รื้อคลัง-ปัดฝุ่น-ต่อจิ๊กซอว์ ไปกับ ‘ราชบุตรสเตอริโอ’ ค่ายเพลงที่บันทึกประวัติศาสตร์ผ่านเสียงหมอลำ

ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ‘ราชบุตรสเตอริโอ’ เคยเป็นค่ายเพลงหมอลำที่ประสบความสำเร็จมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย และเคยเป็นสถานที่อัดเสียงที่ ‘แจ้งเกิด’ ให้กับหมอลำชั้นครูในตำนาน ไม่ว่าจะเป็น ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม เดชา นิตะอินทร์ สังวาลย์น้อย ดาวเหนือ และศิลปินท่านอื่นอีกมากมาย แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีใหม่ๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทกับการฟังเพลงของผู้คนมากขึ้น ความเป็น ‘แอนะล็อก’ ถูกปรับเปลี่ยนและแทนที่ด้วยการทำให้กลายเป็น ‘ดิจิทัล’ ราชบุตรสเตอริโอจึงจำเป็นต้องปิดตัวลง 

บิ๊ก-นภัส ธนาพร ทายาทราชบุตรสเตอริโอ รุ่นที่ 3 คือเด็กอุบลฯ คนหนึ่งที่เติบโตมาท่ามกลางกระแสเพลงหลักทั่วไป เขาไม่ได้มีความรู้เฉพาะทางในด้านหมอลำ และไม่ได้ชำนาญในการใช้ภาษาอีสานมากนัก แต่หลังจากที่บิ๊กเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็มีเหตุให้ต้องกลับมายังบ้านเกิดที่อุบลฯ เพราะคุณพ่อป่วย เรื่องราวการลงมือรื้อและปัดฝุ่นเพลงหมอลำในคลัง ‘ราชบุตรสเตอริโอ’ ของบิ๊กจึงเริ่มต้นขึ้น 

การเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอาจส่งผลกระทบรูปแบบการบันทึกจากสิ่งหนึ่งไปสู่สิ่งหนึ่ง หากแต่คุณค่าของเนื้อหาหาได้เปลี่ยนแปลงไปไม่ บรรทัดต่อจากนี้ขอชวนติดตามการบันทึกคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของหนึ่งในสำเนียงเสียงอีสานไปกับราชบุตรสเตอริโอ

บิ๊ก-นภัส ธนาพร (ซ้าย) / ยอด-วรงค์ บุญอารีย์ (ขวา)

ผู้ร่วมรื้อ

“ตอนนั้นพอป๊าหายป่วย ป๊าก็บอกว่าอย่าเพิ่งกลับกรุงเทพฯ เลย ลองหาอะไรทำที่นี่ก่อน เราก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี ด้วยความที่บ้านเราเคยเป็นค่ายเพลงมาก่อน เราอาจจะทำอะไรบางอย่างได้ ก็เลยลองเปิดใจฟังหมอลำดู พูดตรงๆ ว่ายากมาก คือเราพูดอีสานได้น้อยมาก ฟังออกบ้างนิดหน่อย แต่พอเป็นเพลงหมอลำ เราหาทางออกไม่เจอเลยเพราะฟังไม่รู้เรื่อง มืดแปดด้าน” บิ๊กเล่าปัญหาใหญ่ในการเริ่มลงมือทำสิ่งนี้ให้เราฟัง

อากงและอาม่าของบิ๊กก่อตั้ง ‘บริษัทราชบุตร’ ในปี 2514 โดยแรกเริ่มนั้นเปิดเป็นกิจการร้านขายยา ก่อนที่จะกลายมาเป็นค่ายเพลง และร้านขายแผ่นซีดีตามลำดับ ราชบุตรสเตอริโอจึงยังคงมีเทป แผ่นซีดี ผลงานเพลง รวมถึงอุปกรณ์อัดเพลงที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในคลังเป็นจำนวนมาก

