เล่นที่ไม่มีคำว่าเรียนมาปน คุยและค้น ‘ความลับ’ ของเล่น 3 ชิ้นที่นักออกแบบแอบซ่อนเอาไว้

  • ความสนุกจากของเล่น คือ เราจะจดจำเรื่องราวเเละได้ข้อคิดหลังการเล่นจบลงโดยที่เราไม่รู้ตัวเสมอ
  • เรื่องราวเเละข้อคิดเหล่านั้นคือกล่องดำ (Blackbox) ที่ของเล่นไม่ได้บอก เเต่จะรู้สึกได้เมื่อเราเล่นอย่างสนุก ไม่มีคำว่าเรียนเจือปน
  • mappa ชวนคุยเเละค้น ‘ความลับ’ ของเล่น 3 ชิ้นที่นักออกเเบบซ่อนไว้

เพราะของเล่นทุกชิ้นมีเรื่องราว..

“ต่อเมืองเลโก้ เล่นเเข่งรถ เย็บเสื้อให้ตุ๊กตาบาร์บี้ หรือเเต่งตัวให้ตุ๊กตากระดาษ”

คือตัวอย่างความสนุกจากของเล่นในวัยเด็ก เเต่เบื้องหลังความสนุกนั้น คือ เรามักจะจำเรื่องราวเเละได้ข้อคิดหลังการเล่นจบลงโดยที่เราไม่รู้ตัวเสมอ 

mappa ชวนดูเบื้องหลังความสนุกจากของเล่น 3 ชิ้นที่นักทำของเล่นเเนะนำ แต่ละชิ้นมีเรื่องราวเเตกต่างเเละทักษะที่เด็กคนหนึ่งจะได้รับซ่อนอยู่  

มันอาจเหมือน ‘กล่องดำ (Blackbox)’ ที่ของเล่นอุบเอาไว้ ต้องเปิด ต้องเล่น ต้องเข้าไปคลุกวงใน ถึงจะรู้ได้ว่า ‘ความลับ’ ที่นักสร้างและออกแบบของเล่นตั้งใจซ่อนเอาไว้คืออะไร 

มันจึงไม่ได้ระบุอยู่ในคู่มือการเล่น เเต่เป็นสิ่งที่คนเล่นจะได้ก็ต่อเมื่อเล่นอย่างเอาจริง เล่นให้สนุก เล่นที่ไม่มีคำว่าเรียนมาปน 

แล้วกล่องดำของแต่ละคนจะค่อยๆ เผยออกมาเอง 

Balancing Cactus:  คนล้มข้ามไปเลย เพราะล้มเเล้วเดี๋ยวลุกมาเดินต่อเอง

“กระบองเพชรนี้สามารถเล่นคนเดียวหรือเล่นเป็นกลุ่มก็ได้ วิธีการเล่นเราจะค่อยๆ ต่อกิ่งลงไปทีละชิ้นสลับกันโดยไม่ให้ตัวโคนต้นล้ม ซึ่งเด็กจะได้ฝึกทั้งสมาธิ เนื่องจากระหว่างที่ต่อ เขาต้องใช้สายตาจดจ่อ อวัยวะหลายๆ อย่างต้องทำงานประสานกัน”

‘มิ้นต์’ จันทรวิมล ใจอารีรอบ Child Specialist เเละ ‘เเนน’ ฐิตารีย์ เหลืองตั้งวโรดม Designer จาก PlanToys อธิบายการเล่น Balancing Cactus

เเนนเเละมิ้นต์ บอกตรงกันว่า ทักษะสำคัญที่เด็กคนหนึ่งจะได้รับจากการต่อกิ่ง คือ การเรียนรู้เรื่องความสมดุลเเละทักษะการวางเเผน

“ระหว่างการเล่น เด็กจะต้องวางเเผนเเละจินตนาการว่า หากกิ่งนี้ไปอยู่ตรงนี้เเล้วล้มไหม เเล้วตัดสินใจเลือกว่า จะใช้ชิ้นส่วนนั้นมาต่ออย่างไรไม่ให้ต้นล้ม” มิ้นต์อธิบายเสริม

