นอนเสียเวลา ว่างแล้วรู้สึกผิด “ทำไมต้องฝืนตัวเองขนาดนี้” Productive แค่ไหนก็ไม่มีพื้นที่ให้เด็กอย่างเราเติบโต

  • ‘ความพยายามอยู่ที่ไหน ความพยายามก็ยังอยู่ที่ตัวเรา’ นี่คือคติประจำใจของเด็กหลายๆ คนในยุคนี้
  • รู้ไว้ก่อนดีกว่าไม่รู้อะไรเลย เพราะไม่มีใครรู้อนาคต และฉันจะเป็นหนึ่งในคนที่ถูกเลือก
  • เปิดวงสนทนากับ 4 คนรุ่นใหม่ในช่วงเปลี่ยนผ่านชีวิตว่า “ทำไมต้องฝืนตัวเองและ productive ขนาดนี้” พร้อมคำตอบชวนคิดต่อว่า ต้อง productive อีกเท่าไรถึงจะมีโอกาสเติบโต

“ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น”

คำสอนที่บอกให้ทุกคนพยายาม แต่ในยุคที่ความสำเร็จถูกแขวนไว้กับคนอายุน้อยๆ ประโยคนี้ถูกเปลี่ยนเป็นแรงกดดันที่มองไม่เห็นของผู้ใหญ่

เพราะพยายามเท่าไร ความสำเร็จก็ยังมาไม่ถึง สุดท้ายก็ต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ อย่างไร้จุดหมาย 

เรียนเพื่อรู้ทุกอย่าง เพราะรู้ไว้ก่อนดีกว่าไม่รู้อะไรเลย

เมื่อเป็นเช่นนั้น ทักษะรอบด้านจึงเป็นอาวุธสำคัญในจังหวะการเดินที่เร็วขึ้นกว่าสมัยก่อนผสมโรงกับการลดพื้นที่ว่างสำหรับคนล้มเหลวให้น้อยลงจนแทบไม่เหลือท่ามกลางโครงสร้างประเทศที่กำลังรอการพัฒนา

mappa เปิดวงสนทนากับนักเรียนม.ปลาย นักศึกษาปริญญาตรี นักศึกษาปริญญาโท และ First Jobber เพื่อทำความเข้าใจความคิดของคนรุ่นใหม่ในช่วงเปลี่ยนผ่านชีวิตว่า “ทำไมฉันต้องเก่ง” และ “ทำไมต้อง productive ขนาดนี้”

ไม่แน่ว่าคุณอาจจะเป็นประชากรชาว productive ที่ซ่อนอยู่ใน 3 ขั้นความ productive ในบรรทัดต่อจากนี้เป็นต้นไป

ขั้นที่ 1 : ไม่เข้มข้น เราไม่นอน! 

เหรียญทองแดงภูมิศาสตร์โอลิมปิก เป็นเครื่องยืนยันการเตรียมตัวของ ‘พาย’ ในวัย 17 ปี ที่เขียนแผนที่อนาคตไว้ว่าจะต้องเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือฮ่องกง 

แม้แผนที่อนาคตฉบับนี้จะยังไม่สมบูรณ์ เพราะคนวาดอย่างพายยังลังเลตรงสามแยกชีวิตว่าจะเลือก ‘หมอ’ หรือ ‘วิทยาศาสตร์สาขาสิ่งแวดล้อม’ ดี  แต่เพื่อให้ไปถึงจุดหมายที่หวังไว้ ทุกวินาทีชีวิตเลยถูกใช้ไปเพื่อพัฒนาตัวเอง ให้เป็น ‘พายที่ดีขึ้น’

“เมื่อวานพายสอนพิเศษ 5 โมงถึงทุ่มหนึ่ง ก่อนสอนพายก็อ่านหนังสือ ทำข้อสอบสังคม เลข และอังกฤษ ก่อนนอนอ่านชีวะ เมื่อตอนเช้าพายเพิ่งไปสอนพิเศษมาเหมือนกัน

“พายสามารถไม่นอนได้เลย 2 วัน กินกาแฟช่วยเอา หลักๆ ห้ามฟุบเด็ดขาด ไม่งั้นจะวูบไป 3-4 ชั่วโมง ไม่รู้ว่ามีผลกับสุขภาพแค่ไหน พายรู้สึกว่าถ้าทำไหวก็ทำต่อ อยากอ่านหนังสือไปเรื่อยๆ เพราะกว่าที่พายจะรวบรวมสมาธิมานั่งอ่านหนังสือ ทำโจทย์ได้ มันค่อนข้างยาก ก็อยากรักษาสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ แม้จะไม่ได้นอนก็ตาม

“ก่อนหน้านี้พายวางแผนว่า ถ้าสมัครมหาวิทยาลัยที่ฮ่องกง อเมริกาเสร็จแล้วจะนอนเป็นเวลา ทำได้อยู่สองวัน ก็คิดว่า ‘กูมีอย่างอื่นต้องอ่านว่ะ ขอโทษนะพาย’ กลับมาอ่านหนังสือ นอนตี 2-3 ตื่นสิบโมง วนไปเรื่อยๆ”

ไม่ใช่แค่พายที่มีแพตเทิร์นชีวิตแบบนี้ เพื่อนรอบๆ ตัวพายต่างพยายามพัฒนาตัวเอง “ไม่ว่าพายจะตื่นกี่โมง จะมีคนตื่นก่อนพายเสมอ เมื่อวานตีสี่พายนั่งอ่านชีวะกับเพื่อนถึงตีห้า ก็บอกลา ‘ไปนอนละ เดี๋ยวหกโมงตื่นมาอ่านใหม่’ ตอนหกโมงจะมีคนตื่นเช้ามาอ่านหนังสือแล้วมีคนที่ยังไม่นอน อ่านหนังสือด้วยกันต่อไป

“พายคุยกับเพื่อนหลายคนมาก เพื่อนที่ยังไม่ติดมหา’ลัยบอกว่า ‘มึงรู้ปะ นอนกูยังรู้สึกเสียเวลาเลย’ หรือเพื่อนพายที่ติดหมอศิริราชไปแล้ว เขาบอกว่า ‘มึง กูว่างว่ะ กูไม่เคยรู้สึกว่างขนาดนี้มาก่อน ทำยังไงดีวะ กูอ่าน text ปีหนึ่งเลยดีไหม เขาเตรียมจะอ่านกันแล้ว กูต้องอ่านไหม’ บรรยากาศทุกวันก็จะประมาณนี้”

การที่เพื่อนในกลุ่มสอบติดมหาวิทยาลัยไปบางส่วน มีหลายคนติดมหาวิทยาลัยกลุ่ม Ivy League (กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชนในอเมริกาที่เก่าแก่และมีชื่อเสียง) หรือติดมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่อื่นๆ สร้างความกดดันให้พายไม่น้อย 

“ตอนนั้นจำได้ว่าพายสอบไม่ติดเตรียมฯ (โรงเรียนเตรียมอุดม) อยู่คนเดียวในกลุ่ม แล้วมันไม่โอเคมากๆ พายกรีดแขนตัวเอง เป็นเรื่องที่นึกย้อนกลับไปแล้วขำ แต่ ณ ตอนนั้นมันไม่ขำ แต่ก็นะ ตอนไม่ติดโอลิมปิกชีวะก็ร้องไห้เป็นบ้าเป็นบอเพราะว่าคนอื่นในกลุ่มติดกันหมด”

ประสบการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมา 17 ปี บอกเธอว่า ไม่ว่าจะทำอะไรสำเร็จหรือไม่สำเร็จ แต่การกระทำนั้นจะให้อะไรเธอกลับมาเสมอ

“มันก็ต้องมีเรื่องที่ดีและไม่ดีบ้าง แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยแล้วมันจะมีเรื่องดีๆ ได้ยังไง พายรู้สึกว่านิยามการรักตัวเองของพายก็คือ การกล้าที่จะทำอะไรที่ตัวเองอยากจะทำจริงๆ แล้วก็ยอมรับผลของมันได้ ไม่ว่ามันจะผิดหวังหรือสมหวัง

ขั้นที่ 2 : Productive ที่ถึงเวลาต้อง Protect ร่างกายแล้ว

“ในคณะเรา toxic มาก เราต้องทำงานส่ง deadline ตอนเที่ยงคืนทุกๆ วัน พอเช้าวันต่อไปก็จะเจออาจารย์พูดถึงงานเราว่า ‘ทำไมทำได้แค่นี้เอง ทำให้ดีกว่านี้ไม่ได้แล้วเหรอ’”

คำติของอาจารย์ทำให้ ‘แนน’ วัย 24 ปี ตั้งเป้าหมายว่าต้องพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น เข้าสู่วงจรการเป็นคน productive แต่สุขภาพที่ไม่เอื้ออำนวยบวกกับบรรยากาศในมหาวิทยาลัย ทำให้แนนตัดสินใจซิ่วออกมาตอนปี 3

“ในห้องเรียนอาจารย์จะให้ทุกคนเขียนโค้ด ใครเขียนได้ยกมือตอบ ถ้าผิดก็ยกมือได้อีก มันกดดันมากๆ ระหว่างโค้ดที่เรากำลังพิมพ์ กับมือของเพื่อนที่ยกขึ้นเรื่อยๆ หรือการส่งงาน ถ้าส่งคนแรกได้คะแนนเต็ม คนถัดๆ ไปคะแนนก็ลดลง”

“ทุกอย่างกลายเป็นการแข่งขันไปหมด แม้กระทั่งวันที่เราป่วย เพื่อนคนอื่นจับกลุ่มทำงานหมดเหลือเราคนเดียว เขาก็ถามว่าเราจะทำงานคนเดียวเหรอ มันควรทำเป็นกลุ่มนะ แล้วมีเพื่อนคนหนึ่งพูดว่าตอนนี้ต้องเลือกแล้วว่า จะเห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่เพื่อน คือตอนปีหนึ่งมันดีมากๆ ทุกคนสนิทกัน แต่ตอนนี้เปลี่ยนไปเป็นสังคมที่แข่งขันกดดันมาก”

“มันเจอทุกๆ วัน ตอนนั้นเราเป็นมะเร็งด้วย รู้สึกว่าถ้าจะตายก็ไม่อยากเรียนที่นี่แล้ว แม้หายเราก็จะไม่กลับไปเรียนที่เดิม”

ถึงจะเปลี่ยนมหาวิทยาลัยแล้ว แต่ชีวิตที่มหาวิทยาลัยแรกก็ทิ้งของบางอย่างให้กับแนนที่ตอนนี้กำลังเรียนปี 2 คือ การกลายเป็นคนที่ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ประโยค ‘ทำได้แค่นี้เหรอ’ ยังคงตามติดเป็นเงา การใช้ชีวิตของแนนจึงต้องทำทุกอย่างที่มีประโยชน์กับตัวเอง

“การพักของเราคือต้องฟังพอดแคสต์การเมืองไทยกับต่างประเทศ หรืออ่านนิยายแปล ช่วงหลังๆ เราเริ่มดูสารคดีเกี่ยวกับปัญหาขยะทะเล หรือว่าการค้าแรงงานผิดกฎหมาย เพราะเราสนใจอยากแก้ไขปัญหาประมง เลยรู้สึกว่าต้องอ่าน ฟัง ดูให้เยอะขึ้น เพื่อที่จะสามารถบอกข้อเท็จจริงได้”

เช่นเดียวกับ ‘ลูกแก้ว’ วัย 23 ปีที่เพิ่งเรียนจบจากรั้วมหาวิทยาลัย ตอนนี้เธอทำงานเป็นฟรีแลนซ์รับวาดภาพ ซึ่งการเข้าสู่วงจร productive ของลูกแก้วก็มีที่มาจากคำดูถูกของพ่อที่เธอพยายามเอาชนะ

“กว่าเราจะมารู้ตัวเองจริงๆ ก็คือปี 4 ว่าอยากไปทางไหน รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง เราอยากไปให้สุดทาง แต่มีปัญหาเกิดขึ้นหลายอย่าง เพราะเราเพิ่งเริ่มต้น รู้ตัวว่าไม่เก่งเท่าคนอื่น หนูก็เลยต้องพยายามมากกว่าคนอื่น 

“มีเรื่องครอบครัวด้วย พ่อไม่ได้ส่งเสียเราแล้ว ไม่จ่ายค่าเรียน เราเลยต้องเรียนไปทำงานไปด้วย ช่วงปี 4 ต้องทำโปรเจกต์จบ มันหนักมากๆ ถึงขั้นว่าทำสไลด์พรีเซนต์ส่งอาจารย์ ไม่สามารถพัก เพราะต้องทำงานลูกค้าต่อทันที พ่อไม่ซัพพอร์ตบอกว่าเราทำเวอร์เกินไป เหมือนทำปริญญาเอก”

“ถึงตอนนี้ทุกอย่างเสร็จแล้วแต่เราไม่สามารถหยุดได้ ไม่อยากว่าง เพราะพ่อดูถูกเราเยอะ เขาบอกไม่ให้เงินเราเพราะหมั่นไส้ เราเลยต้องพิสูจน์ว่าตัวเองสามารถยืนได้โดยที่ไม่มีเขา กลายเป็นคนที่ไม่สามารถว่างได้ ถ้าไม่มีงานเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้คนอื่นมาเห็นงานเรา” 

“เคยทำถึงขนาดที่ตื่นเช้ามาทำงานลูกค้าจนถึงตี 2 แล้วเราก็วาดรูปลงทวิตเตอร์เพื่อให้คนอื่นเห็นงานเราต่อถึง 6 โมงเช้า ค่อยนอนแล้วตื่นเที่ยง ทำอย่างนี้วนไปประมาณเดือนสองเดือนเลย”

ชีวิตต้องไม่มีคำว่าว่าง และการทำได้ตามแพลนที่วางไว้ เป็นยานอนหลับชั้นดีที่ทำให้ลูกแก้วหลับได้อย่างสบายใจ

“เมื่อก่อนเราร้องไห้บ่อย ผิดหวังกับตัวเอง แต่พอเริ่มมาทำงานตลอดเวลา เราจะร้องไห้เวลาทำตามแพลนไม่ได้ แต่เราไม่ได้ไม่ภูมิใจในตัวเองนะ เรารู้สึกว่าถ้าไม่พยายามทำอะไรเพื่อตัวเอง จะรู้สึกว่าเราไร้ค่า ขณะอาบน้ำยังต้องฟังพอดแคสต์เลย อาบน้ำเฉยๆ ไม่ได้” 

“อาทิตย์หนึ่งจะวางแพลนว่าต้องทำอะไรบ้าง มีปฏิทิน deadline แยกต่างหาก ทุกวันจะเขียน Post-it ด้วยว่าวันนี้ต้องทำอะไร วางไว้บนหัวนอนเลย จะกำหนดว่าต้องทำงานให้เสร็จถึงจะไปพัก ไปกินข้าวได้ เคยมีช่วงที่งานหนักๆ ทำตั้งแต่ 9 โมงถึงเที่ยง ต้องทำงานตรงนี้ให้เสร็จก่อนถึงกินข้าวได้ ถ้าทำไม่เสร็จก็ไม่กิน แต่บางทีสี่ทุ่มแล้วถึงเสร็จ…ก็ไม่กินข้าวละกัน นอน”

แม้ใจจะบอกว่าไหว แต่ร่างกายเริ่มส่งสัญญาณประท้วง ของลูกแก้วมาในรูปแบบที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เมื่อพักผ่อนน้อย ร่างกายก็ไม่สามารถโฟกัสกับงานวาดรูปได้เหมือนเดิม ส่วนแนนหลังจากป่วยต้องนอนพักชนิดติดเตียง ทำให้เธอรู้ว่าการนอนก็ส่งผลดีต่อร่างกาย ไม่ต้องพยายามทำงานหนักทุกเวลา ปล่อยให้ร่างกายได้พักบ้าง 

“รู้สึกว่าเราโตขึ้นนะ ใจดีกับตัวเองมากขึ้น ถ้าวันนี้ง่วงก็นอน แต่ถ้าเป็นตัวเราในอดีตไม่ได้เด็ดขาด ต้องทำงานเสร็จก่อน ต่อให้ง่วงก็ต้องทำให้เสร็จ”

“เคยมีคนพูดกับเราว่า อีกนิดก็จะจบแล้วปี 3 มันทำให้เราเกิดคำถามว่าที่ผ่านมาเราตัดสินใจผิดหรือเปล่าที่ออกมา”

“การรักตัวเองของเราก็คือการเชื่อมั่นว่า ตอนนั้นเราตัดสินใจดีที่สุดแล้วแบบเด็กอายุ 21 คนนั้นจะตัดสินใจได้ และภูมิใจกับตัวเองในทุกๆ วัน ความสัมพันธ์ที่ toxic ไม่ว่าจะเพื่อน อาจารย์ หรือครอบครัว เราจะตัดทิ้งหมดเลย เพราะรู้สึกว่าเราก็อยู่ได้หนิ ที่ผ่านมาเราแบกสิ่งนี้ไว้จนกระทั่งป่วย เราถึงรู้ว่าตัดไปเราก็อยู่ได้” แนนกล่าว

เช่นเดียวกับลูกแก้ว สำหรับเธอการ productive ไม่ใช่เรื่องผิดบาป แต่บทเรียนที่ได้เพิ่มขึ้น คือ คนเราผิดพลาดได้ ในขณะเดียวกันก็ผิดหวังได้

“การ productive ไม่ใช่ toxic ที่ toxic คือความ perfectionist ที่ทำให้เรา toxic ความกดดันที่ทำให้เรา toxic มากกว่า ถ้าเราจัดการความเป็น perfectionist ของเราได้มากพอ ความ productive ก็เป็นผลดีนะ”

“Perfectionist ไม่ใช่การทำงานดีที่สุด แต่เราต้องรู้ว่าที่งานไม่ดีเพราะอะไร เราต้องตกตะกอนออกมาว่าเหตุผลที่มันไม่ดี เพราะว่าเราอาจจะยังวางแผนไม่ดีนะ เรายังขาดจุดตรงนี้ตรงนั้น ทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องพัฒนาตัวเองออกไปให้ดีมากขึ้นกว่าเดิม”

“การผิดหวังไม่ได้แย่ แต่ว่าสิ่งที่แย่คือเราคาดหวังกับตัวเองมากเกินไป คาดหวังกับคนอื่นด้วย คาดหวังว่าทุกอย่างจะดี แต่ว่าความเป็นจริงมันไม่เป็นแบบนั้น เราผิดหวังได้ แต่อย่าคาดหวังแล้วทำให้ตัวเองทุกข์

ขั้นที่ 3 : เหนื่อยก็พัก ง่วงก็นอน ไม่ไหวอย่าฝืน เพราะสิ่งสำคัญคือ ‘สติ’ 

“ตอนเรียนมหา’ลัยก็ยังรู้สึกเก่งไม่พอ เรียนจบก็รู้สึกยังไม่พร้อมกับโลกการทำงาน พอมีเวลาพักก็รู้สึกว่า เฮ้ย เราพักได้เหรอวะ”

เจ้าของประโยคนี้คือ ‘เฟิร์ส’ นักศึกษาปริญญาโทวัย 24 ปี คน productive ที่พยายามจะไม่ productive เพราะ ‘การพัก’ คือ การใช้เวลาว่างให้มีประโยชน์ ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวเอง

“ถ้าจะพักก็จะดูหนังสารคดีเก็บเกี่ยวความรู้มาบ้างหรือไม่ก็อ่านหนังสือการเงิน ธุรกิจ หนังสือพัฒนาตัวเอง ผมชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว มันเลยเป็นการพักที่โอเคแล้วก็ได้ทั้งความรู้และได้พักด้วย แต่ถ้าวันไหนร่างกายไม่ไหวจริงๆ ก็จะดูหนังทั้งวัน ไม่ทำอะไรเลย เพื่อปลดปล่อยความเครียดออกไป”

“แต่ช่วงนี้ผมหาพอดแคสต์เพื่อหาแนวคิดอะไรบางอย่างที่มาซัพพอร์ตว่าเราควรใช้ชีวิตให้มันช้าลงหรือเปล่า เพราะบางทีมันเร่งเกินไปจนเราคุมไม่ได้”

ความเร่งที่ค่อยๆ สูงขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากภาพความสำเร็จของคนบนโลกออนไลน์ที่เป็นแรงผลักให้เราต้องเก่งกว่านี้

“ด้วยความที่เราใช้สื่อออนไลน์ เหมือนจะให้ค่าคนเก่ง บริหารจัดการได้ดี work-life balance ก็เลยรู้สึกว่าเราเก่งไม่พอจนถึงจุดที่เราสามารถวางงานแล้วไปใช้ชีวิตได้ แต่มันก็มีจุดเปลี่ยนอย่างหนึ่งคือ เราอ่านหนังสือหนักมากจนหลับกลางโรงอาหาร เลยกลับมาคิดว่า ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับร่างกายมันจะเร่งเวลาตายมาอีกหรือเปล่า แล้วเราจะไม่ได้ใช้ชีวิตต่อหรือเปล่า” 

หลักฐานที่ชัดเจน คือ ผื่นแดงขึ้นตามตัวและผิวแห้งบางส่วนเป็นจุดที่เฟิร์สต้องกลับมายอมรับตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่ไหวอย่าฝืนและถ้าง่วงก็ต้องนอน

“ล็อกเวลานอน 7 – 8 ชั่วโมงไว้เลย เพราะถ้าเราฝืน ประสิทธิภาพมันจะไม่ดี ช่วงสอบตอนปีสาม เคยอ่านหนังสือถึงประมาณตี 3 ตี 4 แต่มันแค่อ่าน ไม่ได้อะไรเลย มันไม่มีประโยชน์ นอนดีกว่า”

ภาพเปรียบเทียบของเฟิร์สในวันนี้จึงไม่ใช่ภาพความสำเร็จของคนอื่น แต่เป็นการเปรียบเทียบกับตัวเองในเมื่อวาน

“อยากเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ดีกว่าในแต่ละวัน เพราะถ้าเราไปเทียบกับเพื่อนหรือคนนอก เงื่อนไขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เทียบไปก็ตัดกำลังใจตัวเองเปล่าๆ เลยเทียบกับตัวเองว่าฉันจะเก่งกว่าคนเมื่อวาน” 

“เฟิร์สคนเมื่อวานเป็นเด็กที่อ่อนต่อโลกคนหนึ่ง แต่พอเราเจอประสบการณ์ เรื่องต่างๆ หรืองาน การเรียน บางอย่างเราละทิ้งได้ เข้าใจโลกและชีวิตมากขึ้น ถ้าเราตัดทุกอย่างมันไม่มีประโยชน์เลย บางทีเราเจ็บ แต่ไปเผลอทำคนอื่น toxic หรือเปล่า เราก็ไม่รู้เหมือนกัน”

บางครั้งก็อาจจะรู้สึกเก่งหรือดีน้อยกว่าตัวเองเมื่อวานนี้ แต่อย่างน้อย อย่าทำร้ายร่างกายไปมากกว่านี้ อนุญาตให้ตัวเองปรับจังหวะชีวิตบ้าง 

“ก็มีนะที่รู้สึกว่าเราเก่งน้อยกว่าเมื่อวาน แต่ร่างกายมันต้องพักละ มันบอบช้ำมาอาทิตย์สองอาทิตย์แล้ว ควรที่จะให้สมองหรือร่างกายผ่อนคลายบ้าง อาจจะดูซีรีส์ทั้งซีซันไปเลย ไปร้านกาแฟพกหนังสือที่เราชอบไปสักเล่ม นั่งอยู่เฉยๆ ก็ชาร์จพลังให้ตัวเองได้” 

แค่ใช้ชีวิตให้ดีตามที่คนอื่นคาดหวังก็ยากอยู่แล้ว หากสภาพการเมือง เศรษฐกิจและสังคมยังพร่ำบอกให้ “ทำงานหนักกว่านี้” และ “เก่งกว่านี้”

“มันเริ่มมองไม่เห็นอนาคตประเทศนี้ รู้สึกว่าต้องทำงานหนัก เราไม่ได้ทำงานเพื่อตัวเองคนเดียว มีคนข้างหลังอีกที่เราต้องคอยซัพพอร์ต ก่อนหน้านี้ไปสมัครทุนญี่ปุ่น เพราะพ่อกำลังจะเกษียณต้องดูแลครอบครัวต่อทำให้คิดว่ายอมห่างบ้าน ทำงานหนักกว่าคนอื่น ไปญี่ปุ่นเพื่อส่งเงินกลับมาก็ได้”

เมื่อความ productive เข้ามามีบทบาทจนฉุดตัวเองไม่อยู่ ‘สติ’ คือสิ่งที่เฟิร์สดึงตัวเองสู่โลกความเป็นจริง

“บางทีเราแบกมากเกินไปจนไม่มีสติ  เหมือนเราไปโฟกัสตรงนั้นแล้วไม่สนใจบอกว่าไม่เป็นไร แต่สิ่งที่ทำอยู่ต้องเสร็จ พอเรามีสติ เริ่มรู้ว่าแม่งไม่ไหวจริงๆ แล้วว่ะ ร่างกายมันฟ้อง มันหนักนะ แล้วกลับมาถามตัวเองว่าเราใช้ชีวิตเปลืองไปหรือเปล่า มันถึงเวลาที่ต้องกลับมารักตัวเองบ้าง”

ชีวิตแบบชาว productive สอดรับกับภาวะการแข่งขันของสังคมด้วยอัตราเร่งสูงสุด ด้วยความหวังที่อยากให้ทุกคนเก่งขึ้น แต่ไม่มีระบบโครงสร้างใดๆ เอื้อให้ทุกคนมั่นใจได้ว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่ทุกวันนี้จะไม่สูญเปล่า

ในฐานะตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ลูกแก้วทิ้งท้ายว่า “เราไม่เคยมองว่าสิ่งที่เราทำสูญเปล่า ถ้าถามว่าประเทศเปลี่ยนไปจะยังคง productive ไหม ก็คง productive แต่เรามีพวกมากขึ้น เรามองว่าประเทศไทยจะดีขึ้นกว่านี้…แต่มันเริ่มไม่ได้ก็เลยต้องทิ้งความฝันนั้นไปแล้วก็เริ่มในสิ่งที่ตัวเองเท่าที่จะทำได้ในตอนนี้” 


Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Avatar photo

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป

Avatar photo

รุจิภาส กิจติเวชกุล

อินเทิร์นผู้มีคำถามแรกๆ ในชีวิตว่าคนเราเกิดมาทำไม และถามคำถามต่อๆ มาที่สังคมไม่อยากฟัง จึงหาคำตอบส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts