สราวุฒิ อยู่วิทยา “เด็กจบใหม่ทำงานไม่ได้”​ เอกชนจึงต้องเป็น Play Maker การศึกษา “เพราะถ้าไม่ทำ เราก็ตาย”

  • ทำไมเรียนจบนานแล้ว แต่ไม่มีงานทำ
  • เมื่อมหาวิทยาลัยไม่ตอบโจทย์ ในฐานะเอกชน สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจทีซีพี (TCP) หรือกระทิงแดง บอกว่า เอกชนต้องเป็น Play Maker ในสนามการศึกษา โดยไม่ต้องเถียงเรื่องปัญหา เพราะคุยเท่าไหร่ก็ไม่รู้จบ แต่ควรบอกว่า ต่อไปเราควรทำอะไร
  • เพราะสำหรับสราวุฒิ นี่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำเราก็ตาย

“ถ้าเอาทรัพยากรประเทศ เอาภาษีลงไป แล้วคุณสร้างเด็กออกมาตกงาน มันไม่ตรงเป้าไง” 

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจทีซีพี (TCP) หรือกระทิงแดง เล่าถึงสถานการณ์ความไม่สอดคล้องระหว่าง ‘งานและคน’ ที่เกิดขึ้นจริง 

ประกาศรับสมัครของเอกชนมากมาย มากพอๆ กับคนที่ยังหางานทำไม่ได้ 

“เด็กตกงานขนาดไหน ตอนนี้ไม่มีใครกล้าเปิดเผย คือถ้าคุณกล้าเปิดเผย คุณก็จะเห็นชัด พ่อแม่ที่จะให้เด็กเข้ามหา’ลัยก็จะเห็นเลยว่า มหา’ลัย A คณะ B ตกงานรอบที่แล้วกี่เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้มันตรงไปตรงมานะ ตัววัดตรงนี้มันจะเป็นตัวบีบให้มหาวิทยาลัยรู้ว่าคุณต้องเปลี่ยนแล้ว” 

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงและเกิดขึ้นนานแล้วคือ การ mismatch ความรู้และทักษะของคนจบการศึกษา แม้มาจากคณะหรือสายที่ตรง กลับไม่ตรงกับงานที่ต้องการในโลกปัจจุบัน 

รวมถึงความเข้าใจว่า 1-2 ปีแรก ไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้งานแต่คือต้องทำจริงและทำได้เลย

“ประเทศที่พัฒนาแล้ว จบมาเขาทำงานได้เลย จะไม่มีความคิดว่าเรียนจบมาปีสองปีแรกต้องมานั่งเรียนรู้ใหม่ มันแปลว่าต้องมีอะไรสักอย่างที่ผิดปกติ สำหรับองค์กรมันคือการเสียทรัพยากร เสียความรวดเร็ว แล้วหลายองค์กรจะรู้สึกว่า ไม่อยากรับเด็กจบใหม่ เพราะเด็กจบใหม่ทำงานไม่ได้ ซึ่งอันนี้มันเห็นได้ชัดว่าเกิดที่การศึกษา แต่เราไม่ได้ว่าบอกใครผิด” 

ทั้งในฐานะภาคเอกชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ทั้งในฐานะพ่อที่ผ่านร้อนผ่านหนาวการศึกษามาก่อน จึงเข้ามาเป็น Play Maker ในสนามการศึกษา 

ถามว่ามันเป็นการลงทุนที่หวังผลกำไรด้วยหรือเปล่า?

“มันต้องทำ ไม่ทำก็ไม่รอด ไม่ได้บอกว่าทำแล้วกำไรมันจะมากขึ้นนะ มันอาจจะเป็นเรื่องของกำไรในอนาคตแต่สุดท้ายมัน turn มาเป็นภารกิจที่ต้องทำ ถ้าไม่ทำแล้วจะให้ใครทำ 

ถ้าถามว่าทำเพื่อกำไรไหม ผมว่าไม่ใช่ แต่ถ้าไม่ทำเราก็ตาย ก็เท่านั้นเอง” 

เราสังเกตเห็นภาคธุรกิจตอนนี้ตื่นตัวเรื่องการศึกษา การเรียนรู้ของสังคม เป็นเพราะอะไร 

การทำธุรกิจทุกวันนี้ มีความยุ่งยากซับซ้อนกว่าในอดีตเยอะมาก เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ยิ่งเราเจอโควิดในสองปีนี้ รู้เลยว่าทุกอย่างในโลกมันกลับตาลปัตร มันต้องอาศัยความสามารถของคนจริงๆ เข้ามาช่วย เทคโนโลยีมันก็ช่วยแหละ แต่คนที่เอาเทคโนโลยีมาใช้มันจะช่วยให้บริษัทจะรอดหรือไม่รอด ตั้งแต่โควิดก็มีปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ ส่งของ ซื้อของ วัตถุดิบแพงขึ้นหมดทุกอย่าง มีสงครามอีก พลังงานก็แพง โลกร้อน ทุกอย่างมันเป็นความผันผวน 

มันเป็นเรื่องที่เรามองเห็นภาพของอนาคตว่า หนึ่งคือมันยากขึ้นแน่ๆ สองคือทุกองค์กร ผมว่าจะรอดได้ต้องอาศัยคน คือคนที่เก่ง คนที่มีความสามารถ ก็จะช่วยกันนำพาให้องค์กรรอดได้ ไม่ได้หมายถึงผู้บริหาร แต่หมายถึงคนทั้งองค์กรเลย

สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจทีซีพี (TCP) หรือกระทิงแดง

พอมองถึงทรัพยากรคน ถ้ามองในภาพของเมืองไทย ผมว่าเรามีปัญหากันมานานแล้ว หนึ่ง ถ้าเราไปดูข่าว คนตกงานเยอะมาก ในขณะที่พอไปดูประกาศรับทำงานของภาคเอกชน ก็ยังมีคนที่หาคนมาทำงานไม่ได้ ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นในองค์กร  คนระดับ middle management จะหายากมาก ถึงขนาดต้องไปเอาจากต่างประเทศมา หนึ่งคือ โอเค ค่าตัวแพงแน่ๆ แต่ความสามารถได้แน่ๆ แล้วก็ตรง

มันเกิดขึ้นเพราะอะไร ต้องบอกว่าแต่เดิมภาคธุรกิจก็สนใจแต่เรื่องธุรกิจ มองโลกสมัยเก่าว่าการศึกษาเป็นเรื่องของโรงเรียน เป็นเรื่องของรัฐบาล แต่พอดูแล้ว เออ มันเกิด mismatch จริงๆ คือคนจบมาไม่ได้ตรงกับงานที่ต้องการในโลกปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน แม้แต่รุ่นตอนที่ผมจบมา มีความเชื่อว่าจบมาใหม่ๆ ปีสองปีแรกต้องเรียนรู้งาน เพราะเราจบมากับที่เราทำมันไม่ตรงกัน แต่พอมีโอกาสได้ไปเห็นต่างประเทศ รู้สึกเลยว่าเรื่องนี้ไม่ปกติ 

ประเทศที่พัฒนาแล้ว จบมาเขาทำงานได้เลย จะไม่มีความคิดว่าเรียนจบมาปีสองปีแรกต้องมานั่งเรียนรู้ใหม่ มันแปลว่าต้องมีอะไรสักอย่างที่ผิดปกติ เพราะประเทศอื่นๆ ยิ่งสาย tech ไม่ต้องรอจบด้วยซ้ำ ไม่จบบางคนก็ไปเป็นมหาเศรษฐี ไปเป็น founder บริษัท แต่ของเรามันคนละเรื่อง กลายเป็นว่าเราจบมหาวิทยาลัย ต้องไปเรียนรู้ใหม่อีก สำหรับองค์กรมันคือการเสียทรัพยากร เสียความรวดเร็ว แล้วหลายองค์กรจะรู้สึกว่า ไม่อยากรับเด็กจบใหม่ เพราะเด็กจบใหม่ทำงานไม่ได้ ซึ่งอันนี้มันเห็นได้ชัดว่าเกิดที่การศึกษา แต่เราไม่ได้ว่าบอกใครผิด 

ถ้าองค์กรในอนาคตจะไปได้แปลว่า เราต้องได้คนเก่งๆ มาร่วมองค์กร ทีนี้คนที่ใกล้ตัวที่สุดก็ต้องเป็นคนไทย ถ้าเด็กไทยเก่ง เราก็จะดี องค์กรก็จะง่าย นี่ยังไม่ได้พูดถึงเรื่อง technology segment เลยนะ อันนี้ยิ่งหนัก เพราะว่า gap มันเยอะมาก ลองดูเด็กไทยกับเด็กต่างประเทศ เพื่อนบ้านหลายประเทศเขาเก่งมาก ตอนนี้บริษัทเอกชนหลายแห่งต้องไป recruit  ต่างประเทศ หรือไปตั้งสำนักงานในต่างประเทศ เพราะว่าไม่มีเด็กที่เมืองไทยจำนวนมากพอให้ไปทำธุรกิจได้

นี่คือสาเหตุที่สุดท้ายธุรกิจเองก็ต้องให้ความสนใจเรื่องการศึกษา เราจะมามัวรอให้เขาป้อนให้เรา แล้วเราไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวอะไรเลยคงไม่ได้ ซึ่งอันนี้ตรงกับวิสัยทัศน์ของสภาหอการค้าที่ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาสำคัญ เพราะการศึกษาเป็นตัว drive ธุรกิจ 

ต้องยอมรับว่า ภาคธุรกิจเราเคยมองเรื่องการศึกษาแบบหนึ่ง เรามองว่า เฮ้ย ทำไมเรียนมาแบบนี้ ทำไมโรงเรียน มหาวิทยาลัยถึงได้มาทำแบบนี้ เราไม่ค่อยเข้าใจ แต่พอมาอยู่หอการค้า ได้ทำงานร่วมกับหลายๆ ภาคี ทำให้เริ่มเห็นภาพมากขึ้น เริ่มเข้าใจ

ปัญหาการศึกษาไทยนี่มหากาพย์เลยนะ มันไม่ใช่แค่เรื่องคุณภาพหลักสูตร แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิตเด็ก สังคม ครอบครัว ชุมชนในแต่ละประเทศที่มีปัญหาแตกต่างกัน 

ตอนนี้เอกชนตระหนักดีว่า เฮ้ย มันต้องมาช่วยกันทำ บริษัทใหญ่ๆ ที่รู้จักกันก็มาช่วยเต็มไปหมด เรามีโอกาสได้คุยกับหอการค้าต่างประเทศ อย่างเยอรมัน การช่วยการศึกษาคือภารกิจของบริษัทเอกชน ผมคิดว่านี่เป็นโมเดลที่ถูกต้องเพราะเรารู้เรื่องธุรกิจ เรารู้เรื่องภาพอนาคต อาจจะไม่แม่นร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะยุคนี้ไม่มีอะไรแน่นอนแล้ว แต่อย่างน้อยเราพอเห็นภาพ เราสามารถเชื่อมต่อกับภาคการศึกษา ภาคราชการได้ 

หอการค้าไทยสนับสนุนการศึกษาอย่างไรบ้าง 

ปีนี้หอการค้าฯ​ อายุ 89 ปีแล้ว เป็นการรวมตัวของภาคเอกชน ทั้งบริษัทใหญ่ และเอสเอ็มอี ทุกจังหวัดทั่วประเทศ วัตถุประสงค์ของหอการค้าคือการทำงานร่วมกันของภาคเอกชนและภาครัฐ แล้วมันต้องกลับมาทำเพื่อประเทศ ผมทำมาห้าปี เวลาเราคุยกัน เราคุยภาพใหญ่ของประเทศกันหมดเลยว่าเราจะทำยังไง เราจะแข่งได้ยังไง อย่างช่วงโควิดเราจะช่วยยังไงเพื่อให้ธุรกิจและสังคมกลับมาได้ นั่นคือภารกิจหลักๆ ที่หอการค้าทำ 

โชคดีตรงที่พอมารวมตัวกัน ภาครัฐค่อนข้างจะฟังเรา ปรึกษาเราในภาคนโยบายหลายๆ เรื่อง แต่พอมาเรื่องการศึกษาปุ๊บ แน่นอนว่ายุคแรกๆ ที่เราคิดจะเป็นเรื่องระดับอุดมศึกษาหรืออาชีวะที่จบแล้วเข้าสู่แรงงานได้เลย ง่ายที่สุดคือการให้ทุนการศึกษา แต่จริงๆ แล้วภาพรวมคือเราไปทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา สำหรับสายวิชาชีพ เราเน้นโครงการทวิภาคี ครึ่งหนึ่งเรียนในสถานศึกษา ส่วนอีกครึ่ง เรียนพร้อมทำงานจริงในสถานประกอบการ ให้เด็กจบมาแล้วทำงานได้เลย อันนี้คือภารกิจต้นๆ ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่คอนเซ็ปต์ใหม่ อย่างเยอรมันหรือญี่ปุ่นเขาทำเป็นเรื่องปกติ 

ถ้าระดับอุดมศึกษาเรียกว่าสหกิจศึกษา มหาวิทยาลัยกับผู้ประกอบการมานั่งคุยกันว่าอยากจะเน้นเรื่องไหน เช่น บริษัทเราทำเรื่อง mechatronic มีเรื่องโรบอตเข้ามาเยอะ เราก็ไปคุยกับสถานศึกษา ร่วมกันจัดหลักสูตร แล้วขออนุญาตกับภาครัฐให้อนุมัติหลักสูตร ครึ่งหนึ่งเรียนที่สถาบันการศึกษา อีกครึ่งหนึ่งเขามาใช้ชีวิตในโรงงานเลย ได้เรียนรู้ ได้ทำงานจริง แล้วอาจารย์ก็ยังมาช่วยกำกับดูแลด้วย ไม่ใช่การเอาเด็กมาใช้เป็นแรงงานราคาถูก แต่เราต้องการปั้นเขาจริงๆ 

อันนี้คือหลักการช่วงต้นที่เราไปทำเรื่องการศึกษา ซึ่งมันก็ตรงไปตรงมา ทำไปสักพักก็รู้สึกว่า มันเวิร์กนะ แต่มันเวิร์กได้มากกว่านี้ เพราะปัญหามีมาตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่อุดมศึกษาหรือมาอาชีวะศึกษา เราต้องเวิร์กตรงนั้นให้หนักที่สุด 

อย่างที่อาจารย์สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (TDRI) พูดบ่อยๆ ว่า 6 ปี แรกของชีวิตคือไฮไลต์ ถ้าช่วงนั้นดี เด็กก็พร้อมจะวิ่ง เข้มแข็ง ถ้า 6 ปีแรกไม่ดี  พัฒนาการก็อาจจะไม่ได้ดีที่สุดเท่าที่เด็กคนนั้นมีศักยภาพที่จะเป็น นี่คือสิ่งที่ต้องอาศัยความเข้าใจของผู้ใหญ่ว่ามันไม่ใช่เรื่องเสียเวลา  

เราทำโรงเรียนร่วมพัฒนาหรือ Partnership School คือ เอกชนไปช่วยบริหารโรงเรียน ก่อนหน้านี้มันมีโครงการโรงเรียนประชารัฐ อันนั้นเอกชนก็เข้าไปเหมือนกันนะ แต่ก็พบปัญหาว่า ไป say yes say no อะไรกับเขามากไม่ได้ 

จริงๆ โรงเรียนร่วมพัฒนามันเหมือนจะเป็นโรงเรียนประชารัฐ 2.0 คือเราเข้าไปร่วมบริหาร มีคณะกรรมการพัฒนาสถาบันการศึกษาร่วมด้วย และชวนคุยกันเลยว่าแต่ละโรงเรียนมีจุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร และควรจะพัฒนาการศึกษาในรูปแบบไหน เอกชนช่วยอะไรได้บ้าง 

จากที่ได้ทำ เห็นปัญหาจริงๆ อะไรบ้าง แล้วผลที่ตั้งไว้เป็นไปตามนั้นไหม 

ผลที่ตั้งไว้มันยังห่างไกลมากเลย แต่ไม่หยุดพยายาม ภาคเอกชนเรายังไฟต์ต่อ คีย์เวิร์ดคือเราไม่ต้องรอใคร ถ้าเราทำแล้วรอให้ภาครัฐโอเค หรือรอให้คนโน้นคนนี้เปิดทางให้ คิดว่าไม่ เราทำได้เราก็ทำ เพราะเราอยากให้เด็กมีการพัฒนามากขึ้น 

ภาคเอกชนหลายๆ คนก็หลายหมวกมาก ถามว่ามันแปลกไหม ผมว่าไม่แปลก เหมือนกับทำธุรกิจ บางทีเราไม่รู้ solution ที่ชัดเจน เราก็พยายามทำหลายๆ อย่าง แล้วสุดท้ายถ้าอันไหนมันได้ผล เราก็โอเค อันไหนไม่ดี เราก็ปรับไป

เอกชนเรามีการเรียนรู้ซึ่งกันและกันตลอด ไฮไลต์ปีนี้ของหอการค้าฯ​ คือ ทำยังไงให้เรามีการพูดคุยกันมากขึ้น เช่น เซ็นทรัลไปทำมาแล้วมี learning อะไร มิตรผลเป็นยังไง แล้ว TCP ทำอะไร มันก็อปปี้กันไม่ได้ เพราะโรงเรียนก็มีทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนที่อยู่พื้นที่ห่างไกลหรือใกล้เมือง เรียกว่าเราทำทุกอย่างที่เราจะทำได้ แล้วดูไปว่ามันจะได้สักขนาดไหน 

แต่ยอมรับว่าตอนนี้มันยังอยู่ในกลุ่มของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีกำลัง กับบริษัทขนาดกลาง เพราะถ้าจริงจังมันต้องมีงบประมาณ มีทีมงานเข้าไปติดตาม เข้าไปคุยกับโรงเรียนตลอดเวลา ทุกบริษัทที่ทำไม่ได้มีอะไรเป็นผลตอบแทนทางธุรกิจทั้งสิ้น 

