เด็กเกิดมากับทักษะ ‘อยู่เองได้’ แต่สังคมและการเลี้ยงดูทำให้เขาเป็นผู้ใหญ่ที่ดูแลตัวเองไม่เป็น

  • เลี้ยงลูกอย่างไรให้เขามีทักษะอยู่เองได้ โตเองเป็น กับงานเสวนา ‘อยู่เองได้ โตเองเป็น : เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตได้ด้วยตัวเอง’
  • กุญแจสำคัญ คือ ความสามารถในการกำกับดูแลตนเอง (sense of control) ได้จากการเลี้ยงดู
  • ทัศนคติของพ่อแม่มีผลต่อความเชื่อมั่นในตัวเองของลูก ถ้าพ่อแม่คิดว่าลูกไม่ดีพอ ก็ยากที่เขาจะเชื่อมั่นในตัวเอง ส่งผลต่อความสามารถในการดูแลตัวเอง

ความปรารถนาสูงสุดของพ่อแม่ในการเลี้ยงลูกคนหนึ่ง คงเป็นการที่ลูกของเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แบบ ดูแลตัวเองได้ ณ วันที่เราไม่สามารถตามไปดูแลได้แล้ว

แต่เพราะการเลี้ยงดูอีกเช่นกันที่อาจทำให้ ณ วันที่ลูกโตเป็นผู้ใหญ่ กลับไม่สามารถรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ทั้งๆ ที่ตามธรรมชาติแล้วสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้เกิดมาพร้อมกับสัญชาตญาณที่จะดูแลปกป้องตัวเอง

แล้วการเลี้ยงดูแบบไหนล่ะที่ช่วยทำให้ลูกโตเองเป็น ดูแลตัวเองได้ไม่ว่าจะอายุเท่าไร 

วงเสวนา ‘อยู่เองได้ โตเองเป็น: เพราะเด็กทุกคนเขียนชีวิตได้ด้วยมือตัวเอง’ เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา อาจให้คำตอบเราได้

จุดเริ่มต้นของวงเสวนามาจากหนังสือ อยู่เองได้ โตเองเป็น : เลี้ยงลูกให้เขียนชีวิตได้ด้วยตัวเอง โดยสำนักพิมพ์ bookscape แปลมาจาก The Self-Driven Child : The Science and Sense of Giving Your Kids More Control over Their Lives เขียนโดย William Stixrud และ Ned Johnson ทั้งสองคนนำประสบการณ์นักประสาทจิตวิทยาและที่ปรึกษาด้านการศึกษา มาถอดรหัสวิธีสร้างทักษะชีวิตให้เด็กๆ ซึ่งกุญแจสำคัญ คือ ความสามารถในการกำกับดูแลตนเอง (sense of control)

สมาชิกประจำวงเสวนาที่มาร่วมแลกเปลี่ยนไอเดียในครั้งนี้ ได้แก่

  • รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง คณบดีคณะการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) ม.หอการค้าไทย
  • รศ.ดร.วีระเทพ ปทุมเจริญวัฒนา หัวหน้าภาควิชาการศึกษาตลอดชีวิต และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ประทิน เลี่ยนจำรูญ ครูชำนาญการพิเศษ หัวหน้าโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคพังงา และครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ประจำปี 2564
  • พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต 

เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการดูแลตัวเอง

ทุกคนในวงเสวนาต่างเห็นด้วยว่า เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับทักษะในการดูแลตัวเอง คำถามต่อมา คือ แล้วทำไมเด็กบางคนถึงไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง แม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่น กินข้าว อาบน้ำ งานดูแลตัวเองกลายเป็นเรื่องยากสำหรับเขา

ในมุมของวีระชาติมองว่า มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ดูแลจัดการตัวเองได้ แต่ถ้าเทียบกับภาพรวมก็จัดว่าจำนวนน้อย ยิ่งโควิด – 19 เข้ามา สถานศึกษาต้องปิด ทำให้เห็นว่าการที่เด็กรับผิดชอบชีวิตตัวเองไม่ได้ถือเป็นปัญหาใหญ่ ปัจจัยแรกที่ส่งผลคือ การเลี้ยงดู พ่อแม่ส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงความรู้ในการเลี้ยงลูก หรือเข้าถึงความรู้ได้ แต่ไม่สามารถสกัดความรู้ที่ได้รับ แล้วปรับมาเป็นทักษะที่ใช้ได้จริง

วีระชาติ เน้นว่า ผู้ใหญ่เป็นคีย์สำคัญที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งโตเป็นผู้ใหญ่ที่รับผิดชอบชีวิตตัวเองได้ กล้าที่จะตัดสินใจและรับผิดชอบการตัดสินใจนั้น ผ่านการเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กเชื่อว่าตัวเขาทำได้ และมีสิ่งนี้อยู่ในตัวตั้งแต่เกิด

ปล่อยให้ลูกใช้ชีวิตด้วยตัวเอง เพราะโลกนี้ก็เป็นของเขาเช่นกัน

วัฒนธรรมสังคมไทยเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เด็กกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดูแลตัวเองไม่เป็น วีระเทพหยิบยกสำนวนที่เราคุ้นหูอย่าง “ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน” ด้วยความรักความเป็นห่วงที่ผู้ใหญ่มีต่อเด็ก จึงมักเอาประสบการณ์ของตัวเองมาตัดสินใจแทน เพื่อปกป้องเด็กจากการตัดสินใจผิดพลาด ซึ่งการกระทำนี้อาจทำให้เด็กไม่ได้เรียนรู้ว่า แล้วการตัดสินใจที่ผิดหรือถูกเป็นอย่างไร รวมถึงผลลัพธ์ตามมาที่เขาต้องดีลต่อ 

วีระเทพกล่าวว่า เขาเข้าใจความรู้สึกของพ่อแม่ที่เป็นห่วงลูก และโลกปัจจุบันเต็มไปด้วยสิ่งเร้า ยิ่งเพิ่มความกังวลให้กับพ่อแม่ 

“แต่พ่อแม่ต้องปล่อยให้ลูกใช้ชีวิตด้วยตัวเอง เพราะโลกนี้ก็เป็นของเขาเช่นกัน เขาควรมีสิทธิ์ตัดสินใจ มีสิทธิ์ที่จะลองผิดถูกด้วยตัวเอง”​

การเลี้ยงดูอื่นๆ ที่ส่งผล วีระเทพยกมาอีก 2 เรื่อง คือ การเปรียบเทียบลูกและใช้ความรุนแรง แม้พ่อแม่จะหวังดีอยากให้ลูกเก่ง แต่มักใช้วิธีลบ เปรียบเทียบลูกกับบ้านอื่น หรือใช้ความรุนแรงกดลูกไว้ นั่นยิ่งส่งผลเสียในวันที่เขาโตเป็นผู้ใหญ่

ประทินในฐานะที่ทำงานกับนักเรียน แชร์ว่า โรงเรียนเป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถช่วยสร้างทักษะดูแลตัวเองให้เด็กนอกจากครอบครัว แต่ ณ วันนี้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ที่เด็กไม่อยากเข้าใกล้ เพราะกฎระเบียบที่เข้มงวดไปตีกรอบว่าเขาต้องเป็นอะไร มีการลงโทษ ซึ่งธรรมชาติของเด็กไม่ชอบการควบคุม จึงเกิดการต่อต้าน หรือการแสดงพฤติกรรมบางอย่างของครูที่ทำให้เด็กตั้งคำถาม เช่น ห้ามพูดคำหยาบ แต่ครูกลับพูด ทั้งหมดนี้ยิ่งผลักเด็กออกไป

วีระชาติแชร์วิธีที่จะช่วยลดความขัดแย้งในการอยู่ที่โรงเรียนหรือที่อื่นๆ คือ share control การสร้างข้อตกลงร่วมกัน เพราะการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งต้องมีข้อตกลงร่วมกันที่ไม่เยอะจนเกินไป มีเหตุผล และจริงใจ ที่สำคัญต้องให้พื้นที่แต่ละฝ่ายมีสิทธิ์ทำอย่างอื่นนอกเหนือจากข้อตกลง ให้แต่ละคนมีพื้นที่ของตัวเอง จะทำให้โรงเรียนหรือพื้นที่อื่นๆ น่าอยู่สำหรับเด็ก 

“เขาจะกล้าพูดความคิดตัวเอง ไม่ถูกครูใช้อำนาจหรือไม่รับฟัง ความขัดแย้งก็จะน้อยลงตาม” 

วีระชาติมองว่า ความอาวุโส การมีลำดับขั้นไม่ใช่อุปสรรคที่แท้จริง แต่เพราะเราใช้มากเกินไปจนเหนือเหตุผล สิ่งสำคัญอยู่ที่การบาลานซ์ จากประสบการณ์การทำงานของเขา พบว่าผู้ใหญ่ควรให้เกียรติเด็กด้วยเช่นกัน แต่หลายคนกลับไม่รู้วิธีทำ เขายกตัวอย่างง่ายๆ ที่ตัวเองเคยใช้ เช่น ย่อตัวไปคุยกับเด็ก หรือใช้ภาษาที่ให้เกียรติกันและกัน

ชีวภาพ จิตวิทยา และสังคม ตัวแปรที่ตัดสินว่าเด็กดูแลตัวเองได้หรือไม่

เมื่อรู้แล้วว่าการกระทำไหนยิ่งทำให้เด็กดูแลตัวเองไม่ได้ ชวนมาเรียนรู้วิธีเลี้ยงดูที่จะทำให้เด็กมีทักษะ ความสามารถในการกำกับดูแลตนเอง 

วิมลรัตน์ในฐานะจิตแพทย์ที่มีคนไข้จำนวนมากมารักษาด้วย จากประสบการณ์การทำงานพบว่าคนไข้ส่วนใหญ่รักษาหายแล้ว แต่ก็ต้องวนกลับมารักษาใหม่เหมือนเดิม หรือต้องพึ่งพาให้คนอื่นดูแล เธอมองว่าทักษะดูแลตัวเองถือเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้เด็กคนหนึ่งโตขึ้นมาสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง ความช่วยเหลือจากคนอื่นเป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง ถ้าสามารถดูแลตัวเองได้ เขาจะสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ต่อ 

การที่เด็กจะอยู่เองได้ คุณหมอวิมลรัตน์อธิบายว่ามี 3 ปัจจัย ปัจจัยแรก เรียกว่า ‘ปัจจัยทางชีวภาพ’ หรือบุญกรรมตั้งแต่เกิด เด็กบางคนเกิดมาพร้อมกับ ‘ยีนนางเอก’ 

“ไม่ว่าสภาพชีวิตฉันจะแย่ขนาดไหน สังคมที่ฉันอยู่จะเป็นอย่างไร ฉันก็ขอมองโลกในแง่ดี ใฝ่ดี ก้าวสู่ชีวิตที่ดีได้”

ปัจจัยที่สอง คือ จิตวิทยา นั่นคือเด็กคนนั้นเจอการเลี้ยงดูอย่างไร คุณหมอขอโน้ตก่อนว่า การเลี้ยงดูไม่สามารถเปลี่ยนสิ่งที่คนมีตั้งแต่เกิดได้ เพียงแต่ปรับบางอย่าง เช่น พื้นฐานของเด็กเป็นคนใจร้อน การเลี้ยงดูอาจทำให้เขาใจเย็นขึ้น แต่ยังคงมีพฤติกรรมเดิม เช่น พูดเร็ว 

ตัวช่วยสำหรับพ่อแม่ในการเลี้ยงลูก คือ ความรู้ คุณหมอเห็นด้วยว่า การถอดตัวอักษรที่อ่าน ให้เป็นเทคนิคที่ปฏิบัติได้จริงถือเป็นเรื่องยาก สิ่งสำคัญ คือ ทัศนคติของพ่อแม่ที่ต้องเชื่อก่อนว่าลูกเราโอเค

“เราบอกว่าต้องเลี้ยงลูกให้มีความสุข แต่ทำไมลูกถึงเป็นแบบนี้ เราก็ใช้ทักษะที่เรียนหมดแล้วนะ แต่คุณพ่อคุณแม่อาจใช้โดยที่ทัศนคติในใจยังรู้สึกว่า ‘ลูกเราไม่โอเค’ สุดท้ายทำไปบนความขัดแย้งกับตัวเอง เราต้องยอมรับก่อนว่าพื้นฐานลูกเราเป็นแบบนี้ ไปเปรียบเทียบคนอื่นไม่ได้ ถ้าทัศนคติพ่อแม่ยังยอมรับไม่ได้ ทักษะที่เรียนมาก็ไม่สามารถใช้ได้จริง ตัวลูกก็จะรู้สึกว่าสิ่งที่พ่อแม่ทำไม่จริงใจ”

และปัจจัยสุดท้าย ปัจจัยเชิงสังคม คุณหมอบอกว่า สังคมที่ขาดโอกาสก็ผลักเด็กให้เป็นแบบหนึ่ง หรือสังคมที่โอกาสมีเยอะมาก ทำให้เด็กรู้สึกว่าถ้าไม่ชอบทำอันนี้ เปลี่ยนไปทำอันอื่นก็ได้ ไม่ต้องอยู่กับอะไร จนสุดท้ายก็สร้างเด็กอีกแบบหนึ่ง

“ทุกวันนี้สังคมเรามีความห่างไปเรื่อยๆ เด็กที่อยู่เองได้ มีเยอะแบบมี้มี ขณะที่พวกที่ไม่มีก็ไม่มีเลย มีเด็กที่เรียกว่าตามมีตามเกิด แล้วคาดหวังว่าปัจจัยทางชีวภาพจะผลักให้เขาเป็นนางเอก”

ในมุมนักเศรษฐศาสตร์ วีระชาติแชร์ว่า อุปสรรคของการเลี้ยงลูก คือ ทรัพยากร ทำให้เวลาซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเลี้ยงเด็กคนหนึ่งลดน้อยไปด้วย การพัฒนาเพื่อตัดวงจรนี้คือ ‘การศึกษา’ ที่จะทำให้ทุกคนมีโอกาสมากขึ้น

พ่อแม่ต้องยอมรับให้ได้ว่า ‘ลูกเราเป็นแบบนี้’

หากทัศนคติพ่อแม่สำคัญต่อการเลี้ยงลูก และยังส่งผลว่าลูกจะมีทักษะดูแลตัวเองได้หรือไม่ คุณหมอวิมลรัตน์เน้นย้ำเรื่องนี้ว่า พ่อแม่ต้องปรับทัศนคติและการแสดงออก พ่อแม่ส่วนใหญ่เชื่อว่าลูกมีดี แต่การแสดงออกอาจไปลบเจตนาดีของพ่อแม่ 

“พ่อแม่บางคนมักจะบอกว่าไม่จริง ภูมิใจในตัวลูกตลอด แต่บอกต่อว่า…ถ้าพัฒนาด้านนี้ได้อีกสักนิดคงดี หรือถ้าลดเวลาเล่นเกมคงจะดีมาก หรือถ้าตื่นเช้ากว่านี้คงไม่ต้องทะเลาะกันบ่อยๆ ประโยคว่า ‘ถ้าเกิด…คงดี’ เต็มไปหมด แต่ย้ำตลอดนะว่าลูกดีจริงๆ ตัวลูกเองคงไม่รู้สึกว่าเขาดีหรอก

“เด็กที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอสำหรับพ่อแม่ ยากที่จะเชื่อว่าเขาสามารถอยู่เองได้ โตเองเป็น”

คุณหมอวิมลรัตน์กล่าวว่า ความคาดหวังของพ่อแม่ที่มีต่อลูกมีหลากหลายแบบ ถ้าฉบับคลาสสิกคือ เรียนดี เชื่อฟังพ่อแม่ ทำตามกฎระเบียบที่ตั้งไว้ ซึ่งถ้าได้ลูกที่เป็นแบบนี้คงสบายพ่อแม่ แต่เราอาจจะได้ลูกที่ทำงานเมื่อใกล้เดดไลน์ ทั้งที่จริงแล้วความดีของลูกมีหลายอย่าง เพียงแต่พ่อแม่มักมองแต่จุดที่ตัวเองคาดหวังให้เกิด

“ทักษะดูแลตัวเองเป็นสิ่งที่ติดตัวเด็กทุกคน อย่างกินข้าว เด็กหนึ่งหรือสองขวบก็ทำได้ แต่พ่อแม่กังวลว่าจะทำได้ดีพอไหม บอกว่าลูกทำไม่ดีพอเพราะตักข้าวหก หรือลูกจะจัดกระเป๋าเรียนเอง พ่อแม่ก็บอกไม่ดีพอเพราะยับ สุดท้ายลูกถูกบั่นทอนด้วยคำว่าไม่ดีพอไปเรื่อยๆ”

“ลูกเราหัวเราะได้…ดีไหม? หรือลูกยังมีชีวิตอยู่ละ…ดีไหม เรื่องพวกนี้มันอาจจะดูเล็กน้อย แต่ถึงเราชมเขาบ่อยๆ จะฝังในตัวลูกว่าเขามีข้อดี คนเราพอรู้สึกว่าตัวเองดีก็อยากดีต่อไป พัฒนาตัวเองต่อ

ความเข้าใจผิดอีกอย่างหนึ่งที่มาพร้อมกับการเลี้ยงให้ลูกดูแลตัวเองเป็น คือ อย่าไปขัดใจลูก ถ้าเขาอยากทำอะไรก็ปล่อยไป 

คุณหมอวิมลรัตน์อธิบายว่า การกระทำนี้มีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่าง ทำให้ลูกดูแลตัวเองในระดับที่พอเหมาะหรือสปอยล์ลูก เป็นเส้นแบ่งที่ยากจะขีดได้ชัดเจน ในนิยามคุณหมอ การเลี้ยงลูกแบบสปอยล์ คือ ‘ถึงผิดก็ให้ทำ’ เช่น ลูกขโมยดินสอเพื่อน…ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราไปหาซื้อเขา หรือลูกทำร้ายคนอื่น…ไม่เป็นไร เดี๋ยวไปขอโทษ เป็นต้น คุณหมอบอกว่า การทำผิดพลาดเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าพ่อแม่ไม่เคยสอนว่าเมื่อลูกทำผิด เขาต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย จะทำให้ลูกไม่เรียนรู้ผลเสียของการกระทำ อาจทำให้เขายังคงปฏิบัติตัวเหมือนเดิม ซึ่งอาจแย่ขึ้นเมื่อเขาโตเป็นผู้ใหญ่

คุณหมอย้ำว่า การสั่งสอนต้องไม่ใช้ความรุนแรง และการปล่อยให้ลูกทำสิ่งต่างๆ อาจต้องพิจารณาว่า ทำแล้วมีใครได้รับผลกระทบหรือไม่ ทั้งตัวเขาและคนอื่นๆ

เด็กที่ดูแลตัวเองเป็น จะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่กล้าตัดสินใจ

การที่เด็กทุกคนอยู่เองได้ โตเองเป็น ไม่ได้ส่งผลดีเฉพาะเจ้าตัว แต่รวมถึงสังคม เพราะพลเมืองที่ดูแลตัวเองได้แล้ว จะสามารถไปช่วยพัฒนาส่วนอื่นๆ ต่อไปได้ และมีทักษะหนึ่งที่สำคัญติดตัว คือ ตัดสินใจเป็น หรือที่วีระชาติเรียกว่า ‘executive decision’ เขาให้เหตุผลหนึ่งว่า การพัฒนาประเทศหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ คนต้องอยู่ในบรรยากาศที่รู้สึกว่า เขาสามารถแชร์ความคิดหรือออกไอเดียได้ แต่บรรยากาศในบ้านเรายังไม่เอื้อให้เกิดสิ่งนี้

“ทุกคนถูกระบบสอนตั้งแต่เล็กจนโต…กลายเป็นไม่พูดดีกว่า”

“ประเทศที่พัฒนาแล้วคนของเขาจะมีศักยภาพด้านนี้ executive decision พร้อมที่จะไปนั่งตัดสินใจในทุกๆ เรื่อง ไม่ใช่มีแค่คน 2 – 3 คนที่จะมาเป็นผู้นำเราได้ เรามีตั้ง 60 – 70 ล้านคน ไม่ควรจะทรมานกับการหาผู้นำ ไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม”

นี่เป็นความคิดเห็นส่วนหนึ่งจากวงเสวนานี้ อาจมีข้อมูลอีกเยอะมากจนพ่อแม่ ผู้ใหญ่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหนดี หากให้แนะนำลองปล่อยให้เด็กๆ ได้ทำสิ่งที่เขาอยากทำสักครั้งในวันนี้ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี


Writer

Avatar photo

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts