- เพศศึกษาคือวิชาที่กินความมากกว่าเซ็กส์หรือเพศสัมพันธ์ แต่วันนี้เพศ (ไม่ให้) ศึกษา
- mappa ไปถามเด็กๆ ว่าอยากรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับเพศศึกษาที่ตำราไม่เคยสอน บางคำถามอาจตรงไปตรงมา แต่เป็นโจทย์ปัญหาที่เด็กอยากรู้
- เพราะไม่รู้เลยทำผิดๆ ถูกๆ เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีใครอยากจะบอกอยากจะสอนเรื่องเพศศึกษาอย่างตั้งใจในฐานะเรื่องพื้นฐานของชีวิต
คำอธิบายตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ ‘สุขศึกษา’ คือ วิชาที่สร้างการเรียนรู้ด้านสุขภาพ พัฒนาทักษะชีวิตซึ่งส่งผลเกื้อหนุนสุขภาพของผู้เรียน
พูดให้เข้าใจง่ายที่สุด สุขศึกษาคือวิชาที่พาไปทำความรู้จักร่างกายตัวเองทั้งภายนอกและภายใน
หนึ่งในนั้นคือ ‘เพศศึกษา’ เรื่องสำคัญที่กินความมากกว่าเซ็กส์หรือเพศสัมพันธ์
ความอยากรู้ของเด็กที่เตรียมสู่วัยเจริญพันธุ์นั้นมีทั้งลงลึก แยกย่อย ซับซ้อนไม่ต่างจากเขาวงกต
บางคนเดินผิดก็ไปเจอทางตัน หลายคนหลงทางอยู่อย่างนั้น หาทางไปต่อเองแบบผิดๆ ถูกๆ วิชาสุขศึกษาซึ่งควรเป็นหนึ่งใน Google map นำทางกลับพาเขาไปตามทางที่ไม่ได้อยากไป
พวกเขาจึงแตกกระจายไปหาทางออกกันเอาเอง ผิดบ้าง ถูกบ้าง เพราะไม่เคยมีใครอยากจะบอกอยากจะสอนอย่างตั้งใจในฐานะเรื่องพื้นฐานของชีวิต
mappa จึงไปถามเด็กๆ ว่าอยากรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับเพศศึกษาที่ตำราไม่เคยสอน
บางคำถามอาจจะตรงไปตรงมา แต่นั่นคือโจทย์ปัญหาที่เด็กอยากเรียนรู้เพื่อนำไปใช้จริงและใช้อย่างปลอดภัย
เราเชื่อว่า ไม่มีความรู้ไหนที่มากเกินไปแล้วจะเป็นโทษ แต่ความผิดพลาดมักเกิดความไม่รู้และรู้ผิดๆ ต่างหาก
มิณทร์ (นามสมมติ) วัย 14 ปี : “อยากให้สอนการวัดขนาด การสวมถุงยางแบบถูกวิธี เอาจริงๆ ผมยังสวมถุงยางไม่คล่องเลย คิดว่าจะลองอยู่”
สำหรับมิณทร์ (นามสมมติ) วัย 14 ปี มองว่า เซ็กส์เป็นเรื่องธรรมชาติ ทำให้การคุยเรื่องเพศสัมพันธ์หรือการถามความต้องการของคนสองคนก่อนมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติ
แต่สิ่งที่เด็กชายคนนี้อยากรู้ คือ การวัดขนาดถุงยางอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่มีบรรทัดไหนวิชาสุขศึกษาบอกไว้
“อยากให้สอนการวัดขนาด การสวมถุงยางแบบถูกวิธี เอาจริงๆ ผมยังสวมถุงยางไม่คล่องเลย คิดว่าจะลองอยู่”
ก้อง (นามสมมติ) อายุ 15 ปี “อยากรู้ว่าถ้าอวัยวะเพศไม่ขริบจะมีผลอย่างไรครับ และช่วยตัวเองบ่อยมีผลดีผลเสียอะไรบ้าง”
“อยากรู้ว่าถ้าไม่ขริบอวัยวะเพศจะมีผลอย่างไรครับ และช่วยตัวเองบ่อยมีผลดีผลเสียอะไรบ้าง”
วิชาสุขศึกษาที่อยากเรียนของ ‘ก้อง’ (นามสมมติ) อายุ 15 ปี ที่อยากให้โรงเรียนสอนเรื่องเพศให้เข้าใจง่ายและสามารถพูดอย่างตรงไปตรงมา เพราะเพศคือเรื่องธรรมชาติ การช่วยตัวเองไม่ใช่เรื่องผิด และควรรู้จักให้จริงเพื่อปฏิบัติอย่างเป็นมิตรต่อสุขภาพ
เฟยเฟย (นามสมมติ) อายุ 14 ปี : “พอมีอะไรกัน แล้วไม่ได้กินยาคุมทันทียังทันไหมหรือถ้าผ่านไปสักพักค่อยกินยังทันไหม”
“พอมีอะไรกัน แล้วไม่ได้กินยาคุมทันทียังทันไหมหรือถ้าผ่านไปสักพักค่อยกินยังทันไหม”
คือคำถามของ ‘เฟยเฟย’ (นามสมมติ) เด็กหญิงอายุ 14 ปีต่อหนังสือวิชาสุขศึกษาที่ไม่ตอบความสงสัยของเธอว่า หลังจากมีเพศสัมพันธ์เสร็จควรดูแลตัวเองอย่างไร ยาคุมฉุกเฉินควรกินตอนไหน
รู้อย่างปลอดภัย เพื่อไม่เพิ่มประชากรคุณแม่วัยใสที่ไม่พร้อมจะเลี้ยงดูเด็กอีกคน
ไดมอน (นามสมมติ) อายุ 14 ปี : “วิธีการเลือกถุงยางที่เหมาะสม”
ทั้งๆ ที่ถุงยางคือวิธีป้องกันที่ดีในการมีเพศสัมพันธ์
แต่ ‘ไดมอน’ (นามสมมติ) อายุ 14 ปีอยากให้หนังสือสุขศึกษาสอนเรื่องการวัดไซส์ถุงยางและข้อควรระวัง เช่น ห้ามใส่ถุงยางอนามัยสองชั้น
“วิธีการเลือกถุงยางที่เหมาะสม อยากให้แนะนำอย่างที่ถูกต้องและเหมาะสมไม่เกิดอันตรายต่อร่างกาย”
โบตั๋น (นามสมมติ) อายุ 14 ปี : “อยากให้พูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศว่าไม่ใช่อาการป่วย มันเป็นเรื่องปกติ”
ยาคุมกำเนิด ถุงยาง การทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย และการช่วยตัวเอง
คือบทเรียนที่ ‘โบตั๋น’ (นามสมมติ) อยากให้มีอยู่ในวิชาสุขศึกษาชั้นม.2
รวมถึงการพูดเรื่องรสนิยมทางเพศ สำหรับเธอมันควรเป็นเรื่องปกติ เราจะชอบใครก็ได้ ถ้าทั้งสองฝ่ายต่างยินยอมหรือรับได้
“อยากให้พูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศว่าไม่ใช่อาการป่วย มันเป็นเรื่องปกติ”
น้ำหนึ่ง (นามสมมติ) อายุ 14 ปี : “การมีเพศสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศจะมีโรคติดต่อหรือผลร้ายอะไรตามมาทีหลังไหม”
“การมีเพศสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศจะมีโรคติดต่อหรือผลร้ายอะไรตามมาทีหลังไหม”
ความกังวลของ ‘น้ำหนึ่ง’ (นามสมมติ) อายุ 14 ปี ว่าการมีเพศสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศจะส่งผลต่อร่างกายอย่างไร
ไวท์ (นามสมมติ) อายุ 14 ปี : “ทำไมผู้ชายต้องเรียกการช่วยตัวเองว่าชักว่าว”
“ทำไมผู้ชายต้องเรียกการช่วยตัวเองว่าชักว่าว”
คำถามจาก ‘ไวท์’ ชั้น ม.2 ถึงการเรียนเพศศึกษา
พี อายุ 14 ปี : “ครู แล้วเวลาผู้หญิงเขาเสร็จ น้ำจะพุ่งออกเหมือนผู้ชายไหม?”
“ครู แล้วเวลาผู้หญิงเขาเสร็จ น้ำจะพุ่งออกเหมือนผู้ชายไหม?”
ข้อสงสัยเรื่องเพศของ ‘พี’ ชั้น ม.2 อายุ 14 ปี
พั้นซ์ นักเรียนชั้นม.3 : “อยากให้สอนเรื่องความยินยอม (consent) ให้เด็กทุกเพศ”
“ตอนนี้พวกหนูอายุประมาณ 15-16 ควรมีการให้ความรู้ที่จริงจังเพื่อความปลอดภัยหลายๆ ด้าน ทั้งการช่วยตัวเอง เรื่องเซ็กส์ และสอนเรื่องการยินยอม”
ความเห็นต่อการเรียนเพศศึกษาของ ‘พั้นซ์’ นักเรียนชั้นม.3 รู้สึกว่าปัญหาคุกคามทางเพศคือปัญหาที่จริงจังและแก้ไม่หาย
“หนูมองว่าควรมีการปลูกฝังเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่เพียงแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง (โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง) ที่ต้องป้องกันตัว ควรมีการสอนเรื่องความยินยอม (consent) ให้กับเด็กทุกเพศค่ะ จะทำให้เกิดการเคารพและเข้าใจกันมากขึ้น”
พั้นซ์มองว่า ถ้าโรงเรียนสอนจะถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทลายความคิดและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องเพศที่ไม่ใช่เรื่องน่าอาย
เพราะตอนนี้เพื่อนผู้ชายของพั้นซ์หลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องประจำเดือนว่าเป็นอย่างไร ประกอบกับสังคมที่ทำให้ประจำเดือนเป็นเรื่องน่าอาย ทำให้เด็กหลายคนเข้าใจผิดเกี่ยวกับรอบเดือน แม้จะเป็นเรื่องใกล้ตัวก็ตาม
รวมถึงเรื่องการช่วยตัวเอง พั้นซ์บอกว่า สังคมทำให้การสำเร็จความใคร่เป็นเรื่องน่ารังเกียจ ทุกคนมีความต้องการตามธรรมชาติ
“คนก็คือคนค่ะ มีความต้องการในทางอะไรแบบนี้ และหนูคิดว่ามันควรมีการสอนวิธีที่ถูกต้องและปลอดภัย”
มินนี่ อายุ 14 ปี : “อยากให้สอนการมีเพศสัมพันธ์ของ LGBTQ+ อย่างปลอดภัย”
“เพศศึกษาไทยค่อนข้างตีกรอบ โดยเฉพาะเรื่องการป้องกันตอนมีเพศสัมพันธ์”
‘มินนี่’ วัย 14 ปีมั่นใจว่า เพศศึกษาในโรงเรียนไม่มีการสอนเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ของ LGBTQ+ อย่างปลอดภัย
“มันไม่แฟร์กับกลุ่ม LGBTQ+” ความเห็นของมินนี่
เพศศึกษาในโรงเรียนมินนี่ถูกแบ่งเป็นสองเพศ แยกห้องเรียน เรียนเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวกับเพศตัวเอง แต่ไม่มีพื้นที่การเรียนเพศศึกษาของกลุ่ม LGBTQ+
“ตอนเรียน เขาให้เรียนแยกกัน ผู้หญิงเรียนของผู้หญิง ผู้ชายเรียนของผู้ชาย”
การแบ่งห้องเรียนวิชาเพศศึกษาที่มีแค่เพศชายและเพศหญิง ทำให้มินนี่คิดว่าเพื่อนๆ ที่เป็น LGBTQ+ อาจจะไม่รู้ว่า การมีเพศสัมพันธ์ของคนเพศเดียวกันควรป้องกันอย่างไร และมีเพศสัมพันธ์แบบไหนถึงจะปลอดภัย
มินนี่ทิ้งท้ายว่า แม้เธอจะรู้เรื่องเพศศึกษามาบ้าง แต่ความรู้ที่ได้มาไม่ได้มาจากโรงเรียนเลย…