สอบเข้าป.1

เล่น = สร้าง สอบ = เสี่ยง เด็กอนุบาลสอบเข้า ป.1 เพื่ออะไร ในมุมมองนักจิตวิทยา

พ่อแม่ทุกคนย่อมต้องการเตรียมเส้นทางในการศึกษาของลูกอย่างดีที่สุดและเร็วที่สุด สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้ ‘เด็กอนุบาล’ ต้องลงสนามแข่งขันเพื่อช่วงชิงเก้าอี้ที่ดีที่สุดในช่วงวัยที่พวกเขาควรได้ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานและเรียนรู้ผ่านการเล่น 

เมื่อรอยต่อระหว่าง ‘อนุบาล’ และ ‘ประถมศึกษา’ กลายเป็นเรื่องรีบร้อน บีบคั้น และกดดันให้เด็กปฐมวัยต้องฝึกทำข้อสอบ ฝึกอ่าน ฝึกเขียน และเร่งเรียนก่อนวัยอันควร

อาจทำให้ลูกพลาดโอกาสที่จะได้พัฒนาสิ่งสำคัญที่ต้องมีติดตัวไปใช้ตลอดชีวิต คือ ทักษะการเข้าสังคม ความอยากรู้อยากเห็น และจินตนาการ

“เรานึกภาพไม่ออกเลยนะ ถ้าเด็กคนหนึ่งไม่ได้เล่นคงเป็นเรื่องใหญ่มาก พัฒนาการตามวัยคือการที่เขาได้เล่น ได้เรียนรู้ ได้ทดลอง ถ้าเด็กที่ไม่ได้เล่น วิธีการเข้าสังคมของเขาจะหายไปอย่างสิ้นเชิง” 

คุยกับ ตรีประดับ อุทัยเศรษฐวัฒน์ นักจิตวิทยาในโรงเรียน ที่ทำงานด้านสุขภาวะจิตใจกับเด็กระดับชั้นอนุบาล-ประถม ในประเด็นสอบเข้า ป.1 

เด็กปฐมวัยต้องเร่งเรียน เร่งสอบ ไปเพื่อใคร เพื่ออะไร และนี่ยังเป็นเส้นทางการศึกษาที่คู่ควรกับลูกที่สุดอยู่หรือไม่?

สอบเข้า ป.1:  เด็กปฐมวัยไม่ได้เล่น

สิ่งที่จะทำให้พัฒนาการของเด็กประถมวัยเจริญเติบโตได้ดีที่สุดคือการเล่น 

ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางด้านร่างกาย สมอง อารมณ์ และสังคม 

ตามหลักการสมองของเด็กในช่วง 0-6 ปี เป็นช่วงที่สมองของพวกเขาจะถูกกระตุ้นเติบโตได้เต็มที่อย่างเป็นลำดับ ผ่านการออกไปปีนป่ายและวิ่งเล่นอย่างอิสระ เซลล์สมองจะเจริญเติบโตมากขึ้นผ่านการทดลอง และจินตนาการ ยิ่งเล่นมาก ยิ่งได้ใช้จินตนาการ ยิ่งทำให้สารเชื่อมในสมองของเด็กขยายใหญ่ขึ้น 

ดังนั้นการฝืนธรรมชาติของเด็กปฐมวัย โดยการจับพวกเขานั่งเฉยๆ เพื่อทำแบบฝึกหัดและเตรียมตัวสอบเข้า ป.1 ทำให้เด็กสูญเสียโอกาสในการเล่น และเป็นสาเหตุที่ทำให้เซลล์สมองทำงานอย่างไม่เต็มที่

เมื่อเวลาในการเล่นหายไป โอกาสที่เด็กจะได้เชื่อมโยงกับสังคมก็หายไปด้วย

เขาไม่ได้สัมผัสสิ่งของอื่นๆ ขาดโอกาสที่จะได้ลองสำรวจแล้วเรียนรู้เรื่องตรงหน้าตามความเข้าใจของเขาจริงๆ

ที่สำคัญเมื่อเด็กไม่ได้เล่น อาจทำให้เขาหมดโอกาสในการเคลื่อนไหวร่างกายที่จะช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เช่น แขน ขา ผ่านการวิ่ง การเดิน และการกระโดดต่างๆ อย่างอิสระ ท้ายที่สุดเขาจะไม่ได้เรียนรู้ว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นหรือการที่ต้องอยู่กับคนอื่นเป็นอย่างไร 

แน่นอนว่าการเรียนรู้สำคัญอย่างมากถึงมากที่สุด แต่การจำกัดการเรียนอยู่แค่ภายในห้องเรียนอาจไม่เพียงพอ

การพัฒนาของสมองเด็ก ไม่อาจจำกัดอยู่เพียงแค่เนื้อหาทางวิชาการอย่างเดียว พัฒนาการด้านร่างกายและการเข้าสังคม จำเป็นต้องถูกพัฒนาอย่างเป็นลำดับขั้นตอน ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการออกไปปีนป่ายหรือวิ่งเล่นอย่างอิสระ 

การเรียนรู้ที่เร่งรัดเนื้อหาด้านวิชาการที่มากเกินวัย อาจทำให้เด็กสูญเสียช่วงเวลาที่มีค่าที่สุดไป และถ้าหากผ่านพ้นช่วงเวลาของการพัฒนาสมองนี้ไปแล้ว เราจะกลับมาพัฒนามันไม่ทัน เพราะนั่นไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่สมองของเด็กจะทำงานด้านพัฒนาการได้แล้ว

สอบเข้า ป.1: ไม่ชนะก็แพ้ ไม่กล้าเริ่มอะไรใหม่ 

ในฐานะนักจิตวิทยาในโรงเรียนที่ทำงานร่วมกับเด็กอนุบาล-ประถมศึกษา พบว่า ปัญหาใหญ่ที่มักเกิดขึ้นในเด็กช่วงวัยนี้ คือ ภาวะที่ไม่สามารถปรับตัวกับสิ่งต่างๆ ได้

เมื่อธรรมชาติตามวัย ถูกคัดสรรให้เด็กอนุบาลได้ใช้ชีวิตผ่านการเล่นได้อย่างเต็มที่ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงรอยต่ออนุบาลสู่ประถมศึกษาอาจทำให้เด็กเล็กต้องโฟกัสกับเนื้อหาทางวิชาการมากและหนักขึ้น 

จากที่เคยได้เล่น เด็กต้องเร่งอ่าน เขียน และทำข้อสอบให้ได้

เด็กต้องฝืนพฤติกรรมตามธรรมชาติ โดยการบังคับตัวเองให้นั่งอยู่เฉยๆ ไม่ยุกยิก ไม่วอกแวก เพื่อโฟกัสต่อเนื้อหาที่ครูสอน ซึ่งการโฟกัสต่อเนื้อหาที่ยาวนานถึง 3-4 ชั่วโมงขัดต่อพัฒนาการธรรมชาติที่ระบุว่าเด็กเล็กในวัย 0-6 ปี สามารถมีช่วงความสนใจเพียงแค่ 20-30 นาทีต่อการทำบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น

โดยผลลัพธ์ในอนาคต หากเด็กอนุบาลจะไม่สามารรถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ อาจก่อให้เกิดปัญหาหลายอย่างตามมา

หนำซ้ำยังต้องเผชิญหน้ากับระบบการสอบแพ้ถูกคัดออกตั้งแต่วัยเด็ก เป็นความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเครียดและแรงกดดันที่มากเกินวัย ความคาดหวังของพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นส่วนผลักให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองจะต้องชนะอยู่ตลอดเวลา เมื่อใดก็ตามที่เขากลายเป็นผู้แพ้แต่เขาไม่อาจทำความเข้าใจกับความรู้สึกแพ้นั้นได้ อาจทำให้เด็กกลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง มองว่าตัวเองยังดีไม่พอ ไม่กล้าแสดงออก ขี้กลัว และไม่กล้าเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ 

สอบเข้า ป.1: ส่งผลกระทบทางใจ ทำลายพัฒนาการ 

เมื่อเด็กเล็กต้องเร่งเรียน เร่งเขียน เร่งอ่าน และต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่รวดเร็วกว่าวัย ในมุมมองของนักจิตวิทยามองว่า ผลกระทบจากการเร่งเรียนที่มากเกินขีดจำกัดอาจทำส่งผลกระทบต่อสุขภาวะทางจิตใจได้

ตามพัฒนาการของเด็กปฐมวัย เขาสามารถเรียนรู้เรื่องอารมณ์ในขั้นพื้นฐานเท่านั้น เช่น ความรู้สึกหิว เสียใจ โกรธ เหงา 

เด็กเล็กยังไม่สามารถควบคุมจิตใจหรืออารมณ์ของตัวเองได้

ยิ่งการสอบที่พวกเขาถูกตั้งความคาดหวัง เด็กบางคนไม่พร้อมที่จะรองรับอารมณ์กดดัน ความเครียด และการเปรียบเทียบที่ถูกส่งต่อจากพ่อแม่ผู้ปกครองหรือญาติได้

และเมื่อรับมือกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้ได้ ความผิดหวังเมื่อเขาสอบไม่ติด อาจส่งผลให้เขากลายเป็นเด็กที่ไม่มีความมั่นใจ ไม่กล้าหาญ และชอบโทษตัวเองโดยเขาไม่รู้ตัว 

ไม่ใช่แค่เด็ก แต่ผู้ใหญ่ที่ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่รวดเร็วและไม่รู้ตัว อาจทำให้ชีวิตปรับตัวไม่ทัน

สิ่งที่สำคัญคือเราเตรียมความพร้อมในช่วงเปลี่ยนผ่านให้เด็กปฐมวัยมากแค่ไหน

‘โครงการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย สำหรับประเทศไทย ระยะที่ 2’ โดยสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุไว้ว่า การเปลี่ยนผ่านของสภาพแวดล้อมในห้องเรียนที่รวดเร็ว ส่งผลต่อความพร้อมของเด็กปฐมวัยที่จะสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพเมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เป็นทางการในระดับประถมศึกษา

กล่าวคือสภาพแวดล้อมในห้องเรียนของเด็กปฐมวัยควรมี ‘มุมประสบการณ์’ หรือ มุมเล่น มุมอ่านนิทาน มุมศิลปะ มุมสันทนาการที่ส่งเสริมให้เกิดจินตนาการ 

ดังนั้นการเร่งให้ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่อย่างรวดเร็ว และไม่มีความเหมาะสมกับเด็กเล็ก ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในเนื้อหาที่หนักและเข้มข้นขึ้น เรียนในเวลาที่ยาวนานขึ้น อาจไม่ใช่สิ่งที่เด็กปฐมวัยทุกคนจะสามารถรับมือได้ทัน

เช่นเดียวกัน ‘ครู’ ก็เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญของสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ใหม่

เป็นได้หรือไม่ที่การศึกษาไทยจะค่อยๆ สร้างการเรียนรู้ ทำให้เด็กปฐมวัยปรับตัวให้คุ้นชินกับวิธีการเรียนรู้ใหม่ที่แตกต่างจากเดิม ครูประถมศึกษามีความเข้าใจในตัวเด็ก และเห็นความสำคัญของช่วงเวลารอยต่อระหว่าง ‘อนุบาล’ สู่ ‘ประถมศึกษา’ 

ทั้งหมดเพื่อสร้างประสบการณ์และเสริมการเรียนรู้ที่สอดคล้องไปพัฒนาเด็กเล็กอย่างแท้จริง

สอบเข้า ป.1: ถ่างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

เมื่อคุณภาพของโรงเรียนไม่เท่ากัน ทำให้เกิดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครองย่อมต้องการให้ ‘ลูก’ ได้เรียนในโรงเรียนที่ดีที่สุด และเมื่อจำนวนเด็กที่อยากเข้าเรียนกับจำนวนนักเรียนที่รับได้ไม่สมดุลกัน จึงเกิดเป็นระบบแพ้คัดออกที่บีบบังคับให้เกิดการแข่งขันขึ้น

ทว่าพัฒนาการที่ถูกสร้างตามธรรมชาติของเด็กปฐมวัยคือการได้เล่นอย่างอิสระ หรือการออกไปทำความรู้จักและสำรวจสิ่งใหม่ๆ นับตั้งแต่พวกเขาลืมตาดูโลก

ดังนั้นการเรียนรู้ของเด็กวัยอนุบาล จำเป็นต้องมีความสมดุลของการเรียนและการเล่น 

และขั้นตอนที่ซับซ้อนมากกว่าการเปิดตำราวิชาการ เพื่อเร่งเรียนให้เด็กอ่านออกหรือรีบเขียนให้ได้

กระบวนการเรียนรู้ที่ยึดพัฒนาการของเด็กเป็นหลัก จะสร้างความปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกกดดัน หรือมีวิธีการวัดผลที่เน้นเปรียบเทียบกับคนอื่น มากกว่าที่จะส่งเสริมให้เด็กเปรียบเทียบกับตนเอง 

หากรอยต่อระหว่าง ‘อนุบาล’ และ ‘ประถมศึกษา’ คือหัวใจสำคัญของเด็ก 

พ่อแม่ ครู รวมถึงระบบการศึกษา ควรจะเรียนรู้ทำความเข้าใจกับรอยต่อนี้ไปพร้อมๆ กับเด็กอย่างแท้จริง 

ระบบการศึกษาที่ทำให้เด็กเป็น child center อย่างแท้จริงที่จะช่วยทำให้เด็กเติบโตและมีพัฒนาการที่เหมาะสม ทั้งในแง่พัฒนาการทางด้านวิชาการ ทางร่างกาย และทางด้านจิตใจ 

เพราะท้ายที่สุดการบีบบังคับให้เด็กอนุบาลฝึกทำข้อสอบ ฝึกอ่าน ฝึกเขียน อาจทำให้ ‘ลูก’ พลาดโอกาสที่จะได้พัฒนาสิ่งสำคัญที่ต้องมีติดตัวไปใช้ตลอดชีวิต คือ ความอยากรู้อยากเห็นและจินตนาการนั่นเอง


Writer

Avatar photo

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

พยายามฝึกปรือและคลุกอยู่กับผู้คนในวงการการศึกษา เพราะเชื่อว่าการเรียนรู้เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Illustrator

Avatar photo

บัว คำดี

ตอนประถมอยากเป็นศิลปินวาดภาพ แต่โดนพ่อเบรคหัวทิ่ม "เป็นศิลปินไส้แห้งนะ" ปัจจุบันทำงานเกี่ยวกับการออกแบบและทำภาพประกอบ (บ้าง) จนได้

Related Posts