจำนวนมากไปไม่รอด ต้องป่วยแน่นอนไม่โรคใดก็โรคหนึ่ง”

คุณหมอจึงผลักดันเรื่องการเปลี่ยนระบบสุขภาพมาตลอดหลายสิบปี และล้มกระดานระบบการศึกษาที่ล้มเหลวด้วยการผลิตงานเขียน กลับมาตั้งต้นใหม่ที่พ่อแม่และลูก หนึ่งในนั้นคือการเปิดห้องเรียนพ่อแม่ 

“อยากสอน เพราะผมมีความรู้จะสอน สิ่งที่ผมสอนมันเป็นเรื่องพื้นฐาน มันไม่ได้ยาก อ่าน เล่น ทำงาน ง่ายจะตาย พ่อแม่ก็ทำได้ แต่ทำอย่างไรให้คนเชื่อซักทีว่าถ้าปูพื้นดีๆ วัยรุ่นจะไม่ยุ่งแน่ๆ เจ้าสองคนนั้น (ลูกสาวและลูกชาย) ทำผมหัวแทบแตก แต่ยังไงมันก็จะผ่านไป ทำงานอยู่โรงพยาบาล 33 ปีมันนานจนเห็นจริงๆ ว่าส่วนใหญ่ผู้ใหญ่ทำเด็กเละ โอกาสรอดน้อย แต่ถ้าเริ่มต้นดีๆ มันง่าย ถ้าเริ่มต้นดีไม่ได้ ก็เพราะรัฐไม่ดีพอ รัฐไม่ดีแล้วจะให้พ่อแม่ดีได้ยังไง” 

การคุยยาวๆ หนนี้ จบลงด้วยคำถามที่ว่า เพราะอะไร คุณหมอถึงไม่ค่อยให้สัมภาษณ์ หรือออกสื่อต่างๆ 

“หนึ่ง ชอบความเป็นส่วนตัว นั่นคงเป็นเรื่องใหญ่สุด สอง ไม่ได้รู้สึกภูมิใจอะไรกับสิ่งที่ตัวเองทำ มันไม่เยอะขนาดนั้น เรารู้สึกว่าเราก็มีประโยชน์ แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้มีอะไรมาก ไม่เคยภูมิใจในตัวเองอย่างจริงจังแม้แต่เรื่องเดียว เพราะว่าผลลัพธ์ไม่มี เราแก้ไขระบบอะไรมิได้เลยนี่นา” 

อีกเหตุผลที่สำคัญคือ ไม่ชอบปรากฏตัว เคยทดลองมาแล้วหลายครั้ง ทั้งให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อวิทยุและโทรทัศน์ แต่รู้สึกว่าเราแก้ไขระบบด้วยวิธีนี้ไม่ได้อยู่ดี ได้แต่พูดไปเรื่อยๆ

สุดท้าย ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ในจักรวาลคู่ขนานเป็นใครและกำลังทำอะไรอยู่?

“นอน ความจริงผมเป็นคนนอนหลับง่ายมาก ไม่เคยมีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับ อยู่ที่ไหนก็หลับได้ตลอดเวลา แล้วก็ชอบนอนจริงๆ ถ้าลุกแปลว่ามันจะต้องทำงาน มันนอนไม่ได้ละ เดี๋ยวหม่าม้าด่า จานยังไม่ได้ล้าง บ้านยังไม่ได้ถู นี่คือแม่ที่มีอยู่จริงและสายสัมพันธ์ ว่าแล้วต้องเหลียวไปดูข้างหลัง หม่าม้าอยู่ไหน ยังดูแลเราตลอดแหละ”  

‘เล่น-ทำงาน-อ่าน เข้าไปในโลกส่วนตัวของนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์’ คือประวัติชีวิตและผลงานของ นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน ในการแสดงปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 18 หัวข้อ‘#เลี้ยงลูกในโลกใหม่: พัฒนาการเด็ก ประชาธิปไตย และอนาคตใหม่ของทุกคน’


จัดงานโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันพุธที่ 9 มีนาคม 2565 รับชมการถ่ายทอดสดออนไลน์จากห้อง ศ 101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ผ่านทางเฟซบุ๊คแฟนเพจ EconTU Official และ way magazine เวลา 09.30-12.10 น.

Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Related Posts