- ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เรามักจะเห็นคนส่วนใหญ่ปลอบใจคนที่เพิ่งเสียสัตว์เลี้ยงแสนรักไปว่า “น้องไปวิ่งเล่นที่ดาวหมา/ดาวแมวแล้วนะ”
- ดาวหมา ดาวแมว หรือดาวสารพัดสัตว์เลี้ยง คือสถานที่ในจินตนาการที่ทำให้เราเชื่อว่า บนดาวดวงใดดวงหนึ่งในจักรวาลนี้ สัตว์เลี้ยงแสนรักไม่ได้จากเราไปไหน แต่น้อง ๆ แค่ย้ายไปพบกับเพื่อน ๆ บนดาวอีกดวงเท่านั้น
- ที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ก็มีร้อยแก้วที่คนส่วนใหญ่และแม้แต่โรงพยาบาลสัตว์บางแห่งมักจะใช้ปลอบใจคนที่เพิ่งสูญเสียสัตว์เลี้ยงแสนรักไป และร้อยแก้วบทนั้นมีชื่อว่า ‘สะพานสายรุ้ง’
“น้องไปวิ่งเล่นดาวหมาแล้ว”
“น้องไปหาเพื่อน ๆ ที่ดาวแมวแล้ว”
ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเริ่มได้ยินและได้อ่านประโยคนี้อยู่บ่อย ๆ ทุกครั้งที่สัตว์เลี้ยงแสนรักของใครสักคนจากไป เพราะสำหรับคนรักสัตว์ส่วนใหญ่ สัตว์เลี้ยงนั้นเป็นยิ่งกว่าสัตว์เลี้ยง พวกเขาคือสมาชิกอีกตัวหนึ่งของครอบครัว และการจากไปของสมาชิกแต่ละตัวก็คือความสูญเสียครั้งใหญ่ไม่แพ้คนที่เรารักจากไปเลย
การเชื่อว่า ดาวแมว ดาวหมา และดาวสารพัดสัตว์เลี้ยงมีอยู่จริง และที่ไหนสักแห่งในจักรวาลอันกว้างใหญ่ น้อง ๆ จะมีชีวิตที่สุขสบาย ได้วิ่งเล่นในทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ไปพร้อมกับเพื่อน ๆ จึงกลายเป็นสิ่งปลอบประโลมใจให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงคลายเศร้าได้บ้าง
เมื่อไทยเรามี ‘ดวงดาว’ ในจินตนาการเป็นสิ่งปลอบประโลมใจให้กับเจ้าของที่เพิ่งเสียสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รักไป ต่างประเทศ โดยเฉพาะทางสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ก็มี ‘สะพานสายรุ้ง’ มาช่วยคลายเศร้าเช่นกัน
‘สะพานสายรุ้ง’ คือร้อยแก้วที่กล่าวถึงสวรรค์ของสัตว์เลี้ยงและคำมั่นสัญญาว่าคุณจะได้พบสัตว์เลี้ยงแสนรักอีกครั้งในสักวันหนึ่งที่โด่งดังอย่างมากในต่างประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ โดยแม้แต่โรงพยาบาลสัตว์หลายแห่งก็มักจะนำร้อยแก้วบทนี้ให้กับเจ้าของที่เพิ่งสูญเสียสัตว์เลี้ยงไป
แม้ว่าจะมีคนเป็นล้านที่เคยอ่าน ‘สะพานสายรุ้ง’ แต่ที่ผ่านมากลับไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าใครกันแน่เป็นคนแต่งร้อยแก้วบทนี้ขึ้น จนกระทั่งในปีนี้ที่ พอล คูดูนาริส นักประวัติศาสตร์ศิลปะและนักเขียนในแอริโซนาได้สืบเสาะจนพบว่าใครกันแน่คือคนที่แต่งบทร้อยแก้วนี้ขึ้น
เธอคือชาวสกอตผู้มีนามว่า เอ็ดนา ไคลน์-เร็กคี ปัจจุบันเอ็ดนาเป็นคุณยายอายุ 82 ปี และเธอไม่รู้เลยว่าร้อยแก้วที่เธอเขียนขึ้นกว่า 60 ปีที่แล้วเพื่อระลึกถึงเจ้า เมเจอร์ สุนัขตัวแรกของเธอที่จากไปจะกลายเป็นถ้อยคำปลอบประโลมใจคนนับล้านที่ต้องสูญเสียสัตว์เลี้ยงไปเช่นเดียวกัน
“ฉันตกใจมากจริง ๆ” คุณยายเอ็ดนาบอก “นี่ยังช็อกอยู่เลย”
คูดูนาริสใช้เวลาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาในการหาข้อมูลเพื่อมาเขียนหนังสือเกี่ยวกับสุสานสัตว์เลี้ยง และเขาก็พบว่า บ่อยครั้งที่เขามักจะเจอกับบทร้อยแก้วที่ชื่อว่า ‘สะพานสายรุ้ง’
“ตอนแรกผมก็ชักจะสงสัยว่าใครเป็นคนแต่ง” เขาเล่า คูดูนาริสบอกว่า การที่ไม่มีการให้เครดิตผู้แต่งข้อความที่เป็นดังอนุสรณ์อันสำคัญในการระลึกถึงสัตว์เลี้ยงนั้นทำให้เขาค่อนข้างหงุดหงิด คูดูนาริสจึงสืบค้นไปจนพบว่า ร้อยแก้วบทนี้เริ่มโด่งดังในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1994 เมื่อหนึ่งในผู้อ่านคอลัมน์ ‘เดียร์ แอบบี’ จาก แกรนด์แรพพิดส์ มิชิแกน ได้ส่งบทร้อยแก้วที่เขาได้รับจากสมาคมมนุษยธรรมแถวบ้านมาให้กองบรรณาธิการ พร้อมข้อความที่ว่า “หากคุณจะตีพิมพ์ข้อความนี้ คุณก็ควรจะเตือนคนอ่านให้ควักผ้าเช็ดหน้าออกมาก่อนนะ” หลังจากนั้น ‘สะพานสายรุ้ง’ ก็ดูจะปรากฏอยู่ทุกหนทุกแห่ง ในปี 1995 มีผู้อ้างสิทธิ์กับสำนักงานลิขสิทธิ์แห่งอเมริกาถึง 15 คน คูดูนาริสนำรายชื่อคนที่ดูมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นผู้แต่งทั้งหมด 25 คนมาวิเคราะห์และตัดรายชื่อออกไปทีละคน ท้ายที่สุดแล้วเขาจึงเหลือชื่อคนเพียงคนเดียว นั่นคือ เอ็ดนา ไคลน์-เรกคี เธอคือผู้หญิงเพียงคนเดียว และคนที่ไม่ใช่คนอเมริกันเพียงคนเดียวในรายชื่อนั้น
“คนที่ตอนแรกดูเป็นตัวเลือกที่เป็นไปไม่ได้เลยกลับกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจที่สุด และแน่นอนว่า เป็นเธอนั่นเอง” คูดูนาริสกล่าว
เมื่อคูดูนาริสติดต่อเอ็ดนาในเดือนมกราคมปีนี้ และถามว่าเธอคือคนแต่ง ‘สะพานสายรุ้ง’ หรือไม่ สิ่งแรกที่เอ็ดนาตอบกลับมาคือ “คุณหาฉันเจอได้ยังไง!?”
“เขาตายในอ้อมกอดฉัน” เอ็ดนาเล่าที่มาของแรงบันดาลใจในการเขียนร้อยแก้วบทนั้นให้ เนชันแนล จีโอฟราฟิก ฟัง ตอนนั้นคือปี 1959 เธอมีอายุเพียง 19 ปี และเพิ่งสูญเสียสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ ที่ชื่อว่า ‘เมเจอร์’ ไป “ฉันรักเขาสุดใจเลย”
หลังจากเมเจอร์จากไป เอ็ดนาก็เอาแต่ร้องห่มร้องไห้ จนแม่ของเธอต้องถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับเธอ
“เรื่องเมเจอร์ค่ะ” เอ็ดนาตอบแม่ “หนูยังรู้สึกเจ็บปวดอยู่เลย”
“งั้นลูกลองเขียนความรู้สึกตัวเองออกมาดีไหม” แม่ของเอ็ดนาเสนอ และเธอก็ทำตามคำแนะนำของแม่
“ที่ฝั่งนี้ของสวรรค์คือสถานที่ที่เรียกว่า สะพานสายรุ้ง” เธอเริ่มเขียน และจากนั้นถ้อยคำมากมายก็ไหลหลั่งออกมาจนเต็มหน้ากระดาษ
“ถ้อยคำมันหลั่งไหลเข้ามาในหัว เหมือนกับว่าฉันได้คุยกับหมาของฉันอยู่ เหมือนว่าฉันได้คุยกับเมเจอร์” เอ็ดนาบรรยายความรู้สึกขณะที่เขียนร้อยแก้วนั้น “ฉันรู้สึกแบบนั้นแล้วก็ต้องเขียนมันออกมา” และเอ็ดนาก็ยังคงเก็บต้นฉบับที่เธอเขียนด้วยลายมือไว้
ถึงแม้จะไม่เคยตีพิมพ์ ‘สะพานสายรุ้ง’ แต่เอ็ดนาก็เอาให้เพื่อน ๆ อ่าน “เขาร้องไห้กันหมด” เธอบอก เธอพิมพ์ร้อยแก้วบทนี้แจกเพื่อน ๆ ที่ขอคัดลอกกลับบ้าน แต่ไม่ได้ลงชื่อไว้ คูดูนาริสเชื่อว่า เพื่อน ๆ ของเธออาจจะส่งต่อให้คนอื่น ๆ จนกระทั่งไม่รู้ว่าคนแต่งคือใคร ส่วนเอ็ดนาก็ย้ายไปอินเดียก่อนที่จะมาทำฟาร์มมะกอกที่สเปน เธอจึงไม่รู้เลยว่าร้อยแก้วที่เธอแต่งกลายเป็นร้อยแก้วอันโด่งดังในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และอีกหลายประเทศ
คูดูนาริสกล่าวว่า เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวคริสเตียนส่วนใหญ่ มักจะถูกบาทหลวงหรือพ่อแม่บอกว่าสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่มีจิตวิญญาณ และพวกเขาจะไม่ได้พบกับเหล่าสัตว์เลี้ยงแสนรักอีกในสวรรค์ แต่ ‘สะพานสายรุ้ง’ นั้นเป็นเหมือนถ้อยคำปลอบประโลมคนที่กังวลว่าสัตว์เลี้ยงของพวกเขาอาจไม่มีค่าพอจะขึ้นสวรรค์ ให้กลับมามีความหวังอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นที่นิยมในชาวตะวันตก
คิตตี บล็อก CEO และประธานสมาคมมนุษยธรรม ให้ความเห็นว่า ความนิยมของ ‘สะพานสายรุ้ง’ แสดงให้เห็นว่าสัตว์เลี้ยงมีความสำคัญต่อมนุษย์แค่ไหน และความผูกพันนี้จะช่วยให้เราหันมาสนใจสัตว์ทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงที่เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวเราหรือแม้แต่สัตว์ป่าได้
อย่างไรก็ดี มารินา แอล รีด และมาเรียน เกรซ บอยด์ ผู้ให้คำปรึกษาการรับมือกับความสูญเสีย เห็นว่า แต่ละคนก็มีวิธีที่จะรับมือกับความสูญเสียต่างกัน และแม้ ‘สะพานสายรุ้ง’ จะฟังดูอบอุ่นอ่อนโยนเพียงใด แต่สำหรับบางคนที่เพิ่งสูญเสียสัตว์เลี้ยงไปก็อาจจะให้พวกเขาเศร้ายิ่งกว่าเดิม และการบอกว่าเมื่อถึงวันที่เราจากโลกนี้ไปแล้ว เราจะได้พบเจอเหล่าสัตว์เลี้ยงที่ล่วงหน้าไปก่อนอีกครั้ง ก็อาจจะทำให้เกิดความคิดที่จะทำร้ายตัวเองเพื่อที่จะตามสัตว์เลี้ยงแสนรักไปอีกฝั่งของสะพานสายรุ้งได้
บอยด์ กล่าวว่า สำหรับเธอแล้ว ร้อยแก้วบทนี้ก็สะท้อนช่วงเวลาที่มันถูกเขียนขึ้นมา นั่นคือช่วงเวลาที่เรายังมีมุมมองต่อความเศร้าและความสูญเสียแตกต่างจากปัจจุบัน แต่ทั้งบอยด์และรีดเห็นตรงกันว่า ร้อยแก้วบทนี้อาจเหมาะที่จะมอบให้ผู้ที่สูญเสียสัตว์เลี้ยงได้อ่านหลังจากผ่านความสูญเสียมาสักพักหนึ่งแล้ว แทนการให้พวกเขาอ่านทันทีที่เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น
รีดยังให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกด้วยว่า หาก ‘สะพานสายรุ้ง’ สามารถช่วยปลอบโยนหัวใจของเจ้าของน้องหมาน้องแมวที่จากไปได้ คนใกล้ตัวก็สามารถเสริมการปลอบใจเข้าไปได้จากจุดนั้น โดยอาจจะเริ่มจากการถามว่าอ่านร้อยแก้วนี้แล้วรู้สึกอย่างไร ได้เรียนรู้อะไรจากบทร้อยแก้วนี้บ้าง หรือถามว่าบทร้อยแก้วนี้สามารถบรรยายความรู้สึกของพวกเขาออกมาได้ เลยทำให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นใช่ไหม
สำหรับคุณยายเอ็ดนา ผู้แต่ง ‘สะพานสายรุ้ง’ ในวัย 82 ปีนั้นยังเชื่อสุดหัวใจว่าเธอจะได้พบเจอเจ้าเมเจอร์และสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ ที่จากไปอีกครั้งหนึ่ง และเธอก็ยังคงเก็บเถ้ากระดูกของพวกมันไว้ตลอด
และนี่คือ ‘สะพานสายรุ้ง’ ผลงานชิ้นเอกของเอ็ดนา ที่ช่วยปลอบโยนหัวใจหลายล้านดวงที่ต้องสูญเสียสัตว์เลี้ยงไปตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา“ที่ฝั่งนี้ของสวรรค์คือสถานที่ที่เรียกว่า สะพานสายรุ้ง เมื่อสัตว์เลี้ยงอันเป็นที่รักของใครสักคนบนโลกนี้จากไป พวกเขาจะไปที่สะพานสายรุ้ง ที่ซึ่งมีทุ่งหญ้าและเนินเขาให้เหล่าเพื่อนแสนวิเศษได้วิ่งเล่นไปด้วยกัน มีน้ำ อาหาร และแสงแดดไม่อั้น และพวกเพื่อน ๆ ก็จะอบอุ่นและสุขสบาย บรรดาสัตว์ที่เคยป่วยไข้หรืออยู่ในวัยชราจะกลับมามีร่างกายอันสมบูรณ์แข็งแรง พวกที่เคยต้องเจ็บปวดก็จะดีขึ้นและเข้มแข็งอีกหน เหมือนตอนที่เรายังจำเขาได้ก่อนเขาไปสวรรค์ พวกเขาจะสุขสำราญ เว้นก็แต่เรื่องเล็ก ๆ เรื่องเดียว คือทุกตัวยังคิดถึงใครคนหนึ่งซึ่งสำคัญกับเขาจริง ๆ แต่จำเป็นต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง พวกเขาจะวิ่งเล่นด้วยกัน แต่จะมีสักวัน ที่หนึ่งในนั้นจะหยุดวิ่งฉับพลัน และหันมองออกไป ดวงตาของเขาจะสุขสดใส ร่างกายจะสั่นเทิ้ม แล้วทันทีทันใดนั้น เขาจะวิ่งออกมาจากฝูง เร่งฝีเท้าฝ่าท้องทุ่งหญ้า ขาสับไวขึ้นและไวขึ้น และเมื่อคุณและเพื่อนแสนวิเศษของคุณได้พบกันอีกหน คุณจะกอดเขาด้วยอ้อมกอดแห่งความสุขที่จะไม่มีวันพรากจากไปอีกแล้ว คุณและสัตว์เลี้ยงของคุณจะหลั่งน้ำตา สองมือของคุณจะได้ประคองใบหน้าของเขาอีกครั้ง และเป็นอีกครั้งที่คุณจะได้จ้องดวงตาอันซื่อสัตย์คู่นั้นที่คุณไม่ได้มองมาเนิ่นนาน แต่ก็ไม่เคยจางไปจากใจเลย จากนั้น..คุณจะได้ข้ามสะพานสายรุ้งไปพร้อมกัน”