Self-Control มอบความสามารถในการตัดสินใจที่ดีที่สุดให้เด็ก เขาจะตัดสินใจได้เข้าท่ามากกว่าไม่เข้าท่า และดูแลตัวเองเป็น

  • เมื่อรู้จักตัวเองก็ทำให้เรากลายเป็นคนตัดสินใจได้เข้าท่ามากกว่าไม่เข้าท่า
  • ความสามารถในการควบคุมดูแลตัวเอง (Self-Control) ทำให้เราดูแลและเข้าใจตัวตนของเรา ส่งผลต่อการตัดสินใจ
  • Self-Control สร้างได้อย่างไร ไปหาคำตอบผ่านวงเสวนา “อยู่ได้ – อยู่ดี บ่มเพาะให้ลูกพร้อมเติบโตอย่างมั่นใจ”

ไม่รู้จักตัวเอง

เรื่องที่หลายคนเคยเผชิญจนดูเหมือนเป็นเรื่องปกติ แต่ก็น่าแปลกที่ตัวเราเองแท้ๆ กลับไม่รู้จักตัวเอง 

เพราะมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดสิ่งนี้ ซึ่งปัจจัยหลักที่สำคัญและส่งผลที่สุดคือ การเลี้ยงดู

การเลี้ยงดูที่เหมาะสมจะทำให้เราเกิด Self-Control หรือความสามารถในการควบคุมและดูแลตัวเอง เมื่อเราดูแลตัวเองได้ก็จะมีโอกาสไปค้นพบสิ่งต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ในร่างกายนี้ ทำความรู้จักนิสัยใจคอ ความชอบ-ไม่ชอบ ปลายทางจะทำให้เราเป็นคนที่ตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะรู้ว่าตัวเราต้องการอะไร

แต่ว่าการเลี้ยงดูและระบบการศึกษาที่ควรมีส่วนช่วยให้เราเกิดทักษะนี้ กลับยิ่งเป็นตัวทำลาย

วงเสวนา “อยู่ได้ – อยู่ดี บ่มเพาะให้ลูกพร้อมเติบโตอย่างมั่นใจ” โดยสำนักพิมพ์ Bookscape ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จะพาเราไปหาคำตอบว่าความสามารถในการดูแลตัวเองสร้างได้อย่างไร รวมถึงการกระทำแบบไหนที่จะทำลายสิ่งนี้ และขยับไปมองภาพรวมการส่งเสริมพัฒนาคนในประเทศเป็นอย่างไรบ้าง

ผู้ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นครั้งนี้ ประกอบด้วย

  • นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักเขียน
  • สุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบัน RLG (รักลูกเลิร์นนิ่งกรุ๊ป)
  • ภูริภัทร ณ สงขลา Project Manager สมัชชา Intern

บทสนทนาจากวงเสวนานี้อาจไม่มีคำตอบสำหรับคนวัยผู้ใหญ่ แต่เป็นคำแนะนำให้เด็กๆ ที่หวังว่าต่อไปพวกเขาจะได้เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบที่ใจต้องการ

ดูแลตัวเองได้ (Self-Control) ก็จะรู้จักตัวตน 

ความสามารถในการควบคุมดูแลตัวเอง (Self-Control) เป็นส่วนหนึ่งของ EF หรือ Executive Function สมองส่วนหน้าที่เป็นส่วนบัญชาการความคิด การตัดสินใจต่างๆ ของมนุษย์

สุภาวดี หาญเมธี

สุภาวดีในฐานะที่ทำงานรณรงค์และส่งเสริมให้ปลูกฝัง EF ตั้งแต่เด็กเล็ก อธิบายว่า การมี Self-Control จะทำให้เด็กรู้จักตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความชอบ-ไม่ชอบ นิสัยใจคอ จุดแข็ง-จุดอ่อน รวมถึงได้ฝึกการยับยั้งชั่งใจ ความคิดยืดหยุ่น รู้จักปรับตัว เข้าใจโลกภายนอก สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กค่อยๆ พัฒนาความสามารถในการกำกับตัวเอง และกลายเป็นคนที่ดูแลตัวเองได้

ทักษะนี้เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ตามธรรมชาติที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด มนุษย์เป็นสัตว์สังคมต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ การกำกับดูแลตัวเองได้จะมีส่วนช่วยให้เราสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ เป็น

สุภาวดีอธิบายต่อว่า การฝึก Self-Control ต้องฝึกอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับการฝึกส่วนอื่นๆ การฝึกไม่จำเป็นต้องคิดวิธีหรือกระบวนการที่ซับซ้อน เด็กๆ จะได้ฝึกจากเหตุการณ์ประจำวันที่พวกเขาต้องเจอ เช่น เล่นของเล่นที่โรงเรียนร่วมกับเพื่อนๆ เด็กจะฝึกว่าเขาต้องรู้จักรอคิว หรือถ้าทะเลาะกับเพื่อน เขาจะเรียนรู้ว่าต้องรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

คุณหมอประเสริฐ ให้คำแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการฝึก Self-Control ควรเริ่มฝึกตั้งแต่ 2 – 7 ปี ถือเป็นนาทีทองที่เด็กเริ่มไว้ใจผู้เลี้ยงดูและโลก กล้ามเนื้อใหญ่อย่างแขนขาเริ่มแข็งแรง สามารถลุกขึ้นยืนเองได้ เดิน วิ่ง กระโดด ออกแรงกำหมัด สะบัดหัว เป็นต้น 

เหตุผลสำคัญอีกข้อคือ โจทย์ที่จะฝึกเด็กช่วงนี้ไม่ซับซ้อน ไม่ยากและน่ากลัวเกินกว่าพ่อแม่รับไหว เช่น เด็กตัดสินใจว่าจะกระโดด ผลลัพธ์ที่ร้ายแรงสุด คือ หกล้ม หัวเข่าเป็นแผล โจทย์ลูกจะยิ่งยากขึ้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“ปล่อยให้ลูกทำ” คำแนะนำที่หมอประเสริฐเน้นย้ำ เสรีภาพเป็นสิ่งที่เด็กทุกคนต้องการ เมื่อปล่อยให้ลูกทำสิ่งต่างๆ เอง ไม่ใช่เพียงลูกรับรู้ว่าเขาทำสิ่งเหล่านี้ได้ แต่มันคือ ‘ความภาคภูมิใจ’ ที่ตัวเองทำได้ มีความมั่นใจที่จะใช้ชีวิตต่อไป 

“พ่อแม่ที่สั่งลูกตลอดเวลา สุดท้ายเราจะได้ผู้ใหญ่ที่ทำอะไรเพื่อให้คนปลื้มตลอดเวลา จากพ่อแม่ปลื้ม ทำให้เพื่อนปลื้ม ให้คนรักปลื้ม ยกเว้นคนเดียวที่ไม่ปลื้มคือตัวเอง เพราะวงจรสมองเขาถูกเซ็ตไปแล้วว่าต้องทำเพื่อคนอื่น ทำเพื่อตัวเองไม่เป็น” คุณหมอประเสริฐกล่าว

ถึงแม้จะปล่อยให้เด็กใช้ชีวิตอย่างอิสระ แต่พ่อแม่ต้องยังคอยอยู่ข้างหลัง เพราะเด็กทุกคนจะมีวันที่เขารู้สึกกลัว รู้สึกว่าตัวเองทำไม่ได้ เมื่อเกิดความรู้สึกนี้สิ่งที่เด็กต้องการคือ หันมาเจอพ่อแม่ รู้สึกมั่นใจว่ายังมีพ่อแม่คอยดูแล ทำให้กล้าที่จะตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ แม้ผลลัพธ์อาจจะผิดพลาด แต่เพราะเขารู้ว่าพ่อแม่ยังคอยช่วยอยู่ข้างๆ

นอกจากพัฒนากล้ามเนื้อ สร้าง Self-Control หมอประเสริฐกล่าวว่า สิ่งที่เด็กจะได้รับอีกอย่างคือ การสร้างวงจรประสาท เกิดความสามารถอัตโนมัติ (Autonomy) ความสามารถที่เรารู้สึกว่า ‘เป็นเรา’ เป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิดและเป็นส่วนที่มีผลต่อสมองส่วนการตัดสินใจที่เขาต้องใช้ต่อไปอีก 30 – 40 ปี เช่น เข้ามหาวิทยาลัยจะเลือกคณะไหน เรียนจบจะทำงานอะไร เมื่อโดนเจ้านายลวนลามต้องทำอะไรต่อ

แต่ปัญหาคือเด็กวัยนี้กลับถูกทำให้ห่างจากการฝึกใช้กล้ามเนื้อและสร้าง Self-Control ไปเรื่อยๆ เช่น ต้องนั่งทำแบบฝึกหัด ทำการบ้าน จนไม่มีเวลาออกไปวิ่งเล่น ทำกิจกรรมอื่นๆ และพ่อแม่เองก็ไม่มีเวลาที่จะฝึกส่วนนี้ให้ลูก

“พ่อแม่ไม่ว่าง คือ เรื่องใหญ่ที่สุด รัฐไทยจะทำยังไงให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่มี มีความสามารถที่จะสร้างสิ่งนี้และระดับสูงทุกแห่ง การศึกษาตั้งแต่อนุบาลต้องรื้อใหม่ เราต้องการการศึกษาประเภทส่งเสริมพัฒนาการ ไม่ได้ต้องการการศึกษาประเภทเขียนเร็วๆ คิดเลขเร็วๆ

“self of control สำคัญในศตวรรษที่ 21 เพราะเราไม่รู้ว่าเด็กกลุ่มนี้โตไปจะเจออะไร ต้องทำงานอะไร ใช้ทักษะไหนบ้าง การ Bully หรือ Sexual Harassment จะยังมีอยู่บนโลกมนุษย์แน่ๆ ลูกเราจะรับมืออย่างไร ต้องหนีหรือสู้ไม่ถอย พ่อแม่ไม่สามารถดูแลเขาไปได้ตลอด ดังนั้น รีบมอบความสามารถในการตัดสินใจที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตัดสินใจได้เข้าท่ามากกว่าไม่เข้าท่า ต่อให้ไม่เข้าท่าก็รู้วิธีคิดยืดหยุ่นไปต่อ ทั้งหมดนี้เป็นเป้าหมายของการเลี้ยงเด็กและการศึกษาที่ควรจะเป็น” หมอประเสริฐกล่าว

ค้นพบตัวเองเร็วก็ทำให้ได้เป็นผู้ใหญ่แบบที่ชอบ

เมื่อฟังภาคทฤษฎีแล้ว ลองขยับมาฟังฝั่งลูกๆ บ้าง ภูริภัทรตัวแทนคนรุ่นใหม่ แชร์ประสบการณ์การเลี้ยงดูว่า ครอบครัวที่เปิดกว้าง ให้อิสระลูกๆ ตัดสินใจทำอะไรเองตั้งแต่เล็กๆ โดยที่พ่อแม่ทำหน้าที่เป็นไกด์คอยแนะนำ เป็นเหตุผลที่ทำให้เขารู้จักตัวเองเร็ว รู้ว่าชอบ-ไม่ชอบอะไร มีผลต่อการตัดสินใจสิ่งต่างๆ เพราะการที่คนคนหนึ่งรู้จักตัวเองดีก็ทำให้การตัดสินใจของเขามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ภูริภัทร ณ สงขลา

แต่ปัญหาที่ภูริภัทรเจอในกลุ่มคนรุ่นใหม่คือ หลายคนยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร การเลี้ยงดู และการศึกษาไม่สามารถช่วยให้พวกเขาเจอสิ่งนี้ 

“โรงเรียนในไทยไม่ค่อยช่วยส่งเสริมให้เด็กๆ มี Self-Control สักเท่าไร ทุกโรงเรียนจะมีกฎระเบียบ เป็นเรื่องถูกที่เราต้องทำตาม แต่บางครั้งกฎก็ไปริดรอนตัวตนของเด็ก ทำให้เด็กไม่รู้ว่าจริงๆ ฉันชอบอะไร อยากทำอะไร มีสิทธิอะไรในร่างกายตัวเองบ้าง เช่น เรื่องทรงผม เด็กหลายคนถูกสอนว่าเป็นผู้ชายต้องไว้ผมสั้น เป็นผู้หญิงไว้ผมยาว ตัวผาเป็นผู้ชายไว้ผมยาวเพราะอยากบริจาค เป็นสิ่งที่ผาเลือกเอง แต่ยังมีผู้ชายอีกหลายคนที่ไม่มีวันได้เลือก ไม่มีวันได้สัมผัสประสบการณ์นี้ เพราะโรงเรียนไม่อนุญาต

“ผมที่เป็นอวัยวะของเรา แต่เรายังไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจ สุดท้ายเด็กก็ตั้งคำถามว่าต้องทำแบบไหนถึงจะถูก กลายเป็นเด็กไทยหลายๆ คนไม่สามารถตัดสินใจเองได้ เพราะกลัวว่าถ้าตัดสินใจไปเองแล้วมีผู้ใหญ่มาตัดสินอีกที เขาอาจกลายเป็นคนผิด 

“โตขึ้นมาก็จะรู้สึกว่าต้องชอบตามที่คนอื่นให้ชอบ ต้องเป็นแบบที่คนอื่นบอกให้เป็น เพราะการเป็นตัวฉันเองไม่ได้ มันผิด สุดท้ายเด็กจะเริ่มเสียความเป็นตัวเองไป”

ภูริภัทรเน้นย้ำว่า นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ควรสอนตั้งแต่เด็กๆ ว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกทางของตัวเอง ให้เขาได้เรียนรู้ความชอบของตัวเองตั้งแต่เด็ก โตขึ้นมาเขาถึงจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการกำกับตัวเอง 

“การเป็นผู้ปกครอง คือ การลดความเป็นผู้ ‘ปกครอง’ และการเป็นพ่อแม่ที่ดี คือ การลดความเป็น ‘พ่อแม่’ ลด ไม่ใช่เพิกเฉยลูก แต่มองลูกอยู่ห่างๆ ถ้าลูกต้องการพ่อแม่เขาจะเดินมาหาเอง ถ้าพื้นที่ตรงนั้นมันเป็นเซฟโซน” 

สังคมต้องเชื่อว่าคนดูแลตัวเองได้ เราถือจะมีโอกาสดูแลตัวเอง

เลี้ยงเด็กคนหนึ่งใช้คนทั้งหมู่บ้าน

เป็นประโยคที่ยังคงจริงเสมอ พ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้คนเดียว และสังคมก็มีส่วนที่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กคนหนึ่งเติบโต ในภาพรวมสุภาวดีมองว่า การพัฒนาคนในสังคมไทยยังค่อนข้างน้อย เพราะความเชื่อที่บางคนมีว่ามนุษย์ไม่สามารถควบคุมดูแลตัวเองได้

“เราอยู่ในสังคมที่ไม่ค่อยเชื่อเรื่องนี้ มนุษย์แต่ละคนมันสามารถกำกับควบคุมตัวเองได้ เราจะเชื่อว่าคนไทยต้องควบคุม”

โดยพื้นฐานเด็กจะมีข้อกังขาอยู่แล้วว่า เขาจะสามารถทำสิ่งนี้หรือดูแลตัวเองได้ไหม เมื่อเจอการเลี้ยงดูหรือกฎระเบียบต่างๆ ที่สร้างขึ้นมาเพราะไม่เชื่อมั่นว่ามนุษย์จะดูแลตัวเองได้ ยิ่งทำให้เด็กเกิดความสับสน สร้างความกลัว สุดท้ายคิดว่าเขาทำไม่ได้ ต้องทำตามคนอื่นเท่านั้น

“พ่อแม่ส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อว่าลูกกำกับตัวเองไม่ได้ อยากให้ย้อนกลับไปดูว่าเราโตมาได้ยังไง บางทีพ่อแม่ไม่ค่อยย้อนกลับไปมอง วิธีที่จะมีชีวิตอยู่รอด ประสบความสำเร็จ มันมีหลายทาง บางคนเรียนเก่งได้ดีก็มี หรือเรียนแย่แต่ประสบความสำเร็จก็ได้ ต้องเปิดโอกาสให้ลูกเลือก

“พ่อแม่ต้องตั้งคำถามกับตัวเอง กับโลกเยอะๆ จะเจอทางออก ลองถามตัวเองบ่อยๆ ว่า ถ้าเราไม่อยู่แล้วลูกอยู่ได้ไหม สุดท้ายจะเห็นว่าต้องไปทางไหนต่อ เช่น ลูกอยู่ไม่ได้แน่ๆ เพราะกินข้าวเองไม่เป็น ก็ต้องฝึก” สุภาวดีกล่าว

“ขโมยและบริหารเวลาใหม่” คำแนะนำจากหมอประเสริฐที่อยากให้พ่อแม่ทุกคน ด้วยบริบทและสภาพสังคม ทำให้พ่อแม่บางคนไม่มีเวลาและแรงที่จะซัพพอร์ตลูก การขโมยเวลาจากระบบการศึกษาจะช่วยทำให้พ่อแม่สามารถพาลูกไปพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิต 

“ช่วยลูกทำการบ้านจะได้เสร็จไวๆ เอาเวลาที่เหลืออยู่ไปเล่น ไปใช้กล้ามเนื้อต่างๆ เรารอให้ท่านปฏิรูปการศึกษาแต่ท่านไม่ทำสักที ซึ่งเวลาไม่รอ เมื่อลูกอายุ 8 ขวบก็ต้องเข้าสู่การตัดสินใจบางอย่างที่ซับซ้อนขึ้น ทะเลาะกับเพื่อนจะต่อยหรือวิ่งหนีดี ต้องตัดสินใจแล้ว หรือขึ้นม.6 จะเรียนอะไร ถ้าเรียนไปครึ่งทางไม่ชอบจะซิ่วหรือทำอะไร ต้องใช้วงจรประสาทที่สร้างตั้งแต่ 2 ปีตัดสินใจเรื่องพวกนี้” คุณหมอประเสริฐกล่าว

ในฐานะที่ทำงานขับเคลื่อนการสร้าง EF ในเด็กมายาวนาน สุภาวดีแชร์ภาพสถานการณ์ปัจจุบันว่า แม้การตื่นตัวเรื่องนี้จะยังเกิดน้อย แต่ยังคงเกิดขึ้นในสังคม รวมถึงแหล่งเข้าถึงความรู้ที่ง่ายกว่าเดิมก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยพ่อแม่ สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้พ่อแม่กล้าที่จะตัดสินใจและลุกขึ้นมาพัฒนาลูกคือ การรับรู้ว่าเขามีเพื่อนที่ทำด้วย ไม่ได้โดดเดี่ยว 

แต่การอยู่ในสังคมที่แข็งขันสูง ทำให้พ่อแม่อดไม่ได้ที่จะตั้งความคาดหวังและพยายามทุ่มเททุกอย่างเพื่อให้ลูกอยู่ได้ นั่นอาจทำให้พ่อแม่และลูกต่างฝ่ายต่างไม่มีความสุข สุภาวดีชวนให้ลองปรับมายด์เซ็ตใหม่ พยายามลดความคาดหวังและถอยห่างจากบรรทัดฐานสังคม ลูกอาจไม่จำเป็นต้องได้ที่หนึ่ง แต่เขาสามารถดูแลตัวเองได้ หากพ่อแม่มีมายด์เซ็ตที่สอดคล้องกับความจริงของโลกที่ควรเป็น สวมบทบาทคนนำทางลูกมากกว่าที่จะปกครอง ทำให้ต่างฝ่ายต่างมีความสุข

“ตอนนี้เราเห็นปรากฏการณ์คนลุกขึ้นมาช่วยกันทำอะไรดีๆ ในสังคมมีเยอะขึ้น เราต้องส่งเสียงออกไป เพราะถ้าระบบไม่เปลี่ยน พ่อแม่ก็ตกอยู่ในกับดักเดิมๆ ลูกจะกำกับตัวเองไม่ได้ ถ้าสังคมนี้ไม่อนุญาตให้เรากำกับตัวเอง ต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลง” สุภาวดีกล่าว


Writer

Avatar photo

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชีวิตอยู่ได้ด้วยซัมเมอร์ ทะเล และความฝันที่จะได้ทำสิ่งที่เป็นความสุขตลอดไป

Illustrator

Avatar photo

กรกนก สุเทศ

เด็กกราฟิกที่สนุกกับการอ่านการ์ตูน ดูเมะ ชอบเล่าเรื่องและจำสิ่งต่าง ๆ ด้วยภาพมากกว่าตัวอักษร มองว่าหนึ่งในการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ผ่านสี รูปภาพ รูปทรง

Related Posts