เเต่ถ้าล้ม เด็กจะเรียนรู้ความผิดพลาดนั้นเเล้วเล่นใหม่โดยไม่พลาดซ้ำอีก

“ถ้าเขาต่อเเล้วล้ม เด็กจะรู้ข้อผิดพลาด เป็นประสบการณ์ที่เขาจะนำมาปรับเเละวางเเผนใหม่ในการเล่นครั้งต่อไป เขาจะรู้ว่าชิ้นใหญ่วางบนชิ้นเล็กมากไม่ได้ เพราะน้ำหนักเยอะกว่า เด็กจะเรียนรู้ว่าตาใหม่เขาจะต้องเล่นแบบไหน สังเกตว่าเล่นตอนเเรก เด็กอาจผิดหวัง เเต่เมื่อเล่นบ่อย เขาจะเล่นได้เองโดยไม่ต้องเริ่มต้นเล่นใหม่ เเละสร้างวิธีการเล่นเเบบใหม่ได้ด้วยตัวเอง” มิ้นต์บอก

ระหว่างเล่น นอกจากจะดูว่าลำต้นจะ ‘ล้มหรือไม่ล้ม’ ยังสามารถเเยกส่วนประกอบเเล้วเปลี่ยนเป็นการสอนวิชาคณิตศาสตร์เเละวิทยาศาสตร์ได้ 

“นอกจากป้องกันไม่ให้ต้นล้มเเล้ว ยังใช้กิ่งมาสอนให้เด็กเเบ่งกลุ่มสี ขนาด หรือลองเล่นเรียงลำดับ รวมถึงการวางเเพทเทิร์นตามวิชาคณิตศาสตร์ได้ หรือเรียนรู้เรื่องความสมดุลเเละเเรงโน้มถ่วงในวิชาวิทยาศาสตร์ได้” มิ้นต์อธิบายเพิ่ม

รวมถึงผู้ใหญ่ที่มาร่วมเล่นกับเด็กๆ อาจได้ข้อคิดในการใช้ชีวิตได้ เเนนอธิบายว่า เรื่องความสมดุลอาจบอกเราว่าไม่จำเป็นต้องใส่น้ำหนักไปกับเรื่องรอบตัวมากเกินไป เเต่เราควรจะเเบ่งปันสิ่งต่างๆ ให้สังคมด้วย” เเนนอธิบาย

นอกจากนี้ ในช่วงล็อกดาวน์หลายบ้านเตรียมลดการซื้อของเล่น เเนนเเนะนำว่า พ่อเเม่สามารถสร้าง Balancing Cactus ของตัวเองได้ โดยใช้อุปกรณ์เเละวัสดุภายในบ้าน 

“อาจจะทำลำต้นเป็นกล่อง เเล้วใช้ไม้หนีบ หนีบกล่องเพื่อหาสมดุลไม่ให้กล่องเอียงเเทนได้”

มิ้นต์เสริมว่า พ่อเเม่อาจใช้คอนเซปต์เรื่องความสมดุลมาประยุกต์เป็นการเล่นเเบบอื่นได้ อาจนำของในบ้านที่มีขนาดต่างกันมาต่อให้สูง เเล้วดูว่าทำอย่างไรไม่ให้ล้ม

รวมถึงการสร้างของเล่นร่วมกันในครอบครัวยังเป็นการทดลองเเละเชื่อมความสัมพันธ์ภายในบ้านได้

“การสร้างของเล่นเองเป็นการวางแผนร่วมกันในครอบครัว ช่วยกันสำรวจของในบ้าน เช่น ใช้กระดาษแข็งเอามาตัดเป็นลำต้น ให้คุณแม่ช่วยตัดกระดาษ เเล้วให้เด็กๆ ช่วยหาไม้หนีบ” เเนนบอก

“จริงๆ เเล้วถ้าเด็กได้เตรียมหรือหาของด้วยตัวเอง เขาจะเรียนรู้ว่าของเเต่ละชิ้นมีคุณสมบัติเเตกต่างกัน เเล้วจะเอาของชิ้นนั้นไปใช้งานเเบบไหนได้บ้าง หลังจากทำเสร็จเขาจะรู้สึกสนุกภูมิใจและอยากเล่นมากขึ้น” มิ้นต์เสริม

ระหว่างอยู่บ้าน อาจมีเรื่องที่ทำให้ตัวเราเครียด กังวล หรือไม่สบายใจ Balancing Cactus ก็พร้อมเปลี่ยนสถานะเป็นสิ่งที่เยียวยาใจ ลืมความเครียด เเต่จดจ่อกับการต่อกิ่งให้สวยงามเเทน

“เราจะไม่จดจ่อกับสิ่งที่เราเครียด เราเครียดได้เเต่อย่าอยู่กับความรู้สึกนั้นตลอด เราเเค่หันกลับมาอยู่กับตัวเองเเละคนรอบข้าง บางทีเรากังวลไปทุกอย่าง จนลืมว่าต้องดูเเลคนรอบข้าง ดังนั้นของเล่นชิ้นนี้ไม่ใช่เเค่ของเล่น เเต่เป็นเครื่องบำบัดก็ได้ เเล้วเเต่ว่าจะใช้ในสถานการณ์ไหน” มิ้นต์เล่า

หน้าที่ของต้นกระบองเพชรนี้จึงไม่ได้เป็นเเค่ของเล่น เเต่เป็นจุดเชื่อมความสัมพันธ์ของเด็กเเละพ่อเเม่ผ่านการสื่อสารระหว่างการเล่น การต่อกิ่งจึงเป็นการทดลองที่บอกว่าครั้งนี้ ‘ล้มไม่เป็นไร’ เเต่ครั้งหน้าฉันจะไม่ล้มจุดเดิมอีก 

หุ่นเงา: ชีวิตไม่ได้มีเเค่วิธีการเดียว

“หุ่นเงา คือ การเเปลงจินตนาการของเด็กออกมาเป็นชิ้นงาน”

‘เเจ๋’ สิริกาญจน์ บรรจงทัด นักละครหุ่น Puppets by Jae เล่าถึงทักษะการเล่นหุ่นเงาที่เเปลงนามธรรมของเด็กมาเป็นรูปธรรมที่ส่งเสริมจินตนาการเเละสนุกไปกับเงามืด เเละที่สำคัญ คือ การได้ทดลองทำจริง

ถึงจะชื่อหุ่นเงา แต่ไม่ได้สนุกเเค่เล่นกับเงา ยังสามารถนำไปประยุกต์กับการเล่าเรื่อง หรือประกอบการเล่านิทานได้ และเล่นได้อีกหลายรูปเเบบ  

จึงเป็นที่มาของตัวหุ่น 3 เเบบที่เเจ๋อยากเเนะนำ เเบ่งตามความยากง่ายของการใช้อุปกรณ์

ตัวหุ่นเเบบเเรก ใช้เพียงกระดาษ 1 เเผ่นเเละปากกา 1 ด้าม วาดรูปตัวละครที่เด็กๆ ชอบ หรือรูปทรงต่างๆ เเล้วเพิ่มหน้าตาให้รูปทรง ฉีกกระดาษตามเส้นที่ขีดไว้ เเล้วนำไปส่องกับไฟฉาย

หุ่นแบบแรก
หุ่นแบบที่สอง

ตัวหุ่นเเบบที่สอง ตัวหุ่นเเบบคุ้นเคย คือวาดภาพระบายสี ตัดตามรูปทรง เเละทำไม้เสียบด้านหลัง ส่องไฟด้วยม่านผ้าหรือกระดาษ 

ตัวหุ่นเเบบที่สาม วาดภาพ ตัด เเล้วเจาะรู หลังจากนั้นใช้กระดาษเเก้วมาติด เเล้วนำมาส่องไฟได้เช่นกัน

เเจ๋บอกว่า ความหลากหลายของการทำหุ่นจะบอกเด็กคนหนึ่งว่า ‘ชีวิตไม่ได้มีเเค่วิธีการเดียว’

“พอโตขึ้น เขาจะพบว่าชีวิตมันไม่ได้มีวิธีการเดียว มันเริ่มจากว่าเขาหาวิธีการเล่นใหม่ๆ ถ้าอยากเล่นของเล่นเดิมด้วยวิธีการเเบบใหม่ต้องทำอย่างไร เเล้วจะเล่นอย่างไรให้สนุกมากขึ้น เเต่สุดท้ายเขารู้ว่ามันไม่ได้มีวิธีการเเบบเดียวในการเเก้ปัญหา”

ถึงจะท้อ เหนื่อย หรือผิดพลาด เเต่เด็กควรเป็นคนริเริ่มเเก้ปัญหาด้วยตัวเอง โดยมีผู้ใหญ่คอยเเนะนำ

“บางครั้งเราเห็นเด็กทำพลาด กลัวว่าเขาจะเสียใจหรือรู้สึกไม่ดีเเล้วยื่นมือเข้าไปช่วย เเต่เราต้องเก็บมือไว้เเล้วช่วยยื่นข้อเสนอ ปล่อยให้เขาเป็นคนริเริ่มเเละตัดสินใจเเก้ปัญหาด้วยตัวเขาเอง เช่น กระดาษขาดจะเเก้อย่างไร ทากาว ติดเทป หรือทำใหม่”

หุ่นเงาเป็นส่วนหนึ่งของงานประดิษฐ์ที่ทำให้เด็กสัมผัสเนื้อกระดาษ ลองวาด ฉีก ตัด หรือเเปะ ด้วยสองมือของเขา ที่เเจ๋มองว่าสำคัญต่อการใช้ชีวิตของเด็กในอนาคต

“งานประดิษฐ์ต้องใช้มือ เหมือนกับใช้อวัยวะของตัวเองในการดำรงชีวิตในอนาคต ถ้าเขาโตขึ้น ต้องดูเเลตัวเอง ทักษะสำคัญคือการทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเอง รู้ว่าถ้าอยากได้ของชิ้นนี้ เเล้วต้องใช้กรรไกรตัด เขาจะตัดอย่างไร ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย”

“ยิ่งถ้ามีทักษะการใช้มือ มีกล้ามเนื้อมือเเข็งเเรง เวลาโตขั้นเราจะสามารถทำในสิ่งที่เราอยากทำได้ เเต่ถ้าไม่ใช้ เวลาทำอะไรจะรู้สึกไม่ถนัด เช่น ไม่รู้จะผูกเชือกอย่างไร สิ่งเหล่านี้ทำให้ชีวิตเขาสะดวกเเละมีกิจกรรมในชีวิตที่หลากหลายมากขึ้น”

นอกจากนี้ เงาดำคือการจำลองห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่ฝึกการสังเกตสิ่งรอบตัว

เเจ๋มองว่า หุ่นเงาไม่จำเป็นต้องสร้างหุ่นเพียงอย่างเดียว เเต่ของใช้ในบ้าน ใบไม้ เเละสิ่งอื่นๆ สามารถนำมาทำเป็นหุ่นเงาได้ทั้งนั้น

“เด็กๆ จะประทับใจเรื่องหุ่นเงาอยู่เเล้ว ถ้าพ่อแม่ลองเล่นกับเด็กน่าจะเป็นความประทับใจที่ดี เพราะเป็นการเล่นที่ลงทุนน้อย มีเเค่เเสง อาจใช้เป็นไฟฉายธรรมดา ไฟจากสมาร์ทโฟนหรือโคมไฟอะไรก็ได้ เเล้วลองเอาของในบ้านมาส่องดู เคยทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ก็ลองให้เขาลองดูว่าสิ่งรอบตัวจะทำให้เกิดเงาได้อย่างไรบ้าง หรือเอาของไว้วางไว้กลางเเดด เเล้วดูว่าเงายังเหมือนเดิมไหม”

“ทำให้เด็กๆ ได้ฝึกเรื่องการสังเกตสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันหรือธรรมชาติรอบตัวที่เขามองไม่เห็นด้วยตัวละครที่เขาสร้างขึ้นเอง เช่น สอนเรื่องวิทยาศาสตร์ เราไม่ได้กำหนดว่าเด็กจะต้องเรียนรู้อะไร เเต่ชวนมองสิ่งรอบตัว เเล้วออกเเบบว่าจะชวนเขาเรียนรู้อย่างไร โดยที่รู้สึกว่ายังเล่นอยู่เเละได้ความรู้เพิ่มขึ้นด้วย”

‘เงา’ จึงไม่ได้เป็นเเค่ความมืด เเต่เป็นบทเรียนหนึ่งที่เปิดประสบการณ์นอกห้องเรียนเเละเป็นช่วงเวลาคุณภาพร่วมกันระหว่างเด็กเเละครอบครัว 

“สามารถเเบ่งหน้าที่ได้ เช่น พ่อเเม่เป็นคนตัด ลูกเป็นคนวาด ทุกคนในครอบครัวได้ทำงานร่วมกัน เเล้วตอนเล่นเงา ลูกถือหุ่น พ่อเเม่ถือเงา เเล้วเเต่ตกลงกันก็เป็นการทดลองเเละกิจกรรมร่วมกันได้”

เมืองบล๊อก หินไม้ หมูครอบครัว: เมืองจินตนาการ คือ เรื่องราวของเด็กคนหนึ่งที่กำลังเผชิญ

ถ้าเด็กมีของเล่น เราจะเห็นเรื่องราวของเขาผ่านการเล่นโดยไม่ต้องสั่งสอน

มุมมองของ ‘จิ๋ว’ วีรวรรณ กังวานนวกุล นักกิจกรรมของโรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ ต่อเรื่องการนำของในบ้านมาประยุกต์เป็นของเล่นที่เด็กสนุก สร้างการมีส่วนร่วม เเละต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ ขณะที่ผู้ใหญ่จะรับรู้ว่าเด็กอยากสื่อสารอะไร รู้สึกอะไร หรือชอบอะไร

“เราจะมองเห็นตัวตนซึ่งเป็นความมหัศจรรย์ของการเล่นของเล่นชุดนี้ เชื่อว่าถ้าเด็กเล็กๆ ได้ติดตั้งคลังความรู้สึก เขาจะสื่อสารสิ่งที่เขารู้สึกได้อย่างชัดเจน เเละมีคลังคำในการสื่อสารได้มากขึ้น เช่น ดีใจ เสียใจ โกรธ ไม่พอใจ หรือเข้าใจ ถ้าเขาได้จำลองบทบาทผ่านของเล่น จะทำให้การสื่อสารกับครอบครัวง่ายมากขึ้น”

ไม่ว่าจะสร้างเมืองหรือเล่นบทบาทสมมติที่เริ่มต้นโดยพ่อเเม่หรือตัวลูกเอง สิ่งสำคัญ คือ การทำให้ทุกคนเชื่อว่า นี่คือพื้นที่ปลอดภัยที่วางใจว่า เราพร้อมจะปลดปล่อยตัวเองไปกับการเล่นนี้ได้

“เด็กๆ ต้องการความผูกพัน มั่นคง เเละลึกซึ้ง เมื่อเขาวางใจว่านี่คือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพูดคุย เเลกเปลี่ยนความรู้สึก ทำให้เติบโตจากด้านในเเละพัฒนาวุฒิภาวะผ่านตัวละครหมูหรือช้าง ทำให้เด็กๆ ได้ใช้จินตนาการอย่างเต็มที่ เท่าทันอารมณ์ เเละเข้าใจตัวตน”

จิ๋วมองว่า การเล่นคือการเชื่อมรอยต่อโลกภายในใจเเละภายนอก เหมือนการสร้างเมืองที่เป็นการจำลองโครงสร้างจิตใจของคนๆ หนึ่งผ่านเมืองในจินตนาการ

“ของเล่นอาจเป็นเครื่องมือสื่อสารที่บอกพ่อเเม่ว่า โลกภายนอกที่เขาไปเจอมันเป็นยังไง เเล้วเขามีเรื่องราวภายในที่อยากเเก้ไข อยากเข้าใจมากขึ้น หรือความทุกข์ใจบางอย่างที่เขาไม่สามารถก้าวข้ามผ่านปัญหานั้นได้  การสร้างเมืองผ่านโลกจินตนาการของเขา จะทำให้เด็กออกจากภาวะใจที่ขุ่นมัวได้”

ส่วนการเล่นผ่านบทบาทสมมติด้วยการใช้ตัวละครสื่อสารกัน จะช่วยให้เด็กรู้สึกว่า คนที่กำลังเผชิญปัญหาไม่ใช่เขา เเต่เป็นตัวละครตัวนั้น

“ตัวละครทำให้เด็กไม่ถูกจดจ้องว่าเป็นเขา เเต่เป็นเจ้าหมูตัวนี้ที่กำลังปวดท้องอยู่ จริงๆ เเล้วอาจจะเป็นเขานั่นเเหละที่ปวดท้องเเต่หาทางออกไม่เจอ การไม่รู้สึกว่าเป็นตัวเองจะทำให้เด็กปลอดภัยมากขึ้น”

อีกทั้งระหว่างการเล่นหรือเล่นเสร็จเเล้ว พ่อเเม่กับลูกยังสามารถสร้างวินัยจากการตั้งข้อตกลงร่วมกันในบ้าน โดยไม่จำเป็นต้องสั่งสอน สั่งการ หรือว่ากล่าว

“บอกเขาว่า มุมนี้คือมุมของหนู จะเล่นอย่างไรก็ได้ เเต่เล่นเเล้วต้องเก็บ หรือถ้าไม่อยากเก็บเขาต้องสื่อสารว่าทำไมถึงทำเเบบนั้น อีกอย่างคือเราทำให้ดูว่า ควรจะเก็บเเบบไหน เเล้วเราทำไปด้วยกัน”

เมืองที่เด็กสร้างขึ้นจึงไม่ได้เป็นเเค่ของเล่นที่เขาได้ต่อยอดจินตนาการ เเต่มีชีวิต เรื่องราว ความรู้สึก เเละประสบการณ์ของเด็กคนหนึ่งซ่อนอยู่ เพราะสุดท้ายถึงจะมีของเล่นเต็มบ้าน เเต่ถ้าไม่มีใครเล่นด้วย เด็กก็ไม่สามารถริเริ่มเเละสื่อสารได้

“ผู้ใหญ่คือของขวัญเเละของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก”


Writer

Avatar photo

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

ชอบดูซีรีส์เกาหลี เพราะเชื่อว่าตัวเราสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษาเเละความสัมพันธ์ในครอบครัว พยายามฝึกการเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts