‘เมื่อถึงฤดูกาล ตัวตนของเราจะผลิบานอย่างงดงาม’ คุยกับ คิมรันโด ผู้เขียน ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’

“ดอกไม้แต่ละชนิดผลิบานในฤดูกาลของมันเอง ตอนนี้อาจยังไม่ถึงช่วงเวลาของคุณ อาจสายไปหน่อยเมื่อเทียบกับคนอื่น แต่ถ้าฤดูกาลนั้นมาถึง คุณจะงดงามไม่แพ้ดอกไม้ชนิดอื่น”

ประโยคข้างต้นนี้คือประโยคดังจากหนังสือ ‘เพราะเป็นวัยรุ่นจึงเจ็บปวด’ เขียนโดย คิมรันโด นักเขียนและอาจารย์มหาวิทยาลัยชาวเกาหลีใต้ ผู้ได้รับขนานนามว่าเป็น ‘ที่ปรึกษาแห่งชาติ’ โดนหนังสือเล่มนี้ เป็นหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ในไทยมากกว่า 50 ครั้ง มียอดขายในประเทศเกาหลีใต้มากกว่าสองล้านเล่ม และน่าจะเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่แม้แต่คนที่ไม่ใช่นักอ่านตัวยงก็คงจะเคยได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้กันมาบ้างไม่มากก็น้อย 

นอกเหนือจากบทบาทในการเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยโซล อาจารย์คิมรันโดยังทำหน้าที่เป็นผู้มอบคำปรึกษาให้แก่นักศึกษา จนได้รับการประเมินจากบรรดาลูกศิษย์ให้เป็น ‘อาจารย์ที่ปรึกษาดีเด่น’ จึงเรียกได้ว่าการทำหน้าที่ให้คำปรึกษานั้นเป็นเสมือนอีกหนึ่งเส้นทางชีวิตของอาจารย์คิมเลยก็ว่าได้ 

อาจารย์คิมออกเดินทางเพื่อพูดคุยกับหนุ่มสาวหลายประเทศ เขียนหนังสือเพื่อมอบคำแนะนำให้กับวัยรุ่นจนได้ตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลก และ ณ ตอนนี้ จุดหมายปลายทางของเขาอยู่ที่ประเทศไทย เราจึงได้มีโอกาสพูดคุยกับเขาถึงเรื่องราวความเจ็บปวดในการก้าวข้ามวัย บนเส้นทางที่เขาได้สั่งสมประสบการณ์ผ่านการเป็นยอดนักให้คำปรึกษา ไม่แน่ว่าคำตอบในบทสัมภาษณ์นี้ อาจมีประโยชน์สำหรับคนที่กำลังอยู่ในช่วงก้าวข้ามวัยบ้างไม่มากก็น้อย

อาจารย์คิมเริ่มทำหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษามาตั้งแต่เมื่อไร และทำไมถึงมาสนใจเรื่องนี้

จริงๆ แล้วที่ผมเริ่มมาให้คำปรึกษากับเด็กๆ วัยรุ่นและเริ่มคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็เพราะว่าตัวผมเองก็เป็นพ่อคน ผมมีลูก 2 คน ตอนที่เขียนหนังสือเล่มนี้ลูกชายคนโตกำลังจะย่างเข้าวัย 20 ปี ซึ่งก็เป็นวัยรุ่น ผมก็เลยอยากให้คำปรึกษากับลูกเพื่อให้บรรยากาศในครอบครัวและการเติบโตของลูกชายเป็นไปในทางที่ดีครับ และอีกอย่างหนึ่งคือผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็เลยคุ้นชินกับวัยรุ่นที่มีอายุช่วง 20 ถึง 20 ปีต้นๆ ผมมองพวกเขาเป็นเหมือนลูกสาวลูกชาย ก็เลยอยากจะให้คำปรึกษากับเด็กๆ เหล่านี้เหมือนกับเป็นคนในครอบครัวกันจริงๆ

ปัญหาหรือความเจ็บปวดหลักๆ ของคนวัยนี้มักจะเป็นเรื่องอะไร 

ส่วนใหญ่ก็จะประมาณว่าตอนนี้อายุประมาณ 20 แล้ว แต่ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย อันนี้คือปัญหาหลักที่เจอบ่อย

อาจารย์เคยมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ไหม

เคยครับ ตอนที่ผมอายุ 25 ปี คุณพ่อของผมเสียชีวิต แล้วด้วยความที่ผมเป็นลูกชายคนโตของครอบครัว ก็เลยต้องคิดเรื่องดูแลครอบครัว ทั้งๆ ที่ตัวผมตอนนั้นก็กำลังเรียนปริญญาโทอยู่ แล้วก็เตรียมสอบเป็นข้าราชการอยู่ด้วย ก็เลยทำให้ค่อนข้างเครียดกับเรื่องเหล่านี้ แล้วหลังจากที่ผ่านเรื่องราวเหล่านั้น ผมก็ต้องไปเรียนที่ต่างประเทศด้วย แต่ว่าในบรรดาเพื่อนๆ ของผมก็จะมีบางคนที่เขาประสบความสำเร็จเร็วกว่า เขาสอบบรรจุเป็นข้าราชการได้ในช่วงวัยอายุ 20 กว่าๆ ก็เลยทำให้รู้สึกว่าเราไม่มีอะไรเลย เรายังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เรายังช้ากว่าเพื่อนคนอื่นๆ อยู่เลย 

อาจารย์คิมก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาเหล่านี้มาได้ยังไง

การเขียนหนังสือเล่มนี้คือสิ่งที่ช่วยเยียวยาความรู้สึกของผมครับ บางความรู้สึกในตอนนั้นมันยังติดอยู่ในใจ ตอนนั้นผมก้าวข้ามผ่านช่วงเวลานั้นด้วยการเปลี่ยนมุมมองที่ใช้มองเรื่องนี้ ก็เลยเอาสิ่งนี้ออกมาเขียนเป็นหนังสือ อย่างเรื่องที่ผมสูญเสียคุณพ่อไป ไม่ว่าจะคิดยังไงความจริงนี้ก็จะไม่มีทางเปลี่ยน แต่ถ้าตัวผมเอาแต่จมปลักอยู่กับความรู้สึกทุกข์ ผมจะไม่มีทางออกมาจากจุดนั้นได้ ผมเลยมองความทุกข์ให้เป็นพลัง มองว่าเราได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า 

แต่แน่นอนว่าเวลาที่เราเจอเรื่องยากลำบาก การที่จะเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเรื่องนั้นๆ มันเป็นเรื่องยากที่จะทำคนเดียว เพราะฉะนั้นการที่ทุกคนได้อ่านหนังสือเล่มนี้ มันเหมือนกับว่าผมได้มีส่วนช่วยในการพาทุกคนค่อยๆ ปรับมุมมองและก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นไปได้ ผมจึงพยายามเขียนโดยยกตัวอย่างให้มาก เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าในการก้าวข้ามสิ่งต่างๆ ในชีวิตมันจะเปรียบเทียบกับอะไรได้บ้าง แล้วก็ทำให้ทุกคนรู้สึกร่วมกันผ่านตัวอย่างนั้นๆ 

แล้วทำไมการที่เราจะก้าวผ่านวัยหนึ่งไปได้ถึงต้องเจ็บปวด เราสามารถเติบโตโดยที่ไม่ต้องเจ็บปวดได้ไหม

ช่วงวัยประมาณ 20 – 30 ปี เป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนผ่านระหว่างวัย พอเริ่มเติบโต บรรลุนิติภาวะ เริ่มทำงาน ทุกอย่างสามารถทำตามกฎหมายได้แล้ว แต่ถ้ามองในด้านของสังคมและด้านของการเงิน เป็นวัยที่เรายังไม่สามารถเป็นอิสระได้โดยสมบูรณ์ เป็นช่วงวัยที่หลายคนเพิ่งเรียนจบ ยังตั้งตัวไม่ได้ ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่ในขณะเดียวกันวัยนี้เป็นวัยที่เรากล้าฝัน และยังเป็นวัยที่ฝันไกล ก็เลยทำให้ระยะทางระหว่างความฝันกับชีวิตที่เราเป็นอยู่มันค่อนข้างห่างกันมาก แล้วความเจ็บปวดที่เรามักจะพูดถึง ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากระยะทางที่ห่างไกลนี้แหละครับ

และเนื่องจากความเจ็บปวดนั้นมันเกิดขึ้นจากระยะทางที่ไกลของสภาพปัจจุบันกับความฝัน มนุษย์เราจึงยากที่จะเติบโตได้โดยปราศจากความเจ็บปวด 

คำว่า Passion ในภาษาอังกฤษ มันเป็นคำที่มาจากภาษาละติน คือคำว่า ‘Passio’ ที่แปลว่า ความเจ็บปวด นั่นหมายความว่าการมีแพสชันในการทำบางสิ่ง มักจะต้องมาพร้อมกับความเจ็บปวด เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราพยายามจะก้าวข้ามปัญหาหรือความเจ็บปวดที่เกิดขึ้น นั่นแหละคือการที่เราเริ่มมีแพสชันในชีวิต

อาจารย์บอกว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่กล้าฝัน แต่ทำไมพอเริ่มเติบโตขึ้นความกล้านี้ถึงค่อยๆ หายไป

อาจจะดูเหมือนว่าความกล้านั้นค่อยๆ หายไปตามอายุ แต่จริงๆ แล้วความฝันของเรามันยังไม่ได้หายไปไหนหรอกครับ มันแค่เปลี่ยนแปลงไปในขณะที่เราเติบโตขึ้น เป็นเรื่องปกติที่พอเราเริ่มมีประสบการณ์และได้พบเจอเรื่องราวมากมายในชีวิต ประสบการณ์เหล่านั้นมักจะมากระทบกับสิ่งที่เราเคยฝันไว้ให้มันค่อยๆ เปลี่ยนรูปร่างไป สิ่งสำคัญคือเราจะต้องทำยังไงถึงจะอัปเกรดความฝันที่ตั้งเอาไว้ให้มันดีมากยิ่งขึ้น 

ชีวิตคนเราก็เหมือนกับโทรศัพท์มือถือ สมมุติว่าเราซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่มาเพราะเทคโนโลยีมันพัฒนามากขึ้น แต่สุดท้ายแล้วพอเริ่มใช้งานไปนานๆ มันก็อาจจะมีการใช้งานบางอย่างที่เริ่มไม่สอดคล้องกับฟังก์ชันที่โทรศัพท์มีอยู่ เราก็ต้องคอยอัปเดตระบบ อัปเกรดตัวเองอยู่เสมอ ก็เหมือนกับตัวเราที่จะต้องคอยพัฒนาสิ่งที่เรามี พัฒนาตัวตนของเราไปเรื่อยๆ เมื่อเราเติบโต

แต่ในทุกวันนี้เรามักจะได้ยินประโยคที่ว่า ‘ยังไม่พร้อมที่จะเติบโต’ อะไรที่ทำให้วัยรุ่นส่วนใหญ่คิดแบบนี้

จริงๆ แล้วความคิดที่ว่าเรายังไม่พร้อมที่จะเติบโต มันจะไม่ได้อยู่กับเราแค่ในช่วงวัยรุ่น แต่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม เราจะรู้สึกแบบนี้อยู่เสมอ เพราะการเริ่มต้นใหม่เป็นเรื่องที่ยาก จึงไม่แปลกเลยครับที่จะรู้สึกแบบนั้น

“Done is better than perfect.” ประโยคนี้สำคัญมาก แทนที่เราจะเอาแต่คิดว่าต้องรอเวลาเพื่อที่จะให้มันออกมาสมบูรณ์แบบ ต้องรอให้ตัวเราพร้อมก่อน เราควรจะเอาเวลาไปเริ่มทำให้เสร็จก่อนดีกว่า อย่าเพิ่งคิดว่าเรายังไม่พร้อมที่จะเติบโต ลองคิดว่าเราจะลองทำอะไรที่มันเป็นก้าวเล็กๆ ได้ก่อนบ้าง แล้วค่อยพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ จะดีกว่า

ในฐานะที่เราต่างเป็นสภาพแวดล้อมของใครสักคน ถ้ามีคนที่กำลังก้าวผ่านวัย เราควรปฏิบัติตัวยังไงบ้าง

มีสุภาษิตจีนที่บอกว่า ‘สิ่งที่มากเกินไปนั้นแย่ยิ่งกว่าการมีไม่พอเสียอีก’ เช่น การปลูกดอกไม้ ถ้าเราให้ความสนใจกับมันมาก อยากให้ดอกไม้ดอกนี้โตเร็วๆ ก็เลยเอามือไปดึงให้ลำต้นมันงอกสูงขึ้น ซึ่งเป็นการทำร้ายดอกไม้ สังคมมักคาดหวังให้คนอายุ 20 – 30 ปี จะต้องเริ่มประสบความสำเร็จ ต้องมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่อย่าลืมว่าทุกคนมีฤดูกาลผลิบานเป็นของตัวเอง ถ้าสภาพแวดล้อมเอาแต่เร่งให้ดอกไม้เติบโต ท้ายที่สุดดอกไม้นั้นก็จะตายลง ถ้าลองสังเกตดู สิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตเรามักจะเป็นสิ่งที่สะท้อนมาจากสภาพแวดล้อมรอบตัวเราเสมอ ในฐานะคนที่เป็นสภาพแวดล้อมจึงควรมอบความใส่ใจนั้นแค่เพียงพอดี

ที่ประเทศจีนมีไม้ไผ่ชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Hairy Bamboo มันเป็นไม้ไผ่ที่สูงที่สุดในโลก ถ้าหากโตเต็มที่จะมีความสูงถึง 25 เมตร ไม้ไผ่ประเภทนี้จะมีลักษณะพิเศษ คือในช่วงระยะเวลา 4 ปีแรกที่ปลูก มันจะเติบโตเพียงไม่กี่เซนติเมตร แทบจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเลย แต่เมื่อเข้าสู่ปีที่ 5 ไม้ไผ่ชนิดนี้จะเติบโตอย่างรวดเร็วจนน่าตกใจ 

ถ้าย้อนไปมองในช่วงระยะเวลา 4 ปีแรกที่เพิ่งเริ่มปลูก เราจะรู้สึกว่ามันเป็นไม้ไผ่ที่ไม่มีความหวังเลยเพราะมันไม่โตสักที แต่จริงๆ แล้วในระยะเวลา 4 ปี ไม้ไผ่ชนิดนี้กำลังหยั่งรากลึกให้มั่นคงเพื่อที่จะได้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ก็เหมือนกับชีวิตคนเรา การที่เราจะประสบความสำเร็จในช่วงวัย 20 ต้นๆ นั้นยากมาก เพราะฉะนั้นคนรอบข้างควรจะเข้าใจก่อนว่ามนุษย์แต่ละคนนั้นมีช่วงเวลาในการเติบโตที่ต่างกันไป การก้าวผ่านวัยต้องอาศัยความเชื่อใจกันและกัน ถ้าเราเชื่อมั่นว่าสักวันหนึ่งจะถึงเวลาที่เขาเติบโตอย่างงดงาม เชื่อมั่นในสังคมที่เราอยู่ เชื่อมั่นในครอบครัวที่เรามี มันจะส่งพลังให้คนที่กำลังข้ามผ่านวัยสัมผัสได้ และจะช่วยให้เขาไม่กดดันตัวเองมากจนเกินไป

ส่วนใครที่กำลังก้าวผ่านวัย แทนที่จะเอาแต่คิดเรื่องการประสบความสำเร็จ ลองเปลี่ยนมาคิดเรื่องการวางรากฐานชีวิตและเตรียมตัวในเรื่องต่างๆ ดีกว่า แล้วพอถึงเวลาที่เราจะเติบโต เราจะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะเราเตรียมพร้อมมาหมดแล้ว และในระหว่างที่เรากำลังเตรียมตัวเพื่อที่จะเติบโต ถ้ามีคนรอบตัวหรือใครก็ตามมาชี้นิ้วบอกว่าเธอมันไม่ได้เรื่องเลย ยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน อย่าเพิ่งคิดแบบนั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องเริ่มทำอะไรบางอย่างเพื่อเป็นก้าวเล็กๆ ของการเติบโต อย่าหยุดอยู่กับที่

ถ้าต้องให้คำแนะนำแก่ผู้คนที่กำลังก้าวผ่านวัย อาจารย์คิมอยากให้คำแนะนำยังไงบ้าง

ผมอยากฝากคำแนะนำเอาไว้ 3 ข้อ สำหรับใครที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างวัย อย่างแรกคืออยากให้เชื่อมั่นในตัวเองให้มาก เชื่อมั่นว่าวันหนึ่งเราจะไปถึงจุดที่เราวาดเอาไว้ให้ได้ อย่างที่สองคือ เพื่อที่จะให้ความฝันที่เราวาดเอาไว้นั้นสำเร็จ อย่าละทิ้งความพยายาม ความตั้งใจ และการเตรียมพร้อม และสิ่งสุดท้ายคือ ในขั้นตอนการเตรียมพร้อมเพื่อที่จะทำสิ่งที่อยากทำให้สำเร็จ การที่เรามีมุมมองที่ดีต่อตัวเองก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากเหมือนกัน อย่าลืมหันกลับมามองตัวเองว่าในช่วงที่เรากำลังเติบโต สิ่งที่เราทำอยู่นั้นมันจะพัฒนาไปทางไหนได้บ้าง ต้องคอยพัฒนาตัวเองเรื่อยๆ

และสำหรับคนที่เป็นสภาพแวดล้อมหรือคนรอบตัวของคนที่กำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างวัย ความเชื่อมั่นคือสิ่งสำคัญที่สุด ต้องมีความเชื่อในตัวเขาว่าสักวันหนึ่งเขาจะสามารถเติบโตได้อย่างงดงาม แม้ในวันนี้อาจจะเติบโตช้า แต่คนรอบตัวควรให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนเขาให้มากเท่าที่จะทำได้ ความเชื่อมั่นนั้นจะกลายเป็นกำลังใจที่สำคัญและเป็นแรงผลักดันให้เขาค่อยๆ ก้าวไปข้างหน้าในที่สุด


Writer

Avatar photo

ณัฐนรี บัวขม

มีชีวิตอยู่เพื่อดูคลิปตลก คีบตุ๊กตา และเดินหาร้านอร่อยในย่านบรรทัดทอง

Photographer

Avatar photo

ฉัตรมงคล รักราช

ช่างภาพ และนักหัดเขียน

Illustrator

Avatar photo

พรภวิษย์ เพ็งเอียด

ชอบกินเนื้อต้มและตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือให้ได้ปีละสามเล่ม

Related Posts