วัดจำนวนน่าจะเป็นหลักร้อย แต่อันนี้ก็โทษไม่ได้ เพราะเศรษฐกิจบ้านเราไม่ได้อยู่ในระดับที่ดี ยิ่งมาเจอโควิด คนที่จากเดิมกำลังจะเข้มแข็งก็เริ่มอ่อนแอลงไป เรื่องนี้อาจจะไม่ใช่ภารกิจที่สำคัญของเขา ซึ่งโทษไม่ได้เลย ยังดีที่บริษัทใหญ่ไม่ได้รู้สึกว่าโควิดมาเราจะหยุดทำเรื่องนี้ก่อนดีไหม หรือเอาเวลาไปโฟกัสธุรกิจ ทุกคนยังเห็นความสำคัญว่าเราต้องทำต่อ และอย่าไปยอมแพ้ 

ทักษะหรือความเชี่ยวชาญในส่วนของภาคธุรกิจที่เอามาช่วยกันทำให้การศึกษาไม่แย่ลงไปมากกว่านี้มีอะไรบ้าง และความท้าทายต่างๆ ที่เข้ามาคืออะไร 

ความท้าทายคือจะทำยังไงให้ภาครัฐเห็นภาพที่ใกล้เคียงกัน เราไม่ได้บอกว่าเราพูดถูกตลอด แต่เราพูดในมุมธุรกิจ 

ขณะเดียวกันแต่ละโรงเรียน บางทีก็มีการเปลี่ยนผอ. มันก็จะลำบากในแต่ละสเต็ป แต่คิดว่าทักษะที่เรามีคือ เราอยู่กับโลกที่แข่งขันตลอดเวลา ถ้าบริษัทที่มีสาขาหรือมีธุรกิจอยู่ต่างประเทศเยอะๆ เราก็จะเห็นความเคลื่อนไหวว่าเขาไปกันถึงไหนแล้ว เห็นไปถึงการศึกษาแต่ละประเทศว่ามีวิวัฒนาการอย่างไร มันเหมือนการทำธุรกิจ คือคุณจะไม่มีวันคิดว่าคุณเก่งที่สุดแล้ว คุณต้องปรับตลอดเวลา 

นี่คือสิ่งที่เอกชนเห็น ด้านธุรกิจเราก็เห็น ข้อจำกัดของ human resource ของประเทศไทยเราก็เห็น ในอดีตเราฟีดแบ็กกับภาครัฐตลอด แต่วันนี้เราฟีดแบ็กตรงไปหาโรงเรียน หาสังคม มีโอกาสก็คุยให้เด็กฟัง ให้ครูฟัง และถ้าเป็นเรื่องของในระดับการศึกษาที่สูงหน่อย อย่างเช่น อุดมศึกษาหรืออาชีวะ เรามีเครื่องไม้เครื่องมือที่มันทำงานจริง เครื่องจักรราคาแพงและทันสมัย 

มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่สถานศึกษาจะมีเครื่องที่รุ่นใหม่กว่าเอกชน เพราะฉะนั้น ถ้าทำงานร่วมกัน โรงเรียนกับมหา’ลัยไม่ต้องลงทุนเลย มาใช้อุปกรณ์ของเรา แล้วมาเรียนรู้ร่วมกันว่า คุณมีองค์ความรู้ เรามีอุปกรณ์กับมุมมองเรื่องการทำธุรกิจ  เหล่านี้คือสิ่งที่มันจะ add on ไปได้ 

ในทางกลับกัน คุณสราวุฒิคิดว่าภาคธุรกิจสูญเสียอะไรไปบ้าง จากการศึกษาที่ไปไม่ถึงไหนหรืออาจจะถอยหลังด้วยซ้ำ 

เราใช้คำว่าโอกาสหรือความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย อันนั้นเสียอยู่แล้วแน่ๆ เพราะเรามีออฟฟิศอยู่หลายประเทศ เราก็ไม่อยากว่าคนไทยนะ แต่พอไปเห็นเด็กต่างประเทศ วิธีคิด วิธีทำงาน เรารู้สึกว่าทำไมอายุเท่ากันแต่ความสามารถไม่เท่ากัน ผมไม่ได้ว่าคนไทยไม่เก่งนะ คนไทยเก่งๆ มี เรียนเก่งมากๆ ก็มี  แต่เด็กเก่งของหลายประเทศ เขามี logic ในการคิด ขยันมาก ทำงานลุยเต็มที่ ไม่รู้ว่าเพราะอะไร เรื่องการศึกษาและสังคมมีส่วนอยู่แล้ว ก็ยังคิดอยู่ว่ามันคือการปลูกฝังตั้งแต่เล็กทำให้เด็กโตมาในลักษณะแบบนี้ ผมจึงเห็นด้วยกับอาจารย์สมเกียรติว่าต้องไปลงทุนในตอนที่เขาอายุยังน้อย ซึ่งบางทีเอกชนเอื้อมไม่ถึงด้วยซ้ำ เพราะมันคือระดับอนุบาลหรือเตรียมอนุบาล มันอาจจะเป็นเรื่องสื่อ การให้ความรู้พ่อแม่ เราก็พยายาม แต่มันเซนซิทีฟสำหรับเอกชน  

ภาพฝันในแง่กำลังคนที่ภาคธุรกิจคิดว่าควรจะเป็น มันเป็นอย่างไร คนควรจะมีทักษะอะไร 

ผมว่าตอนนี้มันวิกฤติมากๆ เพราะสังคมเราเข้า aging society จำนวนนักเรียนลดไปอย่างชัดเจน ภาพข้างหน้ามันน่ากลัวมากยิ่งขึ้น ความผันผวนมันเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ แปลว่าจำนวนคนลดลง แต่คนประสิทธิภาพมากขึ้นโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นคุณจะไม่สามารถพยุงเศรษฐกิจประเทศไทยได้ เพราะจำนวนคนที่อยู่ในวัยทำงานจะลดลงเรื่อยๆ สมัยก่อนพ่อแม่จะมีลูกดูแล 6 คน ปัจจุบันและอนาคต ลูกคนหนึ่งต้องดูแลทั้งพ่อ แม่ ป้าน้า เพราะฉะนั้นเด็กต้องเก่งขึ้น 

ขณะเดียวกันการวางแผนอนาคตธุรกิจ 10 ปี มันชักจะยากละ เพราะมองไม่เห็นว่าหลักสิบปีข้างหน้าจะเป็นยังไง เอาแค่ 5 ปีก็ยากละ คือทำแผน10 ปีได้นะ แต่คือนั่งเทียนล้วนๆ ทุกอย่างมันผันแปรเร็ว สิ่งที่เด็กต้องเป็นหรือแม้แต่คนรุ่นเราที่ทำงานอยู่ควรจะเป็นคือ คุณต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เรื่อง Lifelong Learning มันไม่ใช่คำพูดสวยหรูนะ มันคือวิถีที่คุณจะเอาตัวรอดได้ 

เพราะวันนี้การทำธุรกิจมันเป็นแบบนี้ ช่วงเจอโควิดเราก็ปรับ หลังโควิดเราต้องปรับอีก มันจะปรับอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นศักยภาพของเด็กที่ผมอยากได้คือ มีความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองในทุกๆ เรื่องในตลอดช่วงชีวิตเขาเลย มันหมดสมัยแล้วที่จะคิดว่าพอจบปริญญาตรีแล้วชีวิตการศึกษาจบ มันไม่ใช่ อันนี้คือสิ่งที่ต้องเปลี่ยน 

Lifelong Learning มันเป็นธีมของโลก ฟังแล้วดูเท่แต่มันคือเรื่องจริงเลย แล้วเด็กที่สามารถ Lifelong Learning ได้ พื้นฐานเขาต้องดี สำหรับผมที่ซีเรียสมากๆ คือเรื่องภาษา การสื่อสาร ถ้าพูดภาษาไม่ได้ คุณจะเรียนรู้ด้วยตัวเองได้อย่างไร ในเมื่ออ่านก็ไม่ได้ ฟังก็ไม่ค่อยเข้าใจ พูดก็สรุปประเด็นไม่ได้ แค่ตรงนี้จบเลยนะ 

การศึกษาขั้นพื้นฐานมันจึงสำคัญมาก เหมือนคุณสร้างพีระมิดแล้วข้างล่างไม่แข็งแรง คุณอย่าคิดหวังจะต่อยอด ส่วนตัวผมกังวลมากๆ แต่ละปีเรามีเด็กเป็นแสนที่จบไปแต่ละระดับของการศึกษา แล้วถ้าเกิดข้างล่างมันไม่ดีสักที ก็จะมีเด็กที่คุณภาพไม่ดีเท่าที่คนควรจะเป็น

ผมคิดว่า soft skill สำคัญมากกว่า hard skill อีก ถ้าเขาเรียนรู้เองเป็น อย่าง programing จะเรียนเองก็ได้อยู่แล้ว เต็มไปหมดเลย ฟรีด้วย แต่เรื่อง soft skill สำคัญ อย่างการสื่อสาร การทำงานร่วมกับผู้อื่น คือทุกวันนี้ know how มันไม่ใช่ know how ที่ใครคนใดคนหนึ่งมีความสามารถคิดคนเดียวได้อีกต่อไป เพราะไอ้ที่คิดคนเดียวได้มันคิดมาเกือบหมดแล้ว ที่เหลือก็คือ teamwork การทำงานร่วมกัน เรื่องการสื่อสาร Creative thinking Critical thinking เรื่องพวกนี้คือสิ่งที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เล็ก บางเรื่องพอโตแล้วมันสอนกันไม่ได้ 

ในส่วนของ TCP เกณฑ์การรับพนักงานเฉพาะปริญญาตรี มีการปรับหรือเปลี่ยนไปไหม เพราะตอนนี้ในหลายประเทศให้คุณค่าทักษะมากกว่าปริญญา

สิ่งหนึ่งที่ตั้งแต่สมัยคุณพ่อ เฉลียว อยู่วิทยา ก่อตั้งบริษัทมา เน้นความสามารถอย่างเดียว จบอะไรมาไม่สำคัญแค่คุณทำงานได้ก็โอเค แต่แน่นอนว่าพอเป็นบริษัทใหญ่ก็ต้องมีระบบเข้ามาตามระเบียบ เราก็ยังใช้เกณฑ์การศึกษาแต่มันจะแค่เบื้องต้น ผมว่าตอนนี้ตรี โท เอก ไม่ได้มีความแตกต่างกันหรอก มันอยู่ที่ความสามารถและประสบการณ์การทำงานมากกว่า ปวช. ปวส. เราก็ยังรับอยู่เยอะมาก เราเห็นความเก่งของเด็กที่จบสายนี้มา

คือบ้านเราเนี่ยประหลาด คือถ้าอยากมือเปื้อน ทำงานเป็น จับเครื่องมือเป็น ผมว่า ปวช. ปวส. จะเก่งกว่า ถ้าเอาทฤษฎีจ๋าหรือกลยุทธ์ รวมถึงเรื่องภาษาที่ต้องได้ อันนั้นเป็นเรื่องปริญญาตรีเป็นต้นไป แต่จริงๆ แล้วที่อื่นเขาไม่เป็นแบบนี้ มัน integrate กัน คือจบปริญญาเขาก็ทำงานเป็น ถ้าจบปวช. ปวส. ก็ไปต่อปริญญาตรีเป็น route ปกติ 

ผมคิดว่าภาคเอกชนจะมองว่าจบอะไรมา ลดลง ไม่ได้หมายความว่าไม่มีค่า แต่ถามว่าคุณจบอะไรที่ไหนมา มันเป็นแค่ตัวบอกว่าอดีตของคุณมันอาจจะดี เพราะคุณสามารถจบมหา’ลัยนี้ได้ คณะนี้มันเข้ายาก หลังจากนั้นเราก็เลือกจากตัวเขาแล้ว จากการการพูดคุย การสัมภาษณ์ การทำงานจริง ไม่ใช่ว่าจบที่นี่มาแล้วจะเก่งกว่าที่นั่นเสมอไป บางทีมันไม่เกี่ยวเลย มันขึ้นอยู่กับตัวคนมากกว่า 

การที่หลายบริษัท หลายเอกชน เข้ามาผลักดันให้การศึกษาดีขึ้น มันคือการลงทุนด้วยใช่ไหม 

ผมอาจจะพูดแทนทุกคนไม่ได้ ผมว่าไม่ ถ้าคิดว่าลงทุนเพื่ออนาคตยังไงมันก็ไม่ตอบโจทย์ ถ้าดูในเรื่องของ investment ลงทุนแล้วมันได้ return อะไรกลับมา มันไม่มีตัวเลขไหนซัพพอร์ตเลยว่ามันคุ้มที่จะทำ 

อีกส่วนหนึ่งผมว่ามันต้องทำ ไม่ทำก็ไม่รอด คือมันไม่ได้บอกว่าทำแล้วกำไรมันจะมากขึ้นนะ แต่ถ้าไม่ทำมันอาจจะถึงขั้นตาย มันอาจจะเป็นเรื่องของกำไรในอนาคตแต่สุดท้ายมัน turn มาเป็นภารกิจที่ต้องทำ ถ้าไม่ทำแล้วจะให้ใครทำ 

ถ้าถามว่าทำเพื่อกำไรไหม ผมว่าไม่ใช่ แต่บอกว่าทำเพราะว่าถ้าไม่ทำเราก็ตาย ก็เท่านั้นเอง 

วันนี้ผมว่าสิ่งหนึ่งที่พยายามจะคุยคือ ปัญหาการศึกษามันมี เรารู้อยู่ ไม่มีคนมานั่งเถียงว่าการศึกษาไทยดีที่สุดในโลก เรารู้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราต้องการคือให้คนมาช่วยทำ ถ้านั่งบ่นใครก็บ่นได้ เหมือนทำธุรกิจ เราไม่ได้ต้องการมานั่งเถียงกันว่าปัญหาคืออะไร คุยเท่าไหร่ก็คุยไม่จบ แต่ถ้าบอกว่าเราต้องทำอะไร action plan คืออะไร อันนี้ผมว่าค่อยจะคุ้มเวลาในการนั่งคุย 

ภาครัฐเขาฟังภาคเอกชนไหม

จริงๆ เขาฟังนะ ผมว่าเราต้องเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ใช่แค่ไทย รัฐบาลหลายประเทศจะมีความเคลื่อนตัวช้าอยู่แล้ว ความเคลื่อนไหวทุกอย่างคือผลกระทบของประเทศ จะทำอะไรเร็วๆ ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ทำได้ อันนี้ต้องยอมรับข้อจำกัดของเขา 

ผมว่าภาครัฐทุกวันนี้เขาฟังเยอะขึ้นมาก และย้ำอีกครั้งว่าเขาไม่ได้ตามใจเอกชน คือเขาฟังและไปวิเคราะห์ บางอย่างเขาก็ยินดีทำให้เลย บางอย่างเขาอยากทำแต่ทำไม่ได้ เพราะติดขัดหลายเรื่อง เช่น กฎหมาย ผมว่าหลายๆ อย่างเขาพยายามจะตอบโจทย์นะ อันนี้เป็นเรื่องที่หอการค้าพยายามจะช่วยและผลักดันให้กฎหมายบ้านเราง่ายกว่านี้ เพราะว่ากฎหมายมันเยอะมาก แล้วบางกฎหมายล้าสมัยมาก อันนี้รัฐบาลก็เข้าใจและเอกชนก็พยายามผลักดัน 

แต่การที่เอกชนเคลื่อนตัวได้เร็วเพราะว่าเป็นการตัดสินใจของเขา เขามีความสามารถที่จะสั่งการ คือมันเหมือนแม่ทัพ จะนำทัพได้ผู้นำก็ต้องใช่และสั่งการได้ คือถ้าสั่งแล้วกองทัพไม่ทำ เก่งแค่ไหนก็เท่านั้น แต่เรื่องการศึกษามีความยากลำบากคือเราสั่งการไม่ได้ ซึ่งผมว่าเราไม่ควรจะสั่งการได้ด้วยนะ ผมไม่คิดว่าเอกชนจะต้องไปชี้สั่งโรงเรียนทุกเรื่อง เพราะเราก็ไม่ได้เข้าใจบริบท ซึ่งนี่คือที่มาของโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาและเขตพัฒนาการศึกษาว่า ให้เอกชนมีสิทธิ์ในการสั่งอะไรได้บางอย่าง แต่มันก็มีหลายอย่างที่เราไปแตะไม่ได้ 

มีคนเคยบอกว่า แค่เอกชนเลิกรับจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงจะเกิด จริงไหม 

ผมขออนุญาตไม่เห็นด้วย เพราะว่าทุกวันนี้มีมากกว่า 2 ชื่อนั้น และบางชื่อไม่เคยอยู่ใน rank มาก่อน แต่ somehow ด้วยระดับ ด้วยวิธีการของเขา วิธีการสร้างเด็ก วิธีการ PR บางมหาวิทยาลัยเอาไอดอลเก่งๆ ภาคเอกชนเข้าไปช่วยเรื่องการศึกษา ก็ดังขึ้นมาทันที แล้วเด็กก็เก่งขึ้นจริงๆ ทำงานจริง เด็กก็มีคุณภาพ 

ผมว่าทุกวันนี้มันไม่เป็นแบบนั้นหรอก ต่อให้เป็น 2 ชื่อเมื่อครู่ ถ้าเกิดวิธีการสร้างเด็กเขาดรอป ชื่อมันก็จะหายไปในที่สุด 

จากคำถามนี้นำมาจากข้อสงสัยจาก TDRI ที่วิจัยล่าสุดว่า มหาวิทยาลัย อาจารย์ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการผลิตคน จึงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนให้ดีขึ้น

อันนี้เห็นด้วย ผมพูดมาตลอดว่า เรารู้อย่างลึกซึ้งว่าสิ่งที่สำคัญมากของบริษัทคือการประเมินผลพนักงาน คุณประเมินผลไม่ตรง คุณจะหวังให้เด็กรักองค์กรมาก ทุ่มเททำทุกอย่างได้อย่างไรในเมื่อคุณไม่ได้วัดตรงนั้นของเขาเลย เขาทำให้ตาย คุณก็ไม่เห็นตรงนั้นของเขา

เช่นเดียวกัน สมมติว่ามีโรงเรียนหนึ่งปั้นเด็กได้ดีมาก ซึ่งเด็กออกมาไม่ได้เข้ามหา’ลัยดังๆ นะ แต่เด็กมีความเป็นคนที่เข้มแข็งมาก มีความเป็นตัวตนที่ดี แล้วใครวัดผลเขาตรงนี้ มันไม่มีไง มันไม่อยู่ตรงไหนของ KPI เลย แต่คุณไปวัดอะไรก็ไม่รู้  เอกชนเราผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ เรารู้อยู่แล้วว่าการวัดผิดคือฆ่าตัวตาย ลงเหวทันที 

คำถามสำคัญ​ คือ เด็กตกงานขนาดไหน ตอนนี้ไม่มีใครกล้าเปิดเผย คือถ้าคุณกล้าเปิดเผย คุณก็จะเห็นชัด พ่อแม่ที่จะให้เด็กเข้ามหา’ลัยก็จะเห็นเลยว่า มหา’ลัย A คณะ B ตกงานรอบที่แล้วกี่เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้มันตรงไปตรงมานะ ตัววัดตรงนี้มันจะเป็นตัวบีบให้มหาวิทยาลัยรู้ว่าคุณต้องเปลี่ยนแล้ว เพราะเอาจริงๆ ถ้าเอาทรัพยากรประเทศ เอาภาษีลงไป แล้วคุณสร้างเด็กมาออกมาตกงาน มันไม่ตรงเป้าไง

ในฐานะคุณพ่อ พอได้เข้าไปอยู่และรับรู้ปัญหาเหล่านี้ รู้สึกกังวลมากแค่ไหน 

เคยกังวล โชคดีตอนนี้ลูกอายุยี่สิบกว่าแล้ว คือตอนนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดียนะ คือโชคดีมาก เป็นบุญมาก

แต่เรื่องเกมมันยังดีเบตกันเยอะมากว่าเด็กควรเล่นเกมหรือเปล่า แต่เด็กเล็กไม่ควรอยู่แล้ว สำหรับมุมผมนะ ถ้าโตมาหน่อย ถ้าแต่ก่อนสมัยเด็กๆ ก็ให้เล่น ควบคุมเวลา เวลาเล่นเกินก็มีทะเลาะกันบ้างแหละแต่อย่างน้อยเรามีคำมั่นสัญญา แล้วจากการเล่น ลูกผมได้ภาษาอังกฤษเยอะมาก ศัพท์บางศัพท์ผมไม่รู้จัก เฮ้ย รู้ได้ไงวะ เขาบอก อ๋อ เจอในเกมแล้วไม่เข้าใจก็ไปเปิดดิก ผมว่าทุกอย่างมันมีข้อดีข้อเสีย คือพ่อแม่ก็ต้องใกล้ชิดกับลูก อะไรคือสิ่งที่เหมาะ อะไรที่ไม่เหมาะตามวัย 

ยอมรับว่าครอบครัวผมโชคดี มีกำลังส่งลูกไปโรงเรียนดีๆ แต่มันไม่ใช่อย่างนี้ทุกคนและมีอีกเยอะมากที่เขาไม่มีทางเลือก อันนี้มันซีเรียสมากๆ เพราะว่าสมมติลูกเราดี ลูกเราเก่ง เป็นพลเมืองที่ดี เขาจะอยู่ในสังคมได้ยังไงถ้าสังคมส่วนใหญ่คนมีปัญหา มันไม่ใช่ มันไม่มีทางรอด 

ทุกสังคมมันก็จะมีคนหลากหลายรูปแบบ โลกแห่งความเป็นจริงมันมีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง แล้วคนที่มีโอกาสมากกว่า คุณต้องช่วยคนขาดโอกาสให้ gap มันลดลง มันคือภารกิจที่ทุกคนควรจะต้องคำนึงนะ ที่ผมบอกว่าอยู่ไม่ได้ อันนี้มันแน่นอนว่าถ้าสังคมเต็มไปด้วยการคดโกง การทุจริต ยาเสพติด การพนัน แล้วสังคมมันจะไปไหน ยกตัวอย่าง ถ้าคุณอยู่ในหมู่บ้านที่ดีๆ สังคมดี ชีวิตคุณก็ดี ถ้าคุณโชคร้ายอยู่ในสังคมที่ไม่ดี ส่วนใหญ่วิธีการที่ทำได้คือย้ายไปอยู่ในสังคมอื่น หมู่บ้านอื่นเพราะคุณรู้สึกว่ามันปลอดภัยกว่า แต่ว่าพอเป็นประเทศปุ๊บ คนทำอย่างนั้นมันก็มีนะเพราะเขามีทางเลือก

แต่ในมุมมองผมคือมาช่วยกันดีกว่าไหม แน่นอนว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่ทั้งหมู่บ้านประเทศไทยจะดีหมด เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมีส่วนช่วยภาคสังคม ถ้าเป็นฝรั่งจะมีหลักสูตร social contribution เขาจะบังคับให้เด็กทุกคนต้องไปทำ CSR ไปทำงานให้สังคม คุณต้องไปช่วยงานโรงพยาบาล ไปทำงานกับคนแก่ ให้เห็นภาพว่าสังคมจริงๆ มันเป็นยังไง 

การสนใจเรื่องการศึกษา มันกลับไป flashback ภาพ painpoint หรือคำถามอะไรไหมที่คุณสราวุฒิเรียนในเมืองไทย

อ๋อ มี (หัวเราะ) คือจริงๆ ต้องบอกว่า จุดที่ดีมันมีนะ นึกถึงตอนที่เรียนเซนต์ คาเบรียล มาเซอร์บางท่านเขาเรียกเด็กไปสอนพิเศษตอนเย็นโดยไม่คิดตังค์ คือโมเมนต์แบบนั้นคือดีมาก แล้วโรงเรียนอินเตอร์ที่ลูกเรียนอยู่จนจบก็มี ครู respect ความเป็นเด็กทุกกรณี เขารู้ว่าเด็กเป็นหมอ เป็นวิศวะ ทุกคนไม่ได้หรอก สังคมเราต้องการความหลากหลาย แต่เขาก็จะรู้ minimum เหมือนกันว่าตอนนี้มันต่ำกว่า minimum แล้ว แล้วถ้ายังปล่อยให้เขาเรียนหนังสืออยู่ในห้องแบบนี้ ตามเพื่อนไม่ทันในทุกคาบ มันไม่ไปไหนแล้ว ชีวิตก็จะเครียด พ่อแม่จะลากเขาไปเรียนพิเศษที่อื่น แต่ครูเขาเห็นอยู่แล้ว ครูก็ดึงมาเลย เอามาสอนหลังเลิกเรียน อย่างนี้มันคือการเห็นอกเห็นใจ คือเด็กอยากหรือไม่อยากเรียนก็ไม่รู้นะ อย่างน้อยเด็กรู้ว่าครูเขาหวังดี 

ส่วนเรื่องของวิชาการ ผมว่าแน่นอนทุกคนจบมาเหมือนกันหมดก็จะคุยว่า เรียนมาเพื่ออะไรวะ คือบางเรื่อง มันไม่ใช่ แล้วควรจะเปลี่ยนหลักสูตร บางเรื่องมันรอเรียนในมหาวิทยาลัยก็ได้ เพราะตอนที่คุณเข้าไปเรียนเรื่องวิชาชีพ มันไม่ได้ใช้ จะมารีบเรียนอะไรตอนนี้ 

แต่ painpoint ที่ผมเจอมาตลอด ไม่ระบุชื่อโรงเรียน สมัยลูกเรียนประถม วิชาคณิตศาสตร์ ครูถามว่า “มะม่วงลูกละ 10 บาท 5 ลูกคิดเงินเท่าไหร่” ลูกตอบ 10×5 = 50 ผิด ลูกเอามาถาม มันผิดยังไง ปรากฏครูบอกว่า ต้อง 5×10 ต้องเอาจำนวนขึ้นก่อนเสมอ ราคาต้องมาทีหลัง โอ้โห ผมโมโหมาก ภรรยาก็โมโห นี่มันคืออะไร วันนั้นผมไปถามครูที่โรงเรียน วันนั้นครูเขายืนยันว่าในโรงเรียนนี้ทั้งหมดเขาเก่งคณิตศาสตร์ที่สุด คุณพ่อคุณแม่อย่ามาเถียงผม โอ้โห เราก็โอเค อย่าไปคุยต่อดีกว่า

โชคดีที่เป็นเรา ลูกเลยเข้าใจได้ถูกต้องว่า โอเค ไม่ต้องไปเถียงกับครูแล้ว แต่อย่างน้อยลูกเราเข้าใจว่าลูกไม่ผิด แล้วเขาเข้าใจว่าที่พ่อแม่หยุดเถียง เพราะรู้ว่าทำไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่ให้รู้ว่าเราซัพพอร์ตลูกเต็มที่ว่าข้อนี้ลูกไม่ผิด รอบหน้าถ้าลูกอยากจะเขียนผิดอย่างนี้ผิด พ่อก็ไม่ว่า มันมีคุณสมบัติของการ commutative มันเปลี่ยนได้ แล้วครูเอาอะไรที่ไหนมาสอนอย่างนี้

วันนี้เราคิดถ้าไม่ใช่เรา แต่เป็นพ่อแม่ที่อาจไม่มีเวลากับลูก หรือเป็นพ่อแม่ที่เขาอาจจะพื้นฐานคณิตศาสตร์ไม่ได้เข้มแข็งแล้วเข้าใจตามนั้นน่ะ มันผิดเลยนะ อันนี้มันถึงสำคัญ และกลับไปตั้งคำถามต่อระบบในโรงเรียนว่าคุณประเมินครูยังไง 

ประเด็นที่สำคัญมาก คือ ต้องให้กำลังใจครู  กระแสวันนี้ที่ออกมามันไปลงโรงเรียน ไปลงครูซะเยอะ ครูดีๆ ก็มี แต่ว่าครูดีๆ ที่อ่อนแรง ผมว่าก็เยอะ ครูไม่ดีก็ต้องมีบ้าง ทุกสังคมทุกอาชีพก็มีกันหมดทั้งนั้น 

ที่ TCP ทำร่วมกับคณะวิทยาการเรียนรู้ฯ​ ม.ธรรมศาสตร์ คือเราต้องการไปปลุกพลังครู ครูที่เขามีจิตวิญญาณอยู่ให้คิดถึงการสอน เรื่องนี้ดีมาก คนที่มีความสำคัญกับเด็กก็คือพ่อแม่อยู่แล้ว ที่สำคัญไม่แพ้กันคือคุณครู ถ้าเกิดเราสามารถปลุกพลังครูได้ ผมว่ามันคือสิ่งที่สำคัญ ต้องให้กำลังใจ ไม่อย่างนั้นเราจะบ่น จะด่า จะว่าอย่างเดียว แต่เราไม่เข้าใจเขาไง ผมได้มีโอกาสไปคุยกับครู รู้เลยว่าเขาก็เจอมาเยอะ เจอหลายเรื่อง  ทุกวันนี้เองพ่อแม่ก็ไม่ได้ง่าย เราก็ต้องติดอาวุธ เติมพลังให้ครูเขาด้วย ไม่งั้นมันก็ไปไม่ถึงไหนหรอก 


Writer

Avatar photo

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

คุณแม่ลูกหนึ่งซึ่งคลุกวงในงานข่าวมาหลายสิบปี เพิ่งมาค้นพบตัวเองไม่กี่ปีมานี้ว่าอินกับงานด้านเด็ก ครอบครัว และการศึกษามากเป็นพิเศษ จึงเป็นเหตุให้มาร่วมสร้างแผนที่การเรียนรู้อย่าง mappa

Avatar photo

มิรา เวฬุภาค

Photographer

Avatar photo

อนุชิต นิ่มตลุง

ถ่ายงานหลากหลายรูปแบบทั้งงานสตูดิโอ ภาพข่าว จนถึงสารคดี ปัจจุบันเป็นเจ้าของกิจการเครื่องหนัง Dog's vision เพิ่งตัดสายสะดือเป็นคุณพ่อหมาดๆ เมื่อเมษาที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563)

Related Posts