“เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญนั้น ไม่อาจเห็นได้ด้วยตา”
ประโยคจากวรรณกรรมฝรั่งเศสสุดคลาสสิก ‘เจ้าชายน้อย’ (Le Petit Prince) ที่ถึงแม้จะไม่ได้เป็นคอวรรณกรรมก็น่าจะเคยเห็นวรรณกรรมเล่มนี้ผ่านตากันมาอย่างแน่นอน เจ้าชายน้อยเป็นวรรณกรรมที่ได้รับการแปลมาที่สุดในโลก แปลมาแล้วมากกว่า 500 ภาษา มีการนำมาดัดแปลงจากวรรณกรรมสู่สื่ออื่นๆ หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นฉบับมังงะ นิทาน ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น ละครเวที นี่คือ 1 ในวรรณกรรม 50 เล่ม ที่ต้องได้อ่านก่อนโต แนะนำโดยสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
‘เจ้าชายน้อย’ เขียนโดยนักเขียนชาวฝรั่งเศส อองตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อค.ศ. 1943 บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ ความรัก มิตรภาพ เรื่องของมนุษย์ ความเป็นเด็กที่เปี่ยมด้วยจินตนาการและคำถามผู้ใหญ่ที่แสนแปลกประหลาด แฝงข้อคิด ปรัชญา สัญญะ ชวนตั้งคำถาม หาคำตอบ และโบยบินในโลกของจินตนาการ วรรณกรรมเล่มนี้มีความละเอียดอ่อน ตราตรึงใจ และเหมือนมีมนตรา เมื่ออ่านในช่วงวัยที่ต่างกัน ความรู้สึกและมุมมองก็จะต่างไปเช่นกัน
เจ้าชายน้อยภาษาถิ่น : เชื่อมโลกกว้างด้วยวรรณกรรม
ปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา เจ้าชายน้อยได้ออกผจญภัยไปตามดวงดาวต่างๆ ครบรอบ 80 ปี ในวาระนี้จึงมีการเฉลิมฉลองเจ้าชายน้อยหลากหลายรูปแบบ สำหรับประเทศไทยมีทั้งการตีพิมพ์ ’เจ้าชายน้อย ฉบับฉลอง 80 ปี เจ้าชายน้อย x APOLAR‘ มีการจัดนิทรรศการหนังสือเจ้าชายน้อย กิจกรรมเสวนาต่างๆ และโครงการ ‘นิทรรศการ 80 ปี เจ้าชายน้อยสัญจร’ ที่เดินทางไปทั้งจังหวัดเชียงใหม่และปัตตานี ซึ่งจัดโดยโครงการเจ้าชายน้อยภาษาถิ่นในประเทศไทย
โครงการเจ้าชายน้อยภาษาถิ่นในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2559 โดยมีคุณสุพจน์ โล่ห์คุณสมบัติ เป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ และได้รับการสนับสนุนจาก มูลนิธิฌอง-มาร์ก พร็อบสต์ เพื่อเจ้าชายน้อย (Fondation Jean-Marc Probst pour le Petit Prince) โครงการเจ้าชายน้อยภาษาถิ่นในประเทศไทย ปัจจุบันมีการแปลภาษาถิ่นมาแล้ว 4 ภาษา คือ ล้านนา ปกาเกอะญอ มลายูอักษรยาวี และเขมรถิ่นไทย(เขมรสุรินทร์) พร้อมกับกำลังดำเนินการภาษาอื่นๆ ตามมา ทั้งยังมีการแจกจ่ายเจ้าชายน้อยฉบับภาษาถิ่นให้ห้องสมุด สถานศึกษาต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างพื้นที่ในการเข้าถึงภาษาต่างๆ ที่แตกต่างหลากลาย เปิดโลกกว้าง และเชื่อมโยงโลกผ่านวรรณกรรม ด้วยการเล็งเห็นความสำคัญนี้ จึงเกิดนิทาน ‘เจ้าชายน้อยกับเพื่อนใหม่ในล้านนา’ มาบอกเล่าอีกหนึ่งเรื่องราวการเดินทางของเจ้าชายน้อยกับเพื่อนใหม่ของเขา
‘เจ้าชายน้อยกับเพื่อนใหม่ในล้านนา’ รังสรรค์คำโดย ระพีพรรณ พัฒนาเวช สร้างสรรค์เรื่องและภาพโดย ครูปรีดา ปัญญาจันทร์ คุณครู นักเขียน นักวาดภาพประกอบ และนักเล่านิทาน เจ้าของผลงาน ‘เม่นหลบฝน’ ‘ของเล่นจากไม้’ ‘คุณกลมๆ เล็กๆ ’ ครูปรีดามีผลงานนิทานมาแล้วเกือบ 300 เล่ม การสร้างสรรค์ผลงานของครูปรีดามีความหลากหลาย แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของลายเส้นภาพที่สบายตา อบอุ่น การเลือกสรรถ้อยคำง่ายๆ เพื่อให้เด็กสามารถอ่านและเข้าใจได้ เชื่อว่าคุณพ่อ คุณแม่ ต้องเคยหยิบนิทานของครูปรีดาขึ้นมาอ่านให้เด็กๆ ฟังกันอย่างแน่นอน
สำหรับ ‘เจ้าชายน้อยกับเพื่อนใหม่ในล้านนา’ เล่มนี้ เป็นเรื่องราวของเจ้าชายน้อยที่เดินทางมาไกลแสนไกล ได้มาพบเพื่อนใหม่ที่ล้านนา เจ้าชายน้อยได้ทำความรู้จักกับดินแดนแห่งนี้ ได้เห็นเสน่ห์ของล้านนาผ่านการเล่นกับเด็กๆ ที่นี่ เรื่องราวดำเนินไปโดยเราจะได้เห็นมิตรภาพที่เกิดขึ้นจากต่างถิ่น มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม แลกเปลี่ยนเรื่องราวซึ่งกันและกัน เจ้าชายน้อยมีแกะน้อยในกล่อง เด็กๆ ที่นี่มีช้างเป็นเพื่อนตัวใหญ่ เจ้าชายน้อยคิดถึงดอกกุหลาบแสนสวย ที่นี่ก็มีดอกบัวตองบานอยู่เต็มทุ่ง เจ้าชายน้อยและเด็กๆ ที่นี่มีความแตกต่างกันทั้งรูปลักษณ์ ทั้งถิ่นที่มา แต่ความแตกต่างที่ว่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเพื่อนกันไม่ได้
เด็กๆ ที่สัมผัสหนังสือเล่มนี้จะได้รับความสุข เบิกบานใจ ความรู้สึกเหมือนได้เป็นเจ้าชายน้อยที่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวล้านนา เห็นบรรยากาศใหม่ๆ ความอบอุ่นจากการต้อนรับของเด็กๆ ที่ล้านนา และนิทานเล่มนี้น่าจะทำให้ผู้อ่านที่ไม่รู้จักเจ้าชายน้อยมาก่อน ได้รู้จักเจ้าชายน้อย และอยากจะรู้จักเจ้าชายน้อยผู้มาจากดวงดาวแสนไกลมากขึ้น
การเดินทางที่ครองใจผู้อ่านทุกยุคทุกสมัยมาเป็นเวลากว่า 80 ปีของ ‘เจ้าชายน้อย’ ทำให้เห็นว่า พลังของวรรณกรรมนั้นแสนยิ่งใหญ่ จากฝรั่งเศสสู่ประเทศไทย ข้ามกำแพงภาษา ไม่มีข้อจำกัดของการนำมาดัดแปลงหรือเล่าใหม่ สามารถต่อยอดกิจกรรม องค์ความรู้ได้อย่างหลากหลาย เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดพิพิธภัณฑ์ คาเฟ่ สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ สิ่งใหม่ๆ มากมาย เปิดโลกจินตนาการที่ทำให้รู้สึกสนุก เพลิดเพลินอย่างไม่มีสิ้นสุด
‘เจ้าชายน้อยกับเพื่อนใหม่ในล้านนา’ ยังได้รับรางวัลหนังสือดีเด่น ประเภทหนังสือสำหรับเด็กเล็ก อายุ 3-5 ปี ประจำปี พ.ศ. 2567 โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อีกด้วย คุณพ่อ คุณแม่ และผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลด ‘เจ้าชายน้อยกับเพื่อนใหม่ในล้านนา’ ฟรี ผ่านทาง https://www.happyreading.in.th/bookreview/detail.php?id=635 และเร็วๆ นี้เตรียมพบกับ ‘เจ้าชายน้อยพบเพื่อนใหม่ชายแดนใต้’ ล่องใต้ไปกับเจ้าชายน้อย อีกการเดินทางที่น่าสนุกไม่แพ้กัน สามารถติดตามได้ที่ https://www.happyreading.in.th/ รวมถึงอ่านนิทานออนไลน์เล่มอื่นๆ ได้ฟรีจากแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.