“คลังข้อมูลที่อากงเก็บไว้มันมีข้อมูลเยอะมาก ทั้งเทป แผ่นซีดี กลอนลำในรูปแบบกระดาษ มันคือคลังข้อมูลทางวัฒนธรรมที่มีค่ามหาศาล ผมไม่อยากให้วัตถุดิบพวกนี้ถูกแช่แข็งไว้จนหมดอายุ เรื่องบางเรื่องผมอาจจะยังไม่เข้าใจ ไม่มีความรู้ แต่ในวันข้างหน้าถ้ามันอยู่ในรูปแบบดิจิทัล ก็คงจะมีใครสักคนที่มาหาคำตอบกับสิ่งนี้ได้ ผมเลยอยากเก็บรักษามันเอาไว้”

กระทั่งบิ๊กได้มารู้จักกับ ยอด-วรงค์ บุญอารีย์ ศิลปินชาวอุบลฯ ผู้มีความรู้ด้านหมอลำ บิ๊กจึงมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ เล่าเรื่องข้อมูลเพลงต่างๆ ที่ราชบุตรสเตอริโอมีอยู่ให้ยอดฟัง และชวนยอดมาร่วมลงมือรื้อคลังเพลงด้วยกัน เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาแปลงรูปแบบเป็นไฟล์ดิจิทัล

ยอดคลุกคลีกับเสียงดนตรีมาตั้งแต่เด็ก แต่ถึงอย่างนั้นยอดก็เล่าว่าเขาฟังเพลงหมอลำน้อยมากตั้งแต่เล็กจนโต สิ่งที่ทำให้เขาเริ่มหันมาสนใจหมอลำ คือเรื่องราวในอดีตของพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งยอดได้ข้อมูลกลับมาหลังจากที่ไปลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์หมอลำหมอแคนเป็นระยะเวลาหนึ่ง ยอดจึงสนใจในข้อมูลที่บิ๊กมีอยู่และยินดีช่วยเหลือบิ๊ก เริ่มตั้งแต่ช่วยรื้อโกดังราชบุตรฯ ปัดฝุ่น ขนของ นำมาแปลงเสียงเป็นไฟล์ดิจิทัล และฟังเนื้อหาเพื่อแยกประเภทข้อมูลและเก็บรายละเอียดอีกครั้ง  

“พอได้มารู้จักกับพี่ยอด เราเลยได้รู้ว่าแต่ละเพลงมันมีเรื่องราว มีความหมายบางอย่าง หรือมีอะไรที่ซ่อนเอาไว้อยู่ เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ช่วยให้การฟังเพลงหมอลำกลมกล่อมมากขึ้น มีมิติมากขึ้น จนเกิดความคิดว่าเราจะรู้สิ่งนี้แค่คนเดียวไม่ได้นะ เราอยากให้คนอื่นรู้ด้วย พี่ยอดก็เสนอว่าลองทำคอนเทนต์ดูไหม บางอย่างที่มีอยู่มันอาจจะฟังยาก แต่ถ้าหากมันมีเรื่องราวหรือมีคอนเทนต์ที่ทำให้คนฟังรู้สึกว่าเสพได้ มันก็คงจะง่ายมากขึ้น” 

สิ่งของที่ได้จากการลองรื้อ 

บิ๊กเล่าต่อว่าผลงานเพลงและอุปกรณ์ต่างๆ ที่อากงของบิ๊กเก็บเอาไว้ในร้านราชบุตรฯ นั้นมีเยอะมาก และไม่อาจรู้ได้ว่ามีรายการอะไรอยู่ในคลังบ้าง เพราะอากงเสียชีวิตก่อนที่จะได้ส่งมอบงานให้ลูกหลานได้สืบทอดกิจการอย่างเป็นทางการ ข้อมูลและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ค้นเจอโดยบังเอิญ เช่น เทป แผ่นซีดี ลำโพง หรือสไลด์ฟิล์ม ต่างก็มีเรื่องราวที่ซ่อนอยู่ บางชิ้นอาจเป็นสมบัติที่ตีออกมาเป็นมูลค่าทางทรัพย์สินไม่ได้ แต่กลับมีมูลค่าทางใจสูงอย่างคาดไม่ถึง

