Third space

ได้ยินไม่เท่ากับได้ฟัง ‘พุธทอล์คพุธโทร’ คนแปลกหน้าที่ทำให้เราโล่งและสบายใจ

  • บางเรื่องที่เราไม่กล้าแม้แต่จะเล่าให้คนสนิทฟัง แต่ยอมคุยกับ ‘คนแปลกหน้า’ เพราะเขาทำให้เรารู้สึกสบายใจ
  • ‘พุธทอล์คพุธโทร’ หนึ่งในคนแปลกหน้าที่พร้อมรับฟังทุกคน ด้วยความต้องการเดียว คือ ได้ระบายและโล่ง
  • คุยกับ ‘เบิร์ด’ ธีรพงศ์ วิศวนาวิน Co – producer EFM94 และ Creative รายการพุธทอล์คพุธโทร เพื่อเข้าใจขึ้นว่าพื้นที่ปลอดภัยที่มีคนรับฟังนั่นสำคัญเพียงไร

เพลงช้างร้องคำว่า ‘ช้างกี่ครั้ง’?

กินข้าวเหนียวมะม่วง ราดน้ำกะทิที่ ‘ข้าวเหนียว’ หรือ ‘มะม่วง’

เพลงที่นางเอกเอาปิ่นปักผมแทงพระเอกคือเพลงอะไร?

สารพัดคำถามและเรื่องที่เราไม่คิดว่าจะเป็น ‘ปัญหา’ แต่ถ้าคุณฟังรายการ ‘พุธทอล์คพุธโทร’ คุณอาจเปลี่ยนความคิดใหม่และต้องการหาคำตอบด่วนๆ เป็นหนึ่งเสน่ห์ของรายการที่ ‘เบิร์ด’ ธีรพงศ์ วิศวนาวิน Co – producer ที่ EFM94 และ Creative รายการพุธทอล์คพุธโทร เล่าให้ฟัง

‘เบิร์ด’ ธีรพงศ์ วิศวนาวิน

จากจุดเริ่มที่ต้องการสร้างพื้นที่ให้คนฟังมาระบายปัญหาช่วงกลางสัปดาห์ สู่การเป็น ‘Google’ ตอบสารพัดคำถามหมูเห็ดเป็ดไก่ และบริเวณปลดทุกข์ มาระบายปัญหาพร้อมหาทางออกด้วยคำแนะนำจากเหล่าดีเจ

“เขาไม่มีที่จะระบายจริงๆ ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร เขาเลยรู้สึกว่าการที่ส่งเรื่องมาหาเรา อย่างน้อยเขาได้มีคนคนนึงที่ต่อให้เป็นคนแปลกหน้า แต่ก็พร้อมที่จะรับฟังเขาจริงๆ แค่นี้เขาก็รู้สึกโล่งแล้ว” 

เพราะได้ฟังกับได้ยินไม่หมือนกัน และ ณ วันนี้ที่คนพูดกันเยอะขึ้น แต่ยากจะหาคนที่ฟังเราได้จริงๆ พุธทอล์คพุธโทรกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่คนต้องการคนฟังมองหา นี่คือสิ่งที่เบิร์ดรู้สึกได้

หากคุณเป็นพุธโทรเรียน (ชื่อแฟนคลับรายการ) บทความนี้จะทำให้คุณเข้าใจรายการมากขึ้น แต่ถ้าคุณไม่เคยฟังมาก่อนล่ะก็ หลังอ่านจบแล้วเราแนะนำให้ลองไปใช้บริการของเขาดูสักครั้งนะ

ชื่อ ‘พุธทอล์คพุธโทร’ มีที่มาจากอะไร

เรามาหลังจากที่พุธทอล์คทำไปได้ 2 ปี มีพี่เล่าให้ฟังว่า พี่ๆ ครีเอทีฟชุดแรกอยากทำรายการทอล์ค เมื่อ 7 – 8 ปีที่แล้วยังไม่ค่อยมีที่ไหนทำรายการทอล์คบนวิทยุ วางคอนเซ็ปต์เป็นรายการให้คำปรึกษา เป็นพื้นที่ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อายุเท่าไหร่ก็ได้ โทรมาคุยกับเราได้ จะมีปัญหาหรือไม่ก็ได้ จุดประสงค์เพื่อให้คุณได้พูด ได้ระบายบางอย่าง

พี่เขาวางกันว่าอยากปล่อยวันพุธเพราะกลางสัปดาห์พอดี ช่วงอาทิตย์ – อังคารคุณอาจไปเจอเรื่องอะไรมา ก็มาระบายให้เราฟัง เพื่อพฤหัสฯ ศุกร์เตรียมหยุดพักผ่อนไปเที่ยว เขาก็คิดชื่อรายการเสนอกันไปมาจนจบที่ ‘พุธทอล์คพุธโทร’ ก็คิดกันต่อว่าควรมีสโลแกนต่อท้าย ได้เป็นประโยค ‘อย่าลืมโทรนะ’ กลายเป็น ‘พุธทอล์ค พุธโทร อย่าลืมโทรนะ’ พร้อมคำโปรยรายการประมาณว่าคุยกันได้ทุกรุ่น คุยกันได้ทุกเรื่อง 

‘ทุกรุ่น’ มีรุ่นไหนบ้าง

อายุน้อยสุดที่ฝากเรื่องเข้ามาประมาณ 8 ขวบ ส่วนมากสุดประมาณ 50 – 60 ปี ก็ตรงกับคอนเซ็ปต์รายการที่เราตั้งไว้ตั้งแต่แรก คุยกันได้ทุกเรื่อง คุยกันได้ทุกรุ่น มันทำได้จริง 

ล่าสุดเพิ่งมีเด็ก 9 ขวบฝากเรื่องมา ทีมงานได้คุยกับคุณแม่น้องหลังไมค์จบเรียบร้อย เรื่องนี้ก็เลยไม่ได้ส่งต่อไปหน้าไมค์คุยกับดีเจ

น่าสนใจที่เด็ก 8 ขวบก็ฟังพุธทอล์คด้วย

เพราะคุณแม่ฟัง ลูกก็ฟังด้วย มีคนฟังพุธทอล์คบางคนฟังตั้งแต่เรียนปี 1 จนจบมาทำงานก็ยังฟังอยู่ อย่างคุณแม่คนเมื่อกี้ก็ฟังพุธทอล์คตั้งแต่ 6 – 7 ปีแล้ว จนลูกอายุ 8 – 9 ขวบ ลูกคงรู้สึกว่าเห็นคุณแม่ฟัง ก็เลยฟังด้วย หรือบางทีเปิดที่ออฟฟิศจนเพื่อนทั้งหมดตามไปฟังด้วย

‘คำถาม’ ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของรายการ ในฐานะที่คุณทำหน้าที่เป็นคนคัดเลือกเรื่องที่ส่งเข้ามา คุณมีวิธีการทำงานอย่างไร

ดูว่าถ้าเราเลือกสายนี้ขึ้นมา เรื่องของเขาจะช่วยอะไรสังคมได้บ้าง คนฟังที่ประสบปัญหาเดียวกันอาจได้รับคำตอบไปด้วย ยุคแรกจะเป็นคำถามเบาๆ เปิดพื้นที่คุยเรื่องหมูหมากาไก่ เพื่อนขโมยยางลบ ดินสอหาย พอผ่านไปสักพักเราเห็นความเปลี่ยนแปลงชัดเลย ในฐานะคนที่ต้องอ่านและคัดเรื่องของคนส่งเข้ามา เรื่องที่ฝากจะเปลี่ยนไปตามสิ่งที่มนุษย์และสังคมเจอจริงๆ เช่น ยุคโควิดที่เศรษฐกิจแย่ เรื่องราวหนักขึ้น ซึมเศร้า ครอบครัวมีปัญหา ฆ่าตัวตาย

หน้าที่เราอีกอย่างคือ ต้องเลือกเรื่องที่ดีเจรับมือไหว อย่างที่บอกว่าบางเรื่องอาจหนักเกินไป เช่น เรื่องซึมเศร้า ตัวดีเจไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญโดยตรง การใช้คำพูดอาจไปสะกิดใจคนฟัง 

อย่างนี้ต้องบรีฟดีเจก่อนไหมว่าจะเจอเรื่องอะไรบ้าง

ไม่เลย เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของรายการเรา ที่เราเห็นดีเจร้องไห้หรือหัวเราะ ทุกคนไม่รู้ว่าวันนี้ฉันจะเจอเรื่องอะไร แต่สิ่งที่ทุกคนรู้คือ เอาใจมาช่วยจริงๆ อย่างน้อยที่สุดฉันทำให้เธอได้ระบาย รู้สึกสบายใจขึ้น

จำนวนเรื่องที่คนส่งเข้ามาเฉลี่ยต่อสัปดาห์ประมาณเท่าไร

ถ้าโดยเฉลี่ยประมาณ 70 – 100 เรื่องต่อสัปดาห์ ช่วงรายการใหม่ๆ 2 – 3 ปีแรกจะมากกว่านี้

ซึ่งไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะได้หยิบมาเล่าหน้าไมค์ แต่คนยังคงส่งมาเรื่อยๆ คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไรที่ทำให้พุธทอล์คกลายเป็นสิ่งที่คนนึกถึงเวลามีปัญหา

เราดีใจที่ตอนนี้รายการเรากลายเป็น common sense ของใครหลายคน ถ้าคุณมีปัญหาอะไรมากๆ นึกถึงใครไม่ได้ ส่งมาพุธทอล์คสิเพื่อหรือเผื่อเขาเลือกไปตอบ เช่น มีคนเถียงด้วยเรื่องบางอย่างก็จะมีคนหนึ่งบอกว่า ‘มึงเอาไปถามที่พุธทอล์คสิ’ หรือบางคนที่ส่งเรื่องมาหาเรา เขาบอกว่าตั้งโพลในไอจีสตอรี่แล้วเพื่อนเถียงกันมาก หาข้อสรุปไม่ได้ อยากให้พี่ๆ ช่วยตัดสินหน่อย หรือคนเริ่มส่งเข้ามาเยอะว่าอยากให้พี่ต้นหอม (ศกุนตลา เทียนไพโรจน์) ด่าหนูแรงๆ เตือนสติเรื่องการเป็นมือที่สาม 

เคยถึงขั้นเราย้อนมาดู inbox เพจ มีคนส่งมาตอนตี 2 – 3 ว่าจะเปลี่ยนยางรถ เปลี่ยนดีไหม พี่ๆ มีร้านแนะนำไหม (หัวเราะ) ก็มานั่งคิดนะว่าคนถามอาจจะนั่งอยู่ที่บ้าน ไม่มั่นใจเรื่องยางรถก็ส่งมาถามเลย แม้แต่ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันที่เขาตัดสินใจไม่ไ่ด้ เขาก็ยังส่งมาถามเรา

เหมือนเป็น Google เลย

ใช่ๆ จะเป็นฟีลนึกอะไรไม่ออก หาเพลงอะไรไม่เจอ หรืออยากได้คำตอบเรื่องอะไร ส่งมาที่พุธทอล์คสิ เมื่อก่อนจะมีปัญหาโลกแตกเยอะมาก เช่น เพลงช้างร้องคำว่าช้างกี่ตัว กินข้าวเหนียวมะม่วงราดกะทิตรงไหน ใช้สายฉีดด้านหน้าหรือหลัง คำถามแนวนี้ฝากเข้ามาเยอะมาก (เน้นเสียง) 

ในฐานะครีเอทีฟ เราพยายามหาคำตอบเรื่องนั้นๆ ให้ได้ พยายามหา fact มาตอบ ไปถามทำคลิปสัมภาษณ์คนที่ร้องเพลงช้างคนแรกในไทยว่าเขาร้องกี่ตัว หรือยุคโควิด คนถามเข้ามาว่าดมเท้าหมาแมวจะเสี่ยงติดโควิดไหม เราก็ไปสัมภาษณ์หมอหาคำตอบมาให้

นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่าเรามีคำตอบให้เสมอ เขาเลยส่งคำถามมาเรื่อยๆ ต่อให้ดีเจตอบไม่ได้ก็จะหาผู้เชี่ยวชาญมาตอบ พี่เผือก (พงศธร จงวิลาส) จะชอบบอกว่า ไอเบิร์ด พี่ตอบเรื่องนี้ไม่ได้ อาทิตย์หน้าเบิร์ดไปสัมภาษณ์คนนี้นะ เอาคำตอบมาบอกเทปหน้า 

ถ้าฟังก์ชันพุธทอล์คคล้ายๆ Google การพิมพ์คำตอบหาอาจจะง่ายกว่าส่งเรื่องหาเราที่ไม่รู้จะได้รับเลือกไหม ความแตกต่างระหว่างพุธทอล์คกับ Google ที่ทำให้เราเลือกเรา

เราว่า Google มีคำตอบหลายๆ เรื่องแหละ แต่คำตอบมันเป็นตัวหนังสือที่ไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กับคนถาม ต่างจากพุธทอล์คที่เราเป็นคน เรามีชีวิต สมมติเรามีปัญหาเรื่องเพลงช้าง พิมพ์ Google ก็อาจจะเจอ fact ได้คำตอบเหมือนกัน แต่มันจะไม่มีการมานั่งคุยกันว่า ‘เธอร้องกี่ตัวละ’ มันเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างคน คนที่ส่งเรื่องพูดคุยกับดีเจ บ้านฉันร้อง 3 บ้านเธอร้อง 5 เหรอ

เรารู้สึกว่ามันอาจมีเสน่ห์ตรงนี้ บางเรื่องที่เราไม่คิดว่าเป็นปัญหาเลย แต่ดีเจก็มาขยี้ว่า เออว่ะ จริงๆ มันคือปัญหา อีกอย่างคนโทรเข้ามาส่วนใหญ่ เราไม่รู้อยู่แล้วว่าเขาเป็นใคร ชื่อก็ชื่อปลอม เป็นสายนิรนามโทรมาคุยกับดีเจ ไม่มีใครรู้ตัวตน 

เรื่องที่ส่งเข้ามาเป็นคำถามโลกแตกส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนเป็นเรื่องที่แม้แต่เจ้าตัวไม่กล้าเล่าให้คนใกล้ตัวฟัง แต่เขาเลือกมาเล่าให้เราฟังแทน เช่น ปัญหามือที่สาม 

เรารู้สึกว่าคนฟังมองพุธทอล์คเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเขาจริงๆ มีหลายเคสมาก โดยเฉพาะปัญหาครอบครัวที่น้องๆ ฝากเข้ามา เขาไม่ปรึกษาพ่อแม่ เพื่อน หรือแฟนนะ แต่เลือกที่จะมาถามพุธทอล์ค เราคิดว่าส่วนหนึ่งคือ เขาต้องการคนฟัง เพราะการที่คุณส่งเรื่องเข้ามาอย่างน้อยมีคนหนึ่งที่จะรับฟังคือ ตัวเราที่เป็นคนอ่านและคัดเลือกทั้งหมด หลายคนที่ส่งเข้ามาจะบอกเราว่า เรื่องหนูไม่ต้องหน้าไมค์ก็ได้ แค่หนูได้เล่าก็โล่งขึ้นเยอะเลย

กลายเป็นว่าหลายๆ สายจบตั้งแต่ขั้นตอนคัดเลือกเรื่อง เพราะเขาไม่มีที่จะระบายจริงๆ ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร เขาเลยรู้สึกว่าการที่ส่งเรื่องมาหาเรา อย่างน้อยเขาได้มีคนคนนึงที่ต่อให้เป็นคนแปลกหน้า แต่ก็พร้อมที่จะรับฟังเขาจริงๆ แค่นี้เขาก็รู้สึกโล่งแล้ว 

‘พื้นที่ปลอดภัย’ สำหรับคุณคืออะไร?

เรารู้สึกว่าเป็นที่ที่ทิ้งตัวได้ ที่ที่ไม่ต้องมาคอยระแวง ที่ที่เราได้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด อยู่แล้วสบายใจ ไม่ต้องมานั่งคิดว่าจะพูดคำไหนออกมาดี หรือคนนี้จะมาแว้งกัดเราไหม แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเอง คนหรือพื้นที่ตรงนั้นสามารถรับได้ในทุกสิ่งที่เราเป็น

มีคำถามไหนที่ติดในใจคุณจนถึงวันนี้ไหม

ถ้าสำหรับเรา คือ สายจากคุณอั๋น เป็นสายที่เป็นจุดเปลี่ยนของรายการเลย ทำให้คนรู้จักพุธทอล์คมากขึ้น เรื่องของคุณอั๋นคือ เขาตั้งใจจะขอแฟนแต่งงานที่ญี่ปุ่น แต่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เขาก็โทรมาปรึกษาดีเจว่าจะบอกแฟนดีไหม 

จำได้ว่าวันนั้นทุกคนในห้องร้องไห้หมด พี่ลูกกอล์ฟ (คณาธิป สุนทรรักษ์) พี่หอม พี่ตากล้อง ตัวเราก็ร้องไห้ ต้องคอยส่งทิชชูให้ทุกคน (หัวเราะ) มีพี่เผือกคนเดียวที่รับมือกับสถานการณ์ได้ เทปนั้นกลายเป็นไวรัล คนดูหลัก 4 – 5 ล้าน มีรายการอื่นๆ หยิบเรื่องคุณอั๋นไปต่อยอด บอกว่ามาจากรายการเรานะ ทำให้แบรนด์พุธทอล์คพุธโทรแข็งแรงมากช่วงนั้น

ที่บอกว่าเป็นจุดพลิกของรายการ เพราะหลักจากเทปคุณอั๋นเรื่องที่ส่งมาเริ่มเป็นปัญหาหนักขึ้น มีสายที่โทรมาขอความช่วยเหลือ แล้วเรารู้สึกว่าสายคุณอั๋นเป็นสายที่ให้อะไรกับสังคมมากๆ มันให้กำลังใจคนที่มีความรัก ขนาดเขาเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ยังเข้มแข็งสู้เพื่อความรักของตัวเอง

ความนิยมของรายการส่วนหนึ่งมาจากพิธีกร ทำไมถึงเป็น 3 คนนี้

พี่ๆ เขามีหลายไอเดียมาก จนมาจบที่ว่าอยากได้พิธีกรที่เป็นตัวแทนแต่ละเพศ มีผู้ชาย ผู้หญิง และ LGBTQ+ เพื่อเป็นตัวแทนของแต่ละมุมมอง เราไม่ได้อยู่ตอนที่เลือกพิธีกร มีพี่เล่าให้ฟังว่าเกณฑ์ที่ใช้เลือกคือ คนที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จหลายๆ ด้านในชีวิต อย่างน้อยเขาผ่านมาหลายเรื่องมีประสบการณ์ ไม่ว่าจะความรัก ครอบครัว เพื่อน อาชีพ เป็นต้น แล้วก็เป็นคนที่ค่อนข้างมีอิทธิพล เป็นผู้นำทางความคิด พูดแล้วมีคนฟัง สามารถใช้ประสบการณ์เขาแนะนำคนฟังได้

พี่ต้นหอมจะมีความแซ่บ โดดเด่นเรื่องความรัก ผ่านประสบการณ์ความรักมาหลายรูปแบบ กลุ่มคนฟังผู้หญิง วัยรุ่นจะชอบเยอะ ส่วนพี่เผือกเป็นตัวแทน family man มีความอบอุ่นใจ ให้คำแนะนำแบบพี่บอกน้อง และพี่ลูกกอล์ฟจะเป็นคนที่พูดอะไรตรงๆ ให้คำแนะนำที่เห็นภาพ เพราะเขามีจิตวิญญาณความเป็นครู 

พอ 3 คนนี้อยู่ด้วยกันกลายเป็นความลงตัว ปัญหาเดียวกันแต่ 3 คน 3 มุมมองเลย จุดเด่นของพุธทอล์คอีกอย่าง คือ หน้าไมค์สามารถเลือกได้ว่าอยากได้คำแนะนำจากดีเจคนไหนก่อน เขาจะรู้สึกว่านี่เป็นพื้นที่ของเขา มีสิทธิเลือกได้ ถ้าสังเกตดีๆ ส่วนใหญ่คนจะเลือกพี่เผือกเป็นคนแรก เพราะฉันอยากได้รับความอบอุ่นก่อน ค่อยๆ ไต่ระดับไปฟังพี่ลูกกอล์ฟ ปิดท้ายด้วยความแซ่บจากพี่หอม

พาร์ตการทำงานคุณใช้การฟังเยอะมาก แล้วคนที่ส่งเรื่องมาที่พุธทอล์คเพราะขาดคนฟัง คิดว่า ณ สังคมตอนนี้เราฟังกันไหม

ฟังแหละ แต่ไม่รู้ว่าฟังอย่างถ่องแท้ไหม ส่วนตัวเรารู้สึกว่าคนอยากฟังในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ยินมากกว่า หมายความว่าถ้าคุณเชื่อว่าคำตอบเรื่องนี้ต้องเป็นแบบนี้ ใครที่พูดตรงกับที่คิดก็จะฟังจะเชื่อ ถ้าใครพูดสิ่งที่ตรงข้ามจะต่อต้านทันที ไม่ใช่สิ มันต้องอย่างนี้เพราะฉันได้ยินมาแบบนี้

ยิ่งตอนนี้คนมีพื้นที่ในโซเชียลเป็นของตัวเองเยอะ เป็นแอคเคาท์ที่ไม่แสดงตัวตน ก็อาจคิดว่าฉันจะแสดงอะไรก็ได้ มันเลยเกิดดราม่าในโลกโซเชียลบ่อยๆ เดี๋ยวนี้โซเซียลค่อนข้างดุมาก ดราม่าง่ายมาก บางเรื่องที่ไม่ควรดราม่าก็ดราม่าได้

พอจะให้คำแนะนำได้ไหมว่า ‘การฟัง’ ที่เป็นการฟังจริงๆ หน้าตาเป็นอย่างไร

อย่างแรก ‘ได้ยิน’ กับ ‘ได้ฟัง’ ไม่เหมือนกัน ได้ยินเหมือนมีเสียงลอยๆ เข้ามาในหูเรา แต่ถ้าเราฟังจริงๆ พยายามทำความเข้าใจคนต้องหน้าว่าเขากำลังรู้สึกอย่างไร เขาต้องการอะไร บางครั้งคนโกรธๆ มาพูดๆ ใส่เรา เขาไม่ได้ต้องการคำตอบหรือคำแนะนำอะไร เขาแค่อยากพูดในสิ่งที่เขารู้สึกตอนนั้นออกมา

หน้าที่เราคือ พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เขาอยากสื่อสาร บางคนอาจจะไม่ได้ต้องการคำแนะนำใหญ่โต หรือคำว่าสู้ๆ แค่มึงนั่งฟังกูก็พอ ฟังจบแล้วถามว่า โอเคยังมึง ไปหาอะไรกินไหม อาจจะแค่นี้ก็ได้ ถ้าใช้ใจฟังจริงๆ เราเชื่อว่าคนพูดรับรู้ได้นะ อ้อ ไอคนนี้มันตั้งใจฟังฉันว่ะ ฉันรู้สึกว่าอยากมาพูดกับมันอีก 

ตัวเราเป็นคนที่เพื่อนหรือใครก็ตามมักจะมาขอความช่วยเหลือ มาปรึกษา เพราะเราเป็นคนที่ชอบฟัง วิธีของเราคือฟังแล้วดูว่าเขาต้องการอะไร ตอนนี้สภาวะจิตใจเขาเป็นแบบไหน อะไรที่เราสามารถช่วยได้บ้าง

การทำรายการพุธทอล์คพุธโทรให้อะไรกับคุณบ้าง

รู้สึกฟังเยอะขึ้น จริงๆ เราเป็นคนที่ชอบฟังอยู่แล้วนะ แต่การฟังของพุธทอล์คมันสอนให้เราได้ฟังดีเทลเยอะขึ้น ทำให้เรากลายเป็นคนละเอียดโดยไม่รู้ตัว ทำให้เรามองสังคมด้วยเหตุและผล มีหลายปัญหาในสังคมที่อยู่รอบตัวเรา แล้วเรารู้สึกว่าแก้ยาก ก็พยายามเข้าใจกลไกมัน ทำไมคนนี้เป็นแบบนี้ ทำไมคนนั้นเป็นแบบนั้น เพราะสังคมมันก็มีเรื่องเยอะเนอะ 

แล้วเราได้เรียนรู้ปัญหาจากที่คนถามมา เช่น ถ้าเราเจอเพื่อนร่วมงาน toxic ต้องรับมือยังไง ปัญหาเรื่องความรัก ครอบครัว ตลอด 4 – 5 ปีที่ทำงานเราได้ฟังว่าดีเจแต่ละคนให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนั้นยังไงบ้าง และทุกคำตอบสามารถเอามาปรับใช้กับเราได้ อ้อ เรามีปัญหาแบบนี้ เคยมีคนโทรเข้ามาปรึกษาพี่ๆ เขาให้คำตอบแบบนี้ 

กลายเป็นว่าตลอดระยะเวลาที่รายการพุธทอล์คพุธโทรเติบโต เราก็เติบโตไปด้วยทั้งการทำงานและความคิด 


Writer

Avatar photo

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts

Culture

mappa ชวนอ่าน

‘ความสัมพันธ์’ เป็นสิ่งที่สอนยากที่สุด แต่เรียนรู้ง่ายที่สุด : ชุดนิทาน Kidscape บอกเราอย่างนั้น