“คุณไม่มีสิทธิ์อ่านบทความนี้”
“คุณไม่ผ่านการสัมภาษณ์งาน”
“คุณไม่สามารถสั่งซื้อสินค้าในโปรโมชันนี้ได้”
“คุณไม่ถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล”
คุณเห็นอะไรในประโยคเหล่านี้?
เห็นการถูกปฏิเสธ
เห็นความผิดหวัง
เห็นความเสียใจ
หรือเห็นคำว่า ‘ไม่’ ที่แฝงอยู่ในทุกประโยค
สิ่งที่น่าประหลาดใจคือ คำว่า ‘ไม่’ นั้นเป็นคำสั้นๆ ที่มีความหมายทรงพลังมาก
เมื่อใดก็ตามที่คำว่า ‘ไม่’ เข้าไปอยู่ในประโยคใดประโยคหนึ่ง มันสามารถเปลี่ยนความหมายของประโยคนั้นให้กลายเป็นพลังยิ่งใหญ่พอที่จะส่งผลต่อความรู้สึกของเราได้ และยังมีอำนาจมากพอที่จะหยิบยื่นความพ่ายแพ้มาให้เรา จนทำให้เกิดความรู้สึกเศร้า เสียใจ หงุดหงิด และเกิดสารพัดอารมณ์ลบตามมาในภายหลัง และแน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากเผชิญกับความรู้สึกเหล่านี้
‘การถูกปฏิเสธ’ คือหนึ่งในสิ่งที่มนุษย์กลัวเป็นอันดับต้นๆ
เรามักจะรู้สึกสูญเสียตัวตน ความมั่นใจ หรือรู้สึกกระวนกระวายเมื่อถูกปฏิเสธ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราโหยหาการยอมรับจากผู้อื่น หวาดกลัวการถูกกีดกัน หวั่นเกรงกับพลังอำนาจที่เหนือกว่า และทุกอย่างที่ว่ามา ล้วนเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกับ ‘คำปฏิเสธ’
นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนเราถึงกลัวที่จะได้รับคำปฏิเสธกลับมา บางคนวิตกกังวัลถึงขนาดที่ว่าสามารถตีความอารมณ์หรือความคิดของอีกฝ่ายเป็นเชิงลบและคิดย้อนกลับมาโทษตัวเองได้
เจสัน คัมลี นักธุรกิจชาวแคนาดามองเห็นปัญหาในจุดนี้ เขาจึงเริ่มคิดค้นเกมขึ้นมา และตั้งชื่อมันว่า ‘Rejection Therapy’
‘Rejection Therapy’ เป็นเกมในชีวิตจริงที่มีกติกาสั้นๆ ง่ายๆ นั่นคือ ‘ทำอย่างไรก็ได้ให้ถูกปฏิเสธ’ และมีข้อแม้เล็กๆ น้อยๆ ว่าการปฏิเสธนั้นจะต้องเกิดขึ้นนอกพื้นที่ปลอดภัยของตัวเราเอง โดยจะมีคำแนะนำจากการ์ดมาเป็นตัวช่วย หากผู้เล่นต้องการความช่วยเหลือ
เจสันใช้หลักจิตวิทยาเข้ามาช่วยบำบัดความกังวลของผู้คนผ่านรูปแบบของการเล่นเกม สร้างภารกิจหลักขึ้นมาเพื่อความท้าทาย สนับสนุนให้ทุกคนลองก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง และสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลทางออนไลน์ เว็บไซต์นั้นมีชื่อว่า www.rejectiontherapy.com
เจีย เจียง นักธุรกิจและนักเขียนชาวจีน พบเว็บไซต์นี้โดยบังเอิญหลังจากที่เขาพยายามหาทางก้าวข้ามความกลัวที่จะถูกปฏิเสธ และหลังจากที่ได้อ่านรายละเอียดของ Rejection Therapy เจีย เจียง ตั้งเป้าหมายไว้ว่าชีวิต 100 วันหลังจากนี้ เขาจะลองเปิดใจเดินเข้าหาการถูกปฏิเสธ
“วันแรกผมขอยืมเงิน 100 ดอลลาร์ฯ จากคนแปลกหน้า ผมลงบันไดมาเจอชายคนหนึ่งนั่งอยู่ที่โต๊ะ แล้วก็ตัดสินใจเข้าไปหาเขาเลย แต่ตอนเดินเข้าไปมันเป็นย่างก้าวที่ยาวนานที่สุดในชีวิต ผมขนหัวลุก เหงื่อออก ใจเต้นแรงแทบจะระเบิด แล้วก็ถามเขาไปว่า ‘คุณครับ ผมขอยืมเงินสัก 100 ดอลลาร์ได้ไหมครับ?’ เขาเงยหน้าขึ้นมาแล้วตอบว่า ‘ไม่ล่ะ ทำไม?’ แล้วผมก็ตอบไปว่า ‘ไม่มีอะไรครับ ขอโทษครับ’ แล้วหันหลังวิ่งหนีอย่างไว ผมอายมาก”
“ตอนนั้นผมถ่ายคลิปเอาไว้ด้วย คืนนั้นผมเลยนั่งย้อนดูคลิปแล้วก็ได้เห็นว่าตัวเองกลัวมากแค่ไหน อย่างกับเด็กในเรื่อง The Sixth Sense ตอนเห็นคนตาย” เจีย เจียง เล่าอย่างติดตลก
“จริงๆ แล้วชายคนนั้นไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น เขาเป็นหนุ่มหุ่นหมี ดูน่ารัก และเขาก็ถามผมแค่ ‘ทำไม?’ ซึ่งที่จริงมันเป็นการให้โอกาสผมได้อธิบายเหตุผลเสียด้วยซ้ำ และที่จริงผมพูดอะไรได้หลายอย่างเลย ผมสามารถอธิบายได้ ต่อรองได้ แต่สุดท้ายผมก็ไม่ได้ทำสักอย่าง วิ่งลูกเดียว”
และนั่นคือสิ่งแรกที่ เจีย เจียง ได้เรียนรู้ เขาเรียนรู้ว่าคำตอบที่เป็นประโยคปฏิเสธในครั้งนี้ ยังคงมีช่องว่างให้เขาได้อธิบายเหตุผลของตัวเอง ซึ่งทำให้เห็นว่าอีกฝ่ายก็พร้อมที่จะรับฟังเหตุผลของเขา และนั่นก็นับเป็นหนึ่งโอกาสที่เขาปล่อยให้มันหลุดมือไป
“วันที่สองผมไปร้านเบอร์เกอร์ พอกินเสร็จก็เดินไปที่เคาน์เตอร์คิดเงิน แล้วบอกพนักงานว่า ‘ขอเติมเบอร์เกอร์ได้ไหมครับ?’ พนักงานงง ถามผมกลับมาว่า ‘เติมเบอร์เกอร์คือยังไงนะครับ’ ผมตอบไปว่า ‘ก็เหมือนเติมน้ำน่ะครับ แค่เปลี่ยนเป็นเบอร์เกอร์’ เขาขอโทษผมแล้วบอกว่าที่ร้านยังไม่มีเบอร์เกอร์แบบรีฟิล”
“พอถูกปฏิเสธแบบนี้ จริงๆ ผมจะวิ่งหนีเลยก็ได้ แต่ผมเลือกคุยต่อ ผมบอกเขาไปว่า ‘ผมรักเบอร์เกอร์ร้านนี้มาก และถ้าพวกคุณทำเบอร์เกอร์แบบรีฟิลได้ ผมจะยิ่งรักพวกคุณมากขึ้นไปอีก’ พนักงานคนนั้นตอบผมว่าเขาจะไปบอกผู้จัดการร้านให้ และอาจจะมีแบบรีฟิลในอนาคต แต่ต้องขอโทษด้วยที่วันนี้ยังทำแบบรีฟิลให้ไม่ได้”
พอลองเปลี่ยนจากการ ‘วิ่งหนี’ เป็นการ ‘เผชิญหน้า’ เจีย เจียง ก็ได้พบว่าความรู้สึกกลัวแทบเป็นแทบตายในวันแรกนั้นกลับหายไปอย่างปลิดทิ้ง เขาจึงทดลองต่อในวันที่สามโดยการไปที่ร้านโดนัท เพื่อขอโดนัทแบบสัญลักษณ์งานโอลิมปิก ซึ่งเป็นโดนัทที่เชื่อมกันเหมือนห่วงห้าสี
“ผมคิดเอาไว้ว่ายังไงก็ไม่มีทางได้ยินคำว่า ‘ได้สิ’ กลับมาหรอก แต่คนทำโดนัทดันเอาด้วย เขาหยิบกระดาษมาจดรายละเอียดสี รายละเอียดห่วง แล้วพึมพำประมาณว่าจะทำยังไงดีนะ พอผ่านไปสิบห้านาที เขาก็ออกมาพร้อมกล่องโดนัทหน้าตาเหมือนห่วงโอลิมปิก ผมประทับใจสุดๆ ไม่อยากจะเชื่อ”
“ถ้าผมถูกปฏิเสธแต่ไม่วิ่งหนี ผมอาจจะยังเปลี่ยนคำว่า ‘ไม่’ ให้เป็น ‘ใช่’ ได้”
“อีกหนึ่งคำที่มหัศจรรย์คือคำว่า ‘ทำไม’ วันหนึ่งผมไปที่บ้านคนแปลกหน้า ผมมีดอกไม้อยู่ในมือ แล้วผมก็เคาะประตูถามเขาว่า ‘ขอปลูกดอกไม้ดอกนี้ในสวนหลังบ้านคุณได้ไหมครับ’ เป็นไปตามคาด เจ้าของบ้านตอบว่า ‘ไม่’ ผมเลยถามกลับไปว่า ‘ทำไมปลูกถึงไม่ได้เหรอครับ’ เขาอธิบายว่าเขาเลี้ยงหมาอยู่ตัวหนึ่ง และเจ้าหมาตัวนี้ชอบขุดทุกอย่างที่ปลูกไว้ในสวน เขาไม่อยากให้ดอกไม้ของผมต้องตายอย่างสูญเปล่า หลังจากนั้นเขาก็บอกให้ผมลองเดินข้ามถนนไปคุยกับคอนนี่ที่อยู่ฝั่งตรงข้าม เพราะเธอชอบดอกไม้”
“ผมเลยเดินข้ามถนนไป เคาะประตูบ้านคอนนี่ เธอดูดีใจมากที่ได้เจอผม ผ่านไปประมาณชั่วโมงครึ่ง ดอกไม้ดอกนั้นก็ได้ไปอยู่ในสวนของคอนนี่”
“ถ้าผมเดินออกมาตั้งแต่ตอนที่ถูกปฏิเสธ ผมคงคิดว่ามันเป็นเพราะชายคนนั้นไม่เชื่อใจผม ผมดูบ้าบอ ผมแต่งตัวไม่ค่อยดี แต่ไม่ใช่เลย เป็นเพราะสิ่งที่ผมขอไปมันไม่ตรงกับความต้องการของชายคนนั้นก็เท่านั้นเอง และเขาก็เชื่อใจผมพอที่จะแนะนำบ้านหลังอื่นให้ด้วย”
“ผมพบว่าคนที่เปลี่ยนโลกจริงๆ คนที่เปลี่ยนการใช้ชีวิตของเรา เปลี่ยนวิธีคิดของเรา คือคนที่เราเพิ่งเคยเจอเป็นครั้งแรกและปฏิเสธเรา คนอย่างมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ มหาตมะ คานธี เนลสัน แมนเดลา หรือแม้กระทั่งพระเยซู ไม่ยอมปล่อยให้คำปฏิเสธมากำหนดขอบเขตตัวเอง แต่พวกเขาให้การกระทำของตัวเองหลังจากที่ถูกปฏิเสธเป็นตัวกำหนด และพวกเขาโอบกอดคำปฏิเสธเหล่านั้นเอาไว้”
“เราไม่ต้องเป็นแบบท่านทั้งหลายนี้เพื่อที่จะได้เรียนรู้เรื่องการถูกปฏิเสธเลย อย่างสำหรับตัวผม คำปฏิเสธเป็นเหมือนคำสาป เป็นเหมือนผีในจินตนาการที่ตามหลอกตามหลอน มันตามรังควาญผมมาทั้งชีวิตเพราะว่าผมวิ่งหนีมัน ผมจึงเริ่มโอบกอดมัน เปลี่ยนคำปฏิเสธให้เป็นของขวัญชิ้นใหญ่ที่สุดในชีวิต เริ่มสอนคนอื่นๆ ว่าทำอย่างไรถึงจะพลิกคำว่า ‘ไม่’ ให้กลายเป็นโอกาสได้”
“เมื่อคุณเผชิญหน้าอุปสรรคชิ้นถัดไป หรือความล้มเหลวครั้งถัดไป ถ้าโดนปฏิเสธ ลองนึกถึงความเป็นไปได้ดูครับ อย่าวิ่งหนี ถ้าคุณลองโอบกอดมัน มันจะกลายเป็นของขวัญของคุณเหมือนกัน” เจีย เจียง กล่าวปิดท้าย
และนี่คือสิ่งที่ เจีย เจียง ได้เรียนรู้จากการเล่นเกมนี้ เขานำประสบการณ์เหล่านี้มาเล่าในตอนหนึ่งของ Ted Talk’s ที่มีชื่อว่า ‘What I learned from 100 days of rejection | Jia Jiang’ และคลิปนี้ก็สร้างปรากฏการณ์ไวรัลบนแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอย่าง TikTok ผู้คนมากมายเริ่มออกมาลองทำชาเลนจ์ #RejectionTherapy และหลายคนบอกว่าหลังจากทำชาเลนจ์นี้ พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าหาคำปฏิเสธต่างๆ ในชีวิต
ชาเลนจ์นี้ยังเปลี่ยนมุมมองของผู้เข้าร่วมที่มีต่อคำว่า ‘ไม่’ ไปอย่างสิ้นเชิง ความรู้สึกกังวล เสียใจ และหวาดกลัว ค่อยๆ เริ่มลดลง สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาคือความกล้าที่จะมองหาโอกาสในการพูดคุย ความเข้าอกเข้าใจ และผู้เข้าร่วมยังได้เรียนรู้วิธีการเจรจาภายใต้แรงกดดันอีกด้วย
นับว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าลองนำไปปรับใช้ และไม่แน่ว่าการบำบัดในรูปแบบนี้ อาจจะช่วยเปลี่ยนความคิดและความกลัวเดิมๆ ที่เคยมี ให้กลายเป็นความสนุกและตื่นเต้นที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ก็เป็นได้
อ้างอิง
https://youtu.be/-vZXgApsPCQhttps://www.rejectiontherapy.com/