“ข้อมูลที่อากงเก็บไว้ในร้านมีหลายรูปแบบมาก ซึ่งข้อมูลเกือบทั้งหมดอยู่ในรูปแบบแอนะล็อก รูปแบบที่ใหม่ที่สุดคือ USB ที่เสียบแล้วฟังได้เลย แต่ก็ยังไม่เคยได้นำไปอัปโหลดบนสตรีมมิงแพลตฟอร์มอื่นๆ เราก็เลยต้องเก็บทุกอย่างเพื่อดูว่าไฟล์ไหนถูกแปลงเป็นดิจิทัลแล้ว คุณภาพเสียงเป็นอย่างไรบ้าง บางไฟล์เสียงไม่ดีก็ต้องมาค้นดูว่ายังมีไฟล์อื่นอีกไหม”  

“คือสิ่งที่เก็บมาจากรุ่นอาโกอาเจ็กของบิ๊กก็ยังสะเปะสะปะอยู่ เรากำลังหาวิธีจัดการ อย่างวันนี้เราก็บังเอิญไปเจอฟิล์มสไลด์สองกล่องนี้ก็ต้องมานั่งดูว่ามันมีอะไรอยู่บ้าง คนในรูปคือใคร ทำไมเราไม่รู้จัก ต้องไปหาข้อมูลว่าเขาเป็นใคร เพราะอาจจะเป็นบุคคลที่น่าสนใจ” ยอดเล่าพลางหยิบกล่องฟิล์มสไลด์ขึ้นมาวางบนโต๊ะ 

“ครอบครัวผมยังไม่รู้เลยว่ามีอยู่ อาม่าก็ไม่รู้ ไม่มีใครรู้เลย บางอันก็มีลายมืออากงเขียนเอาไว้ มันยังมีอะไรหลายอย่างที่ทำให้เราเซอร์ไพรส์ได้เรื่อยๆ ครับ” บิ๊กเสริม

“เราเคยโพสต์รูปหมอแคนคนหนึ่ง เขาเป่าแคนให้ศิลปินแห่งชาติ แล้วก็มีคนส่งข้อความมาบอกว่าศิลปินคนนี้คือพ่อเขา เขาไม่เคยมีรูปพ่อเลย บังเอิญว่าได้มาเจอรูปพ่อจากปกของราชบุตรสเตอริโอ ก็เลยอยากขอไฟล์เพื่อนำรูปไปอัดใส่กรอบ มันมีคุณค่าทางใจกับเขามาก”

“การเก็บข้อมูลแต่ละครั้งเราต้องรู้เรื่องราวของศิลปินแต่ละคนด้วย อย่างเช่น หมอลำสุบรรณ พละสูรย์ ท่านเป็นอาจารย์ของ หมอลำบุญเพ็ง และอีกหลายคน เราก็ต้องรู้ข้อมูลว่าบ้านเขาอยู่แถวไหน มีลูกศิษย์คนไหนบ้างที่ยังมีชีวิตอยู่ เรามีข้อมูลว่าญาติของเขาคือ นุ่ม เย็นใจ เป็นคนที่เขียนกลอน ‘ชีวิตชาวนา’ ให้ ฉวีวรรณ ดำเนิน ร้อง มันเหมือนกับการต่อจิ๊กซอว์และเราต้องหาข้อมูลแบบนี้เป็นร้อยๆ คน ผมกับบิ๊กกำลังคุยกันอยู่ว่าจะทำเป็น family tree เลยดีไหม เพราะว่าเริ่มงงแล้ว (หัวเราะ) แต่ก็สนุกดี”

เรื่องราวในบทเพลงที่ถูกรื้อ  

เรื่องราวของกลอนลำและหมอลำในสมัยก่อน มีการนำเสนอออกมาในหลายประเด็น หลากเรื่องราว ขึ้นอยู่กับความสนใจของผู้เขียนกลอน มีตั้งแต่ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของพื้นที่ต่างๆ ในอีสาน ภาวะเศรษฐกิจ โรคระบาด โรคเอดส์ เซ็กส์ทอย ไปจนถึงดาวหางฮัลเลย์ ยอดเล่าว่าสิ่งเหล่านี้คือวิธีการเอนเตอร์เทนผ่านกลอน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของหมอลำที่มีมาอย่างยาวนาน และเป็นวิธีการที่ผู้คนเลือกที่จะบอกเล่าผ่านเสียงเพลงและเสียงดนตรี

“เมื่อก่อนนี้ถ้าเล่าเรื่องโดยที่ไม่เล่าในรูปแบบกลอนก็จะถือว่าไม่สนุก คนที่เขียนเนื้อเพลงหมอลำขายก็คือเขียนกลอนนั่นแหละ พอเขียนเสร็จแล้วก็เอามาขายให้ราชบุตรสเตอริโอ อาม่าอากงของบิ๊กก็ซื้อเอาไว้ หรือบางคนเขียนกลอนไว้ก็เอามาร้องเป็นเพลงเอง บางคนก็เอาไปให้คนอื่นร้อง เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่ขายได้ อย่าง ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม ศิลปินแห่งชาติ ก็ยังมีลำเปาบุ้นจิ้น สมัยนั้นอากงก็ต้องไปคอยกำกับว่าเปาบุ้นจิ้นเนื้อมันเป็นอย่างนี้นะ (หัวเราะ)”

ยอดยกตัวอย่างอีกเพลงหนึ่ง นั่นคือเพลง ‘ม้าโป่งเขา เสาออกดอก’ ของ เดชา นิตะอินทร์ ซึ่งเรื่องราวในเพลงเล่าถึงช่วงกลางสงครามเวียดนาม เป็นยุคที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงและมีการพัฒนาอย่างเห็นได้ชัด ‘ม้าโป่งเขา’ ในเพลงนั้นหมายถึง มอเตอร์ไซค์ ‘เสาออกดอก’ หมายถึง เสาไฟฟ้า สื่อถึงความทันสมัยที่มาพร้อมกับโรคใหม่ๆ เช่น โรคยามาฮ่า โรคฮอนด้า ซึ่งก็คืออุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์ เป็นเพลงที่มีความร่วมสมัยและเป็นการบันทึกเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองเอาไว้ในเสียงเพลง

รัสมี อีสานโซล

งานต่อยอดจากการลองรื้อ 

นอกเหนือจากการพยายามเก็บรัักษาคลังข้อมูลที่มีอยู่เอาไว้ให้ได้มากที่สุดแล้ว ทั้งบิ๊กและยอดก็ยังนำเอาข้อมูลเก่าเหล่านี้มาประยุกต์ ดัดแปลง และต่อยอดให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการนำลำกลอนมารีมิกซ์ใหม่ นำกราฟิกมาปรับใช้ หรือนำไปให้ศิลปินประยุกต์ใช้ทำเพลง

“เพลง ‘Only you’ ของ แป้ง-รัสมี อีสานโซล ก็มีการนำเอากลอนลำเต้ยเก่าของราชบุตรฯ ไปประยุกต์ หรืองานกราฟิกที่เราเอาดีไซน์ไปปรับใช้ได้ ล่าสุดบิ๊กเขาก็เอากราฟิกจาก ‘กลอนเดินดง’ ไปปรับใช้กับงานคอนเสิร์ตของแป้งนี่แหละ” ยอดเล่า

“เราเป็นศิลปิน เวลาเราเสพงาน เราเสพเรื่องราว เสพรายละเอียด ข้อมูลพวกนี้มันก็มีบางอันแหละที่เราไม่ได้อิน อย่างเช่นจ้ำบ๊ะ แต่ในความจ้ำบ๊ะนั้นมันก็มีความน่าสนใจ เราจะมองในแง่ที่ว่าอันนี้เท่ดี อันนี้เอาไปใช้งานได้ เอาไปพัฒนาต่อได้ เพราะไม่ว่ายังไงสิ่งที่ผ่านมาแล้วมันก็คือการบันทึกยุคสมัยเอาไว้ เราเลือกได้ว่าจะหยิบตรงไหนมาใช้”

“การฟังหมอลำ คือถ้าคุณไม่ได้เกิดเป็นคนอีสานก็อาจจะนับว่าเป็นโชคร้ายอย่างหนึ่ง เพราะคุณจะฟังเรื่องราวในเพลงไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าจะต้องเอาไปให้คนที่ไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมนี้ฟัง มันก็ต้องมีการย่อย เช่น นำไปทำเป็นเพลงร่วมสมัยหรือว่าทำเป็นเพลงป๊อบ อย่างเพลงหมอลำบางเพลงในทุกวันนี้ก็แทบจะไม่มีคำลาวอยู่ในนั้นเลย แต่พอคนภาคอื่นฟังเขากลับรับรู้ว่ามันคือเพลงอีสาน แปลว่ามันมีสิ่งที่สื่อความเป็นอีสานออกมา อาจจะเป็นเรื่องขององค์ประกอบทางดนตรี”

“สำเนียงอีสานที่ซ่อนอยู่ในเพลงที่ชัดที่สุดคือ จังหวะ เพราะเราจะรับรู้ได้เร็วที่สุด มันถูกทำให้ง่ายจนเสพง่าย แล้วจังหวะอีสานที่ทุกคนเข้าใจอยู่ในตอนนี้มันก็ไม่ได้เกิดขึ้นแถวนี้เลยด้วยซ้ำ มันเกิดจากลาติน จากกรุงเทพฯ แต่เนื่องจากคนอีสานไม่มีตัวตน พอเขามองเห็นว่ามันสนุกก็เลยก๊อปแล้วก็เอามาเล่น”

“หมอลำมันไม่มีเอกลักษณ์ดั้งเดิมแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างที่บอกว่ามันก๊อปกันมาเรื่อยๆ สมัยก่อนตอนที่เรายังเด็ก เราก็เคยคิดนะว่ามันมีอยู่ เพราะว่าผู้ใหญ่เค้าสอน มันมีขนบอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถ้าคุณลองย้อนกลับไปฟัง คุณจะรู้ว่าหมอลำมันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด” ยอดให้คำตอบ

“บางอันที่ไม่ได้เป็นที่นิยมก็จะค่อยๆ เลือนหายไป เช่น ความยากของลำกลอนอุบลที่ทำให้ลำกลอนอุบลตาย เพราะไม่มีใครฝึก มันเป็นกลอนที่ต้องโต้ตอบกัน ต้องมีทั้งความรู้ ต้องมีทั้งความสามารถในการอิมโพรไวซ์ ต้องโอ่เป็น (เสียงโอละน้อในตอนต้นของการลำ) ในสมัยก่อนจะมีการจัดให้ปะทะกันด้วย เขาจะจ้างหมอลำผู้ชายและผู้หญิงมาลำแข่งกัน ใครไปไม่เป็นคือแพ้ โดดเวที เขาเลยเรียกว่า โตนฮ่าน ก็คือแพ้น็อก วงการหมอลำมัน intense มากเลยในสมัยนั้น”

เพราะเหตุนี้จึงอยากรื้อ 

แม้ว่าการทำให้หมอลำไม่เลือนหายไปตามกาลเวลาจะเป็นเรื่องยาก ทว่าทั้งบิ๊กและยอดก็ยังคงพยายามรื้อข้อมูลในคลังของราชบุตรฯ ที่มีอยู่ออกมาปัดฝุ่น พร้อมทั้งพยายามต่อจิ๊กซอว์เรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังคลังเพลงเหล่านี้ให้ออกมาสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะทุกเรื่องราวและประวัติศาสตร์ที่บรรจุอยู่ในเทป แผ่นซีดี USB และอื่นๆ อีกมากมายที่ราชบุตรสเตอริโอได้บันทึกเอาไว้ คือความทรงจำอันล้ำค่าที่ไม่สามารถย้อนกลับไปบันทึกใหม่ได้อีกครั้ง

“รูปแบบข้อมูลทุกอย่างที่มีทั้งกระดาษ แผ่นซีดี และเทป ถ้าหากผมไม่เก็บ วันหนึ่งมันก็จะหมดอายุไปตามกาลเวลา หรือถ้าเจอช้า กว่าจะลองเอามาฟังดู เสียงก็อาจจะไม่ดีเหมือนเดิม ผมเลยต้องรีบลงมือทำ ผมอยากให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลตรงนี้ได้” บิ๊กเล่าถึงเป้าหมายสำคัญของตนเอง

“จริงๆ แล้วสิ่งที่ผมทำอยู่มันไม่ได้ต่างอะไรจากที่ครอบครัวผมรุ่นก่อนๆ ทำเลยนะ ครอบครัวผมก็แปลงข้อมูลจากแอนะล็อกแบบหนึ่งไปเป็นแอนะล็อกอีกแบบหนึ่ง จากเทปไปเป็นแผ่นซีดี จากซีดีไปเป็น USB มันเลยทำให้ข้อมูลบางอย่างสูญหายไประหว่างทาง ผมก็เลยคิดว่าต้องเอามาทำให้เป็นดิจิทัล เอามาอธิบายเรื่องราวให้มากขึ้น ให้คนมองเห็นความน่าสนใจของมัน ผมว่าผมมาไกลจากวันแรกมาก แต่ก็ยังบอกไม่ได้ว่ามันบรรลุเป้าหมายไปถึงไหนแล้ว เพราะผมคิดว่ามันต้องมีต่อไปเรื่อยๆ”

เมื่อถามถึงเหตุผลที่ทำให้บิ๊กและยอดยังคงเลือกที่จะทำสิ่งเหล่านี้ต่อไป คำตอบที่ได้ก็เป็นคำตอบที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน “เอาจริงๆ ผมก็ยังถามตัวเองอยู่นะว่าผมทำไปทำไม แล้วผมก็ได้คำตอบว่าผมชอบที่ได้ hangout กับศิลปิน ได้พบเจอคนต่างรุ่นต่างวัย ได้พูดคุยกัน ผมรู้สึกว่ามันเป็นชีวิตที่มีความสุขดี” ยอดตอบ

“ถ้าจะตอบว่าสนุกได้ไหมครับ มันสนุกแล้วก็สร้างรายได้ด้วย เท่านี้ก็พอแล้วไม่ใช่เหรอครับ” บิ๊กปิดท้าย

คำตอบจากบิ๊กและยอดทำให้เรานึกถึงเหตุผลในการเริ่มเป่าแคนของหมอแคนสมัยก่อน ซึ่งยอดเล่าให้เราฟังก่อนหน้านี้ว่าหมอแคนส่วนใหญ่นั้นเริ่มหัดเป่าแคนแค่เพราะอยากจีบสาว แต่เหตุผลเรียบง่ายนั้นเองที่ทำให้การเป่าแคนยังคงมีการสืบทอดต่อมาเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน

ไม่แน่ว่าคำตอบนี้อาจจะเป็นจิ๊กซอว์ตั้งต้นที่รอชิ้นส่วนชิ้นถัดไปมาปะติดปะต่อ และทำให้ข้อมูลในคลังเหล่านี้ถูกส่งต่อไปยังคนรุ่นใหม่ในอนาคตก็เป็นได้


Writer

Avatar photo

ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts